ย้อนตำนานประเพณีรับบัวโยนบัว วิถีท้องถิ่นชาวบางพลี


ย้อนตำนานประเพณีรับบัวโยนบัว วิถีท้องถิ่นชาวบางพลี สมุทรปราการ (ไทยโพสต์)

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก paknam.com

          ประเพณีรับบัวโยนบัวเป็นประเพณีประจำท้องถิ่นของชาวอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดมาแต่โบราณ โดยมิได้ปรากฏหลักฐานว่ามีมาแต่ยุคใดสมัยใด มีข้อสันนิษฐานความเป็นมาจากผู้เฒ่าผู้แก่บางพลีว่า เกิดขึ้นประมาณ 80 ปีมาแล้ว เพื่อเป็นการนมัสการหลวงพ่อโต เล่ากันว่าเป็นพี่น้องกับหลวงพ่อโสธรแปดริ้ว และหลวงพ่อวัดบ้านแหลมสมุทรสงคราม

          ตำนานกล่าวว่า หลวงพ่อโตลอยตามน้ำเจ้าพระยา มาหยุดที่ปากคลองสำโรงลอยอยู่แถว ๆ นั้น เป็นการแสดงเจตจำนงอันแน่วแน่ว่าจะจำพรรษาอยู่ละแวกนั้นอย่างแน่นอน ชาวบ้านจึงช่วยกันชักรั้งนิมนต์เข้ามาจนถึงวัดบางพลีใหญ่ใน ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานปัจจุบัน แล้วอัญเชิญขึ้นไว้ในโบสถ์ หลวงพ่อโตจึงเป็นหลวงพ่อของชาวบางพลีตั้งแต่นั้นมา



หลังจากนั้นทุก ๆ ปี ชาวบางพลีจะนิมนต์หลวงพ่อขึ้นเรือ แล่นไปให้ชาวบ้านได้นมัสการ โดยครั้งแรกทำเป็นรูปจำลองโดยเอาไม้ไผ่มาสานเป็นโครงรูปองค์พระพุทธรูป ปิดหุ้มด้วยกระดาษทอง ชาวบ้านจะพากันคอยนมัสการหลวงพ่ออยู่ริมคลอง ต่างก็จะเด็ดดอกบัวริมน้ำ แล้วโยนเบา ๆ ขึ้นไปบนเรือหลวงพ่อ

          การรับบัวโยนนี้แต่เดิมคงเล่นกันมาก่อนที่จะกลายเป็นประเพณีนมัสการหลวงพ่อโต เพราะตามคำเล่าต่อ ๆ กันมาเล่าว่า ในสมัยก่อนท้องที่อำเภอบางพลี เป็นแหล่งที่มีดอกบัวหลวงชุกชุมและมีมากในฤดูฝน ดังนั้น การบำเพ็ญกุศลในเทศกาลออกพรรษา ประชาชาชนต่างท้องที่ที่อยู่ใกล้เคียงกับอำเภอเมืองบางพลี โดยเฉพาะชาวอำเภอเมืองสมุทรปราการกับชาวอำเภอพระประแดง จึงพากันไปหาดอกบัวหลวงในท้องที่อำเภอบางพลี



ในสมัยแรก ๆ คงจะไปเที่ยวเก็บกันเองตามลำคลองหนองบึงต่าง ๆ แต่ในสมัยต่อมา ชาวบางพลีได้เก็บหรือจัดเตรียมดอกบัวหลวงไว้สำหรับแจกชาวต่างบ้านที่ต้องการโดยไม่คิดมูลค่าเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่กันหรือเพื่อหวังบุญกุศลร่วมกัน อันกลายมาเป็นประเพณีที่เรียกว่า "รับบัว"

          แต่ปัจจุบันนี้ชาวต่างท้องที่ดูจะไม่สนใจที่จะไปหาดอกบัวหลวงที่ท้องอำเภอบางพลีเหมือนสมัยก่อน ทางราชการอำเภอบางพลีก็คงจัดให้มีการรับบัวขึ้นเพื่อรักษาและส่งเสริมประเพณีดั้งเดิมให้คงอยู่ต่อไป

          ในสมัยก่อนนั้นในแถบอำเภอบางพลี มีประชาชนอยู่อาศัยเป็น 3 พวก คือ คนไทย รามัญ และคนลาว แต่ละพวกก็มีหัวหน้าควบคุมดูแล และทำมาหากินต่างกัน ต่อมาทั้ง 3 กลุ่มได้ปรึกษาที่จะร่วมแรงร่วมใจกันหักร้างถางพงให้กว้างขวางยิ่งขึ้นเพื่อทำไร่และทำสวนต่อ และเมื่อถางป่ามาถึงทาง 3 แยก ซึ่งตกลงกันจะแยกทำมาหากินไปคนละทาง

          พวกรามัญที่แยกกันไปทำมาหากินทางคลองลาดกระบังทำอยู่ได้ 2-3 ปี ก็ไม่ได้ผล เพราะนกและหนูชุกชุมรบกวน จนพืชผลเสียหายมาก เมื่อทำมาหากินไม่ได้ผล พวกรามัญก็ปรึกษากันเตรียมตัวอพยพกลับถิ่นเดิมคือปากลัด และเริ่มอพยพในตอนเช้ามืดของเดือน 11 ขึ้น 14 ค่ำ ก่อนไปได้เก็บดอกบัวในบึงบริเวณนั้นไปมากมาย คนไทยที่คุ้นกับพวกรามัญก็บอกว่าจะเอาไปบูชาพระคาถาพันที่ปากลัด และชักชวนคนไทยที่รักและสนิทชิดชอบกันว่าในปีต่อไป พอถึงเดือน 11 ขึ้น 14 ค่ำ ให้คนไทยเก็บดอกบัวรวบรวมไว้ที่วัดหลวงพ่อโตด้วย แล้วพวกตนจะมารับ

          ในปีต่อมา พอถึงกำหนดเดือน 11 ขึ้น 14 ค่ำ คนไทยก็ช่วยกันเก็บดอกบัว รวบรวมไว้ที่บางพลีใหญ่ในตามคำขอร้องของพวกรามัญ พวกรามัญก็มารับดอกบัวไปทุกปี



พวกรามัญที่มารับดอกบัวนั้นมาโดยเรือขนาดใหญ่จุคน 50-60 คน โดยจะมาถึงตี 3-4 และเมื่อมาถึงวัดก็ตีฆ้องร้องรำทำเพลงและการละเล่นต่าง ๆ อย่างสนุกสนาน พวกที่มาคอยรับพลอยเล่นกันสนุกสนานไปด้วย และคนไทยจึงได้เตรียมอาหารคาวหวานไปเลี้ยงรับรองโดยใช้ศาลาวัดเป็นที่เลี้ยงอาหารกัน เมื่ออิ่มหนำสำราญดีแล้วพวกรามัญนำดอกบัวไปบูชาหลวงพ่อโต และนำน้ำมนต์ของหลวงพ่อกลับไปเพื่อเป็นสิริมงคล ส่วนดอกบัวที่เหลือพวกรามัญก็นำกลับไปบูชาพระคาถาพัน ที่วัดของตนต่อไป นี่เป็นที่มาของประเพณีรับบัวที่รับรู้และปฏิบัติสืบต่อกันมา

          สำหรับประชาชนทั่วไป ทั้งชาวต่างบ้านและชาวบางพลีเองก็จะไปเที่ยวดูงานโยนบัวและรับบัว และเที่ยวดูการละเล่น หรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทางอำเภอจัดขึ้น เพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินเท่านั้น พอถึงวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปีชาวอำเภอเมืองสมุทรปราการและชาวอำเภอพระประแดงจะชักชวนพวกพ้องเพื่อนฝูงพากันลงเรือเป็นเรือพายบ้าง เรือแจวบ้าง ลำเล็กบ้าง ลำใหญ่บ้าง และต่างก็นำเครื่องดนตรีต่าง ๆ ไปด้วย เช่น ซอ ปี่กระจับ โทน รำมะนา โหม่ง กรับ ฉิ่งฉาบ เป็นต้น แล้วแต่ใครจะถนัด หรือมีเครื่องดนตรีชนิดไหน พายกันไป แจวกันไป ร้องรำทำเพลงกันไป เป็นที่สนุกสนาน ตลอดระยะทาง และเป็นเช่นนี้ตลอดคืน ซึ่งบางพวกจะผ่านมาทางลำแม่น้ำเจ้าพระยา บางพวกจะผ่านมาทางลำคลองอื่น ๆ เข้าคลองสำโรงและมุ่งไปยังหมู่บ้านบางพลีใหญ่

          สำหรับชาวบางพลีก็จะถือปฏิบัติกันเป็นประเพณีว่าเมื่อถึงวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 11 ก็จะต้องหาดอกบัวหลวง สำหรับไว้มอบให้แก่ชาวต่างบ้านที่ต้องการมิตรต่างบ้านมาเยือนในโอกาสเช่นนั้นก็แสดงมิตรจิตต้อนรับ จัดหาสุราอาหารมาเลี้ยงดูกัน ตั้งแต่ตอนค่ำของวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 11 ส่วนพวกที่มารับบัว คนใดที่รู้จักมักคุ้นกับชาวบางพลีผู้เป็นเจ้าของบ้าน ก็จะพากันขึ้นไปเยี่ยมเยือนบ้านนั้นบ้านนี้



ต่างก็จะสนุกสนานร้องรำทำเพลงและรับประทานสุรา อาหาร ร่วมกันตลอดคืน พอเช้าตรู่ของวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 ชาวต่างบ้านก็จะนำเรือของตนไปตามลำคลองสำโรง และไปขอรับบัวจากชาวบ้านบางพลีทั้งสองฝั่งคลอง การให้และรับดอกบัวก็จะกระทำอย่างสุภาพคือส่งและรับกันมือต่อมือหรือก่อนจะให้กันยกมือพนมอธิษฐานเสียก่อน ระหว่างชาวบ้านบางพลีกับชาวบ้านต่างที่สนิทสนมคุ้นเคยกันนี้เอง เมื่อนานเข้าก็ค่อยกลายเป็นความนิยมกันเป็นการทั่วไปการให้และรับกันแบบมือต่อมือจึงเปลี่ยนไปจนมีการนำมาพูดในตอนหลังว่า "โยนบัว" แทนคำว่า "รับบัว"

          การรับดอกบัวของชาวต่างบ้านจากชาวบางพลีจะสิ้นสุดลงเมื่อเวลา 08.00 น. หรือ 09.00 น. และชาวต่างบ้านก็จะพากันกลับ ตอนขากลับนี้จะมีการแข่งเรือกันไปด้วย แต่เป็นการแข่งกันโดยไม่มีเส้นชัย ไม่มีกรรมการตัดสินและไม่มีการแบ่งประเภท หรือชนิดของเรือ ใครพอใจจะแข่งกับใคร เมื่อไร ที่ใด ก็แข่งขันกันไป หรือเปลี่ยนคู่แข่งขันไปเรื่อย ๆ ตามแต่จะสะดวกหรือตกลงกัน

          ดอกบัวที่ชาวต่างบ้านได้รับจากชาวบางพลีนั้นก็จะนำไปบูชาพระในวันเทศกาลออกพรรษาตามวัดในหมู่บ้านของตน ส่วนใหญ่จะนำไปบูชาพระสมุทรเจดีย์ที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอเมืองสมุทรปราการ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก


ที่มา : //travel.kapook.com/view46658.html





Create Date : 03 กันยายน 2555
Last Update : 3 กันยายน 2555 21:06:11 น.
Counter : 2739 Pageviews.

1 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะ VIP Friend
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

MC TROMUST
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]



กันยายน 2555

 
 
 
 
 
 
2
7
8
9
11
14
16
21
22
23
24
25
26
27
29
30
 
 
All Blog
  •  Bloggang.com