Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2551
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
26 พฤศจิกายน 2551
 
All Blogs
 

“อำนาจแห่งความว่าง ความว่างแห่งอำนาจ” - ปาฐกถา เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

. . .


“อำนาจแห่งความว่าง ความว่างแห่งอำนาจ”
ปาฐกถา เสกสรรค์ ประเสริฐกุล :

เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2551 ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ได้ปาฐกถาชุด"พุทธธรรมพาไทยพ้นวิกฤต" จัดโดยมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ณหอประชุมมหิศร สำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

00000

นมัสการพระคุณเจ้า กราบเรียนพณฯองคมนตรี พณฯอดีตนายกรัฐมนตรี ท่านศาสตราจารย์ประเวศ วะสี ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน และพี่น้องพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย

ก่อนอื่น คงต้องขอขอบคุณมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญที่เมตตาเชื้อเชิญให้ผมมาแสดงความคิดเห็น อันที่จริงผมมีความรู้ในเรื่องพุทธธรรมน้อยมาก กล่าวได้ว่ายังรู้ไม่พอที่จะมาแสดงปาฐกถาธรรมในโอกาสเช่นนี้ ยิ่งต้องมาพูดอยู่ท่ามกลางศิษย์สายตรงที่เคยได้รับการอบรมสั่งสอนโดยท่านอาจารย์พุทธทาสด้วยแล้ว ผมยิ่งรู้สึกว่าตัวเองกำลังแสดงความโอหังบังอาจอยู่มากทีเดียว

เพราะฉะนั้นในเบื้องแรก คงต้องเรียนว่าสิ่งที่จะพูดต่อไปนี้ มาจากความเข้าใจอันจำกัดของผมเอง ซึ่งอาจจะขาดตกบกพร่องผิดเพี้ยนไปจากคำสอนของครูบาอาจารย์ หรือไม่ตรงตามหลักธรรมที่บางท่านเข้าใจอยู่บ้าง ขอให้ท่านทั้งหลายอย่าได้ถือสา

โดยส่วนตัวแล้ว ผมเองไม่มีวาสนาได้บวชเรียนโดยตรงกับท่านอาจารย์พุทธทาส ไม่เคยแม้แต่จะได้ไปกราบท่านสักครั้งในยามที่ท่านมีชีวิตอยู่ แต่โชคยังดีที่ท่านได้ทิ้งมรดกธรรมไว้มากมาย ทำให้ผมมีโอกาสได้ศึกษาและทำความเข้าใจพุทธธรรมโดยผ่านคำสอนของท่านอยู่บ้าง เช่นนี้แล้ว ผมจึงรู้สึกว่าท่านเป็นครูที่สำคัญคนหนึ่ง ไม่ใช่ครูของผมเท่านั้น หากเป็นครูของคนไทยทั้งประเทศและเป็นครูของโลก

เนื่องจากวันนี้เป็นวาระที่พวกเรามาชุมนุมกันเพื่อรำลึกถึงพระคุณของท่านอาจารย์พุทธทาส เรื่องที่จะพูดจึงต้องเป็นเรื่องธรรมะเท่านั้น ออกนอกรัศมีธรรมไม่ได้ อย่างไรก็ดี การพูดถึงหลักธรรมไม่ได้หมายความว่าต้องตัดเรื่องทางโลกทิ้งไป เพราะธรรมะโอบอุ้มโลกทั้งโลกไว้แล้วในฐานะกฏเกณฑ์ที่ดำรงอยู่โดยธรรมชาติ เราจะเข้าใจธรรมะได้ก็โดยผ่านการพิจารณาประสบการณ์ทางโลกเป็นสำคัญ ปรมัตถ์สัจจะกับสมมุติสัจจะแม้จะเป็นความจริงต่างระดับแต่ก็เกี่ยวโยงกัน

ดังนั้น ที่ผมกล่าวว่าจะต้องพูดเรื่องธรรมะเท่านั้น จึงไม่ได้หมายถึงการตัดเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในเวลานี้ออกไป หากหมายถึงการพิจารณาเรื่องราวทั้งหลายประดามีโดยผ่านมุมมองของหลักธรรม

พูดกันตามความจริง หัวข้อที่ผมเลือกมาสนทนากับท่าน เป็นหัวข้อที่ใหญ่มาก ออกจะเกินกำลังของผมไปพอสมควร แต่ที่ผมเลือกคุยกันล้อมรอบหัวข้อ'ความว่าง'หรือที่บาลีเรียกว่าสุญญตา ก็เพราะเห็นว่านี่เป็นหัวใจแห่งคำสอนของท่านอาจารย์พุทธทาส

ท่านอาจารย์เองเคยกล่าวไว้ว่า

'ธรรมที่ลึกที่สุดก็คือเรื่องสุญญตา นอกนั้นเรื่องตื้น ธรรมที่ลึกจนต้องมีพระตถาคตตรัสรู้ขึ้นมาและสอนนั้นมีแต่สุญญตา เรื่องนอกนั้นเรื่องตื้น ไม่จำเป็นจะต้องมีตถาคตเกิดขึ้นมา'

แน่ละ ในการสนทนาเรื่องลึกขนาดนี้ ผมเองก็เสี่ยงต่อการแสดงความโง่เขลาเบาปัญญาอยู่ไม่น้อย เพียงแต่ผมยินดีน้อมรับการเสี่ยงดังกล่าว โดยถือว่าเป็นการบูชาครู

ถามว่าความว่างหรือสุญญตาธรรมคืออะไร? หลายท่านคงทราบดีอยู่แล้ว แต่ผมจะขออนุญาตทบทวนสั้นๆดังนี้ว่าความว่างในภาษาธรรมไม่ได้หมายถึงความว่างเปล่าโล่งเตียนไม่มีอะไรเลยตามที่เข้าใจกันในภาษาสามัญ หากหมายถึงสภาพความจริงที่สรรพสิ่งในโลกล้วนอิงอาศัยกันเกิดขึ้นและมีอยู่ ด้วยเหตุนี้แต่ละสิ่งจึงปราศจากแก่นสารในตัวเอง (self-nature) หรือพูดอีกแบบหนึ่งคือไม่มีอัตลักษณ์แยกต่างหาก (separate identity)

การไม่มีแก่นสารในตัวเองภาษาสันสกฤตเรียกว่าไม่มี สวภาวะ แต่ข้อนี้ไม่ได้หมายความว่าสิ่งทั้งหลายในโลกไม่มีอยู่จริง หากมีอยู่โดยสัมพัทธ์และสัมพันธ์กับสิ่งอื่นๆ ไม่มีสิ่งใดอุบัติขึ้นได้โดยอิสระ

ดังนั้นหลวงพ่อนัท ฮันห์ อาจารย์เซนที่มีชื่อเสียงจึงบอกว่าความเป็นสุญญตาเกี่ยวโยงอยู่กับความเป็นอนัตตาอย่างใกล้ชิด สิ่งต่างๆ'แค่ว่างจากตัวตน แต่เต็มไปด้วยทุกสิ่งทุกอย่าง' หรือพูดตามท่านคุรุนาคารชุนก็ต้องบอกว่า'เพราะความว่างนี่แหละที่ทำให้ปรากฏการณ์ทั้งหลายก่อรูปขึ้นมาได้'

กล่าวอีกแบบหนึ่งก็คือสุญญตาหมายถึงสภาพของความจริงที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆตามเหตุปัจจัย และหมายถึงความจริงแบบองค์รวมมากกว่าความจริงแบบแยกส่วน

เช่นนี้แล้ว ท่านทั้งหลายคงจะนึกออกทันทีว่าหลักธรรมเรื่องความว่างนั้นเกี่ยวโยงกับคำสอนของพระพุทธองค์เรื่องอิทัปปัจจยตา หรือ ปฏิจจสมุปบาทจนแทบเป็นเนื้อเดียวกัน

ท่านอาจารย์พุทธทาสเองเวลาสอนเรื่องความว่าง ก็ไม่ได้แยกประเด็นออกจากอิทัปปัจจยตาท่านยืนยันว่าสิ่งนี้เป็นกฎเกณฑ์ธรรมชาติที่กำหนดความเป็นไปในโลกและจักรวาล ซึ่ง 'มีอำนาจเด็ดขาดเหนือสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ที่จะบันดาลสิ่งทั้งหลายทั้งปวงให้เป็นไปในลักษณะใดก็ตาม...ฉะนั้นพุทธบริษัทก็มีพระเจ้าคืออิทัปปัจจยตา เป็นสิ่งที่บันดาลให้สิ่งอะไรเกิดขึ้นมา แล้วก็ควบคุมสิ่งนั้นๆไว้ แล้วก็ทำให้สิ่งเหล่านั้นยุบสลายลงไปเป็นคราวๆ แล้วก็เกิดขึ้นมาใหม่ นี้คือพระเจ้าอิทัปปัจจยตาที่ทำหน้าที่ของมัน'

พูดง่ายๆคือท่านอาจารย์พุทธทาสเห็นว่ากฎแห่งความว่างนั้นมีพลานุภาพเทียบเท่าพระเจ้าในศาสนาอื่น และสามารถให้คุณให้โทษได้ แต่เป็นการให้คุณให้โทษไปตามกฎเกณฑ์ธรรมชาติ ไม่ใช่ตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจ หรือให้คุณให้โทษไปตามการร้องขอของสรรพสัตว์

ถามว่าแล้วกฎอิทัปปัจจยตาคืออะไร ทำอย่างไรเราจึงจะอยู่อย่างสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ดังกล่าว ซึ่งหมายถึงว่าอยู่ได้โดยปกติสุขโดยไม่ถูกลงโทษลงทัณฑ์?

ต่อเรื่องนี้คงจะต้องจำแนกระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เพราะพูดกันตามความจริงธรรมชาติเลื่อนไหลไปตามกฎดังกล่าวอยู่แล้ว มีแต่มนุษย์เท่านั้นที่บ่อยครั้งหยั่งไม่ถึงกฎแห่งการไร้ตัวตน กฎแห่งการอิงอาศัยกันและกันเกิดขึ้นมีอยู่ ตลอดจนกฎแห่งการแปรเปลี่ยนเลื่อนไหลไปตามเหตุปัจจัย

ในโลกของธรรมชาติ ถ้าเราช่างสังเกตสักหน่อยก็จะพบว่าปรากฏการณ์ทั้งปวงล้วนก่อรูป ตั้งอยู่ และแปรเปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัยหลายอย่างซึ่งเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน พูดให้งดงามก็ทุกอย่างในโลกธรรมชาติล้วนดำเนินไปในอ้อมกอดของสุญญตา สรรพสิ่งยืมตัวเองมาจากการมีอยู่ของสิ่งอื่น ในทะเลมีสายฝน ในหยาดฝนมีทะเลกว้าง ละอองไอในก้อนเมฆ แท้จริงแล้วคือท้องทะเลที่กำลังเดินทาง เมื่อเราเห็นฝนก็คือเห็นทะเล เห็นทะเลก็คือเห็นฝน

เกี่ยวกับกฏอิทัปปัจจยตา หรือปฏิจจสมุปบาทนั้น ครูบาอาจารย์ผู้รู้ยังมีทัศนะต่างกันอยู่เล็กน้อย บางท่านเคร่งครัดตามพุทธวจนะที่เริ่มต้นด้วย อวิชฺชาปจฺจยา สํขารา (เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยสังขารจึงมี) ตามด้วยเพราะสังขารเป็นปัจจัยวิญญาณจึงมี ต่อเนื่องไปจนครบ 12 อาการ จึงมองว่าทั้งหมดเป็นสายโซ่แห่งทุกข์ ไม่ว่าจะไล่เหตุปัจจัยในลักษณะอนุโลมหรือปฏิโลมก็ตาม

การพิจารณาเช่นนี้หมายความว่าอาการหนึ่งเป็นเหตุให้เกิดอีกอาการหนึ่ง เช่นอวิชชาทำให้เกิดสังขาร (หรือการปรุงแต่ง) จากนั้นสังขารกลายเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ ไล่ไปเรื่อยๆจนถึงอาการของชาติซึ่งมีภพเป็นปัจจัย พูดอีกแบบคือนี่เป็นการเห็นปรากฏการณ์ทางโลกไล่เรียงไปตามสายโซ่ของเหตุและผล ซึ่งผลสามารถกลายเป็นเหตุปัจจัยส่งต่อให้เกิดผลอื่นๆต่อเนื่องไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด

อย่างไรก็ดี ครูบาอาจารย์ผู้รู้บางท่านเห็นว่าการตีความปฏิจจสมุปบาทในลักษณะอะไรเป็นเป็นเหตุอะไรเป็นผลในทิศเดียวอาจจะอธิบายความจริงไม่ได้ทั้งหมด ดังนั้นจึงเน้นไปในการพิจารณาปฏิสัมพันธ์ของนานาปัจจัยซึ่งก่อให้เกิดปรากฏการณ์ต่างๆขึ้นในโลก ซึ่งหมายถึงว่าเหตุและผลสามารถไหลย้อนกลับไปกลับมา ไม่จำเป็นว่าอย่างหนึ่งเป็นต้นเหตุของอีกอย่างหนึ่ง การมีอยู่ของสิ่งใดก็ตาม เป็นผลมาจากการชุมนุมของนานาปัจจัย เมื่อปัจจัยพร้อมสิ่งนี้จึงเกิด เมื่อปัจจัยเปลี่ยนสิ่งนั้นจึงดับ เหมือนเมล็ดพันธุ์ไม้ผลิงอก ปัจจัยต้องพร้อมทั้งดิน น้ำ แสงตะวัน

ในพระไตรปิฎกเอง แม้คำอธิบายส่วนใหญ่จะให้พื้นที่กับการลำดับ12อาการไปในทิศทางเดียว โดยเริ่มต้นจากอวิชฺชาปจฺจยา สํขารา แต่ก็มีคำอธิบายอยู่ในพระอภิธรรมว่าแม้แต่อวิชชาซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของปฏิจจสมุปบาทนั้นก็เป็นผลมาจากปัจจัยอื่นๆ นอกจากนี้สังขารยังสามารถย้อนมาเป็นปัจจัยก่อให้เกิดอวิชชาได้เช่นกัน

อันนี้ถ้าให้ผมตีความ ก็คงต้องบอกว่าการแยกเหตุกับผลอย่างเด็ดขาดอาจจะไม่ถูกต้องนัก บางครั้งสรรพสิ่งอาจจะเป็นเหตุและผลของกันและกันในปราฏการณ์ที่เป็นวัฏจักรเวียนวน ยกตัวอย่างเดิม เช่นความสัมพันธ์ระหว่างฝนกับทะเล เราจะบอกว่าฝนมาจากทะเลก็ได้ หรือทะเลมาจากฝนก็ถูกต้องเช่นกัน ยิ่งบอกว่าทะเลกับสายฝนเป็นหนึ่งเดียว ยิ่งตรงกับปรมัตถ์สัจจะที่สุด

อย่างไรก็ดี ประเด็นสำคัญคือต้องเข้าใจว่าเหตุปัจจัยทั้งปวงนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเองลอยๆ หากเป็นผลจากการมีอยู่ของปัจจัยอื่นทั้งสิ้น ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นเองได้โดยไม่มีเหตุปัจจัย ถ้าเราเข้าใจจุดนี้แล้ว ก็จะพบว่าการโทษปัจจัยใดหรือบุคคลใดโดดๆว่าเป็นต้นเหตุเพียงอย่างเดียวของปรากฏการณ์หรือสถานการณ์อันไม่พึงปรารถนา ย่อมเป็นทัศนะที่ไม่สอดคล้องกับความจริง

ตรงนี้จึงนำมาสู่ประเด็นสำคัญที่สุดเกี่ยวกับอิทัปปัจจยตา คือการนำหลักธรรมดังกล่าวมาส่องให้เห็นความว่างอันเป็นลักษณะของโลก แต่การหยั่งถึงสภาพสุญญตาของโลกเป็นสิ่งที่ยากมาก และแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าเราไม่อาศัยหลักธรรมนี้มาขัดเกลาตัวเองเสียก่อน

ดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตอบคำถามพระอานนท์เกี่ยวกับสภาพสุญญตาของโลกว่า 'โลกสูญ...เพราะว่าสูญจากตนและจากสิ่งที่เนื่องด้วยตน'

จากพุทธวัจนะดังกล่าว เราอาจอ่านความหมายได้สองทางคือหนึ่ง โลกเป็นความว่างเพราะสรรพสิ่งไม่มีตัวตนแท้จริง สองจะเห็นความว่างของโลกได้ก็ต้องเข้าใจความว่างตัวตนของเราด้วย

ท่านอาจารย์พุทธทาสเองก็เน้นว่าเรื่องปฏิจจสมุปบาทนั้น ที่สำคัญคือต้องมาใช้มองด้านใน คำกล่าวของท่านที่ว่า'ว่างจากตัวกรูของกรูเท่านั้นจะว่างหมดจากทุกสิ่ง' เท่ากับบอกว่าถ้าอยากจะหยั่งเห็นอิทัปปัจจยตาภายนอกนั้น ต้องเริ่มต้นด้วยการหยั่งถึงอิทัปปัจจยตาภายใน

อันนี้หากอ่านให้ลึกลงไป ก็ต้องสรุปว่าเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดในโลกไม่ใช่เรื่องภายนอกเท่านั้น หากเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายในด้วย และจะต้องดับเหตุการณ์ภายในเสียก่อนจึงจะดับเหตุการณ์ภายนอกได้

อันที่จริงประเด็นสำคัญมันอยู่ที่ภายในนั่นแหละ คือถ้าบุคคลหยั่งไม่ถึงความว่างอันเป็นธรรมชาติของโลก หยั่งไม่ถึงกฎเหล็กของอิทัปปัจจยตา ก็จะมองปัญหาผิดไปจากความจริง และแก้ปัญหาโดยไม่สอดคล้องกับความจริง ซึ่งก็คือเพิ่มปัญหาขึ้นมาอย่างต่อเนื่องไม่สิ้นสุด

การที่คนเรามองไม่ไม่เห็นสุญญตา ทำให้ชอบแบ่งโลกออกเป็นคู่ขัดแย้งต่างๆ ชอบบัญญัติลงไปว่าสิ่งนั้นดีสิ่งนี้ชั่ว สิ่งนี้สวยสิ่งนั้นอัปลักษณ์ สิ่งนี้บริสุทธิ์สิ่งนี้มีมลทิน ฯลฯ การมองโลกแบบทวิภาวะเช่นนี้แท้จริงแล้วมักผูกโยงอยู่กับอัตตา ซึ่งนำไปสู่การปะทะกันขัดแย้งอยู่เนืองๆ เพราะต่างฝ่ายต่างอยากกำหนดความเป็นไปของโลกด้วยปัจจัยเดียวคือตัวเอง และโทษผู้อื่นเป็นต้นเหตุโดดๆแบบไม่มีที่มาที่ไป

แต่กฎแห่งความว่างเป็นกฎเหล็ก ละเมิดแล้วก็มีแต่หาทุกข์ใส่ตัว ตรงนี้เองคืออำนาจแห่งความว่าง... อำนาจแห่ง'พระเจ้าอิทัปปัจจยตา'

ความจริงของโลกคือภาวะแยกเป็นคู่ๆแบบขาวล้วนดำล้วนนั้น เป็นแค่เรื่องสมมติ เป็นบัญญัติทางโลกที่อาจทำได้กระทั่งมีประโยชน์ หากอยู่ในระดับพอเหมาะพอสมไม่ยึดติด อีกทั้งรู้เท่าทันมัน แต่ถ้าใครก็ตามพาทัศนะเช่นนี้เตลิดไปอย่างไร้ขอบเขต สุดท้ายย่อมติดกับอยู่กับความขัดแย้งชนิดหาทางออกไม่ได้ ทั้งขัดแย้งในตัวเองและขัดแย้งกับผู้อื่น

อันที่จริงในเรื่องความสุดโต่งของทัศนะที่จะยืนยันว่าสิ่งใดมีอยู่สิ่งใดไม่มีอยู่ หรือสิ่งใดผิดสิ่งใดถูกตามโลกบัญญัตินั้น พระพุทธองค์ได้ทรงเตือนไว้แล้วว่าไม่ทำให้เกิดปัญญา

ดังพุทธวัจนะในกัจจานโคตตสูตรซึ่งทรงกล่าวไว้ว่า
'โลกนี้โดยมากอาศัยส่วน2อย่าง คือ ความมี1 ความไม่มี1 ก็เมื่อบุคคลเห็นความเกิดแห่งโลกด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงแล้ว ความไม่มีในโลกย่อมไม่มี เมื่อบุคคลเห็นความดับแห่งโลกด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงแล้ว ความมีในโลกย่อมไม่มี โลกนี้โดยมากยังพัวพันด้วยอุบาย อุปาทานและอภินิเวส แต่พระอริยสาวกย่อมไม่เข้าถึง ไม่ถือมั่น ไม่ตั้งไว้ซึ่งอุบายและอุปาทานนั้น...'

ในพระสูตรของฝ่ายมหายาน ประเด็นการก้าวพ้นทวิภาวะ ( dualism ) หรือก้าวพ้นการแบ่งแยกความจริงออกเป็นคู่ตรงข้ามนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะมีแต่ก้าวพ้นการยึดมั่นในสิ่งนี้เท่านั้นจึงจะได้กุญแจไปสู่การเข้าใจสุญญตา

ดังจะเห็นได้จากข้อความในคัมภีร์วิมลเกียรตินิทเทสสูตร (ปริเฉท9) ซึ่งบรรดาพระโพธิสัตว์หลายองค์ได้ตอบคำถามของท่านวิมลเกียรติคฤหบดีในเรื่องนี้ไว้อย่างละเอียด

'กุศล อกุศลชื่อว่าเป็นธรรมคู่ ผู้ใดไม่เกิดความรู้สึกยึดถือ ก่อเกิดกุศลฤาอกุศล รู้แจ้งเห็นจริง เข้าถึงอัปปณิหิตธรรม จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร'
'บาป บุญ ชื่อว่าเป็นธรรมคู่ ผู้ใดรู้แจ้งว่าเนื้อแท้ภาวะแห่งบาปมิได้ผิดแปลกจากบุญเลย ใช้วชิรปัญญาเข้าไปตัดความติดแน่นในลักษณะแบ่งแยกเสียได้ ไม่มีผู้ถูกผูกพันฤาไม่มีผู้หลุดพ้น จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร'

ท่านอาจารย์พุทธทาสเองก็ยืนยันในเรื่องข้ามพ้นทวิภาวะไว้อย่างชัดเจน โดยกล่าวว่า
'เราจะต้องเรียนรู้เรื่องอิทัปปัจจยตาเพื่อว่าเราจะได้เดินอยู่ในมัชฌิมาปฏิปทา ไม่ไปโง่ไปหลงในของเป็นคู่ๆ ของเป็นคู่ที่ระบุไปยังข้างใดข้างหนึ่งโดยเด็ดขาดนั้นไม่ใช่อิทัปปัจจยตา เป็นสิ่งสมมติ.. '

พูดอีกแบบคือการถอนอุปาทานออกจากการแยกโลกเป็นขั้วเป็นข้างนั้นถือเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดในการหยั่งถึงความจริง อีกทั้งเป็นวิธีเดียวที่จะเชื่อมความจริงสมมุติเข้ากับความจริงปรมัตถ์

ผมขออนุญาตนำข้อความในลังกาวัตรสูตร ของมหายานมาสมทบอีกชิ้นหนึ่งเพื่อเพิ่มความชัดเจน

'อไทฺวตธรรม (non-duality) หมายความว่ากระไร? มันหมายความว่าความสว่างความมืด สั้นยาว ขาวดำ ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องสัมพัทธ์ทั้งสิ้น...และไม่ได้เป็นอิสระจากกัน เฉกเช่นนิพพานและสังสารวัฏไม่ได้แยกขาดจากกัน สรรพสิ่งมิได้แยกเป็นสองขั้วเช่นนั้น ไม่มีนิพพานที่ปราศจากสังสารวัฏ ไม่มีสังสารวัฏที่ปราศจากนิพพาน เนื่องจากเงื่อนไขในการดำรงอยู่(ของสรรพสิ่ง)ไม่ได้มีลักษณะตัดขาดซึ่งกันและกัน'

ดังนั้น สรุปในชั้นนี้ก็คือ การข้ามพ้นธรรมคู่หมายถึงการเห็นความว่างและการเข้าใจความว่างหมายถึงการมองเห็นความสัมพันธ์ที่อิงอาศัยกันเกิดขึ้นมีอยู่ของสรรพสิ่ง เห็นความเชื่อมร้อยเชื่อมโยงของสรรพสิ่ง มองเห็นแม้แต่ความเชื่อมโยงสัมพันธ์ของสิ่งที่ดูเหมือนขัดแย้งกัน

ด้วยเหตุนี้ การหยั่งเห็นความว่างจึงเกี่ยวโยงอย่างใกล้ชิดกับหลักธรรมสำคัญอีกเรื่องหนึ่งซึ่งได้แก่มัชฌิมาปฏิปทา หรือที่เราเรียกกันว่าทางสายกลาง
อย่างไรก็ตาม จากที่ผมกล่าวมาทั้งหมดข้างต้น ท่านคงเห็นชัดอยู่แล้วว่าธรรมข้อนี้ไม่ได้หมายถึงทางที่อยู่ตรงกลางระหว่างทางสองสาย ไม่ได้หมายถึงทัศนะไม่เลือกข้างเพื่อเอาตัวรอด และยิ่งไม่ใช่หมายถึงการหาประชามติจากคนกลางๆที่ไม่ได้เป็นคู่ความขัดแย้ง

กล่าวอย่างรวบรัดที่สุด มัชฌิมาปฏิปทาหมายถึงการถอนอุปาทานจากความคิดสุดโต่งทั้งปวง หมายถึงการมองเห็นความสมมุติของทวิภาวะ เห็นความไม่จริงของบัญญัติต่างๆที่ผู้คนมักยกอ้างมาขัดแย้งกัน

ยกตัวอย่างเช่นในเวลานี้ พี่น้องชาวไทยเราจำนวนหนึ่งกำลังถูกพัดพาให้ไปยึดถือบัญญัติว่าอะไรเป็นประชาธิปไตยอะไรไม่ใช่ประชาธิปไตย แล้วเถียงกันเอาเป็นเอาตายโดยลืมไปว่าทั้งหมดเป็นแค่สมมุติสัจจะ เป็นความจริงสัมพัทธ์ที่ขึ้นต่อนานาปัจจัยและไม่มีอันใดเที่ยงแท้ถาวร

อย่างนี้เรียกว่าติดกับอยู่ในทวิภาวะซึ่งเป็นบ่วงทุกข์อันหนักหน่วง และคงเปลื้องทุกข์ไม่ได้ถ้าไม่ถอนตัวกลับมาสู่มัชฌิมาปฏิปทา

นักวิชาการด้านพุทธศาสนาท่านหนึ่งได้เขียนไว้ว่า 'จิตที่ติดอยู่ในข่ายความคิดนั้นเป็นความหลง ภาษาพระเรียกสัญญาวิปลาส ซึ่งไม่ได้หมายถึงอาการบ้า แต่หมายถึงการยึดติดความคิดบางอย่างที่เนื่องกับอัตตา เป็นการสนับสนุนอัตตาในระดับเหตุผล'

ผมเห็นด้วยกับคำอธิบายเช่นนี้อย่างยิ่ง เนื่องจากผมอยู่ในแวดวงปัญญาชนมานาน เคยเห็นคน'คลอดลูก'เป็นความคิดมามาก อีกทั้งหวงความคิดของตนราวลูกในอุทร ใครแตะไม่ได้ ใครค้านไม่ได้ ผมเองก็เคยหลงอยู่ในกับดักเช่นนั้น เคยออกอาการสัญญาวิปลาสอยู่พักใหญ่เหมือนกัน

กล่าวในทางรากฐานทางปรัชญาแล้ว การเชื่อเรื่องจับคู่ขัดแย้งเอาเป็นเอาตาย มีนัยยะเท่ากับเชื่อว่าดีชั่วผิดถูกเกิดเองมีเองได้โดยไม่อาศัยเหตุปัจจัยอื่นมาประกอบ 'ที่เราดีเพราะดีเอง ที่เขาชั่วเพราะชั่วเอง เพราะฉะนั้นจะต้องหักล้างกันลงไปข้างหนึ่งให้ได้' สิ่งที่มักหลงลืมกันคือทัศนะว่าตนเองถูกฝ่ายอื่นผิดนั้น เป็นทัศนะที่เราปรุงขึ้นเองทั้งสิ้น

เช่นนี้แล้ว เราจะเห็นได้ว่าความคิดสุดโต่งไม่ว่าจะมาจากขั้วไหน ล้วนหนีไม่พ้นเรื่องของอัตตา ที่เชื่อว่าตนเองคือผู้กำหนดความเป็นไป เห็นว่าตนเองคือศูนย์กลางจักรวาล ภาษาธรรมเรียกกิเลสกลุ่มนี้ว่าปปัญจะ อันประกอบด้วยตัณหา ทิฐิ และมานะ ตราบใดที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลยึดถือความเห็นของตนเป็นใหญ่ ไม่ยอมถอนอุปาทานจากทวิภาวะ ความขัดแย้งก็จะดำเนินไปสู่ความรุนแรง เกิดเป็นความทุกข์ในรูปใดรูปหนึ่งจนได้ จะว่าไป นี่นับก็เป็นการแสดงอำนาจอีกแบบหนึ่งของสุญญตา ที่ลงโทษลงทัณฑ์ผู้ละเมิดกฎ

พูดก็พูดเถอะ ตามความเข้าใจของผมมัชฌิมาปฏิปทาไม่ใช่ความเห็นที่สามซึ่งแตกต่างจากความเห็นที่หนึ่งที่สอง หากเป็นการก้าวพ้นทัศนะที่แยกต่างหากจากผู้อื่นสิ่งอื่น เป็นการดับทิฐิโดยตั้งมั่นอยู่ในความว่าง ว่างจากตัวตนและว่างจากสิ่งต่างๆอันเนื่องด้วยตัวตน

เช่นนี้แล้ว ทางสายกลางหมายความว่าอย่างไรกันแน่ หมายถึงการไม่มีข้อเสนออะไรเลยใช่ไหม? คำตอบคือไม่ใช่เช่นนั้น

หนทางของมัชฌิมาปฏิปทาเป็นหนทางที่มาจากการเห็นความจริงในส่วนทั้งหมดโดยไม่มีตัวตนไปปิดบัง คนเราเมื่อว่างจากตัวตน ว่างจากทิฐิ เมตตาย่อมเกิด กรุณาย่อมเกิด อุเบกขาย่อมเกิด ทำให้สามารถรับฟังความคิดเห็นต่างๆได้ง่ายขึ้น มองโลกครบถ้วนขึ้น จากนั้นสภาพจิตก็จะเปลี่ยนจากวิเคราะห์เป็นสังเคราะห์ เปลี่ยนจากแยกส่วนเป็นหลอมรวม เปลี่ยนจากความรู้รอบเรื่องบัญญัติมาเป็นความลุ่มลึกแห่งปัญญาญาณ

พูดอีกแบบคือ มัชฌิมาปฏิปทาเป็นเรื่องของการเปิดประตูใจ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่การพบทางออกในเหตุการณ์รูปธรรมทั้งปวง เมื่อใจสงบ หยั่งถึงความว่าง ทุกอย่างก็เป็นไปได้ ตามกฎธรรมชาติ สรรพสิ่งล้วนก่อรูปขึ้นในความว่าง

เรื่องนี้ผมไม่ได้คิดเองเออเอง ในคาถาพระธรรมบท มีพุทธวจนะ ซึ่งยืนยันอย่างชัดเจนว่า 'ใจเป็นผู้นำสรรพสิ่ง ใจเป็นใหญ่กว่าสรรพสิ่ง สรรพสิ่งสำเร็จได้ด้วยใจ'

ทั้งหมดนี้เราจะเห็นได้ว่าการจะเข้าถึงทางสายกลางนั้น แท้จริงแล้วก็คือการทำความเข้าใจหมวดธรรมสำคัญๆที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนพวกเรามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือต้องทำความเข้าใจปฏิจจสมุปบาท หรืออิทัปปัจจยตา
ท่านทั้งหลายคงจะทราบดีอยู่แล้วว่า ในวิถีสู่ความหลุดพ้นตามหลักพุทธธรรมนั้น อันดับแรกของมรรคมีองค์ 8 คือ สัมมาทิฏฐิ (หรือที่แปลเป็นไทยว่าความเห็นชอบ) เรื่องนี้หากนำมาศึกษาประกอบกับหลักธรรมเรื่องสุญญตา ปฏิจจสมุปบาท และมัชฌิมาปฏิปทา ก็จะสรุปได้ไม่ยากว่าสัมมาทิฐิ คือ การก้าวพ้นทิฐิ (ซึ่งแปลว่าความเห็น หรือทฤษฎี) นั่นเอง

มีพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ว่า'ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม' และตรัสว่า 'ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้เห็นธรรม'

อันที่จริงการก้าวพ้นทิฐิหรือทัศนะเป็นเรื่องเดียวการก้าวพ้นทวิภาวะ ดังท่านจะเห็นได้ว่าทุกวันนี้ การติดค้างอยู่ในทวิภาวะในบ้านเราทำให้มีการผลิตทัศนะความคิดเห็นออกมาอย่างมากมายเหลือเชื่อ มีผู้แสดงถ้อยแถลงแข่งกันอย่างต่อเนื่องนับเป็นร้อยวัน ซึ่งถ้ายังออกจากความขัดแย้งไม่ได้การสร้างทฤษฎี (ทิฐิ)โจมตีฝ่ายตรงข้ามก็คงจะดำเนินต่อไปอีก

ดังนั้น ใครก็ตามที่อยากจะแก้ปัญหาความขัดแย้ง คงต้องขอให้คู่กรณีหยุดพูดหรือหยุดผลิตความคิดเห็นสักพักหนึ่งก่อน อันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เป็นก้าวแรกที่จะออกจากสัญญาวิปลาส

ดังคำสอนในวิมลเกียรตินิทเทสสูตร ซึ่งกล่าวว่า '...ในธรรมทั้งหลาย เมื่อปราศจากคำพูด ปราศจากโวหาร ปราศจากการแสดง ปราศจากความคิดรู้คำนึง พ้นจากการปุจฉาวิสัชชนา นั่นคือการเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร'

คำสอนดังกล่าว หากตีความให้ตรงกับเรื่องที่เรากำลังคุยกัน ก็คงต้องบอกว่าการหยั่งถึงความว่าง จะทำได้ยากยิ่ง หากไม่มีการหยุดพูด หยุดโต้แย้งกัน... หากไม่อาศัยความเงียบสำรวมจิตใจให้ตั้งอยู่ในความสงบเสียก่อน
ความเงียบ บ่อยครั้งไม่ได้หมายความว่าเป็นการสยบยอม หรือไม่มีวิจารณญาณ หากเป็นการตั้งมั่นอยู่ในสัมมาสติ เพื่อพิจารณาความเป็นไปของสรรพสิ่งอย่างรอบด้าน ยก ตัวอย่างเช่นในสถานการณ์ที่เป็นวิกฤตการเมืองอยู่ในปัจจุบัน เราจะเห็นว่าคนส่วนใหญ่ยังครองตนอยู่ในความนิ่งเงียบ

แต่ความเงียบเช่นนี้แท้จริงแล้วอาจดังกึกก้องเหมือนฟ้าคำราม ผู้ใดอ่านสัญญาณไม่ออก กระทำการผลีผลามย่ามใจ ก็เท่ากับหาทุกข์ใส่ตัว
กล่าวเช่นนี้แล้ว ก็คงต้องพูดถึงความว่างแห่งอำนาจ ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งของหัวข้อปาฐกถาเสียเลย การที่ผมตั้งหัวข้อปาฐกถาว่า 'อำนาจแห่งความว่าง ความว่างแห่งอำนาจ' นั้น ไม่ใช่เรื่องเล่นสำนวนแม้แต่น้อย หากดึงมาจากเนื้อหาความเป็นไปของโลกที่เกี่ยวโยงกันอย่างแท้จริง

ที่ผ่านมาผมได้พยายามชี้แจงด้วยสติปัญญาอันจำกัดแล้วว่าความว่างหรือสุญญตาเป็นกฏเกณฑ์ธรรมชาติ ซึ่งหมายถึงสภาพปราศจากแก่นสารอิสระของสรรพสิ่ง หมายถึงการอิงอาศัยกันเกิดขึ้นมีอยู่ของสรรพสิ่งและปรากฏการณ์ต่างๆ ซึ่งทำให้การมองโลกอย่างแยกส่วนตัดตอน เป็นเรื่องไม่สอดคล้องกับความจริง

ถามว่าแล้วทำไมอำนาจจึงเป็นความว่างด้วย? คำตอบคือ อำนาจเป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ อำนาจไม่ใช่สิ่งของ หรือพลังวิเศษที่ผู้ใดจะยึดครองไว้ได้โดยไม่สัมพัทธ์กับเงื่อนไขต่างๆ เช่นเดียวกับปรากฏการณ์อื่นๆ ปรากฏการณ์แห่งอำนาจเกิดขึ้นและดำรงอยู่โดยอิงอาศัยนานาปัจจัย

พูดอีกแบบ คือ อำนาจมีกฎเกณฑ์ในการก่อเกิด ดำเนินไปและดับสูญอย่างเคร่งครัด และกฎเกณฑ์เหล่านั้นก็อยู่ในกรอบกฎอิทัปปัจจยตาอย่างเลี่ยงไม่พ้น เช่นนี้แล้วอำนาจจึงเป็นสุญญตา อำนาจไม่มีแก่นสารอิสระจากปัจจัยที่ค้ำจุน อำนาจมีลักษณะเป็นความว่างอย่างยิ่ง

จากความจริงดังกล่าว กฎข้อแรกที่ผู้กุมอำนาจหรือผู้แสวงหาอำนาจจะต้องทำความเข้าใจ คืออำนาจที่ตนต้องการขึ้นต่อการมีอยู่ของเหตุปัจจัยใดบ้าง และถ้าต้องการบำรุงรักษาอำนาจไว้อย่างต่อเนื่อง จะต้องดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับปัจจัยเหล่านั้นอย่างไร

แน่นอน ตรงนี้เราคงต้องแยกระหว่างปรากฏการณ์ของอำนาจดิบๆอย่างเช่นอำนาจปืนของโจรผู้ร้ายที่ใช้บังคับเหยื่อให้ยอมจำนน กับอำนาจการเมืองการปกครองซึ่งขึ้นต่อฉันทานุมัติหรือความเห็นชอบของผู้อยู่ใต้อำนาจเป็นปัจจัยสำคัญ

ถามว่าแล้วทำไมคนจำนวนมากจึงยอมให้คนบางหรือคนบางกลุ่มปกครอง?
การที่คนจำนวนมากจะยอมรับอำนาจของคนจำนวนหนึ่งย่อมประกอบด้วยความหวังที่ผู้กุมอำนาจจะยังประโยชน์มาให้ตน เช่นคุ้มครองดูแลชีวิต ป้องกันภัยพิบัติต่างๆ จัดสรรผลประโยชน์ทางวัตถุ ให้ความอบอุ่นทางจิตใจ ตัดสินคดีพิพาท กระทั่งคาดหวังคุณค่าระดับสูงอื่นๆ เช่นเสรีภาพและความยุติธรรม เป็นต้น

ดังนั้น เงื่อนไขชี้ขาดที่สุดของผู้กุมอำนาจการเมือง คือจะต้องสร้างความพอใจให้ผู้อยู่ใต้อำนาจให้ได้ มิฉะนั้นก็จะไม่ได้รับฉันทานุมัติให้ใช้อำนาจการปกครอง หรือถ้ากุมอำนาจอยู่แล้วก็จะไม่มีความมั่นคง ไม่สามารถปกครองใครได้อย่างแท้จริง กระทั่งนำไปสู่การสูญเสียอำนาจในที่สุด

ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยกล่าวไว้ว่าอำนาจการเมืองมีไว้เพื่อแก้ปัญหา เพราะฉะนั้นถ้าใครเล่นการเมืองเพื่อหาอำนาจไปเอาเปรียบคนอื่น ก็ต้องถือว่าไม่ใช่การเมืองที่แท้จริง อันนี้ตรงกับคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดงไว้ในคัมภีร์อัคคัญญสูตรซึ่งอยู่ในพระสุตตันตปิฎก ถ้าใครเคยอ่านพระสูตรนี้ก็จะเข้าใจว่าอำนาจการเมืองนั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อใช้ปัดเป่าความเดือดร้อนของตัวเอง

ตามข้อความที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ มนุษย์แต่เดิมมีธรรมชาติที่ดีงาม แต่เมื่อสูญเสียความบริสุทธิ์นั้นไป ก็หันมาทะเลาะเบาแว้งแย่งผลประโยชน์กัน สังคมมีแต่ความเดือดร้อนรุนแรง เมื่อตกลงกันเองไม่ได้ ในที่สุดก็ไปเชิญผู้ที่เหมาะสมท่านหนึ่งมาทำหน้าที่คอยตัดสินข้อพิพาท

นั่นเป็นพุทธทรรศน์เกี่ยวกับที่มาของอำนาจรัฐหรืออำนาจการเมือง ซึ่งแสดงให้เห็นความจริงสามอย่างคือ หนึ่ง อำนาจเป็นสิ่งที่มีเงื่อนไขขึ้นต่อความยินยอมพร้อมใจของผู้อยู่ใต้อำนาจ สองอำนาจนั้นจะต้องใช้ไปเพื่อปัดเป่าความเดือดร้อนหรือขจัดปัญหาที่ผู้อยู่ใต้อำนาจมีอยู่ และสามตำแหน่งผู้กุมอำนาจเป็นสิ่งสมมติ ไม่ได้มีอำนาจโดยตน และไม่อาจใช้อำนาจเพื่อตน จริงๆแล้วพระพุทธเจ้าใช้คำว่า'มหาชนสมมุติ' เรียกผู้กุมอำนาจนี้ ก็นับว่าสอดคล้องตามความจริงทุกประการ

ดังนั้น ท่านทั้งหลายจะเห็นได้ว่าอำนาจเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดตามกฎเกณฑ์แห่งความว่างมาตั้งแต่ต้น (ไม่มีธรรมชาติอิสระแยกจากสิ่งอื่น) และดำรงอยู่ ดำเนินไปตามกฎเกณฑ์แห่งความว่างเช่นกัน

ปัญหามีอยู่ว่าถ้าผู้ปกครองหรือผู้ถืออำนาจการเมืองหยั่งไม่ถึงสุญญตาแห่งอำนาจแล้วจะเกิดอะไรขึ้น? เรื่องนี้ถ้าจะให้ผมตอบอย่างกำปั้นทุบดินก็คงต้องบอกว่าผู้กุมอำนาจท่านนั้นคงจะอยู่ได้ไม่นาน ไม่ช้าก็เร็วก็คงถูกกฎเหล็กแห่งอิทัปปัจจยตาเล่นงานเอาจนเสียผู้เสียคนไป

อย่างไรก็ดี มนุษย์เรานั้นมีประสบการณ์เรื่องการใช้อำนาจหรือประสบการณ์เรื่องการเมืองการปกครองมานานหลายพันปีแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงมีคำสอนคำเตือนหลายอย่างจากนักปราชญ์ทั่วโลกเกี่ยวกับการใช้อำนาจ

ยกตัวอย่างเช่นในโลกตะวันออก คำสอนของท่านเหล่าจื๊อสรุปไว้ว่า 'ในการปกครองชั้นเยี่ยมผู้คนจะไม่รู้สึกว่าถูกปกครอง...' ถ้อยคำเหล่านี้นี้หมายความว่าอย่างไร? หมายความว่าอำนาจการเมืองนั้นควรใช้ให้น้อยที่สุดและใช้เพื่อประโยชน์ของประชาชนจริงๆ หากทำได้เช่นนั้น ประชาชนก็แทบจะไม่รู้สึกถึงการมีอยู่ของอำนาจเลย

ในซีกโลกตะวันตก เมื่อกว่าสองพันปีที่แล้ว มหาปราชญ์ชาวกรีก ชื่อ เพลโต (Plato) ก็สอนไว้ว่าผู้ปกครองจะต้องไม่มีสมบัติส่วนตัว ไม่มีแม้กระทั่งครอบครัว และจะต้องใช้อำนาจเพื่อผลประโยชน์ของผู้อยู่ใต้การปกครองเท่านั้น

คัมภีร์ราชนีติ ซึ่งเป็นศาสตร์แห่งการปกครองของอินเดียโบราณ ยืนยันไว้ว่าผู้ปกครองที่ดีจะต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับอาณาจักรของตน

ในมังรายศาสตร์ ซึ่งเป็นกฎหมายปกครองมีมาแต่โบราณของชาวไทยล้านนาก็มีการจำแนกระหว่างนายที่ดีกับนายที่เลวไว้อย่างชัดเจน กล่าวคือนายดีหรือที่เรียกว่า'ขุนธรรม' นั้นจะต้องเมตตาต่อไพร่ ไม่ทำบาปต่อไพร่ ไม่ข่มเหงรังแกไพร่ ส่วนนายเลวที่เรียกว่า'ขุนมาร'นั้นมักชอบข่มเหงรังแกไพร่ ชอบฉกชิงสิ่งของ ผิดลูกผิดเมียไพร่ นายประเภทหลังนี้ท่านว่าเป็น'ต้นไม้พิษกลางเมือง' ไม่ควรให้เป็นใหญ่ต่อไป

กล่าวสำหรับคำสอนของพุทธศาสนาเอง ทุกท่านก็คงทราบดีอยู่แล้วว่ามีหัวใจสำคัญอยู่ในราชธรรม10 ซึ่งขึ้นต้นด้วย ทาน ศีล และลงท้ายด้วยขันติ อวิโรธนะนอกจากนี้ยังมีหมวดธรรมที่เรียกว่าจักรวรรดิวัตร12 ซึ่งสอนให้ผู้ปกครองปกป้องดูแลตั้งแต่ชนชั้นสูงมาถึงชนชั้นล่าง ตลอดจนสมณชีพราหมณ์

ท่านทั้งหลายคงเห็นแล้วว่าตัวอย่างคำสอนที่ผมยกมาทั้งหมดนี้ ล้วนชี้ไปในทิศเดียวกัน คือยืนยันว่าอำนาจเป็นปรากฏการณ์ที่ขึ้นต่อปัจจัยอื่นที่ไม่ใช่ตัวอำนาจเอง และปัจจัยสำคัญที่สุด ชี้ขาดที่สุด ได้แก่ความพอใจของผู้อยู่ใต้อำนาจ

อันนี้มีนัยยะป้อนกลับมายังผู้กุมอำนาจอย่างไรบ้าง? คำตอบชัดเจนที่สุดก็คือ หากอยากได้อำนาจและอยากรักษาอำนาจไว้ให้ยั่งยืนนาน ผู้กุมอำนาจจะต้องว่างจากตัวตน และสิ่งที่เนื่องด้วยตัวตน กล่าวอีกแบบหนึ่งคือต้องเป็นผู้รู้ธรรมและปฏิบัติธรรมนั่นเอง

ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยสอนไว้ว่าการเมืองต้องไม่แยกจากธรรมะ และนักการเมืองที่แท้จริงจะต้องเป็นนักการเมืองโพธิสัตว์ หรือนักการเมืองของพระเจ้า (อิทัปปัจจยตา) ซึ่งมีชีวิตอยู่เพื่อผู้อื่น หายใจเป็นประโยชน์ของผู้อื่น นิยามนี้นับว่าตรงกับคำสอนของปวงปราชญ์โบราณ

ในเมื่ออำนาจเป็นปรากฏการณ์แห่งความว่าง ผู้กุมอำนาจก็ควรหยั่งถึงความว่างในดวงจิตของตนด้วย ใครก็ตามที่นำอัตตาตัวตนขึ้นสู่เวทีอำนาจ ใครก็ตามที่นำผลประโยชน์ส่วนตัวขึ้นสู่เวทีอำนาจ และยืนยันผลประโยชน์ของตนเองเป็นเอก ไม่ว่าจะเป็นลาภ ยศ หรือสรรเสริญ ท้ายที่สุดแล้วก็จะไปไม่รอดทั้งสิ้น เพราะกฏแห่งอำนาจเป็นกฎเดียวกับอิทัปปัจจยตา เกิดขึ้นมีอยู่โดยอาศัยนานาปัจจัย รวมทั้งอาศัยการยอมรับของประชามหาชนผู้ที่ไม่มีอำนาจ
ถึงตรงนี้ ผมคงต้องอธิบายเล็กน้อยว่าการต้านอำนาจนั้นถือเป็นการแสดงอำนาจชนิดหนึ่ง ซึ่งก็ต้องอยู่ภายใต้กฎอิทัปปัจจยตาเช่นกัน มีสภาพเป็นความว่างเช่นเดียวกัน

ดังนั้นใครก็ตามที่คิดจะตั้งศูนย์อำนาจใหม่หรือต่อต้านอำนาจเก่า ควรจะต้องรู้ว่าอำนาจเป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และอิงอาศัยนานาปัจจัย อำนาจไม่ได้บรรจุอยู่ในอาคารสถานที่ การยึดอำนาจรัฐไม่ได้เกิดจากการยึดตัวอาคารหากจะต้องยึดครองที่หัวใจคน

ถามว่าเช่นนี้แล้ว คนที่จิตไม่ว่าง หรือคนที่เต็มแน่นไปด้วยอัตตาจะขึ้นไปกุมอำนาจได้หรือไม่? คำตอบคือคงได้ตามวิถีทางโลก และในความหมายแบบทางโลก แต่จะไม่ใช่อำนาจที่แก้ปัญหาอะไรได้ อย่างถึงราก กลับเป็นอำนาจที่ก่อความเดือดร้อน สร้างทุกข์เข็ญให้บ้านเมืองเสียมากกว่า อีกทั้งจะไม่มีความมั่นคงยั่งยืน เนื่องจากถูกปฏิเสธต่อต้าน

อันที่จริง ตรงนี้แหละคือความแตกต่างระหว่างผู้แสวงหาอำนาจธรรมดากับผู้นำทางการเมือง ไม่ว่าในความหมายของธรรมะ หรือในความหมายทางรัฐศาสตร์ก็ตาม

ผู้นำการเมืองเมื่อว่างจากตัวตน จึงสามารถทำทุกอย่างได้เพื่อประโยชน์สุขของผู้อยู่ใต้การปกครอง เสียสละทุกอย่างได้เพื่ออาณาประชาราษฎร์ ส่วนผู้กุมอำนาจที่จิตไม่ว่างนั้น ต่อให้ไม่ก่อปัญหาร้ายแรง ก็จะมีทางเลือกและศักยภาพในการแก้ปัญหาได้น้อยกว่ากันมาก

เหมือนดังพุทธภาษิตที่กล่าวว่า เนสา สภา ยตฺถ น สนฺติ สนฺโต 'ในที่ใดไม่มีสัตบุรุษ ในที่นั้นไม่เรียกว่าสภา' อ่านความหมายง่ายๆของข้อความนี้ ก็คือการประชุมหรือชุมนุมกันของคนจิตไม่ว่างนั้น ไม่นับเป็น'สภา'ที่แท้จริง และไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไร

ขออนุญาตอ้างถึงพระไตรปิฎกอีกเล็กน้อย

เกี่ยวกับเรื่องคุณสมบัติผู้นำนั้น ผมคิดว่าไม่มีเรื่องไหนสามารถสาธิตประเด็นนี้ได้ชัดเจนเท่าเรื่องของพญาวานรในนิทานชาดกชื่อมหากปิชาดก

ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ถือกำเนิดเป็นพญาลิงผู้มีพละกำลังมหาศาลและมีบริวารอยู่แปดหมื่นตัว ในขณะที่พญาลิงพาบริวารมาเก็บผลมะม่วงรสดีกินอยู่ในป่าหิมพานต์นั้น บังเอิญมีมะม่วงผลหนึ่งตกลงไปในแม่น้ำ และลอยไปติดข่ายของพระราชาเมืองพาราณสี พระราชาทรงชิมผลมะม่วงแล้วเกิดติดใจจึงยกไพร่พลออกค้นหาต้นมะม่วงที่อยู่ต้นน้ำ ครั้นพบฝูงลิงปีนป่ายอยู่บนต้นมะม่วงเต็มไปหมดก็สั่งทหารถืออาวุธไปล้อมไว้ เตรียมจะประหัตประหารไม่ให้มีเหลือแม้ตัวเดียว

ฝ่ายพญาลิงเห็นบริวารตกอยู่ในห้วงอันตรายจึงกัดเครือหวายตั้งใจว่าจะผูกเป็นสะพานเชื่อมระหว่างต้นมะม่วงกับต้นไม้ที่อยู่ฝั่งตรงข้าม แต่หวายยาวไม่พอจึงตัดสินใจใช้มือยึดกับต้นมะม่วงและทอดร่างต่อจากเส้นหวายให้บริวารได้เหยียบข้ามไปสู่ความปลอดภัย จนกระทั่งบริวารลิงหนีพ้นภัยไปสู่ฝั่งตรงข้ามได้ครบทุกตัว แต่เคราะห์กรรมของพญาลิงผู้เป็นหัวหน้าก็คือลิงตัวหนึ่งซึ่งเป็นพระเทวทัตมาเกิดได้ถือโอกาสนี้กระโดดใส่หลังพระโพธิสัตว์ที่เป็นพญาวานรอย่างแรงจนได้รับบาดเจ็บ และไม่อาจหนีตามฝูงของตนไป

สุดท้ายพระราชาซึ่งเห็นภาพทั้งหมดเกิดรู้สึกสะเทือนพระทัย จึงโปรดให้นำพญาลิงมารักษาพยาบาล แต่อาการท่านสาหัสเกินกว่าจะเยียวยาจึงสิ้นใจไป ก่อนหน้านั้น พระราชาได้ตรัสถามพญาลิงว่าทำไมจึงยอมเจ็บตัว พญาลิงได้กล่าวกับพระราชาว่า'เราเป็นพญาลิง ปกครองฝูงลิงทั้งหมด เมื่อพวกเขาตกอยู่ในอันตราย เราจึงต้องนำความสุขมาให้ผู้อยู่ภายใต้การปกครอง'
ผมไม่ต้องอธิบายเพิ่มเติม ท่านทั้งหลายก็คงประจักษ์ชัดแล้วว่าคุณสมบัติผู้นำตามหลักพุทธศาสนานั้นเป็นเช่นใด

แต่พูดก็พูดเถอะ การเป็นผู้นำการเมืองนั้นไม่จำเป็นต้องหมายถึงบุคคลที่กุมอำนาจการปกครองแต่ฝ่ายเดียว ฝ่ายต่อต้านคัดค้านที่รวบรวมกำลังคนมาตั้งเป็นพรรคเป็นพวกหรือตั้งเป็นขบวนการเมืองในชื่อต่างๆก็สามารถเป็นผู้นำการเมืองได้ หรือจะเป็นแค่ผู้แสวงหาอำนาจธรรมดาๆก็ได้ ถ้าหากไม่ยึดถือในหลักธรรม ถ้าหากมองไม่เห็นว่างแห่งอำนาจ

ผมได้พูดไว้แล้วข้างต้นว่าปรมัตถ์กับบัญญัติไม่ได้แยกขาดจากกัน เพราะฉะนั้นเรื่องการเมืองนี้ถ้าทำให้ถูกให้ดี ก็เท่ากับสามารถอาศัยวัฏสงสารเป็น'พาหนะเดินทาง'ไปสู่นิพพาน ถ้าทำไม่ถูกต้องก็วนเวียนอยู่ในวัฏจักรแห่งความทุกข์ร้อนไม่สิ้นสุดเช่นกัน

ถ้าเราเข้าใจอำนาจแห่งความว่าง และเข้าถึงความว่างแห่งอำนาจเราจะรู้ว่าการขัดแย้งทางการเมืองล้อมรอบสมมุติสัจจะนั้น ควรจะมีขอบเขตอยู่ตรงไหน และอาศัยวิธีการเช่นใด

ถ้าเราหยั่งถึงอิทัปปัจยตา (หรือ ปฏิจจสมุปบาท) ก็จะมองเห็นว่าความรักบ้านรักเมืองไม่จำเป็นต้องแสดงออกด้วยชัยชนะเหนือคู่แข่งอย่างเดียว บางครั้งการยอมแพ้กลับเป็นการเสียสละที่ยิ่งใหญ่กว่า แสดงความรักบ้านรักเมืองได้มากกว่า เหมือนมารดาพร้อมยกบุตรให้ผู้อื่นในยามที่ตัวเองดูแลปกป้องไม่ได้

แพ้ชนะถึงที่สุดแล้วก็เป็นสุญญตา ไม่มีความจริงรองรับ มีแต่เราเองไปบัญญัติมันขึ้นมา

พูดกันตามหลักรัฐศาสตร์ อำนาจนั้นเปลี่ยนมือได้เสมอ ถ้าผู้ปกครองไม่สามารถแก้ปัญหาให้ผู้อยู่ใต้การปกครองได้ หรือมีวิกฤตฉันทานุมัติอย่างต่อเนื่อง

แต่เปลี่ยนแล้วจะดีขึ้นหรือไม่ ยังไม่ใช่สูตรสำเร็จตายตัวเสมอไป มันขึ้นอยู่กับผู้นำการเปลี่ยน แปลงว่ามีปัญญาญาณมากน้อยเพียงใด คนในสังคมเห็นพ้องต้องกันในทิศทางของการเปลี่ยนแปลงแค่ไหน หากสังคมยังไม่เห็นพ้องต้องกันในทิศทางการเปลี่ยนแปลง การล้มลงของระบอบเก่าหรืออำนาจเก่าก็รังแต่จะนำไปสู่สภาพกลียุคและอนาธิปไตย

จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ บางครั้งอำนาจใหม่กลับฆ่าคนเสียยิ่งกว่าอำนาจเก่าที่ล่มสลาย เนื่องจากทิฐิที่ยึดติดในการเปลี่ยนแปลง และไม่ต้องการรอคอยให้ผู้คนเห็นด้วย เรื่องเช่นนี้เคยเกิดมาแล้วในหลายๆประเทศ ซึ่งเราควรถือเป็นบทเรียน

ดังนั้น ในทัศนะของท่านอาจารย์พุทธทาส ระบอบการเมืองแบบไหนยังไม่สำคัญเท่ากับว่ามีธรรมะหรือไม่ เพราะถ้าไม่มีธรรมมะ ถึงอย่างไรก็สร้างสันติสุขให้บังเกิดมิได้ และท่านถือว่าภาวะไร้สันติภาพเป็นปัญหาร้ายแรงที่สุดของมนุษย์

การไม่ได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข นับเป็นเคราะห์กรรมอย่างยิ่งของแผ่นดิน
ด้วยเหตุนี้ ความพยายามที่จะรักษาระบอบการเมืองก็ดี ความพยายามที่จะปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองก็ดี จึงไม่อาจสำเร็จได้ด้วยความชัง ไม่อาจใช้โลภะโทสะโมหะมาขับเคลื่อน เราจะสร้างสังคมที่สันติสุขได้อย่างไรหากวิธีการขัดแย้งกับจุดหมายเสียตั้งแต่ต้น สำหรับชาวพุทธแล้วมรรควิถีมีค่าเท่ากับจุดหมายปลายทาง

ท่านผู้มีเกียรติและเพื่อนศาสนิกชนทั้งหลาย

ที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนี้ แท้จริงแล้วเป็นความคิดของตัวเองอยู่ไม่กี่ส่วน ส่วนใหญ่เป็นการเชิญคำสอนของพระศาสดาและบรรดาครูบาอาจารย์มาถ่ายทอดสู่กันฟังเท่านั้น อย่างไรก็ดี เนื่องจากคำสอนเหล่านี้ถูกนำเสนอผ่านความเข้าใจอันจำกัดของผม จึงต้องเรียนขอร้องท่านว่าอย่าได้ยึดถือเป็นเรื่องจริงจังไปเสียทั้งหมด ขอเพียงสิ่งที่ผมพูดได้สมทบส่วนเล็กน้อยให้กับการค้นหาปัญญาญาณของท่าน ผมก็ดีใจมากแล้ว

วันนี้ ผมได้เอ่ยถึงปรมัตถ์สัจจะไว้ในแทบทุกวรรคตอน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่ผมพูดเป็นปรมัตถ์สัจจะ แท้จริงแล้วมันเป็นแค่ความคิดเห็นของผมเกี่ยวกับปรมัตถ์ธรรมมากกว่า และเช่นเดียวกับความคิดเห็นของผู้คนในเรื่องอื่นๆ ทั้งหมดที่ผมพูดมาจึงเป็นแค่สมมุติเท่านั้นเอง

ขอบพระคุณทุกท่านที่กรุณาให้เกียรติรับฟัง

. . .




 

Create Date : 26 พฤศจิกายน 2551
6 comments
Last Update : 26 พฤศจิกายน 2551 14:14:16 น.
Counter : 743 Pageviews.

 

มาทักทายค่า^^

 

โดย: ป๊อปแป๊ป (onedermore ) 26 พฤศจิกายน 2551 14:23:11 น.  

 

คราวหน้าต้องเริ่มด้วย

กุหลาบป่า

 

โดย: vvvvvv IP: 58.8.109.37 13 ธันวาคม 2551 15:24:57 น.  

 

จากบนลงล่างไปถึง... นาฬิกา..ละแมร์ ...แร่ะ

 

โดย: กกกก IP: 58.8.104.202 18 ธันวาคม 2551 11:08:45 น.  

 

จากล่างไปถึง... อาทิตย์ จันทร์ เมฆา และวายุ...

 

โดย: กกกกกก IP: 58.8.104.202 18 ธันวาคม 2551 11:11:30 น.  

 

Closed 2 U...แปะติดกะเธอไว้...

จากล่าง

 

โดย: vvvv IP: 58.8.230.89 20 ธันวาคม 2551 12:04:29 น.  

 

เรื่มClosed 2 U...แปะติดกะเธอไว้...

จากล่าง

 

โดย: อออ IP: 58.8.230.89 20 ธันวาคม 2551 12:05:39 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


loykratong
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]






ไม่มีอะไรขึ้นตลอด
ไม่มีอะไรลงตลอด
...ไม่มี the end of the world ...

Web Site Hit Counters

ราคาทองคำ
 

ราคาทองคำต่างประเทศ



Friends' blogs
[Add loykratong's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.