ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บบอร์ด Thailand Aquatic Pets เว็บบล็อคสำหรับ คนรักสัตว์น้ำ ( และ สัตว์ที่อยู่ในน้ำ ) ประเทศไทยจ้า
<<
กรกฏาคม 2558
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
9 กรกฏาคม 2558

แนะนำสายพันธุ์กุ้งเครย์ฟิช : กุ้งก้ามแดง - กุ้งเรนโบว์ Cherax quadricarinatus

 

ถ้าหากเทียบกับญาติๆ กลุ่ม Cherax ด้วยกันอย่างกุ้ง Cherax destructor แล้วนั้น เจ้ากุ้งเรนโบว์นี้นั้น มีลักษณะรูปร่างที่เพรียวกว่า และก็จะมีลักษณะของก้ามที่ผอม และ เรียวยาวกว่ามากพอสมควรครับ โดยที่บริเวณส่วนกรีของกุ้งชนิดนี้ จะมีหนามอยู่ประมาณ 2 – 3 คู่ โดยชื่อวิทยาศาสตร์ quadricarinatus นั้นมาจากความหมายที่ว่า “ มี 4 ร่อง ที่เปลือก หรือ การมี 4 สันขอบ “ ซึ่งถ้าพิจารณา จากส่วนหัวแล้ว ก็จะพบว่ากุ้งเครย์ฟิชชนิดนี้ จะมีร่องสันเปลือกส่วนหัว ( การหาคำมาอธิบายไอ้เส้นนี่ ทำไมมันยาวจังแฮะ ) ยาว พาดผ่านตั้งแต่จากด้านหลังดวงตาเป็นต้นไป และ ส่วนเปลือกที่หุ้มตัว ก็จะราบเรียบ และ ในส่วนของข้อก้าม ของกุ้งชนิดนี้ก็จะมีขนอ่อนๆฟูขึ้นมาด้วยครับ

 

ในประเทศออสเตรเลีย ถิ่นกำเนิดของเขานั้น กุ้งเครย์ฟิชชนิดนี้นั้น อาศัยอยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ของออสเตรเลีย ในพื้นที่ทางตะวันออกของ Arnhemland ซึ่งในเขตเหล่านี้ จะมีแม่น้ำที่ออกสู่ อ่าว Van Diemen และไปยังทะเล Timor และ ในแม่น้ำสาขาต่างๆ ที่ไหลออกไปสู่ทางตะวันออก ที่จะไหลเข้าสู่อ่าว Carpentaria และในหลายๆพื้นที่เล็กๆ ทางตะวันออก ของออสเตรเลีย แต่ในปัจจุบัน ด้วยปัจจัยหลายๆอย่าง ทำให้กุ้งเครย์ฟิช ชนิดนี้ มีการกระจายตัวมากขึ้นในหลายๆพื้นที่ของออสเตรเลีย เช่น การปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติโดยมนุษย์ หรือ หลุดออกมาจากการทำฟาร์ม กุ้งเกษตรกรรม เป็นต้น อันนี้ก็คล้ายๆกับในบ้านเราที่ก็มีการปล่อยกุ้งชนิดนี้ ลงในแหล่งน้ำปิดต่างๆ เช่น เขื่อน เพื่อให้เป็นแหล่งอาหารเพิ่มเติมของชาวบ้านครับ

 

ในแหล่งกำเนิดธรรมชาติของกุ้งชนิดนี้ในประเทศออสเตรเลียนั้น สามารถอาศัยอยู่ได้อย่างหลากหลายภูมิประเทศ ไม่ว่าเป็น แหล่งน้ำที่ใสสะอาด หรือ แหล่งน้ำที่มีความขุ่นของน้ำ , น้ำตก , ทะเลสาบ และ แอ่งน้ำต่างๆ กุ้งชนิดนี้ก็สามารถที่จะอาศัยอยู่ได้ , กุ้งเรนโบว์ สามารถอาศัยอยู่ได้ในคุณภาพน้ำ และค่า pH ที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ 6.0 – 8.5 เลยทีเดียว และถ้าพื้นที่อยู่อาศัยมีปริมาณอ็อกซิเจนละลายในน้ำที่ต่ำ ( คุณภาพน้ำ หรือ อุณหภูมิสูง ) กุ้งก็สามารถที่จะคลาน หรือ ปีนหนีออกจากแหล่งน้ำนั้นๆ เพื่อไปสู่แหล่งน้ำใหม่ที่ดีกว่าได้ในระยะเวลาหนึ่ง

กุ้งชนิดนี้สามารถเติบโตได้ดีในสภาวะอากาศที่อบอุ่น และจะหยุดการเจริญเติบโตเมื่อกุ้งอยู่ในอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 20 องศา โดยกุ้งจะมีชีวิตอยู่ได้ในอุณหภูมิต่ำกว่า 5 องศา และ 42 องศาเซลเซียสได้ ในระยะเวลาสั้นๆครับ จึงนับได้ว่ากุ้งชนิดนี้ เป็นกุ้งเครย์ฟิช ที่มีความอดทนสูงมากเลยทีเดียว

สีสันของกุ้งเครย์ฟิช ชนิดนี้นั้น ก็จัดได้ว่ามีความหลากหลายของสีสันมาก ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม , ค่าต่างๆ ในน้ำ , อาหารการกินของเขานั่นเองครับ โดยจะมีสีสันมากมายตั้งแต่ สีน้ำเงินอมเขียว , สีฟ้าอ่อน ,สีฟ้าเข้ม , สีเขียวแก่ ,สีเขียวอ่อน ,สีน้ำตาลเข้ม,สีน้ำตาลอ่อน,สีออกอมชมพู หรือแม้กระทั่งสีขาวล้วนซึ่งเกิดจากการพัฒนารูปแบบสีสันใหม่ๆ จากผู้เลี้ยงครับ

 

กุ้งเครย์ฟิชชนิดนี้ นับเป็นกุ้งเครย์ฟิชที่ได้รับความนิยมในการเลี้ยงแพร่หลายไปทั่วโลก ทั้งการนำมาเลี้ยงเป็นกุ้งสวยงาม และเลี้ยงเป็นกุ้งเศรษฐกิจเนื่องจากคุณสมบัติหลายๆประการดังต่อไปนี้

 

- กุ้งชนิดนี้สามารถเพาะพันธุ์ได้ง่าย เพราะไม่มีลักษณะลูกกุ้งตัวอ่อน ลูกกุ้งเครย์ฟิชที่ออกมา จะมีลักษณะเหมือนตัวเต็มวัยเลย ทันทีที่ออกจากท้องแม่ ทำให้อัตรารอดมีสูง

- กุ้งเครย์ฟิชชนิดนี้ มีปริมาณพ่อและแม่พันธุ์ให้รวบรวมมาใช้ จากในธรรมชาติมาก ซึ่งทำให้มีผลดีต่อการปรับปรุงทางพันธุกรรม

- สามารถเลี้ยงกุ้งชนิดนี้ได้ง่าย และกุ้งสามารถกินอาหารได้หลากหลายรูปแบบ ถึงเป็นอาหารที่ไม่ได้มีโปรตีนสูงมากนัก แต่อัตราการแลกเนื้อ ก็ยังเป็นที่น่าพอใจ

- เป็นกลุ่มสัตว์มีเปลือกที่มีคุณค่าทางการตลาดสูง จำหน่ายได้ราคาค่อนข้างดี เมื่อเทียบกับต้นทุนในการเลี้ยงโดยรวมแล้ว ภายในเก้าเดือน สามารถที่จะทำขนาดได้ตามที่ท้องตลาดต้องการแล้ว และกุ้งเครย์ฟิชชนิดนี้สามารถมีชีวิตรอด จากการขนส่งเพื่อจำหน่ายได้เป็นอย่างดี

- กุ้งเครย์ฟิชชนิดนี้ สามารถเลี้ยงได้ในหลากหลายคุณภาพน้ำ ไม่ต้องการอ็อกซิเจนในการเลี้ยงสูงมากนัก และ อดทนต่อการเปลี่ยนแปลงของค่า Ph , ค่าความกระด้างของน้ำ และ อุณหภูมิต่างๆ ได้ค่อนข้างมาก

- ผู้เลี้ยง หรือ ผู้จำหน่ายสามารถใช้น้ำเกลือในการทำความสะอาดตัวของกุ้งได้ในระยะเวลาหนึ่ง ก่อนส่งจำหน่ายสู่ท้องตลาด

- ถ้ามีที่หลบซ่อนที่เพียงพอ และ มีปริมาณอาหารที่สมบูรณ์ กุ้งเครย์ฟิชชนิดนี้นั้นจะไม่ค่อยมีปัญหาความก้าวร้าว และกินกันเองมากนัก

สำหรับการเลี้ยงกุ้งเครย์ฟิชชนิดนี้ ในตู้เลี้ยงนั้น ก็ไม่แนะนำให้ผู้เลี้ยงทำการเลี้ยงรวมกับปลาต่างๆ โดยเฉพาะปลาที่มีขนาดไม่ใหญ่และว่ายน้ำได้เชื่องช้า แต่อาจจะอนุโลมได้บ้าง กับปลาขนาดเล็กๆ หรือกลางๆ ที่ว่ายน้ำได้ค่อนข้างเร็ว เพราะว่ากุ้งชนิดนี้อาจจะจับปลากินเป็นอาหาร และการเลี้ยงร่วมกับ ตู้ไม้น้ำ จะทำให้ท่านผู้เลี้ยงปวดหัว และ เจ็บปวดหัวใจได้ เนื่องจากตู้ไม้น้ำสวยๆ จะกลาย เป็นรังวัชพืช ที่ลอยเป็นชิ้นๆตุ๊บป่องๆ สภาพเหมาะสมพอที่จะให้เราเอากุ้งออกจากตู้ แล้วปล่อยปลากระดี่ ไปทำรังก่อหวอดได้อย่างง่ายดาย ชนิดใหนที่ตัดแล้วจม ก็เข้าปากกุ้งไป ดังนั้น ผู้เลี้ยงควรจะจัดตู้ด้วยหินก้อนกรวดมน เหมือนในลำธาร หรือ ตู้ประกอบหินชนิดต่างๆ ได้ตามชอบใจ ยกเว้น หินเคลือบสีสวย ๆ ไม่แนะนำครับ เพราะอาจจะมีสารเคมีลงไปในตู้ได้ แต่ระวังการจัดตั้งหินให้ก่อเป็นรูปขึ้นมา เพราะกุ้งอาจจะขุด หินทำรัง ทำโพรง ขุดเพลินๆ เหมือนการขุดท่อกทม จนก้อนหินที่วางซ้อนๆกันไว้ อาจจะตกมาทับตัวกุ้งเองถึงตายได้ หรือถ้าโชคร้ายเกิดทำตู้แตกขึ้นมา ก็จะทำให้เกิดน้ำนองสถานที่เลี้ยงได้ อันนี้ต้องระวังเอาไว้เช่นกันครับ

 

ผู้เลี้ยงสามารถเลี้ยงกุ้งชนิดนี้ได้ด้วยอาหารเม็ดสำหรับกุ้ง, หนอนแดง, ผัก หรือธัญพืชต้มต่าง ๆ เช่น แครอท, มันฝรั่ง, แตงกวา ฯลฯ สามารถให้การบำรุงด้วยวิตามินน้ำ หรือ แคลเซียม แร่ธาตุของกุ้ง ที่มีมากมายหลายยี่ห้อในตลาด ได้ตามปกติครับ เพราะเนื่องจาก เมื่อกุ้งตัวใหญ่มากๆ การเสริมแร่ธาตุ และวิตามิน รวมถึง คุณภาพอาหารที่ให้ก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการลอกคราบของกุ้งครับ

 

กุ้งเครย์ฟิชชนิดนี้ สามารถเริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่อกุ้งเริ่มมีขนาดประมาณ 4-5 นิ้วขึ้นไป ( เป็นค่าเฉลี่ย บวกลบได้เล็กน้อย )โดยกุ้งตัวเมียจะใช้เวลาฟักไข่จนออกเป็นตัวประมาณ 30 วัน โดยอัตราเฉลี่ย จะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในขณะนั้นครับ โดยที่ช่วงอุณหภูมิที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการเริ่มวางไข่ของกุ้งชนิดนี้นั้น จะอยู่ที่ประมาณ 23 องศา อย่างไรก็ตามตัวกุ้งเองก็สามารถที่จะปรับตัวและวางไข่ได้เป็นอย่างดี ในอุณหภูมิที่สูงกว่าที่กล่าวมาได้ครับ โดยที่ตัวเมียจะทำการฟักไข่เอาไว้ที่ประมาณ 6 – 10 สัปดาห์ ซึ่งความเร็วในการฟักไข่นี่จะขึ้นอยู่กับอุณหภูมิครับ ถ้าอุณหภูมิสูงหน่อย ตัวอ่อนก็จะพัฒนาได้เร็วขึ้นครับ โดยปริมาณไข่ จะมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับ ความสมบูรณ์ และ ขนาดของแม่พันธุ์ โดยเฉลี่ยปริมาณของไข่ จะอยู่ที่ประมาณ 300- 800 ฟองต่อการออกไข่หนึ่งครั้ง ซึ่งในหนึ่งฤดูกาลวางไข่ แม่กุ้งจะสามารถวางไข่ได้ถึง 3 – 5 ครั้งเลยทีเดียว ตัวอ่อนจะพัฒนาตัวเอง จนมีลักษณะเหมือนตัวเต็มวัย แต่มีขนาดเล็กกว่ามาก และ จะทยอยออกจากท้องตัวแม่ และ ใช้ชีวิตอย่างอิสระต่อไปครับ

พ่อและแม่พันธุ์กุ้งเครย์ฟิชชนิดนี้ ควรจะมีอายุประมาณ 4 – 6 เดือนขึ้นไป ควรเลือกตัวที่มีขนาดใหญ่ และ แข็งแรงสมบูรณ์ที่สุดในรุ่น เพื่อเพิ่มโอกาสการได้ผลผลิตที่ดี ผู้เลี้ยงกุ้งควรหมั่นสังเกตกุ้งว่ามีการผสมพันธุ์ หรือ การออกไข่แล้วหรือยัง ถ้ามีการออกไข่แล้วให้นำกุ้งแยกออกมา โดยนำมาใส่ไว้ในตะกร้าสี่เหลี่ยมที่มีรูระบาย ใช้ตะกร้า 2 ใบประกบกันนำกุ้งไปอยู่ข้างในแล้วมัดทุ่นลอยน้ำไว้ครึ่งหนึ่งเพื่อให้กุ้งสลัดไข่ออกป้องกันกุ้งกินไข่ตัวเอง ( กุ้งจะต้องเลี้ยงในที่ๆสงบ เพื่อให้กุ้งไม่เครียด ซึ่งความเครียดของกุ้งจะมีผลต่อการวางไข่ ซึ่งถ้าในที่เพาะพันธุ์มีเสียงดัง จะทำให้กุ้งตัวเมีย ไม่ค่อยออกไข่ และถึงแม้จะจะวางไข่เรียบร้อยแล้ว แต่กุ้งตัวเมียก็จะกินไข่ตัวเองจนหมด )

 

สำหรับผู้ที่สนใจจะนำกุ้งชนิดนี้นั้นไปเลี้ยงในนาข้าว ควบคู่กับการปลูกข้าว นั้น ลำดับแรกก็คือควรจะเตรียมบ่อ โดยการตากบ่อให้แห้ง เพื่อกำจัดศัตรูของกุ้ง เช่นพวกปลาช่อน และ ปลาหมอต่างๆ ที่อาจจะแฝงกายฝังตัวอยู่ในดินภายในบ่อ และ ล้อมตาข่ายรอบๆ นา กันกุ้งปีนหนีออกไปด้านนอกครับ หลังจากนั้น ก็สามารถปล่อยน้ำที่จะใช้ในการปลูกข้าว อาจจะเป็นน้ำจากแหล่งชลประทาน หรือ น้ำจากการเลี้ยงสัตว์น้ำ ที่จะมีประโยชน์ และ สารอาหารสำหรับต้นข้าว และ กุ้งเครย์ฟิชได้ด้วยครับ และหลังจากที่ผู้เลี้ยงได้เตรียมแปลงเสร็จแล้ว จึงเริ่มต้นปลูกข้าว รอระยะให้ข้าวตั้งตัว จึงปล่อยลูกกุ้งเรนโบว์ ขนาดประมาณ 5-10 กรัม หรืออายุประมาณ 2-3 เดือน หรือวัดเป็นค่าเฉลี่ย กะปริมาณโดยพื้นที่ประมาณ 2 ตัวต่อตารางเมตร จากนั้นจึงเลี้ยงอีกประมาณ 4-5 เดือน ควบคู่ไปกับการปลูกข้าว กุ้งจะหาอาหารธรรมชาติ ที่เกิดในนากุ้งกินเป็นอาหาร ผู้เลี้ยงสามารถให้อาหารกุ้งเพิ่มเติมได้ โดยสามารถให้อาหารได้วันละ 1 มื้อ ในช่วงเย็นครับ รวมเวลาที่เลี้ยงโดยทั้งหมดจะประมาณ 7-8 เดือน จะได้กุ้งขนาดน้ำหนัก 60-80 กรัม หรือประมาณ 12-15 ตัว ต่อกิโลกรัม เลยทีเดียว ซึ่งจากการทดลองเลี้ยงกุ้งเรนโบว์ร่วมกับการปลูกข้าวในนา พบว่า กุ้งเครย์ฟิชชนิดนี้ สามารถเลี้ยงได้ง่าย และไม่มีโรครบกวน กุ้งจะไม่กัดกินข้าวในนา สามารถเลี้ยงร่วมกันได้ และยังได้ผลพลอยได้จากมูลของกุ้ง มาใช้เป็นปุ๋ยแก่ต้นข้าวได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

 

สำหรับโรคในกุ้งชนิดนั้น สามารถที่จะพบโรคที่เกิดจาก แบคทีเรีย ตระกูล Rickettsia ซึ่งจะมีผลทำให้กุ้งไม่ค่อยกินอาหาร และทำให้มีอัตราการเติบโตที่ช้ากว่าปกติ นอกจากนี้อาจจะเกิดความสูญเสียได้ในบางส่วน และโรคหางขาวที่เกิดจากเชื้อจำพวก Microsporidian แม้ว่าจะมีอัตราการแพร่กระจายของโรคไม่สูงมาก แต่กุ้งที่เป็นแล้ว อัตราการรอดชีวิตจะต่ำมาก อาการของโรคจะแสดงที่เนื้อเยื่อที่ส่วนหางด้านล่างตัวกุ้ง จะเป็นสีขุ่นขาว ไม่สดใสเหมือนกุ้งที่แข็งแรงตามปกติ , โรค Red claw baculovirus ซึ่งเกิดมาจากไวรัสชนิดหนึ่ง ที่มีผลต่อกุ้งชนิดนี้ ทำให้กุ้งมีความเฉื่อยชา อ่อนแอ และ ตายไปในที่สุด ดังนั้นผู้ที่เลี้ยงกุ้งชนิดนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงในฟาร์ม หรือ เลี้ยงเพื่อความสวยงามในบ้าน ต้องคอยดูแล และ ควบคุมปัจจัยต่างๆ ที่จะไม่อำนวยให้เกิดโรคทั้งหลายเหล่านี้ นั่นคือการควบคุมคุณภาพน้ำให้ดี ก็จะช่วยในเรื่อง ของการป้องกันโรคระบาดได้ครับ .

เรียบเรียง : กษิดิศ วรรณุรักษ์

เครดิตรูปภาพ : พี่ๆน้องๆจากในกลุ่ม facebook : Thailand shrimp & crayfish club ครับ

 

******************************************************

ถ้าพี่ๆน้องๆสนใจบทความ และ หนังสือน้องกุ้งแคระ & กุ้งเครย์ อื่นๆ อยากเก็บเอาไว้สะสม สามารถเข้าไปที่นี่ได้เด้อครับ

https://ebooks.in.th/thaiaquaclub

ติดตาม แฟนเพจ Thailand Crayfish เพื่อติดตามเรื่องราวน่าสนใจ เกี่ยวกับกุ้งสวยงาม และ สัตว์น้ำสวยงาม ที่น่าสนใจ ได้ที่นี่ครับ
https://www.facebook.com/ThailandCrayfishMagazine/




Create Date : 09 กรกฎาคม 2558
Last Update : 20 เมษายน 2562 22:20:00 น. 0 comments
Counter : 5064 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

เหมียวกุ่ย
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 40 คน [?]




ยินดีต้อนรับพี่ๆน้องๆทุกท่านเข้าเยี่ยมชม เว็บบล็อคแห่งนี้ หวังว่าทุกท่านจะมีความสุขในการชมบล็อคของกระผมนะครับ










View My Stats
New Comments
[Add เหมียวกุ่ย's blog to your web]