เจาะลึกอาชีพแอร์ที่สาวๆใฝ่ฝัน

บทความนี้มาจาก Sarakadee.Com

แอร์โฮสเตส

เกษร สิทธิหนิ้ว : เรื่อง
ประเวช ตันตราภิรมย์ : ภาพ


Welcome onboard
"สวย ๆ อยู่ข้างในพี่ ไม่ได้เหมือนหนูทุกคน"
น้องส้มหน้าผี ยืนต้อนรับผู้โดยสารอยู่ตรงประตูเครื่องบิน แทนที่จะสวัสดีผู้โดยสารตามแบบแอร์โฮสเตสทั่วไป เธอเลือกจะทักทายด้วยลีลามัน ๆ ฮา ๆ ชนิดที่ใครเจอต้องจดจำไปอีกนาน
"ไม่สวยแต่เร้าใจพี่ อยากได้อะไรบอก ส้มจัดให้ แต่ถ้าต้องการสวย ๆ เดินในเลยพี่" เธอรู้ทันสายตาแบบนี้ ร้อยทั้งร้อยต้องนึกในใจว่าขี้เหร่อย่างนี้มาแอร์โฮสเตสได้ไง เลยชิงตอบก่อนหันไปปล่อยประโยคเด็ดกับผู้โดยสารหน้าใหม่ที่ทยอยขึ้นเครื่องมาทีละคน
"ส้มหน้าผี" เป็นฉายาที่คนอื่นตั้งให้ เจ้าตัวจะรู้หรือเปล่าไม่รู้ แต่ลูกเรือเกือบทั้งบริษัทรู้ดี ใครๆ ก็อยากร่วมงานกับเธอสักครั้ง จะได้รู้ว่ากลเม็ด "จัดการ" กับผู้โดยสารของเธอนั้นแปลกแหวกแนวอย่างที่ร่ำลือหรือเปล่า
ตอนนี้ผู้โดยสารขึ้นเครื่องและนั่งประจำที่เรียบร้อยแล้ว เป็นหน้าที่ของพวกเธอที่ต้องตรวจตราให้ทั่วก่อนว่าผู้โดยสารรัดเข็มขัดและปรับพนักเก้าอี้ให้ตรงหรือยัง ช่องเก็บสัมภาระเหนือศีรษะล็อคเรียบร้อยและจะไม่มีอะไรหล่นลงมาแน่ๆ
โบอิ้ง ๗๗๗ เคลื่อนตัวช้าๆ ไปตามรันเวย์ เสียงเครื่องยนต์ดังสนั่นหวั่นไหว เครื่องบินเคลื่อนไปข้างหน้าเร็วขึ้นเรื่อยๆ พาผู้โดยสาร ๓๐๐ กว่าชีวิต นักบินและลูกเรืออีก ๑๕ ชีวิตทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้ามืดมิด มุ่งหน้าสู่ลอสแองเจลีส มหานครแห่งความทันสมัย ห่างจากกรุงเทพฯไปกว่า ๒,๐๐๐ ไมล์
ค่ำคืนนี้ยังอีกยาวไกล และงานของพวกเธอเพิ่งจะเริ่มต้น..............................................
โบอิ้ง ๗๗๗ ไต่ระดับความสูงมาถึง ๓ หมื่นฟิต แอร์โฮสเตสสาวเริ่มบริการเครื่องดื่ม อาหารชุดใหญ่และของว่างนานาชนิดถูกลำเลียงออกมาจากครัวครั้งแล้วครั้งเล่า อาหารมื้อใหญ่ผ่านไปอย่างเรียบร้อย ผู้โดยสารหลายเชื้อชาติกำลังจะเอนเบาะพักผ่อน
"ว้าย !!" ผู้เห็นเหตุการณ์หวีดร้องขึ้นมาสุดเสียง เมื่อชายฉกรรจ์คนหนึ่งลุกพรวดขึ้นกระชากตัวแอร์ จ่อปืนไปที่ขมับและลากตัวไปหน้าห้องโดยสารอย่างรวดเร็ว
"ทุกคนเงียบ !!" ชายร่างใหญ่อีกคนลุกขึ้น เดินถือปืนไปรอบๆ ห้องโดยสารเป็นเชิงขู่ ก่อนจะหันหลังมุ่งตรงไปยังห้องนักบินทันที
โบอิ้ง ๗๗๗ กำลังถูกไฮแจกต์ !
ชั่วขณะโกลาหล แอร์โฮสเตสคนหนึ่งอยู่ในห้องน้ำ เธอได้ยินเหตุการณ์ทั้งหมดและพอจะเดาได้ว่าเกิดอะไรขึ้นข้างนอก เธอตั้งสติ ก่อนจะย่องออกมาจากห้องน้ำ หยิบขวดไวน์ในครัวถือไว้แน่น ค่อยก้าวเท้าเขยิบเข้าไปใกล้ ๆ รวบรวมความกล้าทั้งหมด ฟาดขวดไวน์ตรงท้ายทอยชายคนนั้นทันทีที่ได้โอกาส

แอร์ฯ ตัวประกันตั้งสติรอท่าอยู่แล้ว เธอใช้ข้อศอกกะทุ้งไปที่ท้องน้อยของผู้ร้ายเต็มแรง พลิกข้อมือข้างที่ถือปืนกลับไปข้างหลัง ใช้สันมืออีกข้างฟาดเต็มแรงไปที่คอหอยอย่างที่ได้รับฝึกฝนมาอย่างดี ก่อนที่สจ๊วตอีกคนจะรีบมาล็อคตัวไว้ ทุกอย่างเกิดขึ้นภายในเสี้ยววินาที
ผู้โดยสารปรบมือลั่น พลันนึกขึ้นได้ว่า ยังมีผู้ร้ายอีกคนอยู่บนเครื่องบินลำนี้ !!
ยังไม่ทันจะรู้ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อ ภาพหน้าจอก็ดับวูบลง--
"พวกเธอคิดว่าในสถานการณ์จริง ๆ จะทำอย่างนี้ได้ไหม" ครูฝึกถามนักเรียนที่กำลังจะออกไปปฎิบัติหน้าที่ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า แน่ละ ไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ แต่แอร์โฮสเตสและสจ๊วตทุกคนจะได้รับการฝึกฝนให้พร้อมที่จะรับสถานการณ์เหล่านี้ได้ทุกเมื่อ
แต่เหตุการณ์แบบนี้ใช่ว่าจะเกิดขึ้นง่าย ๆ เราจึงไม่ค่อยได้เห็นพวกเขาในบทบาทบู๊ๆกันสักเท่าไร
เมื่อพูดถึงแอร์โฮสเตส เราเห็นแต่ภาพสาวสวย หนุ่มหล่อ แต่งตัวเนี้ยบตั้งแต่หัวจรดเท้า คอยเดินเสริฟอาหาร ชา กาแฟบนเครื่องบิน
"คนใช้บนเครื่องบิน แจ๋วลอยฟ้า สาวเสริฟดี ๆ นี่เอง" เราคงเคยได้ยินคนพูดทำนองนี้ หรือเคยคิดแบบนี้ด้วยซ้ำ
แต่ "สิ่งสำคัญไม่อาจเห็นด้วยตา" ฉันใด สิ่งที่เราเห็นบนเครื่องบินก็ไม่อาจบอกเล่าความจริงของเหล่าแอร์โฮสเตสและสจ๊วตทั้งหลายได้ฉันนั้น




ครั้งแรกของเอแลน เชอร
ถ้าเราถือเอแลน เชอชเป็นต้นแบบแล้วละก็ อาชีพแอร์โฮสเตสที่เราเห็นตอนนี้ ต่างกันลิบลับกับสิ่งที่เธอทำเมื่อ ๖๐ กว่าปีที่แล้ว
ราว พ.ศ. ๒๔๗๐ สายการบินยูไนเต็ด ของสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นสายการบินแรกของโลก (กำเนิดขึ้นจากการทำธุรกิจขนส่งวัสดุทางอากาศเมื่อปี ๒๔๖๙) เริ่มทดลองให้มีเดินทางโดยเครื่องบินนั้น เครื่องบินยังไม่ได้มีความสะดวกสบายใด ๆ ผู้โดยสารต้องนั่งรวมไปกับกองวัสดุภัณฑ์อย่างทุลักทุเล บางคนเมาเครื่องบิน อาเจียน ผู้โดยสารต้องช่วยกันดูแลไปตามยถากรรม จนปี ๒๔๗๓ นายสตีฟ สติมสัน พนักงานของบริษัทโบอิ้งเกิดความคิดขึ้นมาว่า ระหว่างการเดินทางบนเครื่องบินนั้น น่าจะมีพยาบาลคอยดูแลผู้โดยสารไปด้วย และควรมีกาแฟและแซนด์วิชคอยบริการด้วย คำแนะนำของสติมสันเป็นผล กลางปี ๒๔๗๔ สายการบินยูไนเต็ดได้คัดเลือกพยาบาลทั้งหมด ๘ คนให้มาทำหน้าที่ดังกล่าว ทั้งหมดเป็นพยาบาลสตรีที่มีน้ำหนักประมาณ ๑๑๕ ปอนด์ (ราว ๕๒ กก.) และเป็นโสด
โชคดีของนางพยาบาลเอลเลน เชอช ที่ได้ขึ้นไปดูแลผู้โดยสารเป็นคนแรก ตลอด ๒๐ ชั่วโมงของเส้นทางบินซานฟรานซิสโก-ชิคาโก เครื่องบินต้องหยุดพักถึง ๑๓ แห่ง เอแลย เชอรมีหน้าที่ช่วยขนถ่ายกระเป๋าผู้โดยสารขึ้นเครื่อง ทำความสะอาดภายในเครื่องบินรวมทั้งที่นั่งผู้โดยสารด้วย ช่วยนักบินเติมน้ำมันและนำเครื่องบินไปจอด ณ โรงเก็บเครื่องบิน ระหว่างเที่ยวบินก็คอยบริการเครื่องดื่มและอาหาร และคอยระวังไม่ให้ผู้โดยสารไปเปิดประตูทางออกของเครื่องบินเพราะเข้าใจว่าเป็นประตูห้องน้ำ

สมัยนั้นยังไม่เรียกนางพยาบาลทั้งแปดคนนั้นว่า Air-Hostess แต่เรียกว่า stewardess ปี ๒๕๑๓ สายการบินยูไนเต็ดจึงรับพนักงานเป็นผู้ชายบ้าง แล้วธุรกิจการบินก็เริ่มเติบโต มีบริษัทใหม่ๆ ถือกำเนิดขึ้นมาแข่งขันกันมากขึ้น กลายเป็นธุรกิจที่แข่งขันกันอย่างดุเดือดเพื่อแย่งชิงกันเป็นหนึ่งในน่านฟ้า
"ทุกวันนี้เครื่องบินพัฒนามาไปเยอะแล้ว เทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยทำให้เครื่องบินรุ่นใหม่ๆ มีความทันสมัย มีระบบป้องกันความปลอดภัยที่มั่นใจได้ สายการบินต่างๆ จึงแข่งขันกันด้านการบริการมากกว่า" คุณสามารถ เกิดผล ผู้อำนายการฝ่ายบริหาร พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าว
แอร์โฮสเตส (air hostess) หรือแอร์สจ๊วต (air steward นิยมเรียกสั้น ๆ ว่าสจ๊วต) หรือบางสายการบินเรียกรวมๆ กันว่าไฟล์ทแอทเทนเดนท์ (flight attendant) มีความหมายเดียวกันคือพนักงานต้อนบนเครื่องบินที่คอยให้บริการเพื่อความสะดวกสบายและความปลอดภัยตลอดระยะเวลาการเดินทางบนเครื่องบิน
ทุกวันนี้ แอร์โฮเตสและสจ๊วตถือเป็นพนักงานฟรอนท์ไลน์ของบริษัทที่เป็นจุดขายและดึงดูดผู้โดยสารให้มาใช้บริการของบริษัท ดังนั้น สายการบินต่างๆ จึงให้ความสำคัญกับการสร้างภาพลักษณ์ให้พนักงานของตัวเองให้ดูดีและฝึกฝนให้ทำงานอย่างมีคุณภาพมากที่สุด
คงไม่เกินไปนัก หากจะกล่าวว่า นี่คืออาชีพในฝันของหนุ่มสาวจำนวนมาก ด้วยเหตุผลที่เหมือนๆ กันมาทุกยุคทุกสมัย นั่นคือเป็นอาชีพที่ดูดี โก้เก๋ ดูทันสมัย รายได้สูง แถมได้ไปเมืองนอกบ่อยๆ โดยไม่ต้องเสียสตังค์
แต่สิ่งที่เราพบอยู่เสมอก็คือ "ความฝันที่เป็นจริงแล้ว" มักจะซ่อนเร้นสิ่งที่เรานึกไม่ถึงเมื่อตอนมันยังเป็น "แค่ความฝัน" เอาไว้เสมอ




ชีวิตที่ไม่เหมือนเดิม
"ถ้าเลือกที่จะทำอาชีพนี้แล้ว ก็เตรียมใจไว้เลยว่า ตั้งแต่นี้ไปชีวิตจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป" แอร์โฮสเตสรุ่นใหญ่สายการบินแห่งหนึ่งบอกอย่างมั่นใจ ว่าตามจริง ไม่ว่าก้าวเข้าไปทำอาชีพอะไร ย่อมจะมีความเปลี่ยนแปลงเรื่องธรรมดา แต่อะไรทำให้เธอกล้าฟันธงอย่างนั้น

"เราไม่มีเวลาทำงานที่แน่นอนตายตัวเหมือนอาชีพอื่นทั่วไป เพราะฉะนั้นจะมากะเกณฑ์เอาความแน่นอนกับชีวิตไม่ได้" นี่คือสิ่งแรกที่เห็นได้ชัดเจน แอร์โฮสเตสและสจ๊วตทำงานตาม schedule เรียกสั้นๆ ว่าเสก็ด หมายถึงตารางการบินที่บริษัทจะออกให้เป็นรายปี และจะได้รับอีกครั้งทุกสิ้นเดือน แต่ละคนจะต้องทำงานอย่างน้อย ๗๒ ชั่วโมงต่อเดือน (๑เสก็ดบิน) ลาหยุดได้ปีละ ๓๐ วัน ใครขยันอยากได้เงินเยอะๆ อยากทำงานมากกว่าที่บริษัทกำหนดให้ให้ก็ไป request หรือขอบินแทนพนักงานที่ลาป่วยกะทันหัน โดยต้องไปขึ้นชื่อเป็น SB (Standby) ไว้ก่อน SB ต้องพร้อมบินตลอด ๒๔ ชั่วโมง นั่นหมายความว่าจะไปไหนไกลๆ ไม่ได้ และต้องมีกระเป๋า เสื้อผ้า รองเท้า อุปกรณ์การบินทุกอย่างติดรถไปไหนมาไหนด้วย พอบริษัทเรียกปุ๊ป จะต้องมาได้ทันที
"วันนี้อาจจะไปบินบ่าย ๓ โมงกลับมาอีกทีเที่ยงคืน นอนอยู่สบายๆ ตีสองคุณต้องตื่นขึ้นมาอาบน้ำแต่งตัวออกไปบิน ไม่มีหยุดเสาร์อาทิตย์ ไม่มีหยุดเทศกาล เพราะช่วงไหนที่คนหยุดกันเยอะๆ นั่นจะเป็นช่วงที่เรางานหนักที่สุด ตอนได้เป็นสจ๊วต แม่บอกว่า ต่อไปคงไม่ค่อยได้เจอกัน แต่ปรากฏว่าได้เจอกันบ่อยมากกว่าเดิมอีก เพราะเวลาว่างเราเยอะขึ้นแต่ไม่ตรงกับคนอื่นเท่านั้นเอง" สจ๊วตหนุ่มสายการบินไทยหล่อกล่าว
ดูตามสเก็ดอาจจะดูเหมือนทำงานกันแค่เดือนละ ๗๒ ชั่วโมง แต่จริงๆ แล้ว "งาน" ของพวกเขาเริ่มต้นก่อนเครื่องบินออกหลายชั่วโมงทีเดียว
"ลูกเรือต้องมาเช็คอินที่ศูนย์ลูกเรือก่อนเวลาที่เครื่องออก ๒ ชั่วโมง สมมุติต้องไปบินเที่ยว ๗.๐๐ น. เราต้องตื่นแต่ตี ๓ อาบน้ำ แต่งตัว แต่งหน้า ทำเล็บ ทำผม ออกจากบ้านก่อนตี ๔ ครึ่ง ถ้าเป็นช่วงที่รถติด ก็ต้องเผื่อเวลาเยอะๆ เพื่อให้มาถึงที่ศูนย์ลูกเรือก่อนตี ๕ การตรงต่อเวลาเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถ้ามาสายถือเป็นความบกพร่องอย่างยิ่งŽ
ลูกเรือที่กำลังจะไปบินต้องต้องมาเช็คอินที่ศูนย์ลูกเรือ ( Crew Center) ก่อน ตอนรูดบัตรจะมีพนักงานที่ทำหน้าที่เหมือนอาจารย์ฝ่ายปกครองคอยตรวจความเรียบร้อยอย่างละเอียด ไล่มาตั้งแต่ เสื้อผ้า รองเท้า ทรงผม แต่งหน้า ทาเล็บ ฯลฯ
"พี่แพ้น้ำยาทาเล็บ ทาเล็บไม่ได้ บริษัทเรียกไปคุยว่าเรามีปัญหาเรื่องบุคลิคภาพ แต่งกายไม่ถูกระเบียบ เราเอาใบรับรองแพทย์ไปยืนยันว่าดิฉันทาไม่ได้จริงๆ ค่ะ เป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่ง แต่ทางบริษัทไม่ยอม ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาบุคลิกภาพ ตอนนี้ยังทะเลาะกันไม่เลิกเลยกับเรื่องทาเล็บไม่ทาเล็บเนี่ย" แอร์โฮสเตสสายการบินแห่งหนึ่งเล่าอย่างเหลืออดในกฎระเบียบบางอย่างของบริษัท

"พอสวมชุดแอร์ฯ ปุ๊ป อยู่ในยูนิฟอร์มของบริษัทแล้ว เราไม่สามารถทำอะไรบางอย่างที่เราเคยทำตอนปกติได้ จะไปยืนซื้อก๋วยเตี๋ยว นั่งโซ้ยข้าวต้มข้างทางไม่ได้เด็ดขาด แท็กซี่ได้แต่ห้ามนั่งรถเมล์ ไปบินกลับมาจะแวะห้างไปซื้อของหน่อยทั้งยูนิฟอร์มก็ไม่ได้ ผิดระเบียบบริษัท ถ้าใครไปเจออาจจะถูกรายงานได้" แอร์โฮสเตสและสจ๊วตเป็นเหมือนภาพลักษณ์ของบริษัท เพราะฉะนั้น เมื่อไรก็ตามที่เอาชุดบริษัทเขามาสวม จะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบด้วย
หลังจากเช็คอินแล้วลูกเรือจะไปห้องบรีฟวิ่งรูม ทุกคนจะรู้ว่าไฟล์ทที่กำลังจะไปบินนั้นผู้ร่วมงานเป็นใครบ้าง ทำการบินทุกครั้งต้องมี กับตัน นักบิน ผู้ช่วยนักบิน แอร์เพอร์เซอร์ ( Air-Purser หัวหน้าลูกเรือ) ไอเอ็ม ( In-Flight Manager- ผู้จัดการเที่ยวบิน ในกรณีที่เป็นเครื่องบินลำใหญ่ บินระยะทางไกล เที่ยวบินนั้นจะมีทั้งเพอร์เซอร์ทำหน้าดูแลส่วนของการบริการ และมีไอเอ็มที่ดูแลเรื่องความเรียบร้อยของทั้งส่วนบริการและความปลอดภัย ) ไอเอ็มและเพอร์เซอร์จะบอกว่า เที่ยวบินนี้มีผู้โดยสารทั้งหมดกี่คน อยู่ชั้นหนึ่งกี่คน ชั้นธุรกิจ และชั้นประหยัดกี่คน มีผู้โดยสารวีไอพีหรือไม่ มีคนชรา คนป่วย เด็ก หรือไม่ มีการวางแผนคร่าวๆ ว่าใครอยู่ตำแหน่งไหน ทำหน้าที่อะไรบนเครื่อง ถ้าเป็นเที่ยวบินมหาโหดก็ต้องมีการวางแผนรบกันหน่อย ว่าจะบริการอาหารอะไรก่อนหลัง เตรียมรับมืออย่างไร
พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินของสายการบินฝรั่งส่วนใหญ่จะไม่มีการแบ่งเป็นแอร์โอสเตสและสจ๊วต แต่จะเรียกรวมๆ ว่า Flight Attendant ทุกคนสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เหมือนกันหมดไม่ว่าหญิงหรือชาย แล้วแต่ใครสมัครใจจะทำหน้าที่ใดในเที่ยวบินนั้นๆ แต่การบินไทยแบ่งการทำงานของแอร์ฯและสจ๊วตเป็นส่วนๆ คือ สจ๊วตทำหน้าที่หลักในครัวเพื่อเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อส่งต่อให้กับแอร์โฮสเตสนำออกไปบริการผู้โดยสาร ก่อนขึ้นเครื่องทุกครั้ง ต้องมีการทดสอบเรื่องความปลอดภัยก่อน เช่น
"ผู้โดยสารช็อคบนเครื่องบินทำอย่างไร"
"ถ้าต้องนำเครื่องลงกลางทะเลต้องทำอะไรก่อน"
"อุปกรณ์ดับเพลิงอยู่ตรงไหน"
ใครตอบไม่ได้อาจะต้องถูกส่งไปเรียนเรื่องความปลอดภัยกันใหม่ เพราะถือว่าไม่พร้อมที่จะปฏิบัติงาน
เสร็จทุกอย่างในบรีฟวิ่งรูม ลูกเรือทยอยไปขึ้นรถบัสที่จอดรออยู่แล้วเพื่อไปขึ้นเครื่องที่สนามบินดอนเมือง ลูกเรือต้องขึ้นเครื่องก่อนเครื่องบินออก ๑ ชั่วโมงเพื่อเช็คความเรียบร้อยของอุปกรณ์ต่างๆ ตามตำแหน่งที่ได้รับมอบหมาย หากพบสิ่งใดสูญหาย บกพร่อง ต้องรายงานต่อผู้รับผิดชอบทันที ที่สำคัญ ต้องไม่ลืมสำรวจความเรียบร้อยของตัวเองก่อนที่ผู้โดยสารจะทยอยมาขึ้นเครื่องด้วย
ประตูเปิด ทุกคนประจำหน้าที่ของตัวเอง บ้างก็ยืนต้อนรับอยู่หน้าประตู บางคนก็พาไปยังที่นั่ง ตรวจความเรียบร้อยของช่องเก็บสัมภาระ ดูแลผู้โดยสารทุกคนให้รัดเข็มขัด ปรับเก้าอี้ให้ตรง ก่อนเครื่องบินจะทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า
จากนี้ไปจนกว่าจะถึงที่หมาย ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แอร์โฮสเตสและสจ๊วตจะต้องรับสถานการณ์ให้ได้ ถ้าเราไม่เคยเป็นแอร์ฯ ไม่เคยเป็นสจ๊วตก็คงนึกไม่ถึงว่าอยู่บนฟ้าจะมีเรื่องราวที่คิดไม่ถึงได้ขนาดนั้น




ร้อยแปดวิธีรับมือผู้โดยสาร
Customer is a King / Passenger come first คือสิ่งที่ลูกเรือต้องท่องเอาไว้ในใจ แม้ว่านโยบายของสายการบินส่วนใหญ่จะบอกว่าไว้ดิบดีว่า "พนักงานต้อนรับไม่ใช่คนใช้ แต่เราคือ Host - เจ้าของบ้านที่ต้องคอยดูแลความปลอดภัยและสะดวกสบายให้ผู้โดยสาร" ถ้าถือตามนี้ แอร์โฮสเตสและสจ๊วตอาจไม่จำเป็นต้องเอาอกเอาใจและยินยอมให้ผู้โดยสารในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องก็ได้
แต่มันมักจะไม่เป็นอย่างนั้น.....
ไปดูกันดีกว่า ว่าปัญหายยอดฮิตที่ไม่ว่าลูกเรือของสายการบินไทย จีน แขก ฝรั่ง จะต้องเจอเสมอๆ มีอะไรบ้าง และพวกเธอมีวิธี "ปราบ" ผู้โดยสารตัวแสบทั้งหลายด้วยวิธีไหนกันบ้าง
"ที่สั่งก็ไม่กิน ที่จะกินดันไม่สั่ง" นี่คือปัญหาที่เบๆ มาก ( เบๆ = Basic เป็นภาษาที่แอร์ฯเขาใช้กัน แปลว่าธรรมดามาก ต้องเจอกันทุกไฟล์ท ถ้าไฟล์ทไหนไม่เจอ แอร์ฯแทบจะยกบริษัทไปทำบุญกันเก้าวัดเจ็ดวัดเลย) รวมๆ ก็คือเรื่องอาหารการกินนั่นเอง
"กินมังสวิรัส ก็ไม่แจ้งล่วงหน้า ขึ้นเครื่องมาไม่มีให้ ก็โกรธ ก็แหม..ไม่ใช่ร้านอาหารตามสั่งนี่ ถ้าทำได้ก็จะทำให้เดี๋ยวนั้นแหละ เราต้องไปหาที่ครัวอื่นให้ ถ้าไม่มีจริงๆ แต่ผู้โดยสารยืนยันจะกินให้ได้ เอาอาหารกล่องนั้นแหละกลับเข้าครัว เขี่ยเนื้อออกซะ เอาออกไปให้ใหม่" โชคดีนะคะ ที่ผู้โดยสารท่านหนึ่งสั่งไว้แต่เปลี่ยนใจ ก็เลยเหลืออาหารมังอยู่หนึ่งที่สำหรับคุณพอดี คราวหลังกรุณาแจ้งพนักงานของเราตอนจองตั๋วเลยนะคะ เราจะได้เตรียมอาหารพิเศษไว้ให้ž เท่านั้นแหละ เขาก็จะปลื้มมาก"

"ไฟล์ทอินเดียเนี่ยสุดยอด ประเทศเขามีหลายศาสนา แต่ละศาสนาก็จะมีข้อห้ามต่างๆ กัน จะมีคนสั่งอาหารพิเศษมากที่สุดผู้โดยสาร ๒๐๐ กว่าคน อาหารพิเศษปาไป ๑๐๐ กว่าที่แล้ว สจ๊วตจะเหนื่อยมากเพราะต้องไปคอนเฟิร์มว่าอาหารพิเศษอันนี้ หมายเลข(ที่นั่ง)นี้สั่ง แต่ท่านผู้โดยสารก็จะชอบเปลี่ยนที่นั่งมั่วไปหมดเวลาเสริฟต้องออกอาหารพิเศษก่อน คนสั่งนั่งหมายเลขอะไรเป็นต้องเสริฟตามที่นั่ง พอจะกินหาตัวไม่เจออีก ของใครวะ เมื่อกี้ยังอยู่แล้วพอถึงเวลาจะกินย้ายไปไหนแล้วล่ะ ไฟล์ทอินเดียจะเป็นอะไรที่โกลาหลสุดๆ"
"สมมติมีอาหารสองอย่างให้เลือก ผัดไทย กับ ข้าวหมกไก่ ผู้โดยสารข้างหน้าเลือกผัดไทยไปหมดแล้ว คนหลังๆ ก็เหลือแต่ข้าวหมกไก่ บางคนก็ไม่ยอมท่าเดียว ฉันจะกินผัดไทย เธอต้องไปหามาให้ได้ เราทำไงละก็มันไม่มีแล้ว บางทีก็ต้องไปดูในครัวของชั้นธุรกิจ หรือของเฟิร์สคลาสว่ามีบ้างไหม"
"ฟรอยด์ที่ปิดกล่องอาหารมันเปิดแค่นี๊ดดด..นึง นิดเดียวจริงๆ นะ บางคนไม่ยอมกิน บอกว่าอาหารเราไม่สะอาด เราอธิบายว่ามันเปิดออกมาตอนเรายกออกมาจากคาร์ดอาหาร(รถเข็น)จะส่งให้เขานั่นแหละ เขาก็ไม่ยอมต้องไปเอาอันใหม่ให้เขา เผอิญนั่นเป็นกล่องสุดท้ายแล้ว เราก็ทำเป็นเดินเอาไปเปลี่ยนในครัว จัดการปิดฝาที่เปิดลงมาซะ แค่นี้ก็ดูไม่ออกแล้วว่าเป็นกล่องเดิม"
"บางที เรื่องกินไม่ได้สำคัญอะไรนอกจากเขาอยากรู้สึกสำคัญ ไม่มีไก่กินเป็นเรื่องใหญ่สำหรับฉันนะ แต่ปัญหาหลักไม่ใช่ไก่หรอก เอาลูกเรือ ๓ คนผลัดกันไปนั่งฟังเขาบ่นเท่านั้นจบ" นี่เป็นวิธีจัดการแบบฉบับแอร์โฮสเตสรุ่นลายครามที่ใช้ได้ผลเสมอมา
ถูกลวนลาม -- "สมัยก่อนบินตะวันออกกลาง ไอ้พวกนี้มันพร้อมจะออกจากประเทศมันมาลกมกจกเปรตอยู่แล้ว อยู่บ้านเขาทำไม่ได้ แต่มาที่นี่มันทำได้ พอขึ้นเครื่องปุ๊บเอาเลย จับก้นเราโดนแน่ๆ" ถ้าเป็นแอร์รุ่นเด็กก็จะหันไปแว๊ดๆ บางคนหนักหน่อยก็วิ่งปิดหน้าร้องให้ไปฟ้องเพอร์เซอร์ แต่ถ้าเป็นแอร์รุ่นเก๋าหน่อยละก็ "Don't touch me, everything else belong company but my body belong to me don't touch me again" ถ้ายังไม่รู้เรื่อง แอร์ฯรุ่นใหญ่ใจกล้าก็ใช้กำลัง ตบฉาดทันที
ปัญหารองเท้ามหากาฬ - ถ้ามีคนถอดรองเท้าส่งกลิ่นเหม็นตลบทั้งลำ ผู้โดยสารจะพึ่งใครได้ถ้าไม่ใช่แอร์โฮสเตส ถ้าคุณเป็นแอร์โฮสเตสคุณจะทำอย่างไร เท้าคุณเหม็นนรกแตกมากเลยค่ะ คนอื่นทนไม่ไหวแล้ว ใส่ซะเถิดนะคะ พูดอย่างนี้ก็คงไม่ได้ มีหวังโดนไล่ออก "รบกวนช่วยใส่รองเท้าเพื่อความปลอดภัยดีกว่านะคะ รองเท้าทำให้เกิดความเกะกะต่อการทำงาน อาจทำให้เกิดอันตรายได้ รบกวนใส่หน่อยนะยู โม้ๆ ไปเถอะ"
นี่แค่รองเท้าคู่เดียว แต่ถ้าผู้โดยสารที่ที่เราไม่ชินกับกลิ่นตัวของเขา (ที่แสนจะธรรมดาสำหรับเขา แต่สุดจะทนสำหรับเรา) มารวมอยู่ในที่เดียวกัน แคบๆ และอากาศไม่ถ่ายเท กลิ่นนั้นย่อมทบทวีคูณอย่างไม่ต้องสงสัย กรณีนี้ปัญหาไม่ได้อยู่ที่กลิ่น แต่อยู่ที่แอร์โฮสเตสและสจ๊วตต้องไม่ทำให้เรื่องกลิ่นเป็นปัญหา
ปัญหาเรือบดครูดหินโสโครก - จะมีเสียง "คร้อกกกก....คึ่กๆๆๆ คร้อกกก...คึ่กๆๆๆ" ดังขึ้นมาเป็นระยะ ถ้ามีโรงสีข้าวอยู่บริเวณนั้นด้วย ก็เป็นอันว่าไม่ต้องหลับไม่ต้องนอนกันพอดี เป็นหน้าที่ของแอร์โฮสเตสที่ต้องทำให้เรือบดและโรงสีข้าวหยุดทำงาน ดูเหมือนง่าย แต่จะทำอย่างไรไม่ให้เขาโกรธ เดินไปปลุกแล้วบอกว่า คุณคะ ช่วยเอียงตัวมาทางซ้าย ๓๐ องศาเพื่อให้ลิ้นไก่ของคุณวางอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมด้วยนะคะ ไม่ได้แน่ๆ วิธีก็คือ "เดินไปสะกิด excuse me เมื่อกี้เรียกหรือเปล่าคะ หรือทำอย่างไรก็ได้ให้ตื่นและเปลี่ยนท่า เผื่อจะดีขึ้น" ถ้าไม่ดีขึ้นสงสัยต้องเดินไปสะกิดกันทั้งคืนแน่

ผู้โดยสารแกล้ง - "หาว่าเราขโมยเชือกรองเท้า จะเอาเรื่องให้ได้ ฉันจะขโมยไปทำไมวะ ตอนนั้นเสริฟอาหารเสร็จหมดทุกอย่างแล้ว พวกเราพักกันที่ครัว ผู้โดยสารเดินมาโวยวายว่าเราเอาเชือกรองเท้าเขาไป ก็เดินหากันทั่ว วุ่นวายไปหมดกับเชือกรองเท้าเนี่ย ก็ไปเจอในห้องน้ำ สรุปว่าเขาดื่มไปเยอะแล้ว จะขอเติมเหล้าอีก พวกเราก็ไม่ให้แล้วเพราะเดี๋ยวเมาอาละวาด เขาไม่พอใจก็เลยแกล้งหาเรื่อง"
ปัญหาเรื่องผู้โดยสารดื่มเหล้าจนเมาแล้วก่อเรื่อง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำ เมาอาละวาด ชกกับผู้โดยสารด้วยกันเองบนเครื่องก็บ่อย ถ้าถึงขนาดใช้กำลัง ต้องพึ่งให้สจ๊วตหรือเพอร์เซอร์มาช่วยจัดการ การดื่มเหล้าบนเครื่องบินซึ่งมีออกซิเจนน้อย แอลกอฮอล์จะสามารถดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ง่ายกว่าปรกติ ทำให้เมาเร็วกว่าดื่มข้างล่าง แอร์โฮสเตสต้องระวังไม่ให้ผู้โดยสารดื่มเกินไป สายการบินบางแห่งมีเครื่องดื่มบริการผู้โดยสาร แบบ non stop service เพราะฉะนั้นแอร์ต้องหยุดผู้โดยสารก่อนที่เขาจะเมามายจนควบคุมสติไม่ได้ ก่อความเดือดร้อนรำคาญใจให้กับส่วนรวม
"บางคนเราก็ใช้ไม้อ่อน ทำไมยูดื่มเยอะอย่างนี้ พอเถอะ ฉันชักเป็นห่วงสุขภาพยูแล้วนะ คุยๆ ไปสักพัก ร้องให้ เริ่มระบาย "เมียไอที่อยู่เมืองไทยไม่เคยห่วงไออย่างนี้เลย ดูซิ อุตส่าห์บินมาหา มีผัวใหม่ไปซะแล้ว ไอจะทำยังไงดี " เราก็นั่งฟัง ปลอบได้ก็ปลอบไป สักพักก็หลับ"
"ถ้าเริ่มระรานคนอื่น ห้ามไม่ฟังก็ต้องใช้ไม้แข็ง จับมัดเลย ลูกเรือโดนถูกผู้โดยสารที่เมาทำร้ายบ่อยมาก สจ๊วตโดนชก พี่เคยโดนกัดข้อมือ ปล้ำกันจนเหนื่อยจับไปมัดเสร็จพอถึงเวลาอาหารเราก็ต้องไปนั่งหั่นใส้กรอกใส่ปากให้"

ไม่มีใครเข้าใจหัวอกแอร์ฯ - เพื่อความปลอดภัย (เป็นกฎของการบิน) แอร์โฮสเตสต้องเก็บของทุกอย่างเข้าที่ และอยู่สภาพปลอดภัยก่อนเครื่องจะร่อนลงจอด ถ้าเป็นไฟล์ทไกลๆ มีระยะเวลาทำการบินเกินชั่วโมงแอร์โฮสเตสก็จะไม่มีปัญหากับผู้โดยสารเรื่องเร่งให้กินยิกๆ
"ไฟล์ทโดเมสติค (ภายในประเทศ) เวลาที่บินจะสั้นมากประมาณ ๔๕ นาที ตัดเวลาที่เครื่องขึ้นเครื่องลงซึ่งทุกคนต้องนั่งรัดเข็มขัดประจำที่แล้ว เหลือเวลาเสริฟจริงๆ ไม่ถึง ๓๐ นาที ผู้โดยสารตั้งสองสามร้อย แอร์ฯ ไม่ถึง ๑๐ คน เสริฟกันแบบมือเป็นระวิงเลยเพราะมันเต็มไปด้วยการกิน ใจเราก็อยากจะบอก ว่าไม่ต้องกินก็ได้ค่ะ เอากลับไปกินที่บ้านก็ได้ มันแป๊บเดียว เราต้องรีบเก็บทุกอย่างให้เรียบร้อยก่อนเครื่องลงอย่างน้อย ๑๕ นาที ผู้โดยสารมักไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมเราต้องมาเร่งให้กินขนาดนั้น"
"แถวตะวันออกกลาง เราจะเจอผู้โดยสารที่เป็นแรงงานอพยพซึ่งเขาไม่ได้ขึ้นเครื่องบินบ่อยๆ ก็จะไม่คุ้นเคยกับอุปกรณ์บนเครื่อง บางทีเราต้องยืนอยู่หน้าห้องน้ำดูแลความปลอดภัยด้วย บางคนก็เดินออกมาจากห้องน้ำทั้งๆ ที่ยังไม่ได้รูดซิบกางเกง ไอ้นั่นยังห้อยโตงเตงก็เดินออกมาอย่างนั้นแหละ" แอร์โฮสเตสของการการบินแถบตะวันออกกลางเล่าประสบการณ์ที่เธอบอกว่าตอนนี้เธอชินซะแล้ว แถมคุยอีกว่า ตอนนี้รับได้หมดไม่ว่าจะเจออะไรพิสดารแค่ไหน
"บางคนไม่เคยใช้โถชักโครก ก็จะฉี่ทับๆ กันเปรอะไปหมด บางคนก็ฉี่ใส่อ่างล้างมือ ถ้าเป็นไฟล์ทจีน ไฟล์ทแขกเราต้องหมั่นไปดูห้องน้ำ ไม่งั้นเจอทองขึ้นมา แอร์ฯนี่แหละที่ต้องจัดการ"
"เขาห้ามสูบบุหรี่บนเครื่อง ก็ยังอุตสาห์แอบไปสูบในห้องน้ำ จนสัญญาณเตือนภัยดัง เราก็ตกใจนึกว่าไฟไหม้ ปรากฏว่าเป็นควันบุหรี่ พอเคาะประตูห้องน้ำ Sir, are you smoke? เขาเดินออกมาทั้งๆที่ยังใส่กางเกงไม่เสร็จ ไอ้นั่นห้อยโตงเตง เห็นกันจะๆ"
"บางคนเราถามไม่พูด แต่เดินเข้ามาหาเรา ยื่นหน้ามา อ้าปาก x ใส่หน้าเราเต็มๆ"
"อยู่ดีๆ ก็โวยวายลั่น ร้องโอ๊กๆๆ ขึ้นมา เอามือกุมคอตัวเองเหมือโดนตัวอะไรกัด เราก็ตกใจวิ่งไปดู ยูเป็นอะไร" - - คุณผู้อ่านเดาออกหรือเปล่าว่าผู้โดยสารคนนี้เป็นอะไร ?
เป๊บซี่กัดคอ มันซ่า ก็ไอไม่รู้ ไม่เคยกินนี่
อนิจจา ชีวิตลูกเรือไทยที่ไปเป็นแอร์โฮสเตสสายการบินแถบตะวันออกกลางอย่าง สายการบินแอร์มิเรส กัลฟ์แอร์ กาตาร์แอร์ ต้องได้เจอเรื่องแบบนี้กันทุกคน แรกๆ แทบจะไม่เป็นอันทำงานกันทีเดียว แต่ถ้าเข้าใจวัฒนธรรม และธรรมชาติของผู้โดยสารชาติต่างๆ แล้ว แอร์โฮสเตสก็จะเตรียมรับมือง่ายขึ้น ของอย่างนี้มันขึ้นอยู่กับชั่วโมงบินของแต่ละคนด้วย ว่าจะรู้ใจ รู้ทัน รู้ไต๋ผู้โดยสารแต่ละชาติแค่ไหน
"ถ้าเธอเผยความลับของเธอต่อสายลม เธอก็ไม่ควรติเตียนสายลม ในการที่มันเปิดเผยความลับนั้นต่อแมกไม้" -- คาริล ยิบราน เคยบอกอย่างนี้ เพราะฉะนั้นแอร์ฯ และสจ๊วตที่ให้ข้อมูลทั้งหลายก็มิควรตำหนิผู้เขียนที่เอาเรื่องที่ท่านเม้าท์ผู้โดยสารมาเปิดเผยแก่ผู้อ่าน แม้ว่ามันจะผิดจรรยาบรรณของแอร์โฮสเตสก็ตาม




เทอบูแลนซ์ ซะแล้นนน...

เครื่องบินสมัยนี้ สะดวกสบายและทันสมัยจนผู้โดยสาร (ซึ่งมีเบาะนุ่มๆ รองก้นอยู่ด้วย) แทบจะไม่รู้สึกถึงความสั่นสะเทือนขณะเครื่องบินลอยเท้งเต้งอยู่บนฟ้า แต่แอร์โอสเตสและสจ๊วตซึ่งเดินไปเดินมา ถ้าไม่ถือกาใส่ชากาแฟหนักไม่ต่ำกว่า ๒ กิโลกรัม ก็ต้องเข็ดคาร์ดใส่อาหารและเครื่องดื่มมาเต็มอัตราจะรู้ว่า พื้นเครื่องบินมันไม่ได้อยู่นิ่งให้เดินเหินไปมาได้สะดวก งานบริกการบนเครื่องบินจึงเหนื่อยล้าง่ายกว่าบนพื้นปกติ
ถ้าอยู่ๆ เครื่องบินสั่นหรือกระตุกขึ้นมาอย่างแรงโดยไม่มีการเตือน พวกเขามีสิทธิ์ได้รับอันตรายอย่างยิ่ง ถ้าทรงตัวได้ก็อาจจะแค่น้ำหก ล้ม กระแทกนิดหน่อย แต่บางคนโชคร้าย ถึงขนาดรถเข็นล้มทับขา หนักหน่อยก็แค่ลอยขึ้นไปกระแทกเพดานบิน แล้วหล่นอั๊กลงมา
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้กับแอร์โฮสเตส แต่จะไม่เกิดขึ้นกับผู้โดยสารหากจังหวะนั้น ไม่ลุกขึ้นเดินไปเดินมา

"ถ้าเทอบูแลนซ์หนักๆ เครื่องจะส่ายอย่างแรงเหมือนคลื่นยักษ์มา ทุกคนต้องนั่งอยู่กับที่ รัดเข็มขัด ไม่งั้นเราอาจจะจะลอยติดเพดานเหมือนเพื่อนเราเคยเจอ กาแฟร้อนๆ สาดโดนผู้โดยสาร แอร์ฯเจ็บตัว บริษัทก็ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลให้ผู้โดยสาร ถ้าเขาเข้าใจไม่ถือโทษก็ดี แต่บางคนก็ไม่เข้าใจ แต่เราก็ทำอะไรไม่ได้มากไปกว่านี้ เพราะการเทอบูแลนซ์มันไม่ใช่ความผิดของเรา" แอร์โฮสเตสสายการบินไทยเล่าเหตุเทอบูแลนซ์สดๆ ร้อนๆ ที่ฮ่องกงให้ฟัง

เทอบูแลนซ์ (Turbulence ) คือการที่เครื่องบินตกหลุมอากาศเพราะอากาศแปรปรวน เกิดเมื่อไรก็ได้ ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและความหนาแน่นของก้อนเมฆ ปรกติเรด้าจะจับสัญญาณได้ นักบินก็จะประกาศเตือนว่าอีกสักครู่เครื่องจะตกหลุมอากาศ เครื่องจะสั่นสะเทือนเล็กน้อยไม่ต้องตกใจ หรือว่าต้องนั่งรัดเข็มขัดและเก็บของให้ดี หากรู้ก่อนล่วงหน้าอย่างนี้มักจะไม่มีอันตราย แต่ถ้าเป็นแบบ tower turbulence คือมีก้อนเมฆที่เป็นรูปแท่งเหมือนหอคอยอยู่ข้างหน้า ซึ่งเรด้าจับไม่ได้จึงจะไม่มีสัญญาณเตือน ถ้าเครื่องบินบินผ่านจะรู้สึกเหมือนมีอะไรมาชน ตึ้ง!! เครื่องจะสะบัดอย่างแรง ข้าวของอาจกระจุยกระจายได้ เพราะฉะนั้น เวลาทำงานแอร์โฮสเตสต้องตระหนักว่า อย่าไว้ใจเรด้าทั้งหมด อาจจะมีทาวเวอร์ เทอบูแลนซ์รออยู่ข้างหน้าก็ได้
"เห็นฟ้าแลบแปลบๆอยู่ข้างนอกเราก็กลัวเหมือนกัน ท่องนะโมสุดฤทธิ์ แต่ปอดแหกให้ผู้โดยสารเห็นไม่ได้ ต้องทำให้เขามั่นใจว่ามันปลอดภัย อาจจะจับมือปลอบว่าเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ เดี๋ยวก็หาย เขาก็จะรู้สึกอุ่นใจขึ้น ทั้งที่บางทีเราก็รู้ว่ามันไม่ธรรมดาและเราก็กลัวเหมือนกัน"
ถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินจริงๆ เช่น ต้องเอาเครื่องลงจอดกะทันหัน แอร์โฮสเตสต้องรู้ว่าประตูมีทั้งหมดกี่ประตู ถ้าจอดบนพื้นใช้ประตูไหน ถ้าจอดบนผิวน้ำต้องเปิดประตูไหน ถ้าเกิดไฟไหม้ มีควัน ต้องทำอย่างไร สมตติว่าผู้โดยสาร ๓๐๐ กว่าคน ลูกเรือ ๘-๑๐ คน ต้องเอาเขาพร้อมตัวเองออกไปอย่างปลอดภัยให้ได้ภายใน ๑ นาทีครึ่ง หากก็ต้องช่วยชีวิตเบื้องต้น เช่น ผายปอด ปั๊มหัวใจ ทำคลอด ดามกระดูก ฯลฯ แอรโฮสเตสก็ต้องทำได้ด้วย กรณีที่อาการหนักจริงๆ เกินกำลังที่จะช่วยได้ก็สามารถประกาศหาหมอหรือพยาบาลที่อาจจะโดยสารมากับเที่ยวบินนั้น ส่วนใหญ่มักจะโชคดีมีหมอหรือพยาบาลอยู่ด้วยเสมอ แต่ถ้าไม่มีจริงๆ กับตันจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเอาเครื่องลงหรือไม่ และหากเป็นเหตุสุดสุดวิจัย ผู้โดยสารเสียชีวิตระหว่างการเดินทาง แอร์โฮสเตสก็ต้องทำหน้าที่เป็นป่อเต็กตึ๊ง จัดการห่อศพ มัดให้เรียบร้อย
"เราไม่มีตู้แช่เย็นก็ต้องใช้ผ้าห่มหลายๆ ชั้นพันศพไว้กันน้ำเหลืองซึมออกมา ระหว่างนั้นก็ติดต่อตำรวจสนามบินให้มารอรับ"

ด้วยเหตุนี้เองทั้งแอร์โฮสเตสและสจ๊วต จะต้องกลับไปเรียนเพิ่มเติมและทบทวนทั้งเรื่อง safety, emergency และ first aid ที่ศูนย์ลูกเรือทุกปี
เริ่มจะเห็นแล้วใช่ไหมว่า อาชีพนี้ไม่ได้สวยงาม เลิศหรู แตยังมีอะไรที่เราไม่รู้ และแม้แต่แอร์โฮสเตสเองก็ไม่รู้ว่าจะมีอะไรรอยู่ข้างหน้าบ้าง




อนาคตที่รออยู่ข้างหน้า

การต้องทำงานบนที่สูงซึ่งสภาวะอากาศไม่ปรกติ ทำงานไม่เป็นเวลา เวลากินก็ไม่ได้กิน เวลานอนก็ไม่ได้นอน แถมยังเดินทางข้ามทวีปเป็นว่าเล่น วันนี้อยู่กับอากาศร้อน พรุ่งนี้อยู่เมืองที่หิมะตก สิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเขามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ มากกว่าพวกเราที่ทำงานบนพื้นโลก คนที่ทำงานเป็นแอร์โฮสเตสมาได้สักระยะหนึ่งจะเข้าใจคำพูดว่าที่ "นี่คืออาชีพขายสุขภาพแบบผ่อนส่ง" ได้ดี

Jet lag คือ หรือภาวะเมาอากาศ ความอ่อนล้าของร่างกายหลังจากการบินเป็นระยะทางไกล ผ่านเขตแบ่งเวลาต่างๆ ทำให้ระบบร่างกายเกิดความสับสน รวนเร หรือน๊อคไปเลยนั่นเอง ปรกติถ้าเราเดินทางข้ามเขตแบ่งเวลา ๑ time zone เราต้องพักผ่อน ๑ วันให้ร่างกายได้พักฟื้นและปรับตัว
"ลูกเรือที่ปรับตัวไม่ได้ ไม่ชินอาจจะนอนไม่หลับ โดยเฉพาะเวลาไปบินไฟล์ที่เวลาท้องถิ่นของประเทศเขาต่างกับบ้านเรามากๆ จากงานวิจัยเบื้องต้นเราพบว่าลูกเรือ ๖๐ เปอร์เซ็นต์เจอปัญหาคุณภาพการนอนไม่ดี ทำให้ร่างการอ่อนล้าสะสม ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคอื่นๆ อีกมาก" ณนัควรรต บัวทอง ซึ่งทำกำลังทำงานวิจัยเกี่ยวกับปัญหาการนอนกับสุขภาพของอาชีพพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินกล่าว ในต่างประเทศมีงานศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบจากการทำงานของคนอาชีพนี้อยู่มากมาย แต่ในประเทศไทยแทบจะไม่มีการศึกษาอย่างจริงจังเลยก็ว่าได้ จากการวิจัยเบื้องต้นของคุณอัฐซึ่งเก็บข้อมูลโดยตรงกับเพื่อนร่วมอาชีพด้วยกันเองนั้นพอจะสรุปได้ว่า โรคที่เป็นเหมือนเงาติดตามแอร์โฮสเตสและสจ๊วตมีดังต่อไปนี้

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ - โดยมารยาทถ้าผู้โดยสารและแอร์โฮสเตสจะใช้ห้องน้ำพร้อมกัน แอร์โฮสเตสให้ผู้โดยสาร (ไม่ว่าคิวยาวเท่าไร) ก่อน ยิ่งถ้าเป็นไฟล์ทที่สับสนอลหม่านอย่างไฟล์ทอินเดีย อยากเข้าห้องน้ำแค่ไหนก็ต้องกลั้นไว้ สภาพการณ์เหล่านี้เองทำให้โรคนี้มาเยือนแอร์โฮสเตสกันถ้วนหน้า
กล้ามเนื้ออักเสบ -- เป็นปัญหาพื้นฐานที่แทบทุกคนจะได้เจอ เพราะต้องยกของหนัก กาของชากาแฟถือไว้นานๆ เป็นต้นเหตุของกล้ามเนื้ออักเสบ
โรคระบบทางเดินหายใจ เป็นหวัด -- การต้องอยู่กับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การบินข้ามทวีปบ่อยๆ ทำให้นอนไม่หลับ พักผ่อนไม่เต็มที่ เป็นผลให้ร่างกายอ่อนแอ ขาดภูมิคุ้มกัน รักจะทำอาชีพนี้ต้องรักดูแลสุขภาพและออกกำลังกายให้แข็งแรงพร้อมเผชิญกับสภาพอากาศที่ผีเข้าผีออกอยู่เสมอ เพราะถ้าเป็นหวัดขึ้นมาก็ไม่สามารถไปบินได้
โรคมะเร็ง -- ต่างประเทศมีการศึกษาพบว่า ลูกเรือมีโอกาสเป็นมะเร็งสูงมากกว่าคนอาชีพอื่นเพราะได้รับรังสีมากกว่าคนที่อยู่ข้างล่าง นอกจากนี้ เรื่องอาหารการกินที่ไม่มีสิทธิ์เลือกมากนักลูกเรือต้องพึ่งพาอาหารบนเครื่องที่ต้องเอาเข้าไมโครเวฟและยังทานแบบไม่เป็นเวลา การนอนที่ไม่สามารถกำหนดเวลาได้ ความเครียดจาการทำงาน ที่มีต้นเหตุจากทั้งผู้โดยสาร เพื่อนร่วมงาน หัวหน้า หรือแม้แต่ความเครียดเพราะต้องห่างบ้าน เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็งทั้งสิ้น

เซลล์สมองเสื่อม -- คนที่ทำงานในเครื่องบินซึ่งต้องอยู่ในที่ๆ มีปริมาณออกซิเจนน้อยกว่าปรกติ มีความกดอากาศที่ไม่ปรกติ ทำให้เซลล์สมองขาดออกซิเจน เป็นโรคขี้หลงขี้ลืมได้ง่าย
โรคระบบการย่อยอาหาร ( Gastro Internal Reflux ) -- ถ้าสังเกตดีๆ จะพบว่าแอร์โฮสเตสและสจ๊วตตอนอยู่บนเครื่องจะท้องป่องกันเป็นแถวๆ ทั้งนี้ มีสาเหตุจาก ความกดอากาศ การทานอาหารแบบรีบๆ ขณะปฏิบัติหน้าที่ทำให้อาหารไม่ย่อย และทานอาหารผิดเวลาอยู่เป็นประจำทำให้ท้องอืดท้องเฟ้อนั่นเอง
เยาวลักษณ์ นาคีสถิตย์ สมาคมพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ศึกษาเกี่ยวกับอาชีวะอนามัยของลูกเรือ ให้ข้อมูลว่า บนเครื่องบินนั้นเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคเพราะผู้โดยสารเดินทางมาจากทั่วสารทิศ เราไม่รู้ว่าใครเป็นโรคอะไรอยู่บ้าง แต่ต้องมาอยู่รวมกันในที่แคบๆ และภาวะอากาศไม่ปรกติทำให้เชื้อโรคต่างๆ วนเวียนอยู่ในนั้น
"อุบัติเหตุหรือความไม่ปลอดภัยในการทำงานมีสองแบบคือ unsafe action หมายถึงความไม่ปลอดภัยที่เกิดจากการกระทำของตัวเอง พูดง่ายๆ ว่าเกิดจากความประมาทนั่นเอง และ unsafe condition คือสภาพที่ไม่ปลอดภัย การทำงานบนเครื่องบิน มีความเสี่ยงตลอดเวลา ทั้งจากแรงสั่นสะเทือน ประตูต่างๆ สามารถเปิดเองได้ถ้าไม่ล๊อคให้สนิทจริงๆ เครื่องไม้เครื่องมือทีไม่เหมาะสม ทำงานในที่แคบ มีกับเวลาที่จำกัด เดี๋ยวก็ชนกัน เปิดของตู้นี้อาจจะตกลงหัวเพื่อนได้ นี่คือสภาพที่ไม่ปลอดภัย"
ดูเหมือนว่าคนในอาชีพนี้จะไม่ตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้กันสักเท่าไร สมาคมลูกเรือจึงเกิดขึ้นมาเพื่ออยากให้คนในวิชาชีพนี้ตะหนักในบทบาทและสิทธิของตัวเอง และสร้างภาพลักษณ์ให้กับสังคมทั่วไปได้เข้าใจว่า แอร์โฮสเตสไม่ใช่แจ๋วลอยฟ้า แต่งานของพวกเขาคือการดูแลความปลอดภัยของผู้โดยสาร
"ปัจจัยที่เป็นอันตรายกับการทำงาน มีทั้งเรื่องทางกายภาพเช่น แสง เสียง ความกดอากาศ บางทีพวกเราอยู่บนเครื่องจะพูดเสียงดังโดยไม่เราไม่รู้ตัว เรื่องสารเคมีที่เราใช้บนเครื่องบินเช่น สเปรย์และ ยาฆ่าแมลงทั้งหลาย อย่างไปประเทศอังกฤษ ออสเตรเลียฉีดยาฆ่าแมลง เพราะเขาไม่ให้แมลงต่างประเทศเข้าไป เราต้องเป็นคนฉีด เพราะฉะนั้นเราก็จะได้รับสารเคมีเหล่านี้สะสมอยู่ในร่างกาย เรื่องชีวภาพเช่น ไวรัส แบคทีเรีย เชื้อโรคต่างๆ ที่สะสมอยู่บนเครื่อง เรื่องอุปกรณ์การทำงานที่ไม่เหมาะ" แจ่มศรี สุกโชติรัตน์ นายกสมาคมพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าว
"แต่ทัศนคติในการดำเนินชีวิตของลูกเรือส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้คิดถึงเรื่องเหล่านี้มากนัก เขาอาจจะไม่ค่อยสนใจนักว่าอีกหน่อยตัวเองจะเจ็บป่วยจากการทำงานกับเครื่องไม้เครื่องที่ไม่ได้มาตรฐาน จึงไม่สนใจที่จะเรียกร้องให้บริษัทจัดหาอุปกรณ์ทำงานที่ได้มาตรฐาน ส่วนใหญ่ก็คิดแค่ว่างานนี้เงินเยอะ ทำแค่นี้ก็สบายแล้ว ไม่เห็นต้องเรียกร้องอะไรมั้งคะ" นายกสมาคมฯ กล่าว




นิ่งเป็นหลับ ขยับเป็นแดก แยกเป็นหลง งงเป็นเสียตัว

นี่คือสโลแกนของพวกเขาล่ะ แอร์ฯรุ่นพี่ทั้งหลายสอนน้องใหม่กับแบบนี้ ทันทีเครื่องบินแล่นลงจอดยังสนามบินเมืองที่เป็นจุดหมายปลายทางและส่งผู้โดยสารเรียบร้อยแล้ว รถของโรงแรมจะมารอรับแอร์โอสเตสและสจ๊วตไปพักที่โรงแรมที่บริษัทจัดหาให้เป็นที่พักประจำ ส่วนใหญ่จะเป็นโรงแรมที่ดีที่สุดในเมืองนั้น เพราะถือว่าบรรดาลูกเรือเหล่านี้เป็นหน้าเป็นตาของบริษัท (จะให้ไปพักโรงแรมโกโรโกโสได้อย่างไร)


มาถึงโรงแรมปุ๊บทุกคนจะได้รับค่าเปอร์เดียม แยกย้ายขึ้นห้องใครห้องมันอาบน้ำและหลับเป็นตาย ยกเว้นคนที่กลัวผี อาจจะไปขออาศัยนอนกับคนอื่น แต่ถ้าไม่มีใครสนิทพอจะขออาศัยนอนด้วยได้ ก็ต้องหาที่พึ่งทางใจอย่างอื่น
เพราะฉะนั้น โรงแรมไหนที่ลูกเรือไปพัก พนักงานทำความสะอาดก็จะพบเสมอว่า มีข้าวสารหล่นพื้นซึ่งทำให้เข้าใจผิดคิดว่าลูกเรือไทยทำผิดกฎโรงแรม แอบทำอาหารในห้องกันอีกแล้ว หารู้ไม่ว่ามันเป็นแค่ข้าวสารเสกเท่านั้น
"ลูกเรือไทยขึ้นชื่อย่างที่สุดเรื่องทำกับข้าวในโรงแรม ซึ่งบางแห่งเขาห้าม เวลาลูกเรือไปพักแล้วมีสัญญาณเตือนไฟไหม้ขึ้นมา เขาจะถามก่อนเลยว่ามีคนไทยหรือเปล่า"
หลังการบินหนึ่งไฟล์ทจะมีมินิมัมเรสว่าต้องพักอย่างน้อย ๑๑ ชั่วโมง ถึงจะบินไฟล์ทต่อไปได้ และหากบินข้ามโซนซึ่งเวลาต่างกัน ก็ต้องพักให้ร่างกายได้ปรับตัวหนึ่งวัย เพราะฉะนั้น คนที่บินยุโรปอาจจะมีเวลาพักอยู่ที่เมืองนั้น ๒-๓วัน โชคดีก็อาจจะได้อยู่๔-๕ วันถือว่าไปเที่ยวเปิดหูเปิดตาด้วย โรงแรมก็ไม่ต้องเสีย ค่าเบี้ยเลี้ยงก็มี นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ใครหลายคนอยากจะมาทำอาชีพนี้
ตามปรกติเวลาอยู่ที่โรงแรมจะมี Crew Room หรือห้องรวมในโรงแรมไว้ให้ลูกเรือของสายการบินต่างๆ ที่มาพักในโรงแรมนั้นได้มาพบปะสังสรรค์กัน กิจกรรมยามว่างมีตั้งแต่ ส่องพระ บางคนก็เอาอาหารที่ขนมาจากบ้านมาทำกินด้วยกัน หรือไม่ก็พากันออกไปเริงราตรี ชอปปิ้ง
"เวลาอยู่เมืองนอกจะเหงา ก็ต้องหาอะไรทำ เอาวีซีดีไปดูหนังบ้าง ก็มีความสุขกันตามอัตภาพ เวลาอยู่ที่โน่นทุกคนก็สนิทกัน เข้ากันง่าย แต่จบไฟล์ทก็อาจจะไม่ได้เจอกันอีกเลย บางทีอยู่เมืองนอกด้วยกันกอดคอกันเที่ยว ไม่รู้อีกกี่ปีจะได้มาเจอกันอีก ทุกไฟล์ทจะเปลี่ยนลูกเรือใหม่ หัวหน้างานใหม่ มีปัญหาอะไรก็ทิ้งมันไว้ที่สนามบิน ไม่ต้องเอากลับมาโรงแรม ไม่ชอบเพื่อนร่วมงานคนนี้ก็ทนหน่อย จบไฟล์ทก็อาจจะไม่เจอกันอีก ถ้าเราเป็นคนไม่คิดมาก ก็จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุข"
"เรารู้สึกว่าอาชีพลูกเรือเป็นชีวิตที่พิเศษ ถ้าหากรู้จักใช้โอกาสตรงนี้เพื่อความรู้ เพื่อการพัฒนาตัวเอง มีคนอีกจำนวนมากที่ไม่มีโอกาสอย่างเรา ได้ไปในที่แปลกๆ โดยไม่ต้องเสียสตางค์"
เมื่อถึงวันกลับ รถบัสคันเดิมจะมารอรับอยู่หน้าโรงแรม พาลูกเรือรวมทั้งกับตัน นักบิน เพอเซอร์ และไอเอ็มที่ร่วมขบวนมาด้วยกันกลับไปยังสนามบิน เพื่อปฏิบัติหน้าที่ของตัวเองอีกครั้ง




อาชีพขุดทอง

จะเรียกอย่างนั้นเลยก็ได้ เพราะรายได้ของคนอาชีพนี้สูงกว่าคนทำงานอาชีพอื่นๆ ในวัยเดียวกันหลายเท่าทีเดียว เพราะนอกจากจะมีเงินเดือนประจำแล้วยังมีค่าเปอร์เดี้ยม (Per diem) หรือค่าเบี้ยเลี้ยงของแต่ละเที่ยวบินที่จะได้รับทุกครั้งที่ไปบินอีกด้วย
ยกตัวอย่างสายการบินไทย เงินเดือนของแอร์โฮสเตสและสจ๊วตที่เพิ่งเริ่มงานจะอยู่ที่ประมาณ ๘,๕๐๐-๙,๕๐๐ บาท แต่จะมีค่าเปอร์เดียมซึ่งไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับว่าไปบินไฟล์ทไหน เฉลี่ยแล้วเดือนหนึ่งจะมีรายได้ประมาณ ๔๐,๐๐๐ -๖๐,๐๐๐ บาท เช่น ถ้าบินในประเทศจะได้เที่ยวบินละ ๑,๑๐๐ บาท บินภาคพื้นเอแปซิฟิก เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย จะได้ประมาณ ๔,๐๐๐ บาท ถ้าค้างคืนก็คูณจำนวนวันเข้าไป ยิ่งบินไกลเท่าไรเช่น ญี่ปุ่น ก็จะได้ประมาณ ๖,๐๐๐ - ๗,๐๐๐ บาทต่อคืน ถ้าไปสามคืนก็คูณเข้าไปเรียกว่าเงินเดือนกลายเป็นโบนัสเล็กๆ น้อยๆ ไปเลย
"เขาให้เงินเราเยอะในการไปบินแต่ละครั้ง เพราะชีวิตที่ต่างประเทศค่าครองชีพสูงมาก เขาให้เงินเราไปกิน ไม่ได้ให้ไว้ไปซื้อของ อยู่สต๊อคโฮมข้าวแกงจานละ ๘๐๐ บาท ดิฉันจะไม่หวงเรื่องกิน เพราะถือว่าเป็นเรื่องของสุขภาพ แต่จะประหยัดเรื่องอื่น เราไม่ฟุ้งเฟ้อ ใช้จ่ายเพื่อให้เรารู้สึกว่าเราได้สิ่งดีๆ กลับคืนมา บางคนยอมกินมาม่าเก็บเงินไว้ซื้อของแพงๆ ก็เป็นมะเร็งไป กินบะหมี่ ขี่เบ็นซ์ก็ช่วยไม่ได้"
นอกจากรายได้สูงแล้ว แอร์โฮสเตสและสจ๊วต ยังได้สิทธิ์ซื้อตั๋วเครื่องบินในราคาถูกมากๆ เช่น เดินทางภายในประเทศ กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ ไปกลับปรกติราคาตั๋ว ๓,๕๐๐ บาท แอร์ฯก็จะจ่ายแค่ ๓๕๐ บาทเท่านั้น ไปต่างประเทศ ยุโรป อเมริกาอาจจะเสียแค่ไม่กี่พันบาทแล้วแต่ว่าจะเป็นตั๋วแบบไหน คนในครอบครัวยังได้สิทธิ์ส่วนลดนี้อีกด้วย แต่จะลดเท่าไรขึ้นก็ขึ้นอยู่กับข้อตกลงของแต่ละสายการบิน แต่ส่วนใหญ่จะได้ในราคาที่ถูกมากๆ ถูกกว่ารถทัวร์หรือรถไฟด้วยซ้ำ
"สมัยก่อนอยากกินน้ำผลไม้ต้องไป โจฮันเนสเบิร์ก อยากกินลอดช่องต้องมากัวลาลัมเปอร์ โยเกิร์ตต้องไปแฟงค์เฟลิต มิวนิค ฟังดูแล้วโอเวอร์มาก แต่เหมือนกับว่าเราสามารถทำได้ ทำงานเหนื่อยแค่ไหนเราก็อยากจะทำชีวิตให้มีความสุขเท่านั้น เพราะฉะนั้นไม่เปลกเลยที่ งานหลักของแอร์ฯ ก็คือชอปปิ้งและหาอะไรกิน ถ้าเราไม่เปิดโลกด้านอื่น ไม่แสวงหาความรู้ ก็จะทำให้โลกทัศน์ต่อโลก ต่อสังคมแคบลงได้"แอร์โอสเตสน้องใหม่ให้ความเห็น
"สิ่งที่เราไม่มีคือการประกันความเสี่ยง เราอยู่ได้ด้วยเพอร์เดียม พวกบินยุโรป รายได้เฉลี่ยเดือน ๘๐,๐๐๐-๙๐,๐๐๐ แต่ฐานเงินเดือนประมาณ ๓๔,๔๖๐ ถือว่าน้อยสำหรับคนทำงานมาก ๒๐ กว่าปี ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับคนที่งานบริษัทอื่นๆ ทั่วไปทำงาน ๒๐ ปีเงินเดือนเขาจะเยอะกว่านี้ มีตำแหน่งหน้าที่มั่นคง ก้าวหน้ากว่าเยอะ" แอร์รุ่นเก๋าสายการบินไทยกล่าวและเล่าประสบการณ์ว่า การได้เงินเยอะนั้น ทำให้แอร์หลายคนเคยตัว ใช้ชีวิตอย่างประมาท ได้เงินมาปุ๊ปก็ซื้อของแพง ๆ เพราะคิดว่าเดี๋ยวไปบินก็ได้แล้วหมื่นสองหมื่น

"แต่ก็ไม่รู้ว่าเราจะได้ทำงานนี้ไปอีกนานแค่ไหน ตอนช่วงซาร์ ยกเลิก เราแทบจะไม่ได้ไปบินเลย เพราะยกเลิกเที่ยวบินไปเยอะ บอร์ดแลกไฟล์ทกลายเป็นบอร์ดประกาศขายบ้าน ขายรถไปเลย"
อดีตแอร์โฮสเตส สายการบินเลาด้าแอร์เล่าให้ฟังว่า ลูกเรือไทยเกือบ ๑๕ คนเพิ่งถูกปลดจากงานสดๆ ร้อนเพราะอยู่ ๆ บริษัทก็ไม่ยอมต่อสัญญาจ้างซึ่งเท่ากับว่าถูกปลดกลางอากาศ ต้องแพคกระเป๋ากลับมาอยู่กับบ้านที่ผ่อนค้างไว้อีกหลายล้านที่เมืองไทย
"ไปสมัครงานหลายที่ แต่บริษัทส่วนใหญ่จะมองว่า แอร์ฯทำอะไรไม่เป็นนอกจากเดินสวย ส่วนหนึ่งเราก็ต้องยอมรับว่าเราห่างจากงานเอกสารมานาน ไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์เพื่อทำงานจริงๆ จังๆ นอกจากเล่นเน็ต ดูหนัง แอร์ฯส่วนใหญ่เคยได้เงินเดือนเยอะ พอกลับไปทำงานในบริษัทได้เงินเดือนน้อย ก็ทนทำได้แค่สองสามเดือนก็จะลาออก บริษัทที่เคยมีประสบการณ์รับแอร์ฯเข้าทำงานก็จะเข็ด พอเราไปสมัครบ้าง เขาก็ไม่ค่อยเปิดโอกาสให้อีกแล้ว" นี่แหละคือทุกข์ของแอร์ฯ ที่ไม่ได้เป็นแอร์ฯอีกแล้ว ครั้นจะไปสมัครสายการบินอื่น ส่วนใหญ่ก็รับแค่อายุไม่เกิน ๒๖ ปี เพราะฉะนั้น จะว่าอาชีพนี้รายได้ดี แล้วมั่นคงก็พูดไม่ได้ซะทีเดียว
ลูกเรือไทยที่ไปทำงานกับสายการบินต่างประเทศซึ่งมีสัญญาการจ้างงานปีต่อปี และมีโฮมเบส(สถานีภาคพื้นดินของสายการบินต่างๆ) อยู่ต่างประเทศ ส่วนใหญ่จึงอยากจะย้ายมาทำงานกับสายการบินในประเทศแม้ว่าทำงานกับสายการบินอื่นจะมีรายได้สูงกว่าก็ตาม




แอร์ฯ นานาชาติ

ทุกวันๆ มีสายการบิน ๔๐ กว่าแห่งทั่วโลก ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมารับส่งผู้โดยสารที่สนามบินดอนเมือง กฎของการบินมีอยู่ว่า ถ้าสายการบินไหนไปเปิดเส้นทางการบินที่ประเทศใดก็ตาม จะต้องจ้างลูกเรือสัญชาตินั้นๆ ขึ้นไปทำหน้าที่บริการและดูแลผู้โดยสารในเที่ยวบินที่บินไปมาระหว่างประเทศนั้นด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อที่ว่าหากเกิดกรณีฉุกเฉิน ลูกเรือจากประเทศนั้นๆ จะสามารถสื่อสารกับผู้โดยสารที่เป็นคนเชื้อชาติเดียวกันได้ดีกว่า
ปัจจุบัน มีลูกเรือชาวไทย บินขึ้นไปปฎิบัติหน้าที่ร่วมกับแอร์โฮสเตสเชื้อชาติต่างๆ อยู่ใน ๔๐ สายการบินทั่วโลก หากสายการบินนั้นที่มีโฮมเบสอยู่ต่างประเทศ แอร์ฯก็ต้องไปประจำอยู่ที่ประเทศที่เป็นโฮมเบสนั้น ซึ่งแอร์โฮสเตสสัญชาติอื่นๆ ที่ทำงานกับสายการบินนั้นต้องมาใช้ชีวิตรวมกันที่นั่นด้วย
"เป็นอะไรที่สนุกมาก เราจะเห็นเลยว่าคนชาตินี้นิสัยเป็นอย่างนี้ กินอย่างนี้ เวลากลับบ้านกันทีก็จะเอาอาหารมาจากบ้านทำกินกันสนุกสนาน แอร์ฯต่างชาติจะชอบอาหารไทยมาก อยู่กันเหมือนพี่เหมือนน้อง" นี่เป็นประสบการณ์ดีๆ จากคนที่โชคดี แต่กับบางคนก็ไม่ใช่
"ต้องระวังนะ ดึกๆ จะมีผีตู้เย็น มันจะออกมาตอนทุกคนหลับหมดแล้ว โดยเฉพาะตู้เย็นของสาวไทย จะได้รับความนิยมมาก เพราะบ้านเราสุดแสนจะมีอาหารหลากหลาย กลับมากันทีก็ขนไปยกใหญ่ ถ้าไม่ระวังผีตู้เย็น รุ่งเช้าเราจะพบว่าไอ้ที่เราอุตส่าห์ขนมา อันตรธานหายไปหมดแล้ว"

นั่นเป็นเรื่องการใช้ชีวิตที่แต่ละคนต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ให้ได้กับสถานที่และผู้คนซึ่งไม่คุ้นเคย แต่สำหรับการทำงานกับสายการบินนานาชาติที่มีลูกเรือหลายสิบสัญชาติมารวมกัน ถือเป็นสีสันของชีวิตที่ทำให้ใครหลายคนเลือกที่จะทำงานกับสายการบินต่างประเทศ แม้ว่าต้องจากบ้านไปคราวละนานๆ และต้องทนกับอะไรบางอย่างที่ไม่ค่อยคุ้นเคย
"ทำงานกับสายการบินแขกต้องทำใจไว้เลย ว่างานหนัก x ถึกมาก ชนิดที่ว่า มือก็จับ ตีนก็ถีบ หัวก็ดัน ตอนแรกเราจะเหม็นมาก กลิ่นตีน กลิ่นเต่า เดินผ่านนิดหน่อยก็ไม่ได้ แต่สักพักก็ชินไปเอง แรกๆ เรารับพฤติกรรมของคนบางชาติไม่ได้ แต่ตอนหลังมองเป็นเรื่องขำซะ คิดว่านั่นเป็นธรรมชาติของเขา และก็จัดการไปตามนั้น"
"เอมิเรสต์เป็นสายการบินนานาชาติ มีแอร์มากกว่า ๘๗ สัญชาติ เวลาขึ้นเครื่อง เขาจะประกาศว่า ไฟล์ทนี้มีลูกเรือพูดได้กี่ภาษา บางทีไล่ไปมีถึง ๑๘ ภาษา จะเป็นไฟล์ทที่สนุกมาก บางไฟล์ทมีคนดำ มาจากเซาท์แอฟริกา จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ยิ่งเป็นไฟล์ที่รวมกันเยอะๆ จะสนุกมาก" แอร์โฮสเตสาวชาวไทยที่บินลัดฟ้าไปทำงานกับสายการบินเอมิเรสต์กล่าว
"เวลาที่เราไปทำงานกับคนต่างชาติ มันเหมือนกับเราแบกหน้าคนไทยอีกไม่รู้เท่าไรไปด้วย เราวางตัวอย่างไร คนอื่นก็จะมองว่าคนไทยเป็นแบบนั้น คนที่จะมาเป็นแอร์โฮสเตสคงต้องยอมรับทั้งข้อดีข้อเสียของอาชีพนี้ ถ้าเรารู้จักเก็บเกี่ยวสิ่งที่ดีกลับไป เราจะพบว่ามันให้ประโยชน์กับชีวิตเราหลายๆ ด้าน ไม่ว่าเราจะทำงานกับสายการบินไหน แล้วเราก็จะมีความสุข ที่สำคัญ ผู้โดยสารก็จะได้สิ่งที่ดีๆ จากเราด้วย"

ลูกเรือไทยคนหนึ่ง เขียนกลอนเล่นๆ แล้วเอามาโพสต์ให้อ่านกันบนเวปไซต์www.thaicabincrew.com ศูนย์รวมลูกเรือชาวไทยของทุกสายการบินไว้ว่า

"แม้ไม่ได้เกิดเป็นดอกซากุระ
ก็อย่ารังเกียจที่เกิดเป็นบุบผาพรรณอื่นเลย
ขอแต่ได้เป็นดอกที่งามที่สุดในพรรณของเรา
เขาฟูจิมีอยู่ลูกเดียว
แต่ภูเขาทั้งหลายก็หาไร้ค่าไม่
แม้มิได้เป็นซามูไร
ก็จงเป็นลูกสมุนของซามูไรเถิด
เราจะเป็นกัปตันกันหมดทุกคนไม่ได้
ด้วยว่าปราศจากลูกเรือแล้ว เราจะไปกันได้อย่างไร...
แม้มิได้เป็นแอร์การบินไทย
ก็จงเป็นแอร์แจลเถิด...
จะเป็นอะไรก็มิใช่ปัญหา สำคัญอยู่ที่ว่า
จงเป็นอย่างดีที่สุด ไม่ว่าเราจะเป็นอะไรก็ตาม"

"ฝรั่งบอกว่า You get, what you give ถ้าเราทำให้ผู้โดยสารมีความสุขได้ตลอดการเดินทาง เราถือว่าเราประสบความสำเร็จแล้ว"












Create Date : 19 กุมภาพันธ์ 2550
Last Update : 19 กุมภาพันธ์ 2550 2:27:27 น. 30 comments
Counter : 12885 Pageviews.

 
มาเยี่ยมบล็อกค่ะ เราก็เป็นแอร์ PG อยู่แปดปี
บินที่ PG ที่เดียวเหนียวแน่น
ตอนนี้ลาออกมาแต่งงานแล้วค่ะ

อ่านแล้วก็คิดถึ๊ง คิดถึง เมื่อครั้งเข็น cart เสริฟ์ในเคบินแคบๆ

ขอให้ Nice flight ทุกเที่ยวนะคะ


โดย: เอสเจ~* วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา:3:12:33 น.  

 
ขอบคุณค่ะที่นำมาฝากกันอ่าน


โดย: โอน่าจอมซ่าส์ วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา:4:21:55 น.  

 
ขอบคุณประสบการณ์ดีๆ ที่มีให้กัน


โดย: เสลาสีม่วง (เสลาสีม่วง ) วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา:8:12:10 น.  

 
ดีใจด้วยที่ได้ทำอาชีพในฝันของสาวๆหลายคนนะคะ (แย่จังที่พี่ไม่ใช่ เพราะกลัวเครื่องบินง่ะ)


โดย: LuckyMoby วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา:22:59:42 น.  

 
อ่านกันเพลินไปเลยค่ะหนูต่าย
เป็นยังไงมั่งคะตอนนี้ ท่าทางจะยุ่งเนอะ

รักษาสุขภาพด้วยนะคะ


โดย: ปลาทอง9 วันที่: 21 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา:0:34:07 น.  

 
เราก็รอ เทรนเหมือนกันยังไง ยินดีที่ได้รู้จักน้าจ้า


โดย: Lynn (lynn_clk ) วันที่: 21 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา:21:01:41 น.  

 
อ่านบล๊อคนู๋ต่ายเพลินเลย
ขอให้มีความสุขกับหน้าที่ใหม่นะจ๊ะ


โดย: Omiya วันที่: 23 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา:9:00:03 น.  

 
แม่เคยเอาให้อ่านตอนเป็นหนังสือสารคดีจ๊ะ เพราะเค้าไม่อยากให้เราเป็นแอร์ แต่ตอนนี้อ้อนวอนจนใจอ่อน เห็นดีเห็นงามด้วยแล้ว

ดีใจด้วยนะจ๊ะ
See you on Board ~


โดย: KiSs MoRe วันที่: 23 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา:11:32:02 น.  

 
ต่ายหายไปไหนแล้ว ยุ่งอยู่รึเปล่า คิดถึงนะ


โดย: white fox (ลยา ) วันที่: 24 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา:20:30:37 น.  

 
กะรี๊ดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดด


พี่ต่ายขา เอ๋เองนะ

น้อง รัฐศาสตร์ จุฬา

เพื่อน มาซาชิ


กะรี๊ดดดดดดดดดดดดด พี่ต่าย พรหมลิขิต ปะเนี่ยยยยยยย

เอ๋เปิดเว็ปไปมาแก้เบื่อ ดู Blogไปเรื่อยๆๆๆ
อยู่ดีๆๆก็มาเจอพี่ต่ายยยย

กะรี๊ดดดดดดดดดดด กี๊ดดดดดดดดดดดด ดีใจค่ะดีใจ

สงสัยพรหมลิขิต นะพี่นะ

ฮ่าๆๆๆๆๆ

มีไรโทรมาหาน้องได้ซำเหมอนะค่ะ คิดถึงนะค่ะพี่ต่าย

จุ๊บบบบบบบบบบบบบบบบบ


โดย: น้องเอ๋ เองจ้า IP: 210.86.215.238 วันที่: 14 มีนาคม 2550 เวลา:20:45:04 น.  

 
ได้เทรนด้วยกันจนได้ ดีใจจ้า


โดย: white fox (ลยา ) วันที่: 16 มีนาคม 2550 เวลา:10:52:12 น.  

 
นี่ บล๊อคเอ๋นะค่ะ

ไปเยี่ยมกันบ้างเด้อ


โดย: ae (aeka_cu89 ) วันที่: 20 มีนาคม 2550 เวลา:15:52:21 น.  

 
หนูต่ายเป็นไงมั่งคะ หายไปเลย

รักษาสุขภาพด้วยนะคะ


โดย: ปลาทอง9 วันที่: 4 เมษายน 2550 เวลา:2:36:48 น.  

 
น้องต่าย พี่หนิงแวะมาทักทายนะ หวังว่าคงจำกันได้เนอะ ช่วงนี้ฝึกงานแอร์ฯไปถึงไหนแล่ว ได้บินบ้างยังจ๊ะ คิดถึงนะ


โดย: mintny_n วันที่: 26 มิถุนายน 2550 เวลา:13:17:49 น.  

 
ว้าว น่ารักจัง


โดย: meaw_1985 วันที่: 29 มิถุนายน 2550 เวลา:13:10:24 น.  

 
อยากรู้จักพี่ต่ายจังเลยค่ะ ใช่คนที่เป็นแอร์ป่าวค่ะ หวานอยู่ที่แอลเอ พอดีว่าถ้าใครรู้จักแอร์ก็เมลล์มาบอกหวานหน่อยนะคะ หวานอยากรู้จัก อยากคุยธุระเรื่องหิ้วของค่ะ ส่งมาที่ vs_usa@hotmail.com ขอบคุณมากนะคะ


โดย: สวัสดีค่ะ IP: 76.167.165.156 วันที่: 14 กรกฎาคม 2550 เวลา:7:21:19 น.  

 
welcome back darling hehe
ก่อนไปก็มาอัพหน่อยนะ


โดย: bmyvalentine วันที่: 30 กรกฎาคม 2550 เวลา:21:13:14 น.  

 
โตขึ้นเราต้องเป็นให้ได้


โดย: ผู้อยากเป็นแอร์ IP: 203.148.249.158 วันที่: 7 สิงหาคม 2550 เวลา:20:28:37 น.  

 
ไม่มีอะไรที่เป็นการโกหก
แต่ถ้าไม่เชื่อ... ก็คงบังคับไม่ได้คับ


โดย: _ _" IP: 58.9.135.40 วันที่: 2 ตุลาคม 2550 เวลา:18:32:51 น.  

 
พี่ขามีเมลมั้ย

อยากคุยกะพี่อ่า

aDD มานะ sherbet.lemon@hotmail.com


โดย: sine IP: 125.24.43.173 วันที่: 2 ตุลาคม 2550 เวลา:22:33:19 น.  

 
ต้ะเอ๋ คิดตึ๋งจัง จรุ๊บส์

เมื่อไหร่เต็งกลับมาอ่ะ

ปล. นาโกยา ตะเอง นาโกยา


โดย: นุชศรี IP: 125.27.25.105 วันที่: 2 ธันวาคม 2550 เวลา:19:39:22 น.  

 
สวัสดีค่ะพี่ๆ น้องมีความใฝ่ฝันที่อยากจะเป็นแอร์โฮสเตส
อยากจะถามพี่ๆว่าน้องต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้างค่ะ
ตอนนี้น้องอายุ 20 เรียนบริหาร เอก การท่องเที่ยวค่ะ น้องสูง160 พอจะทำอาชีพนี้ได้มั๊ยค่ะ


โดย: TANTAN IP: 202.12.73.5 วันที่: 11 ธันวาคม 2550 เวลา:22:41:44 น.  

 
นอกเรื่องหน่อยจ้า!!
คือพี่สนใจอยากหาคนหิ้วของหน่ะคะ อยากคุยได้รายละเอียดนะค่ะ ไม่ทราบว่ารับไหมค่ะ

กะว่าจะทำเป็นรายได้เสริมอ่ะค่ะ
wow_kik@hotmail.com


โดย: jj IP: 125.25.45.214 วันที่: 22 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:2:01:05 น.  

 
เธžเธตเนˆเธ„เนˆเธฐเธ„เธทเธญเน€เธžเธทเนˆเธญเธ™เนเธญเธ™เธ™เนˆเธฐเธ„เนˆเธฐเธญเธขเธฒเธเน€เธ›เน‡เธ™เธชเธˆเนŠเธงเธ• เน€เธ„เน‰เธฒเธชเธญเธšเน‚เธ—เธญเธดเธ„เธœเนˆเธฒเธ™เนเธฅเน‰เธงเนเธ•เนˆเน€เธ„เน‰เธฒเธญเธฒเธˆเธฐเธˆเธฐเธญเธญเธเธชเธฒเธงเธซเธ™เนˆเธญเธขเน„เธกเนˆเธ—เธฃเธฒเธšเธงเนˆเธฒเน€เธ„เน‰เธฒเธˆเธฐเธชเธกเธฑเธ„เธฃเน„เธ”เน‰เธกเธฑเน‰เธขเธ„เนˆเธฐเธ•เธญเธ™เธ™เธตเน‰เน€เธ„เน‰เธฒเธญเธฒเธขเธธ 24 เธ›เธต เธˆเธšเธ„เธ“เธฐเน€เธ เธชเธฑเธŠเธจเธฒเธชเธ•เธฃเนŒ เธˆเธธเธฌเธฒ เธ•เธญเธ™เธ™เธตเน‰เน€เธ›เน‡เน€เธ เธชเธฑเธŠเธเธฃเธ—เธตเนˆเธฃเธž.เธเธฃเธธเธ‡เน€เธ—เธžเธ„เนˆเธฐเน€เธžเธทเนˆเธญเธ™เธซเธ™เธนเธญเธขเธฒเธเธฃเธนเน‰เธกเธฒเธเน€เธฅเธขเธ„เนˆเธฐ เน€เธ„เน‰เธฒเธชเธนเธ‡182 เธ™เน‰เธณเธซเธ™เธฑเธ 62 เธซเธ™เน‰เธฒเธ•เธฒเธ–เธทเธญเธงเนˆเธฒเธ”เธต


โดย: Anny IP: 118.172.246.230 วันที่: 29 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:23:34:02 น.  

 
พี่ค่ะเพื่อนหนูอยากเป็นสจ๊วตมากเลยค่ะ สอบโทอิกผ่านแล้ว แต่เค้าอาจจะออกสาวหน่อยค่ะ ตอนนี้เค้าทำงานเป็นเภสัชกรที่รพ.กรุงเทพอยู่ อายุ24ปี หน้าตาดี สูง182 น้ำหนัก62 จบคณะเภสัชศาสตร์ จุฬา สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดี เคยเป็นนัก้รียนทุนAFSไปที่อเมริกา ไม่ทราบว่าที่แอนกล่าวมาข้างต้นนั้นเพื่อนแอนพอที่จะสามารถลองไปสมัครที่การบินไทยได้มั้ยค่ะ




โดย: Anny IP: 118.172.246.230 วันที่: 29 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:23:42:43 น.  

 
พี่ค่ะเพื่อนหนูอยากเป็นสจ๊วตมากเลยค่ะ สอบโทอิกผ่านแล้ว แต่เค้าอาจจะออกสาวหน่อยค่ะ ตอนนี้เค้าทำงานเป็นเภสัชกรที่รพ.กรุงเทพอยู่ อายุ24ปี หน้าตาดี สูง182 น้ำหนัก62 จบคณะเภสัชศาสตร์ จุฬา สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดี เคยเป็นนัก้รียนทุนAFSไปที่อเมริกา ไม่ทราบว่าที่แอนกล่าวมาข้างต้นนั้นเพื่อนแอนพอที่จะสามารถลองไปสมัครที่การบินไทยได้มั้ยค่ะ



โดย: Anny IP: 118.172.246.230 วันที่: 29 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:23:44:27 น.  

 
พี่คะ หนูอยากเปนแอร์มากเลยค่ะ

ตอนนี้เรียนม.3 สายศิลป์-คำนวน

อยากรุ้ว่าจบม.6ต้องไปต่อคณะอะไรคะ

อยากให้พี่ช่วยแนะนำด้วย

ช่วยติดต่อไปที่ Kickujang@hotmail.com นะคะ

ส่วนถ้าอยากเหนรูปกอ kickujang.hi5.com ค่ะ

พี่เข้ามาตอบคำถามน้ำด้วยนะคะ

ขอบคุนมากๆค่ะ

(น้ำเคยเรียนภาษาญี่ปุ่นค่ะ พูดได้นิดหน่อย พวกแนะนำตัวแล้วก้อการสนทนาแบบง่ายๆ ตอนนี้กำลังจาเรียนภาษาจีนค่ะ ถ้าจบแล้วจาไปเปนแอร์ต่างประเทศได้มั้ยคะ )


โดย: น้ำ IP: 58.147.70.74 วันที่: 16 เมษายน 2551 เวลา:22:04:41 น.  

 
สวัสดีต่าย
เป็นอย่างไรบ้าง
สบายดีหรือเปล่า
งานหนักไหม
ชีวิตเป็นอย่างไรบ้าง
หวังว่าได้เจอคนดีๆ
ชีวิตมีความสุขนะ
เฮนรี่มีภาพวาดจะให้ต่าย


โดย: henry IP: 125.25.92.7 วันที่: 25 พฤษภาคม 2551 เวลา:12:09:50 น.  

 
อยากเป็นนักบิน/กัปตัน แอร์ฯ สจ๊วต จนท.ควบคุมจราจรทางอากาศ ไม่ยาก ! ขอเชิญฟังประสบการณ์ตรงจากพี่ ๆ ที่ทำงานด้านนี้ จะมาเล่าให้ฟังว่า บนเวที Hall A ศูนย์สิริกิติ์ ในวันอาทิตย์ 16 ตุลา 54 บ่าย 2-3 จ้า จะเผยเทคนิคการเตรียมตัว ทริคการทำข้อสอบ ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ Toeic สอบสัมภาษณ์ ข้อเีขียน ว่ายน้ำ Aptitude Test และอีกมากมายที่น้อง ๆ ยังไม่รู้ สอบถามรายละเอียดได้ที่ 081-352-8141


โดย: born to be กัปตัน แอร์ สจ๊วต IP: 203.209.103.100 วันที่: 30 กันยายน 2554 เวลา:16:31:31 น.  

 
อยากเป็นนักบิน/กัปตัน แอร์ฯ สจ๊วต จนท.ควบคุมจราจรทางอากาศ ไม่ยาก ! ขอเชิญฟังประสบการณ์ตรงจากพี่ ๆ ที่ทำงานด้านนี้ จะมาเล่าให้ฟังว่า บนเวที Hall A ศูนย์สิริกิติ์ ในวันอาทิตย์ 16 ตุลา 54 บ่าย 2-3 จ้า จะเผยเทคนิคการเตรียมตัว ทริคการทำข้อสอบ ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ Toeic สอบสัมภาษณ์ ข้อเีขียน ว่ายน้ำ Aptitude Test และอีกมากมายที่น้อง ๆ ยังไม่รู้ สอบถามรายละเอียดได้ที่ 081-352-8141 งานนี้ฟรีจ้า


โดย: born to be กัปตัน แอร์ สจ๊วต IP: 203.209.103.100 วันที่: 30 กันยายน 2554 เวลา:16:32:48 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

LittleRabbit-CU
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




สวัสดีค่า ยินดีที่ได้รู้จักนะคะ ฝากเนื้อฝากตัวด้วยเจ้าค่ะ
Group Blog
 
 
กุมภาพันธ์ 2550
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728 
 
19 กุมภาพันธ์ 2550
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add LittleRabbit-CU's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.