http://twitter.com/merveillesxx และ http://www.facebook.com/merpage
Group Blog
 
<<
มกราคม 2550
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
18 มกราคม 2550
 
All Blogs
 

FTA ไทย-สหรัฐ: หายนะหรือวัฒนะต่อการเข้าถึงยา

โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง




หมายเหตุ

1. รายงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชา ศ.371 เศรษฐศาสตร์สุขภาพ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดทำขึ้นเมื่อ กันยายน 2549

2. วิชานี้ได้ A จ้ะ อิอิอิ






1. FTA คืออะไร

หากกล่าวโดยสรุป FTA (Free Trade Agreement) คือความตกลงร่วมกันระหว่างประเทศตั้งแต่ 2 ประเทศขึ้นไป เพื่อให้เกิดความร่วมมือทางการค้าระหว่างกันมากขึ้น อันเป็นรูปแบบการค้าแบบทวิภาคี (Bilateral Trade)

ในยุคทศวรรษ 90 จนถึงยุคหลังสหัสวรรษใหม่ (Post-Millennium Era) การค้าระหว่างประเทศ และการเงินระหว่างประเทศ (International Trade & International Finance) ทวีความสำคัญมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อันสอดคล้องระดับความเป็นโลกาภิวัตน์ (globalization) ที่เข้มข้นมากขึ้นในทุกประเทศ

การค้าหรือการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการมีการข้ามข่ายพรมแดนมากขึ้น และขยายวงกว้างไปทั่วภูมิภาค ในวงการสาธารณสุขเองก็มีตัวอย่างให้เห็น เช่น การแลกเปลี่ยนปัจจัยการผลิตด้วยการนำเข้าแพทย์หรือยาจากต่างประเทศ

ตามจริงแล้วด้วยลักษณะของโลกาภิวัตน์ที่กล่าวไป ลักษณะของการค้าควรจะเป็นในรูปแบบที่มีการเชื่อมโยงในระดับหลายประเทศ หรือข้อตกลงทางการค้าแบบภูมิภาค (RTA, Regional Trade Agreement) แต่สิ่งที่ปรากฏขึ้นจริงกลับกลายเป็นว่าหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจ อย่างสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น กลับเน้นยุทธศาสตร์การค้าด้วยการเจรจาทางการค้าแบบ “ทวิภาคี” หรือ FTA มากกว่า ซึ่งสาเหตุนั้นคงหนีไม่พ้นว่าประเทศมหาอำนาจย่อมมีอำนาจต่อรองในการทำสัญญามากกว่าประเทศคู่ค้านั่นเอง

ประเทศไทยเองก็ถูกกระแสของเศรษฐกิจสังคมโลกพัดพาเข้าสู่วงจรของ FTA เช่นกัน จนทำให้ช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้ ประเด็นของ FTA เป็นที่สนใจของสังคมในระดับวงกว้าง มีรายงานวิจัยสืบเนื่องออกมาหลายฉบับ มีการถกเถียงเชิงวิชาการ ไปจนถึงการวางบทบาทต่อต้าน FTA อย่างชัดเจนของคนบางกลุ่ม

สถานการณ์ในปัจจุบันนั้น ประเทศที่ไทยได้ทำการตกลงสัญญา FTA ไปแล้วนั้นประกอบด้วย บาห์เรน (2545), จีน (2546), อินเดีย (2547), ออสเตรเลีย (2548) และนิวซีแลนด์ (2548) (จาก //www.ftadigest.com/backgroundFAQ.html#status01)

ส่วนสองประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ อย่างญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกานั้นยังไม่ได้มีการตกลงอย่างเป็นทางการ โดยไทยกับญี่ปุ่นนั้นมีความสัมพันธ์ในเชิง “พันธมิตรทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิด” ส่วน FTA ไทย-สหรัฐนั้นยังอยู่ในการพิจารณา

หัวข้อต่อไปจะลงรายละเอียดถึง FTA ไทย-สหรัฐ อันเป็นประเด็นถกเถียงทางเศรษฐกิจสังคมและการเมืองมากที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา





2. FTA ไทย-สหรัฐ

ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาประเทศสหรัฐอเมริกาได้เน้นใช้นโยบายทางการค้าโดยเน้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรีอย่างเห็นได้ชัด ทั้งในระดับภูมิภาค และระดับทวิภาคี ยุทธศาสตร์การค้านี้มีชื่อเรียกว่า Competitive Liberalization นั่นก็คือการที่สหรัฐจะเน้นการเปิดเสรีการค้าทั้งระดับพหุภาคี ภูมิภาค และทวิภาคีไปพร้อมๆ กัน

สหรัฐอเมริกาได้ทำความตกลงการค้าเสรี FTA ไปแล้วกับจอร์แดน อิสราเอล ชิลี สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และโมร็อคโค และอยู่ในระหว่างการเจรจากลุ่ม 5 ประเทศในแอฟริกา (Southern African Customs Union: SACU) และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเช่น ไทย และเกาหลีใต้ (จาก //www.ftadigest.com/backgroundHandbookFTA02.html)

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาสหรัฐเร่งการทำเจรจา FTA กับประเทศต่างๆ อย่างเห็นได้ชัด สาเหตุประการแรกก็คือ สหรัฐต้องการเจรจา FTA ให้เสร็จสิ้นก่อนที่กฎหมาย Trade Promotion Authority (TPA หรืออีกชื่อหนึ่งว่า Fast Track) อันให้อำนาจแก่ประธานาธิบดีในการเจรจาการค้าได้โดยสะดวก จะหมดอายุลงในปี 2007

อีกประการหนึ่งก็คือ ศักยภาพทางเศรษฐกิจของสหรัฐนั้นลดทอนลงไปมาก ตั้งแต่ยุคหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 (Post 9/11 Era) เป็นต้นมา รัฐบาลของประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช สูญเงินไปมหาศาลกับการปราบการก่อการร้าย และการส่งทหารเข้าไปอัฟกานิสถานและอิรัก งบประมาณการคลังที่ลดลง ส่งผลให้เศรษฐกิจของสหรัฐหดตัวอย่างมาก จนทำให้เศรษฐกิจของประเทศจีนรุ่งเรืองขึ้นมา และถือเป็นคู่แข่งตัวฉกาจของสหรัฐ ดังนั้นการเร่งทำ FTA กับประเทศต่างๆ (โดยเฉพาะประเทศที่มีอำนาจต่อรองน้อยกว่า) จึงน่าจำเป็นต่อการเยียวยาเศรษฐกิจของสหรัฐเอง

สำหรับประเทศไทยนั้น รัฐบาลระบอบทักษิณาธิปไตย (2544-2549) ภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สนับสนุนการทำ FTA กับประเทศต่างๆ รวมถึง FTA ไทย-สหรัฐอย่างเห็นได้ชัด จนนักวิชาการหลายคนแสดงความคิดเห็นว่าการทำ FTA ไทย-สหรัฐ อย่างเร่งรีบ รวดเร็ว และรวบรัด คงจะเป็นหนึ่งในยุทธวิธีเศรษฐกิจแบบทักษิโณมิกส์ (Thaksinomics) อันมีเป้าหมายเพื่อการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนบุคคล (Private-Interest Maximization)

รายงานวิจัยหลายชิ้นได้ศึกษาผลกระทบของ FTA ไทย-สหรัฐ เช่น ด้านเศรษฐกิจมหภาคของไทย สาขาการเกษตร อุตสาหกรรมยานยนต์ การค้าบริการ โทรคมนาคม การเงิน การค้า ฯลฯ งานวิจัยเหล่านี้ (โดยไม่นับรายงานของหน่วยรัฐที่มักเข้าข้างรัฐบาล และนำเสนอแต่ด้านบวกของ FTA) อาจมีมิติทางการศึกษาที่แตกต่างกัน แต่มักได้ผลสรุปออกมาในแนวทางเดียวกันคือ ประเทศไทยค่อนข้าง “เสียเปรียบ” ในข้อตกลง FTA ไทย-สหรัฐ และเสนอให้รัฐบาลชะลอการเร่งทำ FTA กับสหรัฐไว้ก่อน

อีกประเด็นที่น่าคิดคำนึงก็คือ เรื่องของ “การมีส่วนร่วม” ของประชาชนในการทำสัญญา FTA โดยสภาพความเป็นจริงก็คือ ประชาชนส่วนใหญ่แทบจะไม่รู้เรื่องเลยว่า FTA มีความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว (บางคนยังไม่รู้จักด้วยซ้ำว่า FTA คืออะไร แม้จะเป็นถึงนักศึกษาระดับอุดมศึกษาแล้วก็ตาม) รัฐบาลดำเนินการทุกอย่างโดยไม่สนใจเสียงเรียกร้องใดๆ ทั้งสิ้น และใช้นโยบายแบบประชานิยม (Populism) ให้ประชาชน (โดยเฉพาะระดับรากหญ้า) มีความภักดี (Loyalty) ต่อรัฐบาล พร้อมกับเป็นการ “ปิดปาก” ประชาชนไปในตัว

ทั้งที่จริงแล้วเป็นกฎสากลที่รู้โดยทั่วกันว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้น เป็นกลไลสำคัญในกระบวนการทำ FTA เพราะผู้ที่จะได้รับ “ผลกระทบ” จาก FTA มากที่สุดก็คือ ประชาชนนั่นเอง

ในหัวข้อต่อไปจะนำเสนอถึงผลกระทบด้าน “การเข้าถึงยา” ของการทำ FTA ไทย-สหรัฐ อันเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สุดเรื่องหนึ่งของประชาชนชาวไทย





3. ผลกระทบของ FTA ไทย-สหรัฐ ต่อการเข้าถึงยา

3.1 จาก TRIP+ สู่ US+


ข้อสังเกตโดยทั่วไปที่ค้นพบในการทำ FTA ของประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะการทำกับประเทศสิงคโปร์ ชิลี ออสเตรเลีย อเมริกากลาง หรือแม้แต่ประเทศไทยก็ตาม เรามักพบว่าข้อตกลงใน FTA นั้นมีความเข้มงวดมากกว่าข้อตกลง TRIPS (Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights) อันเป็นข้อตกลงว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาขององค์กรการค้าโลก (WTO) จนถูกเรียกว่าเป็น TRIPS+ หรือทริปส์ผนวก

แต่ถ้าหากศึกษาลงในรายละเอียดแล้วเราจะพบว่า ข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาใน FTA ของสหรัฐยังเข้มงวดกว่ากฎหมายภายในสหรัฐอีกด้วย

ในความเป็นจริงนั้นเราล้วนทราบดีว่าเป้าหมายหนึ่งในการทำ FTA ของสหรัฐก็คือ พยายามทำให้กฎหมายของประเทศตนกลายเป็นมาตรฐานสากล (International Standard) หรือหลักปฏิบัติที่ประเทศคู่ค้า FTA ควรยึดตาม โดยเฉพาะในด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ในระดับนี้ก็อาจมองได้แล้วว่าสหรัฐค่อนข้างเอาเปรียบประเทศคู่ค้า แต่ในตอนนี้กลับกลายเป็นว่าสหรัฐกำลังจะผลักดันให้ประเทศคู่ค้ามีกฎหมายที่เข้มงวดกว่าสหรัฐ ซึ่งเราอาจเรียกได้ว่า US+

หากประเทศไทยทำการเซ็นสัญญา FTA กับประเทศสหรัฐจริง อุตสาหกรรมยาและผลิตภัณฑ์ยาก็คงตกอยู่ในกรอบของ US+ เช่นกัน

กฏหมายด้านผลิตภัณฑ์ยาของสหรัฐเองนั้นจะถูกออกแบบให้มีการต่อรองกันระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ภายในประเทศ ทั้งกลุ่มผู้ผลิตยาและกลุ่มผู้บริโภค ทำให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน แต่กลไกถ่วงดุลเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำเข้ามาในกรอบของ FTA เลย เพราะผู้บริโภคต่างประเทศไม่มีอำนาจต่อรองกับรัฐบาลสหรัฐ หรือแม้กระทั่งรัฐบาลของตนเอง

ตัวอยางของบทบัญญัติแบบ US+ ในความตกลง FTA มีดังนี้ (จาก //www.ftadigest.com/researchTDRInesacIP.html)

1) การยืดอายุสิทธิบัตร
ในกรณีที่องคกรอาหารและยาของสหรัฐ (FDA) อนุมัติยาวางตลาดล่าชาเกินสมควร ตามกฎหมายสหรัฐจะมีการยืดอายุสิทธิบัตรออกไปเพื่อชดเชยให้เจ้าของสิทธิบัตร โดยกำหนดเวลาชดเชยเปนผลรวมของครึ่งหนึ่งของระยะเวลาขอทดสอบกับระยะเวลาตรวจอนุมัติ แตการชดเชยทั้งหมดต้องไมเกิน 5 ป และอายุคุ้มครองสิทธิบัตรโดยรวมนับตั้งแต่ยาวางตลาดต้องไม่เกิน 14 ป

ในขณะที่ FTA ที่สหรัฐทํากับประเทศอื่นๆ นั้น ไม่มีเพดานกําหนดการยืดอายุสิทธิบัตรไว ซึ่งหมายความว่าใหความคุ้มครองมากไปกว่ากฎหมายของสหรัฐเอง การยืดระยะเวลาการผูกขาดเช่นนี้ จะยิ่งทำให้การนำยาชื่อสามัญที่ราคาไม่แพงมาใช้ต้องล่าช้าออกไปอีก

2) การใช้สิทธิบัตรผลิตข้อมูล
ตามกฎหมายสหรัฐ ผูผลิตยาชื่อสามัญ (generic drug) สามารถใชสิทธิบัตรของผู้ผลิตยาต้นแบบ (original drug) ในการผลิตข้อมูลทดสอบเพื่อขออนุญาตวางตลาด และใช้ความรู้ในสิทธิบัตรในการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวกับยาที่อาจจะยื่นขออนุญาตวางตลาดได้ แม้ว่าในที่สุดอาจไม่ได้ขออนุญาตวางตลาดจริงก็ตาม

แต FTA กําหนดไว้ว่าผู้ผลิตยาชื่อสามัญจะสามารถใชสิทธิบัตรยาผลิตข้อมูลทดสอบได้เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตวางตลาดเท่านั้น ซึ่งเป็นการเพิ่มสิทธิของเจ้าของสิทธิบัตรมากกว่ากฎหมายสหรัฐและตัดสิทธิในการวิจัยพัฒนาของผู้อื่น

3) การขัดขวางการขอวางตลาด
ในสหรัฐมีสิทธิบัตรยาที่ถูกเพิกถอนไปจํานวนมาก เพราะพบภายหลังว่าไม่มีความใหม หรือไม่แตกต่างจากยาเดิมมากพอ ในระหว่างการไตสวนเพื่อเพิกถอนนั้น ผู้ผลิตยาชื่อสามัญสามารถขออนุญาต FDA เพื่อวางตลาดยาชื่อสามัญของตนเองได้ก่อนสิทธิบัตรจะหมดอายุ

แตความตกลง FTA กําหนดว่าในขณะที่สิทธิบัตรยังมีอายุอยูห้ามใหหน่วยงานรัฐ เช่น อย. อนุญาตให้ยาสามัญวางตลาด ซึ่งแปลว่าหากภายหลังสิทธิบัตรนั้นถูกเพิกถอนไป ผู้ผลิตยาชื่อสามัญก็ต้องเสียโอกาสในช่วงไต่สวนซึ่งอาจนานหลายปีไปฟรีๆ เพราะนํายาออกวางตลาดไม่ได

4) การหามบังคับถายทอดความลับทางการคา
ในกรณีที่มีโรคระบาดและเกิดขาดแคลนยา รัฐอาจบังคับเจาของสิทธิบัตรยินยอมใหผูอื่นใชสิทธิบัตรนั้นผลิตยาได ซึ่งเรียกกันวา การบังคับใชสิทธิ (compulsory license) ในสหรัฐ รัฐบาลมีอํานาจในการบังคับการถายทอดความลับทางการคาที่จําเปนในการผลิตควบคูไปดวย

แต FTA หามบังคับถายทอดความลับทางการคาไวโดยเด็ดขาด ซึ่งทําใหแมบังคับใชสิทธิบัตรได ผูอื่นก็ไมสามารถผลิตยาไดอยูดี

5) การหามนําเขาซอน
รัฐสภาสหรัฐไดมีความพยายามหลายครั้งในการออกกฎหมายใหสามารถนําเขาซอนยาจากตางประเทศได การนําเขาซอน (parallel import) คือการนําเขายาที่มีสิทธิบัตรมาจากประเทศอื่น เชน คนในสหรัฐมักตองการนําเขายาตนแบบที่จําหนายในแคนาดาเพราะมีราคาถูกกว่า จึงเปนไปไดวา ในอนาคตสหรัฐอาจยินยอมใหมีการนําเขาซอนยาจากตางประเทศ

แต FTA ใหสิทธิแกเจาของสิทธิบัตรในการหามการนําเขาซอนโดยไมไดรับอนุญาต ที่นาตลกก็คือ USTR (Office of the United States Trade Representative - สํานักงานผูแทนการคาของสหรัฐ) บอกวา ภายหลังหากรัฐสภาสหรัฐอนุญาตใหนําเขาซอนได ก็ไมถือวาขัดกับ FTA

ความเขมงวดของกฎหมายสิทธิบัตร และขอจํากัดในการขออนุญาตวางตลาดยาชื่อสามัญตามกรอบ FTA จะทําใหในอนาคต ยาในประเทศไทยจะมีราคาแพง เพราะจะไมสามารถบังคับใชสิทธิ นําเขาซอน หรือผลิตยาชื่อสามัญเขามาแขงขันกับยาตนตํารับไดอีก

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ถึงกับเขียนทิ้งท้ายไว้ในงานวิจัย “ไทยกําลังจะมีกฎหมายสิทธิบัตรยาที่เขมกวากฎหมายสหรัฐ” ว่า “ลําพังการคุมครองทรัพยสินทางปญญาใหเกินกวาความตกลง TRIPS ซึ่งเปนมาตรฐานโลก ก็เปนเรื่องยากที่จะรับไดอยูแลว จึงชัดเจนอยางยิ่งวา ไมมีเหตุผลใดๆ ทั้งสิ้นที่ประเทศกําลังพัฒนาอยางไทย ซึ่งเปนผูบริโภคยา และมีผูติดเชื้อ HIV จํานวนมาก จะตองมีกฎหมายสิทธิบัตรเขมงวดกวาสหรัฐ ซึ่งเปนประเทศผูผลิตยา”


3.2 วิเคราะห์กรณี US+ ในมิติของเศรษฐศาสตร์สุขภาพ

ยา (สิ่งที่มีสรรพคุณรักษาโรคได้) นั้นถือเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญที่สุดตัวหนึ่งของบริการสุขภาพ แต่ตลาดยานั้นมักเบี่ยงเบนไปจากตลาดแข่งขันสมบูรณ์เนื่องจาก

1. ต้นทุนการวิจัยและพัฒนา (R&D) ที่สูง
2. บริษัทยาขนาดใหญ่เท่านั้นจึงทำ R&D ได้ และนำมาซึ่งการผูกขาดตลาดยา
3. ยา วิตามิน อาหารเสริม มีกระบวนการผลิตที่ร่วมกัน ทำให้โครงสร้างตลาดไม่ชัดเจน
4. ยาส่งผลให้เกิดผลกระทบภายนอก (externalities)
5. ผู้ผลิตยามีจำนวนน้อย
6. การคุ้มครองสิทธิบัตร (Patent)

จากข้างต้นเราจึงเห็นได้ว่าลักษณะโดยธรรมชาติของตลาดยาก็เอนเอียงไปสู่ตลาดผูกขาดอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าหาก FTA ไทย-สหรัฐ เกิดขึ้นจริง ภายใต้กรอบของ US+ ที่กล่าวไว้ในข้อ 3.1 จะทำให้ตลาดยามีแนวโน้มเป็นตลาดผูกขาดมากขึ้น โดยเฉพาะจากปัจจัยเรื่องของสิทธิบัตร

กุญแจสำคัญในการลดราคายานั้นอยู่ที่การทำให้เกิดการแข่งขันในหมู่ผู้ผลิตหลายราย โดยวิธีที่ได้ผลดีที่สุดในการลดราคา และขยายการเข้าถึงยาคือ การส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันจากการผลิตยาชื่อสามัญ

โดยปกติสิทธิบัตรนั้นจะทำให้ผู้ผลิตมีอำนาจผูกขาดเหนือการผลิตและราคายาอยู่แล้ว แต่กรอบ US+ ไม่ได้ส่งผลแค่ในด้านการขยายอายุสิทธิบัตรเท่านั้น แต่ยังเป็นอุปสรรคต่อการผลิตยาชื่อสามัญอีกด้วย นั่นก็คือ การผลักดันตลาดยาให้เข้าสู่ตลาดผูกขาดชนิดเกือบเต็มตัว อันจะมานำมาซึ่งราคายาที่สูงขึ้น จนทำให้ประชาชนมีความสามารถเข้าถึงยาได้น้อยลง

ในกรณีของ FTA ก็เป็นการยากที่รัฐจะใช้มาตรการต่างๆ เข้าไปแทรกแซงตลาด เพราะอาจดูเป็นการละเมิดสัญญา FTA จนส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศ ยิ่งเป็นการทำให้สัญญากับประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐแล้ว การถูก “ลงโทษทางเศรษฐกิจ” ย่อมถือเป็นฝันร้ายสำหรับประเทศ

นอกจากจะไม่สามารถทำการแทรกแซงได้แล้ว รัฐบาลไทยยังต้องตั้งหน่วยงานหรือองค์กรขึ้นมาเป็น “ตำรวจสิทธิบัตร” (Police Patent) ในการตรวจสอบดูแลไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิบัตรตามที่ตกลงไว้ FTA ในกรอบของ US+ อีกด้วย กิจกรรมในส่วนนี้ย่อมเกิดเป็นต้นทุนการตรวจสอบ (monitoring cost) อันเป็นเม็ดเงินจำนวนไม่ใช่น้อย อันเป็นที่น่าเสียดาย เพราะคงจะดีกว่าถ้านำเงินตรงนี้ไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาในประเทศ


3.3 กรณีศึกษา: FTA กับเคราะห์กรรมของผู้ติดเอดส์

โรคเอดส์ หรือโรค HIV นั้นยังถือเป็นประเด็นสำคัญสำหรับประเทศไทย เพราะนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดในประเทศไทยมา มีประชาชนทั้งชาย หญิง และเด็กได้รับเชื้อจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อเอดส์แล้วมากกว่า 5 แสนคน จึงมีความพยายามพัฒนาการรักษาและป้องกันโรคเอดส์เรื่อยมา และมีการตั้ง “โครงการเขาถึงยาตานไวรัสสําหรับผูติดเชื้อฯ แหงชาติ” (National Access to Antiretroviral Program for People Living with HIV/AIDS หรือเรียกยอๆวา NAPHA-โครงการนภา)

ในระยะแรกเริ่มของการรักษาโรคเอดส์นั้น ผู้ติดเชื้อจะได้รับการรักษาด้วยยาประเภท “ยาสูตรที่หนึ่ง” (First-line) โดยยาประเภทนี้ได้ถูกคิดค้นขึ้นมาก่อนที่ประเทศไทยจะนำระบบการคุ้มครองสิทธิบัตรยามาใช้ในปี 2542 ดังนั้นยาเหล่านี้จึงไม่สามารถจดสิทธิบัตรในประเทศไทยได้

แต่ทว่าเชื้อไวรัสนั้นมักจะดื้อยาเมื่อใช้ยาไปได้ระยะหนึ่ง ทำให้การรักษาด้วยยาสูตรที่หนึ่งไม่ได้ผลอีกต่อไป และพัฒนาการรักษาด้วยการหันไปใช้ยา “ยาสูตรที่สอง” (Second-line) แทน อุปสรรคที่เกิดขึ้นก็คือ ยาสูตรที่สองนั้นมีราคาแพงกว่ายาสูตรที่หนึ่งมาก และกฏหมายเรื่องสิทธิบัตรมีผลครอบคลุมกับยาสูตรที่สอง

การที่ยาติดสิทธิบัตรนั้นจะยิ่งทำให้ยามีราคาแพงขึ้น ตัวอย่างเช่น ยา Efavirenz ของบริษัทเมิร์ค (Merck) จะมีราคาสูงเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว จาก 40 บาทเป็น 75 บาท ซึ่งราคาที่ทวีสูงขึ้นนี้จะทำให้ผู้ติดเชื้อเข้าถึงยาได้น้อยลง และกระทรวงสาธารณสุขจะต้องมีงบประมาณใช้จ่ายมากขึ้น (จาก //www.ftawatch.org/download/file.php?id=80)

แน่นอนว่าการทำให้ FTA ไทย-สหรัฐจะยิ่งซ้ำเติมผู้ติดเชื้อเอดส์เข้าไปอีก เพราะกรอบ US+ จะทำให้อายุสิทธิบัตรยาขยายเพิ่มออกไป ผลที่ตามมาก็คือราคาจะยิ่งแพงขึ้นอีก ซึ่งสวนทางกับการที่ผู้ติดเชื้อมีความต้องการยาสูตรที่สอง และยาสูตรที่สามมากขึ้นทุกวัน เพราะเชื้อไวรัสมีอาการดื้อยามากขึ้น

ในแง่นี้ FTA จึงเป็นการดับความหวังที่มีอยู่น้อยนิดของผู้ติดเชื้อเอดส์โดยแท้ เหล่าผู้ติดเชื้อที่นอกจากต้องรับเคราะห์กรรมจากเชื้อเอดส์แล้ว ยังต้องมารับกรรมที่ตัวเองไม่ได้ก่อจากเรื่องของ FTA และประเด็นนี้ยังอาจทำให้เราตีความได้ว่า ข้อตกลง FTA นั้นสนับสนุนแนวความคิดที่ว่า “คนรวยเท่านั้นที่อยู่รอด” เพราะมีเพียงผู้ร่ำรวยเท่านั้นที่จะสามารถซื้อยาสูตรที่สองหรือยาชนิดใหม่ๆ ที่มีราคาแพงได้





4. บทเรียนของ FTA เกาหลีใต้-สหรัฐ

ก่อนที่จะพิจารณาว่าประเทศไทยสมควรทำ FTA ไทย-สหรัฐ หรือไม่นั้น หากเราลองละสายตาจากปัญหาความขัดแย้งในประเทศ และมองออกไปข้างนอกโดยไม่ใกล้ไม่ไกลนัก เราก็จะพบว่าประเทศเกาหลีใต้ก็มีสถานการณ์ไม่ต่างจากบ้านเรานัก

ช่วงทั้งปี 2549 สถานการณ์บ้านเมืองของเกาหลีใต้ไม่ค่อยสู้ดีนักในสายตาชาวต่างประเทศ เพราะมีกลุ่มคนจำนวนมากที่ไม่พอใจนโยบายการทำ FTA กับสหรัฐของรัฐบาลเกาหลีใต้ เหตุการณ์ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นปัญหาระดับชาติ เพราะประชาชนนับแสนเดินประท้วงเพื่อเจตนารมณ์ต่อต้านการทำ FTA เกาหลีใต้-สหรัฐ (ดูภาพการประท้วงได้ที่ //www.ftawatch.org/autopage1/show_page.php?t=40&s_id=4&d_id=4)

ความรุนแรงมาถึงขั้นสูงสุดเมื่อชาวนาคนหนึ่งถึงกับฆ่าตัวตายประท้วง FTA เพราะการทำ FTA จะส่งผลกระทบในภาคเกษตรคือ เกาหลีใต้จะมีอัตราพึ่งพิงการนำเข้าอาหารจากสหรัฐมากขึ้น ทำให้ข้าวมีความสำคัญลดลง และชาวนาก็จะสูญพันธุ์

ผู้นำประเทศของไทยและเกาหลีใต้มีวิสัยทัศน์เรื่องการทำ FTA กับสหรัฐไม่ต่างกันนัก ในขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยืนยันการทำ FTA ไทย-สหรัฐ จนถึงวินาทีสุดท้าย ประธานาธิบดี Roh Moo-hyun ของเกาหลีใต้ก็ยืนยันว่าเป็นตายอย่างไรก็ต้องทำ FTA เกาหลีใต้-สหรัฐให้ได้ เขายังกล่าวอีกด้วยว่า “ประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เห็นว่าไม่มีประเทศใดที่ปิดประเทศแล้วเจริญ แต่การเปิดประเทศอาจนำไปสู่ความเจริญหรือล่มสลายก็ได้ เกาหลีต้องเรียนรู้การเปิดประเทศและใช้เป็นเครื่องมือที่นำไปสู่ความเจริญ” (จาก //www.ftadigest.com/newsAnalysis213.html)

ประเทศเกาหลีใต้เองก็ได้รับผลกระทบจากการทำ FTA กับสหรัฐในด้านยาและสาธารณสุขคล้ายกับประเทศไทยในเรื่องการขยายระยะเวลาสิทธิบัตรยา การปรับกฎระเบียบด้านสุขภาพต่างๆ ให้มีระดับเทียบเท่ากับกฎหมายของสหรัฐ (หรือความจริงแล้วอาจจะเข้มข้นกว่า) แม้ข้อเจรจาเหล่านี้จะยังไม่สามารถตกลงกันได้ในการประชุม FTA รอบที่ 3 ที่กรุงซีแอตเติล แต่อย่างน้อยสุดผลในเชิงรูปธรรมของ FTA เกาหลีใต้-สหรัฐ ก็ได้ปรากฏตัวขึ้นแล้ว เมื่อเกาหลีใต้สั่งยกเลิกการห้ามนำเข้าเนื้อวัวจากสหรัฐ (8 กันยายน 2549) ทั้งที่ประชาชนยังคลางแคลงใจเรื่องเชื้อวัวบ้าอยู่ก็ตาม

ในความคล้ายกันเรื่องสถานการณ์ FTA ของไทยและเกาหลีใต้ก็ยังมีความแตกต่างอยู่ เห็นได้ชัดที่สุดคือ ความตื่นตัวในเรื่อง FTA ถึงแม้ทั้งสองประเทศจะมีการชุมนุมเหมือนกัน แต่สำหรับประเทศไทยนั้นไม่ใช่การชุมนุมต่อต้าน FTA เหมือนเกาหลีใต้ แต่เป็นการชุมนุมของคนที่ต้องการขับไล่รัฐบาล กับกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาล จึงเห็นได้ว่าการรวมกลุ่มของประชาชนเกาหลีใต้มีลักษณะของความสามัคคีและการจากการตระหนักถึงประเด็นด้านสังคมเศรษฐกิจ ในขณะที่การรวมกลุ่มของประชาชนไทยเป็นเรื่องความขัดแย้งในความคิดทางการเมืองและนำมาซึ่งความแตกแยก กล่าวให้เห็นชัดเจนขึ้นคือ ในสมองของคนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้มีคำว่า FTA อยู่ในหัว มีเพียงคำว่า “ทักษิณออกไป” หรือ “ทักษิณสู้ๆ”

แม้แต่ในวงการภาพยนตร์เกาหลีใต้เอง ยังมีการทำหนังเรื่อง The Host (อสูรนรกกลายพันธุ์ – เข้าฉายในบ้านเราเมื่อ 7 กันยายน 2549) ที่ฉากหน้าเป็นหนังสัตว์ประหลาดอาละวาดฆ่าคน แต่แท้จริงมันมีนัยยะเป็นหนังต่อต้าน FTA เกาหลีใต้-สหรัฐ (และหนังเรื่องนี้โจมตีสหรัฐแทบทุกฉากทุกวินาที) ด้วยเหตุที่ว่าวงการภาพยนตร์เองก็ได้รับผลกระทบจาก FTA ไปแล้ว นั่นคือ การลดโควตาฉายหนังเกาหลี เพื่อให้หนังฮอลลีวู้ดมีพื้นที่ฉายมากขึ้น ในขณะที่ภาพยนตร์ไทยนั้นก็ยังเต็มไปด้วยหนังแบบ โกยเถอะโยม, ศพ, ผีอยากกลับมาเกิดใหม่, ผีคนเป็น และหนังสารพัดผีอีกมากมาย จึงเห็นได้ว่าบ้านเราขาดแคลนสิ่งที่เรียกว่า “สื่อประเทืองปัญญา” (Intellectual Media) เราจึงเป็นประเทศที่ผู้คนยินดีกับการ “ฉีกรัฐธรรมนูญเพื่อโค่นล้มคนๆ เดียว” และสนุกสนานกับการถ่ายรูปคู่กับรถถัง

เกาหลีใต้เป็นประเทศที่ฟื้นตัวได้รวดเร็วมากหลังจากเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 นับจากนั้นเกาหลีใต้มีความแข็งแกร่งทั้งในด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรม และดูเหมือนว่าการต่อสู้กับ FTA ของเกาหลีใต้จะคืบหน้าไปกว่าบ้านเรามากนัก ดังนั้นจึงสมควรยิ่งที่เราจะนำเอา FTA เกาหลีใต้-สหรัฐ มาเป็น “บทเรียน” ต่อ FTA ไทย-สหรัฐ





5. ความคืบหน้าของ FTA ไทย-สหรัฐ

ในการเจรจา FTA ไทย-สหรัฐรอบที่ 6 (จัดขึ้นเมื่อ 9-13 มกราคม 2549 ณ จังหวัดเชียงใหม่) มีรายงานสรุปออกมาว่า “มีการเจรจาครอบคลุมทุกหัวขอการเจรจาและมีความคืบหน้าเปนที่นาพอใจของทั้งสองฝาย แมวาจะมีการยื่นขอเรียกรองในประเด็นที่ออนไหวสําหรับประเทศไทย ไทยยังมิไดตอบรับขอเรียกรองแตตองหารือกันตอไปเพื่อใหไดขอสรุปที่เปนผลประโยชนตอทั้งสองฝาย” และ “สําหรับเรื่องสิทธิบัตร สหรัฐฯ ไดยื่นขอเสนอในเรื่องยาและเคมีสินคาเกษตรใหไทยใหความคุมครองแกขอมูลการทดสอบยาเปนเวลา 5 ป และเคมีภัณฑทางการเกษตรเปนเวลา 10 ป โดย ในระหวางนี้จะไมสามารถวางจําหนายในตลาดได ซึ่งไทยไดย้ำกับสหรัฐฯ วา ประเด็นเรื่องยาเปนประเด็นออนไหวอยางมากและไมสามารถยอมรับได” (จาก //www.ftamonitoring.org/Data3/2006%20Jan/20060117/ftaus_round6.pdf)

จากรายงานข้างต้นเราจะเห็นได้ว่า สถานะของ FTA ไทย-สหรัฐยังคงอยู่ในภาวะ “อยู่ในระหว่างการเจรจาต่อไป” ทั้งนี้สหรัฐก็ยังคงยืนยันข้อเรียกร้องต่างๆ แก่ประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องสิทธิบัตรที่สอดคล้องกับกรอบ US+ ที่กล่าวถึงในหัวข้อที่ 3 และแม้ไทยจะดูมีท่าทีของการยืนหยัดเพื่อสิทธิประโยชน์ของตนแล้ว แต่ไม่ว่ามองจากมุมไหนอำนาจต่อรองของเราก็น้อยกว่าอยู่ดี

กระนั้นก็ตาม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ยังยืนยันการสนับสนุน FTA ไทย-สหรัฐ จนถึงวินาทีสุดท้าย (แม้ขณะนั้นอยู่ในตำแหน่ง “รักษาการนายกรัฐมนตรี”) โดยกลาวในการประชุมรวมกับภาคธุรกิจอเมริกันจาก US Chamber of Commerce และ US-ASEAN Business Council ที่นิวยอรก วาจะสานตอนโยบายเศรษฐกิจระหวางประเทศ โดยเฉพาะเขตการคาเสรี (FTA) ไทย-สหรัฐใหเปนรูปธรรมไดหลังการเลือกตั้งของไทย (จาก //www.ftamonitoring.org/Data3/2006%20Sep/20060921/Us%20news210906.pdf) แม้ว่าจะมีเสียงจากนักวิชาการหลายสำนักคัดค้าน และขอให้ชะลอการทำ FTA ไทย-สหรัฐ ไว้ก่อนก็ตาม

แต่จุดเปลี่ยนสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็เกิดขึ้น เมื่อคืนวันที่ 19 กันยายน 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้ทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลทักษิณโดยเบ็ดเสร็จ ส่งผลให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลายสภาพเป็น “อดีตนายกรัฐมนตรี” โดยทันที และการเมืองไทยก็เข้าสู่ภาวะสุญญากาศ

ในขณะนี้ยังไม่มีความแน่ชัดว่าใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะมาแทนรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ถูกยกเลิกไปจะเป็นเช่นไร อย่างไรก็ตามมีอยู่ 3 ประการที่ทาง คปค. ยืนยันที่จะดำเนินการต่อจากรัฐบาลทักษิณ

ประการแรกคือ การส่งนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย เข้าชิงตำแหน่งประธานองค์กรสหประชาชาติ (UN) ตามเดิม

ประการที่สองคือ ยังคงดำเนินนโยบายเศรษฐกิจต่อเนื่องจากรัฐบาลชุดที่แล้วอย่างน้อย 3 ข้อ คือ โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค, กองทุนหมู่บ้าน และ SML

ประการสุดท้ายคือ ยังคงดำเนินการทำสัญญา FTA กับประเทศต่างๆ ต่อไป (การตอบคำถามแก่สื่อมวลชนของ คปค. ที่ออกอากาศผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยเมื่อ 20 กันยายน 2549)

แม้การยืนยันจะเดินหน้าทำ FTA ต่อไปของ คปค. จะเป็นเพียงการชี้แจงโดยปากเปล่า (oral statement) แต่ก็มีนัยยะให้ขบคิดอยู่เหมือนกันว่าไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยที่ คปค. ยังคงยืนยันการทำ FTA เพราะลำพังแค่การทำรัฐประหารก็ทำให้ประเทศไทยเสียภาพพจน์มากโขอยู่แล้ว ดังนั้นถ้ายังจะปฏิเสธการทำ FTA อีกคงเป็นการฆ่าตัวตายซ้ำสองเป็นแน่

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์สังคมเศรษฐกิจของไทยในตอนนี้ ยังคงอยู่ห่างไกลจากคำว่า “แน่นอน” อยู่มาก ประเด็นเรื่อง FTA จึงเป็นเรื่องที่เราต้องจับตามองอย่างระไวระวังต่อไป





6. บทสรุปและข้อเสนอแนะ

FTA นั้นส่งผลดีหรือผลเสียอย่างไรต่ออุตสาหกรรมยานั้นอาจเป็นคำถามที่ยังตอบได้ยาก เพราะ FTA ไทย-สหรัฐยังไม่เกิดขึ้นจริง แต่ถ้าลดระดับคำถามให้อยู่วงแคบขึ้นโดยการพิจารณา “การเข้าถึงยา” เราอาจจะค้นหาคำตอบได้ชัดเจนขึ้น

คำถามที่รายงานฉบับนี้ได้ตั้งไว้ว่า FTA ไทย-สหรัฐนั้นจะถือว่าเป็นเส้นทางแห่งความ “หายนะ” หรือ “วัฒนะ” ต่อการเข้าถึงยาของประชาชนไทย สามารถหาคำตอบได้จากหลักการขั้นพื้นฐานที่สุดของสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ นั่นคือการเปรียบเทียบผลได้-ต้นทุน (Cost-Benefit Analysis)

รายงานวิจัยทุกชิ้นล้วนเลือกข้างเป็นฝ่ายทุกขทรรศน์ (Pessimistic) ต่อ FTA ไทย-สหรัฐ โดยผลสรุปคือ FTA ไทย-สหรัฐ จะส่งผลเสียต่อการเข้าถึงยาของประชาชนไทย ด้วยกรอบของ US+ ที่พ่วงมาใน FTA ที่ทำให้ไทยมีกฎหมายเรื่องสิทธิบัตรยาเข้มข้นกว่ากฎหมายของสหรัฐเอง

ไม่มีรายงานวิจัยชิ้นไหนพูดถึงด้านบวกของ FTA ต่ออุตสาหกรรมยา ซึ่งที่จริงแล้วอาจจะมี แต่เพราะด้านลบชัดเจนและรุนแรงกว่ามาก จึงอาจกล่าวได้ว่า การทำ FTA กับสหรัฐนั้นจะก่อต้นทุนมหาศาลให้กับประเทศไทย เพราะนี่คือเส้นทางแห่งความหายนะโดยแท้

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลยังคงยืนยันจะทำ FTA ไทย-สหรัฐต่อไป รายงานฉบับนี้มีข้อเสนอแนะว่าควรพิจารณาไตร่ตรองให้ดีเสียก่อน และควรให้ประชาชนรับรู้และมีส่วนร่วมมากกว่าที่ผ่านมา

อนึ่ง ข้อเสนอแนะในที่นี้คงต้องเสนอไปยังทางคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ใช่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรอีกต่อไปแล้ว

เราเพียงได้แต่หวังว่า “รัฐบาล” และ “รัฐธรรมนูญ” จากคณะปฏิรูป จะส่งผลดีต่อประเทศชาติในทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมถึงประเด็น FTA ด้วย

หวังว่าสิ่งที่ได้มา จะคุ้มค่ากับการฉีกรัฐธรรมนูญ และการนำประเทศเข้าสู่ระบอบเผด็จการอีกครั้ง





บรรณานุกรม

สมชาย สุขสิริเสรีกุล. “อุตสาหกรรมยา”. เศรษฐศาสตร์สุขภาพ. คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ธันวาคม 2548.

"สสว.-ทีดีอาร์ไอ"เปิดผลศึกษาFTA อุตฯยา-พันธุ์พืช-ไอพีกระทบหนัก
//www.thaifta.com/ThaiFTA/Home/FTAbyCountry/tabid/53/ctl/Details/mid/531/ItemID/520/Default.aspx

สิทธิบัตรยา-เปิดเสรีการเงิน ปมขัดแย้ง FTA ไทย-สหรัฐ
//www.thaifta.com/ThaiFTA/Home/FTAbyCountry/tabid/53/ctl/Details/mid/531/ItemID/518/Default.aspx

WHOอุ้มสหรัฐปล้นไทยงามหน้า รับใบสั่งปลดผู้แทนค้านเอฟทีเอ แฉเบื้องหลังเขียนบทความเตือนมะกันเอาเปรียบขายยาแพงเอ็นจีโอแถลงการณ์รุมประณาม-สธ.
//www.thaifta.com/ThaiFTA/Home/FTAbyCountry/tabid/53/ctl/Details/mid/531/ItemID/415/Default.aspx

บทสรุปรายงานการศึกษาเรื่องผลกระทบจากการทำความตกลงการค้าเสรีไทย-สหรัฐ โดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
//www.thaifta.com/thaifta/Portals/0/File/fta_us_study.doc

ลำดับที่ 5: ไทยกำลังจะมีกฎหมายสิทธิบัตรยาที่เข้มกว่ากฎหมายสหรัฐ?!?
//www.ftadigest.com/researchTDRInesacIP.html

FTAสหรัฐ-เกาหลีใต้ บทเรียนFTAไทย-สหรัฐ
//www.ftadigest.com/newsAnalysis213.html



ข้อตกลงเขตการค้าเสรีของสหรัฐฯส่อเค้าคุกคามการเข้าถึงยาของประเทศไทย
//www.ftawatch.org/download/file.php?id=80

(ไม่เอา) เอฟทีเอเกาหลีใต้-สหรัฐฯ: การต่อสู้ของคนหน้าตาธรรมดาและไม่ธรรมดา
//www.ftawatch.org/autopage1/show_page.php?t=40&s_id=4&d_id=4

"ทักษิณ" ยันเดินหน้า FTA ไทย-สหรัฐ (21 กันยายน 2549)
//www.ftamonitoring.org/Data3/2006%20Sep/20060921/Us%20news210906.pdf

ผลกระทบกรณีที่การเจรจา FTA ไทย-สหรัฐฯ ชะงักงัน: หมวดสินค้า
//www.ftamonitoring.org/FTA%20RelatedTopics/FTArelated15.asp

ความคืบหน้าการเจรจา FTA ไทย-สหรัฐฯ รอบที่ 6 โดย กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
//www.ftamonitoring.org/Data3/2006%20Jan/20060117/ftaus_round6.pdf





 

Create Date : 18 มกราคม 2550
12 comments
Last Update : 18 มกราคม 2550 18:48:59 น.
Counter : 2212 Pageviews.

 


FTA's website

//www.thaifta.com

//www.ftawatch.org

//www.ftamonitoring.org

//www.ftadigest.com

 

โดย: merveillesxx 18 มกราคม 2550 18:53:37 น.  

 

Myspace Layouts

สวัสดีค่ะ

มาเยี่ยมเยียน ค่ะ ได้เวลา

เดินชมบ้านเพื่อน แล้วค่ะ

(@^_^@)

หม่ำๆ หรือยังค่ะ อิ

จุ๊ฟๆๆ



 

โดย: STAR ALONE (STAR ALONE ) 18 มกราคม 2550 19:11:35 น.  

 


--------------------------------------------------
จึงเห็นได้ว่าบ้านเราขาดแคลนสิ่งที่เรียกว่า “สื่อประเทืองปัญญา” (Intellectual Media) เราจึงเป็นประเทศที่ผู้คนยินดีกับการ “ฉีกรัฐธรรมนูญเพื่อโค่นล้มคนๆ เดียว” และสนุกสนานกับการถ่ายรูปคู่กับรถถัง

หวังว่าสิ่งที่ได้มา จะคุ้มค่ากับการฉีกรัฐธรรมนูญ และการนำประเทศเข้าสู่ระบอบเผด็จการอีกครั้ง
----------------------------------------------
สำนวนเหลือร้ายจริง ข้าพเจ้าชอบ

อันที่จริง ข้าพเจ้าตั้งใจจะ search หาคำว่า Compulsory Licensing ซึ่งเป็น hot issue อยู่ตอนนี้ ก็บังเอิญว่า นอกจากจะ search เจอทุก reference ที่ท่านอ้างถึงแลัว ใน search result ก็พาข้าพเจ้าให้ไปที่ blog ท่านด้วย

ปล ตกลง ชื่อจริงที่อยู่บนสุดของบทความคือชื่อของท่านใช่หรือไม่ !!! ฮา!!
ปล2 เรียบเรียงได้ดี ขอชม
ปล3 ข้าพเจ้าทำงานอยู่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยา Plavix, Kaletra, Efavirenz ก็เลยสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ

ไปล่ะ

 

โดย: Plin, :-p 10 กุมภาพันธ์ 2550 20:52:37 น.  

 


ขอบคุณมากครับ

อันนั้นคือชื่อผมเองครับ

 

โดย: merveillesxx 10 กุมภาพันธ์ 2550 21:18:31 น.  

 

กำลังหาข้อมูลผลกระทบของการตลาดระหว่างประเทศที่มีต่อไปไทยอยู่นะคะ ...

รายงานคุณเจ๋งมาก ...

 

โดย: เต่านา IP: 202.173.221.34 29 มีนาคม 2550 14:11:57 น.  

 

เยี่ยมมากค่ะ
ขอยกนิ้วให้

กำลังทำรายงาน เรื่อง CL และผลกระทบต่อ FTA
ช่วยได้เยอะเลยค่ะ

 

โดย: เด็กบางเขน IP: 158.108.130.185 28 มิถุนายน 2550 14:44:34 น.  

 

กำลังทำรายงานเรื่องนี้เด๊ะๆเลย
ขอบคุนมากเลยค่ะ

 

โดย: B*Witch IP: 161.200.255.162 28 มกราคม 2551 15:52:14 น.  

 

กำลังทำรายงานเรื่องเกี่ยวกับ FTA ไทย - อเมริก พอดีได้ข้อมูลนี้ดีใจมากเลยค่ะ ขอบคุณค่ะ

 

โดย: แต้ IP: 125.27.35.245 28 มีนาคม 2551 13:57:14 น.  

 

ต้องทำ Research วิชา เศรษฐศาสตร์สุขภาพ อ่า แต่คิดเรื่องที่จะทำไม่ออกเลยย จะเอาอะไรดี ช่วยแนะนำหน่อยได้มั้ยอ่ะค่ะ

 

โดย: คิดไม่ออกง่า IP: 202.12.73.19 17 สิงหาคม 2551 18:08:54 น.  

 

มันก็เป็นไปตามที่ไอ้กันมันวางแผนไว้พูดดีเหตุผลดีแต่ที่แท้จริงนั้นหน้าเนื้อใจเสือชัดๆคนไทยครับอย่าโง่ให้ไอกันหลอกน่ะครับนักโกงเมือง555+++

 

โดย: เดี่ยวหาดใหญ่ IP: 117.47.180.126 2 กุมภาพันธ์ 2552 21:54:10 น.  

 

หายนะของวงการยาไทย

ในที่สุดประเทศสหรัฐและประเทศในกลุ่ม EU ก็หาทางพิชิตการผลิตยาในประเทศโลกที่ 3 ได้สำเร็จโดยการอาศัยวิชาการและการระบุในตำรับยาของประเทศสหรัฐอเมริกา และข้อบังคับใน GMP (Good Manufacturing Practice) ของ PIC (Pharmaceutical Inspection Convention) ซึ่งจะบังคับให้ทุกโรงงานยาในประเทศที่ต้องการจะเข้ากลุ่มนี้ให้ดำเนินการปรับปรุงตามกฎของ PIC ทั้งหมด

จะเห็นได้ว่าข้อกำหนดของโรงงานยาที่ปรากฏในเอกสารของ PIC นั้นเป็นโรงงานยาขนาดใหญ่เท่านั้นจึงจะดำเนินการให้คุ้มทุนอยู่ได้ แต่โรงงานยาขนาดกลางและเล็กๆในประเทศโลกที่สาม หรืออย่างประเทศไทยจะไม่มีทางดำเนินการต่อไปได้เพราะจะมีค่าใช้จ่ายคงที่สูงมากหากไม่มียอดขายระดับเกินร้อยล้านต่อเดือนจะไม่มีทางดำเนินการต่อไปได้ ยกตัวอย่างเช่น น้ำที่ใช้ทำยาน้ำและยาเม็ดตามตำรับของสหรัฐอเมริกาจะต้องมีเครื่องทำให้น้ำบริสุทธิ์ขนาดที่ว่าต้องเป็นท่อสเตนเลสทั้งหมดและท่อน้ำภายในจะต้องทำด้วยเทคนิคที่ทันสมัยของอมริกกาจะต้องเรียบไร้รอยต่อซึ่งความจริงแล้วน้ำตามข้อกำหนดเดิมเป็นแค่ทำให้บริสุทธิ์ปราศจากไอออนและปราศจากเชื้อโรคเท่านั้น ความจริงแล้วน้ำในระดับทำยาน้ำหรือยาเม็ดนี้ไม่ควรต้องผ่านสเปคที่แต่เดิมใช้ทำยาฉีดเท่านั้น เพราะว่าคนเราจะรับประทานยาในชีวิตเป็นจำนวนจำกัด ในขณะที่น้ำดื่มที่บริโภคกันวันละหลายลิตรกลับไม่ได้ควบคุมกันเข้มงวดต้องใช้เครื่องมือแพงๆ ทั้งยังต้องตรวจหาร่องรอยของสาร organic จำนวนเล็กน้อยมากๆซึ่งมีราคาหลายล้านและต้องเสียค่าสารเคมีในการตรวจหา 2-3 หมื่นบาทต่อเดือนเช่นนี้

โรงงานยาส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะอยู่ในระยะที่ทาง อ.ย.เรียกว่า "กวาดไว้ใต้พรม" คือผ่อนผันไว้ก่อน แต่อย่างไรก็ตามในปีหน้านี้ทุกอย่างจะสิ้นสุดเมื่อทางรัฐมนตรีว่าการลงนาม ในร่าง GMP ฉบับใหม่ และระเบียบวิธีว่าด้วยการขนส่งที่ดี GDP (Good Distribution Practice) นอกนี้ก็จะต้องแก้ไขตำรับยาทั้งหมดให้เข้าตามกฎเกณฑ์ของเภสัชตำรับแห่งสหรัฐอเมริกา (USP) เมื่อเป็นเช่นนี้โรงงานยาในประเทศไทย 60-70% จะต้องทยอยปิดกิจการลงทั้งหมด และแน่นอนด้วยต้นทุนที่สูงขึ้นมากยาจะต้องเพิ่มราคาอย่างสุดโหดเป็นเช่นเดียวกับประเทศมาเลเซียที่ได้เกิดขึ้นมาแล้วเมื่อรับกฎ GMP ของ PIC ไปใช้จนรัฐบาลมาเลเซียไม่อาจจะจ่ายค่ายาทำการรักษาฟรีแก่ประชาชนอีกต่อไปเพราะค่ายาได้สูงเกินงบที่ประมาณการไว้มาก

สำหรับวิธีการขนส่งที่ดี GDP ร่างไว้น่าสนใจมาก การขนส่งยาไปยังโรงพยาบาลจะใช้ส่งไปทางรถสิบล้อ หรือผ่านไปรษณีย์จะทำไม่ได้อีกต่อไป จะต้องส่งโดยผุ้ประกอบการที่มีการใช้รถควบคุมอุณหภูมิและความชื้นให้เย็น ดังนั้นค่าขนส่งจะเพิ่มขึ้นอย่างสุดกู่ 5-6 เท่าตัว ทางโรงพยาบาลเล็กๆในเขตอำเภอหรือตำบลที่ห่างไกลจะต้องได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมากในการสั่งยา

โดยอาศัยนักวิชาการที่เป็นอาจารย์ที่ไม่เคยสัมผัสการทำงานโรงพยาบาลหรือร้านขายยา จึงไม่ทราบความเดือดร้อนของประชาชนและอาศัยแต่เพียงแปลตำราหรือกฎเกณฑ์จากต่างประเทศเท่านั้นไม่ต้องมีการคำนึงถึงความเหมาะสมต่อประเทศไทย จะอาศัยกฎเหล่านี้มาฆ่าวงการยาไทยให้ถึงหายนะในเวลานี้ แล้วเราจะทำอย่างไร?

ร่างคำแนะนำ ปฏิบัติงานตามเกณฑ์ GMP ฉบับใหม่
//www.tpma.or.th/web/sites/default/files/tpma.zip
(ร่าง) หลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการจัดส่งยา (Guide to Good Distribution Practice - GDP)
//www.pharcpa.com/news/GDP.pdf
(ร่าง) หลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการจัดเก็บยา (Guide to Good Storage Practice - GSP)
//www.pharcpa.com/news/GSP.pdf

 

โดย: FTA น่ะจิ๊บจ๊อย IP: 58.8.103.229 11 สิงหาคม 2553 22:25:25 น.  

 

ขอปรบมือและแสดงความชื่นชมกับบทความชิ้นนี้ อ้อ ขอบคุณท่านที่เอามาแปะไว้ที่ blog นี้ด้วยถ้าเป็นคนละคนกับเจ้าของบทความ และท่านเจ้าของ Comment No. 11

ทำรายงานด้วยฝีมือขนาดนี้ สมน้ำสมเนื้อกับเกรด A ครับในวิชานี้เลย

 

โดย: นายช่างแก่ IP: 61.90.78.250 6 ตุลาคม 2556 17:52:30 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


merveillesxx
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 58 คน [?]




สำส่อนทางการดูหนัง ฟังเพลงและเสพวรรณกรรม
New Comments
Friends' blogs
[Add merveillesxx's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.