วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม


วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด เดิมชื่อ วัดแหลม หรือ วัดไทรทอง ภายหลังได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวใหม่ว่า วัดเบญจบพิตร ซึ่งหมายถึง วัดของเจ้านาย 5 พระองค์ที่ทรงร่วมกันปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างสวนดุสิตขึ้น พระองค์ทรงทำผาติกรรมสถาปนาวัดขึ้นใหม่และพระราชทานามว่า วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม อันหมายถึง วัดของพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 5


ประวัติ

วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร เดิมเป็นวัดราษฎร์ ชื่อ วัดแหลม เนื่องจากตั้งอยู่บริเวณปลายแหลมที่สวนต่อกับทุ่งนา หรือ มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วัดไทรทอง เนื่องจากอาจมีต้นไทรอยู่ภายในวัด ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างเมื่อใด เมื่อ พ.ศ. 2369 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ขึ้น พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพนมวัน กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาศิลา ทรงเป็นแม่ทัพรักษาพระนคร โดยทรงตั้งกองบัญชาการทัพที่วัดแหลม หลังจากปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์แล้ว กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ พร้อมพระอนุชาและพระขนิษฐาร่วมเจ้าจอมมารดาเดียวกันอีก 4 พระองค์ คือ

* พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากุญชร กรมพระพิทักษ์เทเวศร์ (ต้นราชสกุลกุญชร)
* พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทินกร กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ (ต้นราชสกุลทินกร)
* พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอินทนิล และ
* พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงวงศ์

มีพระประสงค์ที่จะร่วมกันปฏิสังขรณ์วัดแหลม พร้อมทั้งทรงสร้างพระเจดีย์เรียงรายไว้หน้าวัด 5 องค์ ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า วัดเบญจบพิตร หมายความว่า วัดของเจ้านาย 5 พระองค์

ในปี พ.ศ. 2441 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อที่ดินระหว่างคลองผดุงกรุงเกษมจนถึงคลองสามเสนเพื่อสร้างที่ประทับพักผ่อนพระอิริยาบถส่วนพระองค์ โดยพระราชทานนามว่า "สวนดุสิต" (พระราชวังดุสิต ในปัจจุบัน) ซึ่งบริเวณที่ดินที่ทรงซื้อนั้นมีวัดโบราณ 2 แห่ง คือ วัดดุสิตซึ่งอยู่ในสภาพทรุดโทรมโดยถูกใช้เป็นที่สร้างพลับพลา และวัดร้างอีกแห่งซึ่งจำเป็นต้องใช้ที่ดินของวัดสำหรับตัดเป็นถนน พระองค์จึงทรงกระทำผาติกรรม สร้างวัดแห่งใหม่เพื่อเป็นการทดแทนตามประเพณี โดยทรงเลือกวัดเบญจมบพิตรเป็นวัดที่ทรงสถาปนาตามพระราชดำริว่า การสร้างวัดใหม่หลายวัดยากต่อการบำรุงรักษา ถ้ารวมเงินสร้างวัดเดียวให้เป็นวัดใหญ่ และทำโดยฝีมือประณีตจะดีกว่า จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้ทรงออกแบบก่อสร้างพระอุโบสถและถาวรวัตถุอื่น ๆ และมีพระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) เป็นนายช่างก่อสร้าง

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2441 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมายังวัด ในการนี้ทรงมีพระบรมราชโองการประกาศพระบรมราชูทิศถวายที่ดินให้เป็นเขตวิสุงคามสีมาของวัด พร้อมทั้งพระราชทานนามวัดใหม่ว่า วัดเบญจมบพิตร อันหมายถึง วัดของพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 5 และเพื่อแสดงลำดับรัชกาลในมหาจักรีบรมราชวงศ์ ต่อมา พระองค์ได้ถวายที่ดินซึ่งพระองค์ขนานนามว่า ดุสิตวนาราม ให้เป็นที่วิสุงคามสีมาเพิ่มเติมแก่วัดเบญจมบพิตร และโปรดฯ ให้เรียกนามรวมกันว่า วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

เมื่อมีการจัดระเบียบพระอารามหลวงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี พ.ศ. 2458 วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามจัดเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ดังนั้น ชื่อวัดจึงมีสร้อยนามต่อท้ายด้วย "ราชวรวิหาร" ดังเช่นในปัจจุบัน



พระอุโบสถ ลักษณะทั่วไปของพระอุโบสถ เป็นแบบจตุรมุข มุขด้านตะวันออกขยายยาว ด้านเหนือและใต้มีมุขกระสันต่อกับพระระเบียง หลังคา ๔ ชั้น ด้านมุขกระสันทิศเหนือและทิศใต้ ๕ ชั้น มีพระระเบียงโอบรอบด้านหลัง สำหรับหินอ่อนที่ประดับตกแต่งพระอุโบสถ พระระเบียง ตลอดจนสถานที่อื่นๆ สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงวัดขนาดทำแบบส่งไปเป็นตัวอย่าง เรียกประกวดราคาโดยตรงจากบริษัทขายหินอ่อน ประเทศอิตาลี
ในการออกแบบประดับหินอ่อน มีวิศวกรและสถาปนิกชาวอิตาเลียน จากกรมโยธาธิการ ร่วมดำเนินการด้วยคือ วิศวกร อัลเลกริ (Carlo Allegri) ประสานงานสั่งซื้อหินอ่อน, สถาปนิก ตะมาโย (Mario Tamagno) เป็นผู้ช่วยเขียนแบบบางส่วน
หินอ่อนทั้งหมดได้มีการสั่งซื้อและเรียกประกวดราคาไปหลายแห่ง ส่วนหนึ่งเป็นหินอ่อนจากห้างโนวี ยัวเสปเป้ (Novi Guiseppe) เมืองเยนัว กับหินอ่อนจากเมืองคาร์รารา (Carrara) ประเทศอิตาลี ที่ถือว่าเป็นเมืองที่มีหินอ่อนมากและดีที่สุด มีเอกสารหลักฐานการสั่งซื้อมากมายเป็นหลักฐาน มิใช่เป็นหินอ่อนที่เหลือจากสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคมตามที่นักเขียนหลายๆ คนเข้าใจและเขียนเผยแพร่อยู่ในหนังสือต่างๆ แต่อย่างใด ในช่วงแรกมีมิสเตอร์ มูโซ่ (Mr. L. Mosso) ซึ่งเป็นช่างจากบริษัทขายหินอ่อน เป็นนายช่างประดับหินอ่อน มีช่างคนไทยเป็นลูกมือ
























พระระเบียง (วิหารคต) สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงออกแบบพระระเบียง ให้เชื่อมต่อมุขกระสันพระอุโบสถ ทั้งด้านทิศเหนือและทิศใต้ โอบอ้อมไปบรรจบด้านหลังพระอุโบสถ โดยเว้นเนื้อที่เป็นลานกว้าง มีประตูด้านทิศตะวันตก ตรงกับมุขตะวันตกของพระอุโบสถ ด้านใต้และด้านเหนือ มีด้านละ ๒ ประตู บานประตูด้านนอกติดแผ่นโลหะนูนภาพเสี้ยวกาง ด้านในเขียนลายรดน้ำภาพเหมือนกับด้านนอก








พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปนั่งสมาธิราบ ปางมารวิชัย สมัยสุโขทัย มีเรือนแก้ว ประทับนั่งเหนือรัตนบัลลังก์หินอ่อน (เรือนแก้วนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ ให้ทำถวาย เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๕ แต่ช่างทำไม่งาม รัชกาลที่ ๗ จึงโปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขใหม่สวยงามตามที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน)


















พระที่นั่งทรงผนวช เมื่อเริ่มการสถาปนาวัดเบญจมบพิตร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระที่นั่งทรงผนวชองค์เดิม จากพุทธรัตนสถาน ที่สวนศิลาลัย ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นที่ประทับของพระองค์ในคราวทรงผนวช เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๖ ออกไปปลูกที่วัดเบญจมบพิตร เพื่อเป็นกุฏิเจ้าอาวาส โดยรักษารูปแบบเดิมไว้ เป็นหมู่กุฏิประกอบด้วย "พระที่นั่งทรงผนวช" อยู่ด้านทิศเหนือ "พระกุฏิ" อยู่ด้านทิศใต้ กับกุฏิ ๒ ห้อง ๒ หลัง อยู่ด้านตะวันออกและตะวันตก มีหอเสวยกลาง มีลานหินอ่อนโดยรอบ ทุกหลังมีช่อฟ้า ใบระกา ลำยอง ลงรักปิดทองทึบ








สะพานข้ามคลอง เป็นสะพานเหล็กหล่อ โดยเสาสะพานละ ๔ ต้น พร้อมโครงเหล็ก สั่งทำจาก "LARINI NATHAN & C MILANO (ITALIA) 1902" ประเทศอิตาลี พื้นคอนกรีต โค้งข้ามคลอง ราวสะพานเป็นเหล็กหล่อลายไทยทั้ง ๒ ด้าน บนราวสะพานมีป้ายจารึกสะพานละ ๒ ป้าย โปรดเกล้าฯ ให้กรมโยธาธิการดำเนินการสร้างขึ้นทั้ง ๓ แห่งคือ

- สะพานพระรูป อยู่ด้านทิศตะวันออก สร้างขึ้นด้วยทุนทรัพย์ค่าจำหน่ายพระรูปจำหลักแผ่นทองแดงกาไหล่ทอง ที่ "พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพศาตรศุภกิจ" ถวายช่วยในการสถาปนาวัดเบญจมบพิตร พ.ศ. ๒๔๔๓
- สะพานถ้วย อยู่กลางระหว่างสะพานพระรูปกับสะพานงา สร้างขึ้นด้วยเงินที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานถ้วยชาลายทองที่หายาก ให้จำหน่ายในการออกร้านงานประจำปีวัดเบญจมบพิตร พ.ศ.๒๔๔๓
- สะพานงา อยู่ด้านตะวันตก สร้างขึ้นด้วยเงินจำหน่ายงาช้างที่ "พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ" ถวายเพื่อจำหน่ายในงานออกร้านประจำปีวัดเบญจมบพิตร พ.ศ.๒๔๔๓
สะพานทั้ง ๓ นี้ สร้างเสร็จทรงพระราชอุทิศถวายในวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๔๔๕ พร้อมกับหอระฆัง และศาลาตรีมุขสะพานน้ำอีก ๒ หลัง























ขอบคุณข้อมูลจาก
- วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
- //www.watbencha.com





...รูปชุดนี้ถ่ายไว้ตั้งแต่เมื่อครั้งวัดเบญจมบพิตรยังบูรณะซ่อมแซมไม่เสร็จ รูปพระอุโบสถจึงเป็นดังที่เห็น ได้ยินว่าปัจจุบันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ตั้งใจไว้ว่าจะกลับไปถ่ายใหม่อีกรอบ

นอกเหนือจากความงดงามของพระอุโบสถอันเป็นที่กล่าวขานกันด้วยความชื่นชมแล้ว ภายในวัดก็ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่น่าสนใจไม่น้อย

ปกติเวลาไปเที่ยวถ่ายรูปที่ไหน เราก็มักอยากจะรู้ความเ็ป็นมาเป็นไปของที่นั่นเสมอ ไม่ว่าจะก่อนไปหรือหลังไป บางครั้งไปแบบรีบๆ ยังไม่ได้หาข้อมูล กลับมาดูรูปที่ถ่าย พอไปหาข้อมูลแล้วก็เออ.. หลายรูปที่เราถ่ายมานี่ก็โอเคสำหรับตัวเองอยู่นะ อย่างน้อยคนถ่ายก็ได้ความรู้เพิ่มขึ้นล่ะ...







Create Date : 05 กันยายน 2554
Last Update : 5 กันยายน 2554 7:06:10 น.
Counter : 2930 Pageviews.

0 comments

Lcristatus
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]



กันยายน 2554

 
 
 
 
1
2
3
4
6
7
8
9
10
11
12
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30