กุมภาพันธ์ 2559

 
1
2
3
4
5
6
8
9
10
11
12
13
15
16
17
19
20
21
22
24
25
26
28
29
 
 
All Blog
หันหน้า หาอดีต : พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา เชียงใหม่
 14th Feb 2016




กิดการดองบล๊อกขึ้นหรือเปล่า ที่แน่ ๆ ถ้าใช่ คงไม่ใช่จขบ.หรอกที่ดอง ที่ถูกดองเพราะมีการเข้าใจผิดจากการติดต่อสื่อสารมากกว่า ทำให้บล๊อก "หันหน้า หาอดีต" บล๊อกนี้หมัก ดองได้ที่เกือบได้เป็นของโบราณอีกชิ้นนึง 555 เงิบ... ที่จริงก็ไม่ได้นานขนาดนั้นหรอกค่ะ
เข้าเรื่องกันค่ะ เดิม ๆ เลย ย้อนหลังไป 7 - 8 ปีได้ ณ ตอนนั้นเคยพาเด็ก ๆ มาจัดงานตามฮีต ตวยฮอย ที่นี่ ซึ่งตอนนั้น ยอมรับไม่มีเวลาส่วนตัว ดูหรือ สนใจเรื่องเฮือนล้านนาเลย เพราะต้องทำงาน แว๊บนึงที่จำได้คือช่วงพักกลางวัน ได้พักส่วนตัวนิดนึง แว๊บจากสังคมออกไปบ้านไทลื้อหลังนึง นั่งคนเดียว ลมพัดเย็น ๆ ไร้เสียงผู้คน ใช้กล้องฟรุ้งฟริ้งรุ่นโบราณถ่ายรูปใบไม้ร่วงที่บันไดบ้านไทลือหลังนั้น คือมันฟินมากกกกกก ..... ฟินจนไม่อยากลากขาตัวเองออกจากที่แห่งนั้น (แต่ก็ต้องออกไป เพราะงาน Smiley) ก็ได้แต่สัญญากะตัวเองว่าเอาไว้มาใหม่ จนบัดนาว ปี 59 คือไปอยู่ไหนมาเพิ่งนึกออกว่า ที่นี่รอการกลับมาเยือนของ จขบ. อีกครั้งนึง คือเหมือนเรามีสัญญาใจกันว่างั้น Smiley  และแล้วก็ได้กลับมา ^^






สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ดำเนินการอนุรํกษ์เรือนโบราณของล้านนาขึ้น เพื่อทำเป็นพิพิธภัณฑ์
ปัจจุบันได้อนุรัษณ์และรวบรวมเรือนโบราณประเภทต่าง ๆ ไว้จำนวน 8 หลัง เพื่อให้เป็นแหล่งรวบรวม และเผยแพร่ความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ อันได้แก่ เรือนลุงคิวอันเป็นที่ตั้งของสำนักส่งเสิรมศิลปวัฒนธรรมในปัจจุบัน เป็นอาคารรูปทรงอิทธิพลสถาปัตยกรรมตะวันตกหรือทรงอาณานิคมแบบโคโลเนียล สร้างขึ้นราวปี พ.ศ 2465 เจ้าของเดิม คือ Mr.Arther Lionel Queripel อาคารหลังนี้เป็นสถานที่ทำการของสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ตั้งแต่ปี พศ.2537 เป็นต้นมา

บรรยากาศพิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา ณ วันนี้ .... พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยินดีต้อนรับนักศึกษาใหม่ จากทุกสถาบัน รวมไปถึงนักท่องเที่ยวทุกท่าน เข้ามาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา ซึ่งได้ทำการอนุรักษ์เรือนโบราณไว้จำนวน 8 เรือน และยุ้งข้าว 3 หลัง เพื่อเปิดให้เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมของคนล้านนาแต่โบราณ เรือนแต่ละหลังมีอายุเก่าแก่กว่าร้อยปี มีเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมเรือนโบราณล้านนา ที่โดดเด่น สวยงาม และมีเสน่ห์เป็นที่ดึงดูดใจต่อผู้พบเห็น

เปิดให้เข้าชมวันจันทร์-วันศุกร์ 08.30 -16.30 น. วันเสาร์-วันอาทิตย์ 09.00 -16.30 น. * ปิดทำการทุกวันหยุดนักขัตฤกษ์ *
ค่าเข้าชม : นักเรียน/นักศึกษา 10 บาท บุคคลทั่วไป : 20 บาทที่ตั้ง :ติดถนนเลียบคลองชลประทาน ใกล้สี่แยกตลาดต้นพยอม
239 ถนนห้วยแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200 โทร 053-943625-6
ที่มาข้อมูล : //art-culture.cmu.ac.th

.
.
.



บ่ายวันเสาร์ ปลายหนาว - ต้นร้อน ณ ช่วงรอยต่อของฤดูกาลก็จริง ในภาพเหมือนหมอกแต่ไม่ใช่ หากแต่เป็นควันที่เริ่มคลุมเมืองเชียงใหม่อีกครั้ง แต่ "เรา" ก็ยังออกไปหายใจนอกบ้าน เพราะกลัวว่า เดี่ยวควันหนากว่านี้จะไม่ได้เที่ยว
จากบ้านต้องวนรถไปทางสวนสุขภาพเพราะพิพิธภัณฑ์อยู่คันคลองซ้ายมือก่อนถึงสี่แยก ซึ่งเป็นทางรถวิ่งทางเดียว งานนี้ได้เลี้ยวเข้าแปลงเกษตร มช. เก็บรูปนิด ๆ ให้โมเสสได้วิ่งกลางแจ้งสักพัก




.
.
.






เลี้ยวรถเข้ามาจอดที่ลานด้านหน้า เจอป้อมยาม เจอป้าย แล้วจะเจอที่ติดต่อซื้อบัตรเข้าชมพิพิธภัณฑ์ค่ะ








เข้าไปซื้อบัตรเยี่ยมชมค่ะ ผู้ใหญ่ไทย 20 บาท เด็กไม่เสียค่ะ




ได้ตั๋วแล้วไปข้างในกันค่ะ







เข้ามาด้านในแล้ว เหมือนความทรงจำครั้งเก่าคืนมา 555
ร่มรื่นดีนะคะ







1. เรือนทรงอาณานิคม (ลุงคิว)
      เป็นอาคารที่มีรูปทรงอิทธิพลสถาปัตยกรรมตะวันตก เรียกว่าแบบโคโลเนียล (Colonial) หรือเรือนในยุคอาณานิคม ได้รับการอนุรักษ์ไว้จากบ้านที่เคยเป็นของนายอาเธอร์ ไลออนแนล คิวริเปอล์ (Mr. Arther Lionel Queripel) สร้างไว้ในราว พ.ศ. 2465 ลักษณะของเรือนสร้างตามแบบตะวันตก เป็นอาคารทรงตึกสองชั้นใช้อิฐและปูนเป็นโครงสร้างส่วนพื้นและเพดานเรือนใช้ไม้แทน ด้านหน้าอาคารมีระเบียงยาวตลอดทั้งแนว ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของเรือนในยุคนี้ ภายในเรือนแบ่งพื้นที่ใช้สอยอย่างเป็นสัดส่วน มีห้องต่างๆ ตามการใช้สอย เช่น ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องครัว ฯลฯ ทางเข้าเรือนชั้นล่างเป็นห้องโถงกว้างและมีเตาผิงไว้สำหรับให้ความอบอุ่นในช่วงฤดูหนาว
      ในปี พ.ศ. 2506 ที่ดินผืนนี้เป็นของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงทำการอนุรักษ์เรือนไว้ให้คงสภาพเดิม กระทั่งปัจจุบันตัวอาคารถูกปรับใช้เป็นที่ทำการของสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม จึงถูกขนานนามอย่างง่ายๆ จากเจ้าหน้าที่ว่า “เรือนลุงคิว”
(ที่มาภาพบ้านลุงคิว : //www.art-culture.cmu.ac.th)

.
.
.





2. เรือนชาวเวียงเชียงใหม่ (พญาปงลังกา) “เรือนพญาปงลังกา” ตั้งตามชื่อของผู้เป็นต้นตระกูล สร้างเมื่อ พ.ศ. 2439 โดย พ่อน้อยถาและแม่หน้อย ซึ่งเป็นลูกเขยและลูกสาวของ พญาปงลังกา



      ต่อมาเรือนหลังนี้กลายเป็นมรดกตกทอดไปยัง แม่อุ๊ยคำใส ถาวร ลูกสาวพ่อน้อยถาและแม่หน้อย จนถึงรุ่นหลานในยุคปัจจุบัน คือ คุณจรัส มณีสอน ทายาทรุ่นโหลนของพญาปงลังกา เรือนหลังนี้สร้างเมื่อ แม่อุ๊ยคำใส ถาวร อายุประมาณ 3 ขวบ เมื่อเวลาผ่านไปความทรุดโทรมของสภาพเรือนก็เพิ่มมากขึ้น คุณพูนสวัสดิ์ ทองประดี และคุณจรัส มณีสอน ทราบว่าสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มีการอนุรักษ์เรือนโบราณ จึงตัดสินใจมอบเรือนหลังนี้ให้ โดยมีมูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ ได้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนเรือน จากบ้านเลขที่ 769 หมู่ 4 ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
แล้วนำมาปลูกสร้างใหม่ตามแบบพิธีกรรมทางล้านนา เพื่อความเป็นสิริมงคล ณ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

     เป็นเรือนที่สร้างจากไม้เนื้อแข็งทั้งหลังมุงหลังคาด้วย “ดินขอ” มีขนาดใหญ่ปานกลาง ถือเป็นเรือนของผู้มีฐานะ รูปแบบของเรือนคลี่คลายมาจากเรือนกาแลดั้งเดิม แต่ลักษณะการจัดพื้นที่ใช้สอยยังคงไม่แตกต่างไปจากเรือนรุ่นก่อนมากนัก โดยสร้างเป็นเรือนขนาดสองจั่วยกพื้นสูง เรือนใหญ่เป็น “เฮือนนอน” และมี “เติ๋น” เป็นพื้นที่โล่งกว้างเปิดฝาผนังด้านเดียวอยู่ด้านหน้าเรือน สำหรับนั่งทำงาน รับรองรับแขกและใช้พักผ่อนในเวลากลางวัน ส่วนเรือนเล็กทางด้านตะวันออกคือ “เฮือนไฟ” หรือห้องครัว มีประตูด้านหน้าออกไปยังชานระเบียงขนาดเล็ก ที่เชื่อมกับบันไดทางขึ้นเรือน
ที่มา : //art-culture.cmu.ac.th










ระเบียงไม้ เก๋ดีค่ะ
.
.






หลังที่่ 3 ไม่ได้ขึ้นค่ะ เพราะเขาล๊อคกุญแจประตูไว้ ส่องเท่าที่ทำได้ค่ะ ฮึบ ๆ ๆ 





3. เรือนกาแล (ุอุ๊ยผัด)

     เรือนอุ๊ยผัด เป็นของ อุ๊ยผัด โพธิทา อยู่ที่ตำบลป่าพลู อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ สันนิษฐานว่าตัวเรือนสร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. 2460 โดยทาง มูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ และ อาจารย์ศิริชัย นฤมิตรเรขการ เห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์เรือนนี้ จึงได้สนับสนุนการรื้อย้ายจากอำเภอจอมทองมาปลูกไว้ในบริเวณที่ตั้งของสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม เมื่อ พ.ศ. 2537
 ลักษณะเป็นเรือนกาแลขนาดเล็กยกพื้นสูง ทำด้วยไม้ทั้งหลัง หลังคามุงด้วย “แป้นเกล็ด” หรือ กระเบื้องไม้ ตัวเรือนมี 3 จั่ว คือ “เฮือนนอน” ทำเป็นจั่วขนาดใหญ่อยู่ทางด้านตะวันออก ส่วน “เฮือนไฟ” มีขนาดเล็กอยู่ทางด้านตะวันตก และจั่วขวางขนาดเล็กด้านหน้าเรือนเป็นที่วางหม้อน้ำดื่ม มีบันไดทางขึ้นทั้งด้านหน้าและหลังเรือน บันไดด้านหน้าเรือนเชื่อมต่อกับชาน หรือที่คนเมืองเรียกว่า “ชานฮ่อม” ถัดจากชานเข้าไปด้านซ้ายมือมี “ฮ้านน้ำ” ทำเป็นชั้นไม้ยกระดับติดกับข้างฝา เป็นที่สำหรับตั้งหม้อน้ำไว้บริการแขกผู้มาเยือนและคนในเรือน ถัดจากชานฮ่อม เป็นบริเวณของ “เติ๋น” ซึ่งถูกยกระดับให้สูงกว่าพื้นชานฮ่อมราวหนึ่งคืบและอยู่ภายในชายคาเรือน พื้นที่ส่วนนี้มีความกว้างมากพอสำหรับใช้ประโยชน์ได้ตามเอนกประสงค์ ด้านตะวันออกของเติ๋นจะตีฝาไม้คั่นระหว่างเติ๋นกับชานฮ่อมเพื่อกั้นเป็น “หิ้งพระ” โดยทำชั้นไม้ติดกับผนังฝั่งขวา ตรงกลางเติ๋นเป็นทางเดินยาวทะลุไปถึงชานด้านหลังเรือน ภายในเรือนถัดจากเติ๋นคือห้องนอน ภายในเป็นห้องโถงกว้างแบ่งเป็นห้องเล็กๆ โดยใช้ “ผ้ากั้ง”ตรงส่วนบนของกรอบประตูห้องนอนจะมีแผ่นไม้แกะสลักลวดลายต่างๆ เรียกว่า “หัมยนต์” อันเป็นเครื่องรางป้องกันภูตผีปิศาจมารบกวน
ที่มาข้อมูล : //art-culture.cmu.ac.th
















หลังคาบ้านอุ๊ยผัดงามแต้เจ้า
.
.







4. เรือนกาแล (พญาวงศ์)

      เรือนพญาวงศ์ เป็นชื่อที่ได้มาจากเจ้าของเรือนคือ พญาวงศ์ นายแคว่นหรือกำนันแห่งบ้านสบทา แขวงปากบ่อง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เรือนหลังนี้ปลูกสร้างโดยลูกเขยของพญาวงศ์ ชื่อว่า พญาอุด ซึ่งเป็นนายแคว่นบ้านริมปิง ได้สร้างเรือนหลังนี้ให้กับพญาวงศ์เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2440 เมื่อพญาวงศ์เสียชีวิตลงก็ไม่มีผู้สืบทอดหรืออาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้ต่อ จนกระทั่ง พระครูเวฬุวันพิทักษ์ (เขื่อนคำ อตฺตสนฺโต) เจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทตากผ้าและเจ้าคณะอำเภอป่าซางในขณะนั้น ได้พบเห็น จึงได้ติดต่อขอซื้อเรือนแล้วทำการรื้อย้ายมาปลูกสร้างไว้ที่วัดสุวรรณวิหาร บ้านแม่อาว ตำบลนครเจดีย์ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ซึ่งท่านก็เป็นเจ้าอาวาสของวัดนี้ด้วยอีกแห่งหนึ่ง จากนั้น นายแฮรี่ วอง ชาวสิงค์โปร์ได้ซื้อไว้ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2541 มูลนิธิ ดร.วินิจ–คุณหญิงพรรณี วินิจนัยภาค ได้สนับสนุนการรื้อถอนและมอบเรือนหลังนี้ให้แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่



เรือนพญาวงศ์ เป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูงมุงด้วย “ดินขอ” หลังคาทรงจั่วแฝด หรือ “สองหลังร่วมพื้น” ยอดจั่วมี “กาแล” เป็นไม้แกะสลักยื่นเลยจากป้านลมวางไขว้กันอยู่ จึงทำให้มีชื่อเรียกว่า “เรือนกาแล” ซึ่งเป็นเรือนล้านนาดั้งเดิมที่นิยมทำในช่วงประมาณ 100 ปีที่แล้ว ทั้งนี้ฝาเรือนพญาวงศ์ก็เป็นแบบล้านนาโบราณที่ทำเป็นฝาผายออกเพื่อรองรับน้ำหนักโครงสร้างหลังคาที่ป้านและลาดต่ำ ลักษณะการแบ่งพื้นที่ใช้สอยประกอบด้วย 4 ส่วน คือ “ชาน” อยู่ด้านหน้าของเรือนพร้อมบันไดทางขึ้น เป็นส่วนที่เปิดโล่งไม่มีหลังคาคลุม มีขนาดพื้นที่ 1 ใน 3 ของตัวเรือนทั้งหมด

ถัดจากชานเป็น “เฮือนนอน” มีอยู่ 2 หลังคู่กัน โดยเรือนด้านตะวันออกจะมีขนาดใหญ่กว่าเรือนด้านตะวันตกเล็กน้อย เพราะความเชื่อของชาวล้านนาจะไม่สร้างจั่วเรือนให้มีขนาดเท่ากัน ดังนั้นเจ้าของเรือนจึงอาศัยอยู่ในเรือนใหญ่ ส่วนเรือนเล็กก็มักจะจัดให้เป็นห้องของลูกสาวที่แต่งงานแล้ว เหนือประตูห้องนอนมี “หัมยนต์” ติดอยู่ ด้านหน้าเรือนนอนทั้งสองคือ “เติ๋น” ทำเป็นพื้นที่เปิดโล่งให้เชื่อมต่อกับชาน แต่ยกพื้นขึ้นสูงประมาณ 30 เซนติเมตร ตรงกลางระหว่างเรือนแฝดมีทางเดินเชื่อมไปยังด้านหลังเรือน ซึ่งมี “เฮือนไฟ” เป็นเรือนเรือนขนาดเล็กวางแนวขวาง ทำด้วยฝาไม่ไผ่สานขัดกัน และมีบันไดทางขึ้นต่อจากชานหลังเรือน
เดิมทีช่างได้สร้างเรือนพญาวงศ์ด้วยวิธีการเข้าลิ่มตอกสลักอย่างดีแทบไม่ปรากฏรอยตะปู อันเป็นความสามารถเชิงช่างในอดีต แต่ปัจจุบันผลจากการรื้อย้ายและการซ่อมแซมทำให้ปรากฏรอยตะปูให้เห็นบ้าง ยกเว้นบางส่วนที่ยังคงสภาพดี จากรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของเรือนพญาวงศ์ จึงถือได้ว่าเป็นตัวอย่างของเรือนกาแลล้านนาที่สมบูรณ์หลังหนึ่ง ที่ควรค่าแก่การศึกษาทั้งในด้านเทคนิคการสร้างและพื้นที่ใช้สอยภายในเรือน 
ที่มาข้อมูล : //art-culture.cmu.ac.th













.
.
.







5. เรือนพื้นถิ่นล้านนา (อุ๊ยแก้ว)



      เรือนหลังนี้เดิมเป็นของอุ๊ยอิ่นและอุ๊ยแก้ว ธาระปัญญา ตั้งอยู่ที่บ้านสันต๊กโต (สันติธรรม) หรือบริเวณแจ่งหัวลิน ใกล้ๆ กับถนนห้วยแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอาจารย์วิถี พานิชพันธ์ จากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ซื้อเรือนหลังนี้ไว้ โดยมีมูลนิธิ มร. ยาคาซากิ มหาวิทยาลัยเกียวโต เซกะ ประเทศญี่ปุ่นได้ให้การสนับสนุนในการอนุรักษ์ แล้วนำมาสร้างใหม่อีกครั้ง ณ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม เมื่อ พ.ศ. 2540


  เรือนพื้นถิ่นเมืองเหนือ เป็นรูปแบบเรือนของคนที่อาศัยใกล้เวียงเชียงใหม่ในยุคหลังสงคราม โลกครั้งที่ 2 มีรูปแบบเรียบง่ายไม่ซับซ้อน ก่อสร้างอย่างธรรมดาตามแบบชาวบ้านทั่วไป มีขนาดเล็กกะทัดรัดสำหรับครอบครัวเดี่ยว ตัวเรือนยกพื้นไม่สูงมากเมื่อเทียบกับเรือนล้านนาในยุคก่อน ถือเป็นรูปแบบที่เริ่มมีการปรับเปลี่ยนไปตามสังคมสมัยใหม่ หลังคาเรือนมีสองจั่ววางต่อกันเป็นผืนคลุมทั้งตัวเรือน จึงไม่มีชานโล่งด้านหน้าเรือน แต่ทำฝาไม้ระแนงโปร่งปิดทุกด้านแทน ลักษณะการจัดพื้นที่ใช้สอยยังคงมีความคล้ายคลึงกับเรือนยุคก่อน ซึ่งมี “เติ๋น” อยู่ส่วนกลางของเรือน ทำเป็นพื้นยกระดับขึ้นมาจากทางขึ้นหน้าประตู ด้านตะวันออกของเติ๋นเป็น “หิ้งพระ” สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป ถัดจากเติ๋นเข้าไปมีห้องนอน 2 ห้อง อยู่ทางด้านตะวันออกและตะวันตก ตรงกลางเป็นทางเดินทะลุไปยัง “ครัวไฟ” หรือห้องครัวด้านหลังเรือน
ที่มาข้อมูล : //art-culture.cmu.ac.th







.
.
.







6. เรือนไทลื้อ (หม่อนตุด)

      เรือนหม่อนตุด เป็นเรือนของชาวไทลื้อ ที่สร้างขึ้นจากการผสมผสานระหว่างรูปแบบเรือนไทลื้อกับเรือนแบบไทยวน โดยกลุ่มชาวไทลื้อจากมณฑลยูนาน ตอนใต้ของจีนที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาอยู่ในเชียงใหม่ตั้งแต่อดีต ซึ่งแต่เดิมเรือนหลังนี้เป็นของ นางตุด ใบสุขันธ์ ชาวไทลื้อบ้านเมืองลวง ตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ สร้างเรือนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2460 โดย พ่อน้อยหลวง สามีหม่อนตุดเป็นผู้สร้างขึ้นเอง เริ่มจากการซื้อเรือนไม้เก่าจากบ้านป่าก้าง อำเภอดอยสะเก็ด แล้วใช้ช้างถึง 3 เชือก พร้อมวัวควายที่พ่อน้อยหลวงมีอยู่ไปชักลากมา นำมาสร้างเป็นเรือนไม้ที่มีรูปทรงเรียบง่ายตามแบบเรือนสามัญชน

ปลายปี 2534 อาจารย์ศิริชัย นฤมิตรเรขการ ได้ทราบเรื่องการประกาศขายเรือนของหม่อนตุดจาก ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง อาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงตัดสินใจซื้อไว้แล้วมอบให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเก็บรักษาเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาวเชียงใหม่ จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นในการอนุรักษ์เรือนโบราณล้านนาและจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับให้คนทั่วไปได้ศึกษา


เรือนหม่อนตุดเป็นเรือนไม้ขนาดกลางมุงหลังคา “แป็นเกล็ด” ลักษณะเป็น “เรือนสองหลังหน้าเปียง” หมายถึงมีเรือนจั่วสองหลังวางต่อกันในระนาบเดียวกัน องค์ประกอบของเรือน 2 หลัง คือ ห้องด้านตะวันออกเป็น “เฮือนนอน” โล่งกว้าง สำหรับสมาชิกในครัวเรือนจะนอนรวมกันในห้องนี้ โดยใช้ “ผ้ากั้ง” มีลักษณะเป็นเหมือนผ้าม่าน ใช้กั้นแบ่งเป็นห้องเล็กๆ ตามช่วงเสา ส่วนเรือนที่อยู่ทางด้านตะวันตกคือ “เฮือนไฟ” หรือห้องครัว อยู่ระดับเดียวกับพื้นเรือนนอน ตรงกลางระหว่างชายคาของเรือนทั้งสองเชื่อมต่อกันทำเป็นรางน้ำฝน เรียกว่า “ฮ่อมริน” ด้านข้างเรือนไฟทำเป็นระเบียงยาวเชื่อมกับชานหลังบ้าน มีบันได 2 ด้าน คือที่ชานหน้าและชานหลังบ้าน

หน้าเรือนทั้งสองเป็นพื้นที่โล่งไม่มีผนังกั้นเรียกว่า “เติ๋น” เป็นที่ทำงานบ้าน เช่น ทอผ้า ปั่นฝ้าย จักสาน และเป็นที่นั่งพักผ่อนในช่วงเวลากลางวัน ฝาเรือนด้านตะวันออกของเติ๋นมี “หิ้งพระ” ทำเป็นชั้นวางเพื่อสักการะบูชาพระพุทธรูปหรือเก็บรักษาเครื่องรางของขลัง ถัดจากเติ๋นออกมานอกชายคาคือ “ชาน” เป็นพื้นที่ลดระดับลงมาแล้วเชื่อมกับบันไดทางขึ้นเรือน ด้านข้างชานมี “ฮ้านน้ำ” วางหม้อน้ำสำหรับดื่ม ด้านล่างเป็นใต้ถุนสูง สร้างคอกวัวควายและมีครกมองตำข้าว  
ที่มาข้อมูล : //art-culture.cmu.ac.th



















.
.
.




7. เรือนพื้นถิ่น อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่




เรือนพื้นถิ่นแม่แตงปลูกสร้างครั้งแรกประมาณปี พ.ศ. 2460 ที่บ้านป่าไผ่ ต.ช่อแล อ.แม่แตง จ. เชียงใหม่ เดิมเป็นเรือนของ พ่อน้อยปิง แล้วตกทอดมาถึง นางขาล ตาคำ จากนั้นได้ย้ายมาปลูกสร้างไว้ที่สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมเมื่อปี พ.ศ. 2551

รูปแบบเป็นเรือนพื้นถิ่นที่มีการจัดพื้นที่ใช้สอยตามการใช้งานของครอบครัวในชนบท ตัวเรือนเป็นจั่วแฝดยกพื้นสูงสร้างด้วยไม้เนื้อแข็งทั้งหลัง โครงสร้างเป็นระบบเสาและคานใช้ประกอบแบบเจาะช่องสอดเข้าเดือย บาก พาดผนังเรือนเป็นไม้แผ่นตีซ้อนแนว ส่วนพื้นเรือนปูด้วย “ไม้แป้น” หรือไม้กระดาน โดยยกพื้นห้องนอนและเติ๋นขึ้นมาหนึ่งระดับเพื่อแบ่งส่วนพื้นที่ใช้สอย อีกทั้งสามารถใช้ประโยชน์ในการนั่งตรงบริเวณจุดต่างระดับของพื้นอีกด้วย ส่วนหลังคาสองจั่วหลักเชื่อมต่อกันโดยมุงกระเบื้องดินขอ มี “ฮ่อมลิน” คือทางเดินระหว่างเรือนสองหลังเป็นแนวยาวระหว่างเรือนนอน จากพื้นที่เติ๋นไปยังด้านหลังเรือน เหนือฮ่อมรินเป็น “ฮางริน” หรือรางระบายน้ำฝนวางในจุดเชื่อมต่อระหว่างชายคาสองจั่วชายคา ด้านหน้าเรือนใกล้กับบันไดในส่วนของชานมี “ฮ้านน้ำ” ทำเป็นชั้นยื่นออกมา พื้นที่ของเติ๋นและชานทำหลังคายื่นออกมาคลุมทั้งหมดไว้ แล้วกั้นด้านหน้าเรือนด้วย “ฝาไหล” เป็นเหมือนฝาที่สามารถเลื่อนเปิดหรือปิดช่องว่างระบายอากาศได้ รอบๆ เรือนทำระเบียงไม้ระแนงกั้นไว้ เพื่อให้ตัวเรือนดูมิดชิดขณะเดียวกันก็ช่วยถ่ายเทอากาศได้ด้วย ซึ่งแตกต่างจากเรือนล้านนาโบราณที่เปิดโล่งในส่วนของเติ๋นและชาน

ที่มาข้อมูล : //art-culture.cmu.ac.th





ชอบเสาของเฮือนหลังนี้มาก ๆ ๆ ๆ







.
.
.





8. เรือนทรงปั้นหยา (อนุสารสุนทร)







เดิมเป็นเรือนของ หลวงอนุสารสุนทรและนางคำเที่ยง ชุติมา ที่สร้างให้กับบุตรชาย คือ นายแพทย์ยงค์ ชุติมา เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2467 เดิมตั้งอยู่บริเวณตลาดอนุสารสุนทร ถนนช้างคลาน ในความครอบครองของบริษัทสุเทพ จำกัด ต่อมาทายาทได้มอบเรือนให้แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีมูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ ได้ให้การสนับสนุนการอนุรักษ์และนำมาสร้างขึ้นใหม่อีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2547
      มีลักษณะเป็นเรือนไม้ขนาดใหญ่จำนวนสองชั้น เป็นรูปแบบเรือนของคหบดีหรือผู้มีฐานะนิยมสร้างขึ้นในช่วงสมัยที่ยังคงได้รับอิทธิพลด้านสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก เกิดเป็นรูปแบบที่มีการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมในยุคโคโลเนียลกับเรือนพื้นถิ่นล้านนา จึงมีหลังคาทรงปั้นหยาเหลื่อมซ้อนกันอย่างลงตัวผสมผสานกับหลังคาทรงจั่วที่ยังคงมุงหลังคาด้วยกระเบื้องดินขอ ชั้นบนเป็นระเบียงมุขยื่นออกมาด้านหน้า เชื่อมด้วยระเบียงยาวที่ทำล้อมรอบตัวเรือน ตั้งแต่โถงบันไดทางขึ้นด้านข้างยาวจนจรดด้านหลังเรือน ภายในตัวเรือนชั้นบนเป็นห้องโถงที่มีบันไดลงสู่ชั้นล่าง พื้นที่ชั้นล่างเป็นห้องโถงกว้างปิดผนังด้วยฝาไม้ทุกด้าน ระหว่างผนังเจาะช่องหน้าต่างเพื่อระบายอากาศและให้แสงเข้าถึงในห้อง


ที่มาข้อมูล : //art-culture.cmu.ac.th








งามตามกาล





.
.


ภายในพิพิธภัณฑ์มียุ้งแบบล้านนาให้ชมด้วยกัน 3 หลัง ดังนี้


1. ยุ้งข้าวล้านนา (อ.สารภี จ.เชียงใหม่)
      หลองข้างหลังนี้สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2450 เจ้าของคือ พ่อโต (เศรษฐี) ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 Professor Dr. Hans Langholz และภรรยา Dr. Med. Dr. Phil Agnes Langholz ได้ให้การสนับสนุนในการเคลื่อนย้ายหลองข้าวหลังนี้มาไว้ที่สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม
      หลองข้าวสารภีเป็นอาคารไม้ขนาดกลาง ใต้ถุนสูงพอประมาณ ใช้วิธีการสร้างแบบโบราณ โดยทำโครงสร้างหลังคาใช้วิธีเจาะเพื่อเข้าเดือยปลายเสา แล้วเจาะช่องกลางเสาสอดไม้แวง(รอด) ทะลุส่วนที่เป็นหลังคาจั่วลาดต่ำ ตัวเรือนตีไม้ปิดทึบเป็นห้องเอาไว้เก็บข้าว ล้อมรอบด้วยระเบียงชั้นนอก
ที่มา : //art-culture.cmu.ac.th

2. ยุ้งข้าวล้านนา (เลาหวัฒน์)  
ยุ้งข้าวของเรือนกาแล (พญาวงศ์) นำมาปลูกสร้างใหม่พร้อมกันกับเรือนโดยได้รับการสนับสนุนการอนุรักษ์จาก คุณแจ่มจิตต์ เลาหวัฒน์ และครอบครัว และรื้อย้ายมาปลูกขึ้น ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2542

      ยุ้งข้าวหรือหลองข้าวเป็นองค์ประกอบสำคัญที่อยู่คู่กับเรือนของชาวล้านนา สร้างจากไม้ทั้งหลัง ใช้สำหรับเก็บข้าวเปลือกไว้กินได้ตลอดปี หลองข้าวของเรือนกาแลยกพื้นสูงจั่วเดียว ทำหลังคาซ้อนเป็นสองระนาบ หลังคาส่วนบนเป็นจั่วสูงชันรองรับด้วยหลังคาปีกนกที่ยื่นออกมาคลุมตัวเรือนหลองข้าว การตั้งเสาจะวางเรียงกันเป็นคู่แล้วสอบเข้าหากันเพื่อให้รับน้ำหนักได้ดี โครงสร้างหลองข้าวเหมือนกับเรือนพักอาศัยแต่ไม่มีบันได หากต้องการข้าวก็จะใช้ “เกิ๋น” เป็น เหมือนบันไดลิงพาดกับหลองข้าวขึ้นไป ผนังตีในแนวตั้งปิดทึบทุกด้าน ลักษณะพิเศษของตัวหลองนี้มีขนาดใหญ่และตกแต่งป้านลมอย่างสวยงาม แสดงให้เห็นว่าเจ้าของบ้านมีฐานะ เพราะมีที่นามาก ดังนั้นผลิตข้าวในแต่ละปีจึงมีมากเช่นกัน
ที่มา : //art-culture.cmu.ac.th



3. ยุ้งเปลือย (ไม่พบข้อมูล)



"หันหน้า หาอดีต"
mariabamboo.bloggang.com


ก่อนกลับแวะพักร้อนใต้ต้นไม้นี้ พลางเห็นป้ายนี้น่าสนใจค่ะ จำได้ว่าเคยเห็นเด็ก ๆ โยนเหรียญกันเมื่ออ7 - 8 ปีก่อน แต่จขบ.ไม่ได้โยนด้วยค่ะ เอารูปมาฝากละกันนะคะ



ใช้เวลาที่นี่สักพักใหญ่ ๆ เก็บรูปจนหนำใจ บ่ายแล้ว แดดจ้า แต่ใต้ร่มเงาจากไม้ใหญ่ช่วยเราได้มาก ไม่ร้อน .... วันนั้น ไม่ค้างคาใจอีกแล้วกับที่นี่ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่กลับมาอีก
.
.
.





ขอบคุณ จนท.ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คุณ วาสนา  มาวงศ์
ผู้ให้ความกระจ่าง - ความเข้าใจสิทธิ์ในการเผยแพร่เนื้อหา และรูปภาพของพิพิธภัณฑ์ค่ะ








ขอบคุณที่แวะมาค่ะ
หมวด Travel blog หรือ Photo blog ค่ะ






Create Date : 23 กุมภาพันธ์ 2559
Last Update : 8 มีนาคม 2559 19:34:41 น.
Counter : 6288 Pageviews.

33 comments
  
คุณได้ทำการแปะ ให้กับคุณ mariabamboo เรียบร้อยแล้วนะคะ

คุณเหลือ อีก 1 ดวง สำหรับวันนี้ค่ะ
โดย: เวียงแว่นฟ้า วันที่: 23 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา:22:19:10 น.
  
บันทึกการโหวต Blog ในวันนี้

ผู้เขียน Blog หมวดเนื้อหา Blog ได้รับโหวต
Close To Heaven Food Blog ดู Blog
mariabamboo Travel Blog ดู Blog

------------------------------

พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา เชียงใหม่
กำลังดูละครพีเรียดหลอน ๆ อยู่ด้วย
โลเคชั่นแนว ๆ นี้เลยนะคะ แหะ ๆ
โดย: ฟ้าใสวันใหม่ วันที่: 23 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา:22:33:48 น.
  
โหวต Travel Blog ครับ

ผ่านไปผ่านมาหลายครั้งแล้ว
แต่ยังไม่ได้แวะเข้าไปดูเสียที

น่าสนใจจังเลยครับ

ไว้จะหาโอกาสตามรอยบ้างนะครับ




ปล. ล้มเอง ลุกเอง เดี๋ยวก็เก่งนะครับ

โดย: กะว่าก๋า วันที่: 23 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา:22:59:52 น.
  
เรือนโบราณล้านนาแต่ละหลังมีอายุมากกว่าร้อยปีนะคะแม่โม
น่าอนุรักษ์และน่าศึกษามาก
ภาพแม่โมกับน้องโมเสสน่ารักสดใสจังค่ะ

ส่งกำลังใจค่ะ

บันทึกการโหวตเรียบร้อยแล้วค่ะ

บันทึกการโหวต Blog ในวันนี้
ผู้เขียน Blog หมวดเนื้อหา Blog ได้รับโหวต

ชมพร About Weblog ดู Blog
mariabamboo Photo Blog ดู Blog

.-.-.-.-.-.-.-.-.-.-.-.-.-.-.-.-.

นอนหลับฝันดีคืนนี้นะคะ

โดย: Sweet_pills วันที่: 24 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา:0:06:34 น.
  
ตามมาเที่ยวด้วยค่ะ
วันนี้แปะใจไว้ก่อนนะคะ
คุณได้ทำการแปะ ให้กับคุณ mariabamboo เรียบร้อยแล้วนะคะ
โดย: เนินน้ำ วันที่: 24 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา:0:21:06 น.
  
thx u crab
โดย: Kavanich96 วันที่: 24 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา:2:34:52 น.
  
สวัสดียามเช้าครับแม่โม

โดย: กะว่าก๋า วันที่: 24 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา:6:55:17 น.
  
haiku Fanclub Blog ดู Blog
ปรัซซี่ Food Blog ดู Blog
mariabamboo Photo Blog ดู Blog


สวัสดีค่ะแม่โม

อาหารเช้าที่นี่เราว่าไม่โอเคค่ะ ถ้าเทียบกับราคาห้อง ทั้งตัวห้องและตัวอาหารเช้า ไม่โอทั้งคู่เลย
โดย: สาวไกด์ใจซื่อ วันที่: 24 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา:8:41:07 น.
  
ยอดเยี่ยมมากๆ ครับ
โดย: ถปรร วันที่: 24 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา:11:33:56 น.
  
ขอบคุณสำหรับคะแนนโหวตนะครับแม่โม

เมื่อก่อนพี่ก๋าชอบไปหอศิลป์มาก
แต่เดินไม่ถึงเฮือนโบราณครับ

เดี๋ยวมีโอกาสจะไปแน่นอน

เดี๋ยวต้องเล่าเรื่องผีดึงขาให้หมิงหมิงฟังก่อน
รับรองเจ้าตัวอยากไปแน่นอน 555

อ่านแล้วยังหลอนตามเลยครับ
เปลไกวได้เอง บรึ๋ยๆๆๆ สยองเลยนะครับ 555


โดย: กะว่าก๋า วันที่: 24 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา:12:21:26 น.
  
เคยไปเที่ยวมาแล้วครับ เดินกันอยู่ 2 คนในบรรยากาศแบบโพล้เพล้ หลอนสุดๆคราบ ฮ่า
โดย: ทนายอ้วน วันที่: 24 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา:13:00:08 น.
  
มาแปะใจ+ขอตามไปเที่ยวด้วยคนค่ะ
โดย: บาบิบูเบะ...แปลงกายเป็นบูริน วันที่: 24 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา:13:03:50 น.
  
สวัสดีอีกรอบค่ะแม่โม

แหะๆ เราโจทก์เยอะค่าา เลยต้องปิดหน้าไว้ เดี๋ยวโจทก์ตามตัวถูกค่ะ แง้ววว
โดย: สาวไกด์ใจซื่อ วันที่: 24 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา:17:27:34 น.
  
สวัสดียามเช้าครับแม่โม

ฝนตกเฉยเลยนะครับ
เช้านี้หมอกจัดเลย

โดย: กะว่าก๋า วันที่: 25 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา:6:44:02 น.
  
อรุณสวัสดิ์ค่ะแม่โม
อยากโหวตทั้งสองหมวดเลยค่ะ
งั้นตามเพื่อน ๆ ไปหมวดนี้นะคะ
บันทึกการโหวต Blog ในวันนี้

ผู้เขียน Blog หมวดเนื้อหา Blog ได้รับโหวต
mariabamboo Photo Blog ดู Blog
โดย: เนินน้ำ วันที่: 25 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา:7:46:50 น.
  
ชม. มีที่น่าสนใจหลายที่
เสียแต่หน้าร้อน ร้อนมากกก
เดินเที่ยว ถ่ายรูปที เหงื่อท่วม
โดย: me-o วันที่: 25 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา:10:31:41 น.
  
ขอบคุณสำหรับคะแนนโหวตนะครับ

หน้าห้องพี่ก๋ามีฉำฉา
กิ่งไม้ใหญ่ๆหล่นลงมา หลังคาแตกเลย
แสดงว่าตกหนักเลยล่ะครับ

โดย: กะว่าก๋า วันที่: 25 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา:10:48:13 น.
  
คุณได้ทำการแปะ ให้กับคุณ mariabamboo เรียบร้อยแล้วนะคะ

ดีจังเลยนะคะที่มีให้เราได้ดูศึกษากัน ดูเก่ามากกกกกกกกกกกกกก เลยทีเดียว

ปล.ณุปที่แปลเกษตรน่ารักเชียวค่ะ
โดย: kae+aoe วันที่: 25 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา:16:56:52 น.
  
เอาหัวใจดวงแรกมาให้คราบ


คุณได้ทำการแปะ ให้กับคุณ mariabamboo เรียบร้อยแล้วนะคะ

คุณเหลือ อีก 9 ดวง สำหรับวันนี้ค่ะ
โดย: ทนายอ้วน วันที่: 25 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา:18:06:07 น.
  
ขอบคุณสำหรับโหวต
และความสนใจในข้อเขียนนะคะ

สำหรับเรื่องราวที่นี่ ต้องกลับมาอ่านอีกทีค่ะ
ชอบภาพที่ 3 มากเลยค่ะ

ราตรีสวัสดิ์ ฝันดีนะคะ

โดย: ภาวิดา (คนบ้านป่า ) วันที่: 25 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา:20:30:11 น.
  
mariabamboo Travel Blog ดู Blog
แปะหัวใจให้แล้วค่ะ

เรือนไม้ยกพื้น ไทยเราสวยมากนะคะ
ชอบบ้านยกพื้น เคยฝันว่าถ้าจะมีบ้านต้องเป็นบ้านไม้ยกพื้น
แต่พอสร้างบ้านกลับไม่สร้างยกพื้น
เหมือนตกกระไดพลอยโจน
เพราะไม่มีใครเห็นด้วยเลยค่ะ อิอิ

แม่ซองฯก็ดองบล๊อกบ่อยค่ะ
ช่วงนี้เข้าทุกวันภาระกิจแจกหัวใจ
เกรงใจเพื่อนๆค่ะมีคนมาแปะแล้วเราไม่ได้แปะตอบ

บล๊อกแก๊งค์เขาก็มีวิธีที่ให้ชาวบล๊อกกลับบล๊อกกันเน๊าะ 555


โดย: ซองขาวเบอร์ 9 วันที่: 25 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา:21:04:10 น.
  
สวัสดียามเช้าครับแม่โม

โดย: กะว่าก๋า วันที่: 26 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา:6:33:23 น.
  
เลือกไม่ถูกเหมือนกัน

บันทึกการโหวต Blog ในวันนี้

mariabamboo Travel Blog

เอาอันนี้แล้วกันนะคะ เพราะมีครบเลย แต่รูปก็สวยเช่นเคย..จริงๆ สวย ตลอดๆ ค่ะ
โดย: kae+aoe วันที่: 26 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา:8:58:11 น.
  
ขอบคุณสำหรับคะแนนโหวตด้วยนะครับแม่โม

กระดุมเป็นภาพจากหอศิลป์ มช. นี่ล่ะครับ
พี่ก๋าโคลสอัพมาใกล้ๆเท่านั้นเอง

อาหาศเย็นลงเยอะเลยนะครับหลังจากฝนตก
อากาศประหลาดดี
คนป่วยเยอะเลยในช่วงนี้



โดย: กะว่าก๋า วันที่: 26 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา:12:29:49 น.
  
มาชมเรือนโบราณครับ
ชอบเรือนไทยโบราณทุกภาคครับ
แต่เรือนโบราณที่ทำขายเป็นหลังสมัยนี้ราคาแพงมาก ขั้นต่ำหลักล้านขึ้น
mariabamboo Photo Blog ดู Blog
คุณได้ทำการแปะ ให้กับคุณ mariabamboo เรียบร้อยแล้วนะคะ
โดย: เศษเสี้ยว วันที่: 26 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา:12:47:48 น.
  
มาอ่านและส่งกำลังใจหมวดครอบครัวค่ะ

พรมดอกจานก็สวยมากนะคะ ชอบดูเรือนโบราณด้วยค่ะ
น่าจะเย็นสบายดี

mariabamboo Parenting Blog ดู Blog

โดย: ภาวิดา (คนบ้านป่า ) วันที่: 26 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา:15:39:05 น.
  
เห็นบ้านหมายเลข 2 พญาปงลังกา แล้วสะดุ้งเลยครับ

เหมือนบ้านที่ผมเคยอยู่ ต.ศรีภูมิ สมัยเป็นเด็ก.. ครอบครัว
เราย้ายอพยพจาก อ.ปาย มาเช่าอยู่หลายปี อยู่ติดกับ คูเมืองมี
ถนนคั่น..

เหมือนเด๊ะเลย..ยกเว้น ห้องตรงบันใดทางขึ้น กว้างกว่าที่
เคยอยู่ คือขยายไปทางขวามือ.. นอกนั้นเหมือนทุกอย่าง
ฝาบ้าน ข้างในเป็นไม้แผ่นโตกว่า 2 ฟุต..

ยุ้งข้าวทรงสูง แบบนั้นใช่เลย เขาปลูกไว้หน้าบ้านชิดซ้าย
มือ

เสียดายผมจำเลขที่บ้านไม่ได้......

วันหลังผมจะแวะไปดูบ้านหลังที่ว่า.. ผมยังจำห้องต่าง ๆ
ได้เลย

งั้นโหวต อะไรดีหนอ... งั้นโหวต

ผู้เขียน Blog หมวดเนื้อหา Blog ได้รับโหวต
mariabamboo Travel Blog ดู Blog
โดย: ไวน์กับสายน้ำ วันที่: 26 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา:17:34:16 น.
  
เมื่อวานพี่มาแล้วล่ะ รอบนึง แต่ไม่ได้ลงลายมือไว้

ขอบคุณ ข้อมูลดี ๆ ที่ลงไว้ด้วยค่ะ

พี่ชอบเรือนไทย ไม่รู้ว่ามีที่แบบนี้ ที่เชียงใหม่ด้วย ดีมากเลย เค้าอนุรักษ์ ดูแลไว้ดีเลยเนอะ

ชอบภาพแม่ลูกจูงมือ กับภาพถัดมาของโมเสสค่ะ


บันทึกการโหวตเรียบร้อยแล้วค่ะ



บันทึกการโหวต Blog ในวันนี้

ผู้เขียน Blog หมวดเนื้อหา Blog ได้รับโหวต
ร่มไม้เย็น Dharma Blog ดู Blog
กาบริเอล Travel Blog ดู Blog
mariabamboo Photo Blog ดู Blog

ระบบจะบันทึกคะแนนโหวต เฉพาะการโหวต 5 ครั้งล่าสุดในแต่ละวันเท่านั้น



*** พี่เมฆสอบเสร็จเมื่อวาน วันนี้ปิดเทอมแล้วครับ เหลือแต่ไปเข้าค่าย

พี่หมอกเรียนมหาวิทยาลัย ยังไม่สอบกลางภาคเลยค่ะ
โดย: สายหมอกและก้อนเมฆ วันที่: 26 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา:17:42:46 น.
  
แนวละครพีเรียดจริงๆ ชอบต้นไม้ใหญ่ๆนั่นจัง เหมือนในจินตนาการเวลาอ่านหนังสือแฟนตาซีเป๊ะเลย
โดย: Kisshoneyz วันที่: 26 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา:18:56:26 น.
  
มาแปะหัวใจดวงแรกของวันนี้คราบ
โดย: ทนายอ้วน วันที่: 26 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา:19:33:42 น.
  
สวัสดีอีกรอบค่าาา

จัดเลยค่ะ ได้ข่าวว่าเชียงใหม่เป็นเมืองหนึ่งที่มีร้านหมูกระทะถูกและดีเยอะเลยยย
โดย: สาวไกด์ใจซื่อ วันที่: 26 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา:20:41:52 น.
  
คุณได้ทำการแปะ ให้กับคุณ mariabamboo เรียบร้อยแล้วนะคะ

คุณเหลือ อีก 3 ดวง สำหรับวันนี้ค่ะ

เรือนไทยโบราณสวยมากค่ะทำให้นึกถึงบ้านเสานักที่ลำปางเลยค่ะพี่กิ่งแวะมาแปะใจให้พร้อมโหวตเลยนะคะ


บันทึกการโหวต Blog ในวันนี้

ผู้เขียน Blog หมวดเนื้อหา Blog ได้รับโหวต
**mp5** Dharma Blog ดู Blog
mariabamboo Photo Blog ดู Blog
ระบบจะบันทึกคะแนนโหวต เฉพาะการโหวต 5 ครั้งล่าสุดในแต่ละวันเท่านั้น

หลับฝันดีค่ะ



โดย: กิ่งฟ้า วันที่: 26 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา:22:40:42 น.
  

สวัสดียามเช้าครับแม่โม

โดย: กะว่าก๋า วันที่: 27 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา:6:45:34 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

mariabamboo
Location :
เชียงใหม่  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 62 คน [?]



日々の時間を大切に。

วันเริ่มเขียนบล๊อก 15 มีนาคม 2553
มองโลกผ่านเลนส์ด้วยตาข้างขวา
รักการเดินทาง รักการบันทึก

2012 ชมเชย บ้านหมอนอุ่น
2015 เงินรางวัล 20,000 ฿ "เที่ยวไปทั่วฯ"
2015 ชมเชย Parenting Blog Award#11
2016 อันดับ 2 Best Parenting Blog Award#12
2016 อันดับ 3 Best Photo Blog Award#12
2017 อันดับ 3 Best Photo Blog Award#13
2018 อันดับ 2 ฺBest Photo Blog Award#14
2019 อันดับ 2 Best Photo Blog Award#15
2020 อันดับ 3 Best Photo Blog Award#16
2021 อันดับ 2 Best Photo Blog Award#17
2022 อันดับ 2 Best Photo Blog Award#18
2023 อันดับ 1 Best Photo Blog Award#19
Friends Blog
[Add mariabamboo's blog to your weblog]