โลกนี้กว้างใหญ่ แต่ไม่เกินใจเรา.
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2550
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
19 พฤษภาคม 2550
 
All Blogs
 
ย้อนรอยทีวีไทย

รัฐบาลมีมติให้ TITV เป็นทีวีสาธารณะ เป็นบริษัทที่ลงทุนโดยรัฐบาลแต่ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ โดยมีกรมประชาสัมพันธ์เป็นถือหุ้นใหญ่.

ข่าวนี้ไม่กี่วันเอง แต่มันคุ้น ๆ เหมือนเดจาวูยังไงไม่รู้.

เมื่อเกือบห้าสิบปีที่แล้ว รัฐบาลไทยภายใต้การนำของจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ได้จัดตั้งสถานีโทรทัศน์ขึ้นมาครั้งแรกในประเทศไทย และเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งแรกบนพื้นแผ่นดินใหญ่เอเชีย ใช้ชื่อว่า บริษัทไทยโทรทัศน์ โดยให้กรมประชาสัมพันธ์เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ดำเนินกิจการแบบเอกชน ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ แต่ก็มีกรมประชาสัมพันธ์เข้าไปดูแลจัดการ บอกแล้วไงว่าคุ้น ๆ :).

ปีต่อมา กองทัพบกภายใต้การนำของจอมพลสฤษฏ์ ธนรัตน์ ก็ตั้งสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่องเจ็ด ขึ้นมาเป็นกระบอกเสียงของทหารแข่งกับรัฐบาลที่มีช่องสี่ โดยมีข้ออ้างเรื่องความมั่นคงของชาติ แต่ไม่นานจอมพลสฤษฏ์ก็ทำการรัฐประหาร และทีวีทั้งสองช่องก็ตกในกำมือของผู้นำเผด็จการโดยสิ้นเชิง.

แม้ทีวีตอนแรกมีจุดประสงค์ด้านการเมืองเป็นหลัก แต่ไป ๆ มา ๆ ทีวีก็กลายเป็นความบันเทิงราคาถูกภายในบ้าน มีการแข่งขันควิซโชว์ เกมส์โชว์ และมีละครโทรทัศน์ในรูปแบบเดียวกับละครเวที คือเล่นกันสด ๆ หน้าฉากในห้องส่ง ไม่มีการอ่านบทก่อน ใช้วิธีให้คนบอกบทแอบอยู่ข้าง ๆ.

ในยุค 2500 - 2509 (ซึ่งต่อไปบทความนี้จะเรียกว่ายุค 00) เป็นการแข่งขันกันแค่สองช่อง ซึ่งมีหน่วยราชการเป็นผู้ควบคุม ดังนั้นรูปแบบของรายการต่าง ๆ ก็จะเป็นแบบหน่วยราชการไม่มีอะไรตื่นเต้นหวือหวาเท่าไร.

แต่พอเริ่มทศวรรษใหม่ (2510 - 2519) หรือขอเรียกว่าทศวรรษ 10 โทรทัศน์เริ่มมีเทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่า ทีวีสี ซึ่งต้องมีการลงทุนกันใหม่ จึงได้มีเอกชนภายใต้การนำของ เรวดี เทียนประภาส จัดตั้งสถานีโทรทัศน์สีขึ้นมาครั้งแรกในทวีปเอเชีย โดยขอสัมปทานมาจากกองทัพบก และใช้ชื่อทีวีว่า สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่องเจ็ด.

นอกจากการออกอากาศด้วยระบบสีแล้ว การผลิตรายการก็ได้นำรูปแบบของต่างประเทศมาใช้ มีการจ้างโปรดักชั่นเฮาส์ผลิตภาพยนตร์โทรทัศน์ขึ้นมาแทนละครทีวีที่ต้องเล่นกันสด ๆ แต่ภาพยนตร์ทีวีใช้ฟิล์มถ่ายทำ สามารถตัดต่อเรื่องราวให้กระชับขึ้นได้ นั่นคือจุดเริ่มต้นของ ดาราฟิล์ม (ดาราวิดีโอในยุคปัจจุบัน) รายการเกมส์โชว์ก็ลอกแบบจากต่างประเทศ ใช้เทคโนโลยีการบันทึกเทปโทรทัศน์มาช่วย สามารถควบคุมเวลาได้ดีกว่าการออกอากาศสด มีภาพยนตร์ต่างชาติมาฉายทุกวัน มีการถ่ายทอดสดมวยรุ่นเฮฟวี่เวทจากต่างประเทศมาให้ชมเรื่อย ๆ ทำให้สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่องเจ็ดได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วและขึ้นเป็นสถานีโทรทัศน์อันดับหนึ่งตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา.

เมื่อช่องเจ็ดสีได้รับความนิยมสูง เอเจนซี่โฆษณาก็เริ่มสนใจสื่อโทรทัศน์มากขึ้น วงการโฆษณาเติบโต เม็ดเงินเข้าทีวีมากมาย ทำให้เกิดสถานีโทรทัศน์ช่องเอกชนช่องใหม่ขึ้นมา โดยไปขอสัมปทานจาก บ.ไทยโทรทัศน์ เป็นจุดกำเนิดของ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่องสาม ที่ดำเนินการโดย บริษัทบางกอกเอนเตอร์เทนเมนท์ (BEC) ขึ้นมา ในระยะแรกใช้นโยบายเดียวกับช่องเจ็ดสี มีภาพยนตร์โทรทัศน์ เกมส์โชว์บันทึกเทป และรายการภาพยนตร์ต่างประเทศ แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไร เพราะดำเนินการผิดพลาดที่เลือกคลื่นวิทยุความถี่ต่ำ (ช่องสาม) เพราะคิดว่าจะแพร่ภาพได้ไกลกว่า เลือกตั้งเสาส่งที่หนองแขม ซึ่งไกลจากตัวเมืองและเมื่อกรุงเทพเปลี่ยนสภาพเป็นตึกสูงมากมายก็ยิ่งทำให้สัญญานไม่ชัด ถ้าจะให้ชัดก็ต้องลงทุนทำเสาทีวีแบบใหม่ ทำให้ช่องสามไม่เป็นที่นิยมมากนัก.

ดังนั้นช่องสามจึงต้องเปลี่ยนนโยบายใหม่ ไม่ดำเนินการตลาดไปในแนวกว้าง หันไปเน้นรายการทีวีจากต่างประเทศโดยเฉพาะอเมริกา เพื่อจับตลาดบนซึ่งกลุ่มเป้าหมายนี้สามารถลงทุนทำเสาโทรทัศน์เพื่อรับช่องสามโดยเฉพาะได้ ทำหนังสือแนะนำรายการโทรทัศน์แจกตามปั๊มน้ำมัน ช่องสามก็เลยมีภาพพจน์เป็นช่องโทรทัศน์ของคนมีเงินและคนมีการศึกษา.

ยุคทศวรรษที่ 10 จากการยึดครองตลาดทั้งบนทั้งล่างของ ช่องสามและช่องเจ็ด ทำให้เกิดผลกระทบกับทีวีช่องเดิมของรัฐบาล ช่องห้าปรับตัวได้ด้วยการให้บริษัทเอกชนมาเช่าออกรายการเช่น บ.รัชฟิล์มทีวี ที่ยึดกุมช่วงไพร์มไทม์ของช่องห้าไว้ได้ทั้งหมด รายการยอดนิยมของช่องห้าก็คือ ไอ้มดแดง ที่ครองใจเด็ก ๆ ทั้งประเทศ ในขณะที่ช่องสี่แม้มีรูปแบบเป็นเอกชน แต่ก็ถูกควบคุมจากกรมประชาสัมพันธ์ที่มีขั้นตอนระบบราชการยุ่งยากต่อการปรับปรุงรายการเพื่อแข่งขันกับช่องเอกชน ทำให้ช่องสี่เกิดปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง.

ช่องเจ็ดสีผู้นำตลาดแบ่งรายการเป็นช่วงก่อนข่าว และ หลังข่าว ก่อนข่าวสองทุ่มครึ่งชั่วโมงเป็นไพร์มไทม์ มีภาพยนตร์โทรทัศน์ฉายทุกวัน วันจันทร์เป็นแนวจักร ๆ วงศ์ ๆ วันอังคารหนังผีแบบชาวบ้าน ๆ (กระสือได้รับความนิยมสูง) วันพุธ เป็นขุนแผนผจญภัย ซึ่งนำตัวละครขุนแผนมาสร้างเป็นซีรีส์ วันพฤหัส เป็นเรื่องหมอผีซีรีส์ ซึ่งภายหลังเปลี่ยนเป็น ซีรีส์ชุด กฏแห่งกรรม วันศุกร์ออกแนวนิยายน้ำเน่าต่าง ๆ วันเสาร์วันอาทิตย์ เป็นภาพยนตร์ชุดที่หลากหลายเนื้อหา.

ปลายทศวรรษ 10 ทีวีทุกช่องเปลี่ยนเป็นระบบสี สถานีโทรทัศน์ช่องเจ็ดขาวดำเปลี่ยนเป็นช่องห้า ช่องสี่เปลี่ยนเป็นช่องเก้า ช่องสี่มีปัญหาใหญ่ขาดทุนต่อเนื่องและยังต้องย้ายที่ทำการจากวังบางขุนพรหม ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ทำการของธนาคารแห่งประเทศไทย มาเช่าตึกแถวอยู่แถว ๆ บางลำภู และยุบกิจการบริษัทไทยโทรทัศน์เปลี่ยนมาเป็น องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย และช่วงนี้เองเริ่มเกิดการเข้ามาของภาพยนตร์จีนจากไต้หวัน เรื่องที่ได้รับความนิยมสูงคือ เปาบุ้นจิ้น ของช่องสาม.

ยุคทศวรรษที่ 20 เป็นยุคที่ดุเดือดและเปลี่ยนแปลงมากที่สุดของรายการโทรทัศน์ เริ่มมีการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ทำให้กำเนิดโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจขึ้นมา ช่องที่มีการเปลียนแปลงมากที่สุดคือช่องสาม ที่ริเริ่มละครโทรทัศน์ยุคใหม่ที่ใช้การบันทึกเทป และให้นักแสดงอ่านบท ทำการศึกษาบท และซ้อมการแสดงเพื่อให้ได้อารมณ์ก่อนบันทึกเทป นำโดยภัทราวดี ศรีไตรรัตน์ ทำให้ละครโทรทัศน์สนุกสนานขึ้น ช่องเจ็ดเมื่อเห็นว่าภาพยนตร์จีนจากไต้หวันได้รับความนิยม ก็ไปซื้อละครทีวีจากฮ่องกงเรื่องมังกรหยกมาฉาย ซึ่งได้รับสูงมาก ๆ ชนิดที่เรียกได้ว่าทีวีเมืองไทยเก้าสิบเปอร์เซนต์ต้องเปิดดูมังกรหยก ต้องขยายเวลาจากฉายวันเสาร์วันเดียวเป็น เสาร์ อาทิตย์ และ ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ตามลำดับ.

แต่หมากเกมส์นี้ของช่องเจ็ด กลับกลายเป็นดาบสองคมที่หันมาบาดตัวเอง เมื่อช่องสามใช้ความสามารถในการติดต่อกับต่างประเทศที่เหนือกว่า เข้าซื้อภาพยนตร์ดัง ๆ ของฮ่องกงมาครอบครองได้ทั้งหมด และในที่สุดเมื่อหนังฮ่องกงเรื่องกระบี่ไร้เทียมทาน ได้ความนิยมอย่างสูงถึงขนาดขยายเวลาไปฉายช่วงไพร์มไทม์ได้ทุกวัน ทำให้ตำแหน่งเบอร์หนึ่งของช่องเจ็ดที่ครอบครองมานานกว่าสิบปี ถึงกับต้องสูญเสียตำแหน่งไปอย่างรวดเร็วจนใคร ๆ ก็คาดไม่ถึง.

ช่องสามรุกหนักด้วยหนังจีน และ ละครโทรทัศน์ รูปแบบใหม่จนช่องเจ็ดตั้งตัวไม่ติด หนังจีนก็หาหนังดี ๆ มาสู้ได้น้อยกว่า หนังไทยรูปแบบเดิมก็ถูกละครช่องสามตี อีกทั้งช่องเจ็ดเองก็เสียสมาธิกับการขยายการออกอากาศไปทั่วประเทศทำให้ไม่มีเวลามาพัฒนารายการตัวเอง.

ช่องห้า เริ่มเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ ๆ เข้ามาซื้อเวลามากขึ้น ทำให้เกิดบริษัทเจเอสแอล เข้ามาทำเกมส์โชว์รุ่นใหม่ที่กระชับสนุกสนาน ประกบกับเกมส์โชว์ที่มีอายุกว่าสิบปีอย่างนาทีทอง และ ประตูดวง ของช่องเจ็ด อีกขนานหนึ่ง.

ส่วนช่องเก้า หลังจากเปลี่ยนเป็น อสมท. ก็ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นมากมาย นอกจากการปรับเป็นรัฐวิสาหกิจเต็มตัวและเริ่มสร้างวัฒนธรรมองค์กรขึ้นมาใหม่อย่างช้า ๆ.

แต่อย่างไรก็ตาม ครึ่งหลังของทศวรรษที่ 20 ก็ได้เกิดการเปลียนแปลงใหม่ ๆ ขึ้นมา.



Create Date : 19 พฤษภาคม 2550
Last Update : 19 พฤษภาคม 2550 13:31:16 น. 8 comments
Counter : 1153 Pageviews.

 
มาตามรอยด้วยค่ะ
ได้ความรู้ดี


โดย: โสดในซอย วันที่: 19 พฤษภาคม 2550 เวลา:11:19:54 น.  

 


มีประโยชน์มากๆเลย ได้ความรู้มากขึ้นด้วยค่ะ


โดย: birdchicago วันที่: 19 พฤษภาคม 2550 เวลา:22:59:28 น.  

 
มาอัพต่อด่วนๆ (เขียนไดบ่งบอกอายุมากอ่าพี่เสือ)


โดย: มิงกุ IP: 58.8.94.135 วันที่: 24 มิถุนายน 2550 เวลา:22:29:36 น.  

 
ร้กค่ะ


โดย: เล็ก IP: 203.172.201.1 วันที่: 19 กรกฎาคม 2550 เวลา:11:18:36 น.  

 
พี่ที่เคยไปโพสต์ตอบในพันทิพย์ว่าทำแว่นตาแบบ polarized ใช่ไหมค่ะ
พอดีจะทำเลยอยากขอข้อมูลหน่อยค่ะ
ไม่ทราบว่าจะแอดเมลล์คุยใน msn ได้ไหมค่ะ


โดย: pook IP: 58.11.119.5 วันที่: 21 พฤศจิกายน 2550 เวลา:23:32:04 น.  

 
วู้ว..อ่านๆไปแล้วเจอคนมาบอกรักพี่เสือน้อยด้วย เขิลลแทน


โดย: Sukh IP: 124.120.148.195 วันที่: 13 พฤษภาคม 2551 เวลา:17:54:07 น.  

 
สวัสดีครับพี่เสือ
สบายดีไหมครับ


ไม่อัพบล็อกบ้างเลยเหรอพี่

อิอิ


โดย: อะไรดี วันที่: 7 เมษายน 2552 เวลา:14:40:53 น.  

 

พี่เหนื่อยมาเยอะ

พี่สู้มาเยอะ

พี่เจ็บมาเยอะ(แต่พี่ทน)

พี่เขียนมาเยอะ

พี่เที่ยวมาเยอะ

พี่โม้มาเยอะ

พี่หมดแรงมาเยอะ

แต่พี่สู้ สู้ในสิ่งที่พี่รัก.....

พี่ไม่มีเวลามา Up date บล๊อก เพราะภาระกิจพี่เยอะ (ตอบแทนพี่เสือจ้า)


แม้โลกนี้จะกว้างใหญ่ แต่ใจพี่ยังใหญ่กว่าโลก


โดย: หนอนไต่เชือก IP: 124.120.245.231 วันที่: 9 เมษายน 2552 เวลา:1:18:07 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

LittleTiger
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add LittleTiger's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.