"แมงเม่าของเมื่อวันวาน คือ เซียนหุ้นของพรุ่งนี้"
Group Blog
 
 
กรกฏาคม 2548
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
25 กรกฏาคม 2548
 
All Blogs
 
วางหมาก...กระดานหุ้น ตอน ปฐมบทแห่งการลงทุน 3

ปีที่ 1 เล่มที่ 1 ฉบับที่ 3 วันพุธที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548

คราวที่แล้ว ปฐมบทแห่งการลงทุน 2 ว่าด้วยเรื่อง “ทำอย่างไรเงินที่เราอุตสาห์เก็บหอมรอมริบมา จะสามารถนำมาลงทุนในตลาดหุ้นและเกิดดอกออกผลได้?” ซึ่งคำตอบก็คือ นักลงทุนหรือจอมยุทธ์ต้องประกอบไปด้วยองค์ประกอบ 5 อย่าง ได้แก่ “คัมภีร์ยุทธ์ อาวุธ กระบวนท่า เคล็ดวิชา และการฝึกฝน” ตามลิงค์นี้ครับ

//topicstock.pantip.com/sinthorn/topicstock/I3256937/I3256937.html

เมื่อมีครบทั้ง 5 องค์ประกอบแล้ว (5 องค์ประกอบนี้สำคัญมาก หากท่านยังไม่มีหรือมีไม่ครบ ก็ควรจะมีซะ ถ้ายังอยากท่องยุทธภพนี้ต่อไป ไม่เช่นนั้นถูกจอมยุทธ์เก่งๆ ฆ่าตายแน่) คำถามต่อไปก็คือ “จะเลือกเป็นนักลงทุนแบบใด” ซึ่งคำถามนี้ คำตอบอาจจะบ่งบอกได้จาก “แนวทางในการบริหารพอร์ทการลงทุนของตน”

จากประสบการณ์อันน้อยนิดของผม ผมได้วางแนวทางในการบริหารพอร์ทการลงทุนในแบบฉบับของผมเอง เป็นสูตร 5-4-1 สูตรนี้ไม่ได้เป็นสูตรการวางตำแหน่งนักฟุตบอลแต่อย่างใด แต่เป็นสูตรที่มาจาก 50% : 40% : 10%

50% ในพอร์ทการลงทุนของผมเป็นแบบ VI (Value Investing) คือผมเป็น Value Investor เพียงครึ่งตัวเท่านั้น

40% ในพอร์ทการลงทุนของผมเป็นแบบ FTA (Fundamentally Technical Analysis) เป็นเทคนิคที่ผมผสมผสานจุดเด่นของการวิเคราะห์ทางด้านปัจจัยพื้นฐานและทางเทคนิคเข้าด้วยกัน มีแนวคิดหลักคือ “ทำอย่างไรให้เงินจำนวนเท่าเดิม มีจำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นมาได้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการรับเงินปันผลให้มากขึ้น” ซึ่งแนวคิดหลักจะเหมือนกับ DSM แต่วิธีการแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง คือ “เคล็ดวิชา” เดียวกัน แต่ต่างกันที่ “กระบวนท่า”

10% ในพอร์ทการลงทุนของผมเป็นแบบ VS (Value Speculating) คือผมเป็น Value Speculator เพียงเศษเสี้ยวของพอร์ท สาเหตุที่มีเพราะผมยังหนุ่ม ยังชอบความระทึกใจ เร้าใจในการใช้เทคนิคล้วนๆ ในการเก็งกำไรหุ้นอยู่ และยอมรับความเสี่ยงนั้นได้ (ก่อนใช้เทคนิคล้วนๆ ผมใช้ปัจจัยพื้นฐานเพื่อสรรหาหุ้นก่อน ซึ่งผมยึดหลักว่าพวกหุ้นเน่าแต่เป็นหุ้นปั่นผมไม่เข้า เด็ดขาด) ซึ่ง10% นี้ผมจะไม่กล่าวถึง เพราะเป็นแนวทางที่ไม่แนะนำให้ลอง สังเกตว่าผมไม่ใช้คำว่า Speculator เพราะในความหมายนั้น ตามความรู้สึกของผมคือพวกนักพนันที่เล่นไพ่ป๊อกเด้ง ไฮโล ที่อาศัยดวงในการเก็งกำไร ต่างจาก Value Speculator ที่เป็นนักพนันแต่เล่นไพ่โป๊กเกอร์ ดัมมี่ เก้าเก ที่อาศัยชั้นเชิง กลยุทธ์ ความน่าจะเป็น การวิเคราะห์คู่แข่ง ฯลฯ

จากสูตรการบริหารพอร์ทการลงทุน บ่งบอกได้ว่าผมเลือกที่จะเป็น “นักลงทุนแบบผสมผสานระหว่างทางบุ๋นและทางบู๊” เป็นจอมยุทธ์ที่ “ลงทุน” ในเชิงระยะยาว กล่าวคือ

50%ใช้การวิเคราะห์พื้นฐานไม่ใช้เทคนิคเลย อาศัยแนวคิดของ “บัฟเฟตต์” เป็นหลัก เมื่อเลือกหุ้นได้ก็ถือยาว

40% ใช้การวิเคราะห์พื้นฐานเลือกหุ้นก่อน อาจจะไม่เข้มงวดเท่ากับหลักของ “บัฟเฟตต์” จากนั้นก็ถือยาว และอาศัยเทคนิคช่วยในการเพิ่มจำนวนหุ้นให้มากขึ้นๆ โดยใช้เงินเท่าเดิม เพื่อมุ่งหวังผลตอบแทนในรูปปันผล (Dividend yield) มากกว่าส่วนต่างราคา (Capital gain) ทั้งนี้สามารถเติมเงินเข้าไปเพิ่มได้ แต่ต้องบันทึก และคำนวณไว้ในไฟล์ Excel เพื่อใช้ตรวจสอบต้นทุนที่แท้จริง และจำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้น

ส่วนอีก 10% ไม่ได้ “ลงทุน” ในหุ้น แต่เป็นการ “เล่นหุ้น” ซึ่งผมจะไม่กล่าวขยายความถึง

มาเริ่มกันที่ 50% แรกเลยดีกว่า นั่นก็คือ VI

VI นั้นถ้าพูดถึงต้นตำรับของการลงทุนแบบเน้นคุณค่าแล้ว คงจะเริ่มมาจาก “ศาสตราจารย์เบนจามิน เกรแฮม” แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย อาจารย์ของ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” อภิมหาเศรษฐี นักลงทุนเบอร์หนึ่งของโลกนั่นเอง ซึ่ง “บัฟเฟตต์” ทำให้โลกทั้งโลกยอมรับว่า VI เป็นแนวทางการลงทุนที่ดีที่สุดของนักลงทุน หากนักลงทุนคนนั้นไม่หวังที่จะรวยทางลัดกับตลาดหุ้น “บัฟเฟตต์” ยังทำให้ VI เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป และทำให้ “นักลงทุน” หน้าใหม่ ใฝ่ฝันอยากที่จะร่ำรวยแบบเขาบ้าง

ผมย้ำนะครับ “นักลงทุน” ไม่ใช่ “นักเก็งกำไร” เพราะนักเก็งกำไร คงจะยึดต้นแบบที่ไม่ใช่ “บัฟเฟตต์” แน่นอน “นักเก็งกำไร” ที่ผมยกให้เป็นมือหนึ่งของโลกนั้น ก็คือ “จอร์จ โซรอส” (แถมให้อีกตำแหน่งก็ได้เอ๊า สุดยอดนักฉวยโอกาส)

กลับมาเรื่องของเราต่อดีกว่า...
แนวคิดหลักของ VI นั่น เป็นแนวคิดที่ไม่ได้ซับซ้อนอะไรเลย คือให้ลงทุนแบบเน้นคุณค่ากับบริษัทที่ “มีความได้เปรียบในเชิงแข่งขันอย่างยั่งยืน” แต่รายละเอียดในการหาบริษัทอย่างว่าต่างหาก ที่นักลงทุนไม่ยอมสละเวลามาทำการศึกษา และค้นหาอย่างจริงจัง

ผมได้อ่าน “Buffetology” และ “The New Buffetology” พอที่จะสรุปประเด็นในการตรวจสอบบริษัทที่น่าลงทุนของ บัฟเฟตต์ ได้ดังนี้
1. มีอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Return on shareholders’ equity หรือ ROE) ที่เหมาะสม เหมาะสมในที่นี้หมายถึง เมื่อเทียบกับกลุ่มอุตสาหกรรมนั้นแล้ว ควรจะสูงกว่าค่าเฉลี่ย
2. มีอัตราผลตอบแทนต่อเงินลงทุนทั้งหมด (Return on total capital หรือ ROTC) ที่เหมาะสม คือสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มอุตสาหกรรมนั้นๆ
3. มีประวัติการทำกำไรที่ดีเยี่ยม โดยกำไรนี้ให้ดูที่ กำไรต่อหุ้น ส่วนดีเยี่ยมก็คือต้องเป็นกำไรต่อหุ้นที่แข็งแกร่ง มีติดต่อกันหลายปี และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น
4. อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt/Equity ratio หรือ D/E ratio) ที่เหมาะสม คือต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มอุตสาหกรรม
5. สินค้าหรือบริการที่มีความได้เปรียบเชิงแข่งขันอย่างยั่งยืน กล่าวคือ ต้องเป็นสินค้าหรือบริการที่มีแบรด์เนม ติดตลาดในกลุ่มอุตสาหกรรมนั่นๆ
6. ปัญหาที่เกิดจากสหภาพแรงงานของบริษัทนั้นๆ กล่าวคือถ้าสหภาพแรงงานมีอำนาจในการต่อรองสูงย่อมส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต (นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ผมนำเอาองค์ความรู้ทางด้าน “การจัดการเชิงกลยุทธ์” มาใช้ในการเลือกหุ้น ซึ่งผมเกริ่นไว้ในตอนที่แล้ว)
7. การวิเคราะห์เพื่อดูว่าบริษัทสามารถปรับราคาของสินค้าหรือบริการ ให้สูงขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อได้หรือไม่
8. ต้นทุนการดำเนินงานที่เหมาะสม
9. บริษัทสามารถซื้อหุ้นคืนจากตลาดเพื่อประโยชน์ของนักลงทุนได้หรือไม่ กล่าวคือถ้าบริษัทนั้นมีประวัติการซื้อหุ้นคืนได้อย่างต่อเนื่อง แสดงถึงว่าบริษัทนั้นมีศักยภาพทางธุรกิจที่จะก่อให้เกิดกระแสเงินสดเป็นจำนวนมาก (อันนี้ต้องระวังว่า กระแสเงินสดที่ได้มานั้น ได้มาจากทางใด ถ้าได้มาจากการออกหุ้นกู้ เพื่อมาซื้อหุ้นคืน การซื้อคืนนั้นก็ไม่มีนัยสำคัญทางด้านศักยภาพทางธุรกิจ)
10. กำไรที่สะสมไว้ได้ไปทำให้มูลค่าตลาดของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นหรือเปล่า กล่าวคือ กำไรสะสมของบริษัทจะทำให้มูลค่าของธุรกิจเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง และส่งผลให้ราคาหุ้นของบริษัทดีดตัวสูงขึ้น

นอกเหนือจาก ประเด็น 10 ประเด็นที่ บัฟเฟตต์ ได้ให้ข้อสังเกตไว้แล้ว ผมได้เพิ่มประเด็นที่ควรพิจารณาเข้าไปอีก ดังนี้
11. มีอัตราส่วนราคาต่อส่วนของผู้ถือหุ้น(Price/Equity ratio หรือ P/E ratio) ที่เหมาะสม คือควรต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มอุตสาหกรรมนั้นๆ
12. มีอัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชี (Price/Book value หรือ P/BV) ที่เหมาะสม คือควรต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มอุตสาหกรรมนั้นๆ
13. มีอัตราการหมุนเวียนของสินค้าคงเหลือ (Inventory turnover) ที่เหมาะสม คือควรสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มอุตสาหกรรมนั้นๆ
14. มีอัตรากำไรขั้นต้น (Profit margin) ที่สูง
15. มีอัตราการจ่ายเงินปันผลที่สูง มีมาอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มสูงขึ้น (ต้องพิจารณาด้วยว่า แนวโน้มที่ปันผลสูงขึ้นนั้น ส่งผลต่อกระแสเงินสดของกิจการในการลงทุนต่อเพื่อให้บริษัทมีความได้เปรียบอย่างยั่งยืนต่อไปหรือไม่ ถ้ามีแนวโน้มจ่ายปันผลสูงขึ้น แต่มีเงินน้อยลงในการไปปรับปรุงกิจการสู้กับคู่แข่งขัน ต้องไปกู้เพิ่ม อันนี้อันตราย ต้องระวัง)

ยังมีตัวเลขในงบการเงินที่สามารถนำมาคำนวณเป็นอัตราส่วนเพื่อใช้ในการพิจารณาได้อีกหลายตัว แต่คงจะไม่ลงทั้งหมดเพราะสามารถหาอ่านได้ไม่ยากในหนังสือ “การวิเคราะห์งบการเงิน”

จากประเด็นดังกล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า เป็นไปได้ยาก ที่จะหาบริษัทที่เข้าข่ายได้ครบทุกประเด็น ผมอาศัยเอาว่าบริษัทใดเข้าข่ายประเด็นดังกล่าวมากที่สุด ก็น่าลงทุน ซึ่งในพอร์ทผมมี 2-3 ตัวเท่านั้น และผมก็คงไม่บอกด้วยแหละ (อย่ามาหลอกถามนะตัวเอง) 555 ล้อเล่นนะครับ จริง ๆ ผมก็อาศัยอ่านเอาจากเว็บต่างๆ นี่แหละครับ มีผู้รู้วิเคราะห์มาให้แล้ว ผมก็ไปหาข้อมูลของบริษัทนั้นมาดูด้วยตัวเองอีกที คือยึดหลัก “กาลามสูตร” ของพระพุทธเจ้า ต้องพิสูจน์ด้วยตัวเองเสียก่อนถึงจะเชื่อ และเอาเงินไปลงทุนไว้ ระยะยาว

มาต่อกันที่ 40% นั่นก็คือ FTA (Fundamentally Technical Analysis)

ท่านที่ยังไม่ได้อ่าน ปฐมบทแห่งการลงทุน 2 คงจะขมวดคิ้วแล้วนึกในใจว่า “อะไรของมันหว่า FTA มัน Free Trade Area ไม่ใช่หรือ?”

ท่านไม่เคยเห็น FTA (Fundamentally Technical Analysis) ที่ไหนมาก่อนแน่นอน เพราะผมบัญญัติเอง และเผยแพร่ที่นี่เป็นที่แรก

FTA เป็นกลยุทธ์การลงทุนโดยอาศัยจุดเด่นของการวิเคราะห์ทางปัจจัยพื้นฐานมาช่วยในการสรรหาหุ้นดี มาลงทุน ซึ่งหลักการในการสรรหาหุ้น หรือบริษัทที่น่าลงทุน เหมือนกับหลักการของ “บัฟเฟตต์” ทุกประการ แต่อาจจะไม่เข้มงวดเท่าก็ได้ และที่เพิ่มเติมคือ จะต้องเป็นบริษัทที่นิยมเทรดกันพอสมควร คือให้มีระลอกคลื่น เพื่อที่จะได้ทำ FTA ได้

จากนั้นก็อาศัยแนวคิดหลัก หรือเคล็ดวิชาเดียวกับ DSM คือ “ทำอย่างไรให้เงินจำนวนเท่าเดิม มีจำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นมาได้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการรับเงินปันผลให้มากขึ้น” แต่วิธีการแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยผมจะใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิค มาช่วยเพิ่มจำนวนหุ้น

จากกฎการลงทุนของ DSM 3ข้อ
1. ห้ามขาดทุน
2. ถ้าไม่เข้าใจให้อ่านข้อ 1
3. ถ้าไม่เข้าใจให้อ่านข้อ 1 ซ้ำอีกครั้ง

แต่ถ้าขาดทุน คุณเด่นศรี แนะนำให้ทำดังนี้
1. เมื่อราคาลงจากต้นทุนที่เราซื้อ 2 ช่อง ให้ขายหุ้นออก 10 %
2. ให้กำหนดจุดซื้อคืนไว้ที่ 3 ช่อง จากราคาที่ขายไป

รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ DSM หาอ่านได้ที่คลับเพื่ออิสรภาพทางการเงิน

ก่อนจะขึ้นกฎการลงทุนของ FTA ท่านที่ไม่เคยรู้จักคลื่นอีเลียตมาก่อน ให้หยุดอยู่ตรงนี้ แล้วหาหนังสือ “การวิเคราะห์หลักทรัพย์ทางเทคนิค” มาอ่านดูก่อน แล้วค่อยกลับมาอ่านบทความนี้ต่อไป ไม่เช่นนั้นท่านจะงงเต๊ก

ส่วนกฎการลงทุนของ FTA คือ
1. ห้ามขาดทุน คือให้ซื้อที่จุดเริ่มต้นของภาวะตลาดกระทิง นั่นคือซื้อที่จุดเริ่มต้นของคลื่น 1 ย่อย ของคลื่น 1 ใหญ่
2. ถ้าขาดทุน ให้ขาย 20% ที่แนวรับแรกที่เส้นราคามันหลุดลงไปทันที และขายทุก 20% เมื่อทะลุแนวรับต่อไปลงไป
3. ให้ไปซื้อคืนที่แนวรับที่เส้นราคาไม่สามารถลงต่อไปได้ คือโดนปุ๊บ กระเด้งทันที ด้วยเงินทั้งหมดที่ขายออกไป
4. หากกำไร ถ้าเป็นภาวะตลาดกระทิง คลื่น 1-5 ย่อย ขึ้นยังไงก็ไม่ขาย จะขายก็ต่อเมื่อ
4.1 หมดคลื่น 5 ย่อย ในคลื่นลูก 1, 3, และ5 ใหญ่ แล้วไปซื้อคืนที่คลื่น C ย่อย ในคลื่นลูก 2 และ 4ใหญ่
4.2 ชนแนวต้านเส้นขนาน 2 ครั้งแล้วไม่ผ่าน คืออาจจะเกิดการฟอร์มตัวเป็น Double Top (ถือว่าเป็นคลื่นล้มเหลว ซึ่งอยู่ในกฎอีเลียต)
4.3 สิ้นสุดภาวะตลาดกระทิง คือที่คลื่น 5 ย่อย ของคลื่น 5 ใหญ่
5. ภาวะตลาดหมี คลื่น 1-5 ย่อย ลงยังไงก็ไม่ซื้อ จะซื้อก็ต่อเมื่อ
5.1 หมดคลื่น 5 ย่อย ในคลื่นลูก A และ C ใหญ่ และไปขายที่คลื่น C ย่อย ของคลื่น B ใหญ่
5.2 ชนแนวรับเส้นขนาน 2 ครั้งแล้วไม่ผ่าน คืออาจจะเกิดการฟอร์มตัวเป็น Double Bottom
5.3 สิ้นสุดภาวะตลาดหมี คือที่คลื่น 5 ย่อย ของคลื่น C ใหญ่

กฎข้อ 2 และ 3 เกิดจากการวิเคราะห์กฎข้อ 1 ผิด เพราะคิดว่าราคากลับตัวเป็นภาวะกระทิงแล้ว พอขาดทุน จึงให้แก้ไขด้วยวิธีดังกล่าว จนกว่าจะมองลูกคลื่นถูกภาวะ แล้วค่อยเริ่มนับคลื่นใหม่

และการซื้อขายในแต่ละครั้ง ให้ซื้อขาย 20% เท่านั้น (ผมใช้แบบนี้ ท่านจะใช้สูตรอื่นก็ไม่ว่ากัน)

หากท่านไม่ถนัด หรือไม่ชอบใช้คลื่นอีเลียต ซึ่งเป็นหนึ่งใน Advance Technical

FTA ก็สามารถประยุกต์ใช้กับ Basic Technical ได้มากมายหลายเครื่องมือ ไม่ว่าจะเป็น MACD, SSTO, RSI, EMA ฯลฯ ขึ้นอยู่กับผู้ใช้จะเซทค่าเป็นเช่นใด

ทีนี้ ปัญหาก็คือ ถ้าใช้คลื่นอีเลียต จะนับคลื่นยังไงให้ถูกต้อง แล้วตลาดหมีกับกระทิง มันมีก็มีทั้งหมียักษ์ กระทิงยักษ์ หมีใหญ่ กระทิงใหญ่ หมีกลาง กระทิงกลาง หมีเล็ก กระทิงเล็ก ฯลฯ จะใช้กระทิงไหนดี

ผมจะใช้ภาพมุมมองของกราฟ 1 ปีเป็นหลัก แต่ก่อนจะดูภาพเล็ก ผมจะมองที่ภาพยักษ์ใหญ่เสียก่อนเพื่อให้รู้ว่า ตอนนี้เราอยู่ในคลื่นลูกใดของภาวะตลาดยักษ์

เรามาลองดูภาพกัน



ภาพนี้เป็นภาพ SET ระดับ 25 ปี เพื่อที่จะดูวัฏจักรระดับยักษ์ จากภาพ จุดเริ่มต้นของภาวะตลาดกระทิงยักษ์เริ่ม ประมาณปี 86 และไปสิ้นสุดที่ปี 94 กินระยะเวลา 8 ปี

ภาวะตลาดหมียักษ์เริ่มประมาณปี 94 ไปสิ้นสุดที่ปี 98 กินระยะเวลาประมาณ 5 ปี

ภาวะตลาดกระทิงยักษ์รอบใหม่เริ่มประมาณปี 98 ถ้าเป็นไปตามวัฏจักรเดิมซึ่งกินระยะเวลา 8 ปี ภาวะตลาดกระทิงนี้ น่าจะสิ้นสุด ประมาณปี 06-07

ผมลองนับคลื่นดูจากภาวะกระทิงยักษ์รอบสองนี้ ตอนนี้เราอยู่ในจุดเริ่มของคลื่น 5 ลูกใหญ่ ซึ่งตามทฤษฎีคลื่นอีเลียตนั้น คลื่น 5 มักจะยาวพอๆ กับคลื่น 3

ผมจึงลองไปดูระยะเวลาการฟอร์มตัวของคลื่น 3 ซึ่งเริ่มประมาณต้นปี 01 และสิ้นสุดประมาณปลายปี 03 กินระยะเวลา 3 ปี ซึ่งเมื่อนำมาบวกกับเวลาเริ่มต้นของคลื่น 5 คือเริ่มประมาณกลางปี 04 มันจะไปสิ้นสุดประมาณปี 07 พอดี

ซึ่งถ้าเป็นไปตามนี้ระยะเวลาของวัฏจักรกระทิงยักษ์ก็ยังคงอยู่ในช่วง 8 ปีโดยประมาณ



นี่เป็นภาพ SET ระดับ 20 ปี



นี่เป็นภาพ SET ระดับ 12 ปี



นี่เป็นภาพ SET ระดับ 7 ปี



นี่เป็นภาพ SET ระดับ 3 ปี



และนี่เป็นภาพ SET ระดับ 1 ปี ที่ผมใช้ทำ FTA

โดยคลื่นลูก 1 นั้น เริ่มต้นประมาณกลางปี 04 ตามกฎ FTA จะต้องขายที่ ประมาณเดือน 7 ปี 04 แล้วมาซื้อคืนเดือน 8 ปี 04 จากนั้นไปขายอีกทีตอนเดือน 10 ปี 04 และไปซื้อคืน ณ ต้นเดือน 11 ปี 04 และถือยาวมาจนถึงเดี๋ยวนี้

ซึ่งผมนับคลื่นที่เราอยู่ลูกนี้ ในภาพระดับ 1 ปี อยู่ที่คลื่นลูก 3 ซึ่งก็ใกล้เวลาที่ผมจะเริ่มทำ FTA อีกรอบแล้ว

ถ้าดูๆ แล้วก็ค่อนข้าง make sense เพราะหลังเลือกตั้งน่าจะมีการปรับตัวให้เห็น ซึ่งอาจจะขึ้นต่อเป็นคลื่นต่อหรือคลื่นขยาย หรืออาจจะปรับลงเป็นคลื่น A ของคลื่น 4 ก็ได้ อันนี้ต้องรอดูต่อไป

รายละเอียดเกี่ยวกับ FTA ขอไว้เป็นตอนหน้า “วางหมาก...กระดานหุ้น ตอน เจาะลึกกลยุทธ์ FTA”

ขอให้เหล่าจอมยุทธ์ อยู่รอดปลอดภัยในยุทธภพด้วยเทอญ

“แมงเม่าของเมื่อวันวาน คือ เซียนหุ้นของพรุ่งนี้”

***สงวนลิขสิทธิ์ ห้ามทำการคัดลอก ดัดแปลง แก้ไข โดยไม่ได้อ้างอิงหรือขออนุญาตล่วงหน้า***


Create Date : 25 กรกฎาคม 2548
Last Update : 25 กรกฎาคม 2548 13:59:26 น. 1 comments
Counter : 1153 Pageviews.

 
<ดีมาก ๆ เลยค่ะ


โดย: แหม่ม IP: 61.19.235.227 วันที่: 7 สิงหาคม 2550 เวลา:10:25:32 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

หมากเขียว
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 42 คน [?]




สวัสดีครับทุกท่าน...ผมหมากเขียวแห่งสินธร...จาก Head of Prop Trade สู่ Private Trader อิสรภาพที่รอคอย



สงวนลิขสิทธิ์ © พ.ศ.2553 โดย หมากเขียว™ ห้ามลอกเลียน ทำซ้ำ หรือคัดลอกส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความที่เขียนโดยข้าพเจ้านอกจากจะได้รับอนุญาต

Copyright © 2010.All rights reserved. These articles and photos may not be copied, printed or reproduced in any way without prior written permission of Mhakkeaw™.
Friends' blogs
[Add หมากเขียว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.