Taipan ไทปัน




ไทปัน Taipan (1966) โดย James Clavell
สนพ.เซอร์เคิล บุ๊ค แปลโดย วรปัญจา

...หลับตาลงแล้วลืมภาพในยุคปัจจุบันไปให้หมด... 

เพราะเราจะพาคุณไปในปี ค.ศ.1841 กลิ่นควันสงครามยังจางหายไปไม่นาน 
เรือสำปั้นและเรือสำเภาลอยอยู่ท่ามกลางทะเลเต็มไปหมด และยุคของเรือกลไฟกำลังจะมา ณ เกาะแห่งหนึ่ง...

"เกาะนี้ชื่อฮ่องกง อาณาบริเวณ ๓๐ ตารางไมล์ กอปรด้วยภูเขาหินใหญ่ อยู่ทางปากแม่น้ำเพิร์ลอันกว้างใหญ่ในจีนภาคใต้ ห่างจากแผ่นดินใหญ่ราวพันหลา ไม่อุดมสมบูรณ์ แห้งแล้ง ไม่มีคนอยู่อาศัยนอกจากหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆทางตอนใต้ของเกาะ ตัวเกาะตั้งขวางอยู่ในทางของพายุใหญ่ที่เข้ามากระหน่ำประจำปีจากมหาสมุทรแปซิฟิค ทางตะวันออกและตะวันตกมีสันดอนทรายและหินโสโครก มันเป็นเกาะที่ไม่มีประโยชน์ต่อชาวจีนเลย

แต่ฮ่องกงมีทำเลที่เหมาะสมจะเป็นท่าเรือที่ดีที่สุดในโลกและเจ้าเกาะนี้แหละจะเป็นบันไดของสตรวน ในการที่จะก้าวไปสู่แผ่นดินใหญ่"

หลังสงครามฝิ่นครั้งแรก ตัวแทนจากอังกฤษได้ครอบครองเกาะฮ่องกงมาเพื่อ
พัฒนา เกาะที่แทบไม่มีใครสนใจ ไร้คุณค่าสิ้นดี แต่ไทปันแห่งโนเบิ้ล เฮาส์อย่าง เดิร์ก สตรวน กลับเห็นคุณค่าและศักยภาพของมัน

ไม่ใช่เพียงเขาผู้ยิ่งใหญ่เพียงหนึ่งเดียวที่ใครๆก็เรียกว่า 'ไทปัน' เท่านั้นที่จะกุมอำนาจในสนามการค้าในแถบนี้เพียงผู้เดียว ยังมีคู่แข่งคู่แค้นคนสำคัญที่ครั้งหนึ่งในอดีตเคยเป็นหัวหน้าของเขาในเรือสำเภาลำหนึ่ง นั่นคือ ไทเลอร์ บร็อค แห่งบร็อคแอนด์ซัน อีกทั้งยังมีบริษัทการค้าของอเมริกา ตัวแทนจากรัสเซียที่ถูกส่งมาสืบค้นข้อมูลเพื่อแผนการยิ่งใหญ่ของประเทศตัวเอง ตัวแทนของพระราชินีของอังกฤษเองที่ส่งมาปกครองอย่าง วิลเลียม ลองสตัฟ ที่ก็มีแผนทางการเมืองของตัวเองอยู่ในใจ ไหนจะพ่อค้าจีนที่รวมตัวกันอีกและอั้งยี่ป่วนเมืองที่มีคนสำคัญอยู่เบื้องหลัง แม้กระทั่งในทะเลก็ยังมีกลุ่มโจรสลัดเต็มไปหมดรอปล้นสินค้าอยู่ รวมถึงวัฒนธรรมตะวันออกและกองทัพจีนเป็นกำแพงขวางกั้นให้พวกเขาต้องปีนป่ายข้ามไปให้ถึงจุดหมายของแต่ละคน ท่ามกลางนโยบายทาง การเมืองที่อาจจะเปลี่ยนแปรไปดังคลื่นลมทั้งของจักรพรรดิจีนและของอังกฤษเองด้วย ภายใต้การเดินทางของข่าวสารที่ใช้ระยะเวลานานร่วม 3-6 เดือนกว่าจะมาถึง

แต่ที่สำคัญสตรวนเองยังมีข้อเสียเปรียบ อันเนื่องมาจากธุรกิจธนาคารของเขาที่เกาะอังกฤษล้มลง ต้องรีบหาเงินมาใช้ตั๋วสัญญาใช้เงินของบร็อคที่เป็นเจ้าหนี้ แต่เขามีเงินไม่เพียงพอกับกำหนดการชำระหนี้ที่เร่งรัดอย่างยิ่งยวด ต้องหาหนทางไปขอความช่วยเหลือจาก จิ้นฝ่า โกห่งพ่อค้าใหญ่ของจีนที่มาพร้อมกับข้อแลกเปลี่ยนที่เขาต้องยอมรับมิอาจปฏิเสธได้ ซึ่งสุ่มสี่ยงต่ออนาคตของเขาและบริษัทเป็นอย่างยิ่ง นั่นคือ 

เมื่อใดที่เหรียญหักครึ่งปรากฎต่อหน้าเขา ไม่ว่าจะขอให้ช่วยเหลืออะไร เขาต้องทำตามคำเรียกร้องนั้น ไม่ว่าตัวเขาจะอยู่แล้วหรือไม่ก็ตาม โนเบิ้ล เฮาส์ ต้องรักษาคำสัตย์สาบานนี้

...ยิ่งไปกว่านั้น มันไม่ได้มีเพียงเหรียญเดียว แต่มีถึง 4 เหรียญทีเดียว!...

.............................................................

นิยายในชุดเอเชียน ซากาของ James Clavell นักเขียนชาวอังกฤษที่เกิดที่ออสเตรเลีย ภายหลังเปลี่ยนสัญชาติเป็นอเมริกันและตายหลังจากเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งในสวิตเซอร์แลนด์ อดีตทหารผ่านศึกร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 และตกเป็นเชลยของญี่ปุ่นซึ่งเขานำเรื่องราวนี้มาเขียนเป็นนิยายเรื่องแรกของเขาด้วยก็คือ King Rat นั่นเอง นอกจากเป็นนักเขียนหนังสือแล้ว Clavell ยังเขียนบทภาพยนตร์และกำกับเองในบางเรื่องเองด้วยเช่น To Sir With Love 

ไทปันเป็นนิยายเล่มที่ 2 หลังจากประสบความสำเร็จจากเล่มแรก Clavell อยากเขียนนิยายในแบบที่ James Michener เขียนเริ่อง Hawaii (มีแปลในไทย) เขาจึงบินไปอยู่ฮ่องกงในปี ค.ศ.1963 ใช้เวลาค้นข้อมูลอยู่ราวๆ 9 เดือนได้ 

การเขียนนิยายยาวๆแบบนี้กว่าพันหน้า การที่จะเอาคนอ่านอยู่หมัดนอกจากพล็อตซึ่ง Clavell วางไว้ได้ดีมาก มีปริศนา  มีเรื่องราว ให้เราอยากรู้อยากเห็น ลุ้นอยู่ตลอดเวลาแล้ว ตัวละครยังต้อง มีสีสันพาเราเข้าไปในฉาก ลุ้นไปกับสถานการณ์ เอาใจช่วยตัวละครซึ่งก็ทำได้ดีมากๆเช่นกัน  รวมถึงเหตุการณ์เกี่ยวกับโรคภัยที่เอ่ยถึงในประวัติศาสตร์ยุคนั้น เขาก็ใช้เครื่องมือนี้ได้อย่างคุ้มค่าไม่ได้เอ่ยขึ้นมาลอยๆให้เรารับรู้ถึงบรรยากาศในยุคนั้นเพียงแค่นั้น 

ถึงแมัตัวละครเรื่องนี้จะค่อนข้างเยอะ แต่ตัวละครที่สำคัญจริงๆก็คือ เดิร์ก สตรวนและไทเลอร์ บร็อค 

บุคลิกของเดิร์ก สตรวน แม้จะเป็นพ่อค้าผู้ยิ่งใหญ่ ใครๆก็เรียกว่า "ไทปัน" ในหลายต่อหลายฉากหลายสถานการณ์ Clavell เขียนให้เชื่อได้จริงๆว่า ฉลาด เจ้าเล่ห์ มีแผนการอยู่ในใจที่จะผลักดันให้คนอื่นๆทำตามเพื่อไปสู่เป้าหมายที่เขาวาดหวัง ทั้งแบบที่คนตกเป็นเครื่องมือรู้ตัวและไม่รู้ตัวได้แบบสุดยอดมากๆจริงๆ แต่บทจะนักเลงในแบบคนยุคโบราณก็ทำได้ดีมากๆ เป็นนักเลงที่มีน้ำใจ มีกฎกติกา ไม่พยายามลอบกัดลอบฆ่าใคร เราอาจจะรู้สึกแปลกๆว่าพ่อค้านักธุรกิจใหญ่ระดับนี้จะนักเลงได้ยังไง แต่อย่าลืมว่า สตรวน ท่องทะเลที่แสนอันตราย ฝ่ามรสุม ผจญโจรสลัดมานักต่อนัก ประสบการณ์เชี่ยวกรากมาก พอบทที่จะล้มก็รู้จักล้มเป็น ยอมรับเงื่อนไขที่อนาคตก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถึงตอนนั้นต่อให้กลัวแค่ไหน ตัวเขาก็พร้อมที่จะเผชิญกับมัน สิ่งไหนที่ควรจะต้องทุ่มเงินลงไปเพื่อรักษาคนที่เขารัก เพื่อเกาะฮ่องกงอันเป็นเป้าหมายสูงสุดเขาก็รู้จักใช้มัน ไม่เสียดายเงินแม้แต่น้อย 

ขณะที่คู่แข่งของเขาอย่าง ไทเลอร์ บร็อค ก็ดูจะเป็นคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อเหมือนที่ Clavell ตั้งใจเขียนให้เป็นเช่นนั้นจริงๆ แม้จะดูด้อยกว่านิดๆ แต่ถือว่าสูสีทีเดียว คนอ่านแทบจะรอฉากที่ทั้ง 2 คน ปะทะกันทั้งการค้าและการต่อสู้แทบไม่ไหว และบร็อคก็เป็นนักเลงอีกคนที่น่านับถือ (อาจจะมีจุดด่างพร้อยบ้าง) แม้คนที่เป็นที่รักจะถูกฆ่า แต่เมื่อรับฟังถึงเหตุและผลที่มันเกิดขึ้น เขาก็ยอมรับมันได้ เลิกแล้วต่อกัน 

ความเป็นคู่แข่งของทั้งคู่ทำให้นึกถึง William Kane กับ Abel Rosnovski ใน Kane&Abel ของ Jeffrey Archer หรือ Brandon Scofield กับ Vasili Taleniekov ใน The Matarese Circle ของ Robert Ludlum เลย แต่ผมรู้สึกว่า สตรวนกับบร็อค เท่กว่า เข้มข้นกว่า เสียดายฉากต่อสู้กันไม่สุดๆ แต่ยอดฝีมือสู้กันคงเหมือนนิยายฤทธิ์มีดสั้นของโกวเล้ง ที่ยอดฝีมือเหมือนจะรู้ฝีมือกันอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องหัวร้างข้างแตกตายไปข้างนึงซักหน่อย และที่ชอบอีกอย่าง บทที่พวกเขามีศัตรูร่วมกันอย่างกองทัพจีน หรือ นโยบายทางการเมืองของอังกฤษที่แปรเปลี่ยนไป ก็หันกลับมาจับมือกันร่วมต้านและต่อสู้กันก่อน เมื่อพ้นภัยแล้วก็กลับมาเป็นคู่แข่งดังเดิม

เขียนๆมาเหมือนจะไม่มีจุดตำหนิ จริงๆก็มี คือฉากที่เกี่ยวกับผู้หญิงจะมีฉากทารุณกรรมโหดร้ายบ้าง เพียงแต่ไม่เยอะ แล้วเป็นเพียงการเล่าเรื่องไม่ได้ บรรยายให้เห็นภาพอะไรมากมาย จึงเป็นจุดที่น่าจะมองข้ามได้สบาย ถ้าเรายิ่งย้อนไปในยุคนั้น มันอาจจะโหดกว่านี้ก็ได้ เพราะยุคนั้นผู้ชายน่าจะเป็นใหญ่ ไม่มีสิทธิมนุษยชนหรือความเท่าเทียมมาตัดสินกันหรอก 

ตอนจบเหมือนจะยังไม่สุด เพราะเหรียญทั้งสี่ยังออกมาไม่หมด น่าจะไปโผล่ที่เล่ม Noble House ต่อแน่ๆ และตอนแรกดูเหมือนจะจบแบบ Deus Ex Machina เทวดามาโปรด เพื่อส่งต่อตัวละคร แต่พอผมมาเขียนรีวิว ประโยคของหน้าแรกก็ทิ้งเกริ่นไว้ก่อนแล้ว เพียงแต่เราไม่ได้สังเกตเอง ต้องชม Clavell อีกช็อตนึงเลย 

สุดท้ายไม่ว่ามนุษย์จะยิ่งใหญ่แค่ไหน แต่ก็ไม่มีทางยิ่งใหญ่ไปกว่าธรรมชาติแน่นอน

"บางทีตอนนี้การปกครองแบบรัฐสภาอาจจะไม่เหมาะสำหรับรัสเซีย...และบางประเทศ... แต่กระหม่อมเชื่อว่าโลกจะไม่มีวันได้พบสันติสุขจนกระทั่งทุกชาติจะใช้ระบบรัฐสภาแบบอังกฤษ ทุกคนมีสิทธิในการออกเสียงและคนๆเดียวอย่ามาตัดสินชะตากรรมของประเทศ ไม่ว่าจะโดยสิทธิที่พระเจ้าประทานหรือโดยการเลือกอย่างโง่ๆอะไรแบบนั้น"...สตรวนเอ่ย...

"ฉันเห็นด้วย" เซอกีเยฟว่า "สมมติฐานของคุณก็ถูกต้อง แต่ยังมีข้อผิดพลาดใหญ่อยู่ข้อหนึ่ง คุณหมายเอาว่าพลเมืองทั้งโลกน่ะ ฉลาดไปเสียหมด...มีการศึกษาเท่ากัน ความเป็นอยู่ทัดเทียมกัน ซึ่งก็ไม่มีทางเป็นไปได้ จริงมั้ย? คุณน่าจะไปรัสเซีย จะได้เห็นว่ามันเป็นไปไม่ได้ยังไง แล้วคุณยังไม่คิดเผื่อถึงชาติอื่นๆที่เขามีความเชื่อแตกต่างออกไปด้วย ถ้าคุณจะบอกว่า 'จนกว่าทุกชาติจะเป็นคริสเตียนหมด' บางทีคุณอาจจะถูกก็ได้ แต่คุณคิดว่า คาธอลิกอย่างฝรั่งเศสจะมาลงรอยกับอังกฤษ ซึ่งเป็นโปรเตสแตนท์ยังไงหรือว่านิกายออโธดอกซ์อย่างรัสเซียจะเข้ากันได้ยังไงกับเยซูอิทของสเปน แล้วยังมีพวกโมฮัมหมัด พวกยิว พวกเคารพรูปปั้นบูชา แล้วยังพวกไม่มีศาสนาอีกล่ะ"

ป.ล.โนเบิ้ล เฮาส์และบุคลิกของเดิร์ก สตรวนและร็อบ สตรวน Clavell ได้
แรงบันดาลใจ มาจาก บ.Jardine Matheson & Co ที่มี William Jardine และ James Matheson ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งและมาบุกเบิกฮ่องกงจริงๆ

คะแนน 8.8/10



Create Date : 19 กรกฎาคม 2560
Last Update : 19 กรกฎาคม 2560 23:55:33 น.
Counter : 2581 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

สมาชิกหมายเลข 755059
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 21 คน [?]



New Comments
กรกฏาคม 2560

 
 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
19 กรกฏาคม 2560