...คิดว่ายังมีความหวัง ตราบที่ยังมีลมหายใจ...
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2550
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
8 กรกฏาคม 2550
 
All Blogs
 
เมืองเทวดา ๒



เมืองเทวดา
คำชี้แจง...
นิยายเรื่องนี้เป็นสมมุติเหตุการณ์ แต่พยายามเทียบเคียงและอิงกับเหตุการณ์จริงของบ้านเมือง ซึ่งถ้าท่านมาอ่านแล้ว ก็ขอได้โปรดรับทราบไว้ด้วยว่า จุดมุ่งหมายในการเขียนนิยายเรื่องนี้ ผู้เขียนต้องการเพียงกระตุ้นต่อมธรรมะของผู้คน ให้หวนกลับมาพินิจพิจารณาและใคร่ครวญ วิถีชีวิตบางสิ่งบางอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น แต่ไม่บังอาจสอนหรือชี้แนะผู้ใด นอกจากในสายตาของผู้เขียนมองสภาวะปัจจุบัน ว่าผู้คนห่างธรรมะ และหันไปยึดถือ เทิดทูน วัตถุนิยมเหมือนเป็นพระเจ้าองค์ใหม่ ทำให้วิถีชีวิตแบบพอเพียงซึ่งที่จริงมีมาแต่ดั้ง ๆ เดิม ๆ สมัยปู่ย่า ตายาย ต้องเลือนหาย จนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่รัชกาลปัจจุบันต้องมารื้อฟื้น ดังนั้น “เทวดา” ก็คือ “สัญลักษณ์” เช่นเดียวกับ “ผีดิบ” และยังเป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกับนิยายเรื่อง “เมืองผีดิบ” เพราะนิยายเรื่อง “เมืองผีดิบ” เขียนตั้งใจจะเขียน ๓ ภาค คือภาค ๑ เมืองผีดิบ ภาค ๒ เมืองเทวดา และภาค ๓เมืองพระอริยะ จากนั้นก็จะจบเรื่อง

และเพื่อที่จะให้ท่านผู้อ่านได้อรรถรสที่สมบูรณ์ ผู้เขียนข้อแนะนำให้ท่านซื้อ หรืออ่านนิยาย เมืองผีดิบที่กำลังวางตลาดอยู่ในขณะนี้อ่านดูก่อนนะครับ เรื่องราวจะได้ประสานกัน

อ้อ มีอีกอย่างที่ใคร่จะชี้แจง คือจุดยืนของผู้เขียนในการเขียนนิยายเรื่องนี้ ผู้เขียนมิได้เข้าข้างหรือเชียร์ฝ่ายพรรคการเมืองใด แต่จะเสนอไปตามมโนทัศน์ที่ผู้เขียนมอง จากมุมของผู้เขียนเท่านั้น ขออย่าได้มากล่าวหาว่าผู้เขียนฝักใฝ่พรรคการเมืองพรรคโน้นพรรคนี้

เอาละรับเมื่อทราบจุดมุ่งหมายของผู้เขียนกันแล้ว ก็ขอเชิญทัศนา(อ่าน)นิยาย เมืองเทวดา แบบพอเป็นตัวอย่างไปก่อนนะครับ ก่อนจะไปถึงการรวมเล่มโดยสำนักพิมพ์ ซึ่งอาจจะไม่ได้นำมาลงทุกตอน ทั้งนี้ก็เพื่อ แฮ่ ๆ ท่านดักคอผมถูกต้องแล้วครับ งั้นผมผู้เขียนขอไม่พูดอะไรอีก เชิญรับชมตอนที่ ๒ ได้เลยครับ

เมืองเทวดา
๒.

เมื่อตำรวจทุกนายและข้าราชการฝ่ายอำเภอ กลับมาถึงที่ว่าการอำเภอและโรงพักซึ่งอยู่ใกล้กัน ปลัดทับ ทิวทอง รักษาการในตำแหน่งนายอำเภอ และ พ.ต.ต.มหิทธิ์ มนศักดิ์ สวป.รักษาการ สวญ.สภ.อ.ทิวสน ก็เห็นผู้คนในตลาดทิวสน พากันมาชุมนุมกันอยู่ที่หน้าโรงพักประมาณ ๑๐๐ คน และมีพลตำรวจจำนวน ๑๐ กว่า นาย ที่ พ.ต.ต.มหิทธิ์ มนศักดิ์ มอบไว้ให้อยู่เฝ้าโรงพัก กำลังช่วยปลอบขวัญ ซึ่งชาวบ้านที่มา ต่างพากันร้องเรียนว่า

“สวป. วิเวกกับบริวารสาว ๗ คนเข้ามาไล่จับคนในตลาด เพื่อจะกัดคอแล้วดูดเลือด”

บางคนพูดว่า “สวป.วิเวก กับบริวารสาว เที่ยวเคาะและพังประตูบ้าน พวกเราเลยต้องวิ่งมารวมตัวกันที่นี่”

พวกที่สองคือพวกที่มีบ้านอยู่รอบนอกของตลาด เช่นตำบลทิวสน โคชุม คอกม้า และทะเลสาบ ซึ่งพอได้รับแจ้งจากปากชาวบ้าน จ่าฉ่ำ ชื้นแฉะ และ ด.ต.สานิตย์ จิตวิปลาต ก็มากระซิบกับ พ.ต.ต.มหิทธิ์ มนศักดิ์ และปลัดทับ ทิวทองว่า

“ชาวบ้านพวกนี้เป็นพวกถือศีลกินมังสวิรัติ ไม่ใช่พวกเรา ตอนที่ สส.ของเราลงสมัครรับเลือกตั้งพวกนี้ไม่ลงคะแนนให้พวกเราแต่ไปลงให้ไอ้พรหมพงศ์ ไล่พวกมันกลับไปเถอะ อย่าไปรับฟังข้อร้องเรียนของมัน”

แต่ปลัดทับ ทิวทอง แม้จะรู้ว่าชาวบ้านบางกลุ่มบางคนไม่ใช่พวกของตน แต่วินัยของนักปกครองจะไปทำให้ชาวบ้านเกลียดชังโดยไม่จำเป็นไม่ได้ จึงพูดจาหวานแบบนักการเมืองว่า

“โอ… พี่น้องตาฝาดไปหรือเปล่า ท่าน สวป.วิเวกท่านป่วยแล้วก็ยังต้องให้หมอรักษาอยู่ ท่านไม่ลุกมาเดินเคาะประตูบ้านใครที่ไหนได้หรอก…อย่าไปเชื่อข่าวลือ”

“แต่เราเห็นจริง ๆ เห็นกันทุก ๆ คน” ชาวบ้านผู้ชายในตำบลทิวสนคนหนึ่งยืนยัน

ทำให้ พ.ต.ต.มหิทธิ์ มนศักดิ์ ถึงกับอึ้งไป ส่วนตำรวจด้วยกันที่แม้จะเป็นสมาชิกของสมาคมชีวิตอมตะ ก็ไม่ชอบที่จะต้องเจอกับผีดิบ พ.ต.ต.วิเวก สร้างโศกและบริวารทั้ง ๗ แม้ตำรวจที่เป็นลูกน้องของ สวป.วิเวก สร้างโศก จะคอยพูดจาให้เข้าใจว่า

“ท่านตายแล้วฟื้น”

ทว่าพอมาถึงตอนนี้ จากพฤติกรรมที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ซาก ๆ ทั้งตำรวจและชาวบ้าน ที่แม้จะศรัทธามาสมัครเป็นสมาชิก เพราะเชื่อว่าจะได้เป็นบุคคลที่มีชีวิตเป็นอมตะ ไม่แก่ ไม่เฒ่า ไม่เจ็บไม่ป่วย และไม่ตาย และเคยพูดกันว่า

“เรื่องความเป็นอมตะไม่ใช่เรื่องที่พูดกันแบบลอย ๆ แต่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า เลือดในตัวของเราเป็นของได้มาฟรี ๆ… ร่างกายของเราสามารถสร้างเลือดใหม่มาทดแทนเลือดเก่าได้ตลอดเวลา ผู้ใดที่ได้มีการถ่ายเลือดออกไปทุก ๆ เดือน จะทำให้มีเลือดดี จะเป็นหนุ่มเป็นสาว หน้าตาผ่องใสตลอดเวลา”

บางคนพูดว่า “ดูพวกที่บริจาคเลือดปีละหลายหนซี พวกนั้นหน้าตาแด๊ง - แดง ดูหล่อ ดูหนุ่มสาวกว่าเก่า… แล้วนี่เขาก็ไม่ได้มาเอาของเราไปแบบฟรี ๆ แต่เขาจะมีค่าตอบแทนแบบปันผลปลายปี เขาจะทำให้เราอยู่ดีกินดี…แต่ความจริงแค่เขาทำให้เรามีชีวิตแบบอมตะ ฉันว่ามันก็คุ้มสุดคุ้ม ก็ลองคิดดูซี ใครเคยมีหน้าตาอย่างไร ก็จะเป็นอยู่อย่างนั้นตลอดไป…”

คนหนึ่งพูดในเชิงชักชวนให้คนที่ไม่เคยเข้า มาเข้าเป็นลูกข่าย…

“แบบนี้ฉันสามารถจีบเด็กเทคนิค เด็กอาชีวะได้ตลอดกาล ฉันยอมถวายเลือดในกายให้ตลอดไปเลย เชิญมาดูดเอาไปเถอะ สิบห้าวันครั้ง ฉันไม่วอรี่เพื่อแลกกับการได้เป็นหนุ่มตลอดไป”

พวกหัวงู หัวพญานาค(ใหญ่กว่างู)ต่างเห็นด้วยแถมดีใจ แต่บางคนแย้งว่า “ไอ้ที่นายพูดนั่นมันก็มีส่วนจริง การได้ถ่ายเลือดทุก ๆ เดือนจะทำให้เราได้เลือดที่ร่างกายสร้างใหม่มาหมุนเวียน ทำให้ร่างกายแข็งแรง ที่สำคัญคือไม่แก่ แต่ว่าถ้าโดนพวกโหงพรายหรือผีดิบถาวรดูดเลือดเข้าสักครั้งละก็ เฮอะ เฮ่อ…พวกเราจะกลายเป็นมหาอมตะนิรันดร์กาล คือ เป็นผีดิบถาวรตลอดกาล ใครจะเอาบ้างล่ะ?”

“ใช่ ๆ แบบนั้นนะใครฆ่าก็ไม่ตาย ไม่ตายจริง ๆ เลย เป็นอมตะแน่นอน… แต่ว่าเป็นอมตะแบบผีดิบ เฮอะ ๆ ๆ ใครอยากเป็น เชิญเป็นกันไปเถอะแต่ฉันไม่เอาด้วย…”

ชาวบ้านที่สมัครเป็นสมาชิกแล้วเพิ่งรู้ตัวว่าสงสัยจะหลงผิดแย้ง และหัวเราะอย่างขื่น ๆ เพราะตอนนี้ต่างรู้สึกหวั่นเกรง “ผีดิบ สวป.วิเวก” กันถ้วนหน้า ส่วนชาวบ้านที่เคยเป็นพวกพ้องของนายอำเภอเกียรติศักดิ์ พ.ต.ท.พรหมพงศ์ และปลัดบุญฤทธิ์ ที่ยังยึดมั่นอยู่ในใจว่า

–จะไม่ยอมเป็นสมุนบริวารของขบวนการผีดิบ- ก็ต่างยังกินอาหารมังสวิรัติพร้อมกับเร่งระดมปลูกพืชผักสมุนไพรไว้ในบ้าน ตามคำแนะนำของหลวงพ่อกฤติยา และอดีตนายอำเภอเกียรติศักดิ์ รักเกียรติภูมิ นายอำเภอคนเก่า ก็ได้แต่ฟัง… ฟังแล้วก็ส่ายหน้าและขยิบตาให้กัน ในทำนองว่า
“ระวังอย่าไปพูดแสดงตัวในทางต่อต้าน ให้พวกขบวนการผีดิบรู้ว่าพวกเราไม่ใช่พวกมันเข้าก็แล้วกัน”
................

ลึกเข้าไปจากถนนสายเอเชีย ๔๑ หรือถนนสายชุมพร – สุราษฎร์ โดยแยกเข้าถนนหลวงหมายเลข ๔๐๐๖ หรือถนนสายหลังสวน-พะโต๊ะ ระยะทางจากถนนเอเชีย ๔๑ เข้าไปประมาณ ๒๐ กว่ากิโลเมตร ก่อนเลี้ยวซ้ายเข้าไป ตามถนนลูกรังอีกประมาณ ๗ กิโลเมตร ในตำบลปากทรง อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร

รถจิ๊ปสมัยใหม่แบบที่เรียกว่ารถโฟร์วีลหรือขับเคลื่อน ๔ ล้อ คันหนึ่ง กำลังแล่นเอื่อย ๆ เข้ามาในถนนซอยกลางป่า บนรถจิ๊ปคันดังกล่าวมีชายหนุ่มร่างโปร่ง ผิวค่อนข้างขาว หน้าตาดี ตัดผมรองทรง อายุประมาณ ๓๐ ปี เป็นคนขับ และหญิงสาวร่างโปร่ง ผิวใส หน้าตาสวย ไว้ผมยาว แต่ผูกโบรวบไว้ด้านหลัง อายุประมาณ ๒๕–๒๖ ปี นั่งมาข้าง ๆ

ส่วนที่เบาะหลังมีชายหนุ่ม ๒ คน คนที่นั่งด้านซ้าย ผิวค่อนข้างคล้ำ หน้าตาแบบชาวบ้าน ตัดผมสั้นเกรียน อายุประมาณใกล้ ๆ ๓๐ ปี ชายหนุ่มที่นั่งด้านขวา ผิวขาวและหน้าตาดีกว่าคนนั่งซ้าย ไว้ผมทรงต่ำจอนหนาตามสมัยนิยม อายุประมาณ ๒๕ ปี รูปร่างล่ำสัน และเด็กชายอายุราว ๔ ขวบเศษ อีก ๑ คน นั่งอยู่ระหว่างกลางชายหนุ่มทั้งสอง

เด็กชายมีหน้าตาน่ารักน่าเอ็นดู ซึ่งทั้งหน้าตาและผิวพรรณ ดูประพิมพ์ประพายคล้าย ๆ กับชายหนุ่มที่ขับรถ และหญิงสาวผู้นั่งข้าง ๆ ชายหนุ่มคนขับ ทุกคนแม้แต่เด็กชายแต่งกายชุดยีนส์ เสื้อแจ๊กเก็ตยีนส์ และสวมรองเท้าผ้าใบ

ขณะนั้นทั้งชายหนุ่ม ๒ คนที่นั่งหลัง และเด็กชายที่นั่งกลาง ต่างตื่นเต้นและตื่นตาตื่นใจกับธรรมชาติที่อยู่สองข้างทาง และเด็กชายได้แต่ถามโน่นถามนี่ตลอดเวลา ไม่ถามผู้เป็นพ่อก็ถามแม่ที่นั่งหน้า หรือไม่ก็จะถามสองหนุ่มที่นั่งขนาบสองด้านของตน

“อู้ว์ ที่นี่เป็นป่าทั้งนั้น แล้วเขาไปซื้อของกินของใช้กันที่ไหนละคุณแม่”

“จะซื้อของกินของใช้ก็ต้องออกไปซื้อในตลาดซีลูก ตลาดที่เราแวะซื้อเมื่อตะกี๊”

“งั้นในนี้ก็ไม่มีของเล่นนะซี แล้วคุณตาเกียดเข้ามาอยู่ได้ยังไง?” เด็กชายยังคงถามต่อ

“ก็อยู่แบบสงบ ๆ อยู่กับสวนและธรรมชาติ เหมือนที่เราอยู่ที่แม่ยาว เชียงรายไงละลูก พออยากจะซื้ออะไรก็ค่อยขับรถออกไปตลาด” หญิงสาวผู้เป็นแม่ตอบลูกชาย
ขณะนั้นในมือของเด็กชาย ถือปืนของเล่นพลาสติกเป็นปืนยาว โดยคอยเหนี่ยวไกยิงเล่นเสียงดังป๊อกๆแป๊ก ๆ มาตลอดทาง และยังยืนยันกับหนุ่มทั้งสองคนที่นั่งข้างว่า

“ถ้าน้องจอมไปถึงบ้านคุณตาเกียด น้องจอมจะยิงเสือ และยิงหมู่ป่า”

ทำให้ชายหนุ่มที่นั่งด้านขวาถามว่า “น้องจอมจะยิงเสือกับหมูป่าทำไมละลูก พวกเราถือศีลห้ากันนะ ศีลเขาห้ามฆ่าสัตว์”

“อ้าว!” เด็กชายลืมไปแต่แล้วก็ตอบอย่างฉลาดว่า “ก็เผื่อว่าเสือมันจะมากัดเรา เราก็ต้องยิงขู่ให้มันกลัว ส่วนหมูป่ามันชอบมาขโมยขุด ต้นเผือกมันที่คุณตาเกียดปลูกไว้ น้องจอมจะยิงไล่ให้มันตกใจ น้องจอมไม่ยิงมันจริง ๆ ก็ได้ กัวบาป”

แล้วเด็กชายก็ลุกขึ้นยืนเกาะพนักพิง ตรงระหว่างกลางเบาะที่พ่อกับแม่นั่ง พลางหันมองป่ารอบทิศอย่างสนใจเป็นพิเศษ

หลังจากลาออกจากราชการ อดีตปลัดบุญฤทธิ์ แสงเพชร ได้สู่ขอจิราพัชรเป็นภรรยา จากนั้นเธอก็ตามเขาไปอยู่จังหวัดเชียงราย ทั้งสองได้ซื้อสวนเก่าจากชาวบ้านแปลงหนึ่ง ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ ๗๐ ไร่ เป็นสวนลำไยกับลิ้นจี่ และได้อาศัยชัชกับอ่อน ที่ขอติดตามครอบครัวเธอไปอยู่ด้วยช่วยกันทำสวน จนทั้งสองมีลูกชายคนแรก ซึ่งจิราพัชรกับอดีตปลัดบุญฤทธิ์ ตั้งชื่อเล่นให้ว่า “จอม” และชื่อจริง “จอมภพ แสงเพชร” อ่อนกับชัชก็ยังอยู่ช่วยกันเลี้ยงดูเด็กชายจอมภพ จนเด็กชายติดสองหนุ่มแจ แม้นั่งมาในรถ

“น้องจอมขอนั่งตรงกลางระหว่างอาอ่อนกับน้าชัช” เพื่อจะได้เล่นกันให้สนุก

ส่วนอดีตปลัดบุญฤทธิ์ แสงเพชร หากใครเคยรู้จักเขาเมื่อช่วง ๔-๕ ปีที่ผ่านมา ถ้าวันนี้คน ๆ นั้นมาพบเห็นอีก ก็คงจะต้องพูดกันว่า เมื่อก่อนเขาเคยเป็นคนผิวขาวแต่ปัจจุบันเขาดูคล้ำ ๆ ส่วนรูปร่างที่เคยโปร่งบางคล้ายพระเอกลิเก พอมาถึงวันนี้ก็เปลี่ยนไปเป็นดูหนาและบึกบึนขึ้น หน้าตาก็ดูหล่อและคมเข้มกว่าเดิม จิราพัชรเองผิวที่เคยคล้ำ ๆ กลับขาวมากขึ้น จากการที่ไปอยู่ในที่ ๆ อากาศเย็นบนเขาบนดอย

ทว่าปีนี้เป็นปีที่ ๕ ที่เธอตัดสินใจว่า ถึงเวลาแล้วที่เธอจะต้องผละจากเด็กบนเขาดอย หันมาเอาใจใส่ครอบครัว โดยเฉพาะคอยดูแลลูกชายซึ่งอายุได้ ๔ ขวบเศษ และปีนี้ที่เธอบอกกับสามีว่า…

“จิว่าจะกลับไปเยี่ยมพ่อกับแม่ที่ชุมพร ไม่รู้ว่าตอนนี้ขบวนการผีดิบไปถึงไหนแล้ว”

สามีของเธอหรืออดีตปลัดบุญฤทธิ์ แสงเพชร จึงได้พูดว่า
“พี่ก็คิดอยู่พอดีว่าจะกลับไปเยี่ยมพ่อกับอาพร้อม แล้วก็จะเลยไปเยี่ยมท่านนายอำเภอเกียรติศักดิ์ด้วย ไม่รู้ว่าท่านไปอยู่ที่พะโต๊ะแล้ว พวกขบวนการผีดิบจะตามไปรังควานท่านถึงที่นั่นไหม พอดีพี่ได้รับจดหมายจากปลัดต้น ต้นเขาเขียนเล่ามาว่า ภาคใต้หลายจังหวัดพวกขบวนการผีดิบแฝงตัวลงสมัคร สส.ได้ตั้งสามสิบกว่าคน และพวกมันส่วนหนึ่งได้เข้าร่วมอยู่ในรัฐบาล ถ้าเป็นแบบนี้เราหนีไปอยู่ที่ไหน ๆ ในประเทศก็ไม่พ้นพวกมัน”

แล้วทั้งคู่ก็ตัดสินใจขับรถจิ้ปโฟร์วีลมาเองโดยพาชัชกับอ่อนมาด้วย

“น้องจอมจะมานั่งกับคุณแม่ไหมลูก ถ้าอยากนั่งกับคุณแม่ก็มา” จิราพัชรถามลูกชาย เพราะเห็นลูกชายผุดลุกผุดนั่ง เผื่อจะได้มองอะไรให้ถนัด ๆ ขึ้น ถ้ามานั่งตอนหน้า

“ไม่ น้องจอมยืนตรงนี้ ไม่กวนคุณแม่ด้วย คุณแม่จะได้นั่งให้สบายๆ”

“งั้นลูกก็อย่ากวนอาอ่อนกับน้าชัดมากนักนะลูก”

“ฮับ น้องจอมไม่กวนหรอกฮับ แต่น้องจอมอยากรู้อะไร น้องจอมก็ต้องถาม ถามอาอ่อนมั่ง ถามน้าชัดมั่ง ถามคุณแม่มั่ง - ถามคุณพ่อมั่ง” เด็กชายพูดยังไม่ชัดแต่ช่างพูดเกินเด็กวัย ๔ ขวบ

“อาอ่อนกับน้าชัดยินดีให้น้องจอมถามได้ทุกอย่าง ถามมาเถอะครับถ้าอาอ่อนรู้น้าจะตอบให้หมด…” นายอ่อนอดีตคนยามเฝ้าตลาดพูด

“งั้นน้องจอมจะถามอาอ่อนว่า คุณตาเกียดเป็นนายอำเภออยู่ดี ๆ แล้วทำไมไม่เป็นต่อ ทำไมมาทำสวนอยู่ในดงในป่า? คุณพ่อก็เหมือนกันเคยเป็นถึงผู้ช่วยคุณตาเกียด เป็นผู้ช่วยนายอำเภอ แล้วทำไมจึงลาออก”

เด็กชายถามเข้าเรื่องที่สำคัญ เพราะเด็กชายเคยรู้จากคุณครูและเพื่อน ๆ ที่โรงเรียนว่า ถ้าคุณพ่อของใครเป็นนายอำเภอหรือปลัดอำเภอ หรือมีคุณแม่เป็นข้าราชการ เด็กคนนั้นจะโก้มาก จะมีหน้ามีตาในสังคม จะมีแต่คนที่นับถือและยำเกรง และครูก็ยังเคยถามน้องจอมแบบเปรย ๆ ว่า
“ทำไมจ๊ะ พ่อของน้องจอมเคยเป็นถึงปลัดอำเภอ แล้วแม่ก็เคยเป็นครูเป็นข้าราชการ ทำไมคุณพ่อกับคุณแม่มาเปลี่ยนเป็นชาวสวน เคยทำผิดอะไรมาหรือจึงถูกให้ออกจากราชการ”

ซึ่งน้องจอมตอบไม่ได้ และคิดอยู่ในใจว่า ‘สักวันจอมจะถามคุณพ่อกับคุณแม่’ แล้ววันนี้ก็ได้โอกาส

ทำให้ชัชกับอ่อนมองหน้ากันและไม่กล้าตอบ ส่วนกับจิราพัชรเองน้องจอมก็เคยถามว่า…

“ทำไมคุณแม่ไม่เป็นคุณครูตามพื้นราบ ขี่รถเครื่องไปสอนสบาย ๆ แบบคุณครูตุ้ม คุณครูต๋อย” ซึ่งทั้งสองครู สอนโรงเรียนใกล้บ้านบนพื้นราบ ที่เธอนำน้องจอมลูกชายไปฝากเข้าเรียนตั้งแต่พออายุได้ ๓ ขวบเศษ และเด็กชายยังเคยถามต่อไปว่า

“คุณครูตุ้ม คุณครูต๋อยมีเงินเดือน… คุณแม่ไปสอนเด็กบนเขา ได้เงินเดือนหรือเปล่า?”

เธอก็ตอบลูกแต่เพียงว่า “เด็กตามพื้นราบมีคนอยากสอนอยู่เยอะแล้วลูก แต่เด็กบนเขา บนดอยไม่มีใครอยากไปสอนเขา คุณแม่อยากให้เขาฉลาด เขาจะได้ไม่เสียเปรียบคนที่อยู่ตามพื้นราบ”

เด็กชายก็แย้งว่า “คุณแม่ไปสอนเด็กบนดอยมาหลายปีแล้ว ตั้งแต่ทางขึ้นดอยยังไม่มีถนน ตอนนี้บนดอยมีถนน มีไฟฟ้า มีรถยนต์ ชาวเขาบางคนเขารวยกว่าคุณแม่เสียอีก น้องจอมว่าคุณแม่ลงมาสอนข้างล่างบ้างเถอะ ผลัดให้คนอื่นเขาไปสอนแทนคุณแม่บ้าง”

คำ ๆ นี้เธอรู้ว่าลูกชายไม่ได้พูดเอง แต่จำมาจากคำของคนอื่นบนพื้นราบ เมื่อเห็นว่ามีหน่วยงานต่าง ๆ ขึ้นไปพัฒนาช่วยเหลือชาวเขา จนชาวเขาบางครอบครัวอยู่ดีกินดีกว่าชาวพื้นราบ ชาวเขามีรถยนต์ รถจักรยานยนต์และทีวี มีรายได้จากการพานักท่องเที่ยวขึ้นไปเที่ยวบนดอย และเธอเริ่มหาข้ออ้างมาอ้างกับลูกชาย ยากขึ้นทุกที ขณะที่เมื่อปรึกษากับปลัดบุญฤทธิ์สามี เขากลับตอบสั้น ๆ

“แล้วแต่แม่ พี่ขอไม่ออกความเห็นเรื่องนี้”

และในรถเด็กชายยังไม่ละความพยายามที่จะถามว่า

“ทำไมคุณตาเกียดต้องออกจากนายอำเภอไปทำสวน แล้วแถมยังเข้ามาอยู่ในป่าในดงที่แสนลำบาก ทั้งคุณตาเกียดและคุณพ่อเคยทำผิดอะไรหรือ?”

ซึ่งทำให้จิราพัชรลำบากใจ ที่ผ่าน ๆ มาเธอพยายามเลี่ยงและตัดบทไม่ให้ลูกถาม เพราะรู้ว่าเป็นคำถามที่ตอบยาก มันไม่ใช่เรื่องที่เด็ก ๆ ซึ่งยังบริสุทธิ์ไร้เดียงสา จะพึงรู้ในเรื่องของการเมือง แต่สำหรับวันนี้เห็นทีจะต้องพูด ทว่าอดีตปลัดผู้เป็นสามีรีบพูดกับลูกชายว่า

“ในอำเภอทิวสน บ้านของคุณตา มีโจรชั่วกลุ่มหนึ่งซึ่งมีอิทธิพลมาก โจรชั่วนั้นมีพวกข้าราชการจำนวนหนึ่งเป็นพวก…” อดีตปลัดหนุ่มเลี่ยงที่จะไม่กล่าวคำว่า “ขบวนการผีดิบ” เพราะเด็กชายจอมยังเล็กเกินไปที่จะเข้าใจคำ ๆ นี้ เช่นเดียวกับคำว่า “อิทธิพล” ซึ่งน้องจอมก็ถามทันทีว่า
“อิทธิพล คืออะไรฮับ”

ละอดีตปลัดบุญฤทธิ์ลืมไปว่า คำยาก ๆ น้องจอมไม่เข้าใจ จึงรีบอธิบายว่า

“อิทธิพล แปลว่า มีพวกพ้องที่เป็นคนชั่วด้วยกันสนับสนุนอยู่ ในหมู่คนที่เป็นข้าราชการก็มีคนชั่วอยู่มาก คุณตาเกียดกับพ่อไม่สามารถที่จะต่อสู้กับคนชั่วพวกนั้นได้ จึงต้องลาออกมาเป็นชาวบ้านธรรมดา แล้วก็มาทำสวนเพราะสบายใจกว่า”

“แต่อาอ่อนบอกว่า ถ้าพ่อยังรับราชการเป็นปลัดอำเภอ ป่านนี้พ่อได้เป็นนายอำเภอแล้ว จอมอยากให้พ่อเป็นนายอำเภอ ผู้คนจะได้นับถือแล้วก็เกรงกลัว น้องจอมจะได้โก้ที่ได้เป็นลูกนายอำเภอ”

“โอ… นี่น้องจอมคงไปได้ยินได้ฟังอะไรจากคำของชาวบ้าน ที่ยึดติดในความเป็นจ้าวเป็นนายมาอีกแล้วซี” อดีตปลัดบุญฤทธิ์ แสงเพชร ได้แต่ถอนใจและหันมามองชัชกับอ่อน

ขณะนั้นรถโฟร์วีลที่เขาขับแล่นไปช้า ๆ และในป่าไม่มีรถสวน และจากสภาพถนนรู้สึกว่า จะมีรอยรถยนต์แล่นเข้าออกอยู่คันหรือสองคัน และคงไม่ได้เข้าออกทุกวันถนนจึงไม่เป็นหลุมบ่อ จะมีก็แต่ใบไม้ที่ปกคลุมหนาบางที่ไม่เห็นพื้นดิน ยามโดนล้อรถเหยียบมีเสียงดังกรอบแกรบ

“ผมไม่ควรเล่าให้น้องจอมฟังใช่ไหมครับ ว่าพี่บุญฤทธิ์เคยเป็นปลัดอำเภอ?” ชัช บุญช่วย ชักร้อนตัวเพราะตนเคยเล่าให้น้องจอมฟังว่า อดีตปลัดบุญฤทธิ์และอดีตนายอำเภอเกียรติศักดิ์ มีความเป็นมาอย่างไร ให้เด็กน้อยฟัง

“พี่ไม่ได้ว่าอะไรแต่หวังว่าเธอคงไม่เล่า… อะไร ๆ ที่เคยเกิดขึ้น ให้น้องจอมฟังเสียจนละเอียดยิบนะ”

“ครับ เราสองคนเข้าใจดี” ชัชตอบเพราะรู้ดีว่าไม่ควรเล่าเรื่องขบวนการผีดิบอันน่ากลัวให้เด็กเล็ก ๆ ฟัง และอดีตปลัดหนุ่มก็หันไปพูดกับลูกชาย

“ตอนนี้ถึงพ่อจะยังไม่ลาออก พ่อก็ยังไม่ได้เป็นนายอำเภอหรอก ปลัดอำเภอที่จะขึ้นไปเป็นนายอำเภอ จะต้องอายุสี่สิบห้าสิบโน่นแหละ การเป็นนายอำเภอไม่ใช่จะเป็นกันได้ง่าย ๆ เอาเถอะถ้าเมื่อใดโจรพวกนี้ถูกจ้าวนายที่สูงกว่าคุณตาเกียรติสามารถปราบได้ พ่อกับตาเกียรติอาจจะกลับเข้ารับราชการอีกครั้งก็ได้”

หลังจากอดีตปลัดบุญฤทธิ์ แสงเพชร ขับรถแล่นเอื่อย ๆ เข้ามาในซอย ซึ่งสองฟากทางมีสวนผลไม้ อันประกอบด้วยไม้ผลจำพวก มังคุด เงาะ ทุเรียน ลองกอง ลางสาด สะตอ เนียง และพืชกินผลชนิดต่าง ๆ รวมทั้งไม้ป่า ทั้งสองก็เห็นป้ายเขียนว่า “สวนธรรมชาติเกียรติภูมิ” และมีทางแวะอยู่ด้านซ้าย จึงขับรถจิ้ปขับเคลื่อน ๔ ล้อลอดต้นไม้ต่าง ๆ ทั้งไม้ป่าและไม้ผลนานาชนิดเข้าไป

จากสภาพสวนพอดูออกว่า ไม่มีการขุดดัน ตัดโค่น หรือเผาทำลายไม้เดิม ๆ ออกแล้วจึงปลูกใหม่อย่างที่ชาวสวนทั่ว ๆ ไปทำกัน แต่เป็นการนำต้นไม้ผลมาปลูกแซมกับไม้ป่า แล้วคอยดูแลให้มันเติบโตไปตามธรรมชาติ ทำให้ระยะเวลา ๔ ปีเศษที่ผู้เป็นเจ้าของได้มาปลูกสร้าง ต้นไม้ที่ปลูกไม่เติบโตอย่างต้นไม้ตามสวนทั่ว ๆ ไป ซ้ำผู้ที่มายึดครองเป็นเจ้าของก็คงไม่คิดปลูกเพื่อขายผลผลิต แต่เป็นการมาอยู่เพื่ออยู่กับป่าเสียมากกว่า

หลังจากขับรถเข้ามาจากถนนซอยประมาณ ๒๐๐ เมตรทุก ๆ คนที่นั่งอยู่บนรถจิ้ปก็มองเห็นบ้านไม้ทรงไทยหลังใหญ่ แบบทรงไทยภาคกลาง ใต้ถุนสูงเลยศีรษะ หลังคามุงด้วยกระเบื้องหางเหยี่ยวสีแดง แผ่นเล็กๆ แบบที่ใช้มุงหลังคาโบสถ์ บริเวณรอบบ้านจัดเป็นสวนร่มรื่น ด้วยพืชสมุนไพร พืชสวนครัวและไม้ประดับ

อดีตปลัดบุญฤทธิ์ แสงเพชร จอดรถที่ลานบ้านใต้ร่มไม้ ก่อนดับเครื่องแล้วก้าวลงมาจากที่นั่งคนขับ มายืนสำรวจดูรอบ ๆ ตั้งแต่หน้าบ้านถึงใต้ถุนบ้านแล้วรำพึงอยู่ในใจ…
“โอ้โฮ ท่านมาสร้างบ้านไว้กลางธรรมชาติ ช่างสวยงามเหลือเกิน ราวสวรรค์เนรมิตก็ไม่ปาน”

บริเวณก่อนจะขึ้นบันไดบ้าน มีไม้ประดับเป็นไม้กระถางและอ่างบัว กระถางเล็ก ๆ จัดตกแต่งไว้อย่างสวยงาม บัวหลายพันธุ์กำลังบานสะพรั่งมีทั้งสีชมพู สีม่วง สีแดง สีเหลืองและสีขาว มีกระถางใหญ่ปลูกบัวหลวงสีขาวและสีชมพูอยู่อีกอย่างละสี่ห้ากระถาง นอกนั้นเป็นไม้ดอกที่มีกลิ่นหอม เช่น กุหลาบ ราตรี มะลิ ฯลฯ ขณะที่อดีตปลัดหนุ่มยืนชมตัวบ้านและสิ่งแวดล้อมรอบบ้าน จิราพัชร จอมภพ อ่อน และชัชก็มายืนอยู่ข้างๆ พลางมองบ้านทรงไทย ที่เหมือนเอาศิลปะสถาปัตยกรรมชั้นสูงมาไว้ในป่า

“ทำไมบ้านคุณตาเกียดคล้าย ๆ วัดละพ่อ” เด็กชายจอมถาม เพราะไม่เข้าใจเรื่องบ้านทรงไทย เมื่อมองขึ้นไปบนหลังคา เห็นปั้นลมและตัวเหงาปั้นลม มีลักษณะคล้าย ๆ หลังคาโบสถ์วิหาร

“เขาเรียกบ้านทรงไทยลูก บ้านแบบนี้ตอนนี้หาดูยาก คุณตารักบรรยากาศแบบไทยโบราณ จึงสร้างบ้านแบบนี้” อดีตปลัดหนุ่มตอบลูกไปตามที่ตนเองคิด และยืนพิจารณาต่อไป

ส่วนประกอบของบ้านเป็นไม้ทั้งสิ้น ยกเว้นใต้ถุนที่เทคอนกรีตแล้วปูด้วยกระเบื้องดินเผาสีแดง บันไดทางขึ้นตัวบ้านช่วงแรก มี ๕ ขั้น สร้างขนานกับตัวบ้านแล้วจึงทำเป็นตะพักหรือที่พักบันได จากตะพักจึงหักมุมขึ้นสู่ประตูบ้าน เป็นขั้นบันไดไม้อีก ๗ ขั้น หัวเสาที่ใช้ยึดราวบันไดรั้วลูกกรงตรงที่พักบันได และหัวเสาที่ใช้ยึดราวระเบียงทุกตัว กลึงกลมแบบหัวเม็ดทรงมัน ทำให้รู้ขรึมขลังเหมือนก้าวเข้าไปสู่ยุคสุโขทัยหรืออยุธยา

สุดขั้นบันไดช่วงที่ ๒ มีซุ้มประตู บานประตู ๒ บานปิดอยู่ ทำให้เห็นว่าตัวเรือนแบ่งเป็น ๒ หลังแล้วต่อเชื่อมด้วยนอกชาน ทว่าบนบ้านขณะนั้นเงียบสงัดราวกับไม่มีผู้คนอาศัย…

“สงสัยท่านจะเข้าไปอยู่ในสวนตรงที่ใดที่หนึ่ง เราลองเข้าไปเดินเล่น ๆ ในสวนกันเถอะ” อดีตปลัดบุญฤทธิ์กล่าวกับทุก ๆ คน



Create Date : 08 กรกฎาคม 2550
Last Update : 8 กรกฎาคม 2550 14:16:59 น. 0 comments
Counter : 1227 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

pantamuang
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 22 คน [?]




ไม่อยู่อย่างอยาก แต่ยังอยากจะอยู่
อยู่อย่างไม่ลำบาก เวลาที่เหลือน้อยรีบสอยรีบคว้า
ก่อนจะหมดเวลาให้สอย

ดวงดาวบนฟ้าก็สอยได้ ถ้ารู้จักต่อด้ามฝันให้ยาวพอ

ฝันถึงไหนก็ได้ มีสิทธิ์ฝัน แต่จะเป็นจริงหรือไม่ช่างฝัน
เพราะสิ่งที่ฝันคือนวนิยาย..

ชีวิตก็คือนวนิยายเรื่องหนึ่ง ที่เราเป็นผู้เขียนและกำกับ.

เริ่ม 9 กันยายน 2550

Friends' blogs
[Add pantamuang's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.