Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2555
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
29 สิงหาคม 2555
 
All Blogs
 
กว่าหนูจะจ้อ

โดย: วันพุธ


ถึงหนูจะส่งเสียงได้เพียงอ้อๆแอ้ๆ แต่อย่านึกว่าหนูไม่รู้ภาษานะ

ลูกน้อยวัยอ้อแอ้ต้องการการกระตุ้นในการพูดจากพ่อแม่ตั้งแต่เขายังแบเบาะ ลูกยังพูดไม่เป็นคำ ไม่เป็นประโยค ไม่ได้หมายความว่ายังไม่จำเป็นต้องใส่ใจพูดกับเขา ก็ในเมื่อเจ้าตัวเล็กเตรียมพร้อมจะพูดตั้งแต่อยู่ในท้องโน่นแล้ว อยู่ที่คุณพ่อคุณแม่นั่นล่ะค่ะว่าจะส่งเสริมให้เขามีพัฒนาการได้มากน้อยแค่ไหน


ฟังก่อน พูดทีหลัง
การเรียนรู้ภาษาของลูกเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ โดยที่เราไม่ต้องนั่งจ้ำจี้จ้ำไชสอน ลูกเตรียมพร้อมที่จะเรียนรู้ภาษามาตั้งแต่เขาอยู่ในท้องได้ 7 เดือนแล้ว ซึ่งช่วงเวลานั้นเส้นใยประสาทและระบบประสาทในการเรียนรู้เรื่องภาษาจะพัฒนาอย่างเต็มที่ ส่วนที่ว่าเขาจะพูดได้เร็วหรือช้านั้น ขึ้นอยู่กับการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมภายหลังคลอด

ระหว่างมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ลูกจะสร้างระบบภาษาและระบบการพูดของเขาขึ้นมาได้เอง โดยใช้การฟังทุกอย่างที่ขวางหน้า แล้วค่อยๆ เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆกับสิ่งที่ได้ยิน แล้วจึงค่อยเริ่มพูดทีหลัง

พัฒนาการการพูด
พัฒนาการทางภาษาและการพูดของลูกขวบปีแรก แบ่งออกได้เป็น 5 ขั้นตอนดังนี้ค่ะ

* ร้องไห้ เสียงที่เด็กเปล่งออกมาเป็นครั้งแรกในชีวิต ก็คือเสียงร้องไห้นี่ล่ะค่ะซึ่งพอนานเข้าพ่อแม่ก็จะแยกเสียงร้องไห้ของลูกได้จากลักษณะและลีลาการร้องของลูก เช่นร้องอย่างนี้แปลว่าหิวนม ร้องอย่างนั้น..ร้องเพราะไม่สบาย การร้องไห้นี้ถือว่าเป็นพัฒนาการแรกทางภาษาของเด็กก็ว่าได้


* เสียงอ้อแอ้ (3 เดือนขึ้นไป)
ลูกจะเริ่มออกเสียงใกล้เป็นคำแล้ว เสียงอ้อๆแอ้ๆ ของลูกเป็นลักษณะหนึ่งของการหัดเปล่งเสียงเพื่อหัดพูด เสียงอ้อแอ้นี้ไม่มีความหมายแต่ลูกสนุกที่จะส่งเสียงและฟังเสียงของตัวเองไปพร้อมๆ กัน

* การเล่นเสียง (5-6 เดือน) ลูกเริ่มออกเสียงเพื่อเรียกร้องความสนใจหรือ แสดงความต้องการ เขาจะเปล่งเสียงซ้ำๆ กัน และยังคงพอใจจะออกเสียงมากกว่าจะฟังเสียงคนอื่น

* การเล่นเสียงสูงๆ ต่ำๆ (7-11 เดือน) ช่วงนี้ลูกจะเลียนเสียงได้ถูกต้องและชัดเจนขึ้น แต่ยังต้องใช้ท่าทางประกอบ คำบางคำที่เขาเปล่งเสียงออกมา จะมีแต่คนใกล้ชิดเท่านั้นที่เข้าใจความหมายได้ บางครั้งพ่อแม่จะสังเกตเห็นลูกฝึกปรือการพูดจนน้ำลายแตกฟอง

* การพูดคำแรก (ย่างเข้า 10 เดือน) หลังจากที่หัดเลียนเสียงตัวเองได้แล้ว ลูกพร้อมที่จะเลียนแบบเสียงที่ได้ยิน ช่วงนี้เขาจะพูดตามที่ผู้ใหญ่พูดกัน และในที่สุดก็จะเริ่มพูดคำแรกได้ ซึ่งคำแรกๆ นี้ลูกจะพูดเป็นพยางค์เดียวแต่มีความหมายมากกว่าที่พูด เช่น คำว่า "นม" ของลูก อาจจะหมายถึง นั่นนมๆ หรือ หนูหิวนม จนกว่าจะ 2 ขวบไปแล้วลูกจึงจะพูดเป็นวลีได้

กระตุ้นลูกหัดพูด
อย่ารีรอที่จะพูดคุยกับลูกตั้งแต่เขายังอยู่ในวัยแบเบาะ ถึงแม้ว่าเขาอาจจะดูเล็กเกินกว่าจะรู้ภาษา คุณไม่จำเป็นต้องรอให้เสียเวลาเปล่าค่ะ ยิ่งเริ่มต้นได้เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น ที่สำคัญควรให้โอกาสและเวลาแก่ลูก อย่าเร่งเขาจนเกินไป

* พูดบ่อยๆ หมั่นพูดคุยกับลูกบ่อยๆ และระหว่างที่พูดนั้น คุณพ่อคุณแม่ลองใส่ความรู้สึกที่มีต่อสิ่งนั้นๆ เข้าไปด้วย เช่น เมื่อพูดถึงดอกไม้ก็อาจจะยิ้มไปด้วย ลูกจะค่อยๆ เข้าใจความหมายพร้อมๆ กับจำคำๆ นั้นไว้

* หัดเรียกชื่อสิ่งต่างๆ การที่พ่อแม่เอ่ยชื่อสิ่งต่างๆ และให้ลูกพูดตาม จะช่วยเพิ่มคำศัพท์ให้กับเขา เมื่อพูดถึงคำๆ นี้อีกครั้งลูกจะค้นหาข้อมูลที่ถูกเก็บไว้ตั้งแต่แรกในสมอง หรือเรียกง่ายๆ ว่าความจำนั่นเอง

* พูดอย่างชัดเจน อย่านึกว่าลูกเป็นเด็กตัวแดงๆ แล้วจะต้องพูดกับเขาช้าๆเพราะกลัวว่าเขาจะฟังไม่ทันหรือไม่รู้เรื่อง ความเร็วหรือช้าไม่สำคัญเท่ากับความชัดเจนในการพูด ควรพูดกับลูกเหมือนอย่างพูดกับผู้ใหญ่ สิ่งที่ลูกต้องการคือแบบอย่างในการพูดที่ถูกต้อง เพื่อพัฒนาระบบต่างๆ ของภาษาในวันข้างหน้าต่อไป

* ฟังอย่างสนใจต้องรู้จักอดทนและฟังลูกอย่างตั้งใจ พ่อแม่บางคนไม่ทนแม้แต่จะฟังลูกพูดให้จบ คำพูดตัดบทประเภท "อย่างนี้ใช่ไหม" จะลดทอนโอกาสที่ลูกเรียนรู้ที่จะพูดให้น้อยลงไปอีก

นอกเหนือจากการกระตุ้นลูกแล้ว การสร้างสภาพแวดล้อมที่อบอุ่นและมั่นคงให้กับลูกความสัมพันธ์ของทุกคนในครอบครัวก็สำคัญเช่นกัน นักวิจัยพบว่าเด็กที่มีความสัมพันธ์กับแม่สามารถจะพัฒนาทักษะทางภาษา รู้คำศัพท์มากกว่าเด็กที่ไม่มีความสัมพันธ์กับแม่ เพราะพูดคุยกับแม่อยู่ตลอดเวลา

รู้อย่างนี้แล้ว อย่าปล่อยให้เวลาทองผ่านเลยไปโดยไม่ไขว่คว้าไว้เลยค่ะ

อย่างนี้..มีปัญหา
คุณควรหมั่นสังเกตลูกดูว่า เขามีความผิดปกติด้านการพูดหรือไม่ โดยดูได้จากสัญญาณต่อไปนี้

*อวัยวะในการพูด ความบกพร่องของอวัยวะในการพูด ไม่ใช่เฉพาะปากหรืออวัยวะในช่องปาก เช่น เพดานปาก ลิ้น หรือลิ้นไก่ ที่พอจะสังเกตเห็นได้ง่าย แต่ยังรวมไปถึงกระบังลม ปอด เส้นเสียง สายเสียง และหู ล้วนส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านการพูดทั้งนั้น

* พัฒนาการต่ำกว่าวัย คุณพ่อคุณแม่ควรรู้พัฒนาการการพูดของลูกและสังเกตลูกตามพัฒนาการ หากไม่เป็นไปตามนั้นให้สงสัยไว้ก่อน เช่น ลูกอายุขวบครึ่งยังพูดไม่ได้ทั้งที่เด็กโดยทั่วไปควรพูดคำแรกได้ตั้งแต่ขวบปีแรก

* การตอบสนองเสียง การฟังของลูกเชื่อมโยงกับการพูด ถ้าลูกวัย 0-3 เดือนไม่สามารถหันไปหาเสียงได้ วัย 4-6 เดือน ไม่สามารถตอบสนองต่อเสียงดังๆ ได้ และวัย7-12 เดือน ยังไม่เข้าใจคำพูดที่ใช้พูดบ่อยๆ หรือเรียกแล้วไม่หันหรือไม่ทำเสียงตาม ควรพาลูกไปพบแพทย์

ทำไมต้อง "แม่"
ทำไมหนอเจ้าตัวเล็กรายไหนรายนั้น คำแรกที่เปล่งออกมาจากปากน้อยๆ ต้องเป็นคำว่า "แม่" ทุกทีไปสิน่า .. อย่างนี้คนเป็นพ่อก็น้อยใจแย่

จริงๆ แล้วไม่เป็นจริงเสมอไปหรอกค่ะ เด็กพร้อมจะพูดคำว่าอะไรก็ได้ที่เขาได้ยินบ่อยๆ และมีแรงเสริมให้เขาพูดคำๆ นั้นต่อไป เด็กบางคนอาจจะเรียกปู่ย่าตายายหรือใครก็ได้ ก่อนที่จะเรียกพ่อแม่เป็นด้วยซ้ำ

แต่ที่เด็กส่วนใหญ่ออกเสียงว่า "แม่" ได้ก่อนคำอื่น อาจเป็นเพราะคำๆ นี้ออกเสียงง่าย ถ้าไม่เชื่อลองทำดูสิคะ

อีกอย่างคนที่ใกล้ชิดลูกส่วนใหญ่ ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แม่อีกนั่นล่ะ โอกาสที่แม่จะพูดกับลูกทำนองว่า "แม่" อย่างนั้น "แม่" อย่างนี้ มีอยู่ตลอดเวลา เจ้าหนูก็เลยได้ยินแต่คำว่า "แม่ๆๆ" ซ้ำไปซ้ำมา แล้วอย่างนี้จะไม่เรียก "แม่" เป็นก่อนคำอื่นได้ยังไงละจ๊ะ


จาก: นิตยสารรักลูก



Create Date : 29 สิงหาคม 2555
Last Update : 29 สิงหาคม 2555 15:29:27 น. 0 comments
Counter : 1364 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ลูกน้ำกว๊าน
Location :
พะเยา Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ยินดีต้อนรับทุกท่าน นะคะ




อยากมีและอยากรู้จัก เพื่อนที่มีที่มาต่างกัน และอยากร่วมแชร์ ประสบการณ์ให้คนอื่น ได้รับรู้บ้าง เพื่อนๆชาว บลอคแกงค์เป็นอะไรที่ ใช่เลย ที่คอยอยู่ด้วยกัน ตลอดเวลา พอเรา เปิดดูครั้งใดก็จะมีคน นั่งเขียนบลอก นั่งอยู่ที่ หน้าจอ คอยเป็นเพื่อน กันเสมอ รัก ทุกคนใน บลอกแกงค์ ค่ะ
: Users Online
Friends' blogs
[Add ลูกน้ำกว๊าน's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.