Group Blog
 
 
ธันวาคม 2552
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
23 ธันวาคม 2552
 
All Blogs
 
ข้อมูลพื้นฐานอำเภอหล่มสัก

hawaiihawaii

ประวัติเมืองลุ่มหรือเมืองหล่มสักนั้น พอที่จะสันนิษฐานได้ ดังนี้


“เมืองหล่ม” หรือ อำเภอหล่มเก่าและอำเภอหล่มสัก ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นบริเวณราบลุ่มที่มีเทือกเขาล้อมขนาบทั้งสามด้าน ได้แก่ด้านทิศเหนือ ด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร
ชื่อเมืองหล่มแต่เดิมนั้น เรียกว่า “เมืองลุ่ม” คำว่า “ลุ่ม” ถ้าออกเสียงตามสำเนียงพื้นถิ่นจะต้องออกเสียงว่า “ลุ๊ม” ในภาษาพื้นเมืองหล่มสักและภาษาพื้นเมืองภาคเหนือรวมถึงประเทศลาว หมายถึง “ข้างล่าง” เช่นมีคำที่ชาวหล่มสักใช้เรียกบริเวณใต้ถุนเรือนว่า “ใต้ลุ๊มใต้ล่าง” ในภาษาเหนือเรียก “ใต้ลุ่ม” ซึ่งก็หมายถึง “ข้างล่าง” นั่นเอง แต่ถ้าแปลความหมายตามภาษาไทยกลางก็ หมายถึง บริเวณที่ลุ่มต่ำมีลักษณะเป็นแอ่ง หรือบริเวณที่ราบลุ่มซึ่งก็ตรงกับลักษณะของพื้นที่ตั้งของอำเภอหล่มสักและหล่มเก่าเพราะตั้งอยู่ระหว่างอ้อมกอดของภูเขามีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ชื่อของเมืองลุ่มมีปรากฏอยู่ในตำนานหรือนิทานหลายเรื่อง เช่น เรื่อง ท้าวคัชนามหรือท้าวคันธนามซึ่งได้กล่าวพ่วงท้ายก่อนจะจบเรื่องด้วยบางสำนวนเล่าว่า “ ท้านคัชเนก และ ท้าวคัชจันทร์ ซึ่งเป็นบุตรของท้าวคัชนามเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์มาก ทั้งสองวิวาทกันทำศึกจนสะเทือนไป ทั้งโลกและจักรวาล เดือดร้อนไปถึงหมู่เทพเทวา เทวดาทั้งหลายจึงไปเฝ้าพญาแถนให้มาห้ามทัพ พญาแถนเล็งเห็นว่าท้าวคัชเนกนั้นสิ้นบุญมีชะตาขาดแล้ว จึงได้บันดาลลมมีดแถ(มีดโกน) ไปยังกองทัพของทั้งสองพี่น้อง และลมมีดแถนั้นก็ฟันถูกท้าวคัชเนกสิ้นชีวิตตกลงบนแผ่นดิน ร่างท้าวคัชเนกกลายเป็นภูเขาชื่อว่า “ภูจอมสี” เป็นภูเขาอยู่กลางเมืองหลวงพระบาง ศีรษะตกลงดินกลายเป็นพญานาค เลือดตกลงมาเป็นก้อนสีแดง เรียกว่า “ภูครั่ง” ร่างอีกส่วนหนึ่งตกลงมากระทบแผ่นดินเป็นหลุมใหญ่ในหุบเขา ภายหลังกลายเป็นเมืองเรียกว่า “เมืองลุ่ม” ซึ่งก็ได้แก่เมืองหล่มเก่าและเมืองหล่มสักในปัจจุบัน เรื่องเล่าดังกล่าวถึงแม้จะเป็นเพียงแค่ตำนานแต่ก็ได้ให้ความหมายลึกซึ้งในเงื่อนไขของความเชื่อและนำเสนอให้เราเห็นว่า “เมืองลุ่มหรือเมืองหล่มนั้นก็มีความสัมพันธ์ในทางเชื้อชาติประวัติศาสตร์ร่วมกับผู้คนในดินแดนแคว้นถิ่นล้านช้างหลวงพระบางและเวียงจันทร์ด้วยกันนั่นเอง”
ความเข้าใจในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของเมืองหล่มนั้น คนหล่มเองก็ไม่เข้าใจแจ่มแจ้งมากนักเพราะพัฒนาการของเมืองหล่มนั้นเกิดขึ้นจากชุมชนเล็ก ๆ ระดับหมู่บ้านแล้วเจริญขึ้นเป็นเมืองตามครรลองของสังคม เมืองหล่มไม่ใช่เมืองสำคัญที่รัฐจะต้องทุ่มเทสัพพะกำลังในการก่อตั้งเมืองเหมือนเมืองสำคัญอื่น ๆ เช่นเมืองเพชรบูรณ์ ที่มีลักษณะเป็นเมืองที่มีคูน้ำและกำแพงเมืองชัดเจน จะสังเกตได้ว่าในบริเวณเมืองหล่มทั้งหล่มเก่าและหล่มสักนั้น ไม่ปรากฏมีร่องรอยของคูน้ำคันดิน หรือซากกำแพงเมืองให้เห็นอยู่เลย นอกจากบริเวณเมืองเก่านครเดิดบ้านดงเมือง อำเภอหล่มสักซึ่งเมืองดังกล่าวนี้ก็เหลือเพียงเศษซากกำแพงเมืองและคันดินให้เห็นพอเลือนรางแต่ก็เป็นโบราณสถานที่อยู่ภายนอกเมืองหล่มและเยื้องไปทางเมืองเพชรบูรณ์ และโบราณสถานบ้านดงเมืองนี้อาจจะมีอายุเก่าแก่กว่าพัฒนาการของเมืองหล่มก็เป็นได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเมืองหล่มไม่ใช่เมืองสำคัญมาแต่สมัยโบราณ แต่เป็นเพราะการได้เปรียบทางด้านสภาพภูมิประเทศมากกว่าที่เมืองหล่มได้ตั้งอยู่ในชัยภูมิที่ดี จึงไม่ปรากฏว่าเมืองหล่มจะถูกคุกคามทางด้านสงครามเลยแม้แต่น้อย ถ้าหากจะกล่าวว่าเมืองหล่มเป็นเมืองของชาวบ้านก็คงจะไม่เสียหาย เพราะเป็นเมืองระดับชาวบ้านจริง ๆ และก็เป็นอย่างนี้มาช้านานจนถึงปัจจุบัน เพราะการปกครองถึงจะมีระบบเจ้าขุนมูลนายเข้ามาในสมัยหลังอยู่บ้าง แต่ดั้งเดิมนั้นชาวหล่มก็ปกครองกันเองโดยใช้ระบบฮีตสิบสองครองสิบสี่ตามแบบอย่างที่ได้มาจากเวียงจันทร์ แต่ก็ไม่ปรากฏว่าเมืองหล่มนั้นผูกขาดอยู่ภายใต้อำนาจของเวียงจันทร์หรืออยุธยากันแน่เพราะเป็นดินแดนที่ตั้งอยู่ระหว่างชายแดน และการอพยพเคลื่อนย้ายของกลุ่มชนจากดินแดนล้านช้างเข้าสู่บริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสักตอนบนคือบริเวณเมืองหล่มเก่าหล่มสักเป็นเหตุให้ทั้งสองอาณาจักรได้ตกลงแบ่งปันเขตแดนโดยมีพระธาตุศรีสองรักเป็นหลักบอกเขตดังที่เห็นจนปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าชาวเมืองหล่มจะต้องเลือกผู้นำขึ้นมาเองโดยการตัดสินใจของกลุ่มชน หรืออาจจะเลือกผู้นำที่สืบเชื้อสายมาจากผู้นำคนเดิมที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นก่อนที่จะอพยพโยกย้ายถิ่นจากถิ่นเดิมคือดินแดนล้านช้าง เข้าสู่ดินแดนลุ่มแม่น้ำป่าสัก ซึ่งผู้นำหรือผู้ปกครองเมืองหล่มนั้นมีชื่อเรียกว่า “อุปฮาด” ซึ่งต่อมาภายหลังนิยมเรียกว่า“ปู่เฒ่า” “เจ้าปู่”ซึ่งตำแหน่งอุปฮาดนั้นก็ตรงกับตำแหน่งเจ้าเมืองในการปกครองระบอบอาชญาสี่ ของเวียงจันทร์ และหลวงพระบาง ซึ่งอยู่ในความทรงจำของประชาชนที่ยังคงมีความศรัทธาอยู่ในระบบจารีตประเพณีดั้งเดิมตามบรรพบุรุษผู้ที่เคยอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรล้านช้างนั่นเอง ตำแหน่งทางการปกครองดังกล่าวนี้ยังมีชื่อปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเกี่ยวข้องกับผีบรรพบุรุษของชาวเมืองหล่ม ซึ่งในเทศกาลงานบุญประเพณีบุญบั้งไฟจะมีการอัญเชิญดวงวิญญาณที่มีชื่อปรากฏเกี่ยวข้องกับระบบการปกครองแบบอาชญาสี่ ได้แก่ “เจ้าปู่” “มเหศักดิ์” “หลวงศรี” “ศรีหวงษ์” “แสน” “ท้าว” “นาง” ซึ่งชื่อที่ปรากฏดังกล่าวเกี่ยวข้องกับชื่อของ เทวดา ชื่อตำแหน่ง และคำนำหน้าเรียกบุคคลสำคัญต่าง ๆ ในสมัยโบราณโดยเฉพาะกลุ่มชนที่พูดภาษาตระกูลลาว
ร่วมสมัยกับการสร้างพระธาตุศรีสองรัก ในบริเวณอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย “จากการสำรวจของนักโบราณคดีเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมลาวล้านช้างในภาคกลางกล่าวว่าพระธาตุเจดีย์วัดโพนชัย ต.บ้านหวาย มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมร่วมสมัยเดียวกันกับเจดีย์ศรีสองรัก” กล่าวคือ ประมาณปี พ.ศ.๒๐๙๐ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์แห่งกรุงศรีอยุธยา และสมเด็จพระเจ้าชัยเชษฐาธิราชแห่งกรุงศรีสัตตนาคนหุต ล้านช้าง ได้กระทำสัจจไมตรีต่อกันคือได้ร่วมกันก่อสร้างพระธาตุศรีสองรัก ไว้เป็นพยานว่าจะไม่รุกรานฆ่าฟันกันทำสัญญาว่าจะเป็นบ้านพี่เมืองน้องกัน อาจจะเป็นไปได้ว่าพระเจ้าชัยเชษฐามีเชื้อสายมาจากทางราชวงศ์ล้านนาเชียงใหม่และในสมัยเดียวกันนั้นทั้งสองนครก็ถูกทัพพม่ามาตีอยู่เนืองนิต ฉะนั้นทั้งสองนครจึงทำไมตรีต่อกันเพื่อช่วยเหลือกันทำสงคราม และพระธาตุศรีสองรักก็เปรียบเสมือนเสาหลักปักแดนระหว่างสองพระนคร ด้วยเหตุนี้ประชาชนชาวล้านช้างก็อพยพมาจากนครหลวงพระบางลงมาตั้งหลักแหล่งทำมาหากินในแถบเมืองหล่มสัก เดิมเรียกเมืองลุ่ม สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่าพวกราษฎรชาวศรีสัตนาคนหุตได้มาพำนักอยู่ก่อนแล้ว ก่อสร้างเจดียสถานไว้สำหรับเพื่อนบ้าน เหตุที่พากันมาอยู่สร้างเมืองลุ่มนี้ ก็เพราะหนีภัยต่าง ๆ เมื่อมีจำนวนคนเพิ่มขึ้นก็เกิดเป็นบ้านเมือง ในที่สุดเกิดมีผู้ปกครองแต่ไม่ได้เรียกว่าเจ้าเมือง ใช้คำพื้นเมืองเรียกว่า “อุปฮาด” ตามภาษาพื้นเมืองที่ใช้กันเป็นชื่อตำแหน่งเจ้าเมืองของชาวศรีสัตนาคนหุต(ล้านช้าง)
ยุคสร้างบ้านแปงเมือง เดิม เมืองลุ่มนั้นเป็นเมือง เล็ก ๆ ไม่ค่อยที่จะมีผู้คนรู้จักสักเท่าใดสาเหตุที่เรียกชื่อเมืองว่า เมืองลุ่มก็คือ มีผู้คนอาศัยอยู่ในที่ราบลุ่ม หรืออีกสาเหตุหนึ่ง คำว่าลุ่มในภาษาพื้นเมืองหล่ม ออกเสียงว่า ลุ๊ม หมายความว่า ข้างล่าง ดังที่ชาวเมืองหลวงพระบางเรียกพวกตนว่า ลาวลุ๊ม หมายถึง เป็นกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ข้างล่างหรือบนพื้นราบนั่นเอง เพื่อให้แตกต่างไปจากกลุ่มชนที่อาศัยอยู่บนที่สูง ก็คือ ชนเผ่าลั๊ว ข่า ม้ง ฯลฯ ที่ถูกเรียกว่าเป็น ลาวเทิง และลาวสูง คล้ายกับชาวภาคเหนือของไทยที่เรียกพวกตนว่า “คนเมือง” นั่นเอง คำว่าเมืองหล่มสักพึ่งจะมาปรากฏในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๓ คือ ในสมัยที่ปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทร์ เจ้าอนุวงศ์ได้ส่งทัพเจ้าราชวงศ์มายึดเอาเมืองลุ่ม อุปฮาดหรือเจ้าเมืองลุ่มมีกำลังน้อย จึงต้องยอมสวามิภักดิ์ต่อเจ้าราชวงศ์ เมื่อกองทัพของพระยาอภัยภูธรกับพระยาพิชัยไปถึงเมืองลุ่ม นายคงผู้เป็นชาวพื้นเมืองลุ่ม(หล่มเก่า) อาสานำทัพของพระยาอภับภูธรกับพระยาพิชัย ขึ้นไปถึงเมืองหนองบัวลำภู แต่ก็มิได้ทำศึกเพราะทัพของเจ้าพระยาบดินทร์เดชาปราบเรียบร้อยแล้ว ทัพไทยจับอุปฮาดเจ้าเมืองลุ่มได้จึงสำเร็จโทษ เมื่อเสร็จสิ้นศึก นายคงชาวพื้นเมืองลุ่มจึงมีความดีความชอบจึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระสุริยวงศาชนะสงครามรามภักดีวิริยะกรมพาหะ เป็นผู้สร้างเมืองหล่มใหม่ขึ้นบริเวณบ้านท่ากกโพธิ์และเป็นเจ้าเมืองหล่มสักท่านแรก เดิมเรียกเมืองหล่มใหม่หรือเมืองหล่มศักดิ์ ต่อจากนั้นมา ในช่วงปรับการปกครองในระบอบเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมืองหล่มสักก็ได้รับการยกขึ้นเป็นจังหวัดและขึ้นอยู่กับมณฑลอุดร และมณฑลพิษณุโลกต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๗ เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัดหล่มสักจึงได้ถูกโอนย้ายมาเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดเพชรบูรณ์
เมืองหล่มสักนั้นเป็นเมือง พิเศษคือมิได้เป็นเมืองที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างขึ้น แต่หากเป็นเมืองที่ประชาชนชาวเมืองได้ร่วมกันก่อตั้ง เริ่มพัฒนาการจากจุดเล็ก ๆ จนกลายเป็นเมืองใหญ่ในระดับหนึ่ง อาจจะเป็นเพราะสภาพภูมิประเทศอันอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก และการทำมาหากินของชาวบ้าน และตลอดจนการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าจึงทำให้เกิดเศรษฐกิจภายในชุมชนขึ้น ซึ่งอาจจะสังเกตได้ว่าเมืองหล่มสักมีพัฒนาการค่อนข้างเรียบง่าย ผิดแปลกไปจากเมืองสำคัญ ๆ อื่น ๆ ที่เป็นเมืองที่ได้รับการสนับสนุนเร่งรัดจากสังคมรัฐและสังคมการปกครองชั้นสูงมากกว่าสังคมชาวบ้าน ด้วยเหตุผลนี้จึงเป็นเหตุให้เกิดการศึกษาและวิจัยในเรื่องของความเป็นมาและพัฒนาการของเมืองหล่มสัก ดังที่กล่าวมาแล้วว่า เป็นเมืองที่มีประวัติและวิวัฒนาการมายาวนานหลายยุคหลายสมัยที่ศึกษาได้จากโบราณสถานและโบราณวัตถุที่ยังคงเหลือน้อยเต็มทีและจากตำนานท้องถิ่น

hawaiihawaii



hawaiihawaii

ลักษณะทางภูมิศาสตร์และสภาพปัจจุบันของเมืองหล่มสัก
ที่ตั้ง อำเภอหล่มสักตั้งอยู่ในเขตเทศบาลหล่มสัก ถนนวจี ประมาณละติจูดที่ 16 องศาเหนือ ลองติจูดที่ 101 องศาตะนออกความกวางวัดจากทิศเหนือไปทางทิศใต้ ยาวประมาณ 45 กิโลเมตร วามยาววัดจากทิศตะออกไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 49-8 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 1,535,348 ตารางกิโลเมตร
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับ อำเภอหล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ อำเภอนครไทย จ.พิษณุโลก
ทิศใต้ ติดกับ อำเภอเมือง จ.เพชรบูรณ์
ทิศตะวันออกติดกับ อำเภอน้ำหนาว ,อำเภอหล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ อำเภอคอนสาร จ.ชัยภูมิ
ทิศตะวันตก ติดกับ อำเภอเขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ อำเภอวังทอง จ.พิษณุโลก

ลักษณะภูมิประเทศ

สภาพทั่วไปของอำเภอหล่มสักเป็นป่าไม้และภูเขา มีเทือกเขาสูงล้อมรอบ ลักษณะเหมือนแอ่งกะทะมีภูเขา 3 ด้าน คือ
-ด้านทิศเหนือ ในเขตบางส่วนของพื้นที่ ตำบลท่าอิบุญ
-ด้านทิศตะวันออก ในเขตบางส่วนของพื้นที่ ตำบลห้วยไร่,
ตำบลบ้านติ้ว, ตำบลปากช่อง, ตำบลบ้านกลาง, และตำบลช้างตะลูด
-ด้านทิศตะวันตก ในเขตส่วนของพื้นที่ ตำบลน้ำก้อ, ตำบลน้ำชุน,
ตำบลบุ่งน้ำเต้า, และตำบลบุ่งคล้า
สภาพภูมิอากาศ
3 ฤดู คือ
1. ฤดูร้อน ระหว่างเดือนมีนาคม - พฤษภาคม อุณหภูมิสูงสุดที่เคยวัดได้ 39.5 องศา
2. ฤดูฝน ระหว่าง เดือน มิถุนายน - กันยายน ฝนตกมากใน เดือน
3. พฤษภาคม - กันยายน ปริมาณน้ำฝนเป็นรายปีของอำเภอปริมาณเฉลี่ยในรอบ 5 ปี (2527 – 2531) 9,46.9 มิลลิเมตร
4. ฤดูหนาว ระหว่างเดือน ตุลาคม - กุมภาพันธ์ อุณหภูมิต่ำสุดที่เคยวัดได้ 23.11 องศา

สาขาของแม่น้ำป่าสัก มีดังนี้
- ทางด้านตะวันตกของแม่น้ำป่าสัก คือ ห้วยน้ำพุง ห้วยน้ำขุนใหญ่ ห้วยลาน ห้วยคณฑา ห้วยน้ำก้อ
- ทางด้านทิศตะวันออกของแม่น้ำป่าสัก คือ ห้วยขอนแก่น ห้วยน้ำคำ ห้วยบง ห้วยแสนงา และคลองน้ำเดื่อ
แม่น้ำป่าสักเป็นเสมือนเส้นโลหิตที่หล่อเลี้ยงพลเมืองของชาวหล่มสัก เพราะประชาชนส่วนใหญ่ใช้น้ำในแม่น้ำป่าสักและสาขาส่งไปยังเทือกสวนไร่นา ซึ่งในอดีตนั้นแม่น้ำป่าสักมีความอุดมสมบูรณ์มาก มีน้ำพอใช้เพื่อการเกษตรตลอดปี แต่ในสภาพปัจจุบันแม่น้ำป่าสักมีสภาพตื้นเขิน ช่วงฤดูฝนจะมีน้ำมาก ส่วนฤดูแล้งน้ำจะแห้งขอดเป็นตอน ๆ ไม่เพียงพอแก่การเพาะปลูก ดังนั้นจึงต้องสร้างอ่างเก็บน้ำตามขนาดที่ต้องการถ้าเป็นน้ำใช้ก็จะมีการขุดเจาะน้ำบาดาล หรือบ่อน้ำ สระน้ำ ฝาย
นอกจากนี้บางท้องที่ก็ต้องอาศัยแหล่งน้ำผิวดิน ซึ่งมีในท้องที่ต่าง ๆ อาทิ
หนองขาม ในเขต ต.บ้านติ้ว
หนองผือ ในเขต ต.บ้านติ้ว
หนองอ้อ ในเขต ต.บ้านติ้ว
หนองแค ในเขต ต.สักหลง
ฝายศรีจันทร์ ในเขต ต.ท่าอิบุญ
เขื่อนห้วยขอนแก่น ในเขต ต.ห้วยไร่

สถานที่ท่องเที่ยว
1. อนุสาวรีย์พ่อขุนผาเมือง ตั้งอยู่ที่แยกพ่อขุนผาเมือง ตำบลน้ำชุน อำเภอหล่มสัก
2. สะพานพ่อขุนผาเมืองหรือสะพานห้วยตอง เป็นสะพานที่สูงที่สุดของประเทศไทย ตั้งอยู่ระหว่างเส้นทางสายชุมแพ – หล่มสัก
3. จุดชมวิว เป็นสถานที่ชมทิวทัศน์ที่สวยงามมากตั้งอยู่บนเส้นทางสายหล่มสัก – ชุมแพ สูงจากระดับน้ำทะเลถึง 803 เมตร
4. น้ำตกธารทิพย์ ตั้งอยู่ที่บ้านธารทิพย์ หมู่ที่ 2 ตำบลบุ่งน้ำเต้า อำเภอหล่มสัก อยู่ห่างจากถนนสายสระบุรี – หล่มสักประมาณ 5 กิโลเมตร น้ำตกมีความสูง 20 เมตรมีน้ำตลอดปี น้ำตกมี 2 ชั้น ชั้นล่างมีแอ่งน้ำอาบได้ สวยงามมาก
5. น้ำตกตาดฟ้า อยู่ในตำบลน้ำก้อ อำเภอหล่มสัก ห่างจากถนนสายใหญ่สระบุรี – หล่มสัก ประมาณ 4 กิโลเมตร เส้นทางยังไม่สะดวกเป็นน้ำตกที่ตกจากหน้าผาสูงประมาณ 20 เมตร
6. ถ้ำฤษีสมบัติ หรือ ถ้ำสมบัติ เป็นถ้าสวยงาม ภายในถ้ำจะมีความเย็นชื้น มีพระพุทธรูปอยู่ปากทางเข้า ทางซ้ายมือเป็นแท่นพระพุทธรูปบูชา เมื่อเดินเข้าสู่ภายในถ้ำมาก ๆ จะมีทางแยกหลายทาง มีหินงอกหินย้อยสวยงาม ปัจจุบันตั้งอยู่หมู่ที่ 8 ตำบลบุ่งน้ำเต้า อำเภอหล่มสัก อยู่ห่างจากตัวอำเภอหล่มสักประมาณ 20 กิโลเมตร เคยเป็นสถานที่สำคัญในสมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม คือสมัยนั้นถ้ำนี้เป็นพื้นที่ตั้งของกระทรวงการคลังและเป็นที่เก็บสมบัติของชาติ
hawaiihawaii








Create Date : 23 ธันวาคม 2552
Last Update : 23 ธันวาคม 2552 16:48:10 น. 2 comments
Counter : 2787 Pageviews.

 
คิดถึงพี่ไทจังเลย


โดย: จอย IP: 192.168.7.243, 203.172.181.138 วันที่: 6 กันยายน 2553 เวลา:10:39:55 น.  

 
สบายดีมั๊ยพี่ไท


โดย: จอย IP: 192.168.7.243, 203.172.181.138 วันที่: 6 กันยายน 2553 เวลา:10:41:48 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

lomsak123
Location :
เพชรบูรณ์ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add lomsak123's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.