Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2555
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
17 กรกฏาคม 2555
 
All Blogs
 
พัฒนาการของลูกน้อยในแต่ละขั้น

แรกเกิด
พัฒนาการของลูกน้อย

2 – 3 สัปดาห์แรก

ก่อนหน้านี้ ลูกน้อยแรกเกิดของคุณเคยขดตัวอย่างสุขสบายอยู่ในมดลูกอันอบอุ่นและเงียบสงบมานานหลายเดือน จึงไม่น่าแปลกใจที่ในช่วงสัปดาห์แรกเป็นเวลาที่ลูกต้องปรับตัวและทำความคุ้นเคยกับโลกใหม่นี้

ปฏิกิริยาสะท้อนกลับตามธรรมชาติ

ทารกของคุณเกิดมาพร้อมกับปฏิกิริยาสะท้อนกลับตามธรรมชาติซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นก่อนที่ทารกจะมองเห็นได้ดีขึ้นและกล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น ลูกน้อยจะกำมือแน่นใส่อะไรเข้าไปในมือและจะหันไปหาทันทีเมื่อมีอะไรมาเขี่ยที่แก้ม รวมทั้งจะดูดของนุ่มๆ ที่แหย่เข้าไปในปากของแกด้วย

การสื่อสาร

คงไม่น่าแปลกใจหากคุณแม่ได้ทราบว่าวิธีการสื่อสารหลักของลูกน้อยในช่วงนี้ก็คือ การร้องไห้ ยิ่งคุณตอบสนองลูกเร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับลูกว่ามีคนรับฟังและใส่ใจดูแล จึงทำให้ทารกเกิดความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยมากขึ้นเท่านั้น แล้วหลังจากนี้ไม่นานคุณเองก็จะเรียนรู้ว่า ลูกร้องไห้เพราะอะไร

การมองเห็น

ทารกแรกเกิดยังมองเห็นได้ไม่ชัดนัก โดยสามารถมองเห็นได้ในระยะ 8-10 นิ้ว หรือช่วงห่างระหว่างสายตาลูกกับใบหน้าแม่เมื่อแม่ให้นมลูกหรืออุ้มลูกไว้ในอ้อมกอด และต้องใช้เวลาประมาณ 4-6 เดือน สายตาของทารกจึงจะได้รับการพัฒนาเต็มที่ให้สามารถมองเห็นความลึกของวัตถุและเห็นสีสันต่างๆ ได้

การนวดสัมผัสทารกแรกเกิด

การนวดสัมผัสเป็นวิธีที่ดีมากในการช่วยให้ลูกน้อยแรกเกิดของคุณผ่อนคลาย อีกทั้งยังเป็นการสร้างสัมพันธ์ทางใจระหว่างคุณกับลูก ทารกแทบทุกคนล้วนต้องการการดูแลเอาใจใส่ อย่ากังวลใจว่าคุณนวดสัมผัสลูกได้อย่างถูกต้องหรือไม่ ควรเชื่อในสัญชาตญาณของความเป็นแม่ เริ่มต้นด้วยการนวดเบาๆอย่างอ่อนโยนและลูกจะแสดงอาการให้คุณทราบทันทีเมื่อรู้สึกไม่สบายตัว ส่วนใหญ่ลูกมักจะผลอยหลับไประหว่างการนวดหรือทันทีที่นวดเสร็จแล้ว จึงเหมาะสมที่จะนวดสัมผัสให้ลูกก่อนเวลานอนหรือหลังอาบน้ำเสร็จใหม่ๆ หากคุณแม่ใช้น้ำมันทาตัวลูกก่อนนวด อย่าลืมว่าลูกอาจเผลอดูดกลืนน้ำมันนั้นเข้าไปได้ ดังนั้นจึงควรใช้แต่น้ำมันบริสุทธิ์ตามธรรมชาติ เช่น น้ำมันดอกทานตะวันหรือน้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ ซึ่งปลอดภัยและอ่อนโยนสำหรับผิวทารกและที่สำคัญ เป็นน้ำมันที่ใช้รับประทานได้

วัย 1 เดือน
จากแรกเกิดถึงวัยทารก

ตอนนี้ ลูกของคุณโตขึ้นและไม่ดูเหมือนทารกแรกเกิดแล้วถึงแม้ว่าขาทั้ง 2 ข้างจะยังโก่งอยู่บ้างเล็กน้อยก็ตาม ช่วงวัยนี้ ลูกอาจจะสามารถยกศีรษะขึ้นจากเบาะได้ช่วงสั้นๆ เวลาที่คุณจับแกนอนคว่ำ มือ 2 ข้างของลูกยังคงกำแน่นและเขาจะกำมืออัตโนมัติเมื่อคุณสอดอะไรไปในมือ การตอบสนองอัตโนมัตินี้เป็นปฏิกิริยาสะท้อนกลับโดยธรรมชาติที่ทารกทุกคนมีมาแต่เกิด

การให้นมทารก

เมื่ออายุได้ราว 6 สัปดาห์ ทารกส่วนใหญ่จะเข้าสู่ช่วงโตเร็ว นั่นคือ ลูกน้อยจะหิวบ่อยขึ้นกว่าที่เคยเป็นมาและเป็นเช่นนี้สัก 2-3 วัน ตารางการให้นมที่คุณแม่เคยวางไว้จึงไม่สามารถใช้ได้ในช่วงนี้ แต่คุณแม่อย่าเพิ่งตกใจ เพียงแต่ควรเพิ่มความถี่ในการให้นมลูกเท่านั้นพอ และหลังจากนี้เพียงไม่กี่วัน คุณแม่ก็สามารถกลับมาให้นมตามตารางเวลาเดิมได้อีกครั้ง

การสื่อสาร

ลูกน้อยยังคงสื่อสารกับคุณด้วยเสียงร้องไห้ แม้ว่าลูกจะสามารถเล่นเสียงต่างๆ ได้บ้างแล้ว เช่น ทำเสียงในลำคอ คำราม และส่งเสียงฮัมเบาๆ เมื่อรู้สึกสบายและพึงพอใจ


การมองเห็น

ทารกวัยหนึ่งเดือนสามารถมองเห็นได้ดีขึ้นและไกลขึ้น แม้ว่าจะยังมีขอบเขตจำกัดก็ตาม ในเวลานี้ลูกจะสนใจมองของ2 อย่างเป็นพิเศษคือ ใบหน้าของผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน้าของแม่ และอะไรก็ตามที่เคลื่อนไหวได้

วัย 2 เดือน
ลูกน้อยรู้จักคุณแม่แล้ว

เมื่อถึงเวลานี้ ลูกน้อยจะเริ่มคุ้นเคยกับอ้อมกอดของแม่ และอาจส่งเสียงร้องถ้าคนที่อุ้มขึ้นมาไม่ใช่แม่ ลูกจะแกว่งแขนถีบขาเมื่อถูกกระตุ้นหรือรู้สึกตื่นเต้น และอาจจะมีความสุขกับการดูดนิ้วหรือนิ้วหัวแม่มือด้วย

การให้นมทารก

ปัญหาในการให้นมอาจเป็นปัญหาที่พบได้ทั่วไปสำหรับทารกวัยนี้ นอกจากนี้ ทารกบางคนอาจร้องโคลิก คือร้องติดต่อกันนานในช่วงเวลาหนึ่ง และมักเกิดขึ้นกับทารกวัย 1 – 4 เดือน คุณแม่ควรวางใจว่าเด็กที่ร้องโคลิกจะไม่มีอาการเจ็บป่วยตามมา ทารกจะสบายเป็นปกติหลังจากหยุดร้องไห้แล้ว เพียงแต่คุณพ่อคุณแม่คงจะเหนื่อยที่ต้องฟังเสียงร้องของลูกน้อยเป็นเวลานานๆ ทุกวัน คุณแม่สามารถลองดูคำแนะนำเกี่ยวกับการปลอบโยนทารกที่ร้องโคลิกจากบทความของดูเม็กซ์เรื่อง การร้องโคลิก เพื่อช่วยให้เข้าใจได้มากขึ้น

ลูกน้อยของคุณเริ่มยกศีรษะขึ้นได้แล้ว

ร่างกายของทารกวัย 2 เดือน เริ่มยืดตรง หากคุณจับลูกนอนคว่ำ ในไม่ช้าลูกจะสามารถยกศีรษะขึ้นจากเบาะและยกค้างไว้อย่างนั้นสักครู่หนึ่ง

การสื่อสาร

ถึงแม้ว่าทารกวัย 2 เดือน จะยังพูดเป็นคำๆ ไม่ได้ แต่ลูกก็เริ่มเรียนรู้วิธีที่จะสื่อสารแล้ว เสียงของแม่มักจะเป็นเสียงที่ลูกชอบฟังมากที่สุด และเมื่อลูกน้อยได้ยินเสียงคุณ เขาก็มักจะหันหาและส่งเสียงตอบทันที

ค้นพบมือของตัวเอง

เมื่อปฏิกิริยาสะท้อนกลับของทารกในการกำวัตถุที่อยู่ในมือโดยอัตโนมัติเริ่มลดลง ลูกจะเริ่มสนใจกับมือ 2 ข้างของตัวเองที่แกเพิ่งค้นพบ และจะใช้มือทั้งสอง (รวมทั้งปาก) ในการสำรวจสิ่งของแปลกใหม่รอบๆ ตัว

ลูกน้อยวัย 3 เดือน

ลูกน้อยยกศีรษะขึ้นได้แล้ว

ลูกน้อยของคุณยืดตัวตรงได้เต็มที่แล้ว โดยสามารถยกศีรษะขึ้นในแนวเดียวกับลำตัว และเริ่มใช้แขนยันตัวขึ้นจากพื้น ลูกยังคงสนุกกับมือสองข้างของตัวเองและเริ่มเอื้อมคว้าสิ่งต่างๆ ใกล้มือ แม้ว่าบางครั้งจะยังไม่สามารถใช้มือจับสิ่งนั้นไว้ได้ก็ตามที

การให้นมทารก

ลูกน้อยของคุณอาจดูเหมือนหิวบ่อยขึ้น แต่อย่าเพิ่งเริ่มต้นหย่านมในช่วงนี้เพราะการที่ลูกหิวบ่อยขึ้นอาจเนื่องมาจากลูกเข้าสู่ช่วงโตเร็วอีกครั้ง นมยังคงเป็นอาหารหลักที่ให้สารอาหารที่จำเป็นทั้งหมดสำหรับลูกจนกว่าลูกจะอายุครบ 6 เดือน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คุณแม่สามารถเริ่มหย่านมได้

การสื่อสาร

ลูกน้อยเริ่มส่งเสียง “อืออา” เบาๆ เพื่อตอบรับเสียงที่ได้ยิน และอาจจะเริ่มออกเสียงพยัญชนะเช่น ป บ และ ม ซึ่งเป็นเสียงที่เกิดจากริมฝีปาก จึงไม่น่าแปลกใจที่ในเวลาต่อมา คำคำแรกที่ลูกพูดได้ก็คือคำว่า “แม่” และ “ป้อ” (พ่อ)

ลูกเริ่มพัฒนาประสาทสัมผัสต่างๆ มากขึ้น

เสียงดังอาจทำให้ลูกผวาตกใจหรือร้องไห้ แต่เสียงแม่ที่คุ้นเคยช่วยปลอบโยนลูกได้ภายในเวลาไม่นาน! ลูกน้อยเริ่มสนใจสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวและใช้ประสาทสัมผัสต่างๆ ในการสำรวจเรียนรู้โลก

กระตุ้นร่างกายและจิตใจของลูกน้อย

ในช่วงนี้เป็นเวลาเหมาะอย่างยิ่งที่คุณจะแขวนโมไบล์ไว้เหนือเปลลูกในระดับที่ลูกสามารถเอื้อมถึงได้พอดี สีสันอันสดใส เสียงรัวดัง และเสียงกรุ๋งกริ๋งจะช่วยกระตุ้นพัฒนาการของทารกวัย 3 เดือนได้เป็นอย่างดี ทารกจะเริ่มไขว่คว้าเพื่อจับโมไบล์ให้เคลื่อนไหวและส่งเสียง อันเป็นการช่วยพัฒนาการทำงานอย่างสัมพันธ์กันระหว่างตากับมือ

ลูกน้อยวัย 4-6 เดือน

การให้นมทารก

ในขั้นนี้ คุณอาจเริ่มคิดถึงการป้อนอาหารเสริมอื่นๆ ให้ลูกนอกเหนือจากการให้นม (ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ควรเริ่มให้อาหารเสริมเมื่อทารกอายุครบ 6 เดือน) ดังนั้น จึงถึงเวลาที่คุณควร เริ่มให้อาหารตามวัยสำหรับทารกและเด็กเล็กได้แล้ว การฝึกให้ลูกรับประทานอาหารเสริมในเวลานี้จะช่วยในการพัฒนากล้ามเนื้อในปากของทารก ซึ่งจำเป็นต่อการพูดในภายหลัง รวมทั้งทำให้ลูกได้รู้จักกับรสชาติอาหารแบบใหม่ๆ ด้วย นอกจากนี้ คุณแม่อาจคิดถึงการป้อนผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับทารกเมื่อลูกน้อยอายุ 6 เดือนขึ้นไป เพื่อเสริมมื้อนมที่จะเริ่มลดการให้ลงด้วย
ลูกน้อยจวนจะเริ่มไปโน่นมานี่ได้เองแล้ว

คุณแม่คงสังเกตเห็นว่าลูกสามารถควบคุมร่างกายช่วงบนได้ดีขึ้น และอาจจะสามารถนั่งได้เองโดยหน้าไม่คะมำ นอกจากนี้ คุณแม่ยังเห็นว่ากล้ามเนื้อมัดเล็กๆ บริเวณคอ ไหล่และหน้าอกก็พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

เมื่อลูกเริ่มซุกซนขึ้น การเปลี่ยนผ้าอ้อมจึงเป็นเรื่องยากขึ้นสักหน่อยเพราะทารกจะไม่

พัฒนาการของลูกน้อย

ลูกน้อยของคุณเกือบจะนั่งได้แล้ว

คุณแม่อาจรู้สึกเหมือนว่าเพิ่งออกจากโรงพยาบาลมาพร้อมกับลูกน้อยคนใหม่ในอ้อมแขนเมื่อวานนี้เอง แต่เพียงชั่วพริบตา คุณแม่ก็ได้เห็นพัฒนาการใหม่ๆ ที่น่าตื่นเต้นของลูกเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่หยุดหย่อน โดยเฉพาะช่วงแขน ลำตัวช่วงบนและคอของลูกจะแข็งแรงขึ้นมาก จนลูกเกือบจะสามารถลุกขึ้นนั่งได้เองแล้ว
ยอมอยู่นิ่งเฉยเลย คุณแม่อาจย้ายแผ่นรองพลาสติกสำหรับเปลี่ยนผ้าอ้อมลงมาที่พื้นแทน และไม่ควรปล่อยลูกน้อยทิ้งไว้ตามลำพังแม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ก็ตาม ควรจัดเวลาให้ลูกได้คลานเล่นที่พื้น ให้ลูกน้อยนอนคว่ำลงบนพื้นและกระตุ้นให้ลูกคลานไปคว้าของเล่นที่อยู่ห่างออกไปเกินเอื้อมถึงเพียงเล็กน้อย เพื่อเร้าความสนใจให้ลูกเริ่มคลานครั้งแรก ทั้งยังเป็นการฝึกกล้ามเนื้อของลูกด้วย

คว้าจับได้ดีขึ้นและมองเห็นสิ่งต่างๆ ชัดขึ้น

ทารกเริ่มเรียนรู้วิธีการใช้มือและนิ้วมือของตนเอง เริ่มจากการคว้าจับสิ่งที่ห้อยแขวนอยู่ ไปจนถึงการจับสิ่งของต่างๆ ด้วยมือทั้ง 2 ข้าง นับจากนี้ไปปฏิกิริยาสะท้อนกลับตามธรรมชาติของลูกจะเริ่มเปลี่ยนเป็นการเคลื่อนไหวมือและนิ้วมืออย่างสามารถควบคุมได้มากขึ้น ลูกจะเริ่มสำรวจสิ่งของด้วยการคว้าจับและเขย่า แทนที่จะทดลองนำเข้าปาก “ดูดชิม” เหมือนแต่ก่อน พัฒนาการที่น่าตื่นเต้นอีกอย่างหนึ่งก็คือ ลูกสามารถมองเห็นได้ไกลขึ้นและชัดเจนขึ้น ดังนั้นโลกนี้จึงเป็นสถานที่ที่น่าสนุกและมีสีสันมากขึ้นสำหรับเขา และหากคุณแม่ไว้ผมยาวหรือสวมแว่นตา ก็จะสังเกตเห็นว่าลูกน้อยเริ่มดึงผมหรือคว้าแว่นตาที่สวมอยู่ และเมื่อทารกอายุ 4 เดือนขึ้นไป เขาจะเริ่มมองเห็นได้ไกลถึงระดับนิ้วเท้าของตัวเอง ดังนั้น ลูกน้อยอาจจะพบเกมสนุกเกมใหม่ นั่นคือการดูดนิ้วเท้าตัวเอง ถ้าเขาทำได้
ช่วงเวลานี้ก็เป็นโอกาสอันดีที่คุณจะฝึกพัฒนาการของลูกด้วยการส่งเสริมให้ลูกหัดถือขวดนมด้วยตนเองโดยใช้มือทั้ง 2 ข้าง นี่จะเป็นบทเรียนบทหนึ่งที่สำคัญสำหรับลูก และช่วยให้คุณมีเวลาว่างเพิ่มขึ้นในการตระเตรียมอาหารสำหรับลูกและคนในครอบครัว

เริ่มหัดเปล่งเสียง

ช่วง 4 – 6 เดือนเป็นช่วงเวลาแสนวิเศษเพราะลูกน้อยจะเริ่มออกเสียงแบบต่างๆ จะมีเสียงโน้นเสียงนี้เกิดขึ้นตลอดเวลาที่หนูน้อยออกเสียงอืออาและเล่นเสียง ในบางครั้งคุณอาจเริ่มได้ยินเสียงเบาๆ คล้ายๆ คำว่า “แม่” หรือ “พ่อ” แต่คุณแม่คงต้องรอระยะหนึ่งกว่าลูกน้อยจะรู้จักเรียก “แม่” อย่างแท้จริง เพราะในเวลานี้ ลูกเพียงฝึกออกเสียงแบบต่างๆ เท่านั้น เสียงสวรรค์ที่คุณแม่ได้ยินเป็นครั้งแรกก็คือ เสียงหัวเราะเอิ๊กอ๊ากอย่างสนุกสนาน ลองเล่นจั๊กจี๋เบาๆ กับลูกดูสิ แม่กับลูกจะได้หัวเราะสนุกสนานร่วมกัน คุณแม่ควรพูดคุยกับลูกบ่อยๆ เพราะจะเป็นการฝึกพัฒนาการด้านการพูดของลูกได้เป็นอย่างดี

การเรียนรู้

มีหลายสิ่งที่คุณแม่สามารถช่วยให้ลูกน้อยเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ แม้ว่าลูกจะยังพูดโต้ตอบไม่ได้ แต่คุณแม่ควรพูดคุยกับลูกบ่อยๆ และส่งยิ้มให้ลูก จะช่วยให้ลูกพูดได้เร็วขึ้น เมื่อถึงมื้ออาหาร คุณแม่อาจจัดเตรียมข้าว ไข่หรือปลาและผักใส่จานพลาสติกสำหรับเด็ก และเปิดโอกาสให้ลูกได้รับประทานเองเพื่อฝึกการใช้มือและนิ้ว รับรองว่าลูกน้อยจะสนุกกับการรับประทานอาหารอย่างแน่นอน เวลาอาบน้ำจะยิ่งเป็นเวลาสนุกสนานมากขึ้นสำหรับลูกน้อย เพราะลูกจะได้เรียนรู้ว่าร่างกายที่เคลื่อนไหวอาจทำให้เกิดสิ่งต่างๆ ขึ้น เช่น การตีน้ำในอ่างดังจ๋อมแจ๋ม และคุณแม่อย่าลืมแขวนผ้าเช็ดตัวหรือผ้าอ้อมไว้ใกล้มือด้วย

ลูกน้อยวัย 7-9 เดือน

การให้นมทารก

ก่อนหน้านี้คุณแม่ได้เริ่มให้อาหารตามวัยสำหรับทารกและเด็กเล็กแบบค่อยเป็นค่อยไปและแนะนำอาหารอ่อนๆ รสจืดให้ลูกน้อยบ้างแล้ว คราวนี้ก็ถึงเวลาที่ลูกน้อยพร้อมจะทดลองอาหารใหม่ๆ ที่รสชาติเข้มข้นขึ้น อาหารบางอย่างอาจถูกปากลูกและทำให้ลูกอยากรับประทานมากกว่าแค่ลิ้มลองเล็กๆ น้อยๆ ทารกยังพร้อมสำหรับอาหารกึ่งเหลวบางอย่างเพื่อช่วยพัฒนาทักษะการบดเคี้ยว และคุณแม่อาจต้องการเสริมมื้อนมที่หย่าแล้ว ด้วยอาหารเสริมสำหรับทารก ในการสร้างอุปนิสัยที่ดีด้านการกินสำหรับลูก คุณแม่ควรจัดให้ลูกได้รับประทานอาหารเป็นเวลาโดยนั่งรับประทานอาหารที่เก้าอี้สูงสำหรับเด็กแบบมีที่รัดลำตัว คุณแม่สามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับอาหารตามวัยสำหรับทารกและเด็กเล็กที่นี่

นอกจากนี้ คุณแม่ควรเฝ้าสังเกตภาษาท่าทางของลูกน้อยไปพร้อมกันด้วย เช่น ลูกอาจต้องการบอกคุณแม่ว่าลูกอยากจะรับประทานอาหารนี้ด้วยตัวเองโดยใช้มือหยิบ ยิ่งไปกว่านั้น ช่วงนี้ยังเหมาะสำหรับการให้ผักหรือผลไม้ชิ้นพอเหมาะแก่เด็กสำหรับถือกินเล่น เพื่อเป็นการพัฒนากล้ามเนื้อที่ใช้ในการพูดของลูกด้วย พยายามอย่ากังวลว่าการให้เด็กรับประทานอาหารเองจะทำให้เลอะเทอะ เพราะประโยชน์ที่ได้ก็คือ ลูกจะสนุกกับการรับประทานอาหารและรับประทานได้มากขึ้น

ถึงเวลาเริ่มจัดบ้านให้ปลอดภัยสำหรับเด็ก

เมื่อลูกน้อยอายุครบ 7 เดือน ลูกมักค้นพบสิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ มากมายที่ทั้งน่าสนใจและน่าขว้างเล่น ลูกจะยิ่งซุกซนมากขึ้นและต้องการพื้นที่กว้างขึ้นเพื่อออกสำรวจและคลานเล่นไปรอบๆ นั่นหมายถึงคุณแม่ต้องทำงานหนักขึ้นด้วย เพราะต้องจัดบ้านให้ปลอดภัยเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่คาดไม่ถึง ในเวลานี้ ลูกกำลังเรียนรู้เรื่องการคลานและความหมายของคำว่า “อย่า” หรือคำว่า “ไม่”

เตรียมพร้อมสำหรับการเล่น

ถึงเวลานี้ ลูกน้อยของคุณอาจจะพร้อมในหลายๆ เรื่องแล้ว แต่หากลูกยังไม่สนใจจะคลานก็ไม่ต้องกังวลใจไป เพราะทารกบางคนอาจใช้วิธีการคืบแทนคลาน หรือบางทีก็คลานถอยหลังด้วยซ้ำ

คุณแม่ควรจัดบ้านให้เป็นสนามเด็กเล่นที่น่าสนใจด้วยการนำเบาะมากองซ้อนกันให้ลูกคลานข้ามหรือสลับเบาะไปทางโน้นทีทางนี้ทีเพื่อส่งเสริมให้ลูกได้เรียนรู้ด้วยการสำรวจและฝึกกล้ามเนื้อมัดใหญ่ของลูกไปพร้อมกัน

ถึงเวลานี้เท้าของลูกเริ่มรับน้ำหนักได้มากขึ้น และทารกอาจกระโดดขึ้นลงอย่างสนุกสนานบนตักของคุณ นั่นก็เพราะการทำงานของประสาทส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวหรือ “ทักษะกล้ามเนื้อ” นั่นเอง ในวัยนี้ ลูกได้พัฒนาการควบคุมกล้ามเนื้อคอ ไหล่ หน้าอก และหลังส่วนล่างได้เป็นอย่างดีแล้ว ดังนั้นจึงถึงเวลาการพัฒนาร่างกายส่วนล่าง รวมถึงมือและเท้าทั้ง 2 ของเขา

ร่างกายส่วนบนของเด็กในวัยนี้แข็งแรงพอที่จะนั่งได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องมีใครคอยพยุง ดังนั้น จึงเป็นโอกาสเหมาะที่จะให้ลูกนั่งบนเก้าอี้สูงเพื่อรับประทานอาหารร่วมโต๊ะกับคนอื่นๆ ในครอบครัว

การทำงานประสานกันของกล้ามเนื้อและการรับรู้

หากในช่วงนี้ ลูกน้อยเริ่มโยนหรือขว้างสิ่งของซ้ำๆ คุณแม่อย่าเพิ่งโกรธหรือกังวลใจไป นั่นเป็นเพราะทารกในวัยนี้กำลังเรียนรู้วิธีปล่อยสิ่งของออกจากมืออย่างจงใจ และสนุกกับการฝึกฝนทักษะที่ค้นพบใหม่นี้

ในช่วงเวลานี้ลูกอาจเริ่มรู้สึกกลัวการพรากจากแม่ โดยจะแสดงความกลัวและพยายามเกาะติดเมื่อแม่จะจากไปไหน แม้ว่าจะเป็นเวลาเพียงชั่วเดี๋ยวเดียวก็ตาม
การทำอะไรซ้ำๆ อย่างสม่ำเสมอตามกิจวัตรประจำวันที่วางไว้จะช่วยลดความกลัวของลูกลงได้ หลังจากลูกตื่นนอน คุณแม่อาจให้นมขวดหรือจัดอาหารว่างให้ก็ได้โดยขอให้ทำอย่างนั้นเหมือนกันทุกๆ วัน ซึ่งจะช่วยให้ลูกสามารถคาดหมายสิ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นลำดับในแต่ละวัน และช่วยให้ลูกรู้สึกมั่นคงปลอดภัยด้วย

การเล่นซ่อนหาก็เป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยลดความกลัวการจากพรากลงได้ คุณแม่คงเห็นด้วยว่าเด็กเล็กๆ มักไม่เคยเบื่อหน่ายกับการเล่นเกมปิดตาจ๊ะเอ๋เลย คุณแม่อาจแกล้งนำตุ๊กตาตัวโปรดของลูกไปซ่อน และชวนลูกไปหาให้พบ

การเล่นเสียงและคำพูดที่มีความหมาย

ลูกน้อยของคุณเริ่มแสดงบุคลิกภาพเฉพาะตัวเล็กๆ น้อยๆ ออกมาบ้างแล้ว เริ่มจากการจดจำชื่อของตัวเองได้ โดยถ้าคุณเรียกชื่อเขา เขาก็จะหันมาหาทันที ถึงแม้ว่าลูกจะยังพูดไม่ได้ แต่การออกเสียงของเขาก็เริ่มฟังดูคล้ายๆ คำที่มีความหมาย มากขึ้น และลูกมักจะชอบออกเสียงคำที่พูดได้ค่อนข้างชัด

ในเวลานี้ลูกอาจเรียก “แม่” หรือ “ป้อ” ได้ ซึ่งก็หมายถึงคุณแม่หรือคุณพ่อนั่นเอง แต่บางครั้งลูกอาจเรียกสลับกันบ้าง โดยเขาจะไม่รีรอที่จะแสดงความเห็นของตัวเองเมื่อมีโอกาส ไม่ว่าจะโดยการส่งเสียง การหัวเราะ ส่งเสียงคัดค้าน หรือกรีดร้องดังๆ ก็ตาม ตอนนี้ ลูกเริ่มเข้าใจความหมายของคำว่า “อย่า” แล้ว ถึงแม้ว่าบางครั้งจะไม่ยอมเชื่อฟังคำสั่งก็ตาม

การเรียนรู้

ถ้าคุณแม่ชอบอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ถึงเวลานี้ลูกจะเริ่มหันมาสนใจมากขึ้น โดยพยายามพลิกหน้าหนังสือหรือฟังคุณอ่านออกเสียงอย่างตั้งใจ และชอบดูรูปภาพที่มีสีสันในหนังสือ แต่ทารกจะยังไม่สามารถเชื่อมโยงภาพที่เห็นกับคำอ่านของคุณได้ในเวลานี้ คงต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง หนังสือภาพสัตว์นับเป็นการเริ่มต้นที่ดี เพราะกระตุ้นความสนใจของลูกและทำให้ลูกได้เรียนรู้เสียงแปลกๆ ใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้น

สภาพแวดล้อมตามธรรมชาติทั้งภายในและภายนอกบ้านเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นสำหรับเด็กในช่วงเวลานี้ การให้ลูกคลานเล่นที่พื้น หรือคุณแม่เปิดและปิดประตู หรือเปิดหน้าต่างและชี้ชวนให้ลูกดูสิ่งต่างๆ พร้อมกับเรียกชื่อของของสิ่งนั้นไปด้วย จะช่วยส่งเสริมธรรมชาติความต้องการเรียนรู้ของเด็ก

ลูกน้อยวัย 10-11 เดิอน

การให้นมลูกน้อย

ในเวลานี้ลูกของคุณจะไม่ยอมอยู่นิ่งเฉยและจะสนใจใคร่รู้ไปเสียทุกอย่าง ความต้องการด้านอาหารของลูกจึงเปลี่ยนแปลงไป เพราะต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษเพื่อทำสิ่งต่างๆ ในแต่ละวัน อย่างไรก็ตาม กระเพาะอาหารของเด็กนั้นยังเล็ก พวกเขาจึงจำเป็นต้องรับประทานอาหารที่ได้คุณค่าและพลังงานครบถ้วนเป็นมื้อย่อยๆ แต่บ่อยครั้ง ความพร้อมในการรับประทานอาหารแบบผู้ใหญ่นั้น ไม่ได้หมายถึงการทานอาหารที่คล้ายกับของผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงวิธีการรับประทานอาหารด้วย ดังนั้น แม้ว่าลูกน้อยจะเลอะเปรอะเปื้อนไปบ้าง คุณแม่ก็ควรส่งเสริมให้ลูกรับประทานอาหารเองในแต่ละมื้อ และควรให้ลูกดื่มน้ำเองจากแก้ว ให้เขาถือผักหรือผลไม้สำหรับแทะกินเล่น หรือหัดใช้ช้อนตักรับประทานอาหาร สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นแนวทางที่ดีในการส่งเสริมพัฒนาการด้านการกินของลูก และจะทำให้ลูกเริ่มเกิดความภูมิใจในสิ่งที่ตนทำและช่วยสร้างความมั่นใจให้กับลูกได้มากขึ้น

พัฒนาการของลูกน้อย

ก้าวแรกและคำแรก

ในไม่ช้า ลูกน้อยของคุณก็จะพูดคำแรกที่มีความหมายได้ และเริ่มเดินก้าวแรกได้แล้ว แม้ว่าจะยังไม่มั่นคงนักและต้องให้คุณแม่หรือคุณพ่อช่วยพยุงหรือจูงมือ แต่พัฒนาการจากเด็กทารกที่เคยคลานไปไหนมาไหน มาเป็นเด็กน้อยวัยเตาะแตะที่เริ่มเดินได้และพูดได้นั้นเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์อย่างมาก ดูเม็กซ์ขอแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่วางกล้องถ่ายรูปไว้ใกล้ๆ มือ ก้าวแรกของลูกน้อยนั้นควรค่าแก่การบันทึกเก็บไว้และมักจะเกิดขึ้นในนาทีที่เราไม่คาดฝัน

ยืนได้ด้วยสองขาของตัวเอง

ความพยายามในการคลานของลูกในช่วง 2 – 3 เดือนที่ผ่านมา จะช่วยฝึกกล้ามเนื้อขาของหนูน้อยให้แข็งแรงขึ้นอย่างมาก เมื่อถึงตอนนี้ลูกจะพยายามลุกขึ้นยืนเมื่อมีคนช่วยพยุงสักเล็กน้อย ลูกอาจจะก้าวเดินก้าวแรกในขณะที่จับมือคุณหรือยึดเกาะเก้าอี้หรือกำแพงเอาไว้ แต่หากลูกของคุณยังไม่เริ่มหัดเดิน ก็อย่ากังวลใจไปเลย เด็กแต่ละคนจะมีพัฒนาการในเรื่องนี้แตกต่างกันตามจังหวะของตน ถึงแม้ลูกจะหกล้มบ้าง แต่นั่นก็ไม่ได้หยุดยั้งความพยายามของนักสำรวจน้อยคนนี้เลย ลูกจะยังคงเดินเตาะแตะไปทั่วบ้านพลางยึดเกาะสิ่งนั้นสิ่งนี้หรือคนนั้นคนนี้ที่อยู่ใกล้มือคว้า

ควบคุมได้ดีขึ้นและกล้ามเนื้อทำงานประสานกันมากขึ้น

ในเวลานี้ ลูกน้อยของคุณจะควบคุมมือและนิ้วมือได้ดีขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ลูกหันมาชอบเล่นเอาสิ่งของใส่กล่องแล้วเทออก จากนั้นก็หยิบมาใส่ใหม่ ทำอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นชั่วโมงๆ นอกจากนี้ ลูกยังสนใจการกระทำที่ “เป็นเหตุเป็นผลต่อกัน” ด้วย เช่น ล้อหมุนทำให้ของเล่นเคลื่อนที่ไป การทำงานประสานกันระหว่างมือกับตาของเด็กในวัยนี้ก็ดีขึ้นมาก ลูกอาจจะจับช้อนได้มั่นคงขึ้นและสนุกกับการตักอาหารเข้าปากด้วยตัวเอง แต่คงต้องเลอะเทอะเช่นนี้ไปอีกหลายเดือน ก็ขอให้คุณแม่ทำใจ เพียงแค่เตรียมผ้าเช็ดทำความสะอาดไว้ใกล้มือก็พอ

พูดคำแรกได้แล้ว

สิ่งที่น่าตื่นเต้นที่สุดในช่วงเวลานี้ก็คือ คำแรก “ที่มีความหมาย” ของลูก ซึ่งอาจจะไม่ใช่คำที่คุณคาดหวังไว้ หรือ “ฝึก” ให้ลูกพูดมาโดยตลอดก็ได้… บางทีคุณแม่อาจจะได้ยินลูกพูดคำเหล่านี้แล้ว เพียงแต่ครั้งนี้ หนูน้อยจะเริ่มเชื่อมโยงถ้อยคำกับวัตถุหรือคน และเอ่ยคำคำนั้นออกมาอย่างตรงตามความหมาย อย่างเช่น ลูกอาจจะร้องเรียก “แม่” และ “ป้อ” หรือพูดว่า “หม่ำ” เมื่อจะรับประทานอาหาร และเรียกแมวว่า “เหมียว”

การเรียนรู้

ลูกน้อยของคุณกำลังสนุกและหลงใหลความเป็นอิสระในการไปโน่นมานี่ด้วยสองขาของตัวเอง แต่ยังต้องอาศัยเฟอร์นิเจอร์และของอื่นๆ ในการเกาะพยุงตัว ลูกจะขาดความมั่นใจหากต้องเดินไปในบริเวณพื้นที่ว่างโล่งและไม่มีอะไรให้ยึดเกาะ เมื่อลูกน้อยของคุณสามารถยืนได้มั่นคงแล้ว คุณแม่อาจกระตุ้นให้ลูกก้าวเดินสั้นๆ โดยถอยห่างจากลูกเพียงเล็กน้อย อ้าแขนรอรับและเรียกลูกให้มาหา ลูกจะได้มีแรงจูงใจที่จะฝึกเดิน อย่าลืมชมเชยให้กำลังใจลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าลูกเดินมาสู่อ้อมแขนของคุณแม่ได้โดยไม่ล้ม

Source ขอขอบคุณ: //www.dumex.co.th/my_baby/Development_calendar/article/10-11_month_old_baby

Short URL: //kid.plearnkid.com/?p=283




Create Date : 17 กรกฎาคม 2555
Last Update : 17 กรกฎาคม 2555 11:19:16 น. 0 comments
Counter : 1624 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ลูกน้ำกว๊าน
Location :
พะเยา Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ยินดีต้อนรับทุกท่าน นะคะ




อยากมีและอยากรู้จัก เพื่อนที่มีที่มาต่างกัน และอยากร่วมแชร์ ประสบการณ์ให้คนอื่น ได้รับรู้บ้าง เพื่อนๆชาว บลอคแกงค์เป็นอะไรที่ ใช่เลย ที่คอยอยู่ด้วยกัน ตลอดเวลา พอเรา เปิดดูครั้งใดก็จะมีคน นั่งเขียนบลอก นั่งอยู่ที่ หน้าจอ คอยเป็นเพื่อน กันเสมอ รัก ทุกคนใน บลอกแกงค์ ค่ะ
: Users Online
Friends' blogs
[Add ลูกน้ำกว๊าน's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.