“กุญแจเปิดประตูสู่ธาตุรู้” โดย. เฟชบุ๊ค สุนทร กองทรัพย์






“กุญแจเปิดประตูสู่ธาตุรู้”

หลักธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยกย่องให้เป็นทางสายเอกที่จะนำไปสู่การบรรลุธรรมคือ มหาสติปัฏฐานสี่ อันประกอบด้วย กาย เวทนา จิต และธรรม บทความนี้นำเสนอถึงคุณประโยชน์และวิธีการฝึกมหาสติปัฏฐานสี่ มีใจความสำคัญ ดังต่อไปนี้

คุณประโยชน์ของการฝึกมหาสติปัฏฐานสี่ ได้แก่

1. หยุดความทุกข์ได้โดยฉับพลัน
สาเหตุหลักของความทุกข์คือ การที่จิตไปเกาะอยู่กับความคิดส่งผลให้เราคิดวกไปวนมาจนหยุดไม่ได้ การฝึกมหาสติปัฏฐานสี่นั้นเป็นวิธีดึงจิตออกจากความคิด จิตจะไปเกาะที่ร่างกายและสภาวะของจิตใจหรือที่เรียกว่า การส่องใน

2. มีปัญญาและสมาธิที่เข้มแข็งขึ้น
เมื่อเราส่องในเพื่อมองดูอารมณ์และสภาวะจิตที่กำลังปรากฎขึ้น เราจะเกิดปัญญาอย่างแจ่มแจ้งว่า ธรรมชาติของจิตนั้นยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ห้าอย่างเหนียวแน่น ขันธ์ห้าประกอบด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ “รูป” คือ ภาพที่เราเห็นทางตา เสียงที่เราได้ยินทางหู กลิ่นที่เราได้ดมทางจมูก รสชาติที่เราได้รับทางลิ้น และสัมผัสที่เราได้รับทางร่างกาย เมื่อมีการกระทบทางอายาตนะทั้งห้าจิตจะเกิดการปรุงแต่งยึดมั่นถือมั่นเกิดเป็นอารมณ์ชอบ ไม่ชอบ หรือเฉย ๆ ทันทีเรียกว่า เกิด “เวทนา” ทางจิต นอกจากนั้น เมื่อเกิดการกระทบจิตจะปรุงแต่งเป็นความคิดขึ้นมาเรียกว่า “สังขาร” หรือเกิดการเปรียบเทียบกับความคิดและประสบการณ์ในอดีตเรียกว่า “สัญญา” การรับรู้และการตีความเมื่อเกิดการกระทบดังกล่าวทั้งหมดนี้เราเรียกว่า “วิญญาณ"

การส่องในจะช่วยให้เราเข้าใจหลักไตรลักษณ์มากยิ่งขึ้น ไตรลักษณ์ประกอบด้วย
(1) อนิจจัง ความไม่เที่ยง
(2) ทุกขัง ความไม่สบายกายไม่สบายใจ และ
(3) อนัตตา ความไม่มีตัวตนและไม่สามารถบังคับได้

เมื่อเราส่องในเราจะเห็นความไม่เที่ยงของการเกิดดับและเปลี่ยนแปลงของความคิด อารมณ์ และสภาวะจิตซึ่งเราไม่สามารถบังคับได้ ถ้าเป็นอารมณ์ที่ดีเราจะรู้สึกพอใจ ในทางกลับกัน ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่น่าพึงพอใจเราก็จะเป็นทุกข์ เมื่อใดก็ตามที่เราขาดสติไม่รู้เนื้อไม่รู้ตัวและพยายามจะฝืนกฎธรรมชาติเหล่านี้ เราก็จะมีความทุกข์ เมื่อส่องในอย่างต่อเนื่องและเป็นประจำ จิตจึงจะเข้าใจกฎธรรมชาติและจะเริ่มปล่อยวางขันธ์ห้า จิตจะเบาสบาย เมื่อนั้นเราจึงจะสามารถใช้กำลังจิตคิดในสิ่งที่มีประโยชน์ได้อย่างแท้จริง ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถบังคับโลกได้ แต่เราสามารถสร้างเหตุปัจจัยเพิ่มเติมเพื่อทำให้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเป็นไปตามที่ใจเราต้องการได้

นอกจากนั้น การฝึกมหาสติปัฏฐานสี่จะช่วยให้เรามีกำลังสมาธิที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นเพราะในขณะที่เราสวดมนต์หรือทำสมาธินั้น เราจำเป็นจะต้องมีความรู้เนื้อรู้ตัวหรือมีสติ มิฉะนั้น เราจะคงสมาธิไว้ไม่ได้ กล่าวคือถ้าใจเราลอยไปโดยที่เราไม่รู้ตัว เราจะไม่สามารถดึงจิตให้กลับมาจดจ่อกับการสวดมนต์หรือการทำสมาธิได้ สมาธิก็ย่อมไม่เกิด

3. อยู่กับปัจจุบันได้อย่างแท้จริง
เมื่อเรารู้เนื้อรู้ตัวว่ากำลังทำอะไร กำลังคิดอะไร และกำลังรู้สึกอย่างไร จะถือได้ว่าเราอยู่กับปัจจุบันอย่างแท้จริง ในทางกลับกัน ถ้าเมื่อใดที่เราไม่สามารถบอกได้ว่าขณะนี้เรากำลังอยู่ในอิริยาบถใดและกำลังรู้สึกอย่างไรแสดงว่าจิตได้จมเข้าไปในวังวนของความคิดเรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ การมีสติรู้เท่าทันความคิดในปัจจุบันยังเป็นเครื่องมือช่วยอบรมจิตให้คิดในแง่บวกตามหลักมรรคแปดคือสัมมาวายามะอีกด้วย กล่าวคือเมื่อมีความคิดทางลบใดผุดขึ้นมาให้ตัดทิ้งเสียโดยเร็วที่สุด เมื่ออยู่ว่าง ๆ อย่าไปคิดถึงเรื่องในทางลบ และให้สร้างความคิดในแง่ดีขึ้นมาทดแทนหรือคิดในทางตรงข้าม และให้หมั่นคิดในแง่ดีบ่อยครั้งมากขึ้น ในทางกลับกัน การจดจ่ออยู่กับการพยายามขจัดความคิดที่ไม่ดีและสร้างความคิดในแง่ดีทดแทนนั้นจะช่วยให้จิตอยู่กับปัจจุบันได้อย่างต่อเนื่องและชัดเจนมากยิ่งขึ้น

4. เจริญสติมาก ๆ มีแต่คุณไม่มีโทษ
การฝึกสมาธิอย่างเดียวโดยไม่มีสติกำกับจะเป็นการเปิดประตูให้ความคิดทั้งหลายที่เต็มไปด้วยกิเลส ตัณหา อุปาทาน ความโลภ ความโกรธ ความหลง และความเป็นตัวกูของกูแสดงฤทธิ์เดชออกมา คำพูด กิริยา และวาจาจะเต็มไปด้วยการเปรียบเทียบตัวเขาเราท่านซึ่งนำไปสู่การก่ออกุศลกรรมได้โดยง่าย การฝึกสมาธินั้นจำเป็นจะต้องมีครูบาอาจารย์ที่เก่งและปฏิบัติดีปฏิบัติชอบคอยสั่งสอนอยู่ตลอดเวลาและการฝึกสมาธินั้นสามารถทำได้ในชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่การฝึกสตินั้นเราสามารถฝึกได้ด้วยตนเองในทุกเวลาและทุกสถานที่ การฝึกสมาธิโดยปราศจากปัญญาหรือธรรมะจะทำให้ผู้ปฏิบัติยึดติดกับความสงบจนไม่อยากจะทำอะไร เกียจคร้าน อยากอยู่นิ่ง ๆ เมื่อไม่ได้ดั่งใจก็จะแสดงอารมณ์อันเกรี้ยวกราดรุนแรงออกมา อย่างไรก็ตาม กำลังสตินั้นจะเข้มแข็งขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีพลังสมาธิในระดับหนึ่งเป็นพลังเกื้อหนุนและมีปัญญาหรือความคิดที่ถูกต้องเพื่อใช้กำจัดอกุศลจิตออกไปจากใจ การกำหนดสติรู้เท่าทันความคิดและอารมณ์ทั้งหลายเพียงอย่างเดียวโดยไม่พยายามลดละวางอกุศลจิตต่าง ๆ เช่น ความอิจฉาริษยา ลงเสียบ้าง สติก็เป็นเพียงตัวตั้งรับและจะไม่กล้าแข็งขึ้นเท่าที่ควร หรือถ้าโชคไม่ดีสติตามไม่ทันเราอาจจะเผลอก่ออกุศลกรรมได้โดยที่เราไม่รู้ตัว

5. เป็นการสร้างบุญกุศลอันยิ่งใหญ่
สติเป็นพื้นฐานของบุญทั้งหลายเพราะสติเป็นตัวกระตุ้นให้จิตทำงาน และตัวจิตหรือพลังแห่งความรู้สึกนั้นเองที่เป็นพลังแห่งกุศลอันยิ่งใหญ่ ฉะนั้น การฝึกสติในแนวทางที่ถูกต้องจึงเป็นหนทางนำไปสู่การสร้างบุญกุศลได้อย่างดีเยี่ยม

วิธีปฏิบัติมหาสติปัฏฐานสี่

วัตถุประสงค์ของการปฏิบัติคือ การดึงจิตออกจากความคิดเพื่อให้จิตผู้รู้เบ่งบานออกมา จิตจะมีปัญญาเองตามสภาวะธรรมชาติ จะรู้เหตุรู้ผลรู้ตนรู้ประมาณรู้เวลารู้สถานที่และรู้บุคคล การปฏิบัติมหาสติปัฏฐานสี่จะต้องทำพร้อมกันทั้งสี่ฐาน ซึ่งมีวิธีปฏิบัติดังต่อไปนี้

1) ฐานกาย
การฝึกฐานกายคือ การเอาจิตไปเกาะอยู่ที่ร่างกายซึ่งทำได้หลายวิธีเช่น การเดินจงกรม การเอาจิตไปจดจ่ออยู่กับลมหายใจเข้าออกโดยมีหลักของมหาสติปัฏฐานสี่เป็นพื้นฐาน (การทำอาณาปาณสติ 16 ขั้น) การสำรวมกายวาจาใจให้มีความสุภาพเรียบร้อยอ่อนน้อมถ่อมตน และการรู้เนื้อรู้ตัวในทุกอิริยาบถ มองต้องเห็น ฟังต้องได้ยิน สัมผัสต้องรู้สึก ลิ้มรสต้องรู้สึกถึงรสชาติเปรี้ยวหวานมันเค็ม ดมต้องได้กลิ่น เมื่อพูดก็ต้องรู้ว่าพูดอะไร พูดไปเพื่ออะไร มีโทนเสียงเป็นอย่างไร และมีความดังระดับไหน เป็นต้น การกระทำเช่นนี้จะทำให้ “วิญญาณ” ทำงานซึ่งเป็นการสร้างสติเพื่อกระตุ้นจิตให้ทำงาน

2) ฐานเวทนา
การฝึกฐานเวทนาคือ การรู้เท่าทันอารมณ์สุข ทุกข์ และเฉย ๆ หรือเรียกว่า “การส่องใน” ซึ่งจะมีประโยชน์มากมายคือ (1) ป้องกันจิตไม่ให้ยึดติดกับขันธ์ห้าเพราะเวทนาหรืออารมณ์นั้นจะเป็นตัวตรวจจับความผิดปกติที่เกิดขึ้นในจิตใจเช่น เมื่อมองเห็นคนที่เราเกลียด จิตจะกระเพื่อม ร้อนรน และอึดอัดด้วยความโกรธ พอรู้เท่าทันจิตก็จะปล่อยวางเอง การยึดมั่นถือมั่นก็จะลดน้อยลง (2) การรู้เท่าทันอารมณ์จะช่วยให้เราก่ออกุศลกรรมน้อยลงเพราะการรู้สึกถึงความทุกข์ที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริงจะทำให้เราไม่กล้าทำสิ่งนั้นกับผู้อื่น (3) มีความเพียรในการฝึกสติมากยิ่งขึ้นเพราะเรารู้ว่า ความทุกข์อันเกิดจากการยึดมั่นถือมั่นในความคิดนั้นมันทุกข์ทรมานขนาดไหน เราจึงอยากจะออกจากกองทุกข์โดยการฝึกสติเพื่อดึงจิตออกจากความคิดนั่นเอง (4) ทำให้เราดึงเอาหลักธรรมมาพิจารณาตามได้เช่น เมื่อเราเห็นการเกิดดับของอารมณ์ เราจะตระหนักถึงกฎไตรลักษณ์ได้อย่างชัดเจน (5) การรู้เท่าทันฐานเวทนาจะเป็นอนุสติเตือนเราว่า ขณะนี้จิตกำลังตกอยู่ในวังวนของความคิดหรือไม่ เพราะเมื่อใดที่เราไม่รู้ว่า เรากำลังรู้สึกอย่างไรแสดงว่าเราได้ “ส่องนอก” ไปเรียบร้อยแล้ว

3) ฐานจิต
การฝึกฐานจิตคือ การมองดูภาพรวมของจิตในขณะหนึ่ง ๆ เช่น ในขณะนี้จิตมีความตั้งมั่นหรือง่อนแง่น เข้มแข็ง ชัดเจนหรือมืดมัว มีหรือไม่มีราคะเข้าครอบงำ เป็นต้น เมื่อมองเห็นสภาพของจิตโดยรวมแล้วให้เราสังเกตว่า สถานการณ์ใดที่ส่งผลให้สภาวะจิตง่อนแง่นและเศร้าหมอง และสถานการณ์ใดที่ทำให้จิตใจเข้มแข็ง ตั้งมั่น และเป็นกลาง

4) ฐานธรรม
การฝึกฐานธรรมคือ การนำหลักธรรมมาพิจารณาเช่น กฎไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อเรามองเห็นกฎธรรมชาติที่ว่า ไม่มีสิ่งใดเที่ยงแท้ถาวรและเราไม่สามารถบังคับมันได้ ถ้าเรายึดมั่นถือมั่นและพยายามจะฝืนกฎธรรมชาติเราก็จะเป็นทุกข์ เป็นต้น เมื่อพิจารณาฐานธรรมแล้วให้เราสอนจิตให้มองสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็นเพียงสิ่งสมมติเพื่อป้องกันการกระตุ้นความคิดที่เคยชินกับการยึดมั่นถือมั่นให้ทำงานขึ้นมาอีก เมื่อเราฝึกความรู้เนื้อรู้ตัว รู้เท่าทันสภาวะจิตและความรู้สึก ทำใจสบาย ๆ และพิจารณาข้อธรรมตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้นอย่างเป็นประจำและต่อเนื่องจิตจะเริ่มทำงาน เมื่อนั้นเราจะอยู่ในโลกสมมติได้อย่างมีความสุข เราจะมีปัญญารู้ได้เองว่า เราจะต้องสร้างเหตุและปัจจัยใดเพิ่มเติมเพื่อชีวิตที่รุ่งเรืองและเจริญก้าวหน้าทั้งทางโลกและทางธรรม

ที่มา. เฟชบุ๊ค สุนทร กองทรัพย์





 

Create Date : 25 มีนาคม 2554
2 comments
Last Update : 25 มีนาคม 2554 11:15:00 น.
Counter : 1251 Pageviews.

 

อนุโมทนาสาธุครับ

 

โดย: shadee829 25 มีนาคม 2554 13:56:36 น.  

 

อนุโมทนาสาธุ ที่นำบทความดีๆมาให้อ่าน
ขออนุญาตส่งต่อให้ผู้อื่นค่ะ

 

โดย: เรา IP: 118.173.76.219 25 มีนาคม 2554 16:58:31 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


น้ำหวานจ้า
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 18 คน [?]




Color Codes ป้ามด
AmazingCounters.com
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2554
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
25 มีนาคม 2554
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add น้ำหวานจ้า's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.