ชอบกิน ชอบเที่ยว แต่มะมีตังค์ รูปภาพ
เพลงฮิต เกมส์ เกมส์ปลูกผัก เกมส์ทําอาหาร
Group Blog
 
 
พฤศจิกายน 2552
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
27 พฤศจิกายน 2552
 
All Blogs
 

ชาติมหาอำนาจอังกฤษ

ในช่วงเวลาระหว่างปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 ประเทศอังกฤษมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญก็คือ การเปลี่ยนกษัตริย์ที่นับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกมาเป็นกษัตริย์ที่นับถือคริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนต์ ด้านการปกครองอังกฤษได้เปลี่ยนแปลงเป็นชาติประชาธิปไตยยิ่งขึ้น ทั้งนี้จะเห็นได้จากพระเจ้าวิลเลียมและพระนางแมรียอมรับว่ารัฐสภามีอำนาจเหนือกษัตริย์ในยุคนั้นมีการออกกฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายห้ามกษัตริย์มีกองทัพและอำนาจของกษัตริย์ต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย ดังนั้นอังกฤษจึงมีความเป็นประชาธิปไตยก้าวหน้ากว่าชาติต่างๆ ในยุโรปในยุคเดียวกัน แต่ในด้านความสัมพันธ์กับชาติยุโรป อังกฤษถูกต่อต้านจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสซึ่งนับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก พระองค์ทรงสนับสนุนพระเจ้าเจมส์ที่ 2 แห่งอังกฤษทำให้อังกฤษคิดว่าการที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงขยายอำนาจเข้ามาในอังกฤษและในประเทศยุโรปต่างๆ นั้นเป็นอันตราย ดัวนั้นอังกฤษจึงพยายามรักษาดุลย์อำนาจในยุโรปและพยายามขยายอำนาจทางทะเลเพื่อแข่งขันกับฝรั่งเศส ด้วยเหตุนี้ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตววษที่ 17 เป็นต้นมา อังกฤษได้ทำตัวเป็นศัตรูกับฝรั่งเศสมาโดยตลอด ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์การสืบราชสมบัติในสเปน กล่าวคือเมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงสถาปนาพระราชนัดดาขึ้นเป็นกษัตริย์สเปนได้แล้ว พระองค์ทรงแสดงท่าทีว่ากษัตริย์สเปนยังคงมีสิทธิในราชบัลลังก์ฝรั่งเศสทำให้อังกฤษเกรงว่าถ้ากษัตริย์สเปนกับฝรั่งเศสเป็นองค์เดียวกันก็จะทำให้อาณานิคมของสเปน ตกเป็นของฝรั่งเศสและฝรั่งเศสจะกลายเป็นจ้าวทะเล นอกจากนี้ฝรั่งเศสยังรับรองพระโอรสของพระเจ้าเจมส์ที่ 2 ซึ่งหนีไปพำนักที่ฝรั่งเศสเป็นพระเจ้าเจมส์ที่ 3 แห่งอังกฤษ ดังนั้นอังกฤษกับพันธมิตรได้แก่ ออสเตรียและเนเธอร์แลนด์ จึงร่วมทำสงครามกับฝรั่งเศส เรียกว่าสงครามชิงราชสมบัติสเปน (ระหว่าง ค.ศ. 1702-1713) ในที่สุดสงครามได้ยุติลง โดยพระเจ้าฟิลิปที่ 5 ยังคงเป็กษัตริย์สเปน แต่ไม่มีสิทธิในราชบัลลังก์ฝรั่งเศส ทำให้อังกฤษสกัดกั้นอำนาจของฝรั่งเศสได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนี้อังกฤษได้สิทธิค้าขายในอาณานิคมสเปนในอเมริกาใต้ รวมทั้งการค้าทาสจากแอฟริกาด้วย นอกจากนี้อังกฤษยังได้ดินแดนบางส่วนบริเวณชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนจากสเปน และอาณานิคมฝรั่งเศสในอเมริกาเหนือบริเวณนิวฟาวด์แลนด์ และดินแดนอื่นๆ บริเวณปากน้ำเซนต์ลอว์เรนซ์ และยอมรับสิทธิของอังกฤษเหนือบริเวณอ่าวปากแม่น้ำฮัดสัน ผลประโยชน์ที่อังกฤษได้รับจากการเข้าร่วมสงครามชิงราชสมบัติสเปน ทำให้อังกฤษมีอำนาจในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและมหาสมุทรแอตแลนติก สงครามเจ็ดปีได้ดุลย์อำนาจทำให้ในประเทศยุโรปได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส ออสเตรีย ปรัสเซียและรัสเซีย มีฐานะเป็นมหาอำนาจใกล้เคียงกัน

ภายหลังสงครามชิงราชสมบัติสเปน ชาติในยุโรปยังคงแข่งขันกัน ดังเช่น สงครามชิงราชสมบัติโปรแลนด์ (ค.ศ. 1733-1735) แต่อังกฤษไม่เข้าร่วมในสงครามครั้งนี้เพราะเป็นการบทางบกอีกทั้งเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นพันธมิตรของอังกฤษไม่ถูกรุกราน อย่างไรก็ตามต่อมาเมื่อเกิดสงครามชิงราชสมบัติออสเตรีย อังกฤษเข้าร่วมในสงครามทั้งนี้เนื่องจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 แห่งฝรั่งเศสสัญญาว่าจะช่วยสเปนยึดดินแดนยิบรอลตาร์และบริเวณใกล้เคียงที่อังกฤษยึดครองไว้คืนให้กับสเปน ถ้าสเปนร่วมรบกับฝรั่งเศสในสงครามครั้งนี้ภายหลังจากนั้นฝรั่งเศสบุกเนเธอร์แลนด์และประกาศสงครามกับอังกฤษ ในครั้งนั้นแม้ว่าอังกฤษเป็นฝ่ายแพ้ในสมรภูมิบนภาคพื้นทวีป และถูกฝรั่งเศสยึดเมืองมัทราทที่อินเดียแต่อังกฤษได้ปิดล้อมแหล่งผลิตน้ำตาลของฝรั่งเศสและสเปนในหมู่เกาะของอินเดียตะวันตกรวมทั้งยึดเมืองหลุยส์เบิร์กของฝรั่งเศส ที่ปากแม่น้ำเซนต์ลอว์เรนซ์ในอเมริกาใต้ สงครามได้ดำเนินมาจนถึงปี 1748 จึงยุติลงด้วยสัญญาแอกซ์ ลา ชาแปงเพราะแต่ละชาติต่างเบื่อหน่ายสงครามการยุติสงคราม ในครั้งนั้นอังกฤษได้เจรจาแลกเปลี่ยนเมืองมัทราทกับเมืองหลุยส์เบิร์ก และได้รับสิทธิทางการค้าและส่งทาสไปขายในอาณานิคมของสเปนจนถึงปี 1752 รวมทั้งห้ามฝรั่งเศสสนับสนุนเชื้อสายพระเจ้าเจมส์ที่ 2 ให้อ้างอิงสิทธิในราชบัลลังก์อังกฤษอีกต่อไปขณะเดียวกันออสเตรียประกาศไม่เป็นพันธมิตรกับอังกฤษ เพราะอังกฤษใช้อิทธิพลเจรจากับชาติต่างๆ เพื่อบังคับให้ออสเตรียยกดินแดนบางแห่งให้สเปนเพื่อแลกเปลี่ยนสิทธิทางการค้าในอาณานิคมของสเปน และอังกฤษยังสนับสนุนปรัสเซียให้ทำสัญญากับออสเตรียยอมรับว่าปรัสเซียมีอิทธิพลอยู่เหนือดินแดนที่ปรัสเซียยึดได้จากออสเตรีย

อังกฤษแม้ว่าสามารถเจรจาได้ผลประโยชน์จากการยุติสงคราม แต่อังกฤษยังไม่บรรลุความปรารถนาที่จะทำลายอำนาจทางทะเลของฝรั่งเศส เพื่อว่าอังกฤษจะได้เป็นจ้าวทะเลแต่เพียงผู้เดียว อังกฤษมองเห็นว่าฐานอำนาจทางเศรษฐกิจของฝรั่งเศส คือ อาณานิคมในโพ้นทะเลอังกฤษจึงต้องดำเนินการเพื่อยึดครองอาณานิคมฝรั่งเศสให้ได้ความปรารถนานี้ได้ปะทุเป็นสงครามเจ็ดปี ระหว่าง ค.ศ. 1756-1763 โดยเริ่มในอเมริกาเหนือ ซึ่งทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสต่างมีอาณานิคมอยู่ที่นั่น ชาวอาณานิคมอังกฤษและฝรั่งเศสมีเรื่องบาดหมางกัน เนื่องจากทั้งสองชาติต่างภูมิใจในชาติของตน ทั้งยังมีความแตกต่างกันในเรื่องศาสนา เพราะชาวอาณานิคมเชื้อสายอังกฤษส่วนใหญ่นับถือคริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนต์ ขณะที่ชาวอาณานิคมเชื้อสายฝรั่งเศสนับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก นอกจากนี้ชาวอาณานิคมเชื้อสายฝรั่งเศสมีฐานะดีกว่าเพราะผูกขาดการค้าขนสัตว์ และยุยงให้ชาวอินเดียนแดง ซึ่งเป็นพันธมิตรฝรั่งเศส โจมตีอาณานิคมอังกฤษอยู่เสมอ และทั้งสองฝ่ายต่างคิดว่าอีกฝ่ายหนึ่งครอบครองดินแดนที่ทำให้ปิดกั้นอำนาจของอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น ดินแดนหลุยส์เซียนาของฝรั่งเศส สกัดกั้นการขยายอำนาจของอังกฤษเข้าไปยังดินแดนตอนใน ขณะที่ฝรั่งเศสคิดว่าอังกฤษได้ครอบครองบริเวณชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกทำให้ทำการค้าได้ตลอดปี

ในปี ค.ศ. 1754 ฝรั่งเศสประกาศยึดครองที่ราบในหุบเขาโฮไอโอ (ในสหรัฐอเมริกาปัจจุบัน) ทำให้ชาวเวอร์จิเนียในอาณาคมอังกฤษ ซึ่งยึดครองที่ราบนี้อยู่แล้วไม่พอใจและขอให้ฝรั่งเศสถอนทหาร แต่ฝรั่งเศสกลับส่งทหารมาเพิ่มขึ้น ในระยะแรกชาวอาณานิคมอังกฤษสู้ไม่ได้ แต่เมื่อได้รับการสนับสนุนด้านกำลังทหารจากเมืองแม่ทำให้อังกฤษเป็นฝ่ายมีชัยชนะ สำหรับในภาคพื้นทวีปยุโรป อังกฤษตอบรับการเจรจาของปรัสเซียที่จะไม่รุกรานซึ่งกันและกันปรัสเซียจึงโจมตีออสเตรีย ทำให้ออสเตรียหันไปเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศส ฝ่ายฝรั่งเศสมุ่งทำสงครามยึดดินแดนเพื่อชดเชยดินแดนที่เสียให้แก่อังกฤษตามสนธิสัญญาแอกซ์ ลา ชาแปง ส่วนรัสเซียเกรงว่าปรัสเซียจะมีอำนาจมากขึ้นและรัสเซียยังต้องการดินแดนบางส่วนของรัสเซียจึงโจมตีดินแดนทางด้านตะวันออกของปรัสเซีย ดังนั้นสงครามเจ็ดปีจึงขยายออกไปทั้งในอาณานิคม และภาคพื้นทวีปยุโรป โดยระยะแรกอังกฤษเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ฝรั่งเศส เช่น การรบที่แคว้นแฮโนเวอร์ ในเยอรมนี เมื่อ ค.ศ. 1756 เมื่ออังกฤษเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี ที่มีความสามารถ ซื่อสัตย์และมองเห็นการณ์ไกล อังกฤษจึงไม่ยอมรับความพ่ายแพ้เพราะเกรงว่าฝรั่งเศสจะใช้เป็นข้ออ้างเพื่อยึดครองอาณานิคมของอังกฤษในดินแดนโพ้นทะเล นอกจากนี้อังกฤษยังคิดว่าการทำสงครามบนภาคพื้นทวีปยุโรป จะทำให้กองทัพเรือของฝรั่งเศสอ่อนแอลง อังกฤษจึงใช้วิธีทางการทูตเพื่อกระชับสัมพันธไมตรีกับประเทศพันธมิตร เช่น ออสเตรีย จากนั้นจึงเริ่มทำสงครามกับฝรั่งเศส ในปี 1759 ทำให้ฝรั่งเศสต้องถอนทหารออกจากเมืองแฮโนเวอร์ ภายหลังจากนั้นอังกฤษจึงเป็นฝ่ายรบชนะฝรั่งเศสมาโดยตลอด จนในที่สุดจึงได้มีการลงนามในสนธิสัญญาปารีส เมื่อ ค.ศ. 1763 ทำให้อังกฤษได้อาณานิคมเพิ่มขึ้นทั้งในอเมริกาเหนือ อินเดีย และสามารถคุมน่านน้ำในมหาสมุทรแอตแลนติกภาคเหนือและคุมเส้นทางสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ในเวลาตอนกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 จักรวรรดิของอังกฤษขยายออกไปเกือบทั่วโลก ในขณะที่สเปนและออสเตรียอ่อนแอลงจากการทำสงครามติดต่อกันโดยไม่ได้ประโยชน์ตอบแทนคุ้มค่า ส่วนฝรั่งเศสสูญเสียอาณานิคมให้แก่อังกฤษทำให้เศรษฐกิจเสื่อมลง จนเป็นสาเหตุสำคัญสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการปฏิวัติครั้งใหญ่ในเวลาต่อมา

ภายหลังการทำสนธิสัญญาปารีสปี 1763 อังกฤษให้ความสนใจอาณานิคม 13 อาณานิคมในอเมริกาเหนือเพิ่มขึ้นเพราะเริ่มตระหนักว่าอาณานิคมในอเมริกาเหนือเป็นแหล่งผลประโยชน์ของชาติ อังกฤษจึงเข้าแทรกแซงการปกครองอาณานิคมทั้งๆ ที่อังกฤษไม่เคยสนใจมาก่อนทำให้ชาวอาณานิคมไม่พอใจเพราะพวกเขาได้ใช้ชีวิตด้วยความลำบากโดยอังกฤษไม่เคยเหลียวแล และการที่กองทหารอังกฤษเข้ามาช่วยชาวอาณานิคมต่อสู้กับฝรั่งเศสนั้น ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าของอังกฤษ ดังนั้นเมื่ออังกฤษออกกฎหมายเช่น กฎหมายน้ำตาลที่ประกาศใช้ในปี 1764 เพื่อป้องกันชาวอาณานิคมซื้อน้ำตาลจากพ่อค้าสเปนและฝรั่งเศส และกฎหมายอากรแสตมป์ที่ประกาศใช้ในปี 1765 ที่บังคับให้ชาวอาณานิคมต้องติดอากรแสตมป์ของอังกฤษในสินค้าทุกประเภท เหล่านี้ทำให้ชาวอาณานิคมรู้สึกว่าอังกฤษมุ่งกอบโกยผลประโยชน์กลับเมืองแม่และไม่ยุติธรรมต่อชาวอาณานิคม ดังนั้นจึงได้รวมตัวกันต่อสู้อังกฤษโดยได้รับการสนับสนุนจากฝรั่งเศสจนได้รับเอกราช เมื่อ ค.ศ. 1776 ทำให้อังกฤษสูญเสียอาณานิคมจำนวนมากในอเมริกาเหนือ ภายหลังจากการปฏิวัติของพวกอาณานิคมในสหรัฐอเมริกาในภาคพื้นทวีปยุโรป ได้มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1789 คือการปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศส ในระยะแรกอังกฤษไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์ในครั้งนี้ แต่การที่คณะปฏิวัติสั่งประหารพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 พร้อมทั้งประกาศให้ความช่วยเหลือผู้ที่ต้องการล้มระบอบกษัตริย์ในยุโรป ทำให้อังกฤษไม่พอใจ รวมทั้งไม่พอใจที่ฝรั่งเศสเคยสนับสนุนการปฏิวัติของชาวอาณานิคมในสหรัฐอเมริกา ดังนั้นเมื่อฝรั่งเศสยกทัพโจมตีเนเธอร์แลนด์ปี 1793 และเป็นฝ่ายประกาศสงครามกับอังกฤษ จึงเริ่มทำสงครามกับฝรั่งเศสอีกครั้งหนึ่ง สงครามครั้งนี้อังกฤษได้เตรียมพร้อมอยู่แล้วเพราะภายหลังจากที่อังกฤษสูญเสีย 13 อาณานิคมในอเมริกาเหนือ อังกฤษได้ใช้นโยบายต่างประเทศ คือ การดุลย์อำนาจในยุโรปเหมือนเดิมและพยายามป้องกันการขยายอำนาจของฝรั่งเศส โดยการเป็นมิตรกับชาติยุโรปอื่นๆ เช่น เนเธอร์แลนด์และปรัสเซีย แต่ขณะเดียวกันก็ได้ลงนามในสนธิสัญญาค้าขายกับฝรั่งเศสตั้งแต่ปี 1786 ฝรั่งเศสได้ส่งสินค้ามาขายในอังกฤษ ได้แก่ น้ำหอม เหล้าองุ่นและน้ำมัน โดยอังกฤษส่งเสื้อผ้าและเครื่องเหล็กไปขายในฝรั่งเศส ขณะเดียวกันอังกฤษพยายามแก้ปัญหาการอยู่รวมกันของชาวอังกฤษและฝรั่งเศสในแคนาดา ซึ่งเป็นอาณานิคมที่อังกฤษยึดได้จากฝรั่งเศส โดยให้เสรีภาพในการปกครองและการนับถือศาสนา ทำให้สถานการณ์ของอังกฤษอยู่ในความสงบและมั่นคง ดังนั้นเมื่ออังกฤษทำสงครามกับฝรั่งเศส อังกฤษจึงเป็นฝ่ายได้เปรียบโดยปิดล้อมเมืองท่าต่างๆ ของฝรั่งเศส อีกทั้งอังกฤษยังสามารถเจรจาให้สเปนร่วมเป็นพันธมิตรยกทัพโจมตีฝรั่งเศส อย่างไรก็ตามในที่สุดอังกฤษต้องเผชิญกับกองทัพฝรั่งเศสที่มีนายทหารชื่อนโปเลียนเป็นแม่ทัพที่สามารถยึดเมืองท่าฝรั่งเศสคืนจากอังกฤษ จึงทำให้นโปเลียนมีชื่อเสียงแต่ก็ได้กลายเป็นศัตรูตลอดกาลของอังกฤษ

ขณะนั้นอังกฤษเป็นเพียงประเทศเดียวที่เป็นมหาอำนาจทางทะเล กองเรืออังกฤษจึงทำลายกองเรือของสเปนและเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นพันธมิตรของฝรั่งเศสได้ในปี 1797 แต่อังกฤษต้องเผชิญกับกองทัพฝรั่งเศสที่นำโดยนโปเลียนซึ่งมุ่งหน้าก่อกวนอาณานิคมอังกฤษในบริเวณทะเลเมดิเตอร์เรเนียนด้านตะวันออก เช่นที่อียิปต์ เพื่อไม่ให้อังกฤษทำการค้าและเดินเรือได้โดยสะดวก โดยเฉพาะการเดินทางจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปยังมหาสมุทรอินเดีย และในทะเลบอลติกซึ่งอยู่ทางเหนือ แต่ฝรั่งเศสดำเนินการไม่ได้โดยตลอด เพราะอังกฤษควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ด้วยกำลังจากกองทัพเรือ แต่ระยะที่อังกฤษเปลี่ยนผู้นำประเทศ อังกฤษเป็นฝ่ายเสียเปรียบในสงครามอังกฤษจึงทำสนธิสัญญาสงบศึกอาเมียงกับฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1802 ซึ่งทำให้อังกฤษต้องคืนดินแดนอาณานิคมบางแห่งให้แก่ชาติต่างๆ ในยุโรปภายหลังจากสนธิสัญญาฉบับนี้ ฝรั่งเศสยังคงสร้างอิทธิพลทางการเมืองเหนือชาติต่างๆ ในยุโรปและพยายามขยายอิทธิพลเข้าไปในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและหมู่เกาะอินเดียตะวันตกในอเมริกาทำให้อังกฤษเริ่มสู้รบกับฝรั่งเศสอีกครั้งใน ค.ศ. 1803 แต่ในปีถัดไปนับเป็นความรุ่งโรจน์ของนโปเลียนที่ได้เป็นจักรพรรดิแห่งฝรั่งเศส ขณะเดียวกันก็เป็นปีแห่งความอับโชคของพระองค์ด้วย เพราะวิลเลียม พิตต์ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ และได้วางแผนสู้รบกับฝรั่งเศสเป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้ อังกฤษจึงเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดในการสู้รบทางเรือที่แหลมทราฟาลก้า สรุปได้ว่าในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 อังกฤษจึงเป็นชาติมหาอำนาจในยุโรปอย่างแท้จริง




 

Create Date : 27 พฤศจิกายน 2552
3 comments
Last Update : 4 ธันวาคม 2552 6:20:34 น.
Counter : 3986 Pageviews.

 

น่าจะจัดแบ่งย่อหน้าให้มากกว่านี้ การเขียนติดๆกันและใช้ตัวหนังสือสีอ่อนแบบนี้ ทำให้อ่านยากมาก ช่วงต้นของบทความน่าจะมีการระบุให้มันชัดๆลงไปเลยว่าเป็นกฏบัตรแมคนา คาร์ตา (Magna Carta) ที่ทำให้กษัตริย์อังกฤษยอมอยู่ภายใต้กฏหมายรัฐธรรมนูญ เพราะไอ้ตรงนี้แหละที่เป็นคีย์เวิรดด์ของย่อหน้าแรก ส่วนที่เหลือยังไม่ได้อ่านครับ

 

โดย: piras 27 พฤศจิกายน 2552 22:59:13 น.  

 

ลองอ่านแบบคร่าวๆแล้ว บทความนี้มีข้อบกพร่องอยู่ตรงที่ว่าให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ในช่วงศตวรรษที่ 18 มากจนเกินไป ทั้งๆที่จริงๆแล้วประเทศอังกฤษขึ้นเป็นอภิมหาอำนาจของโลกในศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นยุคที่เรียกกันว่า Pax Britanica และเมื่อมองลึกลงไปจะเห็นได้ว่ามีปัจจัยหลักๆสามประการที่เกี่ยวเนื่องกัน จะขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปไม่ได้ ปัจจัยทั้งสามข้อนี้ได้แก่

1.การกองเรือของราชนาวีอังกฤษภายใต้การนำของลอร์ดเนลสัน (Horatio Nelson) สามารถพิชิตชัยกองเรือของนโปเลียนได้ในยุทธนาวีที่ทราฟังการ์ (Trafalgar) ในปี 1805 ชัยชนะในครั้งนั้นทำให้อังกฤษสามารถครองมหาสมุทรโดยไม่มีใครท้าทายได้เป้นเวลาถึงหนึ่งร้อยปีเต็มๆ จึงทำให้สามารถแผ่ขยายอธิพลด้วยการออกล่าอนานิคมไปทั่วโลก

2.การค้าเสรี สิ่งที่ตามมาด้วยของการเป็นเจ้าอณานิคมก็คือการค้าเสรี ที่สามารถนำรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมหาศาลให้กับอังกฤษ ซึ่งก็แน่นอนว่าเพื่อเป็นการปกป้องเส้นทางการค้าต่างๆเหล่านี้ อังกฤษจึงต้องทุ่มงบประมาณลงไปเป็นจำนวนมหาศาลในการเสริมสร้างศักยภาพให้กับกองทัพเรือ

3.การปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งเริ่มต้นขึ้นเป็นครั้งแรกที่อังกฤษ ทำให้มีความต้องการแหล่งทรัพยากรจากบรรดาอณานิคมต่างๆของตนเพื่อมาใช้ขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ผลของการคิดค้นเครื่องจักรไอน้ำและการถลุงเหล็กทำให้มีการพัฒนาเรือรบจากเดิมที่เป็นเรือไม้ที่ขับเคลื่อนโดยใช้ใบเรือมาเป็นเรือจักรไอน้ำหุ้มเกราะหรือ Ironclad ซึ่งต่อมาก็ได้ถูกพัฒนาไปเป็นเรือประจัญบานหรือ Dreadnought

เริ่มต้นได้ดีแล้วครับ ค่อยๆพัฒนาไปแล้วกัน ประวัติศาสตร์ที่จะว่าไปมันก็มีมนต์ขลังนะ คือถ้ายิ่งอ่านยิ่งศึกษาก็จะยิ่งดื่มด่ำไปกับมัน และที่สำคัญก็คือประวัติศาสตร์ไม่มีคำว่าล้าหลัง ไม่เหมือนเทคโนโลยี่ที่เพียงแค่สิบปีนี่ก็ตกยุคแล้ว แต่สำหรับประวัติศาสตร์นี่ไม่ว่ายุคใดสมัยใดก็สามารถนำเอามาประยุกต์ใช้ได้กับเหตุการณ์ต่างๆรอบตัวได้เสมอ เพียงแค่เปลี่ยนห้วงเวลาสถานที่แล้วก็คนเล่นเท่านั้น แต่เนื่อเรื่องก็คล้ายๆกันนั่นแหละ

 

โดย: piras 30 พฤศจิกายน 2552 11:02:39 น.  

 

เรื่องน่าสนใจครับ แต่ว่า เจ้าของบล็อกน่ารักจังครับ

 

โดย: lyonheartz (lyonheartz ) 30 พฤศจิกายน 2552 23:14:15 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


krumuti
Location :
หนองคาย Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




เช่ออ้อมแอ้มนะ
โค้ดเมาส์แต่งhi5 มากมาย กดที่นี่เลย Photo Flipbook Slideshow Maker
Glitterfy.com - Photo Flipbooks
Friends' blogs
[Add krumuti's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.