มกราคม 2554
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
4 มกราคม 2554
 

เวียดนามเหนือ (ฮานอย ซาปา ฮาลองเบย์ ตามก๊อก เจดีย์หอม) ตอนที่ 4

อำลาอาลัยซาปา


สัมผัสชีวิตชาวม้งที่ Cat Cat


เช้าวันนี้เราตั้งใจจะไปสำรวจหมู่บ้านแมวเหมียว ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองซาปาเพียงแค่ 3 กิโลเมตรเท่านั้น นักท่องเที่ยวกระเป๋าเบาส่วนใหญ่จะใช้วิธีเดินเท้าไปที่หมู่บ้านแห่งนี้ โดยใช้เส้นทางของตลาดซาปาเป็นจุดเริ่มต้นหรือจะใช้เส้นทางของถนน Phan Xi Pang ก็ได้ เพราะยังไงก็ไปบรรจบกันก่อนที่จะถึงโรงแรม Cat Cat เสียอีก แต่เราเลือกที่จะใช้เส้นทางของตลาดซาปาเพราะตั้งใจว่าจะไปเดินดูตลาดหาของกินเป็นอาหารมื้อเช้าก่อน
 


“คนน้อยเนอะ” น้องพิมพูดขึ้น
 


“ใช่ น้อยกว่าวันแรกที่เรามาเยอะเลย” ผมเสริม (วันแรกที่เรามาถึงซาปาคือวันเสาร์)


“หรือว่าเป็นเพราะ Sapa love market หรือเปล่านะ” ผมตั้งข้อสังเกต พร้อมกับเล่าให้น้องพิมฟังว่า Sapa love market นั้นเริ่มจากที่ชาวเขาโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวเย้าแดงลงมาที่ตลาดในวันเสาร์ พวกสาวๆ จะพยายามซ่อนตัวในเงามืดพร้อมกับร้องเพลงรักเพื่อให้เป็นที่เตะตาต้องหูของหนุ่มๆ และพวกหนุ่มเองก็จะพยายามเสาะแสวงหาไปยังต้นเสียงเหล่านั้น เมื่อหาพบแล้วก็จะพากันเข้าไปในป่าเป็นเวลา 3 วัน หากทั้งคู่ตกลงปลงใจกันได้ก็จะแต่งงานกัน แต่บางคนก็จะไปที่ตลาดเพื่อไปหาคู่รักคนเก่าซึ่งแม้ว่าพวกเขาจะรักกันแต่ไม่สามารถแต่งงานกันได้ด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม


“น่าจะเป็นเพราะเหตุนี้แหละมั้งที่เราเห็นชาวเขาและนักท่องเที่ยวมากันมากมายในวันเสาร์” หลังจากฟังเรื่องตลาดแห่งรักแล้วน้องพิมก็เห็นด้วยกับข้อสังเกตของผม ดังนั้นหากจะให้แนะนำสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะมาซาปาสัก 3 วันนั้นคงจะต้องมาถึงซาปาตั้งแต่วันศุกร์แล้วไปเที่ยวตามหมู่บ้านต่างๆและในวันเสาร์ตอนกลางวันค่อยเที่ยวในเมืองซาปาจะได้เห็นอะไรที่คึกคักและมีสีสันที่สุดในรอบสัปดาห์ แล้วรอจนกระทั่งกลางคืนอาจจะได้เห็นกิจกรรมเหล่านี้ (แต่ในปัจจุบันแทบจะไม่มีตลาดแห่งรักของจริงแล้ว แต่จะเป็นเพื่อการท่องเที่ยวเสียมากกว่า) และให้ ไปตลาดบั๊กห่าในวันอาทิตย์แล้วค่อยกลับฮานอยในตอนเย็นวันนั้น ตามโปรแกรมที่เสนอมานี้น่าจะเหมาะสมที่สุดแล้ว


และแล้วเราก็เดินมาถึงทางเข้าของตลาดซาปา ผมเหลือบไปเห็นพ่อค้าขายแบ๋งหมี่อยู่ใกล้ๆ จึงชวนน้องพิมว่าลองไปถามราคากันดูดีกว่า หากราคาไม่แพงจะได้ซื้อมากินเป็นอาหารเช้า



 


“ราคาเท่าไรครับ แบ๋งหมี่” ผมถามพ่อค้า
 


“5000 ดอง” คนขายตอบด้วยสีหน้าเฉยเมย ผมหันไปปรึกษากับน้องพิม พร้อมคุยกันว่าเมื่อคืนที่เราซื้อแบ๋งหมี่จากแม่ค้าที่หน้าโบสถ์คริสต์นั้นแพงกว่าจริงๆ
 


“งั้นเอา 2 อันครับ” ผมบอกพร้อมกับยื่นเงินให้


อิ่มแบบเบาๆ แล้วเราก็เดินทะลุตลาดซาปาไปตามทางเรื่อยๆ เมื่อสุดเขตของตลาด ก็จะมาบรรจบกับถนน Phan Xi Pang แล้วสักพักก็จะเจอกับป้ายบอกทางเป็นภาษาอังกฤษ เราจึงมั่นใจว่ามาถูกทางแล้ว


“ต้องเดินอีก 3 กิโลเมตรนะ” ผมบอกน้องพิมให้เตรียมใจ
 


“สบายอยู่แล้วหล่ะ” น้องพิมตอบ
 


“ที่ถามเพราะว่าหากไม่อยากเหนื่อยก็นั่งมอเตอร์ไซค์ก็ได้นะ เพราะมีวินมอเตอร์ไซค์อยู่ท้ายตลาดนั่นแหละ สนนราคาก็ไป-กลับประมาณ 2 ดอลล่าห์ แต่ว่าไม่ได้พาไปทั่วนะ เค้าจะไปส่งที่ทางเข้าเท่านั้นแล้วเราก็ต้องเดินเข้าไปในหมู่บ้านเอง แล้วรถก็จะรอรับที่ทางออกซึ่งเป็นอีกทางหนึ่ง”
 


“ไม่เอาหรอก เดินแค่นี้เอง อีกอย่างเราก็เที่ยวกันแบบสบายๆ อยู่แล้วไม่ได้รีบเท่าไรนี่ หรือพี่จะทำแต้มแบบไปเหยียบ 1 ก้าวแล้วกลับเมืองไทย
ไปบอกคนอื่นๆ ว่าเรามาเที่ยวแล้ว เหมือนบางคนทำ” น้องพิมแอบแซว 


“แหม...มีแซวนะ” ผมยิ้มถูกอกถูกใจกับคำแซวนี้



“เอาน่า...ก็เรามันพวกต้วมเตี้ยมเดินช้านี่นา จะให้ ไปหลายๆ ที่ในวันเดียวได้ยังไง ดูอย่างตอนที่พี่ไปปักกิ่งดูพระราชวังต้องห้ามสิ เข้าไปอยู่ในนั้นไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมง ถ้าไปกับทัวร์มีหวังตกรถทัวร์แน่นอน” ผมเสริม และนี่คือสาเหตุที่พวกเราไม่นิยมไปเที่ยวกับทัวร์ ไม่ชอบอะไรที่มันเร่งๆ ยกเว้นสถานที่ที่มันไปลำบากจริงๆ ก็ค่อยยอมซื้อทัวร์ไป


เราเดินไปตามทางเรียบๆ อย่างช้าๆ ก็จะเจอกับด่านเก็บเงินค่าเข้าหมู่บ้านซึ่งค่าเข้าอยู่ที่ 15000 ดองต่อคน แต่หากเป็นเด็กก็ 5000 ดอง จ่ายเงินเสริ็จแล้วเดินไปอีกนิดเดียวจะเจอกับสำนักงานของ Hoang Lien National Park ตัวของสำนักงานนี้ดูเด่นท่ามกลางหุบเขาและนาขั้นบันได มีลักษณะเหมือนโดม ทาสีเหลืองเด่น ตรงหน้าต่างจะทาด้วยสีเขียวสภาพค่อนข้างทรุดโทรมมาก เราแวะถ่ายรูปกันเล็กน้อยและเดินต่อลงไปเบื้องล่าง




 


Travel Trip: หมู่บ้านคัตคัต


หมู่บ้านคัตคัต (Cat cat village) อยู่ห่างจากตัวเมืองซาปาประมาณ 3 กิโลเมตร การไปหมู่บ้านนี้นักท่องเที่ยวหลายคนใช้วิธึการเดินด้วยเท้า แต่บางคนก็เช่ามอเตอร์ไซค์หรืออาจจะใช้บริการวินมอเตอร์ไซค์แถวๆ ตลาดซาปาก็ได้ ที่นี่เป็นหมู่บ้านของชาวม้งซึ่งปัจจุบันสภาพของบ้านได้เปลี่ยนแปลงไปเพื่อตอบสนองการท่องเที่ยว เช่นมีการวางขายสินค้าพื้นเมืองต่างๆ อยู่หน้าบ้าน บางบ้านก็มีกิจกรรมเพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปหรือแม้แต่มีการแสดงพื้นเมืองให้ชมอีกด้วย


ประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้านนี้เรียกว่า Pulling wife ซึ่งผู้ชายจะเชิญชวนให้ผู้หญิงที่เขาชอบไปอยู่ที่บ้านเป็นเวลา 3 วัน ในช่วงเวลานั้นถ้าฝ่ายหญิงตกลงปลงใจจะเป็นคู่ชีวิต งานแต่งงานก็จะบังเกิดขึ้น แต่หากฝ่ายหญิงไม่อยากแต่งด้วยก็สามารถกลับบ้านไปได้ (แต่เอ...แล้ว 3 วันที่อยู่ในบ้านนั้นเค้าทำอะไรกันนะ...) บ้านสไตล์ม้งในหมู่บ้านจะมีห้องทั้งหมด 3 ห้องประกอบไปด้วย 3 ประตู ประตูหลักนั้นปกติจะปิดและจะเปิดก็ต่อเมื่อมีแขกมาที่บ้าน ระหว่างที่เดินสำรวจหมู่บ้าน มักจะมีชาวบ้านเข้ามาตื้อเพื่อขอให้ซื้อของจากพวกเขา




เราเดินมาไม่น่าเกินครึ่งชั่วโมงก็จะเจอกับหมู่บ้าน ซึ่งมีการเพาะปลูกผัก และนาขั้นบันได เมื่อเดินมาถึงบริเวณที่เป็นร้านค้าอยู่ทางซ้ายมือให้สังเกตดีๆนะครับ เพราะตรงนั้นคือบันไดทางลงเพื่อจะเดินเข้าหมู่บ้าน รถมอเตอร์-ไซค์จะไม่สามารถเข้าไปได้ และจะมีเจ้าหน้าที่คอยเช็คตั๋วที่เราได้ซื้อมา ดังนั้นตั๋วจะต้องเก็บเอาไว้ให้ดีเดินตามทางไปเรื่อยๆ ก็จะเจอกับชาวเขาขายของไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้ากระเป๋าหรือเครื่องเงินต่างๆ พวกเขาจะพยายามชักชวนให้นักท่องเที่ยวซื้อของบางคนก็ตื้อจนเกินงาม แต่หลายคนก็เพียงแต่ยืนเรียกอยู่หน้าบ้านของเขาเท่านั้น ระหว่างทางเราเจอกับกลุ่มเด็กตัวเล็กๆ อยู่ 5-6 คน แต่ละคนจะคอยเดินเรียบๆ เคียงๆ ไปกับนักท่องเที่ยว




“ดึงหย๋ายดี๋ๆ” เด็กๆ พูดเสียงเจี้ยวจ๊าวพร้อมกับเกาะแข้งเกาะขา



“อะไรฟ่ะ ดึงหย๋ายดี๋ๆ” ผมหันไปหัวเราะชอบใจกับน้องพิม ในพฤติกรรมของเด็กเหล่านั้น



“พวกเด็กๆ เขาขอเงินหน่ะ หากมีเศษเงินก็ให้ๆ เค้าหน่อย” ลุงคนไทยคนหนึ่งบอกผม ลุงคนนี้มากับกลุ่มทัวร์คนไทยที่ลงมาที่หมู่บ้านพร้อมๆ กับเรา ดูท่าทางแล้วเหมือนเป็นไกด์ ลุงแกพูดพลางก็ควักเงินจำนวน 1000 ดองเป็นฟ่อนๆ ที่ดูเหมือนว่าแกเตรียมมาให้เด็กเหล่านี้โดยเฉพาะ และลุงคนนี้ก็พูดเป็นภาษาเวียดนามกับเด็กเหล่านั้นสักพักแล้วก็เดินตามลูกทัวร์ลงไปเบื้องล่าง


เราเดินดูวิถีชาวบ้านที่ดูเหมือนถูกแต่งเติมเสริมสำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยว บางบ้านก็ออกมา (สาธิต) การเย็บผ้าทอผ้าอยู่หน้าบ้าน เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวสนใจ มีอยู่บ้านหนึ่งกำลังทำงานฝีมือแบบแกะสลักหินกันหน้าบ้าน ผมเห็นว่างานฝีมือนี้สวยงามมาก หมายจะซื้อไว้ครอบครองสักชิ้น แต่ดูแล้วราคาคงจะไม่ถูกเท่าไรจึงตัดใจเดินจากไป


จนกระทั่งไปเจอกับบ้านหลังหนึ่งซึ่งมีลานกว้างอยู่หน้าบ้าน พร้อมกับมีสาวชาวเขากำลังนั่งทอผ้าอยู่ด้านใน ด้านหน้าของสาวคนนั้นมีหม้อต้มน้ำอะไรสักอย่าง
 




“ต้มเหล้าหรือเปล่านะ” ผมเดา
 


“ไม่ใช่ นั่นมันน้ำสมุนไพร” น้องพิมบอกผม
 


“หรอ ขายหรือเปล่าเนี่ย อยากลองชิมดู”
 


“เห็นเขียนไว้ว่า 3000 ดอง ลองดูสิ” น้องพิมเสนอ เราจึงลองชิมน้ำสมุนไพรสีน้ำตาลชนิดนี้ดู ลุงคนที่เป็นไกด์เล่าให้ลูกทัวร์ของเขาฟังว่า สมุนไพรชนิดนี้ทำจากเปลือกไม้ชนิดหนึ่ง สรรพคุณเอาไว้กินเพื่อแก้ปวดท้อง รสชาติก็แปล่งๆ ไม่อร่อย แต่มันก็คือสมุนไพรนี่นา


เราออกจากบ้านหลังนั้น ผ่านหญิงชาวเขาคนหนึ่งที่กำลังซักผ้าอยู่แล้วเดินเลยไปจนกระทั่งได้ยินเสียงดนตรีดังกระหึ่มไกลๆ ผมรีบเดินลงไปเพื่อให้รู้ว่าข้างล่างกำลังมีการแสดงอะไรอยู่หลังจากเราข้ามสะพานไปอีกฝั่งแล้วเดินไปทางซ้ายมือผ่านร้านค้าหลายร้านจนมาถึงด้านในสุด ซึ่งเป็นอาคารสำหรับการแสดงพื้นเมืองมีป้ายติดค่าเข้าชมไว้คนละ 30000 ดอง ผมมองผ่านประตูที่เปิดอ้าซ่าอยู่ แล้วบอกกับน้องพิมว่า ผมคงไม่เข้าไปดูหรอก เพราะว่ามีแต่การเต้นๆ ของชาวเขา เก็บเงินไว้ ใช้อย่างอื่นดีกว่า เราจึงหันไปถ่ายรูปน้ำตกกันครู่ใหญ่แล้วออกเดินต่อ ซึ่งเส้นทางหลังจากออกจากน้ำตกนั้นก็เริ่มไม่มีอะไรที่น่าตื่นตาตื่นใจ เดินไปอีกสักพักก็จะเจอกับทางออกซึ่งเป็นด่านกั้นไม่ให้รถเข้าไป ที่จุดนี้เองที่รถทัวร์จะมารอรับนักท่องเที่ยว และมีบรรดามอเตอร์ไซค์มารอนักท่องเที่ยวที่ไม่อยากจะเดินเท้ากลับไปตัวเมืองซาปา สนนราคาก็ระหว่าง 10000-20000 ดอง




ระหว่างเส้นทางที่เราเดินทางกลับก็จะเจอกับชาวเขาที่กำลังเดินขึ้นไปยังเมืองซาปาหลายต่อหลายคนบ้างก็ดูเหมือนว่าจะเดินไปหาซื้อของในตลาดซาปา แต่ก็อีกหลายคนดูเหมือนว่าจะไปขายของที่ตลาดเช่นกัน ชาวเขาที่ผมสังเกตดูว่าจะไปขายของนั้น ส่วนมากเมื่อเดินแซงเราไปก็มักจะหันหน้ามา
แล้วพูดว่า “you buy something for me” พร้อมกับยื่นผ้าปักและเครื่องเงินให้ผมดู




เราเจอแบบนี้หลายครั้งจนกระทั่งเริ่มเคลิ้ม น้องพิมจึงเหมือนต้องมนต์สะกดพร้อมกับสอบถามราคาเครื่องเงินจำพวกกำไลข้อมือแม่ค้ายิ้มน้อยยิ้มใหญ่ใน
ใจคงคิดว่า “เสร็จตูหล่ะ” แล้วก็หยิบกำไลโน่นนี่มาให้เลือกหลายต่อหลายชิ้นเมื่อน้องพิมเลือกได้หนึ่งอันแล้ว ก็ยังจะเอาอันอื่นมาให้บอกว่าซื้อสองอันราคาจะลดลง แต่ก็ยังดีที่น้องพิมไม่ได้เอาเพิ่ม พอเราจ่ายเงินค่ากำไลข้อมือราคา 25000 ดองแล้ว ก็มีแม่ค้าอีกคนเดินเข้ามาพร้อมกับยื่นกำไลอีกอันและบอกให้ช่วยซื้ออันนี้ด้วย...แหม...จะเอาไปทำไมเยอะแยะ ซื้อไปก็ไม่รู้ ได้ ใช้หรือเปล่า




เราเดินกลับมาถึงตลาดซาปาประมาณเที่ยงพอดิบพอดีจึงถือโอกาสฝากท้องกับอาหารในตลาดอีกเช่นเคย ครั้งนี้เราลองเดินเข้าไปในตลาดด้านล่างซึ่งจะมีร้านขายอาหารอยู่เต็มไปหมด มีชาวเวียดนามนั่งกินกันอยู่ประปรายแต่แทบจะไม่มีนักท่องเที่ยวผมทองเข้าไปกินเลย เราจึงไปหยิบเมนูราคาอาหารจากร้านหนึ่งในตลาด ดูราคาแล้วพบว่าไม่ถูก เฝอ 1 ชามราคา 18000 ดอง ผมไม่เชื่อว่าคนเวียดนามจะกินเฝอในราคานี้ เราจึงเดินไปอีกร้านหนึ่งซึ่งคราวนี้มีเมนูเป็นภาษาอังกฤษแต่ไม่ติดป้ายบอกราคา ด้วยความอยากรู้จึงลองถามพบว่าราคา 15000 ดอง ผมจึงหันไปบอกน้องพิมว่าลองกินที่นี่ดูก็แล้วกันเอาบรรยากาศ เพราะจะว่าไปแล้วหากเราเพิ่มอีกเพียง 3000 ดองก็สามารถไปนั่งกินในร้านอาหารด้านบนได้สบายๆ แถมดูสะอาดสะอ้านกว่ากันเยอะ สักครู่เดียวเฝอชามโตก็มาเสริฟ แต่บอกตามตรงเลยครับว่าไอ้ที่บอกว่าชามโตๆ เนี่ยชามอย่างเดียวที่โต ส่วนปริมาณอาหารนั้นไม่ได้มากมายนัก เราทั้งคู่ก็แปลกใจเพราะว่าเท่าที่เคยอ่านรีวิวท่องเที่ยวเวียดนามจากหลายคนก็เคยเจอบอกว่าเฝอชามใหญ่มากกินไม่หมดบ้าง แต่ตั้งแต่เรามาเหยียบเวียดนามไม่เคยได้กินเฝออิ่มอยู่ท้องเลย และครั้งนี้ก็ไม่มีข้อยกเว้น เรากินกันหมดแล้วแต่ก็ยังไม่รู้สึกอิ่มเลยคิดว่าจะหาขนมกินในตลาดอีกเล็กน้อยแล้วค่อยเดินเที่ยวกันต่อจึงเดินขึ้นมาด้านบนถนน Cau May เจอกับแม่ค้าขายขนมอยู่เราเข้าไปถามราคาขนมที่เป็นข้าวเหนียวทอดข้างในสอดไส้ด้วยถั่วเหลือง และขนมกลมๆ อีก 2 ลูกสนนราคารวมก็ 9000 ดอง หลังจากที่กำลังยืนกินอยู่นั้นก็มีคุณยายหน้าตาน่ารักเดินเข้ามาเคาะมือน้องพิมพร้อมกับพูดว่า “ซื้อหมวกสักใบสิแม่นู๋” คุณยายก็เคาะอยู่นั่นแหละ น้องพิมจึงหันมาถามผมว่า เราไม่ซื้อนะแต่อยากจะให้เงินคุณยาย แล้วจะให้คุณยายตอบแทนอะไรดีหล่ะ คิดไปคิดมาก็เอาง่ายๆ แล้วกัน ขอถ่ายรูปสักช๊อตสองช๊อต คุณยายจะได้รู้สึกว่าเราไม่ได้ให้เงินคุณยายเปล่าๆ


ชมเมืองซาปาที่ Ham Rong


เราเดินไปทางด้านซ้ายของโบสถ์คริสต์ แล้วเดินไปทางหลังของโบสถ์ตามถนน Pho Han เพียงไม่กี่นาทีก็จะเจอกับโรงแรม Sapa Trade Union อยู่ตรงหน้า หากมองไปทางซ้ายมือจะเจอกับบันไดทางขึ้นไปสู่ฮามรอง (Ham Rong) ซึ่งจะมีป้ายเขียนเอาไว้ว่า “Nui Ham Rong” และเราจะต้องจ่ายเงินค่าเข้าชมในราคาคนละ 30000 ดอง หากพาเด็กไปด้วยก็ต้องเสียค่าเข้า 10000 ดอง นอกจากนี้หากนักท่องเที่ยวท่านใดสนใจจะดูการแสดงพื้นเมืองด้วยก็ต้องเสียค่าชมเพิ่มอีก 20000 ดอง


หลังจากชำระค่าเข้าแล้ว เราก็เดินขึ้นไปตามบันได ตลอดข้างทางจะมีร้านขายของที่ระลึกและสมุนไพรอยู่หลายร้าน เดินต่อไปสักครู่เดียวก็จะเจอกับจุดตรวจบัตรเข้าชม เมื่อผ่านจุดนี้แล้วเราก็เดินไปตามแผนที่ที่ ได้รับแจกมาจุดแรกที่เราไปคือ สวนกล้วยไม้ ซึ่งเราเจอแต่วิญญาณดอกกล้วยไม้เท่านั้น จึงไม่ได้มีอะไรดึงดูดให้ต้องเสียเวลาอยู่ที่สวนแห่งนั้น และไม่ไกลจากสวนกล้วยไม้ก็จะเจอกับจุดชมวิวซึ่งตามแผนที่ ได้เขียนเอาไว้ว่าเป็นจุดที่ชมยอดเขาฟานซิปานได้สวยที่สุด จากข้อมูลที่หาได้บอกกับผมว่า ภูเขาฟานซิ-ปานอยู่ห่างจากตัวเมืองซาปาไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 9 กิโลเมตร มีชื่อขนานนามว่าเป็นหลังคาของอินโดไชน่าเพราะเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในแถบอินโดไชน่านั่นเอง ชาวพื้นเมืองจะเรียกฟานซิปานว่า Hua Xi Pan




นักท่องเที่ยวหลายคนนิยมไปไต่ยอดเขาแห่งนี้ ดังนั้นเราจึงเห็นบริษัททัวร์ทั้งหลายเสนอทัวร์ประเภทสมบุกสมบันไปปีนยอดเขาหลายวัน หากใครสนใจก็ลองๆ สอบถามไปที่บริษัททัวร์ไหนก็ได้ ในซาปามีแน่นอน แต่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่นิยมไปปีนยอดเขานี้ช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคมเพราะเป็นช่วงที่ฝนตกน้อยที่สุด แต่นักท่องเที่ยวชาวเวียดนามเองจะนิยมในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนเพราะว่าไม่หนาวจนเกินไป


เมื่อแวะชมทิวทัศน์ของเมืองซาปาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เราเดินกันต่อโดยมีจุดหมายที่ สวนสไตล์ยุโรป คงเป็นเพราะช่วงเวลาที่ ไปนั้นเป็นช่วงฤดูหนาวเราแทบจะไม่เห็นดอกไม้อะไรสักเท่าไร จึงตัดสินใจเดินต่อ โดยมีทัวร์ไทยที่ขึ้นมาที่ฮามรองพร้อมๆ กับเรานำหน้าไป ระหว่างทางจะเจอกับแผงขายของที่ระลึกโดยมีแม่ค้าเป็นชาวเขา สินค้าที่วางขายส่วนใหญ่ก็เป็นเสื้อผ้า หมวกผ้าถักและเครื่องเงินต่างๆ


“ซื้อไหมค้า...ซื้อไหม...ราคาไม่แพง...ถูกๆ” แม่ค้าพูดชักชวน



“จะซื้อไปเป็นของฝากเพื่อนๆ ที่ทำงานดีป่ะ” ผมถามน้องพิม



“ก็เอาสิ” น้องพิมตอบ พร้อมกับก้มดูผ้าถักต่างๆ แต่ด้วยความที่สินค้าหลายอย่างมันใหญ่ และน่าจะแพงเกินกว่าจะเป็นของฝากเล็กๆ น้อยๆ ได้ น้องพิมจึงเลือกซองใส่โทรศัพท์ที่เป็นผ้า ต่อราคาไปๆ มาๆ ลงตัวกันที่ 4 ชิ้น 60000 ดอง จะว่าแพงก็ไม่เชิงเพราะเห็นคุณยายนั่งหลังขดหลังแข็งปักผ้าอยู่ตรงนั้น เราก็คิดว่าจะไปต่อเยอะๆ ทำไม สงสารแกบ้าง เมื่อชำระเงินเรียบร้อยก็ขอถ่ายรูปตามระเบียบ แต่คุณยายแกคงเขินให้ถ่ายแค่รูปสองรูปเท่านั้น


หลังจากนั้นเราแวะนั่งพักกันที่ Ethnic performing art ครู่ใหญ่ๆ แล้วเดินออกมาหมายจะไป Cloud yard แต่น้องพิมบอกว่าเดินไม่ไหวแล้ว เจ็บเท้า ผมจึงให้น้องพิมนั่งพักต่อตรงริมทางเดิน ส่วนผมก็แวะไปเก็บภาพบรรยากาศที่ Cloud yard แล้วก็ลงมาสมทบเพื่อจะได้ออกจากฮามรองแห่งนี้ เมื่อผมเดินมาก็พบว่าน้องพิมกำลังนั่งคุยกับคู่พ่อลูกที่มาเที่ยวเวียดนามกับทัวร์แห่งหนึ่ง



 


“คุณอาซื้อทัวร์มาเท่าไรครับ” ผมถามผู้เป็นพ่อ
 


“ก็ 4 วัน 18000 บาท แล้วที่เรามาเที่ยวนี้คาดว่าจะเสียค่าใช้จ่ายทั้งหมดเท่าไรกันหล่ะ” คุณอาคนนั้นถาม
 


“ยังไม่แน่ใจครับ แต่คาดว่าน่าจะไม่เกิน 10000 บาทไม่รวมค่าตั๋วเครื่องบินครับ” ผมตอบแล้วเราก็นั่งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ท่องเที่ยวกันจนกระทั่งสมควรแก่เวลาลงจากฮามรอง


อำลาซาปา


เราตั้งใจว่าเวลาที่เหลืออีกสองชั่วโมงจะเดินเล่นให้รอบเมืองซาปาทิ้งท้ายก่อนจะอำลากลับไปยังฮานอย ผมจึงบอกน้องพิมว่าให้เดินไปที่ทะเลสาบอีกครั้งเพราะว่าในวันแรกที่มาถึงนั้น เรายังไม่ได้เห็นความงามของทะเลสาบแบบเต็มที่เนื่องจากหมอกลงจัดแต่เราแวะไปที่ตลาดซาปาอีกครั้งเพื่อหาอะไรกิน (อีกแล้ว) ผมยังคงติดใจรสชาติของขนมที่ซื้อตรงทางเข้าของตลาด จึงชวนน้องพิมไปซื้ออีกครั้งครั้งนี้ผมซื้อขนมกล้วย 2 ชิ้นและข้าวเหนียวอีก 1 ชิ้นราคารวม 10000 ดองแต่ระหว่างที่ยืนกินอยู่หน้าร้าน มีนักท่องเที่ยวคาดว่าเป็นชาวฮ่องกงได้เข้ามาซื้อขนมกล้วย



“ราคาเท่าไรคะ” สาวฮ่องกงคนนั้นถามราคาแม่ค้า



“ชิ้นละ 2500 ดอง” เมื่อฟังราคาเสร็จแล้วสาวฮ่องกงก็หันไปคุยๆกับแฟนของเขา แล้วก็มาต่อราคาเหลือ 2000 ดอง แม่ค้ามองหน้าผมซึ่งเพิ่งจะจ่ายเงินเมื่อกี้เอง แล้วก็ส่ายหัวไม่ได้ๆ แต่สาวฮ่องกงก็ไม่ละความพยายามต่อไปต่อมา จนแม่ค้าให้ต่อหน้าต่อตาผมเลย แม้ว่าราคาขนมนั้นโดยส่วนตัวผมมองว่าไม่ได้แพงอะไรมากมาย แต่การที่ได้เห็นราคาที่ลดลงต่อหน้าต่อตานี่มันก็เจ็บยังไงไม่รู้แฮะหลังจากเจ็บใจแม่ค้าแล้ว เราก็เดินไปที่ทะเลสาบ ในวันนี้บรรยากาศสบายๆ อากาศไม่หนาวมาก เราเดินไปตามทางรอบๆ ทะเลสาบ ระหว่างทางเจอฝรั่งขี่จักรยานมาสองคน ผมจึงเข้าไปสอบถามราคาค่าเช่าจักรยาน ได้คำตอบว่าวันละ 100000 ดอง (โอ้โห ราคาเท่ากับเช่ามอเตอร์ไซค์เลยแฮะสงสัยฝรั่งคงโดนโก่งราคาแห๋งๆ)


เราเดินกลับมาที่จตุรัสใจกลางเมืองซาปา แล้วเดินเข้าไปที่ Tourist Information Center พบว่าช่วงเวลาที่เปิดนั้นคือตั้งแต่ 07:30-11:30น.
และ 13:30-17:00น. เมื่อเข้าไปแล้วต้องขึ้นไปชั้นที่สองจะมีเจ้าหน้าที่คอยให้ความช่วยเหลือในการท่องเที่ยว เราสามารถจองทัวร์จากตรงนี้ก็ได้ ภายในยังมีการจัดนิทรรศการแสดงภาพถ่ายในเมืองซาปาซึ่งสวยงามมากเมื่อเดินออกมาจากตึกนี้แล้ว เรายังคงมีเวลาเหลืออีกเล็กน้อย ผมจึงเดินเก็บบรรยากาศครั้งสุดท้ายก่อนจะกลับไปที่โรงแรม ซึ่งเวลารถออกคือ 17:00 น.


เรามาถึงสถานีรถไฟลาวไกตอนหกโมงกว่าๆ นักท่องเที่ยวทุกคนที่ลงจากรถจะเดินเข้าไปที่โรงแรม Ngau Nga เหมือนต้องมนต์สะกด ยกเว้นเราสองคน ผมก็แปลกใจว่าทำไมต้องเดินเข้าไปที่โรงแรมนั้น ผมมองขึ้นไปข้างบนชั้นสองซึ่งเป็นร้านอาหารก็เห็นว่านักท่องเที่ยวที่มารถคันเดียวกับผมก็เข้า
ไปนั่งกินอาหารเย็น
 


“ไม่ไหวหล่ะ สงสัยจะแพง ไปหาอะไรกินตรงข้างๆ สถานีรถไฟดีกว่า” ผมบอกน้องพิม แล้วเราก็แบกกระเป๋าขึ้นบ่าเดินไปทางด้านซ้ายมือของสถานีรถไฟ ซึ่งจะพบว่ามีร้านอาหารอยู่ประมาณ 4-5 ร้าน และยังมีร้านที่ตั้งอยู่ริมถนนอีกหลายร้าน ผมจึงสุ่มเลือกหนึ่งในร้านเหล่านั้นโดยสังเกตดูว่าร้านไหนคนเข้ามากที่สุดก็เอาร้านนั้น เพราะว่าเรายังมีเวลาเหลือเฝือก่อนที่รถไฟจะออก (รถไฟเที่ยวที่เราได้มาคือ SP2 เวลาออกจากสถานีรถไฟลาวไกคือ 20:15 น.) ร้านที่เราสุ่มได้คือ Thach Quynh: Restaurant and Guesthouses ราคาอาหารถือว่าไม่แพงเพราะเป็นราคาที่เจออยู่ประจำเช่น ข้าวผัดไก่ 20000 ดอง Spring row 15000 ดอง น้ำมะนาวแก้วละ 5000 ดอง ที่สำคัญร้านอาหารแถวนี้จะมีเมนูภาษาอังกฤษและบอกราคาเอาไว้ด้วยเมื่อทานเสร็จแล้วก็ไปนั่งรอในสถานีรถไฟ  






Create Date : 04 มกราคม 2554
Last Update : 4 มกราคม 2554 19:53:00 น. 0 comments
Counter : 1389 Pageviews.  
 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

Maeil
 
Location :
ปทุมธานี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




หากต้องการใช้รูป หรือ เนื้อหา กรุณาสอบถามก่อนนำไปใช้
ห้ามนำไปใช้ก่อนได้รับอนุญาติ
[Add Maeil's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com