สัจจะนั้นมีเพียงหนึ่ง แต่หนทางรู้ซึ้งนั้นมีหลากหลาย...
Group Blog
 
<<
มกราคม 2554
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
19 มกราคม 2554
 
All Blogs
 
๐ สุภาษิต - ล้านนา



๑.
ตอกสั้น ฮื่อมัดตี้กิ่ว สิ่วสั้นฮื่อสิ่วไม้บาง
(ตอกไม้ไผ่อันสั้นๆ ให้เอาใช้มัดที่ของเล็กๆ สิ่วอันเล็กๆให้ใช้เหลาไม้ท่อนบางๆ)


สุภาษิตนี้สอนว่า การจะใช้ประโยชน์อะไร ต้องใช้ให้เหมาะสมกับงาน เปรียบเสมือนตอกสั้นๆ จะใช้มัดอะไรที่มันใหญ่ๆก็ไม่ได้ ใช้มัดได้เเฉพาะของที่เล็กๆ และสิ่วอันสั้นๆนั้น จะใช้เหลาไม้ท่อนใหญ่ก็ไม่ได้ ต้องใช้เหลาไม้ที่บางๆ ทว่าในที่นี้มีหมายความอย่างลึกซึ้งกว่านั้น ทำนองว่า ทุกอย่างย่อมมีข้อจำกัด ของมันอยู่แล้ว อย่าไปใช้งานมัน ให้เกินไปกว่าความสามารถของมัน...



๒.
งัวตั๋วใด กิ๋นหญ้าแผกหมู่ กันว่าหมะต๋ายเปิ้นฆ่า ก่ ต๋ายเสือขบ
(วัวตัวใด ไม่กินหญ้าอยู่ในฝูง ท่านว่าไม่ตายเพราะถูกโจรฆ่า ก็โดนเสือขย้ำ)


สุภาษิตนี้ นัยความหมายคงเปรียบได้กับสุภาษิตไทยที่ว่า "อย่าเด่น จะเป็นภัย" กล่าวคือ การทำตัวให้ผิดแผก แตกต่างไปจากคนอื่น ย่อมง่ายต่อการสังเกตเห็นของผู้คน และตกเป็นเป้าสายตา ให้เหล่าอริ เข้าจัดการทำร้ายได้โดยง่าย เช่นเดียวกับ วัวหลงฝูง ถ้าไม่ถูกโจรฆ่า ก็คงถูกเสือขย้ำ



๓.
เมื่อป้อแม่มี กิ๋นขว้างโบ้ะขว้างบ้ะ กันป้อแม่ต๋ายละ เป๋นหมะห่อยหมะนอย
(เมื่อยามมีพ่อ มีแม่ กินทิ้งกินขว้าง ถึงคราวพ่อแม่ตายแล้ว อดๆอยากๆ)


สุภาษิตนี้ มองได้หลายแง่หลายมุมขึ้นอยบู่กับการตีความของแต่ล่ะคน จะตีไปในทาง ความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก พร้อมจะให้ลูกสูบเลือดสูบเนื้อ หาปัจจัยมาบำรุงบำเรอลูก ชนิดที่ว่า "กินทิ้งกินขว้าง" ก็ยังได้ เพื่อไม่ให้ลูกได้ลำบาก ลำบน หากแต่จะมองอีกแง่มุมหนึ่ง จะกลายเป็นกรณี  "พ่อแม่รังแกฉัน" ก็คงจะไม่ผิดอะไรที่จะกล่าวเช่นนั้น



๔.
เสียมบ่ คม ฮื่อใส่ด้ามหนัก ๆ ความฮู้หมะนักฮื่อหมั่นฮ่ำหมั่นเฮียน     
(เสียมไม่คม ให้ใส่ด้ามหนักๆ  ความรู้มีไม่มาก ให้หมั่นศึกษาเล่าเรียน)


สุภาษิตนี้คงไม่ต้องกล่วอันใดให้มากความ
เพราะมีความหมายชัดเจนตามตัวอักษรอยู่แล้ว



๕.
ของกิ๋นลำ อยู่ตี้คนมัก ของฮัก อยู่ตี้คนเปิงใจ๋
(อาหารจะอร่อย อยู่ที่คนชอบ ของจะรัก อยู่คนพึงพอใจ)


สุภาษิตนี้ มีความหมายอย่างง่ายๆว่า ใจใครใจมัน ยากจะฝืน เช่นเดียวกับ อาหารจะอร่อยนั้น ก็อยู่ที่ว่าใครจะชอบรับประทานอะไร เอาลาบไปให้พ่อตา พ่อตาอาจจะชอบกิน ชมลูกเขยไม่ขาดปาก แต่หากเอาไปให้น้องเมีย ก็ใช่ว่าน้องเมียจะชอบกินด้วย อาจจะโยนให้หมากิน โดยที่ยังไม่ได้ชิมดูสักคำก็เป็นได้ ของรักของหวง นั้นก็เช่นเดียวกัน ก็ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของคนผู้นั้นด้วยเช่นกัน


๖. 
กำอู้เข้าหู จะไปถูออกปาก จักยากใจ๋ปายลูน
(คำพูดเข้าหู อย่าพึงถูออกทางปาก จะเหนื่อยยากใจไปในภายหน้า)


 สุภาษิตนี้ เตือนสติให้ระมัดระวังคำพูด คำจา เมื่อยามได้ยินคำพูดที่ทำให้ไม่พอใจ อย่าเพิ่งไปโต้ตอบกลับ ให้คิดให้รอบคอบเสียก่อน เพราะอาจจะกลายเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต เหมือนอย่างเรื่อง "น้ำผึ้งหยดเดียว" บ่อยครั้ง ก็เป็นเรื่องเข้าใจผิด ที่จะทำให้ผิดใจกันไป จนยากที่จะแก้ไขในภายหลัง..  



๗.
มีนึ่งแล้วจะแอมแถมสอง ขี่เฮือน้ำนอง ซ้อนสองจั้งล่ม
(ได้หนึ่ง แล้วจะเอาสอง ขี่เรือเมื่อยามน้ำนอง ซ้อนสองเรือมักล่ม)


สุภาษิตนี้คล้ายๆกับสุภาษิตไทยที่ว่า "โลภมากมักลาภหาย" หรือ"จับปลาสองมือ" แต่ในที่นี้ใช้ในเชิงเรื่องชู้สาว กล่าวถึง คนที่มีแฟนเป็นตัวเป็นตนอยู่แล้ว ก็อย่าไปเสาะแสวงหามาเพิ่มอีกให้เป็น 2 เป็น 3 ประเดี๋ยวจะเป็นเหมือน ขี่เรือซ้อนสอง ยามน้ำนอง ไม่ล่ม ก็ร่อแร่ นั่นเอง...



๘.
เปิ้นหมะถาม จะไปกล่าว เปิ้นหมะป่าว จะไปไป
(เขาไม่ได้ถาม ก็อย่าเพิ่งไปตอบ เขาไม่ได้ชวน ก็อย่าไป)


มีความหมายตามตัวอักษรเลย...



๙.
ใจ๋บ่ แข็ง บ่ ได้ขี่จ๊างงา ใจ๋บ่ กล้า บ่ ได้เป๋นป้อเลี้ยง
(ใจไม่แข็ง ไม่ได้ขี่ช้างพลาย ใจไม่กล้า ไม่ได้เป็นพ่อเลี้ยง(เจ้าพ่อ))


บรรพชนในอดีตไม่ว่าจะชาติไหนๆ ก็มักจะมีอุทาหรณ์-สุภาษิตเกี่ยวกับการใช้ความกล้าหาญไว้เตือนสติ สอนลูกสอนหลานของตัวเองอยู่เสมอๆ นั่นก็เพราะความกล้านั้น เปรียบได้กับดาบสองคม กล่าวคือ บ่อยครั้งที่ ความกล้า กับความบ้าระห่ำ มักจะมีเส้นบางๆคั่นเอาไว้จนแทบจะแยกแยะไม่ออก ว่าอย่างไหนคือความกล้า อย่างไหนคือความบ้า  ผลตอบแทนของความกล้านั้นยิ่งใหญ่นัก กลับกัน ผลตอบแทนของความบ้านั้น ไม่ได้ต่างอะไรกับ แม่งเม่าที่บินเข้ากองไฟ เลยกระนั้น...


สุภาษิตนี้จึงมุ่ง สอนให้คนที่คิดการใหญ่ จะต้องมีความกล้าหาญ กล้าในที่นี้ หมายถึงกล้าไปในทางที่ถูกที่ควร เหมาะสมแก่งานที่จะทำ เช่นเดียวกับการจะขึ้นขี่ช้างก็ต้องใช้ความกล้า ในแบบคนที่จะขี่ช้าง จะนำเอาความกล้าแบบนักเลงประจำซอย ไปใช้กับช้าง คงจะถูกช้างเหยียบตายเป็นแน่แท้ แต่หากรักจะเป็นเจ้าพ่อ ก็ต้องใช้ความกล้าแบบผู้นำที่ดี  จะนำเอาความกล้าแบบคนขี่ช้างมาใช้ในวงการนักเลง ก็คงจะถูกหัวเราะเยาะให้เป็นที่อับอายเอาได้....



๑๐.
หันเปิ้นมี จะไปไค่ได้ หันเปิ้นยากไร้ จะไปดูแควน
(เห็นเขามี อย่าไปอยากได้(เหมือนเขา) เห็นเขายากไร้ อย่าได้ไปดูแคลน)


สุภาษิตนี้ สอนให้รู้จักประมาณตนว่า เมื่อเห็นเขามีอะไรก็อย่าไปอิจฉา อยากได้ อยากมีเหมือนอย่างเขา (ภาษาล้านนาเรียกว่า ข๋อย) มีก็ให้พอดีสมแก่ฐานะของเราก็พอ อย่ามัวแต่ไปไล่ตามกระแสวัตถุ ประเดี๋ยวจะพากันล่มจม เป็นหนี้ เป็นสินเขา ไปเสียเปล่าๆ อนึ่งเห็นคนจน คนตกทุกข์ได้ยาก ก็อย่าได้ดูถูกดูแคลนเขา เพราะสืบไปภายภาคหน้า เขาอาจจะกลายเป็นคนมั่งมียิ่งกว่าเราก็ได้



๑๑.
หางหมาลอดรั้ว ถุดถู้ถุดถุน คนเนรคุณ ร้ายหลังดีหน้า
(หางสุนัขลอดรั้ว จะหรุบลง คนเนรคุณ ร้ายหลัง ดีหน้า)


สุภาษิตนี้กล่าวถึง พฤติกรรมของคนเนรคุณมักจะหน้าไหว้หลังหลอก
เช่นเดียวกับสุนัขที่ลอดรั้ว ต้องหรุบหางลงเสมอ...



๑๒.
หน้าซื่อเหมือนหมาขี่รถ หน้าชดเหมือนหมาขี่ล้อ


สำนวนนี้มีความหมายเดียวกับ สำนวนไทยที่ว่า "คางคกขึ้นวอ"
กล่าวถึงคนที่ได้ดิบได้ดี แล้วลืมกำพืดตัวเอง
พอเจอใครที่คิดว่าด้อยกว่าตน
ก็จะทำเชิด หยิ่ง คล้ายกับหน้าของสุนัขยามขี่รถนั่นเอง



๑๓.
มดง่ามมักมันหมู สัตรูมักกล่าวโทษ โปรดฅนทุกข์ช่างลืมคุณ
(มดง่ามชอบกินมันหมู ศัตรูมักกล่าวโทษ ช่วยเหลือตกอับ มักลืมบุญคุณ)


- ภาษิตนี้ มีความหมายชัดเจนดีอยู่แล้ว
(*หมายเหตุ - ไม่เห็นด้วย ขึ้นอยู่กับคนมากกว่าน่ะ)



๑๔.
เว้นงัวเว้นฅวายเว้นหื้อพอสอก
เว้นวอกหื้อเว้นพอวา
เว้นฅนพาลาหื้อพอแสนโยชน์
(อยู่ห่างจากวัวจากควาย ให้ห่างสักศอก
ห่างจากลิงจากค่าง ให้ห่างพอวา
ห่างจากคนพาลให้ห่างพอแสนโยชน์)


สุภาษิตนี้กล่าวถึงการเลือกคบคน ว่าอย่าได้คบค้าสมาคมกับคนพาล เจอที่ไหนให้รีบออกห่างไปให้ไกลๆถึง แสนโยชน์ (1โยชน์ เท่ากับ 16กิโลเมตร)
เพราะคนพาลนั้น น่ากลัวยิ่งกว่า วัวควาย เสียอีก ห่างวัวห่างควาย ออกห่างให้พอศอก เพื่อระวังรัศมีการขวิดของมันก็พอ ส่วนห่างลิงห่างค่าง (คำว่า วอก ภาษาล้านนาหมายถึงสัตว์ตระกูลลิง ขณะเดียวกันก็เป็นศัพท์แสลงหมายถึง คนที่ชอบโกหกเก่ง) ให้ห่างสักวา ให้พอที่มันจะทำร้ายเราไม่ได้ ส่วนคนพาลนั้น  อย่าได้เจอเป็นดีที่สุด...


๑๕.
น้ำมันบ่เตมต้น มันทึงดัง
(น้ำไม่เต็มคนโท ยังไงๆมันก็มีเสียง)


สุภาษิตนี้ มีความหมายไปในทำนองว่า "คนรู้ไม่พูด คนพูดไม่รู้" คนไม่รู้ ก็เช่นเดียวกับคนโทที่ใส่น้ำไม่เต็ม เมื่อถูกเขย่าก็มักจะมีเสียงเล็ดออกมา กลับกัน คนโทที่ใส่น้ำจนเต็ม เปรียบกับคนที่มีความรู้อย่างเต็มเปี่ยม แม้จะเขย่าให้แรงสักเท่าใด ก็ไม่มีเสียงเล็ดรอดออกมานั่นเอง..



๑๖.
ไม้ต้นเดียวบ่เปนกอ ปอต้นเดียวบ่เปนเหล่า
(ไม้ต้นเดียวไม่นับเป็นกอ ปอต้นเดียวไม่ถือเป็นป่า) - -"


สุภาษิตนี้กล่าวถึง ผลของ ความสามัคคี จะทำให้เกิดประโยชน์ได้มากกว่าการทำงานแบบ "ไม้ต้นเดียว" เป็นที่ที่รู้กันดีว่าอยู่แล้ว ป่าไม้นั้น มีประโยชน์มหาศาล ทั้งต่อมนุษย์ และสัตว์น้อยใหญ่ และแน่อนอนว่า ไม้ต้นเดียว ย่อมไม่อาจเป็นป่าได้ ฉันใด ก็ฉันนั้น...



๑๗.
ใคร่เปนเจ้าหื้อหมั่นเรียนคุณ ใคร่เปนขุนหื้อหมั่นเข้าเฝ้า
ใคร่กินเข้าหื้อหมั่นไพโท่งไพนา ใคร่เปนเสฏฐีหื้อหมั่นค้า
ใคร่เปนขี้ข้า หื้อหมั่นเหล้นภ้ายหลังหลาย
ใคร่ตายโหง หื้อหมั่นนอนเมื่อวัน
ใคร่เวิยหื้อคลาน ใคร่นานหื้อต่อ
ใคร่นั่งแท่นม่อ ค็หื้ออด


(อยากเป็นเจ้าให้ขยันพากเพียรเรียนหนังสือ
อยากเป็นขุนนางก็ให้ขยันเข้าเฝ้า
อยากกินข้าวให้ขยันทำไร่ทำนา
อยากเป็นเศรษฐีให้ขยันทำมาค้าขาย
อยากเป็นขี้ข้า ให้ขยันเล่นการพนัน
อยากให้เขารักเร็วๆให้คลาน(อ่อนน้อมถ่อมตน)
อยากให้เขารักนานๆ ให้ต่อ(ไมตรี)
อยากนั่งแท่นเจ้าเมือง ก็ให้มีความอดทน)


สุภาษิตนี้ ความหมายชัดเจนตามตัวอักษรเลย...



๑๘.
เมื่อรู้ค็พอขวาย เมื่ออายค็พอเถ้า เมื่อรู้คำพระเจ้าค็พอเข้าอยู่ในหล้อง
(กว่าจะรู้ก็สาย กว่าจะอายก็แก่ กว่าจะรู้ธรรมของพระพุทธเจ้าก็เมื่อเข้าโลง)


สุภาษิตนี้เตือนสติ เกี่ยวกับการใช้ชีวิต ว่าให้ตั้งตนอยู่บนความไม่ประมาท
มีความหมายเดียวกับสุภาษิตไทยที่ว่า "ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา"



๑๙.
ฅนหมั่น ยากไร้ มีฅนสงสาร ขี้คร้านแอวยาน ใผบ่ผ่อหน้า
(คนขยันหมั่นเพียร แม้ยากไร้ ก็มีคนสงสาร คนขี้เกียจสันหลังยาว ไม่มีใครสนใจ)


ความหมายชัดเจนอยู่แล้ว...



๒๐.
หนังแห้งบ่เคยพอง
(หนังแห้งไม่เคยพอง)


มีความหมายเดียวกับ สุภาษิตไทยที่ว่า "วัวลีมตีน"



๒๑.
อู้หื้อเพิ่นรัก ยากนักจักหวัง อู้หื้อเพิ่นชัง คำเดียวค็ได้
(พูดให้เขารัก ยากนักจะหวัง พูดให้เขาเกลียดชัง พูดคำเดียวก็ได้)


สุภาษิตนี้มีความหมายตรงตัวชัดเจนแล้ว..



๒๒.
ค่อยอยู่ไพตามน้ำ ทำไพตามตัว น้ำเพียงใด ดอกบัวเพียงอั้น
(ค่อยอยู่ไปตามน้ำ ทำไปตามกำลังตัว ,,น้ำมีแค่ไหน ดอกบัวอยู่เพียงนั้น)


สุภาษิตนี้กล่าวว่า จะทำสิ่งใดก็ให้พอควรแก่ฐานะ
เช่นเดียวกับดอกบัวที่ไม่ว่าจะอยู่ในน้ำลึกตื้นระดับไหน
ลำต้นก็จะยาวพอ ที่จะชู่ช่อออกดอกสวยงามได้ เท่านั้น



๒๓.
ยามเปนดีมีเก้าป้าสิบป้า เสื้อปุดหลังขาดหน้า ป้าฅนเดียวค็หาย
(ยามมั่งมี มีเก้าป้าสิบป้า ยามเสื้อขาดหลัง ขาดหน้า ป้าคนเดียวก็ไม่มี)


สุภาษิตนี้ เตือนสติ ให้ระวังความสัมพันธ์ทางสายเลือด ในระดับญาติๆ
ที่ส่วนใหญ่มักจะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เฉพาะเวลาที่มีผลประโยชน์ต่อกันเท่านั้น



๒๔.
ลูกใพ้กับแม่ผัว เหมือนดุ้นหลัวกับไม้ก้อม
(ลูกสะใภ้กับแม่สามี เหมือนท่อนฟืนกับไม้เชื้อ)


(*แปล ไม้ก้อม เป็นภาษาไทยกลางไม่ถูกแฮะ)
(ไม้ก้อม เป็นไม้สนชนิดหนึ่ง เวลาถูกตากแห้ง
แล้วเอามาลนไฟ จะกลายเป็นไม้ที่ติดไฟง่ายมาก)


สุภาษิตนี้ สอนให้ระมัดระวัง ความสัมพันธ์ระหว่างลูกสะใภ้กับแม่สามี ที่พอมีเรื่องกระทบกระทั่งกันนิดหน่อย ก็มักจะมีการทะเลาะเบาะแว้งกันอยู่เสมอๆ นั่นเพราะทั้งสองคน ต่างก็รักคนๆเดียวกัน ลึกๆจึงไม่วายที่จะหนีไม่พ้นเรื่องหึงหวงตามประสาผู้หญิง เช่นเดียวกับไม้ก้อม และท่อนฟืน ที่พอมีไฟติดนิดหน่อย ก็จะไหม้ลุกลามต่อไปจนหมด สงครามความรักระหว่างลูกสะใภ้และแม่สามี แม้ไม่ดุเดือดเหมือนสงครามเมียน้อย แต่ก็เลือดเย็นไม่แพ้กัน...



๒๕.
กินเข้าแล้วนอน ผีปั๋นปอรวันละเจ็ดเทื่อ
(กินข้าว แล้วนอน ผีอวยพรวันล่ะเจ็ดครั้ง)


สุภาษิตนี้ เตือนสติ คนที่ใช้ชีวิตแบบกินๆนอนๆ ไม่รู้จักอออกำลังกาย ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่บั่นทอนร่างกาย รังแต่จะทำให้มีโรคภัยไข้เจ็บถามหาอยู่เสมอๆ


๒๖.
อมไว้หาย คายออกอยู่


สุภาษิตนี้กล่าวถึง เรื่องราว หรือเหตุการณ์บางอย่างงที่ไม่ควรพูด
ก็ควรจะเก็บเอาไว้เป็นความลับอยู่อย่างนั้นต่อไป
เพราะไม่ช้านาน เวลาก็จะทำให้มันลืมหายไปเอง
แต่หากนำเอาเรื่องดังกล่าว ไปพูดให้คนอื่นฟัง
เหตุการณ์นั้นก็จะไม่มีวันหายไปไหน
จะยังถูกนำไปเล่าต่อไป ปากต่อปาก ไม่มีสิ้นสุดอยู่นั่นเอง


๒๗.
หลับลุกเจ๊า กิ๋นผักยอดปล๋าย หลับลุกขวาย กิ๋นผักยอดเก้า
(นอนตื่นเช้า ได้กินยอดปลายผัก นอนตื่นสาย ได้กินยอดต้นผัก)


สุภาษิตนี้ กล่าวถึง โทษของการนอนตื่นสาย ที่มักจะทำอะไรชักช้าไม่ทันกิน แม้แต่ผัก ก็ต้องกินยอดผักที่ติดลำต้นของมัน ซึ่งเปื้อนดินเปื้อนโคลน เผลอๆหมาอาจเยี่ยวใส่ด้วย เพราะยอดตรงส่วนปลายของมัน โดนคนที่ตื่นเช้าๆ เขาเด็ดไปกินกันจนหมดแล้ว



๒๘.
สิบมื้อซื้อวัน บ่ตันได้กิ๋น เจ้าก็ว่าง่าย ขวายก็ว่าฮ้อน
(เวลาผ่านไปสิบมื้อ ขอต่ออีกวัน ไม่ทันได้กิน
เช้าก็ว่าง่ายๆ สายก็ว่าอากาศร้อน)


สุภาษิตนี้ มีความหมายเดียวกับคำว่า "ผลัดวันประกันพรุ่ง"
มัวแต่หาข้ออ้างอยู่อย่างนั้น งานจะยาก จะง่าย ก็คงไม่มีวันเสร็จสักที...



๒๙.
งูบ่หื้อเกี๊ยด เขียดบ่หื้อต๋าย
(งูไม่ให้โกรธ เขียดไม่ให้ตาย)


สำนวนนี้ มีความหมายเดียวกับคำว่า
"ริ้นไม่ให้ไต่ ไรไม่ให้ตอม"
คือทะนุทะนอน ดูแลกันอย่างดีสุดๆ...



๓๐.
สอนเปิ่นไต่ขัว แต่ตั๋วตกน้ำ
(สอนคนอื่นเดินสะพาน แต่ตัวเองตกน้ำ)


สุภาษิตนี้กล่าวถึง
พฤติกรรมของคนที่มักจะเที่ยวสั่งสอนผู้อื่น
ทั้งๆที่ตัวเองก็ทำแบบนั้นไม่ได้ ซึ่งมักจะไม่น่าเชื่อถือ....



๓๑.
อู้กับคนใบ้ เหมือนผ่าไม้ตั๊ดต๋า อู้กับคนมีผญา เหมือนผ่าไม้โล่งปล้อง
(พูดกับคนไม่มีความคิด เหมือนเอามีดไปผ่าตรงตาไม้ พูดกับคนมีสติปัญญา เหมือนผ่าไม้ไผ่)


มีความหมายตรงตัวชัดเจนดีแล้ว...



๓๒.
ปากเป๋นธรรม ใจ๋ดำ เหมือนหมิ่นหม้อ


มีควาหมายเดียวกับคำว่า "มือถือสาก ปากถือศีล" นั่นเอง



๓๓.
ตุ้มผ้าลาย จ่างหมาเห่า อู้กำเก่า จ่างผิดกั๋น
(ห่มผ้าลาย สุนนัขมักจะไล่เห่า พูดเรื่องเก่าๆ มักจะทะเลาะกัน)


สุภาษิตนี้ เตือนสติ ระวังไม่ให้ขุดคุ้ยเรื่องเก่าๆ
ที่เคยทำให้เจ็บช้ำน้ำใจกันมาก่อน
เพราะมักจะทำให้ทะเลาะขึ้นมาได้อีก



๓๔.
คนเฮาใหญ่แล้ว บ่ถ้าไผสอน จิ๊ฮีดแมงจอน ไผสอนมันเต้น
(คนเราโตๆกันแล้ว ไม่ต้องรอให้ใครมาสอน
จิ้งหรีด แมงกระชอน ใครสอนมันกระโดด)


สุภาษิตนี้ มีความหมายเป็นไปทำนองที่ว่า
อะไรดี อะไรไม่ดี ก็ควรรู้อยู่แก่ใจ
อย่าต้องรอให้ใครมาบอกมากล่าว
เช่นเดียวกับจิ้งหรีด ที่แม้จะไม่มีใครสอนมันมันก็กระโดดได้เอง



๓๕.
คนแก่แล้วบ่ต้องมีไผมาสอน ไม้ขอนนอนมันตึงบ่ตั้ง
(คนแก่แล้ว อย่าให้ใครสอนเลย ขอนไม้นอน มันก็ไม่ตั้ง)


มีควาหมายเดียวกับคำว่า "ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก"



๓๖.
ไม้บ่เนิ้ง เผิ้งบ่ต๋อม แมวบ่งอม หมาบ่ญี่เขี้ยว
(โพลงไม้ไม่เหมาะสม ผึ้งไม่มาทำรัง แมวไม่ฟองขน สุนัขไม่แยกเขี้ยว)


สุภาษิตนี้มีความหมายว่าตรงกับคำว่า "ไม่มีมูลฝอย สุนัขไม่ขี้"
หมายถึง เพราะมันมีเหตุ มันจึงมีผลตามมา



๓๗.
ปี่น้องผิดกัน เหมือนพร้าฟันน้ำ อย่ากำผูกหมั้น ทือเวร
เปอะเปิกนั้น น้ำหากพาเป็น เอาน้ำใสเย็น ซ่วยเหียจิ่งเสี้ยง
พี่น้องผิดกัน เหมือนเหล็กขี้เหมี้ยง เต็มฝนแล้วหาก ทึงมี
เจ้าน้องรัก จุ่งอดขันตี หื้อแปงใจดี เหมือนน้ำทังห้า
(บทค่าว ของพญาพรหมโวหาร)


(พี่น้องทะเลาะกัน เหมือเอามีดพร้าไปฟันน้ำ อย่าได้ผูกเวรต่อกัน
คราบโคลนที่เกิดจากน้ำ  เอาน้ำใสเย็น ล้างออกเสียก็หมดไป
พี่น้องทะเลาะกัน ก็เหมือนเหล็กขึ้นสนิม
แม้จะฝนออกไปแล้ว ก็จะกลับมาเป็นสนิมได้อีก
เจ้าน้องรัก จงอดทน แล้วทำใจดี ให้เหมือนแม่น้ำทั้งห้าเถิด)


สุภาษิตนี้มีความหมายว่า พีน้องทะเลากัน ก็เหมือนเอามีดพร้าไปฟันน้ำ
ฟันแล้ว ไม่ทิ้งรอยเอาไว้ จึงอย่าได้ผูกใจเจ็บเก็บเอาไว้ต่อไปเลย โคลนนั้น เอาน้ำล้างก็ออก หมายถึงไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรที่จะให้อภัยต่อพี่น้องของตน เหล็กเป็นสนิมนั้น ฝนออกแล้ว ยังๆไงมันก็กลับมีขึ้นมาอีก หมายถึง พี่น้องทะเลาะกัน มันเป็นเรื่องธรรมดาๆ เป็นของคู่กัน เช่นเดียวกับสนิมและเหล็ก จึงขอให้มีความอดทน ทำใจดี ให้เหมือนแม่น้ำทั้งห้าเอาไว้เสีย
(คือปัญจมหานทีห้าสายตามคัมภีร์ อันประกอบด้วย คังคา ยมนา อจิรวตี สรภู มหิ)



๓๘.
คบคนบ่ดีมักมีโต่ด คบคนขี้โขด มักเสียของ
(คบคนนิสัยไม่ดี มักมีเรื่องเดือดร้อน คนคนขี้โมโห มักมีเรื่องให้เสียทรัพย์)


สุภาษิตนี้มีความหมายชัดเจนตามตัวอักษรเลย....



๓๙.
นกบ่บินจะไปกำปีกมันอ้า งัวควายบ่กิ๋นหญ้า จะไปตกเขามันลง
(นกไม่อยากบิน อย่าได้จับมันกางปีก วัวควายไม่อยากกินหญ้า อย่าไปกดเขามันลง)


สุภาษิตนี้ มีความหมายว่า อย่าไปบังคับฝืนใจคนอื่น
ให้ทำตามอย่างที่เราต้องการ เพราะมันไม่เกิดประโยชน์อะไร



๔๐.
บ่ดีหลัวกก่อนหมอ บ่ดีซอก่อนปี่
(อย่าอวดฉลาด ก่อนผู้รู้ อย่าสีซอขึ้น ก่อนปี่จะโหมโรง)


สุภาษิตนี้ เตือนสติว่า  อย่าทำอะไรที่มันไม่ถูกกาละเทศะ



๔๑.
บ้านบ่มีฮั้ว หัวบ่มีผม นมบ่มีเต้า เข้าหนมบ่มีใส้ มันบ่เปิง
(บ้านไม่มีรั้ว หัวไม่มีเส้นผม นมไม่มีเต้า ขนมไม่มีใส้ มันไม่เหมาะสม)


สุภาษิตนี้มีความหมายว่า การทำอะไรๆนั้น แค่ทำให้สำเร็จยังไม่พอ
แต่จะต้องทำให้ดี และเหมาะสมกับสิ่งที่ทำตามสมควรด้วย
เหมือนกับบ้านถึงไม่มีรั้ว ก็อาศัยอยู่ได้ แต่ควรจะมีดีกว่า
เพื่อป้องกันการบุกรุก ป้องกันโจรขโมยได้ในระดับหนึ่งฯลฯ
หรืออย่างเช่นเรียนกฎหมาย แต่ไม่มีประมวล ก็เรียนได้ แต่ควรจะมีดีกว่า อย่างนี้ เป็นต้น...



๔๒.
แม่ฮ้างสามผัว งัวสามกาด ขะโยมฮาดสามวัด
(หญิงม่ายสามผัว วัวสามตลาด มักกะทายกสามวัด)


มีความหมายเดียวกับสุภาษิตที่ว่า
"ข้าสามเจ้า บ่าวสามนาย ชายสามโบสถ์ หญิงโสดสามผัว ขรัวสามศึก"
หมายถึงลักษณะของคนที่ไม่น่าไว้ใจ
หญิงม่ายสามผัว คือผู้หญิงที่ผ่านการมีสามีมาแล้วสามครั้ง
ย่อมไม่เป็นที่น่าไว้ใจ เพราะเธอต้องมีข้อเสียอะไรบางอย่าง
ที่ทำให้สามีทั้งสามคนเธอ อยู่ด้วยไม่ได้ จนหนีไปจนหมด...
วัวสามตลาด คือวัวที่ผ่านการขายต่อๆกันมาแล้วสามตลาด
ย่อมไม่เป็นที่น่าไว้ในใจ เพราะวัวตัวนั้นย่อมมีตำหนิอะไรบางอย่าง
จนพ่อค้าที่รับซื้อคนแรกต้องอามาขายต่อ และตกทอดมาจนถึง 3 ตลาด...
และมักกะทายกที่เคยอยู่วัดมาแล้วสามวัดก็ย่อมไม่น่าไว้วางใจ
เพราะต้องมีควาามประพฤติอะไรที่ไม่ชอบมาพากล
จนทำให้ถูกขับออกจากวัดมาแล้วถึงสามวัด...



๔๓.
คนจะดี ดีเมื่อผ้าอ้อมปอก คนจะวอก มันตึงวอกต้าวต๋าย
(คนจะดี ก็ดีตั้งแต่เป็นเด็กๆ คนจะโป้ปดมดเท็จ มันก็เป็นแบบนั้นไปจนวันตาย...)


มีความหมายชัดเจนตามตัวตัวอักษร..



๔๔.
คนใบ้ได้จ๋า หม้อแก๋งหนา ได้เดือน มันเมิน
(คนใบ้ จะได้พูด หม้อแกงหนาๆ น้ำจะเดือน มันช้า...)


มีความหมายเดียวกับคำว่า "กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้"



๔๕.
มีดจะบั้งจะเสียก็ย้อนไม้เป๋นต๋า คนจะเสียผญา ก็ย้อนเปื่อนปาเข้าวงเหล้า
(มีดจะบิ่น จะพัง เพราะฟันตรงตาไม้ คนจะเสียสติปัญญา ก็เพราะเพื่อนพาเข้าวงเหล้า)


มีความหมายชัดเจนดีแล้วอีกเช่นกัน...



๔๖.
ใคร่มีเงินนัก หื้อปลูกผักไว้กิน ใคร่เป๋นหนี้สิน หื้อเอาตึงแป๊ะ ตึงยืม
(อยากมีเงินเยอะๆ ให้หมั่นปลูกผักไว้กินเอง อยากเป็นหนี้สิน เอาทั้งเชื่อ เอาทั้งยืม...)


มีความหมายชัดเจนแล้ว...



๔๗.
ถึงเป๋นเจ้าจ้างมหาเศรษฐี หากยะบ่ดี ไผบ่อวดอ้าง
(ถึงจะเป็นมหาเศรษฐี หากทำตัวไม่ดี ก็ไม่มีใครสรรเสริญ)


มีความหมายชัดเจนแล้วอีกแล้วกัน...



๔๘.
คนหลั๊วกอยู่ตี้เก่า บ่เต้าคนง่าวเตียวตาง , หลั๊วกคนเดียว บ่เต้าง่าวตึงหมู่
(คนฉลาดอยู่ที่เดิม มิสู้คนโง่เขลาเดินถนน , คนฉลาดคนเดียว มิสู้คนโง่หลายๆคน)


สุภาษิตนี้มีความหมายว่า
1. คนฉลาดที่ไม่ทำงานทำการอะไรเลย สู้คนโง่ที่ขยันหมั่นเพียรไม่ได้...
2. คนฉลาดแต่ต้องทำงานคนเดียว สู้คนโง่ที่งานกันเป็นหมู่คณะไม่ได้...



๔๙.
ตางไปวัดหมอง ตางไปหนองเหลี้ยม
(ทางไปวัดหมอง ทางไปหนองสะอาดหมดจด)


สุภาษิตนี้ ใช้เปรียบเทียบกับ คนที่หลงผิดจนยากที่จะเห็นทางธรรม



๕๐.
สิบเถี่ยนพร้า บ่เต่าคมขวาน
หลานสิบคน บ่อเต่าลูกเต้า
สิบลูกเต้า บ่เต่าผัวฮักเมียแปง
(คมมีดพร้าสิบเล่ม ไม่เท่าคมขวานเล่มเดียว
มีหลานสิบคน ไม่เท่ามีลูกในใส้คนเดียว
มีลูกสิบคน ไม่เท่ามีสามี-ภรรยา คู่ทุกข์คู่ยาก)


มีความหมายชัดเจนตามตัวอักษรเลยฉะนั้น....



๕๑.
จั๊บใจ๋แฮ้ง  บ่แหน้นใจกา  จั๊บใจครูบา  บ่จั๊บใจพระน้อย ,,
จั๊บใจ๋แฮ้ง บ่แหน้นใจกา จับใจหมอยา พยาธิบ่สู้ ,,
จั๊บใจ๋งู บ่จูใจ๋เขียด จับใจ๋เปี๊ยด บ่จั๊บใจ๋ไม้กาน,,
จั๊บใจ๋หลาน ทรมานใจ๋อุ้ย จั๊บใจฝ่อเซิ้ง บ่เปิงใจ๋ฝ่อเงี้ยว,,


ภาษิตโบราณ  “จับใจแฮ้ง  บ่อแหน้นใจกา  จับใจครูบา  บ่จับใจพระน้อย” เป็นภาษิตที่ใช้สั่งสอนให้มีคุณธรรม  รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เป็นคำโบราณพื้นบ้านของนาหมื่น
“จับใจแฮ้ง  บ่อแหน้นใจกา  จับใจครูบา  บ่จับใจพระน้อย” มีความหมายว่า ความพอใจของอีแร้ง  ไม่เป็นที่พอใจ หรือถูกใจอีกา ถูกใจครูบา  หรือผู้เฒ่าผู้แก่  แต่ไม่ถูกใจสามเณรน้อยทั้งหลาย


คำโบราณนี้  เป็นเครื่องเตือนใจ  สอนให้รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา รู้จักเห็นใจผู้อื่น  ไม่ทำอะไรที่เป็นที่ข่มเหงจิตใจ  ทำร้ายน้ำใจผู้อื่น หรือ ถ้ารักใครก็ทำดีต่อผู้นั้น  ชังหรือไม่ชอบหน้าใครก็ไม่ควรทำให้ผู้นั้นเดือดร้อน หรือมีอคติต่อผู้อื่น  ควรจะดำรงตนอยู่ในหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เป็นคุณธรรมเบื้องสูงที่ทำให้การอยู่ร่วมกันเป็นไปอย่างราบรื่น



๕๒.
ย่ะก๋ารคนเดียว เหมือนจะต๋าย ย่ะก๋ารหลายคนเหมือนเหล้น
(ทำงานคนเดียว เหมือนจะเป็นจะตาย ทำงานหลายคนเหมือนเล่นกัน)


หมายถึง ทำงานหลายคนย่อมสนุกกว่าการทำงานคนเดียว...



๕๓.
แมวบ่อยู่ หนูล่า บ่มีคนว่า มันจ่างฉิบหาย
(แมวไม่อยู่ หนูออกล่า ไม่มีคนคอยเตือน คนว่า มักจะฉิบหาย)



๕๔.
สละเลียมหมากแคว้ง เปิ่นลือว่าขม หัวใจ๋บัวจม มันขมกว่าหั้น
(บอระเพ็ชร มะแคว้ง เขาลือว่าขม น้ำใจของคน (บัวจม คือชื่อผู้หญิง)  มันขมกว่านั้น)  - -"



๕๕.
คนเฒ่าปากหวาน ลูกหลานฮัก คนเฒ่าปากนัก ลูหลานจัง
(คนแก่ปากหวานลูกหลานรัก คนแก่ปากมากลูกหลานชัง)



๕๖.
ดำน้ำหื้อหันทราย นอนหงานหื้อหันฟ้า ,,ตุ๊กข์จะไปหนี มีจะไปอวด
(ดำน้ำ ก็ดำให้เห็นพื้นทราย นอนหงานก็ให้ นอนเห็นท้องฟ้า
ยามมีทุกข์ก็อย่าหนี ยามมั่งมีก็อย่าได้คุยโวโอ้อวด...)



๕๗.
กิ่วหื้อกิ่วคองู อู้หื้ออู้คอจ้าง ,
(ยามจะเล็กก็ให้เล็กเหมือนคองู ยามจะพูดก็ให้พูดเหมือนเสียงช้างร้อง )


หมายถึง ยามตกอับก็ให้ ทำตัวให้เหมือนกับคองู(จงอาง)
กล่าวคือถึงแม้คองูจะเล็ก ก็ชูขึ้นตั้งเป็นสง่า ไม่ให้ใครเหยียบหัว หรือดูถูกเอาได้ ยามจะพูดว่าตัวเองมั่งมี ก็ขอให้มั่งมีจริงๆ เหมือนกับคอช้าง ที่เสียงมันใหญ่ แล้วตัวมันก็ใหญ่เหมือนเสียงจริงๆ ไม่ใช่มั่งมีแต่เปลือกหุ้มภายนอก แต่ข้างในกลวง



๕๘.
อ้อยกับจ้าง แม่ฮ้างกับหนาน ส้มกับแม่มาน หลานกับคนเฒ่า
(อ้อยกับช้าง แม่ม่ายกับอาจารย์ผู้ใหญ่ (ในที่นี้หมายถึงพระที่สึกใหม่ๆ)
ของเปรี้ยวกับคนท้อง หลานเล็กๆกับคนแก่.....)


มีความหมายเดียวกับคำว่า "น้ำตาลใกล้มด"
ช้างกับอ้อย ยามที่อยู่ใกล้กัน ก็ยากที่ช้างจะอดใจไม่กินอ้อยได้ เช่นเดียวกับหญิงม่ายที่ยังหาสามีไม่ได้ กับพระสงฆ์ที่เพิ่งสึกออกมาใหม่ๆยังหาเมียไม่ได้
(ตามประเพณีล้านนา ปุถุชนที่เคยบวชเป็นสามเณรมาก่อน จะเรียกว่า "หน้อย"
ส่วนผู้ที่เคยบวชเป็นพระภิกษุมาก่อน จะถูกเรียกว่า "หนาน")
หรือหญิงท้องกับของเปรี้ยว หรือปู่ย่าตายาย กับหลานๆ ที่มักจะสนิทสนมกันได้อย่างง่ายดาย....
สุภาษิตจึงมีความนัยแฝงไว้ว่า ให้ระวังของที่ยามอยู่ใกล้กันแล้ว มันยากจะอดใจเหล่านี้ให้ดี...



๕๙.
ปะผ้าหลวมเมื่อยามใกล้แจ้ง ป๊ะจิ้นแห้งเมื่อเขี้ยวบ่ดี
(ปะผ้าที่ใส่แล้วหลวม เมื่อยามใกล้แจ้ง พบเนื้อแดดเดียว เมื่อฟันเริ่มไม่ดีแล้ว)


มีความหมายเดียวกับคำว่า "ดอกไม้ท้ายสวน"
หรือ "พบไม่งามเมื่อขวานใกล้บิ่น" นั่นเอง



๖๐.
บ่ดีตี๋ก๋องแข่งฟ้า บ่ดีขี่ม้าแข่งต๋าวัน
(อย่าตีกลองแข่งกับฟ้าร้อง อย่าขี่ม้าแข็งพระอาทิตย์)


หมายถึง อย่าทำอะไรให้เกินกำลังความสามารถของตัวเอง หรือขัดต่อเหตุผล...


 



แหล่งที่มาของ สุภาษิต และคำแปล(บางส่วน)

- //www.dek-d.com/board/view.php?id=537049#ixzz1Ajq9jPPk
- //se7en.allblogthai.com/28
- //www.pantip.com/cafe/library/topic/K10132997/K10132997.html
- //lhukmeun.moobanthai.com/%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B8%A5%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%A1/
- แผ่นใบปลิว งานตานก๋วยสลาก วัดไหนก็ไม่ทราบเหมือนกัน...  - -"


 



 






Free TextEditor





Create Date : 19 มกราคม 2554
Last Update : 19 มกราคม 2554 1:43:18 น. 1 comments
Counter : 19415 Pageviews.

 
หากผิดพลาดประการใด ก็ขออภัยด้วยครับ...


โดย: สหายกุนเชียง วันที่: 19 มกราคม 2554 เวลา:15:51:33 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สหายกุนเชียง
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]







บ่นเรื่อยๆ เหนื่อยก็พัก
ครั้งที่ 60
ตอน - ความสุขของความรัก
.........คือการได้รัก

ทำไม? คนเราถึงอยากมีคนรัก
นั่นเพราะอยากมีความสุข
ในเมื่อที่การได้รักใครสักคน
มันก็ทำให้มีความสุขอยู่แล้ว
ทำไมจะต้องไปอยากรู้
หรือไปใส่ใจอะไรอีก 
ว่าใครรัก ใครไม่รัก
เขารักใคร ใครรักเขา ฯลฯ

กับหัวใจที่เต็มไปด้วยแผลฉกรรจ์ดวงนี้ 
มันดีแค่ไหนแล้ว ที่ยังใช้รักใครได้อยู่...

13/08/55







เพลงพวกนี้.........
ผมชอบทุกเพลงครับ
แต่ละเพลงฟังมานานแล้ว
และจะฟังต่อไปเรื่อยๆ
เพราะฟังกี่รอบๆ ก็ไม่เบื่อ
ว่างๆมานั่งฟังเป็นเพื่อนกันเถอะ
แล้วจะติดจาย~* ^___^



MusicPlaylist
Music Playlist at MixPod.com






free counters


Website counter

Friends' blogs
[Add สหายกุนเชียง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.