....-๐ ลานอักษร ร้อยอักษรา มธุรสแห่ง.. "มยุรธุชบูรพา มยุรธุชบูรพา" ๐-.... ... .. .
Group Blog
 
<<
มกราคม 2557
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
20 มกราคม 2557
 
All Blogs
 
กลบท ลิ้นตะกวดคะนอง.-๐ คือเพื่อน ๐


    - กลบท ลิ้นตะกวดคะนอง -

             -๐ คือเพื่อน ๐-


๑. เมื่อวันที่ปิยมิตรคิดหวังวาด

แล้วพลั้งพลาดจิตวุ่นจุณผลาญเผา

ทุกข์ระทมขัดเขินเนิ่นนานเนา

เจ็บผ่านเจ้าใจแปลบแทบวางวาย


๒. จะเคียงมั่นมิตรแท้แม้ช้ำหม่น

มิพร่ำบ่นรวนเรเหห่างหาย

ประโลมล้ำดำริมิคลางคลาย

หรือย่างย้ายหันหน้าคราตรอมตรม


๓. มอบรอยยิ้มอิ่มใจไม่ฝาดเฝื่อน

มิคลาดเคลื่อนแคลงจิตคิดห้อมห่ม

เพียงฤทัยแหว่งวิ่นสิ้นกรอมกรม

จะพร้อมพรมพร่างสุขทุกคืนวัน


๔. มิลับเลือนเพื่อนแท้แม้ผิดพลั้ง

ด้วยคิดหวังหายท้อพอชื่นฝัน

จะปลอบปลุกหัวใจให้ฟื้นพลัน

ให้ยืนมั่นอีกครั้งอย่างเคยเคย ๚ะ๛


...-๐ เมื่อตะกวดพลิกลิ้นกลับ จะอ่านได้อีกแบบว่า ๐-...


๑. เมื่อวันที่ปิยมิตรคิดวาดหวัง

แล้วพลาดพลั้งจิตวุ่นจุณเผาผลาญ

ทุกข์ระทมขัดเขินเนิ่นเนานาน

เจ็บเจ้าผ่านใจแปลบแทบวายวาง


๒. จะเคียงมั่นมิตรแท้แม้หม่นช้ำ

มิบ่นพร่ำรวนเรเหหายห่าง

ประโลมล้ำดำริมิคลายคลาง

หรือย้ายย่างหันหน้าคราตรมตรอม


๓. มอบรอยยิ้มอิ่มใจไม่เฝื่อนฝาด

มิเคลื่อนคลาดแคลงจิตคิดห่มห้อม

เพียงฤทัยแหว่งวิ่นสิ้นกรมกรอม

จะพรมพร้อมพร่างสุขทุกวันคืน


๔.มิลับเลือนเพื่อนแท้แม้พลั้งผิด

ด้วยหวังคิดหายท้อพอฝันชื่น

จะปลอบปลุกหัวใจให้พลันฟื้น

ให้มั่นยืนอีกครั้งอย่างเคยเคย ๚ะ๛



- Black Sword -

(มยุรธุชบูรพา)


ขอบคุณภาพจาก Internet

๐-----------------------๐


กลบท ลิ้นตะกวดคะนอง

ข้อบัญญัติ : บัญญัติพิเศษเพิ่มจากกลอนทั่วไปคือ


๑.) ให้สองคำท้ายของวรรคต้น สัมผัสสระกับ คำที่ ๒-๓ ของวรรคที่ ๒

๒.) ให้สองคำท้ายของวรรคที่ ๒ สัมผัสสระกับ สองคำท้ายของวรรคที่ ๓ และ คำที่ ๒-๓ ของวรรคที่ ๔

๓.) สัมผัสระหว่างบทคือ ให้สัมผัสสระระหว่างสองคำท้ายของบทแรก (วรรคที่ ๔)กับสองคำท้ายของวรรคที่ ๒ ของบทถัดไป


หมายเหตุ : คำคู่สัมผัสสองคำนั้นต้องสามารถอ่านกลับไปมาหน้าหลังได้


** ด้วยข้อกำหนดนี้ ทำให้กลบทนี้ สามารถอ่านพลิกสลับไปมาได้เหมือนลิ้นตะกวดที่มีสองแฉกฉะนั้น คำสองคำคู่ที่อยู่ในข้อบัญญัติเวลาอ่านสลับไปมาแล้วต้องได้ความหมายและยังคงรูปแบบเนื้อหาของกลอนไว้ได้ด้วยหากไม่สามารถอ่านพลิกแพลงได้ จะไม่ถือเป็น กลบทลิ้นตะกวด ฯ


** อ้างอิง : กลบทนี้มีปรากฏที่มาทั้งในตำรากลบท "ศิริวิบุลกิตติ์" โดย หลวงศรีปรีชา (เซ่ง) ผู้คิดประดิษฐ์กลบทนี้ขึ้นมา

, และตำรากลบท"จารึกวัดพระเชตุพนฯ" โดยพระราชนิพนธ์ใน รัชกาลที่ ๓




ลักษณะการจารึกกลบท ลิ้นตะกวดฯ มีลักษณะการจารึกไว้แบบตาราง โดยลักษณะการอ่าน สองคำที่อยู่ในกำหนด จะสามารถอ่านสลับพลิกแพลงได้ 
(ภาพจากตำรากลบท จารึกวัดพระเชตุพนฯ)



Create Date : 20 มกราคม 2557
Last Update : 20 มกราคม 2557 17:04:49 น. 2 comments
Counter : 1948 Pageviews.

 
กลบท ลิ้นตะกวดคะนอง จากตำรา ประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ หน้า ๕๒๒

กลบท ลิ้นตะกวดคะนอง
(พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) : ประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ)


๐-------------------------๐
ได้ทราบสารเสน่หาน่าเสสรวล
จะมาเย้ายั่วใจให้เรรวน
เหนเล่ห์ล้วนลวงฬ่อข้อจงใจ

ซึ่งว่าแสนรันจวญ หวรโหยถวิล
ทั้งโดยดิ้นอกจะหักรักษหลงไหล
มอบชีวังฝังฝากปลงฤๅทัย
จะคงให้ความสัตย์จริงสิ่งรักษแรง

ไม่น่าเชื่อเจือใจในลิ้นหวาน
ฟังสิ้นสารตรองตรึกนึกหนักแหนง
ใช่ใจหญิงนี้จะกลิ้งเหมือนฟักแฟง
สิ้นหลักแหล่งเลื่อนลอยคอยลมลิ้น

อย่ามาฬ่อยอโฉมให้เหลือเหลิง
หลงเชื่อเชิงได้ดั่งหวังสมถวิล
จนตายจากก็ไม่อยากนิยมยิน
ทั้งถมดินเสียเถิดรักษอย่าควรคิด

๐----------- ฯลฯ-------------๐

(พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) : ประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ)

ประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ มีโคลงอธิบายวิธีถอดไว้ดังนี้

๏ คันโคลงลักษณเช่นชี้...........เชิงเชลง นี้นา
โดยแยบแบบบรรเลง...............เหล่านี้
ลิ้นตะกวดประกวดเพลง...........ยาวคู่ เคียงแฮ
อ่านบทบนล่างลี้.....................ล่างแล้วเล็งบน ฯ

(กรมหมื่นไกรสรวิชิต : ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน ฯ)

** จากโคลงของท่านกรมหมื่นไกรสรวิชิตที่อธิบายวิธีถอดกลบทลิ้นตะกวด ฯ นี้ไว้ บวกกับรูปแบบการจารึกไว้เป็นลักษณะคล้ายตาราง ดังรูป จึงตีความได้ว่า
ในกลบทลิ้นตะกวด ฯ นี้ ต้องมีการอ่านสลับล่างบนได้ หรืออีกนัยหนึ่งคือ สองคู่คำที่รับสัมผัสสระกันแต่ละคู่ ต้องสามารถอ่านสลับกลับไปมาได้ (ลักษณะการจารึกไว้ มีการเขียนแบบตารางโยงคำล่าง-บน) จึงได้เป็นกลบทนี้อย่างสมบูรณ์ นั่นเอง
เมื่อถอดความอ่านอีกแบบได้ว่า

กลบทลิ้นตะกวดคะนอง
(พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) : ประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ)


๐-------------------------๐
ได้ทราบสารเสน่หาน่าสรวลเส
จะมาเย้ายั่วใจให้รวนเร
เหนล้วนเล่ห์ลวงฬ่อข้อใจจง

ซึ่งว่าแสนรันจวญ หวรถวิลโหย
ทั้งดิ้นโดยอกจะหักรักษไหลหลง
มอบชีวังฝังฝากฤๅทัยปลง
จะให้คงความสัตย์จริงสิ่งแรงรักษ

ไม่น่าเชื่อเจือใจในหวานลิ้น
ฟังสารสิ้นตรองตรึกนึกแหนงหนัก
ใช่ใจหญิงนี้จะกลิ้งเหมือนแฟงฟัก
สิ้นแหล่งหลักเลื่อนลอยคอยลิ้นลม

อย่ามาฬ่อยอโฉมให้เหลิงเหลือ
หลงเชิงเชื่อได้ดั่งหวังถวิลสม
จนตายจากก็ไม่อยากยินนิยม
ทั้งดินถมเสียเถิดรักษอย่าคิดควร

๐----------- ฯลฯ-------------๐

(พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) : ประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ)


โดย: มยุรธุชบูรพา วันที่: 20 มกราคม 2557 เวลา:9:21:57 น.  

 
กลบท ลิ้นตะกวดคะนอง
โดย หลวงศรีปรีชา (เซ่ง) ผู้ประดิษฐ์คิดกลบทนี้ขึ้นมา (จากตำรากลบท ศิริวิบุลกิตติ หน้า ๑๐๑)

๐ เจ้าโศกแค้นแสนคิดดั่งแสงศร
มาแรงรอนรานกายให้หวนหา
แต่วิโยคโศกเศร้าร้าวรวนรา
ระหวนหาอกดั่งจะพังภินท์

พระกายรอมผอมแรงแห้งหิวโหย
เดียวดิวโดยใจจงปลงหวังถวิล
สังเวชคิดถึงบุตรสุดดังดิ้น
เนตรหลั่งรินดังเลือดเดือดแดงดู

ยิ่งคิดถึงสามียิ่งทวีแค้น
โศกมีแสนดั่งอุระหวะแหว่งหวู้
อกสะท้อนอ่อนอารมณ์ลมแวงวู
จิตรแอ่งอูใจออบแอบแวบวาบวับ

ลมตีตลบหอบหวนทรวงรวนโรย
กายหวนโหยจิตรหายใจหลาบลับ
วิญญาณปลงสู่ภวังค์ดั่งงาบงับ
ลมอาบอับอัสวาตขาดใจนาง ฯ
๑-----------------------๑

---๐ ยามเมื่อลิ้นตะกวดพลิกลิ้น จะอ่านได้อีกแบบว่า ๐---

๐ เจ้าโศกแค้นแสนคิดดั่งศรแสง
มารอนแรงรานกายให้หาหวน
แต่วิโยคโศกเศร้าร้าวรารวน
ระหาหวนอกดั่งจะภินท์พัง

พระกายรอมผอมแรงแห้งโหยหิว
เดียวโดยดิวใจจงปลงถวิลหวัง
สังเวชคิดถึงบุตรสุดดิ้นดัง
เนตรรินหลั่งดังเลือดเดือดดูแดง

ยิ่งคิดถึงสามียิ่งแค้นทวี
โศกแสนมีดั่งอุระหวะหวู้แหว่ง
อกสะท้อนอ่อนอารมณ์ลมวูแวง
จิตรอูแอ่งใจออบแอบแวบวับวาบ

ลมตีตลบหอบหวนทรวงโรยรวน
กายโหยหวนจิตรหายใจลับหลาบ
วิญญาณปลงสู่ภวังค์ดั่งงับงาบ
ลมอับอาบอัสวาตขาดใจนาง ฯ
๑-----------------------๑


โดย: มยุรธุชบูรพา วันที่: 20 มกราคม 2557 เวลา:9:25:38 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

มยุรธุชบูรพา
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 24 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add มยุรธุชบูรพา's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friends


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.