ยินดีต้อนรับครับผม
Group Blog
 
<<
เมษายน 2553
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
6 เมษายน 2553
 
All Blogs
 
"ไพร่" โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ไพร่"
นิธิ เอียวศรีวงศ์

....กลุ่มผู้ประท้วง นปช. นิยามตนเองว่าเป็น "ไพร่" ทำไมเขาจึงเลือกคำนี้ ผมไม่ทราบ แต่นับว่าน่าสนใจแก่ผมอย่างมาก เพราะความหมายของคำนี้ในภาษาไทย คลี่คลายไปสู่ความหมายเชิง "ประท้วง" ต่อสังคมที่ถือเอาลำดับขั้นของสถานภาพอย่างเคร่งครัดไม่นานมานี้เอง ในขณะที่ความหมายก่อนหน้านี้คือการให้ความชอบธรรมแก่การแบ่งสถานภาพก็ยังอยู่ และถูกใช้ในอีกเงื่อนไขหนึ่งอยู่บ้าง

เมื่อผู้ปราศรัยบนเวที ชี้หน้าผู้ร่วมชุมนุมทุกคนว่าพวกเราล้วนเป็น "ไพร่" ผู้ร่วมชุมนุมก็ไม่รู้สึกโกรธว่าถูกเหยียดให้ต่ำ แสดงว่าพวกเขารับรู้ความหมายใหม่ของคำนี้อยู่แล้ว เป็นอีกหนึ่งในประจักษ์พยานว่า คนเสื้อแดงไม่ได้เป็นบ้านนอกขอกตื้อ ที่ตามไม่ทันความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมในสังคมไทย

ความหมายเดิมจริงๆ ของคำนี้ในภาษาไทยอาจพอแปลเทียบกับคำว่า "เสรีชน" ได้กระมัง เพราะในรัฐไทดำของลุ่มน้ำดำ (ซึ่งเป็นรูปแบบที่เชื่อกันว่ามีลักษณะเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของรัฐไทย-ลาว) เขาแบ่งประชาชนออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ กลุ่มแรกคือพวก "ไท-ไต" ซึ่งมีสิทธิ์ถืออาวุธหรือเป็นทหาร, ถือครองที่ดินส่วนที่เป็นที่ราบลุ่ม, และใช้เครื่องมือการเกษตรบางชนิดได้ กลุ่มนี้ถูกเรียกว่า "ไป" หรือ "ปาย" ซึ่งผมเข้าใจว่าเป็นคำเดียวกับ "ไพร่" ในภาษาไทยกลางนั้นเอง

อีกกลุ่มหนึ่งคือพวกที่เรียกรวมๆ ว่า "ข้า" คือกลุ่มคนที่ต่างชาติพันธุ์ออกไป และมีสิทธิ์ทางสังคม, เศรษฐกิจและการเมืองด้อยกว่า

อย่างไรก็ตาม "ไพร่" ที่ปรากฏในสมัยอยุธยา คงเรียกว่า "เสรีชน" ลำบากแล้วล่ะครับ ฝรั่งจัดคนเหล่านี้ไว้เป็นกลุ่มหนึ่งในพวก bondsmen คือคนที่มีพันธะบางอย่างกับคนอื่น

คนอื่นซึ่งไพร่ต้องมีพันธะด้วยนั้น เรียกรวมๆ ว่า "มูลนาย" ประกอบด้วยคนหลายประเภท นับตั้งแต่พระเจ้าแผ่นดิน, ราชตระกูล, ขุนนาง, เจ้าเมืองท้องถิ่น, และคนที่เจ้าเมืองตั้งขึ้นเป็นขุนนางท้องถิ่น ไพร่มีภาระหน้าที่จะต้องส่งส่วยแก่มูลนาย ในรูปของส่วยแรงงาน หรือส่วยสินค้าก็ตาม ถ้าส่งให้หลวงก็เรียกว่าไพร่หลวง ถ้าส่งให้มูลนายอื่นก็เรียกว่าไพร่สม

พันธะอันนี้หมดไปในทางทฤษฎี เมื่อ ร.5 ทรงออก พ.ร.บ. เกณฑ์ทหารเข้ามาแทนที่ หมายความว่า เฉพาะผู้ชายเท่านั้นที่ยังมีพันธะต้องเป็นทหารให้แก่กองทัพของหลวงในช่วงเวลาหนึ่ง แล้วก็กลายเป็น "เสรีชน" ไปตลอดชีวิต แต่ในทางปฏิบัติ รัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐยังใช้การเกณฑ์แรงงาน สืบมาโดยเปิดเผยหรือโดยการ "ขอร้อง" ทั้งทางตรงและทางอ้อมจนถึงระยะแรกๆ ของการพัฒนาหลังการยึดอำนาจของ จอมพลสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ แล้ว

ฉะนั้น ว่ากันตามทฤษฎี ก็ไม่มีไพร่ในสังคมไทยอีกแล้วนับตั้งแต่นั้นมา แต่คำนี้ก็ยังถูกใช้อยู่ต่อมา หากในความหมายใหม่ หรือในจุดเน้นใหม่

ขอให้สังเกตนะครับว่า คู่ตรงข้ามของ "ไพร่" ในกฏหมายตราสามดวงที่ใช้กันมาตั้งแต่อยุธยาจนถึง ร.5 นั้น คือ "มูลนาย" ทั้งสองฝ่ายนี้ถึงจะร่วมวัฒนธรรมใหญ่กันก็จริง แต่ในรายละเอียดแล้ว ต่างฝ่ายต่างไม่รู้จักความละเอียดซับซ้อนของวัฒนธรรมอีกฝ่ายหนึ่ง ดูละครกันคนละเรื่องและคนละแบบ, ผลิตและใช้วรรณกรรมกันคนละชนิด, ฟังเพลงก็คนละประเภทกัน, แม้แต่เนื้อหาของพระพุทธศาสนาที่ต่างฝ่ายต่างนับถือก็ไม่สู้จะเหมือนกันนัก ฯลฯ

ผมไม่แน่ใจว่า ต่างมีสำนึกเหยียดหยามวัฒนธรรมของกันและกันหรือไม่ เพราะในชีวิตจริงแล้ว ต่างอยู่ในโลกของตน มีความจำเป็นล่วงเข้ามาในโลกของอีกฝ่ายไม่มากนัก แต่แน่นอนว่ามีหลักฐานมากมายที่ชี้ให้เห็นว่า เมื่อไพร่ล่วงเข้ามาในโลกของมูลนาย วัฒนธรรมของไพร่ก็เป็นสิ่งน่าหัวร่อเยาะ หรือน่าเหยียดหยาม นับตั้งแต่อาหารการกิน, การแต่งเนื้อแต่งตัว, มารยาท, ไปจนถึงคุณค่าที่ยึดถือ

แต่ชีวิตที่ถูกแยกออกเป็นสองโลกนี้เริ่มอันตรธานไปในการปฏิรูปของ ร.5 ซึ่งยังสืบทอดอำนาจทางการเมือง, เศรษฐกิจและวัฒนธรรมไว้ในหมู่พวก "มูลนาย" (หรือกลุ่มหนึ่งของพวก "มูลนาย") เหมือนเดิม แต่บัดนี้เปลี่ยนคำที่ใช้เรียกจาก "มูลนาย" ให้กลายเป็น "ผู้ดี" แทน

คู่ตรงข้ามของไพร่ในภาษาไทยจึงกลายเป็น "ผู้ดี" ไป

ผมขอยกตัวอย่างการใช้คำว่า "ไพร่" ในพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นตัวอย่าง

สำนวนว่า "ทรงพระราชสมภพภายใต้พระมหาเศวตรฉัตร" นั้นมีความหมายอย่างไร ก.ศ.ร. กุหลาบไปเข้าใจว่า เมื่อพระอัครมเหสีจะประสูติพระราชโอรส-ธิดา ก็โปรดให้ตั้งพระมหาเศวตรฉัตรไว้เหนือที่ซึ่งจะมีพระประสูติกาล ฉะนั้น เมื่อสมเด็จฯ พระองค์นั้นทรงพระนิพนธ์พงศาวดารรัชกาลที่ 5 จึงได้ทรงอธิบายว่า ที่เข้าใจเช่นนั้นเป็นเพราะ ก.ศ.ร. กุหลาบ (ในพระนิพนธ์ไม่ได้ออกชื่อ) เป็น "ไพร่" ไม่รู้ธรรมเนียมเจ้า เพราะความหมายของสำนวนนี้ก็คือ ทรงพระราชสมภพเมื่อพระราชบิดาได้เสวยราชสมบัติแล้วเท่านั้น

(เช่น ร.2 ไม่ได้ทรงพระราชสมภพภายใต้พระมหาเศวตรฉัตร เพราะขณะนั้นพระราชบิดายังมิได้ครองราชย์ แต่ ร.5 ใช่ เพราะพระราชบิดาได้ขึ้นครองราชสมบัติแล้ว)

อย่างที่รู้กันอยู่แล้วนะครับว่า ก.ศ.ร. กุหลาบ ซึ่งเป็นสามัญชน ล่วงเข้ามาในพื้นที่ของ "ผู้ดี" คือพื้นที่ "วิชาการ" ซึ่ง "ผู้ดี" ในสมัยนั้นถือว่าเป็นพื้นที่อันคนซึ่งปราศจากคุณสมบัติของ "ผู้ดี" จะเข้ามาไม่ได้

คุณสมบัตินั้นคือการศึกษา (ในความหมายกว้าง ไม่จำกัดเฉพาะประกาศนียบัตร) อย่างหนึ่ง และความรอบรู้เจนจัดในขนบธรรมเนียมประเพณีของ "ผู้ดี" อีกอย่างหนึ่ง

ความหมายของ "ไพร่" จึงเคลื่อนไปจากประเภทของบุคคลที่ไม่ใช่ "มูลนาย" มาเป็นคนที่ไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนมารยาทที่ถือกันว่าเป็นมารยาท "ผู้ดี"

ความหมายนี้ยิ่งมีพลังมากขึ้น เมื่อความหมายของคำว่า "ผู้ดี" เองก็เริ่มเคลื่อนจากกำเนิด มาสู่คุณสมบัติอื่นซึ่งมนุษย์สามารถแสวงหาไขว่คว้ามาเป็นของตนได้ เช่นมารยาท

หนังสือ "สมบัติผู้ดี" พูดชัดเจนไปเลยว่า กำเนิดไม่ใช่เงื่อนไขที่ขาดไม่ได้ของ "ผู้ดี" แต่มารยาทและความประพฤติซึ่งอาจได้มาจากการอบรมสั่งสอนต่างหากที่จะแยก "ผู้ดี" ให้ออกจาก "ไพร่"

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ความทันสมัยของไทย เป็นกระบวนการที่พยายามจะสืบทอดอำนาจของ "มูลนาย" ไว้ให้คงอยู่ในระบบใหม่ด้วย คำว่า "ผู้ดี" ซึ่งแม้จะไม่เน้นในเรื่องกำเนิด แต่ความหมายถึงอภิสิทธิชนอันมาแต่กำเนิดก็ยังแฝงอยู่ในคำนี้ เพราะคนที่จะเป็น "ผู้ดี" ได้ ก็ต้องเติบโตมาในวัฒนธรรมมูลนาย, ได้รับการศึกษาแผนใหม่ซึ่งมีต้นทุนไม่น้อย อีกทั้งต้องมีอิทธิพลที่จะดำรงตำแหน่งหน้าที่การงานอันเป็นที่นับหน้าถือตาด้วย

"ผู้ดี"จึงหมายถึงคนมีมารยาทอันงามและเป็นอภิสิทธิชน ในขณะที่ "ไพร่" ซึ่งเป็นตรงกันข้าม คือคนที่หยาบคาย, เป็นสามัญชนคนธรรมดา, ไม่มีอภิสิทธิ์ หรือว่ากันที่จริงแม้แต่สิทธิอันพึงมีพึงได้ในฐานะพลเมืองก็มีไม่เต็ม

และไพร่ในความหมายนี้แหละครับที่ถูกใช้ในความหมายเชิงประท้วง และผมคิดว่าหนึ่งในคนที่ทำให้ความหมายนี้ขยายไปจนเป็นที่รับรู้กันอย่างมากนั้น คือ คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ สักสามทศวรรษมาแล้ว ที่คุณสุจิตต์แกล้งใช้คำนี้ในงานเขียนของตนหลายชิ้น (เช่น เสภาไพร่) จนกระทั่ง ใครๆ ก็สามารถประกาศตัวเป็นไพร่ได้ หากต้องการจะเน้นความเสียเปรียบ หรือความต่ำต้อยของตนเองอันเกิดจากระบบแห่งความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

และไพร่ในความหมายนี้แหละครับที่ระคายหูชนชั้นสูง เพราะเท่ากับย้ำความเป็นอภิสิทธิชนของพวกเขา ผมทราบมาว่าบางกลุ่มของชนชั้นสูงไม่อยากให้ใช้คำ "ไพร่" เอาเลย ยกเว้นแต่จะใช้เป็นศัพท์วิชาการ เพื่ออธิบายโครงสร้างสังคมไทยในอดีต

แต่ "ไพร่" ก็เหมือนคำในภาษาทั่วไป คือมีชีวิตของมันเอง หากไม่ตายหรือถูกเลิกใช้ไปเสีย ก็เคลื่อนคลายความหมายไปได้เรื่อยๆ ทั้งความหมายตรงและความหมายแฝง ในปัจจุบันหากไม่ใช้ในความหมายของศัพท์วิชาการแล้ว "ไพร่" มักมีความหมายในเชิงประท้วงหรือประชดอย่างนี้แหละครับ

"ไพร่" ในความหมายว่าไร้มารยาทและไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนที่ดีเสียอีก ผมกลับไม่ค่อยได้ยินใครใช้

ดังนั้น เมื่อผู้ประท้วงเสื้อแดงเลือกคำว่า "ไพร่" มาใช้เรียกกลุ่มของตนเอง ผมจึงเห็นว่าเป็นการเลือกคำที่ชาญฉลาด เพราะ "ไพร่" คำเดียว แทนประเด็นที่เขาชุมนุมกันได้แทบหมด ไม่ว่าจะเป็นความอยุติธรรม, สองมาตรฐาน หรือความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากการรักษาผลประโยชน์ตนเองอย่างมืดบอดของเหล่าอภิสิทธิชน

ก็จริงหรอกครับ คุณทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นวีรบุรุษของคนเสื้อแดงนั้น ก็เป็นอภิสิทธิชนคนหนึ่ง แต่ในทัศนะของคนเสื้อแดง คุณทักษิณเป็นอภิสิทธิชนที่ตกกระป๋อง เพราะระบบที่ไม่ยุติธรรม, สองมาตรฐาน และความเหลื่อมล้ำ อันเป็นระบบที่ทำให้ผู้ประท้วงต้องเป็น "ไพร่"

ยิ่งถ้ามองไปที่ "วาทกรรม" ของไพร่-ผู้ดี ไม่ใช่มองไปที่คำ ผมคิดว่ายิ่งตรงกับประเด็นการประท้วงมากขึ้น วาทกรรมคือข้อสรุปที่สมมติว่าเป็น "ความจริง" อันเกิดขึ้นจากชุดของเหตุผลและข้อเท็จจริงหนึ่ง วาทกรรม "ไพร่-ผู้ดี" ของวัฒนธรรมไทยนั้น คือการแบ่งสิทธิอย่างไม่เท่าเทียมกัน ระหว่างคนที่สามารถสร้างสถานภาพอันสูงได้ผ่านการศึกษา กับคนที่ไม่สามารถทำได้อย่างนั้น

และก็อย่างที่รู้ๆ กันอยู่นะครับ โอกาสของการศึกษานั้นกระจายไปในสังคมไทยอย่างเป็นธรรมหรือไม่เพียงใด หรือการศึกษาเป็นเพียงเครื่องมืออันหนึ่งในการสืบทอดสถานภาพแห่งอภิสิทธิชนจากชั่วอายุคนหนึ่งไปสู่อีกชั่วอายุคนหนึ่งกันแน่ (สถานภาพที่สามารถสืบทอดถึงลูกหลานได้ก็คือ "ชนชั้น")

คนที่สะพานผ่านฟ้าฯ ใช้คำว่า "ไพร่" ได้ตรงประเด็นเป๊ะ จะผิดอยู่บ้างก็คือตรงเกินไปจนแสนระคายเคือง

(ที่มา : หน้า 25 มติชน สุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 2-8 เม.ย.2553 )


Create Date : 06 เมษายน 2553
Last Update : 6 เมษายน 2553 17:37:43 น. 0 comments
Counter : 685 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

อุบลแมน
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




Friends' blogs
[Add อุบลแมน's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.