Mockingbird มอคคิงเบิร์ด (รักต้องห้ามของหุ่นยนต์)ิ่ิ่




มอคคิงเบิร์ด Mockingbird (1980)
โดย Walter Tevis
สนพ.เพื่อนหนังสือ แปลโดย กัญจน์วิภา

"ทำไมเราจึงไม่หันหน้ามาพูดกัน? ทำไมเราจึงไม่รวมพลังกันต่อสู้กับความหนาวเย็นของลมซึ่งพัดผ่านถนนที่ว่างเปล่าในนครแห่งนี้? ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ผู้คนในเมืองนี้เคยมีโทรศัพท์ส่วนตัวใช้ พวกเขาสามารถพูดคุยกันได้ แม้บางครั้งอาจจะอยู่ห่างไกลกันและแม้ว่าเสียงของพวกเขาจะถูกทำให้เปลี่ยนแปลงจากเดิมไปบ้างโดยเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ก็ตาม แต่เขาก็ยังได้พูดคุยกัน อาจจะเกี่ยวกับราคาของในร้านหรือว่าเรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดี หรือว่าปรึกษากันเรื่องเกี่ยวกับความประพฤติของลูกๆในวัยรุ่นและเรื่องอื่นๆ พวกเขาสามารถอ่านได้ ซึ่งเท่ากับว่าสามารถทราบถึงความรู้สึกนึกคิดของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่และผู้ที่ตายไปแล้ว ซึ่งกำลังพูดคุยกับเขาอยู่ในความเงียบที่สละสลวยไพเราะด้วยลักษณะของมนุษย์ที่ว่า 
ฉันคือมนุษย์ ฉันสามารถพูดฟังและอ่านได้

ทำไมจึงไม่มีใครเลยที่อ่านได้? เกิดอะไรขึ้นกับพวกเขากันนี่?"

ในศตวรรษที่ 25 ณ นครนิวยอร์ก บนตึกเอ็มไพร์ สเตท โรเบิร์ต "บ๊อบ" สปอฟฟอร์ท หุ่นยนต์ชนิดหมายเลข 9 ทีผ่านช่วงเวลาแห่งการรับใช้มนุษย์มายาวนานกว่า 170 ปี กำลังเตรียมพร้อมที่จะกระโดดตึกลงมา... แต่เขาไม่มีความสามารถที่จะทำเยี่ยงนั้นได้

ในเมื่อเขาเป็นหุ่นยนต์รุ่นที่ 9 รุ่นสุดท้ายที่ถูกสร้างขึ้นในจำนวนนับ 100 ตัวที่ทั้งฉลาดและแข็งแกร่งที่สุด มีลักษณะเหมือนมนุษย์ทุกประการ เพียงแต่มีติ่งหูสีดำเพื่อให้คนสังเกตออกได้และไม่มีอวัยวะสืบพันธุ์ แต่ที่เขาพิเศษยิ่งกว่านั้น ยิ่งกว่าหุ่นยนต์ตัวอื่นๆ คือ เขาเป็นหุ่นยนต์ตัวเดียวที่ถูกกำหนดให้มีชีวิตอยู่ชั่วกาล ไม่ว่าเขาจะปรารถนาเช่นไร ทำให้เขาไม่สามารถที่จะฆ่าตัวตายได้ ทำได้เพียงแค่คิด...แล้วก็คิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ร่างกายเขาไม่ตอบสนองต่อสิ่งที่เขาคิดแม้แต่น้อยนิดในเรื่องนี้ 

ในยุคที่หุ่นยนต์ในแต่ละชนิดหมายเลขแต่ละรุ่น มีความสามารถที่แตกต่างกันไป ไล่ไปตามลำดับความสำคัญในแต่ละขั้น มันถูกป้อนคำสั่งให้ทำหน้าที่ทำงานแทนมนุษย์ในทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ไม่มีการสร้างหุ่นยนต์ชนิดต่างๆอีกต่อไปด้วยวิทยาการและวิชาการต่างๆเสื่อมสลายลง เมื่อมีพวกมันทำงานให้แทน

ในโลกที่ไม่มีหนังสือ ไม่มีใครที่อ่านหนังสือได้ ไม่มีการใช้รถยนต์ส่วนตัว ทุกคนต้องผ่านการศึกษาในโรงเรียนฝึกความสันโดษผ่านจอทีวี จอฉายภาพยนตร์ คนแต่ละคนจะไม่เสวนา มองหน้า สัมผัส ต้องตัวกันและที่สำคัญไม่มีการเกิดของมนุษย์อีกต่อไป

แต่เมื่อพอล เบนท์ลี่ย์ อาจารย์มหาวิทยาลัยในโอไฮโอ ค้นพบฟิล์มหนังและหนังสือโดยบังเอิญ นั่นนำเขาไปสู่ "การอ่านออกเขียนได้" อีกครั้งหนึ่ง 

ขณะที่ในสวนสัตว์ของเมืองที่แมรี่ ลู อาศัยอยู่ หลังจากเธอหนีออกมาจากศูนย์พักพิงคนเร่ร่อน ไร้งานทำ ในอดีตเมื่อยังเป็นวัยรุ่น เธอก็หนีออกจากโรงเรียนฝึกความสันโดษ นั่นทำให้เธอไม่ได้รับยาที่ใครๆก็กินกัน

เธอพยายามฝึกการ "จดจำเรื่องราวในชีวิต" ของเธอ เธออาจจะถูกตามไล่ล่าจากนักสืบหุ่นยนต์อันเป็นที่กล่าวขานร่ำลือและเป็นที่เกรงกลัวกันเมื่อไหร่ก็ได้

ทั้ง 2 คนมาเจอกันโดยบังเอิญในสวนสัตว์ การแลกเปลี่ยนสิ่งต่างๆซึ่งกันและกันจึงบังเกิดขึ้น ความสันโดษที่ถูกล่วงละเมิด ไหนจะที่พวกเขาพบว่า ไม่มีใครที่อายุน้อยกว่าพวกเขาเลย ไม่มีแม้แต่เด็กๆ 
สักคนเดียว

นักสืบหุ่นยน์จะยอมให้มีการล่วงละเมิดกฎแห่งความสันโดษหรอกหรือ?
ทำไมถึงไม่มีการเกิดอีกต่อไป 
ทำไม บ๊อบ สปอฟฟอร์ท ถึงพยายามฆ่าตัวตายครั้งแล้วครั้งเล่าทั้งๆที่เขาก็รู้ว่าเขาทำไม่ได้ 

โลกในยุคนี้ "ความสันโดษ" จะคือ คำตอบที่แท้จริงหรอกหรือ...

.............................................................

นิยายวิทยาศาสตร์ของ Walter Tevis เรื่องนี้ที่ได้เพียงแค่เข้าชิงรางวัล Nebula Award ในปี 1981 ซึ่ง Timescape นิยายแนวเดินทางข้ามเวลาของ Gregory Benford นักเขียน 1 ใน 3 Killer B's (ที่เหลือคือ David Brin, Greg Bear ที่ได้มารับช่วงต่อเขียนนิยายชุด Foundation ต่อจาก Isaac Asimov เขียนไว้) ได้ไป

แน่นอนเมื่อเราอ่านเรื่องย่อ โลกดิสโทเปียย่อมลอยมาแต่ไกล Tevis เข้าใจสร้างโลก เล่าเรื่องสนุก มีเงื่อนปมที่ซ่อนไว้อย่างดี สอดแทรกแง่คิดดีๆ แม้แต่ในยุคนี้ที่ผ่านมาร่วมๆ 40 ปีก็ยังทันสมัย

ยกตัวอย่างเช่น เหตุผลที่อาจจะทำให้ประชากรของโลกลดลงซึ่งค่อนข้างย้อนแยงนิยายวิทยาศาสตร์ ในยุค 60's และยุค 70's ที่เขียนเกี่ยวกับประชากรล้นโลกกันไว้เยอะ (ที่ผมนึกออกและเคยอ่านก็เรื่อง Colony ของ Ben Bova เรื่องนึงล่ะ) 

Tevis ให้เหตุผลไว้ ดังนี้

1.ความกลัวว่าจะมีจำนวนประชากรมากเกินไป
2.ความมีประสิทธิภาพของเทคนิคการทำหมัน
3.การหมดสิ้นของสภาพครอบครัว
4.ความสนใจอย่างกว้างขวางในเรื่องของการพัฒนาทางจิตใจของแต่ละบุคคล
5.การขาดความสนใจในเรื่องของเด็ก
6.ความต้องการที่จะหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ

ช่างน่าคิดจริงๆยิ่งในสังคมไทยยุคนี้ที่ค่อนข้างจะชัดเจนตามนั้นหรือแม้แต่ในเรื่องที่หุ่นยนต์มาทำงานแทนมนุษย์ ซึ่งเราก็เริ่มๆจะเห็นและรับรู้ข่าวสารทำนองนี้มากขึ้น

Tevis ใช้วิธีการเล่าเรื่องแบบสลับตัวละครในการเล่าเรื่องเป็น 3 ส่วนแยกกันไปผ่านเบนท์ลี่ย์ แมรี่ ลูและ สปอฟฟอร์ท มีอยู่ประโยคนึงซึ่งปรากฎอยู่เนืองๆไปตลอดเรื่องและน่าจะเป็นที่มาของชื่อเรื่อง ซึ่งผมชอบชื่อทับศัพท์มากกว่าฉบับเดิมที่ใช้ชื่อว่า "รักต้องห้ามของหุ่นยนต์" (ที่แม้จะสื่อถึงความรักที่เป็นไปไม่ได้ของหุ่นยนต์แต่ผมว่าเป็นประเด็นรองไม่ถึงกับเป็นประเด็นหลักอย่างที่ Tevis ต้องการสื่อ) นั่นคือ

"มีแต่นกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า มอคคิงเบิร์ด เท่านั้น ที่ร้องอยู่ตามชายป่า" 
(Only The Mockingbird Sings At The Edge Of The Woods) 

ต้องใช้การตีความกันพอสมควรเลย ประโยคนี้เป็นประโยคที่ พอล เบนท์ลี่ย์ ค้นพบและติดอยู่ในใจเขาตลอดเวลา 

นกมอคคิงเบิร์ดนั้นมีความสามารถที่โดดเด่นอยู่อย่างหนึ่ง คือ มันสามารถเลียนเสียงต่างๆได้ เช่น เสียงนกชนิดอื่น เสียงแมว เสียงรถยนต์ 

ฉากเปิดเรื่อง "สปอฟฟอร์ท" ก็ผิวปากฮัมเพลงของมนุษย์ทั้งๆที่ไม่รู้จักชื่อเพลง เราลองหลับตาก็คงคิดว่า เขาเป็นมนุษย์ แต่เมื่อเปิดตาสังเกตถึงติ่งหูสีดำของเขาก็จะรู้ทันทีต่อให้รูปร่างหน้าตาของเขาจะสร้างมาเลียนแบบเพื่อให้เหมือนมนุษย์แค่ไหนก็ตาม แต่ที่สำคัญกว่านั้น เขาขาดสภาวะความเป็นมนุษย์ที่สำคัญอยู่อย่างหนึ่ง ไม่ใช่การอ่านออกเขียนได้ ไม่ใช่การแสดงออกถึงความรัก ถึงแม้เขาจะรู้สึกว่ามีความรัก เพราะมนุษย์ในเรื่องหรือแม้แต่ชีวิตจริง ก็อาจมีบางคนทำไม่ได้เช่นกัน แต่สิ่งที่เขาขาด ก็คือ ภาวะการสิ้นสุดแห่งชีวิต นั่นคือ ความตาย นั่นเอง 

ตีความที่ประโยคนั้นก็คงเปรียบ มอคคิงเบิร์ด คือ สปอฟฟอร์ท ที่อยู่แค่ริมขอบความเป็นมนุษย์ (ชายป่า) ยังเข้าไม่ถึงส่วนหนึ่งของแก่นแท้ความเป็นมนุษย์ อ่านๆไปก็นึกถึง หุ่นยนต์แอนดรูว์ มาร์ติน จากเรื่อง "มนุษย์ 200 ปี" ของ Isaac Asimov ขึ้นมา แต่ต่างกันที่สปอฟฟอร์ท ไม่มีศาลให้ขึ้นเรียกร้อง ไม่สามารถดัดแปลงตัวเองได้อีกต่อไป มีแต่ต้องกระทำบางสิ่งเพื่อไปให้ถึงจุดนั้น 

แต่ถ้ามองมุมกลับ เราที่เป็นมนุษย์อยู่ในเมืองแล้ว เสียงของนกร้องคือ เสียงเรียกแห่งธรรมชาติที่อยู่ชายป่าขอบของเมืองนั้น อาจตีความได้ว่า มนุษย์ในยุคนี้อาจใช้ความสันโดษเพื่อยุติความขัดแย้งในส่วนบุคคล ไม่มีสงครามอีกต่อไป แต่ความสันโดษไม่ใช่คำตอบของทุกสิ่ง เราอาจจะหลงลืมเสียงธรรมชาติภายในตัวเราที่จะต้องมีการพูดคุยเสวนา การสัมผัสกันนำไปสู่ความรัก ความเป็นพ่อแม่ (มีเด็กเกิด) อันอาจจะนำมาซี่งความอ่อนโยนต่อกัน เพราะสิ่งเหล่านี้มีอยู่ในธรรมชาติของมนุษย์อยู่แล้ว อันเนื่องมาจากมนุษย์เป็นสัตว์สังคม เพียงแต่บางเวลาเราก็ควรใช้ความสันโดษ เคารพสิทธิส่วนบุคคลบ้างแค่นั้นเอง

"ตอนที่ผมยังเป็นเด็กอยู่นั้นได้เรียนรู้มาว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นก่อนยุคที่สองนั้น มีแต่ความรุนแรงและการทำลายล้าง สาเหตุเนื่องมาจากความล้มเหลวในการเคารพสิทธิส่วนบุคคล แต่ก็ไม่มีใครที่จะได้รับการกระตุ้นให้มีความอยากรู้อยากเห็นเรื่องนอกตัวเลยทุกคนถูกสอนมาว่า "จงอย่าถาม ปล่อยให้มัน ไปตามวันเถอะ"

ป.ล.มีนิยายวิทยาศาสตร์อีกเรื่องของเขาที่เคยมีแปลและน่าจะดังพอสมควร เพราะ มีการนำไปสร้างเป็นหนัง นำแสดงโดย David Bowie นั่นคือ บุรุษผู้มาจากต่างดาว (The Man Who Fell To The Earth) ...แต่ผมยังไม่เคยอ่านครับ

ชอบปกของฝรั่งในชุด SF Masterworks มากกว่าปกไทยทั้ง 2 แบบที่เคยพิมพ์ครับ



เครดิตรูปฉบับแปลไทยจากร้าน siambook

คะแนน 8.7/10



Create Date : 06 มิถุนายน 2560
Last Update : 6 มิถุนายน 2560 13:59:26 น.
Counter : 1662 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

สมาชิกหมายเลข 755059
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 21 คน [?]



New Comments
มิถุนายน 2560

 
 
 
 
1
2
3
4
5
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
 
 
All Blog