สวัสดีค่ะ ภาระหน้าที่ทำให้ต้องเดินทางไกลมาถึงบัวโนสไอเรส แต่ยังคิดถึงเพื่อนบล็อกทุกคนนะค่ะ

อาการบ่งชี้ของโรคกระเพาะอาหาร






โรคปวดท้องที่นำความทุกข์ทรมานมาให้ซึ่งสามารถ
เกิดได้ทั้งหญิงและชายนั่นก็คือ โรคกระเพาะอาหาร

คำว่า "โรคกระเพาะ" ตามความหมายของแพทย์ หมายถึง
แผลที่เกิดบนเยื่อบุกระเพาะอาหาร (stomach) หรือลำไส้
เล็กส่วนต้นหรือดูโอดีนัม (duodenum) ตรงกับคำว่า
แผลเพ็ปติก (Peptic ulcer) แต่เนื่องจากเรามักจะวินิจฉัย
ผู้ที่มีอาการปวดท้องตรงยอดอกหรือใต้ลิ้นปี่ที่เกิดก่อนหรือ
หลังกินอาหารว่าเป็น "โรคกระเพาะ" โดยไม่มีการตรวจยืนยัน
ด้วยการส่องกล้องตรวจ หรือเอกซเรย์โดยการกลืนแป้ง
แบเรียม ดังนั้น จึงมีความหมายครอบคลุมกว้างขวางมากกว่า
แผลเพ็ปติกเพียงอย่างเดียว และคงใกล้เคียงกับความหมาย
ของคำว่า "อาหารไม่ย่อย" ซึ่งมีสาเหตุอันหลากหลายดังนั้นใน
ที่นี้ จะขอใช้คำว่า แผลเพ็ปติก เมื่อกล่าวถึงโรคแผลที่ลำไส้
เล็กส่วนต้นหรือแผล ดียู (Duodenal ulcer/DU) และโรคแผล
ที่กระเพาะอาหาร หรือแผลจียู (Gastric ulcer/GU) แผลเพ็ปติก
เป็นโรคที่พบได้บ่อย ประมาณ 10-20% ของคนทั่วไปจะมี
โอกาสเป็นโรคนี้ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต แผลที่ลำไส้เล็ก
ส่วนต้น (ดียู) พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ประมาณ 2-4 เท่า
และพบมากในช่วงอายุประมาณ 30-55 ปี ขณะที่แผลที่กระเพาะ
อาหาร พบในผู้ชายพอ ๆ กับผู้หญิง และพบในช่วงอายุประมาณ
55-70 ปี แต่ทั้ง 2 โรคนี้ก็สามารถพบได้ในคนทุกวัย


สาเหตุ

แผลเพ็ปติก เกิดจากความเสียสมดุลระหว่าง ปริมาณกรดที่หลั่ง
ในกระเพาะอาหาร กับความต้านทานต่อกรดของเยื่อบุกระเพาะ
อาหารและลำไส้ ถ้าหากมีการหลั่งกรดมากเกิน หรือความ
ต้านทานต่อกรดลดลง ก็ทำให้เกิดแผลเพ็ปติกขึ้นได้ ในปัจจุบัน
พบว่าสาเหตุสำคัญของการเกิดแผลเพ็ปติก ได้แก่

1. การติดเชื้อเอชไพโลไร (H. pylori) ซึ่งเป็นแบคทีเรียแกรมลบ สันนิษฐานว่า ติดต่อโดยการกินอาหาร หรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อ
จากอุจจาระของผู้ติดเชื้อ แล้วเข้าไปฝังตัวอยู่ใต้เยื่อบุกระเพาะ
ในระยะแรก อาจทำให้เกิดกระเพาะอาหารอักเสบ ซึ่งจะเป็นเรื้อรัง
นานเป็นแรมปี หรือนับเป็นสิบ ๆ ปี ต่อมา ทำให้กลายเป็นแผลที่
ลำไส้เล็กส่วนต้น (พบเชื้อนี้ในผู้ที่เป็นแผลชนิดนี้ ถึง 95-100%)
และแผลที่กระเพาะอาหาร (พบเชื้อนี้ในผู้ที่เป็นแผลชนิดนี้ถึง
75-85%) ในการติดตามผลการรักษาผู้ป่วยแผลเพ็ปติกด้วยการ
ส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารและลำไส้ พบว่า การรักษา
โรคแผลเพ็ปติกโดยวิธีดั้งเดิม (ให้ยาลดกรด และยาลดการสร้าง
กรดนั้น ผู้ป่วยจะมีแผลกำเริบถึง 70-85% ใน 1 ปี แต่ในกลุ่มที่
ได้ยาปฏิชีวนะกำจัดเชื้อเอชไพโลไร ตามวิธีการรักษาแนวใหม่
จะมีแผลกำเริบน้อยกว่า 5% ใน 1 ปัดังนั้นในวงการแพทย์ปัจจุบัน
จึงยอมรับว่าเชื้อนี้เป็นตัวการสำคัญของโรคแผลเพ็ปติก ถึงแม้จะ
ยังไม่มีความชัดเจน ในกลไกของการทำให้เกิดแผลเพ็ปติกจาก
เชื้อนี้ก็ตาม (บ้างสันนิษฐานว่า เชื้อชนิดนี้ ทำให้กลไกในการ
ต้านทานต่อกรดของเยื่อบุกระเพาะอาหารลดลง)

2. การใช้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ ได้แก่ แอสไพริน
และกลุ่มยาแก้ปวดข้อ (เช่น อินโดเมทาซิน, ไอบูโพรเฟน,
นาโพรเซน ฯลฯ) พบว่าผู้ที่ใช้ยากลุ่มนี้เป็นประจำ จะมีโอกาส
เป็น แผลที่กระเพาะอาหาร 10-30% และแผลที่ลำไส้ส่วนต้น
2-20% และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เลือดออก แผล
ทะลุมากกว่าผู้ที่ไม่ได้ใช้ยากลุ่มนี้ถึง 3 เท่า ประมาณ 1-2% ของ
ผู้ใช้ยากลุ่มนี้เป็นประจำ จะเกิดภาวะแทรกซ้อนภายใน 1 ปี ยานี้
จะระคายต่อเยื่อบุกระเพาะอาหารโดยตรง และทำลายกลไกใน
การต้านทานต่อกรด ของเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้
กลุ่มที่เสี่ยงต่อการเกิดแผลเพ็ปติกจากยากลุ่มนี้ ได้แก่ ผู้สูงอายุ,
ผู้ที่ใช้ยากลุ่มนี้ในขนาดสูง, ผู้ที่ใช้ยากลุ่มนี้นาน ๆ, ผู้ที่ใช้ยากลุ่มนี้
ร่วมกับสเตอรอยด์, ผู้ที่มีประวัติเป็นแผลเพ็ปติกมาก่อน, ผู้ที่มี
ภาวะเจ็บป่วย
รุนแรง

3. ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ บางอย่างอาจมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคนี้ แต่บางอย่างอาจไม่มีความสัมพันธ์โดยตรง เช่น
- ประวัติการมีญาติพี่น้องเป็นแผลเพ็ปติก (อาจเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์)
ทำให้มีโอกาสเป็นโรคนี้มากขึ้นเป็น 3 เท่า
- การสูบบุหรี่ เพิ่มโอกาสของการเป็นแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น ทำให้การรักษาได้ผลช้า และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากขึ้น
- ผู้ที่มีเลือดกลุ่มโอ อาจเสี่ยงต่อการเป็นแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้นมากกว่าปกติ
- ความเครียดทางอารมณ์ ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่า เป็นสาเหตุของการ
เกิดแผลเพ็ปติกโดยฃตรง แต่เป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยโรคนี้เป็นแผล
กำเริบได้
- แผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น ยังอาจพบร่วมกับโรคอื่น ๆ เช่น ภาวะต่อม
พาราไทรอยด์ทำงานมากเกิน (Hyperparathyroidism) ซึ่งจะมีภาวะแคลเซียมสูง และแคลเซียมกระตุ้นให้กระเพาะ อาหารหลั่งกรดมาก,
กลุ่มอาการซอลลิงเกอร์-เอลลิสัน (Zollinger-Ellison syndrome) ซึ่ง
เป็นเนื้องอกในตับอ่อนและลำไส้เล็กส่วนต้น ทำให้มีการหลั่งกรดและ
น้ำย่อยมากเกิน, ภาวะไตวายเรื้อรัง, ตับแข็งจากพิษแอลกอฮอล์,
ถุงลมพอง เป็นต้น
- แอลกอฮอล์ (ซึ่งเป็นสาเหตุของกระเพาะอักเสบชนิดเยื่อบุกร่อน
ทำให้มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร) สเตอรอยด์และกาเฟอีน ยัง
ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเป็นสาเหตุของแผลเพ็ปติกโดยตรง แต่ก็อาจ
ทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้เป็นแผลกำเริบได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้สาร
เหล่านี้ในผู้ป่วยแผลเพ็ปติก
- อาหารทุกชนิด ไม่เป็นสาเหตุโดยตรงของการเกิดแผลเพ็ปติก แต่
ถ้ากินแล้วทำให้มีอาการกำเริบ (เช่นอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด น้ำส้ม
น้ำผลไม้) ก็ควรจะหลีกเลี่ยง


อาการ

มักมีอาการปวดท้องเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง ตรงบริเวณกลางยอดอก
หรือใต้ลิ้นปี่ บางคนอาจค่อนมาทางขวาหรือซ้ายก็ได้ เวลาที่ปวด
มักจะสัมพันธ์กับมื้ออาหาร เช่น ก่อนหรือหลังอาหาร ลักษณะการ
ปวด อาจปวดแสบ ปวดตื้อ จุกเสียด หรือมีความรู้สึกหิวข้าวก่อน
เวลาอาหาร บางครั้งอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน หรือเรอเปรี้ยว
ร่วมด้วย ในผู้ป่วยที่มีแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้นมักมีอาการปวดท้อง
หลังอาหารประมาณ 1-3 ชั่วโมง หรือขณะท้องว่าง โดยมากจะเริ่ม
ปวดตอนสาย ๆ หลังกินข้าวแล้ว จะปวดมากขึ้นในช่วงบ่าย ๆ เย็น ๆ
และอาจปวดมากตอนดึก ๆ จนต้องตื่นนอนหรือนอนไม่หลับ อาการ
ปวดมักจะดีขึ้นทันทีหลังกินอาหาร ดื่มนม กินยาลดกรด หรืออาเจียน
ถ้าแผลลุกลามไปที่ตับอ่อน อาจทำให้มีอาการปวดหลังร่วมด้วย และ
ไม่หายปวดท้องหลังกินอาหาร ในผู้ป่วยที่มีแผลที่กระเพาะอาหาร
มักมีอาการปวดท้องหลังอาหาร ประมาณ 1/2-1 ชั่วโมง บางคนอาจ
มีอาการเบื่ออาหาร(ไม่อยากกิน เพราะกลัวปวดท้อง) และน้ำหนักลด
อาการปวดท้องมักเป็นอยู่นานหลายสัปดาห์ แล้วอาจหายไปได้เอง
แต่ก็มักจะมีอาการกำเริบภายใน 1-2 ปี เป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม ลักษณะอาการของผู้ป่วยแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น กับแผลที่กระเพาะอาหาร บางครั้งก็อาจจะแยกกันไม่ได้ชัดเจนเช่น อาการปวดท้อง
ตอนดึก ก็อาจเกิดในผู้ป่วยแผลที่กระเพาะอาหารก็ได้เช่นกัน ผู้ป่วย
บางคนอาจเป็นแผลเพ็ปติกโดยไม่มีอาการแสดงก็ได้ เช่น พบว่า
กลุ่มที่เป็นแผลจากยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ มีประมาณ 50%
ที่ไม่ปรากฎอาการ หรือผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อน(เช่น ถ่ายดำ) โดย
ไม่มีอาการปวดท้องมาก่อนก็ได้ การวินิจฉัยที่แน่นอน ต้องอาศัยการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารและลำไส้ หรือเอกซเรย์โดยการ
กลืนแป้งแบเรียม


สิ่งตรวจพบ

ส่วนมากมักตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติอะไร บางคนอาจรู้สึกกดเจ็บ
เล็กน้อย ตรงบริเวณลิ้นปี่ในรายที่มีเลือดออก (เช่น ถ่ายดำ)
อาจตรวจพบอาการซีด


อาการแทรกซ้อน

ถ้าปล่อยให้เป็นเรื้อรัง อาจมีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ ที่พบบ่อย
ก็คือ ภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหาร หรือ ลำไส้เล็กส่วนต้น
ผู้ป่วยจะมีอาการอาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระดำส่วนมาก
เลือดจะออกไม่มากและหยุดได้เอง ส่วนน้อยอาจมีเลือดออกมาก
จนบางครั้งเกิดภาวะช็อก ถ้าเลือดออกเรื้อรัง ก็อาจเกิดภาวะโลหิต
จางจากภาวะขาดธาตุเหล็กได้ บางรายแผลอาจกินลึกจนเป็นรูทะลุ
เรียกว่า แผลเพ็ปติกทะลุ (Peptic perforation) ซึ่งอาจทำฃให้
มีเยื่อบุช่องท้องอักเสบร่วมด้วยได้ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องรุนแรง
และหน้าท้องแข็ง ควรได้รับการผ่าตัด แก้ไขโดยด่วน บางรายอาจ
มีภาวะกระเพาะหรือลำไส้ตีบตัน มีอาการปวดท้องรุนแรง อาเจียน
รุนแรง และท้องผูกในรายที่แผลกินลึกไปถึงตับอ่อน อาจทำให้มี
อาการปวดหลัง หรือมีอาการของตับอ่อนอักเสบร่วมด้วย ผู้ที่เป็น
แผลที่กระเพาะอาหารเรื้อรังจากเชื้อเอชไพโลไร ก็อาจมีโอกาส
กลายเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้


การรักษา

1. ถ้ามีอาการอาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายดำ ควรส่งโรงพยาบาล
ภายใน 24 ชั่วโมง (ถ้ามีอาการหน้ามืดเป็นลม หรือช็อก ควรส่ง
โรงพยาบาลทันที) ถ้าเสียเลือดมาก อาจต้องให้เลือด
แล้วทำการตรวจหาสาเหตุและให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ
2. ถ้ามีอาการปวดท้องรุนแรง ปวดท้องติดต่อกันนานเกิน 6 ชั่วโมง
อาเจียนรุนแรง หรือมีอาการท้องแข็งควรส่งโรงพยาบาลด่วน ถ้า
ตรวจพบว่ามีภาวะแผลเพ็ปติกทะลุ หรือ กระเพาะหรือลำไส้ตีบตัน
จำเป็นต้องผ่าตัดด่วน
3. ถ้ามีอาการปวดแสบ หรือจุกเสียดตรงใต้ลิ้นปี่ก่อนหรือหลัง
อาหาร หรือตอนดึก ๆ เป็นครั้งแรก ให้ยาลดกรด ร่วมกับยาลด
การสร้างกรด-ไซเมทิดีน นาน 2 สัปดาห์ ถ้าดีขึ้นกินต่อจน
ครบ 6-8 สัปดาห์ ถ้าไม่ดีขึ้น หรือมีอาการกำเริบ หรือน้ำหนักลด
ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจหาสาเหตุในการวินิจฉัย
แผลเพ็ปติก จำเป็นต้องอาศัยการตรวจพิเศษ เช่น การส่อง
กล้อง (endoscope) ตรวจดูกระเพาะอาหาร และลำไส้,
การเอกซเรย์กระเพาะลำไส้โดยการกลืนแป้งแบเรียม, การตัด
ชิ้นเนื้อพิสูจน์ (biopsy),การเพาะเชื้อหาเชื้อเอชไพโลไร เป็นต้น

การรักษานอกจากให้ยาลดกรด บรรเทาอาการแล้ว ยังต้องให้
ยารักษาแผลเพ็ปติกกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งขึ้นกับสาเหตุของ การเกิดโรค
ตามแนวทางโดยคร่าว ๆ ดังนี้

ก. แผลเพ็ปติกที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไพโลไร การรักษามี
จุดมุ่งหมายเพื่อบรรเทาอาการปวดท้องรักษาแผลให้หายและ
กำจัดเชื้อเอชไพโลไร โดยให้ยาดังนี้

(1) ยาลดการสร้างกรดออกฤทธิ์แรง (กลุ่ม proton pump inhibitors) ได้แก่ โอเมพราโซล (Omeprazole) มีชื่อทางการค้า เช่น โลเซก
(Losec), ไมราซิด (Miracid) ครั้งละ 20 มก. (1 แคปซูล)
วันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหารเช้าและเย็นร่วมกัน
(2) ยาปฏิชีวนะ 2 ชนิดร่วมกัน สูตรใดสูตรหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (โดย
กินพร้อมอาหาร)
(2.1) เมโทรไนดาโซล ครั้งละ 500 มก. วันละ 2 ครั้ง และ
คลาริโทรไมซิน (Clarithromycin) ครั้งละ 500 มก. วัน
ละ 2 ครั้ง หรือ
(2.2) อะม็อกซีซิลลิน ครั้งละ 1,000 มก. วันละ 2 ครั้ง
และคลาริโทรไมซิน ครั้งละ 500 มก. วันละ 2 ครั้งหรือ
(2.3) อะม็อกซีซิลลิน ครั้งละ 1,000 มก. วันละ 2 ครั้ง
และเมโทรไนดาโซล ครั้งละ 500 มก. วันละ 2 ครั้ง
(2.4) เตตราไซคลีน 500 มก. วันละ 4 ครั้ง และเมโทร
ไนดาโซล ครั้งละ 250 มก. วันละ 4 ครั้ง ร่วมกับบิสมัท ซับซา
ลิไซเลต (Bismuth subsalicylate) ครั้งละ 2 เม็ด วันละ 4 ครั้ง
ทั้งหมดนี้ กินทุกวัน ติดต่อกันนาน 7 วัน หลังจากนั้น ให้กิน
โอเมพราโซล หรือ ยาต้านเอช-2 (เช่น ไซเมทิดีน, รานิทิดีน)
นาน 4-8 สัปดาห์

ข. แผลเพ็ปติกที่ไม่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไพโลไร เป็นแผล
เพ็ปติกที่ตรวจไม่พบการอักเสบจากเชื้อเอชไพโลไร อาจมีสาเหตุ
จากการใช้ยาแอสไพริน หรือยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์
ควรให้การรักษาด้วยยาชนิดใดชนิดหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(1) โอเมพราโซล 20 มก. วันละครั้ง นาน 4 สัปดาห์ (สำหรับแผล
ที่ลำไส้เล็กส่วนต้น ที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน) หรือ 20 มก. วันละ
2 ครั้ง นาน 6-8 สัปดาห์ (สำหรับแผลที่กระเพาะอาหาร หรือ
แผลเพ็ปติกที่มีภาวะแทรกซ้อน)
(2) ยาต้านเอช-2 เช่น ไซเมทิดีน 800 มก. หรือรานิทิดีน
(Ranitidine) 300 มก. วันละครั้ง ก่อนนอนนาน 6 สัปดาห์
(สำหรับแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้นที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน) หรือ
ไซเมทิดีน 400 มก. หรือรานิทิดีน 150 มก. วันละ 2 ครั้ง
นาน 8-12 สัปดาห์ (สำหรับแผลที่กระเพาะอาหาร) ส่วนแผล
เพ็ปติกที่มีภาวะแทรกซ้อน ไม่แนะนำให้ใช้ยากลุ่มนี้
(3) ซูคราลเฟต (Sucralfate) ซึ่งเป็นยาปกป้องเยื่อบุกระเพาะ
ลำไส้ ให้ครั้งละ 1 กรัม วันละ 4 ครั้ง สำหรับแผลที่ลำไส้เล็ก
ส่วนต้นที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน
ค. ในรายที่เป็นเรื้อรัง หรือเคยมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น หรือ
ผู้สูงอายุ หรือยังสูบบุหรี่ อาจจำเป็นต้องกินยาต้านเอช-2 เช่น
ไซเมทิดีน 400-800 มก. หรือรานิทิดีน 150-300 มก. วันละครั้ง
ก่อนนอน ทุกวันติดต่อกันไปอีกสักระยะหนึ่ง (3-6 เดือนหรือเป็นปี)
และอาจต้องใช้กล้องส่องตรวจ และตัดชิ้นเนื้อพิสูจน์ซ้ำ จนกว่า
แผลจะหายดี ถ้าแผลเรื้อรัง ไม่ยอมหาย อาจต้องรักษาด้วยการ
ผ่าตัด


ข้อแนะนำ

1. ผู้ป่วยที่เริ่มให้การรักษาด้วยยารักษาแผลเพ็ปติก ถ้ายังมีอาการ
ปวดท้อง ควรให้ยาลดกรดช่วยบรรเทาอาการครั้งละ 15-30 มล.
เวลามีอาการ ร่วมกับยารักษาแผลเพ็ปติกกลุ่มอื่น ๆ จนกว่าจะ
หายปวดท้อง
2. สำหรับผู้ป่วย ควรมีข้อปฏิบัติ ดังนี้
2.1 กินอาหารให้ตรงเวลาทุกมื้อ อย่าปล่อยให้หิว
2.2 งดบุหรี่ แอลกอฮอล์ ชา กาแฟหรือเครื่องดื่มกาเฟอีน
น้ำอัดลม
2.3 หลีกเลี่ยงการใช้แอสไพริน ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่เสตอรอยด์,
ยาสเตอรอยด์
2.4 อาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด น้ำส้ม น้ำผลไม้ ถ้ากินแล้วมีอาการ
ปวดท้องกำเริบ ควรงดจนกว่าจะหายดี
2.5 ออกกำลังกายเป็นประจำ และหาวิธีผ่อนคลายความเครียด
(ถ้าเครียด)
2.6 ควรกินยาอย่างต่อเนื่อง และพบแพทย์ตามนัด การกินยา
ไม่ต่อเนื่อง อาจทำให้กลายเป็นแผลเรื้อรังและรักษายาก หรือมี
ภาวะแทรกซ้อนได้


การป้องกัน

ผู้ป่วยที่กินยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ ที่มีภาวะเสี่ยงต่อการ
เกิดแผลเพ็ปติก (เช่น ผู้สูงอายุ,ผู้ที่ต้องใช้ยานี้ในขนาดสูง หรือ
นาน ๆ หรือใช้ร่วมกับยาสเตอรอยด์, ผู้ที่เคยเป็นแผลเพ็ปติกมาก่อน )
ควรให้กินยาป้องกันควบคู่ด้วย เช่น ไมโซพรอสตอล (Misoprostol)
100- 200 ไมโครกรัม วันละ 4 ครั้ง ยานี้จัดอยู่ในกลุ่มพรอสตา
แกลนดิน กินแล้วอาจทำให้ปวดท้อง ท้องเดิน และไม่ควรใช้ใน
หญิงตั้งครรภ์ เพราะอาจทำให้แท้งได้ ในกรณีที่ผู้ป่วยกินยา
ดังกล่าวไม่ได้ หรือมีผลข้างเคียงมาก ให้ใช้โอเมพราโซลครั้งละ
20 มก. วันละ 2 ครั้ง หรือ กินยาลดกรด 30 มล. วันละ 7 ครั้ง
นอกจากนี้ ยังอาจจำเป็นต้องเปลี่ยนไปใช้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่
สเตอรอยด์ ตัวใหม่ ๆ ที่มีผลต่อการเกิดแผลเพ็ปติกน้อย เช่น
ซาลซาเลต (Salsalate), อีโทโดแล็ก (Etodolac), นาบูมีโทน
(Nabumetone) เป็นต้น


โรคแผลกระเพาะทะลุ - Peptic perforation

กระเพาะทะลุ/แผลเพ็ปติกทะลุ มักพบเป็นภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง
ของผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะ (แผลเพ็ปติก) ที่ไม่ได้รับการรักษา
อย่างจริงจัง ผู้ป่วยมักมีประวัติปวดท้องแบบโรคกระเพาะ/แผล
เพ็ปติกเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง หรือมีประวัติชอบกินยาแก้ปวดหัว
ปวดหลัง ปวดข้อ (เช่น ยาแก้ปวดที่เข้าแอสไพริน, ยาชุด)
ดื่มเหล้า เป็นประจำผู้ป่วยจะมีแผลที่กระเพาะหรือลำไส้เล็กส่วนต้น
ที่ค่อย ๆ กินลึกจนทะลุเป็นรู แล้วกลายเป็นเยื่อบุช่องท้องอักเสบ
และโลหิตเป็นพิษ หากรักษาไม่ทันอาจตายได้


อาการ

ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเสียดแน่นที่ใต้ลิ้นปี่ ซึ่งเกิดขึ้นทันทีทันใดและ
รุนแรงอย่างที่ไม่เคยปวดมาก่อน และปวดติดต่อกันนานเป็นชั่วโมง ๆ
(มักเป็นนานเกิน 6 ชั่วโมง) กินยา ฉีดยาอะไรก็ไม่ได้ผล อาการ
ปวดท้องมักลุกลามไปทั่วท้องอย่างรวดเร็ว และอาจรู้สึกปวดร้าว
ไปที่หัวไหล่ข้างเดียวหรือสองข้าง ผู้ป่วยมักจะนอนนิ่ง ๆ เพราะ
หากขยับเขยื้อนจะรู้สึกปวดมากขึ้น บางคนอาจมีการคลื่นไส้อาเจียน
ใจสั่น หน้ามืด วิงเวียนคล้ายจะเป็นลม


สิ่งตรวจพบ
มีอาการกดเจ็บ (tenderness), กดปล่อยแล้วกดเจ็บ (rebound tenderness) และท้องแข็ง (guarding) ตรงบริเวณใต้ลิ้นปี่ ใช้
เครื่องฟังตรวจที่หน้าท้อง จะได้ยินเสียงโครกครากลดน้อยกว่าปกติ
หรือแทบไม่ได้ยินเลยชีพจรมากกว่า 120 ครั้งต่อนาทีบางคนอาจมี
อาการช็อก หรือกระสับกระส่ายเหงื่อออก ตัวเย็น ความดันเลือดตก
บางคนมีไข้ขึ้น


การรักษา

หากสงสัยควรส่งโรงพยาบาลด่วนในรายที่อาการไม่ชัดเจน ให้ลอง
ฉีดยาแอนติสปาสโมดิก เช่น อะโทรพีน, ไฮออสซีน ดูก่อน ถ้า
ปวดจากอาการกระเพาะเกร็ง มักจะหายปวดได้ แต่ถ้าไม่หายปวด
ใน 15-30 นาที ก็น่าจะสงสัยว่าเป็นกระเพาะทะลุระหว่างส่ง
โรงพยาบาล ควรให้งดน้ำและอาหารเพื่อเตรียมผ่าตัด ถ้ามีภาวะ
ขาดน้ำหรือช็อก ควรให้น้ำเกลือไประหว่างทางด้วย มักจะตรวจ
วินิจฉัยด้วยเอกซเรย์ ถ้าเป็นจริงต้องผ่าตัดทุกราย


ข้อแนะนำ
1. โรคนี้ถือเป็นภาวะร้ายแรง หากสงสัย (เช่น มีอาการปวดท้อง
รุนแรงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หรือปวดนานเกิน 6 ชม.) ควรส่ง
โรงพยาบาลด่วน การรักษาที่ถูกต้อง คือ การผ่าตัด ซึ่งมักจะ
ช่วยให้หายขาดได้ แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้เนิ่นนาน ก็ยิ่งมีอันตราย
มากขึ้น
2. โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการไม่ดื่มเหล้า หรือกินยาแก้ปวด
หรือยาชุดเป็นประจำ และถ้ามีอาการของโรคกระเพาะ/แผลเพ็ปติก
ควรหาทางรักษาให้หายขาด อย่าปล่อยให้เป็นเรื้อรัง


รายละเอียด

อาการปวดท้องติดต่อกัน นานเกิน 6 ชั่งโมง มักมีสาเหตุร้ายแรง
ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วคะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก //www.thailabonline.com







 

Create Date : 28 มีนาคม 2552
0 comments
Last Update : 28 มีนาคม 2552 12:10:36 น.
Counter : 47355 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


kobnon
Location :
นนทบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 92 คน [?]




.
สาระน่ารู้ประจำวัน
1.โรคข้อสันหลังอักเสบติดยึด
2. บุหรี่ ทำนมยาน หูตึง
3. Upside down pineapple cake


music
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2552
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
28 มีนาคม 2552
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add kobnon's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.