Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2555
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
20 ตุลาคม 2555
 
All Blogs
 
"ยักษ์" การ์ตูนไทยๆของ "จิก-ประภาส"

อนิเมฃั่น “ ยักษ์ “
ในสไตล์ของ จิก ประภาส ชลศรานนท์



ชื่อ ของ จิก ประภาส ชลศรานนท์ บุคคลหนึ่งที่ได้รับการยอมรับในฐานะนักแต่งเพลง นักเขียน ผู้อยู่เบื้องหลังบทเพลงของวงเฉลียง หนึ่งในเสาหลักของเวิร์คพ้อยต์ ที่ผ่านงานมาหลายรูปแบบ วันนี้เขาได้สร้างฝันอีกอย่างขึ้นมาก็คือการสร้างการ์ตูนฝีมือคนไทยล้วนๆกับเรื่อง “ยักษ์” ที่เป็นการผสานความร่วมมือของ สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล ร่วมกับบ้านอิทธิฤทธิ์,ซูเปอร์จิ๋ว และ เวิร์คพอยท์พิคเจอร์ส ใช้เวลากว่า 6 ปีและเงินทุนกว่า 100 ล้านบาทตอนนี้พร้อมเข้าฉายให้คนไทยได้ชมกันในวันที่ 4 ตุลาคม
“ยักษ์” ได้ทีมพากย์ อย่าง สันติสุข พรหมศิริ,เกียรติศักดิ์ อุดมนาค,ด.ญ.ชนินาภ ศิริสวัสดิ์,บริบูรณ์ จันทร์เรือง,ปวันรัตน์ นาคสุริยะ,แจ๊ป เดอะริชแมนทอยและ อุดม แต้พานิช

จิก ประภาส ชลศรานนท์ ในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์อนิเมชั่น “ยักษ์” บอกเล่าความเป็นมาว่า

“คือตั้งแต่เด็กๆก็ชอบดูการ์ตูน แล้วก็ชอบวาดการ์ตูนด้วย ทำเป็นเล่มๆให้เพื่อนๆอ่าน อยากเป็นผู้สร้างตั้งแต่เด็กแล้ว วันหนึ่งสามารถทำละครเวทีได้ ก็ทำละครเวที วันหนึ่งทำละครทีวีได้ก็ทำละครทีวี วันหนึ่งเขียนนิบายได้ก็เขียนนิยาย วันหนึ่งทำหนังได้ก็ทำหนัง แล้วถ้าวันหนึ่งทำอนิเมชั้นได้ก็จะทำมัน แล้ววันนี้เครื่องมือมันมาถึงก็อยากทำ ก็อยากทำมานานแล้วเป็น 10 ปี”
ในที่สุดก็ได้เจอะเจอกับทีมงานมีฝีมือที่พูดกันเข้าใจในแนวคิดเดียวกัน
“ก็พอดีเจอทีม เจอเเอ็กซ์-ชัยพร พานิชรุทติวงศ์ (ดีกรีชนะเลิศ FIRST PRIZE:SIGGRAPH 1998 ซึ่งเปรียบได้กับรางวัลออสการ์สำหรับนักศึกษา การประกวดผลงานแอนิเมชั่น ประเภทนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่วโลก) มันค่อนข้างแมทช์กันพอสมควรในเรื่องของความคิด ในแง่ของสไตล์ หรืออย่างการมองสี มองอากาศที่อยู่ในเรื่อง เวลาเราถ่ายรูปมันมีอากาศ มันมีฝุ่นอยู่ เหมือนมันมีอณูบางอย่างอยู่ ผมต้องการทำอนิเมชั่นเรื่องนี้ให้เป็นอย่างนั้น ให้มีเนื้ออากาศอยู่ด้วย มันจะไม่แบน มีสเปซระหว่างกัน เรามองเหมือนกัน เจอคนที่ทำได้ด้วยกันได้แล้ว ตอนนั้นเทคโนโลยีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการทำแอนิเมชั่นพัฒนาไปไกล แล้วก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คิดว่าโอกาสที่จะได้ทำการ์ตูนเริ่มจะมีความเป็นไปได้ และเป็นที่มาที่ทำให้ตัดสินใจเปิดบริษัทบ้านอิทธิฤทธิ์ขึ้น พร้อมกับโปรเจ็คต์ที่จะทำการ์ตูนแอนิเมชั่น ก็ลงมือทำ เริ่มต้นเลย”

ในที่สุดเลือกเรื่องราวจากวรรณคดีระดับเอเชียอย่าง รามายณะหรือรามเกียรติ์

“หาอยู่หลายๆเรื่องนะ แต่ในใจลึกๆอยากทำเรื่อง ทศกัณฑ์ เพราะดีไซน์ของทศกัณฑ์น่าสนใจ การมีแขนเยอะๆ การมีหัวเยอะๆ ในแง่ของภาพ วิชวลเนี่ย น่าสนใจมาก แล้วในแง่ของการตีความของการมีหลายหัวว่าเป็น subconscious ตอนแรกผมทำเรื่องยักษ์เนี่ย ตั้งใจจะทำยักษ์เหมือนลิเก คือจับตอนเลย จับตอนหอกโมกขศักดิ์ จับตอนนางเบญจกาย สุดท้ายนั่งคิดไปคิดมา ถ้าเราจะไปคลาดโลก ฝรั่งเขาไม่รู้จัก เขาไม่รู้เรื่องว่าคืออะไร คุณจะดูลิเกได้ต้องรู้ว่าทั้งหมดเป็นยังไงก่อน แล้วดูตอนเดียวได้ ผมเลยคิดว่าผมจะเอามาแค่ตัวละคร แล้วผมสร้างเรื่องใหม่ แต่ผมพยายามตีความกลับไปว่าเค้าพูดเรื่องอะไรกัน แม้ว่ารามเกียรติ์จะไม่พูดเรื่อง subconscious นะครับ แต่พราหมณ์ตุลไสดาษมหากวีผู้เป็นคุรุในทศวรรษที่16 ได้พูดไว้ประโยคหนึ่งว่า มีรามเกียรติ์เกิดขึ้นทุกแห่ง เกิดขึ้นทุกหนเกิดขึ้น ทุกเวลา เกิดขึ้นในทุกผู้คน แล้วเกิดมาแล้ว 10 ล้านครั้ง มันแปลว่าอะไร ผมก็คิดว่าอีกมุมหนึ่งในการตีความรามเกียรติ์ อาจเป็นการต่อสู้ในหัวตัวเองก็ได้”

จากจุดเริ่มต้นวรรณคดีที่รู้จักกันดีสู่การตีความใหม่และคิดออกจากกรอบเดิมๆที่คุ้นเคย

“ผมตั้งคำถามกับหนังเรื่องนี้ว่า ถ้าอวตารครั้งนี้ไม่รบกัน จะเกิดอะไรขึ้น มันเป็นโลกที่มีแต่หุ่นยนต์ มันก็จะมีจินตนาการแปลกๆ อย่างพระรามที่เป็นพระเอกในรามเกียรติ์ ในเรื่องยักษ์ นี่จะไม่มีบทพูดแต่เป็นตัวสำคัญที่สุด ในฮินดูพูดไว้ว่า การมากำเนิดของพระราม ทศกัณฑ์และหนุมาน มาจากก็อด ถ้าพูดว่าเอามาจากรามเกียรติ์ของเราคงไม่มี แต่ถ้าเอามาจากรามายณะ ต้นฉบับเลยเนี่ย มีแน่นอน เพราะเรื่องนี้ รามคือผู้สร้างหุ่น แล้วทศกัณฑ์ก็เป็นหุ่นที่ถูกสร้างขึ้น แล้วไม่ต้องการให้รามปกครองพวกของตนเอง ก็จะสู้กับราม แล้วผมก็ยืมฉากของรามยณะ มาวางไว้เลย อย่างฉากที่ผมประทับใจมากในวัยเด็กคือฉากที่หนุมานไปหยุดพระอาทิตย์เพื่อให้พระลักษณ์รอดจากหอกโมกขศักดิ์ เรื่องนี้มีกุมภกรรณมีพระราม หนุมาน พระอาทิตย์ มีทุกอย่างแต่ไม่เหมือนเดิมเลยผมสับที่ใหม่ โดยเอามาจากคติของฮินดู เรื่องการอวตารมาเกิดใหม่ ผมคิดเล่นๆว่าถ้าคนที่โดนหอกโมกขศักดิ์ เป็นหนุมาน จะเกิดอะไรขึ้น ใครจะขึ้นไปหยุดพระอาทิตย์ เรื่องนี้ขึ้นต้นด้วยตำบอกเล่าที่ว่ารามยณะมีเป็นสิบล้านรูปแบบ ประโยคนี้ผมไม่ได้เขียนเองนะ ชาวฮินดูเป็นคนเขียน เอาเป็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สิบล้านเอ็ดแล้วกัน ผมคิดว่าเมื่อพูดออกไปแล้วมันน่าสนใจ สามารถเอามาพูดกับเพื่อนต่อเพื่อน ประเทศต่อประเทศ พรรคการเมืองต่อพรรคการเมือง ผมคิดว่าคนบนโลกเราทะเลาะกันมากเกินไป ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยนะ เกาหลีเหนือเกาหลีใต้”

เหตุที่รามเกียรติ์ฉบับอนิเมชั่น “ยักษ์” ถูกสร้างให้เป็นเรื่องราวของหุ่นยนต์

“เป็นหุ่นยนต์ก็เพราะเคยคิดว่าเป็นหนังคนได้มั้ย จากเรื่องที่เราต้องการนำเสนอซึ่งคิดว่าได้ แต่ที่เป็นหุ่นยนต์แต่ที่เป็นแอนิเมชั่นเพราะว่ามันรุนแรงได้โดยที่ไม่รู้สึกว่ารุนแรง มันอาจจะแค่รู้สึกว่ามันน่ารักหรือมันเด๋อด๋าเท่านั้นเอง แต่ถ้าเป็นหนังคน มันจะรุนแรงมากกว่านี้ ไม่ได้นะ ซึ่งจริงๆมันไม่รุนแรงนะ แต่พอมันมาอยู่ในโลกของแอนิเมชั่นโลกของหุ่นยนต์ พอมันฟาดดังปั้งมันก็คือท่อนเหล็กล้ม ที่น่าสนใจคือมันมีMOVEMENTของความเป็นแอนิเมชั่นสูง ถามว่าอะไรมาก่อนระหว่างรามเกียรติ์กับหุ่นยนต์มันมาไม่พร้อมกันบางทีหุ่นยนต์ก็มาก่อนแล้วค่อยรามเกียรติ์ก็มี แล้วอย่างเราก็เคยได้ยินอยู่แล้วว่ามีคนคิดรามเกียรติ์เป็นเวอร์ชั่นต่างๆ การที่รามเกียรติ์เป็นหุ่นยนต์ก็รู้สึกว่ามันน่าสนใจดีนะ แล้วราไปอีกขั้นหนึ่งคือเราจะไม่เล่ารามเกียรติ์ที่พวกเราเคยรู้มา เขียนเรื่องใหม่หมดเลย เหมือนกับว่าเมื่อมันเกิดใหม่ มันก็เกิดเรื่องใหม่ขึ้นมา และเป็นเรื่องที่เราอยากเล่าที่เราอยากพูดถึงและก็ตั้งชื่อเดี๋ยวนั้นเลยว่าเรื่องนี้ชื่อ “ยักษ์” เพราะเราจะเล่าตัวนี้เป็นตัวเอกไม่เคยคิดเป็นชื่ออื่นเลย”

วิธีการสร้างอนิเมชั่นเรื่องนี้

“ก็เขียนบทก่อน เสร็จไปตั้งแต่ปีแรกๆเลย แล้วก็สร้างคาแร็กเตอร์ หาคนมาพากย์ เริ่มทำสตอรี่บอร์ด โดยในขณะที่เขียนบท คิดตัวละครเนี่ย ผมก็จะคิดว่าภาพนี้เป็นใคร นี่เป็นเสียงใครออกมา อย่างพอเราคิดว่าจะทำทศกัณฑ์ที่มี 2 ร่าง 2 ความคิดเนี่ย คือยักษ์กับน้าเขียว ผมคิดว่าต้องเป็นนักแสดงอาชีพ ผมไม่เอานักพากย์ด้วย เพราะนักแสดงสามารถเอาอินเนอร์ออกมาได้ แล้วคนที่จะแสดงเป็นปีศาจและบุญชูอ่ะ มีคนเดียวในเมืองไทย มีไม่กี่คนที่แสดงอะไรอย่างนี้ได้ คือมีน้ำเสียงที่จะเป็นพญายักษ์แล้วเป็นเด็กใสซื่อ ผมคิดว่าหอยคือหนุมาน คล่อง คร่อกด้วย ไว ปฏิภาณสูงมาก ผมรู้สึกใช่เลย ตัวละครที่สำคัญมากอีกตัวคือบรู้ค หรือนักไต่เขา ผมเชิญโน้สมาเลย บทน้อยมากแต่ไม่มีไม่ได้เลย สำคัญมากๆ เพราะโน้สนี่ทำในสิ่งที่คนคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ให้เป็นที่ยอมรับ เช่นการเดี่ยวไมโครโฟน นี่ไม่น่าเกิดขึ้นได้ให้กลายเป็นซุปเปอร์สตาร์ได้ เขามั่นใจ เขาศรัทธา แล้วก็ทำ ผมมองเขาว่าเป็นอย่างนั้น ผมเขียนตัวละครตัวนี้ขึ้นมาจากตัวเขา แล้วเชิญเขามาพากย์เลย บทไม่เยอะแต่สำคัญมาก เพราะทำให้เรื่องที่เดินๆมาพลิกเลย”



เหมือนฮอลลีวู้ดที่ตัวการ์ตูนมีเค้าโครงมาจากตัวจริงของคนเอง

“ก็น่าจะเหมือนกัน วิธีนี้คือเราสร้าง ดีเอ็นเอ ขึ้นมาก่อน คือให้นักแสดงมาแสดงก่อน เขาอยู่ในห้องแล้วมีไมค์ตัวนึงแล้วเล่าให้เขาฟังว่าฉากนี้เป็นยังไง มีทีวีถ่ายเขาไว้ แล้วให้เขาแสดงกัน แล้วเอาเสียงนั้นมานั่งฟังกัน ให้อนิเมเตอร์ดู ให้ฝั่งที่ขึ้นโมเดลดู ว่าควรจะเป็นยังไง แล้วเอาเสียงนั้นมาตัดต่อ ทำภาพตามเสียง เมื่อไปดูแล้วไม่ใช่คนมาพากย์ เราจะรู้สึกว่าตัวนี้แสดงอยู่จริงๆ”

ดูวิธีการทำงาน การวาดที่ดูมิติอยู่แล้ว ทำไมไม่เลือกสร้างเป็น 3 มิติ

“บอกตรงๆก็คือผมไม่ชอบหนัง 3 มิติ ผมรู้สึกว่าการดูหนัง 2 มิติแล้วเห็นเป็น 3 มิติมันเป็นศิลปะชั้นสูง หนัง 3 มิติก็คงสนุกดีกับบางเรื่องนะ แต่ผมเห็นว่าหนัง 2 มิติมีเสน่ห์ คือวาดรูปให้มันมีความลึก เหมือนถ่ายรูปผมชอบรูปที่ถ่ายมาแล้วมันสวยเอง แล้วนี่ส่วนตัวนะ แต่วันหนึ่งทีค่ต้องทำเพราะการตลาดหรือเปล่าค่อยว่ากัน แต่ว่าโดยส่วนตัวแล้วไม่ชอบ คือถ้าวันนี้ไปดูหนังถ้าเรื่องเดียวกันผมก็จะถามว่ามีโรงไหนเป็น 2 มิติไหม ผมอยากดูหนัง 2 มิติ ผมมองว่าสาระสำคัญของหนังมันอยู่ที่เนื้อหนังมันอยู่ที่คอนเซ็ปต์ ผมจะให้ความสำคัญกับแก่นของมันมากกว่า “

ใช้เวลานานมากในการสร้างงานเรื่อง “ยักษ์”

“คิดว่านาน แต่ไม่คิดว่านานขนาดนี้ ผมคิดไว้แค่ประมาณ 4 ปีกฌด้วยหลายเหตุผล เหตุผลใหญ่เหตุผลหนึ่งก็คือผมไม่ยอม ผมตั้งมาตรฐานไว้ประมาณนี้แล้วไม่เห็นผมก็ไม่เอา ผมก็ไม่ยอม ทิ้งก็ต้องทิ้ง ทำใหม่ก็ต้องทำใหม่ ก็ทิ้งบ่อย แล้วก็มามีเรื่องน้ำท่วมด้วย แล้สโนฮาวในเรื่องนี้ก็น้อยมากในเมืองไทย คนทำอนิเมชั่นมีน้อยมากในเมืองไทย เราก็เรียนรู้ไปเรื่อยๆ”

เรื่องนี้เหมาะสำหรับเด็กเท่านั้น

“เรามักจะคิดกันไปเองว่าเรื่องของผู้ใหญ่เด็กดูไม่ได้ ผมตัดเรื่องโป๊ เรื่องรุนแรงออกไปนะ ผมเห็นเด็กหลายคนดูหนังยากๆ ได้นะ ผมเด็กหลายคนดู Always ได้ ดู Schindler list ได้นะ ผมไม่เชื่อเรื่องนี้นะ แต่ว่าเด็กเล็กมากๆ อันนั้นอาจจะไม่เหมาะ ผมว่าเด็กเล็กๆไม่เหมาะกับหนังอะไรทั้งสิ้น เพราะเสียงมันดังเกินไป แต่ ยักษ์ เนี่ยเป็นหนังผู้ใหญ่เลย แต่มีความเคลื่อนไหว ความสนุกสนาน ของแอ็คชั่นคอมาดี้ ที่เด็กดูแล้วหัวเราะ ผมได้ลองเทสต์แล้วเอาเด็กผู้หญิงกับเด็กผู้ชายมานั่งดู เอาผู้ใหญ่มานั่งดู วัยรุ่นมานั่งดู ทุกคนก็สนุกเหมือนกัน แต่ว่าสนุกกันคนละแบบกัน

ผมบอกได้ว่านี่คือหนังผู้ใหญ่เลย คือผมทำหนังให้ตัวเองดู เพราะผมเองก็ชอบดูการ์ตูน ถามว่าผมแต่งเพลง กล้วยไข่ ให้เด็กฟังหรือเปล่า ผมไม่ได้แต่งให้เด็กนะ แต่เด็กชอบเยอะเลย ผมแต่งเพลง นิทานหิ่งห้อย ให้พ่อแม่เล่าให้เด็กฟัง แต่คนไม่มีลูกก็ฟังเพลงนี้ได้นะ หนุ่มสาวก็ฟังเพลงนี้ได้นะ ผมว่าในแต่ละคนจะรับอะไรบางอย่างในงานศิลปะ ได้ไม่เหมือนกัน และไม่ใช่ว่าผิดนะ เมื่อผมไปดูละครใบ้ มีคนถามว่านี่แปลว่าอะไร ผมก็บอกว่าผมก็ไม่เข้าใจ แต่ผมมีความสุขกับเรื่องนี้ คนอื่นไม่จำเป็นต้องชอบเหมือนผม การที่เราดูละครใบ้ไม่เข้าใจ ไม่ใช่ความผิดเรานะ”

เรื่องนี้ตั้งใจส่งไปขายในตลาดต่างประเทศด้วย

“ผมตั้งใจให้เรื่องนี้ไปขายในตลาดโลกให้ได้ เรื่องนี้ขายได้แค่นี้เรื่องหน้าต้องไปอีก เพราะเราซื้อไปเยอะแล้วเราไปขายเขาบ้าง ตอนนี้ที่ขายได้แล้วคือรัสเซียกับเกาหลี โดยเราให้ทอดด์ ลาเวลล์ เป็นคนคุมเสียงพากย์ภาษาอังกฤษ คือเราไปแบบตั้งใจ เราไปแบบจะบุก แล้วมีปัญหาหนึ่งก็คือ มีบางชาติ ไม่ดูหนัง sub-title เขาดูหนังภาษษอังกฤษเท่านั้น อเมริกาไม่ดูหนัง sub ไม่ยอมดูเลย ในเมื่อเราจะไปแล้ว เราก็ต้องไปให้สุด”

ในการ์ตูนไทยเมื่อไปต่างประเทศเราต้องสร้างเอกลักษณ์ของตัวเอง?

“ผมเชื่อว่าเราไม่ต้องพยายามหานะมันจะออกมาเอง เพราะเราเป็นคนไทยทำ เหมือนเราดูอนิเมชั่นฝรั่งเศส มันมีวัฒนธรรมของยุโรปอยู่ เราดูจิบิเราจะรู้เลยว่า การถอดรองเท้าเข้าบ้านมันเป็นวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่น ในวัฒนธรรมเราไม่ต้องพูดว่า รำ โขน หรือ มวยไทย ไม่จำเป็น ในเรื่องนี้ตัวละครพูดคำว่าน้า เด็กๆไหว้กันด้วยนะ ประเทศไหนมีไม่มีหรอก หรือความอ้อนน้อมอะไรบางอย่าง เด็กมีต่อผู้ใหญ่ อย่างนี้มันเป็นวัฒนธรรมของเรา ส่วนเรื่องอาร์ตเรามีอยู่แล้ว เช่น เราอุณาโลมใส่บนหลังหุ่น เอาคิ้วหนุมานที่เป็นหัวโขนมาใส่เลย ทั้งอันแล้วบิดให้เป็นเหล็กๆ ตลาดก็เป็นตลาดไทยๆเรา”

การให้ชาวต่างชาติยอมรับในการ์ตูนไทย

“ถ้าเขายอมรับฝีมือเรา เขายอมรับเอง คนที่ชอบหนังเกาหลี เขาชอบที่ผลงานก่อน ซัมซุงก็ไม่ได้มีอะไรเป็นเอกลักษณ์เกาหลีเลยนะ ผมว่าเราต้องบุกไปก่อน แล้วอยากใส่ก็ใส่ ไม่ใช่เริ่มต้นมาก็ใส่มวยไทยเลย หรือรำไทยเลย ผมว่ามันจงใจไปฝรั่งเขาไม่ได้อยากดู อย่าเงราเองอยากดูฟลามิงโก้ไหม แต่พอไปสเปน เราก็อยากดูแล้วปรบมือให้เขา แต่ถ้าทำหนังฟลามิงโก้มาฉายประเทศเรา เราก็ไม่ดูเหมือนกัน ถ้าหนังดีค่อยไปดูไม่ว่าเป็นฟลามิงโก้หรือเปล่า”

หลังจาก “ยักษ์” ยังคงมีแผนงานสร้างการ์ตูนอนิเมชั่นต่อไป

“ต่อครับ ผมมีแรงผลักดันที่จะทำต่อไป แต่อาจจะทำให้สั้นลง แล้วอาจจะมีอีกทีมมาซ้อนถ้าเป็นไปได้แต่มันก็ขึ้นกับหลายอย่างนะ พอผมมีเรื่องยักษ์แล้ว มันก็ง่ายที่จะคุยกับต่างชาติ เรื่องนี้ตอนแรกที่คุยกับต่างขาติ คำถามแรกเลยทำหนังได้ขนาดไหน เราไม่มีคัวอย่างให้เขาดู ตอนนี้เรามีแล้ว ไม่ว่าหนังจะซัคเซซแค่ไหนนะ เราใส่ไปสุดแล้วคุณเข้าไปดูเลย”






Create Date : 20 ตุลาคม 2555
Last Update : 20 ตุลาคม 2555 22:13:28 น. 0 comments
Counter : 2891 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

takeoffjack
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add takeoffjack's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.