Group Blog
 
 
มกราคม 2557
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
1 มกราคม 2557
 
All Blogs
 

วิธีการปลูกพืชในที่ร้อนแล้งดินแข็ง

//www.budmgt.com/agri/agri01/plant-hot-hard-soil.html


   วิธีการปลูกพืชในที่ร้อนแล้งดินแข็ง

Plantation  in  hot  Air  and  hard  soil

1.  บทนำ

               การปลูกพืชในที่แห้งแล้ง  แบบภาคอีสานที่เป็นดินทราย  ดินชั้นบนแข็งมาก  เนื่องจากความชื้นน้อย  ประกอบกับภาวะโลกร้อนขึ้นทุกปี  อุณหภูมิสูงขึ้น  จนทำให้ต้นไม้ที่เราปลูกใหม่ๆ  ต้องตายไป  หรือไม่ก็เลี้ยงไม่โต  สมัยก่อนไม่ต้องรดน้ำมาก  ไม่ต้องต่อท่อน้ำหยด แต่เดี๋ยวนี้ต้องใช้น้ำหยดต่อท่อเป็นเรื่องเป็นราว

2.  วิธีการปลูกพืชในที่ร้อนแล้งดินแข็ง

               จากประสบการณ์และจากการฟังคำบอกเล่าของผู้ประสบความสำเร็จพบว่าวิธีการปลูกมีดังนี้

               2.1  ชนิดต้นไม้

               ให้เลือกต้นไม้ที่ทนแล้ง  โดยการไปสำรวจพื้นที่ว่า ชาวบ้านปลูกอะไรแล้วใบยังเขียวดีในช่วงฤดูแล้ง  โดยไม่ต้องดูแลมาก ซึ่งมักจะพบว่าต้นยูคาลิปตัส  สะเดา  มันสำปะหลัง  มะฮอกกานี  ยังเขียวอยู่  และลองสังเกตดูว่า

               ไม้ป่าหรือไม้อะไรที่โตได้ดี  ในช่วงแล้งจัดๆ  ซึ่งอาจพบว่ามีกระถิน  ปีบ มะเลื่อมหรือมะเลี่ยน  นุ่น  ตะคร่ำ  แสลงพัน  เถาหญ้านาง  มะรุม

               ไม้ปลูกที่ต้องดูแลหน่อย  แล้วดูงามดีในฤดูแล้งก็มีลำใย

               2.2  ต้นและใบ

               ใบอ่อนจัดมักทนแดดไม่ไหว  ใบต้องแก่พอสมควร  นอกจากนี้  ก่อนการออกปลูก  ควรฝึกซ้อมออกแดดจัด และลดการรดน้ำ  จนรดน้ำสัปดาห์ละครั้งก็ยังอยู่ได้  ทั้งนี้อยู่ในถุงที่จำกัด

               การฝึกออกแดดนั้น  เหมือน  การฝึกนาวิกโยธิน ต้นที่อยู่ได้  ก็จะอดทนพอที่จะไปบุกต่อ  บางต้นที่ไม่อ่อนแอก็จะตายไปบ้าง

               ปกติแล้ว  เมล็ดกระถิน  1,000  เมล็ด  อาจงอกได้เพียง  10  เมล็ด  แต่เป็นต้นที่แข็งแรงที่สุด  ดังนั้นจะเห็นว่าต้นกระถิ่นจะปรับตัวเอง  ต้นที่รอดก็จะมียีนทนทานขึ้น  เมล็ดถัดไปก็แข็งแรงขึ้น  แต่คนเรามักเอาเมล็ดทุกเมล็ดมาปลูกให้งอกทุกต้นแล้วก็เอาไปปลูกทุกต้น  ดังนั้นจึงมีต้นที่ไม่แข็งแรงอยู่มากมาย ที่เป็นแม่พันธุ์ไปเรื่อยๆ

               เราควรคัดเลือกเมล็ดพันธุ์  โดยการปลูกดูด้วยเมล็ด  ดึงต้นที่ไม่แข็งแรงออกไป  เหลือแต่ต้นที่แข็งแรง  เวลาปลูก  การดูแลจะน้อยลง เพราะต้นไม้มีน้ำอดน้ำทนสูงมาก

               2.3  ถุงและดินถุง

               สมัยก่อนนิยมใช้ดินดำผสมขี้เถ้า  ปุ๋ยคอก  ขุ่ยมะพร้าว  ทำเป็นถุงเพาะชำ  เดี๋ยวนี้นิยมใช้ขี้เถ้าแกลบอย่างเดียวใส่ในถุงเพาะชำ  ซึ่งสะดวกดี  และมักใช้ถุงขนาดเล็กๆ  อีกด้วย

               คุณสมบัติของขี้เถ้าแกลบในถุงเพาะชำที่ดีก็มีในเรื่องความดำ  รากงอกดี  ระบายน้ำแล้วไม่แฉะ  ข้อเสียคือ  ขี้เถ้าแกลบแห้งเร็ว  เวลาเอาไปปลูกมักแห้งกรอบเร็ว  อีกทั้งเวลาแห้งหน่อย  เวลาเอาถุงออกจากต้นกล้าไม้มักแตกรุ่ย  กระเทือนถึงราก  ตัดกำลังต้นไม้ในการต่อสู้  ทำให้อัตราการรอดตายน้อย  เพราะรากกระเทือน  และแห้งเร็ว

               ทางแก้ไขก็มี  ต้องเทน้ำใส่ถุงเพาะชำให้มากๆ  เปิดกีดเฉพาะกันถุง  ด้านข้างใช้กีดเป็นทางยาวประคองลงหลุม  วิธีนี้ดูไม่ค่อยจะสะดวกเท่าไร  การเหลือถุงด้านข้างทำให้ก้อนดินรอบต้นไม้ไม่ขาดขณะลมโยกต้น

               อีกวิธีหนึ่ง  โดยการเปลี่ยนถุงให้ใหญ่ขึ้นเปลี่ยนดินเป็นดินร่วนผสมปุ๋ยคอกและขี้เถ้าแกลบเศษหญ้าฟางเล็กๆ  (ฟางสับ)  แล้วเอาถุงเล็กทั้งใส่ลงในนถุงใหญ่  เลี้ยงในเรือนเพาะชำจนแข็งแรงก่อน แล้วมีรากยึดดินทั่วถุง เทคนิคการกรีดถุง บีบถุงให้แน่น ให้ดินหลวมถุง หากแห้งไป ไม่จับตัว ให้ใส่น้ำก่อน  จับถุงมือซ้าย เอายอดออกจากตัว  เอามีดกีดถุงตามยาวจนถึงก้นถุง  จับยอดเข้าหาตัว เอารอยกรีดคว่ำ  ดึงถุดำออก โดยจับที่ขอบถุงดำ  ระวังไม่ให้ดินแตก  วางมือทอดลงในหลุม เอาดินกลบ

ดินถุงที่เขาใส่ถุงเล็กๆ  เพื่อให้สะดวกในการขายและขนส่ง  หากเขาเพาะชำเอง  ใช้ถุงใหญ่ที่เดียวโดยไม่ต้องเปลี่ยนถุง  เขาขายมักใส่ขี้เถ้าแกลบ  หากเราทำเองควรผสมดินที่เดียวใส่ถุงใหญ่มีดินร่วนดำดีๆ  ไปหามา  ผสมปุ๋ยคอกผสมเถ้าแกลบ  ผสมใบไม้แห้งเล็กน้อยและดินเบา  (ไดอะตอมไมต์)  เพื่อช่วยจมน้ำ

               หัดดูดินดำดีๆ  ให้เป็น  จะร่วนซุยไม่จับตัวหญ้าขึ้นงามเอามาป้อนถุงเพาะชำต้นอ่อน  หากดินจับตัวให้ผสมขี้เถ้าแกลบ  และซากใบไม้กิ่งไม้แห้งหรือซากกิ่งไม้  วิธีการปลูกพืชในที่ร้อนแล้งดินแข็ง ดังในภาพ

               2.4  ราก

               ระบบรากที่แข็งแรงย่อมต่อสู้กับความแห้งแล้งดี  ต้นไม้ที่โตขึ้นเรื่อยๆ  แล้วก็ไม่นำไปปลูกก็จะต้องมีการเปลี่ยนถุงอยู่บ่อยๆ  ทำให้ระบบรากแล้วขดเป็นวงๆ  จากวงเล็กก็เป็นวงใหญ่ตามขนาดถุง

               ทางแก้ก็คือ  ใช้ถุงยาวขึ้น  รีบปลูก อย่าค้างนาน  บางแห่งนิยมใช้เมล็ดแบบถั่วงอก แล้วไปเตรียมหลุมปลูกในที่ดินเลย  รากก็จะตรง

               ยางพาราตาเขียวที่ติดตา เอาผ่ามาดูจะพบว่าเหมือนกิ่งปักชำเห็นแต่รากฝอยแล้วเวลาปลูก   เรามักจะใช้เท้าเหยียบให้ดินรอบๆ  ต้นแน่น ลองพิจารณาหลับตาดู อาจเป็นการถอนขนรากรอบๆ  กิ่งกล้าพันธุ์ก็ได้ ทำให้ต้นยางสลดไม่ยอมโตและตายง่าย

               ต้นยูคากิ่งชำก็จะไม่มีรากแก้ว  แต่ก็แข็งแรงดี  เนื่องจากเป็นพืชเติบโตเร็ว ทนทาน   ต้นไม้ไม่มีรากแก้วก็ไม่ต้องเสียเงินใช้รถแบ็คโฮมาขุดตอในภายหลัง  จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นมาก

               เวลาปลูกต้นไม้  หลักการแล้วต้องพยายามไม่ให้รากกระเทือนเลย  ควรยกถุงเพาะชำย้ายที่ก่อนอย่าพึ่งรีบปลูก  พอรากที่ออกนอกถุงลงดินถูกดึงขาด  ต้นจะเฉา  เลี้ยงต่อให้ฟื้นฝึกออกแดดก่อนนำไปปลูก  เวลากีดถุงเพาะชำก่อนปลูก เอาพลาสติกออก  ระวังอย่าให้รากขาด  อาจเปิดเฉพาะกันถุงด้านข้างใช้วิธีกรีดตามยาวให้รากแทงออกได้  การกดดินให้แน่นรอบต้นเพื่อพยุงต้น  อย่าเหยียบแบบรูดให้ใช้กดข้างๆ  ไกลออกไปในแนว  45  องศา  จากต้น

               ต้นไม้ที่โตจากเมล็ดจะแข็งแรงกว่าหรือโดยวิธีแตกแขนงราก

               จงประคองรากให้ดีก่อนปลูก  ยกถุงรากขาดก็อนุบาลให้ดีก่อน พอตั้งตัวได้ ก็ประคองลงหลุม อย่าให้สะเทือนมิเช่นนั้นต้นไม้จะสู้แดดไม่ได้

               2.5  ดินในพื้นที่และสภาพอากาศ

               ดินดีขนาดหลุมก็เล็ก  ดินไม่ดีก็ใช้ขนาดหลุมใหญ่ขึ้นแล้วก็เตรียมดินที่ดีๆ  สูตรพิเศษ เท่าพื้นที่ปริมาตรหลุม

               ดินทีมีปัญหาในที่ร้อนแล้งก็มักจะเป็น

2.5.1   ดินทรายแน่นเปลือกดินแข็งมาก

               เป็นดินทรายเม็ดละเอียดมี  %  ดินเหนียวชั้นบนแข็งมาก  หน้าแล้งต้องใช้อีเตอร์ขุด ใช้จอบขุดจะไม่เข้า  ขุดหลุมเดียวเหนื่อยแทบตาย  ความแข็งจะอยู่ในช่วง  20  ซม. แรก  หากรากอยู่ในชั้นเปลือกแข็งจะโตไม่ไหวก็เลยนิยมใช้รถไถพรวน  แต่พวกนี้แปลกหากอยู่ในฤดูฝนดินชุ่มแล้วใช้จอบฟันทีเดียวเต็มหน้าจอบเลย  เดินก็มีดินติดรองเท้า  เหตุที่เป็นสภาพนี้อาจเกิดจากดินถูกรถวิ่งทับ  ไม่เคยถูกไถ   ถูกเปิดหน้าเดียว ถูกแดดแผดเผาจนแห้งกรอบ  หรือถูกสารเคมีมานาน

               ดินพวกนี้เวลาปลูกมันสำปะหลังแล้วยังต้องใช้รถไถขุดออก  ถอนด้วยแรงคนหรือคานงัดไม่ได้

2.5.2   ดินทรายปนชั้นหินมาก

               มีก้อนหินโตๆ  วางสลับอยู่ทั่วไป มักเป็นพื้นที่เชิงเขา  บนเขาของภูเขาหินทรายตามภาคอีสาน  วิธีการปลูกนั้นจะใช้รถไถก็ไม่ได้ จะวางแนวก็ลำบาก เพราะตัวหลุมอาจตรงกับก้อนหินโต  เทคนิคการปลูกอาจต้องแทรกสลับไปตามดินระหว่างหินล้อเลียนธรรมชาติ  เลือกพืชพันธุ์ให้เหมาะดินพอกนี้  สังเกตดูว่าต้นไม้เดิมๆ  ต้นมีขนาดโตแค่ไหนก็แคราะแกร็น ก็แสดงว่าเป็นไปได้แต่ป่าแคระ  หากมีต้นไม้ใหญ่อยู่ได้ขนาดคนโอบก็แสดงว่าดินยังดีมีความหวัง

2.5.3   ดินร่วนทรายบนที่ราบ

               และอาจมีเกลือเค็มขึ้นมา  อย่างนี้ทั้งแล้งทั้งร้อนทั้งเค็ม ต้องเลือกพืชที่ทนเค็มและปรับปรุงสายพันธุ์ที่สามารถปรับตัวได้แล้วเน้นพันธุ์ท้องถิ่น

2.5.4   อื่นๆ

               สำหรับสภาพอากาศนั้นต้องสังเกตุดูตามฤดูกาลต่างๆ

               เดี๋ยวนี้ดูดินฟ้าอากาศยากมักแล้งนาน พอน้ำท่วมไม่ทันไร  เลิกท่วมก็แล้งเลย ให้เทียบกับปีที่แล้วดู

               แต่ละถิ่นฝนมาไม่เหมือนกันบางทีมา  2  ช่วง  คือ  ช่วง  เมษยน  พฤษภาคม  และช่วงสิงหาคม

 กันยายน  หรือต้นเข้าพรรษา  และปลายออกพรรษา

               ปริมาณน้ำฝนก็ไม่เท่ากัน  บางทีก็ตกทั่วฟ้า หากมีรถยนต์ก็ลองวิ่งดูว่าตกผ่านกี่อำเภอ แต่บางทีใกล้ๆ  ตก  แต่บนพื้นที่ตัวเองไม่ตก ห่างกันแค่  2-5  กิโลเมตร  แค่นี้เอง  เช่น  ตกที่เขายายเที่ยว  แต่เขาพริกเขาสะเดาไม่ตกอย่างนี้เป็นต้น

               น้ำเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ไหนน้ำดีชาวไร่จะมีเศรษฐกิจดี  ต้นไม้งาม  คนน่าชื่น  ทายเลยว่าดินดีน้ำดี  ต้นไม้แคระแกรน  คนหน้าเกรียมๆ  ดูเหี้ยมๆ  บ้านไม่ค่อยเป็นระเบียบ  เดาได้เลยว่าดินแย่น้ำน้อย  จำไว้  “น้ำเป็นปัจจัยแห่งเศรษฐกิจ”

               ทางแก้สำหรับที่น้ำน้อย  เขาจะเลือกเวลาปลูกต้นไม้ตอนดินชุ่มเต็มที่ในฝนหนักแรกเพื่อให้ต้นไม้รากติดก่อนฝนแล้ง  เขาจะเตรียมหลุมเตรียมพื้นที่เลย เวลาปลูกจะสั้น ปลูกวันสองวันก็เสร็จ   อีกอย่างก็มีการหาน้ำซับหรือเจาะน้ำบาดาลมมาช่วย

               บางครั้งจะพบว่าต้นไม้รอบๆ  อ่างน้ำ  สระน้ำขนาดใหญ่  เหตุไฉนต้นตะแบก ต้นอื่นๆ  จึงแห้งตาย  ซึ่งปลูกห่างจากขอบสระไม่เกิน  20  เมตร

               ที่ดินติดเขื่อนลำตะคอง  อาจเป็นพื้นที่กันดารขาดน้ำ  ห่างไม่ไกลแค่  2-5  กิโลเมตร  เท่านั้น  สิ่งนี้ก็เป็นโจทย์ท้ำทายน่าคิดว่า  “ทำไม”

               การวัดน้ำฝน  อาจวัดง่ายๆ  โดยการใช้ขวดเบียร์  ฝังดินครึ่งขวด  แล้วเอากรวยมาใส่ปาก  ก็จะวัดสถิติน้ำฝน  จากความสูงของน้ำในขวดได้

               จากเรื่องน้ำก็มาเรื่อง  การระบายลม สังเกตว่าที่ใดระบายอากาศดี  ต้นพริกต้นไม้อื่นๆ  จะเติบโตเร็วด้วย  การทำไร่  การทำสวนต้องคิดถึงการออกแบบช่องทางให้ลมเดินด้วย  หากทึบๆ  แน่นๆ  สังเกตดูมะม่วงไม่เคยออกลูกจะออกเฉพาะตรงที่ลมเข้าถึงเท่านั้น  การโปร่งอาจต้องมีการทำช่องว่างใต้โคนต้นและระหว่างในแต่ละต้นด้วย  จากต้นใหญ่ไล่ลงมาต้นเล็กๆ

               หน้าผาความลาดชันที่แดดส่องทั้งวันจะร้อนมาก  ในขณะที่บางแห่งมีร่มเงาแดดของภูเขาบัง พืชก็จะเติบโตได้ง่ายกว่าการปลูกบนที่ร้อน  จะต้องวัดดูอุณหภูและความชื้นว่า เพียงพอ พอดีหรือเปล่า  ถ้าร้อนมากก็ใช้วัสดุฉนวนมาปกป้อง

2.6 ขนาดหลุมปลูก

               ที่ดินดีขนาดหลุมแค่  50x50x50x ซม.  ดินไม่ดี  ใช้ขนาดหลุม  100x100x100  ซม.  ในทางปฎิบัติขนาดหลุมทำได้ยาก ถ้าดินแข็งมากๆ  วันหนึ่งๆ  อาจขุดได้แค่  2-3  หลุม  เอง 

               ระยะห่างหลุมตามชนิดของต้นไม้  เช่น  ต้นมะขามเทศ  ต้นมะพร้าว  ห่าง  ประมาณ  7-8  เมตร  ต้นผักหวานป่า  1.5x1.5  เมตร

               ขนาดหลุมหากออกแบบให้ต้นไม้โตได้สัก  2  ปี  ก็จะดี  ขนาดหลุมก็โดยประมาณเท่ากระทางต้นไม้ขนาดกลาง

               2.7  ดินก้นหลุม

               เพื่อล่อให้รากลงหากินลึกๆ  จะได้พ้นเขตเปลือกดินแข็ง จะได้ทนแล้วได้ดี  น้ำที่อยู่ผิวดินระยะ  20  ซม.  แรก  จะแห้งมากในฤดูแล้ง  ลึกลงไปจะมีน้ำซับซึมอยู่   จะทำให้ต้นไม้อยู่ได้

               ต้องทำให้ดินก้นหลุมร่วนและมีปุ๋ย โดยเอาปุ๋ยคอกรองก้นหลุม  อาจผสมโพลีเมอร์ลงไปด้วยสักหนึ่งช้อนโต๊ะ  กรณีที่ไม่ใส่น้ำ  หากแช่น้ำพองแล้วก็ใส่สัก  1  ถ้วยแก้ว  ใส่ฟางสั้นผสมสลับใส่ปุ๋ยพืชสดที่เอามาจากแถวๆ  นั้นลงไป  ใส่ขี้เถ้าแกลบอาจใช้จอบเอาดินในพื้นที่หลุม  หรือดินขี้หลุมผสมลงไปสัก  10-20  %  เพื่อให้ต้นไม้ชินต่อดินในพื้นที่ก่อนจะแทรกรากไปหากินจริง

               วางปุ๋ยคอกผสมฟาง  ผสมดิน  ผสมปุ๋ยพืชสด  (ใบไม้ที่ย่อยง่าย)  หรือโพลีเมอร์  เช่นนี้ลงจนเป็นฐานหลุม  การผสมฟางจะทำให้ดินฟองตัวไม่แน่น  เพิ่มอินทรีย์สารในดิน  การผสมขี้เถ้าแกลบจะช่วยทำให้ดินพรุนตัวไม่จับตัวกันแน่น  ให้ปุ๋ยแก่ดินบ้าง

               2.8  ดินกลบต้นไม้

               ใช้ดินปากหลุมผสมฟางขี้เถ้าแกลบ  กลบอัด  เวลาอัดให้แน่น อย่าให้ไปกระเทือนราก  หรือไปรูดราก  จะทำให้ต้นไม้ทนแล้งไม่ได้ในช่วงแรก และตายในที่สุด
               2.9  ระยะปากหลุม

               ในที่แห้งแล้ง ต้องออกแบบให้หลุมลึก  10-20  ซม.  อาจต้องทำร่องดักน้ำผิวดินให้ลงมาที่หลุมด้วย  ร่องชักน้ำเข้าหลุม  อาจเป็นแบบทางเดียว  หรือสองทาง  ขวาง  ความลาดเอียงไว้

               หากที่ร้อนมากๆ  อาจต้องขุดหลุมลึกๆ  ไม่ต้องกว้างปลูกต้นไม้แล้วยอดยังอยู่ในหลุม  (กรณีตัวเล็กๆ)  หลุมดินจะทำให้ต้นไม้ทนต่ออุณหภูมิความร้อน  ที่แดดแผดเผาได้  และ ดักน้ำได้ดี

               2.10  หลักไม้ยึดต้น

               ปักหลักไม้  เพื่อจับยึดลำต้นกล้าไม้  ไม่ให้ปลิวตามลม  และจะทำให้ลำต้นขึ้นตรง

               2.11  ฟางรักษาความชื้น

               ให้เอาฟางหรือหญ้าแห้ง  มารักษาความชื้นหน้าดินไม่ให้แสงแดดทำให้ความชื้นระเหย  เอาฟางไปแช่น้ำก่อนสัก  1  ชั่วโมง  ก่อนนำมาใช้ก็จะดี  คลุมพื้นที่รอบๆ  ต้นกล้าไม้รัศมีอย่างน้อย  1  ฟุต

               ในบางแห่งที่ดินพื้นที่ร้อนมากๆ  ก็อาจใช้ฟางปู  ตั้งแต่ก้นหลุมและข้างหลุมด้วยตลอดจนการทำใส้ตะเกียงสี่ทิศ  ให้ดึงน้ำจากปากหลุมลงรากต้นไม้ได้ง่าย

               2.12  ตอกันคนเดินสดุด

               ปักหลักแล้วสูงจากพื้นดินประมาณ  20-30  ซม.  ประมาณ  3  หลักต่อต้น  เผื่อๆ  ไว้  ห่างจากหลุมขอบหลุมประมาณ  10  ซม.  กันคนเดินสดุดต้นอ่อนโดยพลั้งเผลอ  หลังจากที่เรารื้อซุ้มคลุมต้นไม้ออก  อาจปักตั้งแต่แรกเลยก็ได้  จะได้ไม่ยุ่งยากภายหลัง

               2.13  น้ำรด

               น้ำรดครั้งแรกนี่ก็สำคัญ  เหมือนการเตรียมสเบียงกรังก่อนเดินทางไกล  บางสูตรจะแนะนำให้เทน้ำจนเต็มหลุมครั้งแรกเลย  หลังจากปลูก  หลังจากนั้นก็สัปดาห์ละครั้งเว้นแต่ฝนตก

               การรดน้ำควรรดช่วงแดดอ่อน  รดทั้งใบและต้นได้ก็จะดี

               หากจัดจังหวะดีๆ  ปลูกแล้วอีกไม่นานฝนก็ตก  จะลดขั้นตอนนี้ได้

               การต่อท่อดำพีวี  มาหยดก็จะช่วยได้มากหรือจะต่อสายยางมายืนรดเองก็ได้  เช่นกัน

               2.14  ปลูกเพื่อนพืช

การปลูกพืชทนแล้งนำก่อนก็จะดี  เพื่อเป็นร่มเงาอาจเป็นหญ้า ต้นพริก ต้นมะเขือ  มันสำประหลัง  พืชตระกูลถั่ว  ละหุง  ที่อาจมาปลูกพร้อมดิน  หรือปลูกล่วงหน้าก่อนจนโตได้ที่  แล้วค่อยปลูกพืชหลักที่ต้องการ

               สังเกตว่าต้นมะพร้าวที่ปลูกแล้วใบเหี่ยวแห้งตาย  อาจต้องปลูกเพื่อนพืชก่อน  รักษาดินให้ชุ่มแล้วจึงค่อยปลูกพืชเศรษฐกิจ

               บางไร่นิยมทำไร่ให้โล่งเตียนก่อนปลูกพืชเศรษฐกิจ  ซึ่งต้นไม้จะร้อนมาก  บางแห่งนิยมให้ต้นไม้อื่นขึ้นก่อนคลุมประปราย  แล้วค่อยปลูกพืชเศษรฐกิจ  อย่างนี้พืชจะเย็นตัว  เพื่อนพืชควรเป็นพืชที่เราทำลายได้ง่าย  หากเป็นต้นกระถินจะปราบยากมาก  และเปลืองค่าใช้จ่าย

               ต้นกระถินวิธีการปราบที่ได้ผลดีโดยการตัดต้นให้ขาด  แล้วใช้น้ำยาฆ่าตอยางพรา  (การ์คอน)  ผสมน้ำมันดีเซล  เอาแปรงทาตอที่แผลสดๆ  ต้นจะตาย  หรือใช้ยาฆ่าวัชพืชแรงๆ มาฉีดใส่หลังตัดต้น

               การเตรียมพื้นที่ก่อนปลูกพืชเศรษฐกิจนั้นบางแห่งใช้วิธีเผาป่า  เอาลงหมด  ต้องการดูพื้นที่โล่งๆ  ซึ่งดูเป็นไร่กว้างๆ  วิธีนี้นิยมทั่วไปแต่เวลากู้มันสำประหลังหมด  พื้นที่จะร้อนมากซึ่งไม่ดี  ควรเลือกต้นไม้ใหญ่กระจายเป็นหย่อมๆ  จุดๆ  กระจายไปทั่ว  แต่ยังคงรักษาแสงแดด  อากาศ  ระบายความชื้นกำลังพอดี  บางจุดอาจเหลือให้หนาแน่นเป็นพื้นที่ก็ได้  อย่างนี้ดี

               การปลูกเพื่อนพืช  หรือเหลือต้นไม้ไว้ที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติจะดี  อย่าไปเถียงเรื่องรากต้นไม้มากวนพืชเศรษฐกิจ  ใช้วิธีการไถคัดรากก็ได้  หากไม่สบายใจ

               2.15  ซุ้มโครงไม้ค้ำและวัสดุคลุม

ในการปลูกระยะแรก  อาจใช้ไม้ค้ำสามเส้า  ปักดินรอบ  มัดด้วยเชือกแล้วเอาวัสดุคลุม  มาปังแสงแดด  การบังอาจใช้ฟางมัดคลุมก็ได้

               หากมีทางใบมะพร้าว  ใบหมากก็จะสะดวกเอามาทำซุ้มได้ดี

               การคลุมอาจคลุมด้วย  พลาสติกมุ้งกันยุงมาปิดเย็บเป็นถุงครอบก็ได้  หรือใช้ถุงปุ๋ยพลาสติกมาปิดคลุม

               บางแห่งใช้เข่งไม้ไผ่ที่สานกันห่างๆ  มาครอบก็ได้  เพื่อป้องกันลม  แสงแดด  ไก่เป็ดที่จะมาจิกหรือวัวแพะที่จะมากิน

               โครงไม้แพง่ายๆ  อีกวิธีหนึ่ง  คือ  การใช้กิ่งกระถินปัก  โดยไม่ริดกิ่ง  แล้วใช้ฟางโปรยคลุมตามกิ่ง  ทั้งนี้ให้เปิดช่องตรงกลางให้ยอดต้นไม้โผล่ออกมาด้วย

3.  บทส่งท้าย

               การปลูกพืชในที่ร้อนแล้งดินแข็งนั้น  การดูแลต้นไม้ก่อนปลูก  และหลังปลูกช่วง  2  ปี  แรก  นั้นมีความสำคัญมาก  เพราะหลังจากนั้นก็ลดการดูแลลงได้  เหมือนการดูแลคนตั้งแต่อยู่ในครรภ์และขณะที่ยังเป็นทารกอยู่

               สิ่งที่ต้องสนใจมากในการปลูกพืชในที่แล้งร้อนก็คือ  ความร้อนจากแสงแดด  ความชื้น  โดยต้องเน้นเรื่องการเตรียมหลุม  การทำที่บังแสงแดด  อาจต้องใช้วิธีพิเศษเข้าช่วย  โดยการปลูกเพื่อนพืชก่อนล่วงหน้า

               ให้พยายามใช้สารเคมีมีพิษให้น้อยที่สุด  ใช้เท่าที่จำเป็นจริงๆ  ในกรณีที่หาวิธีการอื่นไม่ได้แล้ว

               พยายามไปดูคนในพื้นที่ว่า เขาปลูกโดยวิธีอะไร  ทำไมจึงได้ผล  พืชบางอย่างทนร้อนไม่เก่ง ต้องขึ้นอิงแอบเพื่อนพืช เช่น  ต้นยอ  ต้นผักหวานป่า  เป็นต้น




 

Create Date : 01 มกราคม 2557
0 comments
Last Update : 1 มกราคม 2557 16:01:25 น.
Counter : 2595 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


Pinsir
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Emo น้องลิง
Emo น้องเพนกวิน
X
X
New Comments
Friends' blogs
[Add Pinsir's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.