...คิดว่ายังมีความหวัง ตราบที่ยังมีลมหายใจ...
Group Blog
 
 
มิถุนายน 2550
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
19 มิถุนายน 2550
 
All Blogs
 
ปกเกาะลอยหมู่บ้านประหลาด




Create Date : 19 มิถุนายน 2550
Last Update : 19 มิถุนายน 2550 15:34:39 น. 6 comments
Counter : 2255 Pageviews.

 
ที่มาของเกาะลอยหมู่บ้านประหลาด

มาจากเรื่องเล่าของชายชราคนหนึ่ง ชื่อ คุณตาเย็น คุณตาเย็นได้เล่าเรื่องนี้ให้ไพบูลย์ พันธุ์เมือง ฟัง ตอนที่ ไพบูลย์ พันธุ์เมือง อายุ ๑๗ ปี บวชเป็นสามเณรอยู่ที่วัดวิสุทธิยาราม(วัดบางปู) ตำบลปากพูน อำเภอเมือง นครศรีธรรมราช และคุณตาเย็นอายุ(ตอนนั้น) ๘๐ ปี เศษ

คูณตาเย็นเล่าว่า ทางทิศตะวันตกของบ้านบางปู(วัดวิสุทธิยาราม)ในปัจจุบัน มีหมู่บ้านประหลาด ชื่อ หมู่บ้านเกาะลอย แต่คนภายนอกเข้าไปไม่ได้ ตอนนั้นคุณตาเย็นอายุประมาณ ๗ ขวบ บ้านของคุณตาอยู่ทางทิศตะวันตกของบ้านบางปู แต่ค่อนไปทางบ้านปากพะยิง ในอดีตบ้านบางปู ชื่อเต็มว่า "บ้านศาลาบางปู" (หมู่ที่ ๑๐ ตำบลปากพูน ถนนราชดำเนิน ถนนสายนครศรีธรรมราช –สุราษฎร์ธานี) สมัยนั้นถนนยังเป็นทางเกวียน ไม่มีรถยนต์ แต่มีคนเดินทางผ่านเสมอ เช่นมาจากนครศรีธรรมราชไป ท่าศาลา สิชล ขนอม ฯลฯ

ตรงบ้านศาลาบางปูมีทางแยก ไปด้านซ้ายและขวา แยกตะวันตก (ขวา) ถ้าไปจากท่าศาลา จะไปออกตำบลโมคลาน ที่มีหลักฐานในทางโบราณคดีว่า เคยเป็นชุมชนของคนสมัยเก่าโบราณ เป็นชุมชนเมืองท่าขนาดใหญ่ ก่อนตั้งพระธาตุเมืองนคร ปัจจุบันมีหมู่บ้าน ชื่อ “บ้านยิง”ส่วนลำน้ำ ชื่อ แม่น้ำปากพะยิง หรือ คลองปากพะยิง ผู้คนมีอาชีพปั้นหม้อ ปัจจุบันอาชีพนี้ยังมีอยู่ แต่ส่วนใหญ่ ประมาณ ปี พ.ศ. ๒๕๒๐ หลังจากถนนสายนี้ขยายใหญ่กว้าง ผู้คนจากบ้านยิง ตำบลโมคลาน ก็พากันย้ายถิ่นฐาน มาตั้งหม้อ ไห กระถาง อ่าง โอ่ง...ขายกันอยู่ริมถนนราชดำเนินช่วงปากพะยิง-ท่าแพ กันเกือบตลอดสาย

แยกซ้ายที่บ้านศาลาบางปู จะไปออกทะเลบางปู มีป่าชายเลน มีปูเปี้ยวชุกชุม จึงได้ชื่อว่าบางปู ส่วนตรงทางแยกโบราณ(ยังไม่เป็นทางการ)เรียกบ้านศาลาบางปู เพราะตรงนั้นชาวบ้านสมัยโบราณได้สร้างศาลา สำหรับนักเดินทางมาพักแวะ ดื่มน้ำท่า หรือนอนพักในศาลาสักคืน ๒ คืนก็ได้

ตัวของศาลา มีขนาดกว้างพอที่คน ๑ ครอบครัว ที่มีสมาชิกประมาณ ๗-๘ คน สามารถมานอนพัก ลักษณะเป็นเรือนไม้ ยกพื้นสูงจากพื้นดินประมาณ ๑ เมตรเศษ ๆ พื้นเป็นแผ่นไม้กระดานหนา ฝากั้นกระดานสำหรับกั้นฝา หลังคามุงกระเบื้องดินสีแดง มีห้อง ๑ ห้อง ด้านนอกเป็นห้องโถง บนศาลามีหม้อไห ทำด้วยดินเผา ใบขนาดย่อม มีฝาปิดสำหรับใส่น้ำไว้ไม่ขาด และมีกระบวยทำด้วยกะลามะพร้าว เข้าด้ามไม้ ถักด้วยหวาย แขวนหรือวางไว้ใกล้ ๆ หม้อไห ให้ผู้ที่เดินทางมาเหนื่อย ๆ มาแวะพักดื่มน้ำ

ส่วนจะอาบน้ำก็ได้ มีบ่อน้ำอยู่ด้านหลัง เยื้อง ๆ กับศาลาด้านซ้าย เมื่อมองไปจากถนน มีต้นชะเมาต้นใหญ่ขึ้นครึ้มคลุมทั่วบริเวณ รอบด้านของศาลาไม่มีบ้านผู้คนเลย เพราะคนในสมัยโบราณกลัวโจร กลัวคนที่เดินทางมา เพราะไม่อาจจะรู้ว่าเป็นคนดีหรือคนร้าย ทุกคนไม่กล้าปลูกบ้านไว้ริมทางเดิน แต่จะไปปลูกอยู่กันเป็นกลุ่มหรือแถวลึก ๆ เข้าไปจากถนน หรือทางเดิน แต่ก็ยังมีใจใฝ่เอื้อสำหรับคนดี ๆ ที่อาจจำเป็นต้องเดินทาง ชาวบ้านจึงมาสร้างศาลาที่พัก พร้อมทั้งจัดบริการเรื่องน้ำท่าไว้ให้ เป็นการเอาบุญ

เด็กชายเย็นชอบดูมโนราห์มาก อีกอย่างหนึ่งเพราะในสมัยโบราณ (ประมาณ ๑๐๐ กว่าปีที่แล้วนั้น) มหรสพ ภาคใต้มีแต่หนังตะลุงกับมโนราห์ ไม่มีภาพยนตร์ ดนตรี ลูกทุ่ง ลูกกรุง อะไรทั้งสิ้น วันไหนว่างไม่มีงานมีการทำ เด็กชายเย็นชอบที่จะออกมานั่งเล่นที่ศาลาแห่งนี้ เพราะมักจะมีพวกมโนราห์ หนังตะลุงเดินทางมาแวะพัก และเมื่อใดที่พวกมโนราห์ หรือหนังตะลุงมาพักก็จะตีกลอง หรือประโคมเครื่องดนตรีขึ้น คณะมโนราห์จะตีกลองดัง ตุ้ม ๆ ๆ ๆ ๆ เพื่อบอกกล่าวชาวบ้านที่อยู่ในละแวกนั้น ให้รู้ว่า มีคณะมโนราห์ หรือหนังตะลุงเดินทางมาแล้ว ถ้าใครอยากมารับไปแสดงก็มารับไปได้ และเด็กชายเย็นก็จะได้ตามไปดูมโนราห์ หรือหนังตะลุง

ปรากฏว่า วันหนึ่งที่ศาลามีคณะมโนราห์มาพัก และวันนั้นเด็กชายเย็นมายืนดูอยู่ด้วย ขณะที่ชาวบ้านสี่ห้าคนเดินออกมาจากป่าด้านตะวันตกของศาลาบางปู ออกมาบอกต้องการรับคณะมโนราห์ไปแสดง ที่หมู่บ้าน ชาวบ้านพาคณะมโนราห์เดินไปทางทิศตะวันตกของศาลา ซึ่งที่แถบนั้นเป็นป่าพรุ มีน้ำขังลึกบ้าง ตื้นบ้าง ชาวบ้านที่ใช้เส้นทางนั้น เวลาจะไปสู่ตำบลโมคลาน ต้องเดินไต่ขอนมะพร้าว ที่ชาวบ้านช่วยกันนำมาวางทอดเป็นสะพาน เป็นระยะทางไกลกว่า ๕๐๐ เมตร จนไปขึ้นฝั่งตำบลโมคลานและมีโรงเลื่อยจักรไอน้ำ โรงหนึ่งตั้งอยู่

บางแห่งสะพานขอนมะพร้าวอยู่ปริ่ม ๆ น้ำ บางแห่งจมอยู่ใต้น้ำ เวลาเดินต้องใช้เท้าคลำไต่ไปช้า ๆ ขณะที่ข้าง ๆ ขอนหรือทางที่ไต่ มีน้ำใสเป็นสีดำ และมีหญ้าลอยน้ำเรียกว่า“ยน” หนาทึบ บางที่ขึ้นไปเดินเหยียบยังไม่จม และขอนมะพร้าวบางขอนที่ไม่จม ก็เพราะวางพาดอยู่บนยน

แต่วันนั้น ชาวบ้านที่มารับคณะมโนราห์ หาได้พาคณะมโนราห์เดินเหยียบไปบนขอนมะพร้าว ผ่านหนองน้ำและป่าพรุแต่อย่างไม่ กลับพาไปเจอหมู่บ้านประหลาดแห่งหนึ่ง ซึ่งไม่เคยปรากฏให้ใครเห็น คุณตาเย็นหรือเด็กชายเย็นเอง ในตอนนั้นก็แปลกใจมาก เพราะไม่เคยรู้จักหรือพบเห็นหมู่บ้านประหลาดนั้นมาก่อน และเด็กชายเย็นได้ตามไปกับคณะมโนราห์นั้นด้วย

คุณตาเย็นได้เล่าว่า ก่อนที่คณะมโนราห์จะแสดง ชาวบ้านได้นำข้าวปลาอาหารมาเลี้ยงดูคณะมโนราห์ ซึ่งเด็กชายเย็นก็ได้นั่งร่วมวงกินอาหารกับคณะมโนราห์ด้วย และอดีตเด็กชายเย็นยังเล่าต่อไปว่า อาหารที่นำมาเลี้ยงดูคณะมโนราห์นั้นอร่อยมาก แต่ดูเหมือนจะประกอบขึ้นด้วย พืชผัก ผลไม้ และเผือกมันทั้งสิ้น ไม่มีเนื้อสัตว์แม้แต่ปู หรือ กุ้ง ปลาเลย...

ตอนค่ำมีคนมานั่งดูมโนราห์กันมาก มีทั้งเด็ก ผู้หญิงสาว ชายหนุ่ม คนแก่ คนเฒ่า เต็มหน้าโรงไปหมด มีแม่ค้านำขนมปิ้งย่าง นึ่ง ทอด มาขาย แต่ก็อีกนั่นแหละอาหารทุกอย่างล้วนแต่พืชผัก ไม่มีเนื้อสัตว์ แม้แต่ไก่ย่าง ปู ปลา ย่างให้เห็นเลย เพราะหมู่บ้านนี้เป็นพวกมังสวิรัติ

ในระหว่างที่ทุก ๆ คนมานั่งและยืนดูมโนราห์ ถ้าเป็นหมู่บ้านทั่ว ๆ ไปจะต้องมีคนเมา และคน โลน มโนราห์ “โลน” คือ การพูดหยอกเย้า บางครั้งส่อไปในเรื่องเพศ หรือหยาบโลน แต่ที่หมู่บ้านนี้กลับไม่มีเลย ทุกคนนั่งดูกันเรียบร้อย เวลาขำหรือถูกใจก็หัวเราะ เวลาพูดจากันก็ไพเราะ ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้ง ไม่มีการพูดคำหยาบ ทั้งหมู่บ้านพูดจากันล้วนแต่ใช้ถ้อยคำหวานหู มโนราห์แสดงแค่ห้าทุ่ม นายบ้านบอกให้หยุดนอนพักผ่อน คืนนั้นเด็กชายเย็นนอนบนโรงมโนราห์กับคณะมโนราห์

เช้าวันรุ่งขึ้น หลังกินข้าวกินอาหาร(จะพูดว่า กินปลา ไม่ได้) กันเสร็จก่อนจะกลับออกมา นายบ้านยกกะชะ(แบบที่ชาวบ้านแถวนครศรีธรรมราชใช้ใส่เส้นขนมจีน) เป็นภาชนะสานด้วยไม้ไผ่ ก้นเป็นหกเหลี่ยม ขอบกลมคล้ายเข่งแต่ตื้นกว่า ในกะชะมีหัวขมิ้นบรรจุอยู่เต็ม นายบ้านยกมาวางลงตรงหน้าคณะมโนราห์แล้วพูดว่า “มารำที่นี่เราไม่มีอะไรให้ มีก็แต่หัวมิ่นนี่แหละ หยิบเอาไปกันตามชอบใจเถอะ”

คณะมโนราห์พากันยิ้ม เพราะหัวขมิ้นจะเอาไปทำอะไร ที่ไหน ๆ ก็มี แต่มีมโนราห์คนหนึ่งซึ่งเป็นตัวเอกหรือตัวสำคัญหรือจะเรียกว่าพระเอกก็คงได้ เรียกว่าหัวจุกโนราห์ ซึ่งรูปหล่อกว่าเพื่อนต้องใช้หัวขมิ้นเพื่อนำไปขัดสีผิวกายให้ดูผ่องใส นายคนนี้จึงเอาหัวขมิ้นยัดลงย่ามไปหลายหัว

ตอนขากลับคนในหมู่บ้านที่เคยมารับคณะมโนราห์ไปก็ต้องมาส่ง ระหว่างที่เดินมาส่งอดีตเด็กชายเย็นเล่าว่า แกหันไปดูหมู่บ้านที่เพิ่งเดินออกมา เห็นหลังคาบ้านมุงด้วยกระเบื้องว่าวสีขาว ซึ่งชาวบ้านแถวนั้นใช้มุงหลังคากันตลอดย่านบ้าน และมีโรงงานเล็ก ๆ ผลิตอยู่ที่บ้านปากพะยิง เด็กชายเย็นเห็นหลังคาขาวพรืดไปหมด แต่พอเดินออกมาใกล้จะถึงทางแยกบ้านศาลาบางปู คณะชาวบ้านที่มาส่งขอตัวกลับ ทุกคนหันกลับไปมองด้านหลังมีแต่ป่ารก และภายหลังหลังจากนายเย็นหรือเด็กชายเย็นในตอนนั้น มาบอกเล่าพวกผู้ใหญ่ชาวบ้านว่า ในนั้นมีหมู่บ้าน ชาวบ้านพากันเดินไปหาหมู่บ้านประหลาด ปรากฏว่า ไม่มีใครพบหมู่บ้านนั้นเลย มีแต่ป่าพรุ น้ำขัง ลึกบ้างตื้นบ้าง

หันมาที่คณะมโนราห์ หลังจากเด็กชายเย็นแยกกลับเข้าบ้านของตน คณะมโนราห์เดินไปถึงบ้านปากพะยิง ตรงนั้นมีคลองใหญ่ ฟากคลองฝั่งตรงข้ามเป็นเขตอำเภอท่าศาลา มีสะพานไม้คนเดินทอดข้าม เพราะยังไม่มีถนน ยังไม่มีรถ มีแต่ทางเดินและทางเกวียน คณะมโนราห์มาหยุดพักอาบน้ำที่คลองปากพะยิง

ขณะอาบน้ำ หัวจุกโนราห์ล้วงหัวขมิ้นจากในย่ามขึ้นมาจะถูตัว ปรากฏว่าหัวขมิ้นทุกหัวเป็นทองคำสุกปลั่ง เพื่อนๆ มโนราห์เห็นเข้าก็เอะอะ อยากได้บ้าง ถามว่าได้มาอย่างไร หัวจุกโนราห์ตอบ ได้มาจากนายบ้านที่ยกหัวขมิ้นมาให้พวกตนทั้งกะชะ แต่ไม่มีใครเอามา มีแต่ตนคนเดียวที่เอามา

พวกมโนราห์ต่างพูดว่า ทุกคนต่างก็ไปแสดงเหนื่อยมาด้วยกัน เมื่อเป็นทองของมีค่าขึ้นมาก็ต้องแบ่งกัน แต่นายหัวจุกมโนราห์ไม่ยอม เถียงว่า ก็ตอนที่เขายกมาให้เป็นชะ ทำไมพวกสูไม่เอา นี่กูเป็นคนเอามามันก็ต้องเป็นของกูคนเดียว สุดท้ายตกลงกันไม่ได้เกิดการแย่งชิง จนคณะมโนราห์เกิดการฆ่ากันตาย แต่มีคนหนึ่งรอดไปได้...

เรื่องนี้เมื่อไพบูลย์ พันธุ์เมือง นำมาเขียนเป็นนิยาย โดยได้ขยายข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่และตัวละคร รวมทั้งเพิ่มคติชาวบ้าน ประสบการณ์ที่พบเห็นมาด้วยตาตนเอง และเติมสีสันสมัยหลังญี่ปุ่นบุกเข้าไปบ้าง และไพบูลย์ พันธุ์เมือง อยากจะให้หนังสือเรื่องนี้ได้รับการพิจารณา เป็นหนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่ง ที่เขียนเล่าเกี่ยวกับอดีตของเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งไพบูลย์ พันธุ์เมือง ค่อนข้างจะเชื่อว่า เรื่องที่คุณตาเย็นเล่าเป็นเรื่องจริง เพราะคุณตาเย็นเป็นคนถือศีลห้าและศีลแปด มาวัดทุกวัน และตอนที่เล่าก็เล่าให้พวกพระและสามเณรฟัง ไม่ได้แต่งเรื่องเพื่อโป้ปดมดเท็จหาความสนุก

ส่วนสถานที่ ศาลา ที่ปรากฏในเรื่อง ไพบูลย์ พันธุ์เมือง ก็เกิดทันและได้เห็น แต่ได้เห็นตอนอายุ ๓-๔ ขวบ พอจำความได้ว่าตนเองก็ไปเที่ยวเล่นอยู่แถวศาลานั้น เช่นกัน เพราะบ้านที่ไพบูลย์ พันธุ์เมือง เกิดอยู่ใกล้กับสี่แยกบ้านศาลาบางปู ทางไปสู่ตำบลโมคลานในปัจจุบัน แต่ตอนหลังจากพ่อของเขาตายตอนไพบูลย์ อายุ ๖ ขวบ แม่ได้ขายที่ดินตรงบ้านศาลาบางปูนั้นไป และไปปลูกบ้านในที่ใหม่ ที่อยู่ตรงข้ามกับสามแยกนพวงศ์ในปัจจุบัน และศาลาก็มาถูกรื้อไป หลังจากมีถนนมีรถยนต์แล่น มีคนมาจับจองที่ปลูกบ้าน ต่อมาก็สร้างโรงเรียนบ้านศาลาบางปู ก่อนจะสร้างวัด

เมื่อวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๕๐ ตอนไพบูลย์ พันธุ์เมือง ไปงานบวชหลานชาย ลูกของน้องสาว(น้องสาวเป็นลูกของน้าชาย) เขาจึงไปเดินย้อนระลึกถึงอดีตวัยเด็ก พบว่าทางเดินจากบ้านศาลาบางปู ตำบลปากพูน ไปสู่ตำบลโมคลาน อำเภอท่าศาลา กลายเป็นถนนถมดินทรายปนลูกรังและหิน ที่ อบต.ปากพูนเป็นผู้ดำเนินการจัดทำ และเริ่มมีผู้คนเข้าไปจับจองผืนทุ่ง ถมที่ทำโรงอิฐ โรงงาน และบ้างก็ปลูกบ้านหลังสวย ๆ กันบ้างแล้ว แต่ผืนทุ่งที่มีอดีตของตำนาน “เกาะลอยหมู่บ้านประหลาด” ก็ยังดูลึกลับ วังเวงและน่ากลัวในบางขณะ เพราะถนนยังเปลี่ยว ไม่ค่อยมีรถหรือคนผ่าน

ในความรู้สึกของไพบูลย์ พันธุ์เมือง เขาเป็นห่วงและเสียดาย สภาพภูมิทัศน์ในทุ่งโบราณแห่งนั้นมาก อยากจะให้มันหยุดความเจริญอยู่เพียงมีถนนดินผ่าน ขออย่าได้กลายเป็นโรงงาน หรือหมู่บ้านคอนกรีต จนทำลายสภาพผืนทุ่งแห่งอดีตแห่งนั้นไปเสียเลย เพราะที่ไปดูมามันยังสวยงามเหลือเกิน เมื่อพื้นทุ่งที่เขาเคยเดินไต่ขอนมะพร้าวจมน้ำในอดีต แม้จะตื้นเขินและถูกถมดิน ขุดดินในคูขึ้นทำถนน จนเขาสามารถขับรถยนต์นั่งผ่าลงไปในทุ่งได้ ในทุ่งก็ยังคงให้บรรยากาศที่ดีและมีความเป็นธรรมชาติที่สวยงาม โดยเฉพาะดอกบัวดอกสีเหลือง สีแดง สีขาว ที่บานพราวอยู่ในคูน้ำสองฟากถนนนั้น ช่างมากมาย แต่จะมีใครสักกี่คนที่มองเห็นความสวยงามของผืนทุ่งนั้นเช่นเขา

วันนั้นเขาไปหยุดจอดรถ หยุดถ่ายรูป และให้ภรรยาลงไปสาวกอบัวมาหอบใหญ่ เพื่อเอามาปลูกในอ่างที่บ้าน แต่ทว่า ๒ เดือนเข้าแล้ว บัวที่ขุดมาจากทุ่งเกาะลอยหมู่บ้านประหลาด ก็ยังไม่เห็นขึ้นมาเลย สงสัยจะถูกบัวที่ปลูกไว้เดิมกดข่มจนตายไปหมดก็ไม่รู้ แต่ไม่เป็นไรวันหลังจะเดินทางไปขุดมาใหม่... แม้น้องชายที่ยังอยู่นครจะเตือนว่า “ระวังนะ พี่ไปเที่ยวก้มเงย ๆ อยู่คนเดียว จะมีคนมาตีหัวชิงเงินชิงรถ”
เขาฟังแล้วก็เสียว ๆ แต่เมื่อรักธรรมชาติ และอยากหวนหาอดีต ก็จำเป็นต้องเสี่ยง
“เกาะลอยหมู่บ้านประหลาด” มีขายในเวบไซต์ประพันธ์สาส์น //www.praphansarn.com



โดย: lungboon IP: 125.27.233.104 วันที่: 19 มิถุนายน 2550 เวลา:20:04:19 น.  

 
ชอบมากเลย


โดย: โนรา IP: 203.113.0.200 วันที่: 21 สิงหาคม 2550 เวลา:17:09:17 น.  

 
รีวิว เรื่องเกาะลอยฯ ไว้ในบล็อคหลังอ่านจบค่ะ
ถ้าว่างก็แวะไปดูนะคะ จะบอกว่าชอบมากมาย

https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=babyrose&group=7


โดย: แก้วกังไส วันที่: 24 ตุลาคม 2550 เวลา:3:51:16 น.  

 
อินมากๆ

อยากดูเรื่องของเกาะล้าน


โดย: ........ IP: 61.7.183.196 วันที่: 28 ตุลาคม 2550 เวลา:13:48:44 น.  

 
ชอบโนรามาก

มีคณะเป็นของตัวเอง


ติดต่อที่จังหวัดพัทลุง


โดย: มโนราธาราทิพย์ IP: 119.42.85.3 วันที่: 15 กันยายน 2551 เวลา:18:51:14 น.  

 
มันน่าเชื่อจิงๆ ถ้าคุณได้อ่านหนังสือเล่มนี้


โดย: .. IP: 114.128.129.161 วันที่: 7 กรกฎาคม 2552 เวลา:16:33:10 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

pantamuang
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 22 คน [?]




ไม่อยู่อย่างอยาก แต่ยังอยากจะอยู่
อยู่อย่างไม่ลำบาก เวลาที่เหลือน้อยรีบสอยรีบคว้า
ก่อนจะหมดเวลาให้สอย

ดวงดาวบนฟ้าก็สอยได้ ถ้ารู้จักต่อด้ามฝันให้ยาวพอ

ฝันถึงไหนก็ได้ มีสิทธิ์ฝัน แต่จะเป็นจริงหรือไม่ช่างฝัน
เพราะสิ่งที่ฝันคือนวนิยาย..

ชีวิตก็คือนวนิยายเรื่องหนึ่ง ที่เราเป็นผู้เขียนและกำกับ.

เริ่ม 9 กันยายน 2550

Friends' blogs
[Add pantamuang's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.