วัคซีนน่ารู้ -=By หมอแมว=-

วัคซีนน่ารู้ -=By หมอแมว=-

วัคซีนน่ารู้
ดังที่กล่าวไว้ในคราวที่แล้วเกี่ยวกับวัคซีน ในคราวนี้จะเป็นการเล่าสรุปเรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับวัคซีนเป็นข้อๆไป
เนื้อหาในนี้เป็นเนื้อหาส่วนที่แปลงมาจากคู่มือวัคซีนซึ่งผมดึงเอาส่วนที่ควรรู้มาเล่าให้ฟัง
เนื่องจากเป็นส่วนที่แพทย์มักจะถามบ่อยๆ
หากรู้หรือเข้าใจในส่วนต่างๆเหล่านี้ เมื่อไปพบแพทย์ก็จะพูดคุยเข้าใจกันง่ายขึ้นครับ


สำหรับเด็ก(จริงๆคือส่วนสำหรับผู้ปกครอง)
...................................
1.ควรพาเด็กไปตามกำหนดฉีดวัคซีน
วัคซีนในปัจจุบัน มีการศึกษาค้นคว้ากันมาอย่างดี
ว่าการให้ในช่วงใดจะสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีและมีผลข้างเคียงน้อยที่สุด
ดังนั้นการให้ตามกำหนดจึงเป็นสิ่งสำคัญ

การให้ก่อนกำหนด : พบได้เรื่อยๆ โดยเฉพะเวลาพ่อหรือแม่มารพ.แล้วพาเด็กมาด้วย
บางครั้งไม่อยากเสียเวลาพามาอีกก็ขอให้หมอฉีดให้ล่วงหน้า....
ความจริงการฉีดวัคซีนล่วงหน้า อาจจะมีผลทำให้ภูมิคุ้มกันขึ้นได้ไม่ดีเท่าที่ควร
ดังนั้นการรีบฉีดเกินไป ก็จะทำให้เด็กมีภูมิคุ้มกันน้อยกว่าที่ควรจะเป็นและมีโอกาสเป็นโรคมากกว่าปกติ

การให้หลังกำหนด : ในสภาพที่การงานรัดตัว ผู้ปกครองอาจลืมพาเด็กไปฉีดยา และพาไปช้ากว่ากำหนด
การให้ช้ากว่ากำหนด ถ้าให้ครบเด็กก็จะมีภูมิคุ้มกันตามปกติไม่ต่างจากเด็กที่ได้ตรงกำหนด
แต่ช่วงที่เสียเวลาหรือลืมไปจะเป็นช่วงที่เด็กเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่าที่ควร
อธิบายเข้าใจยาก-_-'''''''' งั้นยกตัวอย่าง

เด็กชายเจิด อายุ1เดือน ฉีดวัคซีน ภูมิขึ้น 50% พออายุ2เดือน ฉีดเข็มที่สอง ภูมิขึ้น 100%
เด็กชายเจิด จะปลอดภัยที่อายุ2เดือน

เด็กชายโต อายุ1เดือน ฉีดวัคซีน ภูมิขึ้น 50% อายุ1เดือนครึ่ง ฉีดเข็มที่สอง ภูมิขึ้น 80%
เด็กชายโต ปลอดภัยแค่80% ยังมีโอกาสติดโรคอยู่

เด็กชาย ตุลย์ อายุ1เดือน ฉีดวัคซีน ภูมิขึ้น 50% พออายุ2เดือนครึ่ง ฉีดเข็มที่สอง ภูมิขึ้น 100%
เด็กชายตุลย์ จะปลอดภัยที่2เดือนครึ่ง แต่ครึ่งเดือนที่ช้าไป ก็เสี่ยงติดโรคมากกว่าเด็กวัยเดียวกัน
ประมาณนี้ครับ


2.ถ้าเลยกำหนด
ผู้ปกครองบางคน พอเลยกำหนดแล้วก็เลยพาลไม่ยอมพาเด็กไปฉีดยา
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ (กลัวหมอดุ คิดว่าโตแล้วไม่จำเป็น คิดว่าฉีดไปก็ไม่ได้ผล)
ขอให้ไปพบแพทย์ก่อนพร้อมกับนำสมุดวัคซีนไปด้วย
วัคซีนบางตัว ถ้าไม่ฉีดกระตุ้น เด็กก็ไม่มีภูมิคุ้มกันที่ดีพอไม่ว่าจะโตแค่ไหนก็ตาม
อย่างเช่น บาดทะยัก ตับอักเสบบี
วัคซีนบางตัว พออายุเกินระดับหนึ่ง ก็ไม่มีความจำเป็นต้องฉีด เช่น วัคซีนเชื้อฮิบ
(ฮีโมฟิลุส อินฟลูเอนซา)พอเด็กอายุเกิน2ขวบ การเกิดโรคจะไม่ค่อยรุนแรง ก็อาจจะไม่ต้องไปฉีดอีก
บางตัว อายุเกินไม่ควรฉีด เช่นโรคไอกรน เพราะผลข้างเคียงในเด็กโตอาจรุนแรง
(อาการโรคไอกรนในผู้ใหญ่และเด็กโตไม่รุนแรงเท่าในเด็กเล็ก)
....... แม้ปัจจุบันจะเริ่มมีวัคซีนไอกรนที่ให้ในเด็กโตและผู้ใหญ่ได้ แต่ราคายังสูง

3.โรคประจำตัว
ถ้าคิดว่ามีโรคประจำตัว หรือมีอาการที่สงสัยว่าจะเกิดจากวัคซีน ก็ควรจะบอกผู้ฉีดหรือสั่งฉีดทุกครั้ง
*อย่าอายที่จะบอก* เพราะการอายที่จะบอกข้อมูลเหล่านี้อาจได้ผลที่รุนแรงเกินคาด
ประวัติที่ถ้ามีก็น่าจะบอกได้แก่ มีอาการไข้,ชัก,ซึมผิดปกติ,ผื่นแดง ถ้าเคยมีหลังฉีดวัคซีนครั้งใด
ก็ควรจดบันทึกและบอกทุกครั้ง โรคประจำตัวที่มี โรคทางสมองชนิดต่างๆ ,การได้เลือด,
การต้องนอนรักษาในรพ.,ยาที่ต้องใช้เป็นประจำ(ยาบางตัวจะทำให้วัคซีนอกฤทธิ์ไม่ดี),
โรคทางภูมิคุ้มกันชนิดต่างๆ พวกนี้ถ้ามีก็ต้องบอก ประวัติแพ้ยาแพ้อาหาร ถ้ามีก็ต้องบอก
เพราะในวัคซีนบางตัวผสมยาปฏิชีวนะ(ยาแก้อักเสบ)หรือมีส่วนผสมของโปรตีนบางอย่าง
ซึ่งวัคซีนของแต่ละยี่ห้อ อาจมีส่วนผสมพวกนี้ไม่เหมือนกัน
การได้ครั้งที่แล้วแล้วไม่เป็นอะไร ไม่ได้การันตีว่าจะปลอดภัยจากการแพ้

4.ไข้หลังฉีด
สามารถมีได้ในวัคซีนหลายๆตัว การรักษาก็คือให้ยาลดไข้ และเช็ดตัวเด็กบ่อยๆ
... ถ้ามีอาการผิดปกติอย่างอื่น เช่น ชัก ซึม ควรพาไปรพ.เสมอ
ไม่ว่าเด็กจะมีประวัติเคยเป็นแบบนี้หรือไม่ก็ตาม เพราะบางครั้งจะพบว่าไม่ได้พาเด็กมา
เพราะเด็กเคยมีประวัติ "ชักจากไข้"(ซึ่งโดยปกติไม่มีอันตราย แต่ว่าควรพามารพ.
เพราะต้องแยกให้ได้ว่าครั้งนี้เป็นชักจากไข้หรือชักจากอย่างอื่น)
ถ้าเคยมีประวัติไข้ในการฉีดครั้งก่อนๆ ก็ควรขอยาลดไข้ติดกลับไปด้วย
เพราะในการฉีดวัคซีนครั้งหลังก็มักจะมีไข้เช่นกัน

5.เด็กป่วยพอดีกับช่วงที่ฉีดวัคซีน
ข้อเท็จจริง : การมีไข้ต่ำๆ เป็นหวัด ไอ สามารถให้วัคซีนได้
(คู่มือการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค2548 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข)
ข้อเท็จจริง2 : ถ้ามีไข้ต่ำๆ ก็ให้เว้นไปก่อนสักหน่อย พอไข้ลงค่อยมาฉีด
เพราะมันก็ช้าไปอีกแค่ไม่กี่วัน ส่วนอาการน้ำมูก ไอ ถ้าไม่มีไข้ ก็ฉีดไปเลย
(จากชีวิตจริง และจากคู่มือวัคซีน สมาคมกุมารแพทย์)
สิ่งที่เกิดขึ้นจริง : ผู้ปกครองบางคน ได้ยินเด็กไอทีนึงหรือเห็นมีน้ำมูก
ก็ไม่พาเด็กไปฉีด บอกว่าเด็กเป็นหวัด ยังไม่ให้ฉีด ที่จริงอาการหวัด(ภาษาชาวบ้าน)
มันคิออาการ ภูมิแพ้ ส่วนหวัดที่อาจจะเลื่อนฉีดยา คือ "ไข้"หวัด นั่นคือ ต้องมีไข้
ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือ ถึงกำหนดฉีด ก็พาเด็กไปฉีด เพื่อให้แพทย์หรือผู้ฉีด
จัดการรักษาการเจ็บป่วยและทำการนัดให้ใหม่ ไม่ใช่เลื่อนนัดเอง

6.ฉีดต้องเซ็น
จำไว้ว่าเมื่อฉีดวัคซีนทุกครั้ง ต้องมีการบันทึกเสมอว่าฉีดอะไรไป ฉีดเมื่อวันอะไร
เพราะจะเป็นข้อมูลสำคัญในการฉีดครั้งต่อๆไป...
ดังนั้นอย่าคิดว่าจะจำได้เพราะถึงจำได้แต่บางครั้งเวลาฉีดวัคซีนคนที่พาไปอาจไม่ได้เป็นคนเดิม
และอย่าลืมเอาสมุดวัคซีนไปด้วยเสมอ ถ้าหากลืมต้องขอให้ผู้ฉีดเขียนใส่กระดาษแล้วต้องเอากลับไปลอกลงสมุดที่บ้าน

7.ที่บ้านมีคนแก่หรือไม่แข็งแรง
วัคซีนบางชนิด มีโอกาสติดต่อไปยังคนอื่นได้ เช่นวัคซีนโปลิโอ วัคซีนอีสุกอีใส
ถ้าที่บ้านมีคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าปรกติ เช่นผู้สูงอายุ ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ที่เคยได้รับการเปลี่ยนอวัยวะ
ผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันชนิดต่างๆ ก็ควรจะบอกผู้ฉีดเสมอ

8. วัคซีนอื่นๆ
ปัจจุบันมีวัคซีนให้ใช้มากขึ้น แต่วัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุขบรรจุในแผนเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคของประเทศ
ไม่ได้มีทุกชนิด ดังนั้นหากไปอ่านเจอจากที่ใดมาก็ตามว่ามีวัคซีนตัวนั้นตัวนี้
และต้องการฉีดหรือให้ลูกหลานฉีด ก็ควรปรึกษาแพทย์ถึงความจำเป็น
ไม่ใช่เห็นว่าใช้สามสิบบาทแล้ว อยากจะฉีดวัคซีนอะไรก็ได้ตามใจ
เพราะวัคซีนบางชนิดอยู่นอกเหนือที่แพทย์โรงพยาบาลรัฐบาลจะให้ฉีดโดยใช้สิทธิสามสิบบาทจริงๆ




สำหรับผู้ใหญ่
...................................
เนื่องจากครั้งที่ผ่านมา มีผู้ขอให้ผมเขียนเกี่ยวกับวัคซีนที่ผู้ใหญ่น่าจะฉีด
ก็เลยลองไปทบทวนและค้นข้อมูลมาครับ

- วัคซีนตับอักเสบบี เนื่องจากโรคนี้ติดต่อได้จากการคลอด(จากแม่สู่ลูก)
จากการมีเพศสัมพันธุ์ และจากเลือด ถ้าเป็นแล้วเกิดอาการก็ไม่คุ้ม(ตับแข็ง มะเร็ง ตับวาย)
ดังนั้นใครก็ตามที่ไม่เคยฉีด(เกิดก่อนปี2535ที่บรรจุวัคซีนนี้ในระบบ) ก็น่าจะไปฉีดครับ

- วัคซีนตับอักเสบเอ การติดต่อติดทางอาหารและน้ำที่มีเชื้อ
(เช่นกินน้ำแก้วเดียวกัน ,คนทำอาหารเป็น..เข้าห้องน้ำไม่ล้างมือแล้วมาทำอาหาร)
สมัยก่อนคนไทยจะเป็นกันตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งอาการในเด็กเล็กๆจะน้อยมาก
... ปัจจุบันสุขอนามัยที่ดีขึ้นทำให้คนไทยที่ไม่เคยเป็นโรคนี้เริ่มมีมากขึ้น ซึ่งอาการของโรคนี้จะรุนแรงขึ้นในผู้ใหญ่
... อัตราตายหรือพิการจากโรคนี้มีไม่มากนัก(แต่ก็พบได้โดยเฉพาะเมื่อเกิดการระบาดในที่ที่มีคนมากๆ)
ดังนั้นคนที่ควรฉีดยานี้ คือคนที่ทำงานเกี่ยวกับอาหาร คนที่ต้องไปอยู่ในที่ที่มีความเป็นอยู่แออัด

- วัคซีนบาดทะยัก เดินไปที่ไหนก็มีเชื้อ เพราะเชื้อบาดทะยักอยู่ในดิน
ภูมิคุ้มกันโรคอยู่ได้5-10ปีหลังจากฉีด ดังนั้นจึงควรฉีดกระตุ้นทุก10ปี

- วัคซีนหัดเยอรมัน ในผู้หญิงที่แต่งงานแล้วต้องการมีบุตร ควรฉีดวัคซีนก่อนการตั้งครรภ์
เพราะว่าหากติดเชื้อในขณะตั้งครรภ์มีโอกาสที่จะเกิดการพิการของทารกได้สูง
(ซึ่งก่อนฉีดวัคซีนในผู้หญิงที่ต้องการมีลูก จะมีการตรวจการตั้งครรภ์ก่อนฉีดและหลังฉีดต้องคุมกำเนิดต่อ
เพราะในทางทฤษฎีวัคซีนเป็นเชื้อมีชีวิตที่ไม่ควรให้ขณะตั้งครรภ์
แต่ปัจจุบันยังไม่พบรายงานว่าการให้วัคซีนขณะตั้งครรภ์ก่อให้เกิดอันตรายต่อทารก)

- วัคซีนอีสุกอีใส เพราะพอเป็นในผู้ใหญ่ มักมีอาการรุนแรงกว่าเด็ก และพักฟื้นกันนาน

- วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เหมาะในผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันไม่ดี
(ข้อด้อยคือ ต้องฉีดปีละครั้ง และป้องกันไม่ได้100%)

- วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า ในผู้ที่เลี้ยงสุนัขหรือแมวจำนวนมากๆ ...ทำฟาร์มหมาฟาร์มแมว
หรือผู้ประกอบอาชีพที่เสี่ยงต่อการโดนหมาแมวกัด....
(ส่วนคนดูแลฟาร์มโค ฟาร์มลา และฟาร์มแมวบริเวณรัชดา เป็นข้อยกเว้นครับ)



โดย : หมอแมว
อีเมล์ : mor_kaew@hotmail.com




 

Create Date : 10 พฤศจิกายน 2549
2 comments
Last Update : 10 พฤศจิกายน 2549 10:44:43 น.
Counter : 1117 Pageviews.

 

ยังไม่เคยฉีดวัคซีนตับอักเสบเลยค่ะ กำลังคิดอยู่ว่าอยากจะฉีด กับวัคซีนอีสุกอีใสค่ะ ปูนฉะนี้แล้วก็กลัวจะเป็นเหมือนกันค่ะ กลัวแผลเป็น

 

โดย: Fruit_tea 19 พฤศจิกายน 2549 18:42:17 น.  

 

ขอบคุณค่ะสำหรับข้อมูเกี่ยวกับวัคซีนเด็ก
คุณแม่มือใหม่..

 

โดย: แม่น้องบีม..บีม IP: 115.87.200.221 18 สิงหาคม 2553 16:12:50 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Michiyo
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]






Lord, have mercy !


Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2549
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
10 พฤศจิกายน 2549
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add Michiyo's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.