ความวิปโยคสุดพรรณนาและความยิ่งใหญ่คือชาตากรรมแห่งความรักของฉันที่มีต่อเธอ Unsagbares Leid und Größe ist das Schicksal meiner Liebe für dich. Untoldly sorrowful and great is the destiny of my love for you.
Group Blog
 
 
ตุลาคม 2548
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
23 ตุลาคม 2548
 
All Blogs
 
เข็ม (Ascocentrum)

ลักษณะทั่วไปของกล้วยไม้ไทยสกุลเข็ม

จากการสำรวจพบว่ากล้วยไม้สกุลเข็มที่มีอยู่ในโลกมีถิ่นกำเนิดอยู่ในภาคพื้นทวีปเอเชีย เช่น อินเดีย เนปาล ศรีลังกา จีน พม่า ไทย ประเทศในแถบอินโดจีน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เมื่อได้พิจารณาทางหลักภูมิศาสตราของอาณาบริเวณที่ปรากฏกล้วยไม้เหล่านั้นตามธรรมชาติแล้ว ก็น่าจะกล่าวได้ว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของแหล่งกำเนิดกล้วยไม้สกุลเข็ม สำหรับในประเทศไทยนั้นปรากฏว่ากล้วยไม้สกุลเข็มมีกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปทุกภาคบางภาคอาจมีกล้วยไม้สกุลเข็มหลายชนิด แต่บางภาคอาจมีเพียงชนิดเดียว

การจำแนกชนิดตามหลักพฤกษศาสตร์

กล้วยไม้สกุลเข็มปรากฏตามธรรมชาติอยู่ในประเทศไทย 4 ชนิด คือ เข็มแดง (Ascocentrum curvifolium) เข็มม่วง (Ascocentrum ampullaceum) เข็มแสด (Ascocentrum miniatum) และอัสโคเซนทรุม เซมิเทเรติโฟลิอุม (Ascocentrum semiteretifolium - ยังไม่มีชื่อภาษาไทย)

กล้วยไม้สกุลเข็มเป็นกล้วยไม้ประเภทแวนดา (Vandaceous Orchid) ที่มีขนาดเล็ก มีการเจริญเติบโตแบบฐานเดี่ยว เช่นเดียวกับกล้วยไม้สกุลช้าง สกุลแวนดา สกุลกุหลาบ มีลำต้นสั้น การเรียงตัวของใบเป็นแบบซ้อนทับกัน รูปร่างของใบแบ่งเป็น 2 แบบ คือ แบบที่หนึ่งใบแบน ใบค่อนข้างจะอวบน้ำ และแบบที่สองเป็นแบบใบกลม แต่มีร่องลึกทางด้านบนของใบ รากเป็นระบบรากอากาศ ช่อดอกจะออกที่ตาตามข้อของลำต้นระหว่างใบต่อใบ ช่อดอกตั้งตรงเป็นรูปทรงกระบอก มีดอกหลายดอก ดอกมีขนาดเล็ก ดอกหันหน้าออกรอบด้าน กลีบนอกและกลีบในของดอกมีขนาดใกล้เคียงกัน ปากขยับไม่ได้ ใต้ปากมีเดือยเป็นถุงยาว เดือยมีขนาดสั้นกว่ารังไข่และก้านดอก เส้าเกสรอ้วนสั้นไม่มีฐาน กลุ่มเรณูกลมมี 2 ก้อน กล้วยไม้สกุลเข็มทุกชนิดดอกมีรูปร่างคล้ายกันแต่แตกต่างกันในเรื่องสี ซึ่งส่วนใหญ่จะมีสีสดใส เช่น สีแดงอมส้ม สีม่วง สีส้ม หรือสีเหลืองอมส้ม เมื่อต้นกล้วยไม้มีอายุมากขึ้น หรือเมื่อยอดหักหรือยอดเน่าตาที่อยู่ด้านล่าง ๆ ของลำต้นจะแตกหน่อออกมา ทำให้เกิดมีหลาย ๆ ยอดได้ด้วยลักษณะและสีสันที่สดใสของดอกดังกล่าว จึงกล่าวได้ว่ากล้วยไม้สกุลเข็มเป็นราชินีของกล้วยไม้ประเภทแวนดาแบบกระเป๋า

ผู้ที่คุ้นเคยกับกล้วยไม้สกุลเข็มชนิดต่าง ๆ สามารถจะบอกชื่อชนิดของกล้วยไม้นั้นได้โดยไม่ต้องเห็นดอก เพียงแต่ดูใบและลำต้น

ลักษณะเฉพาะของแต่ละชนิด

1. เข็มแดง (Ascocentrum curvifolium)

ถิ่นกำเนิดของเข็มแดงในประเทศไทย คือบริเวณเริ่มตั้งแต่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ต่ำลงไปถึงจังหวัดตากและกาญจนบุรี พบในป่าที่มีระดับความสูง 100-300 เมตรจากระดับน้ำทะเล ในฤดูฝนความชื้นในอากาศค่อนข้างสูง แต่ในฤดูแล้วความชื้นในอากาศอาจจะลดลงเหลือเพียง 20-30 เปอร์เซ็นต์ ในต่างประเทศพบว่าเข็มแดงมีการกระจายพันธุ์ตั้งแต่แคว้นอัสสัมในประเทศอินเดีย ผ่านมาทางประเทศพม่าจนถึงประเทศไทย ลำต้นของเข็มแดงเมื่อสูงถึงประมาณ 20 เซนติเมตร มักจะพบว่าโค้งลงเพราะทรงตัวไม่ได้ และจะมีหน่อเกิดขึ้นทางส่วนล่าง ๆ ของลำต้น ใบค่อนข้างแคบ โค้ง เรียว และยาวที่สุดในบรรดากล้วยไม้สกุลเข็มทุกชนิดที่พบในประเทศไทยด้วยกัน ความยาวของใบประมาณ 20 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ค่อนข้างจะอวบน้ำ ใบเป็นสีเขียวอ่อน อ่อนกว่าสีของใบเข็มม่วงและเข็มแสดในระหว่างฤดูแล้วขอบของใบจะปรากฏเป็นจุดสีม่วงขึ้นประปราย และเมื่อความแห้งแล้งเพิ่มมากขึ้นจุดสีม่วงบนใบก็จะมีหนาแน่นยิ่งขึ้น
ฤดูออกดอกอยู่ในระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ต้นที่กำลังให้ดอกอาจมีดอก 3-4 ช่อในเวลาเดียวกัน ต้นที่โต ๆ จะให้จำนวนช่อดอกมากขึ้น ช่อดอกตั้งตรง แข็ง ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร เป็นรูปทรงกระบอก มีดอกแน่นช่อ ดอกโตประมาณ 1.5 เซนติเมตร หรือกว่านั้น กลีบดอกบานเปิดเต็มที่ดอกมีสีแดงอมสีส้มสดใส บานทนนับเป็นสัปดาห์

2. เข็มม่วง (Ascocentrum ampullaceum)

เข็มม่วงปรากฏตามธรรมชาติในประเทศไทยที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก และต่ำลงไปถึงจังหวัดกาญจนบุรี พบอยู่ในบริเวณเดียวกันกับเข็มแดง แต่อยู่ในระดับความสูงมากกว่าเข็มแดง ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ภูฏาน เนปาล พม่า จีน และลาว

เข็มม่วงมีทรงต้นตั้งแข็งอาจมีความสูงได้ถึง 25 เซนติเมตร ใบเป็นประเภทใบแบน ยาวประมาณ 15 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2 เซนติเมตร ใบค่อนข้างแข็ง ไม่โค้งมากนัก ปลายใบตัดและเป็นฟันแหลม ๆ ไม่เท่ากันหลายฟัน ใบมีสีเขียวคล้ำ ในช่วงที่สภาพอากาศแห้งแล้งจะปรากฏจุดสีม่วงเล็ก ๆ บนใบโดยทั่วไป โดยเฉพาะใบที่อยู่ใกล้ ๆ ยอด ยิ่งแห้งแล้งมากจุดสีม่วงจะยิ่งเด่นชัดขึ้น ช่อดอกยาวประมาณ 15 เซนติเมตร เป็นช่อตั้งรูปทรงกระบอก มีดอกประดับแน่นช่อ ประมาณช่อละ 30 ดอก ก้านช่อค่อนข้างสั้น

3. เข็มแสด (Ascocentrum miniatum)

เข็มแสดเป็นกล้วยไม้สกุลเข็มที่พบว่ามีการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติไปทุก ๆ ภาคของประเทศไทย ทางภาคเหนือพบที่จังหวัดเชียงใหม่ แพร่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบที่จังหวัดนครราชสีมา เลย อุดรธานี ชัยภูมิ มุกดาหาร ต่ำลงไปทางภาคกลางพบที่จังหวัดจันทบุรี ทางภาคใต้พบที่จังหวัดพังงา และสตูล ในลักษณะภูมิประเทศทั้งที่ราบและที่เป็นภูเขา เนื่องจากกล้วยไม้ชนิดนี้มีการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติกว่างขวาง จึงสามารถปลูกเลี้ยงให้เจริญงอกงามและออกดอกได้สม่ำเสมอตามฤดูกาลในทุกภาคของไทย

ลำต้นของเข็มแสดสูงประมาณ 10 เซนติเมตร ต้นที่เจริญเติบโตมาก ๆ อาจสูงถึง 30 เซนติเมตร และมีหน่อที่โคนต้นหลายหน่อ ใบยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1.0-1.5 เซนติเมตร โค้งเล็กน้อย ใบซ้อนชิดกันใบมีสีเขียวแก่ มีลักษณะหนา อวบน้ำ ปลายใบหยักเป็นฟันแหลม ๆ เล็กน้อยอาจจะมีจุดสีม่วงคล้ำบนแผนใบและขอบใบเมื่อกระทบสภาพแห้งแล้งเช่นเดียวกับเข็มแดงและเข็มม่วง ช่อดอกเป็นแบบช่อตั้ง ยาวประมาณ 12-15 เซนติเมตร รูปทรงกระบอก มีดอกแน่นช่อ ประมาณช่อละกว่า 50 ดอก ก้านช่อยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ดอกโตประมาณ 1.5 เซนติเมตร ก้านดอกยาวเรียวมีความยาวประมาณ 1.0 เซนติเมตร กลีบนอกและกลีบในของดอกมีขนาดประมาณ 3 x 6 มิลลิเมตร ปากกระเป๋าและเดือยยาวประมาณ 8 มิลลิเมตร กลีบดอกค่อนข้างหนา ผิวเนื้อกลีบ (Texture) เป็นมันมีสีส้มสดใส หรือสีเหลืองส้มสะดุดตามาก ฤดูออกดอกประมาณเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม ดอกบานทนไม่ต่ำกว่า 2 สัปดาห์

4. Ascocentrum semiteretifolium (อัสโคเซนทรุม เซมิเทเรทิโฟลิอุม)

เป็นกล้วยไม้สกุลเข็มชนิดเดียมที่มีใบเป็นแบบใบกลม แต่มีร่องลึกทางด้านบนของใบ มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศไทย พบที่ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ในระดับความสูง 1,800-1,900 เมตรจากระดับน้ำทะเล ใบกว้างประมาณ 5 มิลลิเมตร ดอกสีม่วงอ่อน

เนื่องจากกล้วยไม้ชนิดนี้มีรูปร่างลักษณะของต้นและสีของดอกไม่เป็นที่สนใจของบรรดานักกล้วยไม้ทั่วๆ ไป จึงยังไม่มีชื่อภาษาไทย ประกอบกับเป็นกล้วยไม้ที่ค่อนข้างจะหายาก ทำให้ไม่มีผู้นิยมปลูกเลี้ยงกันมากนัก

กล้วยไม้ลูกผสมของสกุลเข็ม

กล้วยไม้สกุลเข็มนอกจากดอกจะมีสีสันสดใสสะดุดตามากกว่ากล้วยไม้ชนิดอื่นในประเภทแวนดาด้วยกันแล้ว ยังมีช่อดอกแข็มชูตั้งขึ้นเป็นรูปทรงกระบอก มีดอกประดับแน่นช่ออย่างเป็นระเบียบ ตามปกติในต้นเดียวกันจะให้ดอกพร้อมกันหลาย ๆ ช่อ เป็นกล้วยไม้ที่ปลูกเลี้ยงได้ง่าย นักผสมพันธุ์กล้วยไม้จึงจัดการผสมกล้วยไม้สกุลเข็มข้ามสกุลกับกล้วยไม้ในประเภทแวนดา เช่น กล้วยไม้สกุลแวนดา สกุลช้าง สกุลรีแนนเธอราผลปรากฏว่าได้ลูกผสมที่มีสันสวยงามผิดเพี้ยนแตกต่างกันไป ออกดอกยิ่งขึ้น ดอกบานทนยิ่งขึ้น มีดอกตลอดทั้งปีไม่เป็นฤดูกาล และปลูกเลี้ยงง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้วยไม้ลูกผสมสกุลแอสโคเซ็นดา ซึ่งมีสายเลือดของสกุลเข็ม

กล้วยไม้สกุลเข็มผสมข้ามสกุลกับกล้วยไม้สกุลแวนดา เกิดเป็นกล้วยไม้ลูกผสมสกุลอัสโคเซนดา (Ascocenda)
กล้วยไม้สกุลเข็มผสมข้ามสกุลกับกล้วยไม้สกุลช้าง เกิดเป็นกล้วยไม้ลูกผสมสกุลรินโคเซนทรุม (Rhynchocentrum)

กล้วยไม้สกุลเข็มผสมข้ามสกุลกับกล้วยไม้สกุลเรแนนเธรา เกิดเป็นกล้วยไม้ลูกผสมสกุลอันริโดเซนทรุม (Anridocentrum) เป็นต้น

กล้วยไม้สกุลอัสโคเซนดาที่ปลูกเลี้ยงกันแพร่หลายมาก เป็นลูกผสมระหว่างเข็มแดงกับกล้วยไม้สกุลแวนดาประเภทใบแบนเป็นส่วนใหญ่ เช่น กล้วยไม้อัสโคเซนดา เมดา อาร์โนลด์ (Ascocenda Meda Arnold) ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่างกล้วยไม้แวนดา รอธชิลดิอานา (Vanda Rothschildiana) กับเข็มแดง แต่ละต้นให้ดอกที่มีสีสันแตกต่างกัน ตั้งแต่สีแดงไปจนถึงสีน้ำเงินและกล้วยไม้ลูกผสมเหล่านี้ได้มีการผสมกลับไปกลับมาอีกหลายระดับ ระหว่างกล้วยไม้สกุลอัสโคเซนดากับเข็มแดง หรือระหว่างกล้วยไม้สกุลอัสโคเซนดากับกล้วยไม้สกุลแวนดาต้นเดิม หรือต้นอื่น ทั้งนี้เพื่อให้สีของดอกสดใสยิ่งขึ้นหรือดอกมีขนาดใหญ่ขึ้น ช่อดอกยาวขึ้น หรือมีลักษณะแปลก ๆ ใหม่ ๆ อย่างอื่นมากขึ้นอีก

หมายเหตุ
คัดมาจากที่อื่นเพื่อเผยแพร่เป็นวิทยาทาน


Create Date : 23 ตุลาคม 2548
Last Update : 23 ตุลาคม 2548 10:46:17 น. 0 comments
Counter : 566 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ลุดวิก
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




Ich bin nur ein Mensch! Alles Leben ist leiden. Alles ist nichtig!
ตรวจผลสลากกินแบ่งรัฐบาล

Bangkok

Friends' blogs
[Add ลุดวิก's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.