Somebody's me... Nobody's know.. You are what you thinks.. and.. I am who i am.. Whatever will be, will be..
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2559
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
16 พฤษภาคม 2559
 
All Blogs
 

นักอ่านผู้ยิ่งเล็ก : รวมเรื่องสั้น 11 นักเขียน / ฟรีฟอร์มสำนักพิมพ์







         “นักอ่านผู้ยิ่งเล็ก”

            อยู่ดีๆ วันนี้ก็เกิดอาการอยากอัพบล็อกขึ้นมา ทั้งที่สัญญากับตัวเองแล้วว่าจะพักเพื่อทำบางสิ่งบางอย่างให้เต็มที่  แต่พอเอาเข้าจริงก็ทนไม่ไหว เปิดบล็อกตัวเองแล้วเงียบเหงามากมาย  อย่ากระนั้นเลยอัพเดทเกี่ยวกับหนังสือที่อ่านแล้วชอบอยากเล่าต่อสักเล่มดีกว่า


นักอ่านผู้ยิ่งเล็ก

10 YEARS CELEBRATION / ฟรีฟอร์มสำนักพิมพ์

รวมเรื่องสั้นของนักเขียน 11 คน / 94 หน้า / 115.-

‘การอ่านหนังสือมากๆอาจทำให้คนเราตัวเล็กลง’


เรื่องที่ 1 : หนังสือนำทาง

วดีลดา เพียงศิริ

“หนูอย่าโง่เหมือนแม่นะคนดี”

           เป็นประโยคแทนคำพูดนับพันในเรื่องสั้นเรื่องแรกของเล่มพี่อุ๋มอิ๋ม (วดีลดา เพียงศิริ) เขียนเล่าเรื่องราวของตัวเองจากประสบการณ์จริงในชีวิต  เมื่อตอนอายุยี่สิบสี่ด้วยคำพูดที่เหมือนย้อนมองตัวเองในช่วงเวลาที่เปลี่ยนสถานะจากผู้หญิงธรรมดามาเป็นแม่ที่มีลูกสาวเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่วตั้งแต่แบเบาะ  และมรสุมชีวิตทำให้เธอต้องกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว  ในเรื่องจะเห็นสรรพนามการใช้คำแทนตัวว่า‘เธอ’ ซึ่งก็คือตัวผู้เขียนเอง

           ปัจจุบันพี่อุ๋มอิ๋มอายุห้าสิบกว่าปีเป็นคุณแม่ของทะเลจันทร์ ตะวันวาด นักเดินทางที่ชอบเล่าเรื่องความรักครั้งหนึ่งลูกสาวของเธอถามว่า

“แม่ผ่านโมงยามเหล่านั้นมาได้ยังไงเป็นหนู หนูคงตายไปนานแล้ว”

            “หนังสือไงลูก”

            เธอเล่าให้ลูกฟังว่าตอนที่โลกของเธอมืดอย่างที่สุด บรรทัดหนึ่งในหนังสือที่ พจนา จันทรสันติ  แปลความว่า อย่าโมโหโลก อย่าโมโหชีวิตอย่าโทษว่าทำไมเรื่องเลวร้ายจึงมาเกิดกับเราคนเดียว “เราเป็นแค่หัวผักกาดของท้องนา” ประโยคนี้มันเฉาะหัวแม่จนแบะ แล้วแม่ก็ได้สติ

            เวลาถ้อยคำกินใจและมีพลังในหนังสือมันกระโดดเกาะหรือทึ้งใครสักคนมันเป็นวินาทีพิเศษที่มีพลังยากจะบรรยาย  ด้วยเขาอดทนรอจังหวะที่เราพร้อม  รอเวลาที่หัวใจโง่งมและมืดสนิทของเราเปิดแง้ม  เขารอให้เราตบเบาะข้างๆ ตัวเราแล้วเชิญให้เขาลงนั่งด้วยกันแบบนั้น

            เขาเป็นเพื่อนของแม่เธอบอกลูกไปแบบนั้น

            ไม่เพียงหนังสือที่ทำให้เธอได้คิด  หนังสือหลากเล่มประดามียังมีอิทธิพลกับเด็กกำพร้าอย่างเธอได้เอาไว้ใช้สอนลูก โต๊ะโตะจัง, เจ้าชายน้อย, โมโม่, ต้นส้มแสนรัก ฯลฯ เป็นหนังสือที่เธอใช้สอนลูก

และถ้อยคำที่เขียนในประโยคใกล้ๆ ปิดท้ายเรื่องสั้นแค่ 7 หน้า  ก็กระแทกใจฉันมากเข้าไปอีก ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมนักเขียนคนโปรดของฉันยังคงเป็น ‘วดีลดา เพียงศิริ’ เพราะเธอเป็นเธอแบบนี้นี่แหละ


เรื่องที่ 2 : The book I like for the city I love

แสนเมือง

“มันเป็นเหมือนความฝันก็ว่าได้”

            เรื่องสั้นเรื่องที่สองในเล่ม จากประโยคบอกเล่าที่ไม่มีแม้ประโยคพูดสักคำเป็นเรื่องเล่าผ่านนักเขียนเกี่ยวกับ กลุ่มภาคีฟื้นบ้านย่านเวียงเชียงใหม่ ราวสิบคน ที่เข้าชมอาคารหอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ ในรั้วเดียวกับหอศิลปวัฒนธรรมหรือ “หอศิลป์สามกษัตริย์” ซึ่งเปิดให้ประชาชนเข้าชม

            ที่แห่งนี้ทำให้สมาชิกกลุ่มได้เจอกับห้องหนึ่งซึ่งถูกปิดไว้นาน  มีเพียงเฟอร์นิเจอร์เก่าๆ และชั้นหนังสือเหล็กแบบห้องสมุดทั่วไป  แต่ชั้นนั้นว่างเปล่า ฝุ่นจับ ไม่มีหนังสือสักเล่ม แท้จริงแล้วมันคือห้องที่เกือบจะได้เป็นห้องสมุด  แต่ถูกปล่อยทิ้งร้างกลุ่มภาคีฯ ตกลงใจว่าจะทำห้องสมุด  และเกิดเป็นแคมเปญรณรงค์บริจาคหนังสือแบบปากต่อปากผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์คในชื่อแคมเปญว่า “A book I like and the city I love” หรือชื่อไทยว่า “หนังสือที่รักเพื่อเมืองที่รัก”

             ห้องสมุดฟื้นบ้านฯ จึงเป็นเหมือนสถานที่จุดประกายให้เกิดความรักการอ่านในทุกช่วงวัยและสาขาอาชีพ ตั้งแต่เด็ก จนถึงวัยชราเกษียณอายุ ได้ใช้ประโยชน์เป็นโครงการที่ดีและเปิดมาร่วมสามปีแล้ว

ฉันอ่านเรื่องสั้นเรื่องนี้จบพร้อมกับความรู้สึกที่ว่า“หนังสือดีไม่เคยตาย  ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคสมัย  ก็ยังตามหาคนที่จะมาค้นเจอ” จุดประกายให้ฉันอยากทำในสิ่งที่คิดมานานคือการทำห้องสมุด ตอนนี้ได้แต่ฝันไปก่อน แต่ฝันก็ไม่ได้แปลว่าไม่มีวันเป็นจริง


เรื่องที่ 3 : ดังเขียดดีด

โลเล (ทวีศักดิ์ ศรีทองดี)

‘ออกจากบ้านไปร้านหนังสือกันเถอะ’

           เรื่องสั้นเรื่องที่สามบอกเล่าผ่านสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง คือ “ผม” หรือตัวผู้เขียนเองที่เล่าเรื่องร้านหนังสือในหลายสถานที่ที่ไปเยือนตั้งแต่เมื่อครั้งอดีต“ปารีส” ที่เคยไปเยือนเพราะได้รางวัลชนะจากรายการหนึ่ง

เส้นทางโลกกว้างของหนังสือและผู้เขียนเปิดขึ้น  พร้อมกับการเดินทางของเรื่องราวที่ผู้เขียนมองย้อนกลับไปแล้วพบว่า  หนังสือบางเล่มบางชุดยังคงนอนเงียบอยู่ในกล่อง  บางส่วนกลายเป็นอาหารปลวกคงเหลือไว้แต่ความทรงจำ  และบางเล่มที่เก็บไว้อ่านซ้ำไปซ้ำมาและเติบโตขึ้นมาพร้อมหนังสือเล่มนั้น

           เรื่องราวในอดีตที่ “เชียงคาน” เมื่อครั้งยังเป็นเมืองที่มีแต่ความเงียบสงบไม่ได้โด่งดังแบบนี้  ผู้เขียนมีความทรงจำเกี่ยวกับหนังสือที่นั่น และ “ฟุกุโอกะ” ก็มีเรื่องราวของวันเวลาที่ผู้เขียนเล่าผ่านตัวหนังสือประสบการณ์และความทรงจำ  มีประโยคหนึ่งที่ฉันชอบและคิดตามแล้วเห็นด้วยคือ

           “การรู้จักคนจากหนังสือที่อ่าน  เป็นการอธิบายตัวตนของคนที่เรารู้จักแบบคืบหน้าไปมากกว่าห้าสิบเปอร์เซ็นต์”

            บางทีอาจไม่ต้องอธิบายอะไรมากเลย เพียงแค่ ‘มอง’ คนคนหนึ่งผ่านเรื่องราวของหนังสือที่คนคนนั้นอ่านหรือชอบ ก็อาจบอกเรื่องราวแทนถ้อยคำได้นับพันนับหมื่น  ฉันก็ว่าอย่างนั้นเหมือนกัน


เรื่องที่ 4 : เติมแรงบันดาลใจไประหว่างบรรทัด

                              A restless boy (ศักดิ์ชัย ศรีวัฒนาปิติกุล)

‘หนังสือเป็นรูปแบบหนึ่งของการเดินทาง’

เพราะหนังสือแต่ละเล่มต่างมีเรื่องราวและความเป็นมาของตนเอง  ซึ่งทำหน้าที่และมีเนื้อหาแตกต่างกันไป  อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่คอยสะท้อนถึงความนึกคิดบ่งบอกรสนิยมของผู้อ่านตามคำกล่าวที่ว่า “You are what you read” หนังสือสามารถสร้างแรงบันดาลใจได้อย่างน่าอัศจรรย์

            เรื่องสั้นเรื่องที่สี่นี้  ผู้เขียนบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘ร้านหนังสือ’ ว่าเปรียบเป็นสถานีจำหน่ายตั๋วเดินทาง มีเส้นทางหลากหลายที่เหมาะสมให้เลือกสำหรับนักเดินทาง

ตั้งแต่ร้านหนังสือหน้าห้องเล็กๆ อย่างร้านดังร้านหนึ่งในสิงคโปร์  หรือร้านหนังสือนอกกรอบที่โด่งดังติดอันดับโลกในไต้หวัน  หรือร้านหนังสือมือสองที่เน้นหนังสือท่องเที่ยวแทบทุกประเทศอย่างร้าน COW BOOKS  ในญี่ปุ่น  จนกระทั่งถึงร้านหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ที่รวบรวมหนังสือเจ๋งๆ เป็นร้านที่หนอนจากทุกมุมโลกเมื่อมาเยือนถึงที่แล้ว ‘ต้อง’ มา

           ถ้าจะเปรียบร้านหนังสือว่า  ร้านไหนดีร้านไหนเด่นกว่าคงเทียบกันไม่ได้  แต่ถ้าถามว่าร้านไหนตอบโจทย์หัวข้อใดได้ดีกว่า  ก็น่าจะเป็นประโยชน์และทำให้หนังสือถูกส่งต่อไปยังคนที่เห็นคุณค่าได้ดีแบบไม่จำกัด


เรื่องที่ 5 : ร้านหนังสือในดวงใจ

รสวรรณ พึ่งสุจริต

“หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว”

            เรื่องสั้นเรื่องที่ห้าเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับหนังสือผ่าน “ฉัน” คือตัวผู้เขียนที่เป็นหนอนหนังสือรักและผูกพันกับการอ่านมาตลอดชีวิต เล่าเรื่องราวเมื่อครั้งวัยเด็กที่ผู้เขียนวนเวียนอยู่กับ “สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิชย์” เรื่องของนิทานความทรงจำวัยเด็กของหนอนตัวเล็กๆ

           จนโตมาเธอก็ขยับขยายมาอ่านงานของนักเขียนรุ่นใหญ่ ที่กลายเป็นตำนานหลายท่านผู้เขียนได้รับภูมิการอ่านมาจากแม่และตา  ซึ่งมีประโยคหนึ่งที่ฉันอ่านแล้วชอบมากที่ผู้เขียนเล่าถึงคุณตา

            ท่านมักพูดว่า “หนังสือดีจะอยู่กับเราไปชั่วชีวิต  เพราะมันจะเติบโตไปพร้อมกับเรา  หนังสือบางเล่มตอนเราอ่อนประสบการณ์อาจยังอ่านไม่เข้าใจ  ต้องให้เวลา เมื่อเราโตขึ้นมีประสบการณ์ชีวิตมากขึ้น  เราจะเริ่มเข้าใจมันเอง”

            ฉันเห็นด้วยกับประโยคข้างบนก็ดูอย่าง “เจ้าชายน้อย The Little Prince” นั่นไงอ่านกี่ครั้งก็ให้ความรู้สึกไม่เหมือนกันสักครั้ง คงเป็นเพราะช่วงแห่งวัยแน่ๆ ที่ทำให้อรรถรสเปลี่ยนไป


เรื่องที่ 6 : หนังสือเดินทางที่ไม่มีวันหมดอายุ

ธาดา ราชกิจ

“ผมไม่ใช่นักอ่าน”

            เรื่องสั้นที่หกเล่าเรื่องราวผ่านประสบการของผู้เขียน  ที่บอกเล่าด้วยสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง “ผม” แค่เปิดบทนำหน้าแรกฉันก็อดหัวเราะออกมาไม่ได้  คิดว่านักเดินทางทุกคนคงเป็นเหมือนกัน  ฉันเป็นนักพกมากกว่านักอ่าน  เหมือนที่ผู้เขียนบอกว่า “ผมไม่ใช่นักอ่าน แต่น่าจะเรียกผมว่านักพกเสียมากกว่า”

            ผู้เขียนบอกว่าได้อ่านหนังสือเรื่อง “หัวใช้เท้า” ของ วชิรา ระหว่างนั่งชินกันเซนในญี่ปุ่น  เป็นครั้งแรกที่ได้อ่านนามปากกาที่มีแรงดึงดูดและลีลาการเล่าแบบกวนแต่ไม่ไร้กาลเทศะ น่าทึ่งและเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้เขียนเล่มหนึ่งในชีวิต

นอกจากเรื่องเล่าเกี่ยวกับรถไฟและหนังสือแล้ว  ก็ยังมีเรื่องของห้องสมุดสุดคลาสสิกในอเมริกา และความประทับใจที่มีต่อหนังสือชื่อสั้นเล่มหนึ่งของคุณวินทร์ เลียววาริณ  ที่นำเสนอเกี่ยวกับการอำได้อย่างแนบเนียน  และสะท้อนความลึกของมุมหนึ่งในสังคมนอกจากนั้นยังมีหนังสือของ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เรื่อง “ฉากญี่ปุ่น” และเรื่องสั้นของ Haruki Murakami ที่ถูกเขียนถึงในเรื่องสั้นเรื่องนี้

            อ่านมาถึงนี้แล้ว ฉันก็รู้สึกว่าเรื่องราวของ “หนังสือเดินทางที่ไม่มีวันหมดอายุ” ตรงกับตัวฉันมากที่สุด ยกให้เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ชอบมากในเล่มไปเลย


เรื่องที่ 7 : หนังสือตกรอบ

วราพรรณ หงุ่ยตระกูล

“ทุกครั้งที่เราอ่าน  ให้ใจเปิดเมื่ออ่านหนังสือ”

            เรื่องนี้ผู้เขียนเล่าประสบการณ์ที่เป็นบรรณารักษ์ห้องสมุดหน้าที่ประจำของเธอ  คือพาหนังสือตกรอบกลับเข้าประจำชั้น หนังสือที่ผู้ใช้ห้องสมุดหนอนหนังสืออ่านเสร็จทั้งในห้องสมุดและเอามาคืน  หนังสือเหล่านั้นจะถูกลำเลียงใส่รถเข็น  เพราะถูกอ่านจนหนำใจหรือเพียงเพราะหมดเวลาทำการห้องสมุด

            ในเรื่องสั้นผู้เขียนพูดถึงหนังสือมากมาย ทั้งหนังสือภาพเยาวชน เจ้าหญิงผจญภัย, คุณชายห้าภพ หรือหนังสือปรัชญา หนังสือธรรมะ  หรือหนังสือวิชาชีพสาขาต่างๆ มีประโยคหนึ่งที่ผู้เขียนเล่าแล้วชอบ

            “สำหรับฉันหนังสือมีคุณค่าเสมอ ตัวหนังสือไม่เคยทำร้ายใคร  มีเพียงใจของเราเท่านั้นที่ปรุงไปให้เรารู้สึกอย่างไร และมักจะปรุงไปในทางที่ใจเราอยากให้เป็น”

             ผู้เขียนสรุปประมวลภาวะของคนอ่านหนังสือว่ามีทั้ง อ่านไม่ได้เรื่อง คืออ่านไม่มีสมาธิต้องใช้ความพยายามมากกว่าที่เป็นอยู่  อ่านได้เรื่อง คือประสบความสำเร็จในการอ่าน อ่านเอาเรื่อง คือที่อ่านมาทั้งหมดไม่เสียแรงอ่านเอาไปต่อยอดงานอื่นได้อีก และ อ่านจนได้เรื่อง หรือที่ผู้เขียนนิยามว่าเป็นการอ่านหาเรื่อง คือปล่อยอารมณ์ร่วมกับการอ่านมากจนใครๆ จับสังเกตได้จากสีหน้าขณะอ่าน

             อ่านเรื่องนี้จบ  ฉันก็อยากจัดการอ่านหนังสือที่ซื้อมาสุมเป็นกองดองท่วมหัว  เสร็จแล้วจะได้จัดให้กลับเข้าชั้นถาวรบ้าง  แต่ไม่รู้อีกว่าเมื่อไหร่ที่ฉันจะอ่านได้จนหมดสักที


เรื่องที่ 8 : อ่านตามพี่ หนีตามหนังสือ

อนุมูล อิสระ (พวงมณี บุญเลี้ยง)

“ราวกับถูกตัวหนังสือกวักมือชวน...”

           เรื่องสั้นเรื่องที่แปด  บอกเล่าเรื่องผ่านวัยเยาว์ตั้งแต่สมัยรุ่นพ่อแม่ของผู้เขียนในครอบครัวคนจีน  เรื่องราวที่เกี่ยวพันกับร้านหนังสือเช่าของแม่ หนอนหนังสือตัวยงทำให้ผู้เขียนได้รู้จักโลกของนิยายเป็นครั้งแรกจากเรื่อง “จดหมายจากเมืองไทย”

            หลังจากนั้นผู้เขียนก็เล่าถึงพัฒนาการด้านการอ่านหนังสือของเธอ ทั้งแผงหนังสือใกล้บ้าน หนังสือนอกเวลาน่าอ่าน การได้เลือกสรรหนังสือ ได้ไล่เดินดูหนังสือไปทีละแผงเป็นแหล่งอ้อยอิ่งหลังเลิกเรียน  ทำให้ฉันเห็นภาพของตัวเองสมัยมัธยมที่ชอบขลุกอยู่ในร้านหนังสือได้ไม่มีเบื่อ

          หนังสือมักมีอิทธิพลต่อผู้อ่าน  เหมือนอย่างที่ผู้เขียนหลงรัก โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง  หนังสือที่มีอิทธิพลต่อความคิดอ่านอย่าง แด่หนุ่มสาว ของ กฤษณมูรติหรือช่วยกล่อมเกลารสนิยมให้อ่อนโยน อย่าง รอยยิ้มแห่งฤดูกาล ของ พจนา จันทรสันติและบางเรื่องที่ทำให้ขำก๊ากไปกับสำนวนปุเลงๆ ของ ป.อินทรปาลิต ใน พล นิกร กิมหงวน

            อ่านเรื่องนี้จบแล้วรู้สึกเหมือนกับว่าเส้นทางเดินของคนคนหนึ่งกับชั่วชีวิตที่จะได้เจอกับหนังสือที่ถูกใจจนยกขึ้นหิ้งนั้นหาได้แต่ก็ไม่ง่ายเลย


เรื่องที่ 9 : วันละร้อย

ภาวนา แก้วแสงธรรม

“ฉันอ่าน อ่าน อ่าน และอ่าน โดยที่ไม่รู้ว่าอ่านทำไม”

           เรื่องสั้นเรื่องนี้เล่าเรื่องประสบการณ์การทำงานของผู้เขียน  ที่ต้องการทำงานกับสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งแต่ไม่ได้อย่างใจหวัง ต้องเปลี่ยนงานอยู่หลายแห่งแต่ไม่เจอที่พอเหมาะพอดี  เธอบอกว่าได้นิสัยรักการอ่านมาจากพ่อ มาจากในบ้านที่เป็นร้านกาแฟ มีไทยรัฐและเดลินิวส์เป็นเพื่อนยาก มีหนังสือของ รงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นทัพหน้า,วิลาส มณีวัต, หลวงวิจิตรวาทการ, ดอกไม้สด, ม.จ. อากาศดำเกิง ฯลฯ

           ผู้เขียนบอกว่าตัวเธอเป็นเด็กหญิงที่เย่อหยิ่ง  เพราะทะนงตัวว่าในหัวบรรจุไปด้วยศัพท์แสงประหลาด เธอหลงใหลหนังสือ มันสมอง ของหลวงวิจิตรวาทการ  มากจนพี่สาวต้องฉีกทิ้ง  เพราะเธอเริ่มเลียนแบบวิธีการสะกดจิตจากในเล่ม กลัวว่าเธอจะบ้า ผู้เขียนชอบอ่านมากจนทุกๆ วันพี่สาวจะวางเงินไว้ที่ตู้เย็นหนึ่งร้อยบาท เป็นค่าข้าวค่ารถ เพื่อต่อลมหายใจให้เธอ

         มันคือ “ความกระเสือกกระสน” อันคนร่ำรวยไม่รู้จัก  แต่ฉันรู้จักมันดีและคิดว่าคนต่างจังหวัดที่ดั้นด้นมาอยู่ที่เมืองนรกอย่างกรุงเทพฯ  ล้วนรู้จักมันดี  หน้าตาของความกระเสือกกระสนช่างน่าเกลียดนัก  มันประกอบไปด้วยหยาดเหงื่อของพ่อและแม่  สายตายิ้มๆ ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล  และการไม่ยอมโทรกลับของสายบางสาย

ฉันอ่านแล้วเห็นตามที่เธอเล่าไว้ตอนต้นว่า  ตัวหนังสือของเธอน่าสนใจทั้งเปิดเผย จิกกัด และมีพลังทำให้ฉันต้องอ่านซ้ำรอบสองอีกด้วย


เรื่องที่ 10 : รัก

สิโรตม์ จิระประยูร

“แล้วความรักจะหาทางให้”

           เรื่องของเจ้าของร้านหนังสือThe Book Smith ที่เชียงใหม่  บอกเล่าเรื่องราวของตัวเอง  ตั้งแต่บทแรกของชีวิตที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ  ด้วยการเป็นเด็กยุคเจ็ดศูนย์ เติบโตมาบนความก้ำกึ่งของวิวัฒนาการมีห้องสมุดของลุงที่แน่นขนัดไปด้วยหนังสือภาษาอังกฤษทั้งหมดที่เด็กน้อยอย่างผู้เขียนอ่านไม่เข้าใจ

            พอโตขึ้นหลายอย่างก็เปลี่ยนไป  การเข้ามามีอิทธิพลของ วิลเลียม ซาโรยัน, พจนา จันทรสันติ, เฮอร์มานน์ เฮสเส เข้ามาแทนที่  พล นิกร กิมหงวน ที่อ่านในวัยเด็ก และนิตยสารหัวนอกอย่างเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก ก็เข้ามามีบทบาท  แต่อุปสรรคของผู้เขียนกับหนังสือหัวนอกก็ยังเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือเรื่อง เงินที่เข้ามาเกี่ยวข้อง จนวันหนึ่งเขาก็เปิดร้านหนังสือของตัวเองตามคำของภรรยาที่ว่า “พี่ไม่อยากมีร้านหนังสือเป็นของตัวเองบ้างหรือ”

             อ่านมาถึงตรงนี้ ฉันก็นึกชอบเรื่องนี้อีก  เพราะนอกจากการมีห้องสมุดแบบที่ใฝ่ฝันแล้ว ฉันก็อยากมีร้านหนังสือเป็นของตัวเองอีกด้วย  โดยเฉพาะประโยคเกือบสุดท้ายที่ฉันชอบ

            “ในร้านหนังสือไม่ได้มีแค่หนังสือ  แต่มีเรื่องราวของเจ้าของ คนอ่าน นักเขียน  รวมถึงเรื่องราวของเขาและเธอที่ถูกเขียนขึ้น ทั้งหมดของบทปัจจุบันที่ผมมีวันนี้ได้ต้องบอกจริงๆว่า เพราะประโยคนี้ทีเดียว”

            “แล้วความรักจะหาทางให้”


เรื่องที่ 11 : Rhythm of Reading

ฮิวโก้ (จุลจักร จักรพงษ์)

“การอ่านเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ชีวิต”

           เรื่องสั้นเรื่องสุดท้ายเป็นเหมือนบทสัมภาษณ์ของฮิวโก้ ที่ฉันรู้จักในฐานะนักแสดง นักร้อง นักดนตรี  แต่ที่ไม่รู้เลยก็คือ ฮิวโก้ เป็นนักอ่านมาตั้งแต่เด็ก  เพราะครอบครัวเป็นคนทำหนังสือทั้งแม่และพ่อ ส่วนท่านตาของฮิวโก้ (พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์) ก็เป็นนักเขียน  นิยายที่ฮิวโก้ชอบอ่านตอนเด็กก็จะเป็นแนว The Lord of the Ring รวมไปถึงหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์

            พอโตขึ้นก็อ่านหนังสือหลากแนวขึ้น  ทั้งงานของ Haruki  Murakami  หรืองานแนวฟิกชั่นอื่นๆ  การอ่านหนังสือของเขานั้นเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ชีวิต  ซึ่งมีส่วนในการสร้างสรรค์งานดนตรี  รวมไปถึงสไตล์ของนักเขียนที่ชอบก็เปลี่ยนไป

            “ผมมองว่านักเขียนหลายคนที่มีความสามารถเขียนเนื้อร้องแสดงความรู้สึกด้วยจำนวนคำน้อยนี่ยอดเยี่ยมเลยนะ  ผมว่ามันเป็นศิลปะชั้นสูง  ส่วนตัวแล้วผมชอบความประหยัดคำ ใช้คำน้อย  แต่เล่าเรื่องราวได้มากมันก็เหมือนกับการแต่งเพลงที่เรามีเวลาจำกัด  ที่จะต้องเล่าเรื่องราวสื่อสารออกมาให้ได้และต้องมีศิลปะสะท้อนอารมณ์ให้เข้าถึงด้วย”

            นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องเกี่ยวกับหนังสือสามเล่มโปรดแนวเรื่องจริง (Non-fiction) และสามเล่มโปรด แนวเรื่องแต่ง (Fiction) ที่ฮิวโก้ชอบ

ซึ่งฉันไม่แปลกใจอีก  เพราะดูจากสไตล์ของเขากับแนวหนังสือที่อ่านแล้ว  ก็พอจะบอกได้ว่า  การจะรู้จักคนคนหนึ่งจากหนังสือที่เขาหรือเธออ่านนั้น  เป็นเรื่องที่ไม่ไกลเกินจริงเลย


ฝากบล็อกหนังสือไว้ให้อ่านก่อนนะคะ

ยังไม่ได้ไปอ่านบล็อกพี่ๆ เพื่อนๆค่ะ ภารกิจยังไม่เสร็จ

ขออนุญาตปิดเมนท์ไปก่อนค่ะ

ขอบคุณของแต่งบล็อกสวยๆจากคุณยายเก๋าและคุณญามี่ค่ะ

ขอบคุณเพลงเพราะๆจากอินเตอร์เน็ตค่ะ

ขอบคุณที่ติดตามอ่านค่ะ ^___^

>




 

Create Date : 16 พฤษภาคม 2559
0 comments
Last Update : 16 พฤษภาคม 2559 1:58:17 น.
Counter : 3117 Pageviews.


lovereason
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 76 คน [?]









+ ++
Friends' blogs
[Add lovereason's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friends


 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.