เมื่อตะวันยอแสง..เรี่ยวแรงก็เริ่มอ่อนล้า..พักลงตรงนี่ที่เดิมแล้วหลับตา..
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2550
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
1 พฤศจิกายน 2550
 
All Blogs
 
กระบวนเรือแห่งเกียรติยศของคนไทย





การแสดงการเห่เรือ กระบวนพยุหยาตราชลมารค ครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่จัดแสดงในยามค่ำคืน เพื่อสร้างความประทับใจให้ผู้นำ เอเปก ทุกท่าน ในค่ำคืนแห่งความทรงจำไปอย่างไม่รู้ลืม

เพียงหงส์ทรง พรหมินทร์ สุพรรณหงส์ทรงพู่ห้อย

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เป็นเรือที่แกะสลักโขนเรือเป็นรูปหงส์ ซึ่งเป็นสัตว์ในเทพนิยายตามความเชื่อของศาสนาฮินดู เรือพระที่นั่งลำนี้มีการกล่าวถึง ครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นรัชกาลพระมหาจักรพรรดิ ราว พ.ศ.2091 แต่ทว่า เรือพระที่นั่งนี้ รวมตลอดถึงเรือพระที่นั่งสำคัญอื่นๆ ต่างถูกเผาทำลายในคราวเสียกรุง ในพ.ศ.2310

ต่อมาในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาล ที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงมีกระแสรับสั่งให้สร้างเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ขึ้นใหม่ และได้ใช้ในกระบวนเรือพระราชพิธีต่างๆ มาจนถึงปลายรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการสร้างเรือลำใหม่ขึ้นเพื่อทดแทนลำเดิมที่ชำรุดยากต่อการบูรณะซ่อมแซม และมาแล้วเสร็จในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีขนาดกว้าง 3.17 เมตร ยาว 46.15 เมตร และลึก 0.94 เมตร ใช้ฝีพาย 50 นาย นายท้าย 2 นายเรือ 2 สัญญาณ 1 ถือฉัตร 7 เห่ขานยาว 1 และธงท้ายอีก 1

ในหลวง รัชกาลที่ 6 ทรงทำพิธีปล่อยเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลงน้ำเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ.2454 และเรือพระที่นั่งดังกล่าว ก็ได้มีการใช้งานมาจนปัจจุบัน โดยผ่านการซ่อมแซมเรื่อยมาหลายครั้ง กล่าวกันว่า เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์นี้สร้างจากซุงท่อนเดียว หลังจากสร้างเสร็จช่างแกะสลักเรือลำนี้ได้โยนเครื่องแกะสลักทิ้งหมด และปฏิญาณว่าจะไม่ทำงานแบบนี้อีก เรื่องจริงเป็นอย่างไรไม่มี ผู้ใดทราบได้ แต่เรือลำนี้ นับว่ามีความสวยงามและสง่าผ่าเผยเป็นอย่างมาก

ค่ำคืนนี้ .... แม่น้ำเจ้าพระยาดูสงบนิ่ง สายน้ำทอแสงระยับระยิบสะท้อนแสงดาวที่สุกใสอยู่บนฟากฟ้า ทว่า ทุกสายตาของผู้คนนับหมื่นที่มาชุมนุมกันริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา สายน้ำแห่งชีวิตของชนชาวไทย กลับจับจ้องไปกลางกระแสน้ำที่ไหลเอื่อยเรื่อยริน เพราะในอีกไม่กี่วินาทีข้างหน้านี้ ปรากฏการณ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอีกวาระหนึ่ง กำลังจะเกิดขึ้นต่อหน้า แขกเมืองผู้ทรงเกียรติจาก 21 เขตเศรษฐกิจเอเปก มาแล้ว กระบวนเรือพยุหยาตราชลมารค เริ่มเคลื่อนขบวนออกจากท่าวาสุกรีแล้ว

....นาวาแน่นเป็นขนัด ล้วนรูปสัตว์แสนยากร
เรือลิ่วปลิวธงสลอน สาครลั่นครั่นครื้นฟอง.....

กระบวนเรือซึ่งมีเรือทั้งหมดถึง 50 ลำ ความยาวรวมทั้งสิ้นกว่า 1,200 เมตร ค่อยๆ เคลื่อนด้วยจังหวะการพายอันงดงามของฝีพายจำนวนทั้งสิ้น 2,082 นาย

....ดนตรีมี่อึงอล ก้องกาหลพลแห่โหม
โห่ฮึกครึกครื้นโครม โสมนัสชื่นรื่นเริงพล

กระบวนเรือค่อยๆ ผ่านสะพานพระราม 8 เรื่อยไปลอดใต้สะพานพระปิ่นเกล้า มุ่งหน้าไปยัง อาคารราชนาวิกสภา อันอยู่ตรงข้ามกับพระบรมมหาราชวัง และในอาคารดังกล่าวนี้ เป็นที่นั่งชม ของบรรดาแขกผู้ทรงเกียรติ ซึ่งมาร่วมประชุมเอเปก

ณ จุดนี้เอง ที่การแสดงแสง สี เสียง อันตระการตา อันเป็นจุดสุดยอดแห่งการแสดงกระบวนพยุหยาตราชลมารค ได้เริ่มขึ้น และนั่นเป็นจินตนาการแห่งบรรยากาศของค่ำคืนวันที่ 20 ตุลาคม 2546 ซึ่งแขกเมืองหลายร้อยท่านจะได้ชมการแสดงกระบวนพยุหยาตราชลมารค ประกอบแสง สี เสียง ซึ่งครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่จัดแสดงในเวลากลางคืน และเป็นการร่วมมือกันระหว่างกองทัพเรือ ซึ่งรับผิดชอบในกระบวนเรือพยุหยาตราชลมารค กับการแสดงแสง สี เสียง ซึ่งได้ผู้เชี่ยวชาญจาก เจเอสแอล มาเป็น ผู้รับผิดชอบ

นายอิทธิวัฒน์ วัฒนางกูร ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคของบริษัทเจเอสแอล กล่าวว่า เนื่องจากครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่กระบวนเรือพยุหยาตราชลมารคมีขึ้นในเวลากลางคืน การดูแลความปลอดภัยต่อกระบวนเรือจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก

“นอกจากนั้น เรายังจะต้องทำให้ผู้ชมสามารถชมกระบวนเรือได้อย่างชัดเจน โดยที่เรือทุกลำ จะไม่มีไฟฟ้าประดับในเรือเลยแม้แต่ดวงเดียว เราจึงต้องใช้ไฟที่สว่างมาก ส่องจากสองฝั่งที่กระบวนเรือผ่าน” นายอิทธิวัฒน์ กล่าว และที่บริเวณพระบรมมหาราชวัง ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับอาคารราชนาวิกสภานั้น ทางผู้จัดการแสดงแสง สี เสียง ได้จัดตั้งฉากขนาดใหญ่ ซึ่งผู้ชมที่อยู่ในอาคารราชนาวิกสภานั้น จะสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน และสิ่งที่แสดงบนฉากขนาด ใหญ่นี้ จะเป็นภาพเคลื่อนไหวที่ฉายผ่านโปรเจ็กเตอร์ โดยจะเป็นการเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชนชาติไทย สถาบันพระมหากษัตริย์ ความรุ่งเรืองของชาติ คติความเชื่อของคนไทย และความเป็นมาของพระราชพิธีพยุหยาตราชลมารค นายอิทธิวัฒน์ กล่าวว่า ฉากที่ใช้นั้น จะมีสองประเภทประกอบกัน ชนิดแรกเป็นแผ่นสีขาว LCD ซึ่งจะแสดงภาพของ เนื้อหา และฉากอีกอย่างทำเป็นม่านน้ำ ที่เรียกว่า Water Screen ม่านชนิดนี้คล้ายกับแผ่นน้ำตก รูปภาพที่อยู่ในแผ่นนี้ จะเป็นภาพของบรรยากาศ โดยภาพที่ปรากฏบนฉากทั้งสองแบบ จะมีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน

เนื่องจากผู้ที่มาร่วมประชุมเอเปกนั้น มาจากเขตเศรษฐกิจ 21 เขต จึงมีหลายชาติหลายภาษา ทางผู้จัดการแสดงจึงได้เตรียมการแปลการแสดงไว้ถึง 6 ภาษาด้วยกัน โดยผู้ชมที่อยู่ในห้องกระจกของอาคารราชนาวิกสภานั้นสามารถเลือกหูฟังแต่ละภาษาได้

นายอิทธิวัฒน์ เล่าต่อว่า การแสดงแสง สี เสียง นี้ จะมีความยาว 10 นาที โดยเริ่มต้นแสดงเมื่อกระบวนเรือพยุหยาตรา ชลมารคเริ่มแล่นออกจากท่าวาสุกรี และเมื่อการแสดงจบลงในเวลา 10 นาที จะเป็นเวลาที่กระบวนเรือแล่นเข้ามาในเขตของอาคารราชนาวิกสภาพอดี และในวินาทีนั้น ฉากต่างๆ ก็จะถูกเก็บอย่างรวดเร็ว เพื่อผู้ชมจะได้ชมกระบวนเรือแล่นผ่านพระบรมมหาราชวังทันท่วงที

“ในแม่น้ำนั้น เราจะฝังสปอตไลต์แสงสีทองไว้ต่ำกว่าผิวน้ำ ซึ่งพอเปิดไฟ สายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา จะเป็นสีทองสวยงาม และขณะที่กระบวนเรือแล่นผ่าน เราจะใช้ Dry Ice ปล่อยม่านควันออกมาจนเต็มลำน้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะทำให้ขบวนเรือเหมือนล่องลอยอยู่ในม่านเมฆ” นายอิทธิวัฒน์ บรรยายวาดภาพการแสดงจนสามารถจินตนาการได้ถึงความสวยงาม ในค่ำคืนวันที่ 20 ตุลาคมได้

พอเรือลำสุดท้ายเคลื่อนผ่านไปแล้ว จะมีการจุดพลุขนาดใหญ่ โดยจำนวนของพลุจะเท่ากับจำนวนของผู้เข้าร่วมประชุมพอดี และพลุแต่ละดอก จะแตกออกเป็นรูปสีธงชาติของแต่ละชาติที่เข้าร่วมประชุม

ทั้งหมดนี้ คือ การแสดงในค่ำคืนวันที่ 20 ตุลาคมที่ทางเจเอสแอล ในนามของรัฐบาลไทย มั่นใจว่าจะสามารถสร้างความประทับใจให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุมเอเปกในครั้งนี้อย่างไม่รู้ลืม

นอกจากการแสดงจริงในคืนวันที่ 20 ตุลาคมแล้ว ก็จะมีการซ้อมใหญ่ในคืนวันที่ 12 ตุลาคม ซึ่งการแสดงจะเหมือนวันจริงทุกอย่าง โดยประชาชนทั่วไปสามารถชมได้ตามบริเวณริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่อยู่ใกล้เคียง

กระบวนพยุหยาตราชลมารค ถือเป็น พระราชพิธีสำคัญ เป็นโบราณราชประเพณีสืบทอดมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จนถึงกาลปัจจุบัน

ในการประชุมเอเปก 2003 ซึ่งเป็นการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจทั้ง 21 เขตในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งประเทศไทยได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้ ในระหว่างวันที่ 20-21 ตุลาคม 2546 รัฐบาลได้มอบหมายให้กองทัพเรือจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารค เพื่อแสดงในงานเลี้ยงรับรองผู้นำทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ เอเปก ในค่ำคืนวันที่ 20 ตุลาคม 2546

ในสมัยรัชกาลปัจจุบัน กองทัพเรือได้จัดกระบวนมาแล้ว 13 ครั้ง เป็นการจัดสำหรับ พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน 9 ครั้ง และพิธีอื่นๆ 4 ครั้ง โดยจัดเป็นกระบวนพยุหยาตราชลมารค (ใหญ่) 5 ครั้ง และกระบวนพยุหยาตราชลมารค (น้อย) 8 ครั้ง

สำหรับการจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคในวันที่ 20 ตุลาคมนี้ ใช้เรือพระราชพิธี 50 ลำ ประกอบด้วยเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ และเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เรือรูปสัตว์ 12 ลำ และเรือดั้ง 36 ลำ ใช้กำลังพลร่วมแสดง 2,082 นาย รวมกำลังสำรองเป็น ทั้งหมด 2,200 นาย ความยาวของกระบวนเรือ 1,200 เมตร
คลิกขยายภาพ


เรือครุฑเหินเห็จ และเรือเตร็จไตรจักร


ครุฑเหินเห็จ เรือครุฑเหินเห็จ ลำเดิมสร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 โขนเรือเป็นรูปครุฑ แต่ได้ถูกระเบิดเสียหายในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ.2487 กรมศิลปากรได้ตัดหัวเรือและท้ายเรือเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ เมื่อปี พ.ศ.2491 ลำปัจจุบันสร้างขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ.2511 โดยใช้หัวเรือเดิมมาซ่อมแซม ท้ายเรือทำใหม่เสร็จแล้ว ช่างแกะสลักลวดลายทำงานอีก 18 เดือน ช่างลงรักทำงาน 6 เดือน ช่างเขียนลายรดน้ำทำงานประมาณ 6 เดือน ช่างปิดทองและประดับกระจกทำงานประมาณ 4 เดือน หลังจากนั้น มีการซ่อมแซมใหญ่เมื่อปี พ.ศ.2524-2525 เรือลำนี้ยาว 28.58 ม. กว้าง 2.10 ม. และลึก 56 ซ.ม.

เรือครุฑเตร็จไตรจักร ลำเดิมถูกระเบิดเสียหายช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กรมศิลปากรเก็บหัวเรือและท้ายเรือไว้ ลำปัจจุบันสร้างใหม่เมื่อปี พ.ศ.2511 เรือลำนี้ยาว 28.72 ม. กว้าง 2.08 ม. ลึก 50 ซ.ม.

เรือทั้ง 2 ลำใช้ฝีพายลำละ 34 นาย นายท้าย 2 นาย นายเรือ 1 นาย สัญญาณ 1 นาย ธงท้าย 1 นาย และคนกระทุ้งเส้า 2 นาย

ครุฑเตร็จไตรจักร

เรือเอกชัยเหินหาว
เรือเอกชัยเหินหาว และ เรือเอกชัยหลาวทอง
เรือเอกชัยเหินหาว ลำเดิมไม่พบหลักฐานที่สร้าง และเรือลำนี้ได้ถูกระเบิดเสียหายในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อมากรมศิลปากรได้ตัดหัวเรือและท้ายเรือเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ เมื่อปี พ.ศ.2491

ลำปัจจุบัน สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2508 โดยกรมอู่ทหารเรือ และนำลงน้ำครั้งแรก เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2510 จากนั้นใช้เวลาประมาณ 18 เดือนทำการตกแต่งตัวเรือโดยช่างแกะสลัก 6 เดือนโดยช่างลงรักปิดทอง 6 เดือนโดยช่างเขียนลายรดน้ำ และอีก 4 เดือนเป็นงานของช่างปิดทองและประดับกระจก เรือลำนี้ยาว 29.76 ม. กว้าง 2.06 ม. ลึก 60 ซ.ม.

เรือเอกชัยหลาวทอง ลำเดิมไม่พบหลักฐานที่สร้าง ต่อมาได้ถูกระเบิดเสียหายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กรมศิลปากรได้ตัดหัวเรือและท้ายเรือเก็บรักษาไว้

ลำปัจจุบันสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2508 โดยกรมอู่ทหารเรือ ใช้เวลาตกแต่งตัวเรือโดยช่างแกะสลักประมาณ 14 เดือน ช่างลงรักปิดทองทำงานประมาณ 6 เดือน ช่างปิดทองและช่างประดับกระจกใช้เวลาอีก 4 เดือน เรือลำนี้ยาว 29.64 ม. กว้าง 1.96 ม. และลึก 60 ซ.ม.

เรือทั้ง 2 ลำใช้ฝีพายลำละ 28 นาย นายท้าย 2 นาย นายเรือ 2 นาย สัญญาณ 1 นาย และธงท้าย 1 นาย
เอกชัยหลาวทอง

กระบี่ราญรอนราพณ์

สุครีพครองเมือง
เรือกระบี่ปราบเมืองมาร เรือกระบี่ราญรอนราพณ์
เรือพาลีรั้งทวีป และเรือสุครีพครองเมือง
เรือทั้ง 4 ลำ มีโขนเรือเป็นรูปลิง ซึ่งเป็นทหารเอกของพระรามใน มหากาพย์เรื่องรามเกียรติ์

เรือกระบี่ปราบเมืองมาร ไม่พบหลักฐานการสร้าง แต่ถูกระเบิดเสียหายในสงครามโลกครั้งที่ 2 กรมศิลปากรจึงได้ตัดหัวเรือและ ท้ายเรือเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์
ลำปัจจุบันได้สร้างขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ.2510 โดยนำหัวเรือเดิมมาซ่อมแซม ส่วนท้ายเรือทำใหม่ แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2511 ต่อมามีการซ่อมแซมใหญ่ ทำการเปลี่ยนไม้ตัวเรือที่ผุชำรุดบางส่วน ลงรักปิดทองทาสีใหม่และอื่นๆ เพื่อให้ทันใช้ในงานฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เมื่อปี พ.ศ.2525 หัวเรือมีช่องสำหรับติดตั้งปืนใหญ่ 1 กระบอก เหนือช่องปืนเป็นรูปขุนกระบี่สีขาว

เรือกระบี่ราญรอนราพณ์ ไม่พบหลักฐานที่สร้าง ในปี พ.ศ.2509 มีการซ่อมแซมทำตัวเรือทั้งลำ และได้ทำหางเรือขึ้นมาใหม่ พอปี พ.ศ.2524 มีการซ่อมแซมครั้งใหญ่โดยการเปลี่ยนไม้ตัวเรือที่ผุชำรุดบางส่วน ตกแต่งลวดลาย ลงรักปิดทอง การซ่อมแซมแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2525

หัวเรือมีช่องสำหรับติดตั้งปืนใหญ่ 1 กระบอก เหนือช่องปืนเป็นขุนกระบี่สีลูกหว้า

เรือทั้ง 2 ลำ ใช้ฝีพาย ลำละ 36 นาย นายท้าย 2 นาย สัญญาณ 1 นาย นายเรือ 1 นาย คนกระทุ้งเส้า 2 นาย ธงท้าย 1 นาย และพนักงานกลองชนะ 10 นาย

เรือพาลีรั้งทวีป และเรือสุครีพครองเมือง ไม่พบหลักฐานการสร้างเรือทั้ง 2 ลำ มีการซ่อมแซมใหญ่ เปลี่ยนไม้ตัวเรือที่ผุพังเมื่อ ปีพ.ศ.2524 ลงรักปิดทอง ทาสีตัวเรือใหม่และอื่นๆ แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2525

เรือพาลีรั้งทวีป มีช่องกลมตรงหัวเรือสำหรับติดตั้งปืนใหญ่ เหนือช่องปืนเป็นรูปขุนกระบี่สีเขียว
เรือลำนี้ยาว 29.03 ม.กว้าง 2 ม. และลึก 63 ซ.ม.

ส่วนเรือสุครีพครองเมือง ลำเดิมมีพื้นสีดำ หัวเรือมีช่องกลมสำหรับติดตั้งปืนใหญ่ เหนือช่องปืนเป็นรูปขุนกระบี่สีแดง เรือลำนี้ยาว 29.10 ม. กว้าง 1.98 ม. ลึก 60 ซ.ม.

เรือทั้ง 2 ลำใช้ฝีพายลำละ 36 นาย นายท้าย 2 นาย นายเรือ 1 นาย สัญญาณ 1 นาย ธงท้าย 1 นาย กลองชนะ 10 นาย และคนกระทุ้งเส้า 2 นาย

กระบี่ปราบเมืองมาร

พาลีรั้งทวีป

อสุรวายุภักษ์
เรืออสุรวายุภักษ์ และ เรืออสุรปักษี
เรือทั้ง 2 ลำไม่พบหลักฐานการสร้าง เรืออสุรวายุภักษ์ มีโขนเรือเป็นรูปครึ่งยักษ์ครึ่งนก มีส่วนบนเป็นยักษ์ ส่วนล่างเป็นนก องค์เป็นสีม่วง ส่วนเรืออสุรปักษา โขนเรือเหมือนเรืออสุรวายุภักษ์ เพียงแต่ส่วนองค์มีสีเขียว

เรือทั้ง 2 ลำได้มีการซ่อมใหญ่ เมื่อ ปีพ.ศ.2524 โดยเปลี่ยนตัวเรือที่ผุชำรุดบางส่วน ตกแต่งลวดลายลงรักปิดทอง และทาสีตัวเรือ

เรืออสุรวายุภักษ์ ยาว 31 ม. กว้าง 2.03 ม. และลึก 62 ซ.ม.

เรืออสุรปักษี ยาว 31.16 ม. กว้าง 2.03 ม. ลึก 61 ซ.ม.
เรือทั้ง 2 ลำ ใช้ฝีพายลำละ 38 นาย นายท้าย 2 นาย นายเรือ 1 นาย ธงท้าย 1 นาย และสัญญาณ 1 นาย คนกระทุ้งเส้า 2 นาย
อสุรปักษี

เรือคำรณสินธุ์
เรือเสือทะยานชล และ เรือเสือคำรณสินธุ์
ไม่พบหลักฐานการสร้าง เป็นเรือที่ผู้พบเห็นสามารถจำได้ทันที เพราะมีหัวเรือเป็นรูปวาดของหน้าเสือแยกเขี้ยว และตัวเรือเป็นลายเสือ ส่วนหน้าของเรือจะมีปืนใหญ่วางอยู่ลำละ 1 กระบอก ในปี พ.ศ. 2524 มีการซ่อมใหญ่เรือทั้ง 2 ลำ

เรือเสือทะยานชล ยาว 22.20 ม. กว้าง 1.75 ม. ลึก 70 ซ.ม.

เรือคำรณสินธุ์ ยาว 22.23 ม. กว้าง 1.75 ม.และลึก 70 ซ.ม. เรือทั้ง 2 ลำใช้ฝีพายลำละ 26 นาย นายท้าย 2 นาย นายเรือ 1 นาย และสัญญาณ 1 นาย



หมวดรูปสัตว์
คนตีกลองชนะ ทำหน้าที่ตีกลองชนะ ซึ่งเป็นมโหรีใช้ในพระราชพิธีต่างๆ

คนตีกลองจะมีชุดสวมใส่ 2 ชุด คือชุดสีเขียวและชุดสีแดง

ชุดสีเขียว สวมเสื้อและกางเกงผ้าสีเขียว ปลายแขนและปลายขาติดแถบสีเหลือง สวมหมวกกลีบลำดวนสีเขียว รองเท้าหนังสีดำ

ชุดสีแดง สวมเสื้อและกางเกงผ้าสีแดง ปลายแขนและปลายขาติดแถบสีเหลือง สวมหมวกกลีบลำดวนสีแดง รองเท้าหนังสีดำ คนตีกลองชนะจะนั่งอยู่ในเรือ อสุรวายุภักษ์ และอสุร-ปักษา กระบี่ปราบเมืองมาร และกระบี่ราญรอนราพณ์ นายท้าย ทำหน้าที่เหมือนกับนายท้ายเรือพระที่นั่งและเรือพระที่นั่งรอง การแต่งกายก็เหมือนกัน

นายท้าย ทำหน้าที่เช่นเดียวกับ นายเรือพระที่นั่งและเรือ พระที่นั่งรอง การแต่งกาย ก็เหมือนกัน นายท้าย ทำหน้าที่เหมือนกับนายท้ายเรือพระที่นั่งและเรือพระที่นั่งรอง การแต่งกายก็เหมือนกัน นายเรือ ทำหน้าที่เช่นเดียวกับ นายเรือพระที่นั่งและเรือ พระที่นั่งรอง การแต่งกาย ก็เหมือนกัน ผิดแต่หมวกที่สวมจะเป็นทรงประพาสสีดำ

นักสราช หรือ คนเทิดธง หรือ ธงท้าย ทำหน้าที่เช่นเดียวกับนักสราชเรือพระที่นั่งและเรือพระที่นั่งรอง การแต่งกายจะคล้ายกับคนถือฉัตรเรือพระที่นั่งและเรือพระที่นั่งรอง จะผิดกันก็เพียงการสวมหมวก ซึ่งจะเป็นหมวกหูกระต่ายสีแดง และถุงเท้ายาวสีขาว คนสัญญาณ ลักษณะการนั่งและการทำหน้าที่เหมือนคนสัญญาณเรือพระที่นั่ง และเรือพระที่นั่งรอง การแต่งกายเกือบคล้ายกัน ต่างเฉพาะสีของผ้านุ่งเกลี้ยงจะออกไปทางสีแดงชานหมาก และธงที่ใช้ให้สัญญาณจะเป็นธงมือสีแดง ขาว

คนกระทุ้งเส้า เนื่องจากในเรือพระที่นั่งและเรือพระที่นั่งรองจะมีคนเห่ขานยาวคอยให้จังหวะในการพาย แต่ในเรือลำอื่นๆ อีกกว่า 30 ลำไม่มี คนกระทุ้งเส้าจึงทำหน้าที่ในการให้จังหวะการพายโดยการกระทุ้งเส้า ซึ่งทำจากกระบอกไม้ยาวตรง คนกระทุ้งเส้าจะสวมเสื้อมัสรู่ไหม นุ่งผ้าเกี้ยวลาย คาดผ้าโหมดเทศ สวมหมวกหูกระต่ายสีแดงแถบลูกไม้ใบข้าว สวมถุงเท้ายาวสีขาว รองเท้าติดโบ

ฝีพาย ฝีพายของเรือพระที่นั่งและพระที่นั่งรอง จะพายในท่านกบิน นอกนั้นจะพายในท่าพลราบ

ฝีพายที่ทำหน้าที่พายเรือ กระบี่ปราบเมืองมาร กระบี่ราญรอนราพณ์ พาลีรั้งทวีป สุครีพครองเมือง อสุรวายุภักษ์ อสุรปักษา ครุฑเหินเห็จ และครุฑเตร็จไตรจักร จะสวมเสื้อเสนากฎลาย สวมกางเกงผ้าขาวริ้วทางแดงหรือน้ำเงิน คาดผ้ารัดประคด สีแดงดอกขาว สวมหมวกสังกะสีทาสีแดงหรือน้ำเงิน มีลายยันต์ สวมถุงเท้าและรองเท้าหนังสีดำ

สำหรับฝีพายเรือเสือ จะสวมเสื้อผ้าปัตตูสีแดง ติดแถบสีเหลือง กางเกงผ้าขาวริ้วทางแดง คาดผ้ารัดประคดสีแดงดอกขาว สวมหมวกกลีบลำดวนสีแดงติดแถบ สีเหลือง สวมรองเท้าหนังสีดำ

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่9

เป็นเรือที่มีโขนเรือเป็นพระนารายณ์ทรงครุฑ ตามคติความเชื่อของฮินดู ครุฑเป็นพาหนะของพระนารายณ์ เรือดั้งเดิมสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ต่อมาเรือชำรุดเสียหาย ยังคงเหลือแต่เพียงโขนเรือ

การสร้างเรือลำปัจจุบัน กองทัพเรือร่วมกับกรมศิลปากร ได้นำเอาโขนเรือเก่ามาเป็นแม่แบบ โดย กองทัพเรือดำเนินการในส่วนที่เป็นโครงสร้างของตัวเรือ พายและคัดฉาก ส่วนกรมศิลปากรดำเนินการในส่วนที่เป็นศิลปกรรม

โขนเรือพระที่นั่งลำนี้ เป็นโขนเรือ แกะสลักจากไม้ลงรักปิดทองประดับกระจกตลอดทั้งลำ ลวดลายเขียนลายดอกพุดตานพื้น ส่วนท้ายเรือมีลักษณะคล้ายเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช แต่ส่วนเหนือมาลัยท้ายเป็นสร้อยหางครุฑ ปลายหางสุดของท้ายเรือเป็นกนกหางครุฑ ท้องลายของท่อนหางเป็นขนครุฑ สีพื้นเรือหรือสีท้องเรือเป็นสีแดงชาด

เรือนารายณ์ทรงสุบรรณ มีขนาดยาว 44.30 ม. ความกว้าง 3.20 ม. ความลึกของเรือ 1.10 ซ.ม. ใช้ฝีพาย 50 นาย นายเรือ 2 นาย นายท้าย 2 นาย สัญญาณ 1 นาย คนถือฉัตร 7 นาย ขานยาว 1 นาย และธงท้าย 1 นาย

หน้าที่และการแต่งกายของผู้ประจำเรือในกระบวนเรือพระราชพิธี เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ และเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชการที่ 9

คนสัญญาณ จะนั่งอยู่ที่หัวเรือโดยหันหน้าไปทางลำเรือและท้ายเรือ จะเป็นคนคอยบอกให้ฝีพาย ทำการพาย การคัด การวาด การเดินหน้า การถอยหลัง โดยใช้พู่หางนกยูงให้สัญญาณ คนสัญญาณจะรับสัญญาณจากนายเรือ โดยดูจากนิ้วของนายเรือ

การแต่งกายจะสวมเสื้อผ้าอัตลัดนุ่งผ้าเกี้ยวลาย คาดผ้าคาดโหมดเทศ สวมหมวกหูกระต่ายสีแดง ติดลูกไม้ใบข้าว สวมถุงเท้ายาวสีขาว และรองเท้าหนังสีดำ คนสัญญาณจะมีลำละ 1 นาย คนถือฉัตร จะเป็นเจ้าหน้าที่เครื่องสูง ซึ่งจะต้องมีประจำเรือพระที่นั่งและเรือพระที่นั่งรอง ทำหน้าที่ถือฉัตร 5 ชั้นและฉัตร 7 ชั้น ซึ่งแสดงถึงพระอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ ในขณะเดียวกันก็จะทำหน้าที่เป็นตัวสำรองฝีพาย ในกรณีเกิดการเจ็บป่วย

การแต่งกายจะสวมเสื้อเข้มขาบไหม กางเกงผ้ามัสรู่ไหม คาดผ้าคาดโหมดเทศ ศีรษะสวมลอมพอกหางเหยี่ยวแดง สวมถุงเท้ายาวสีดำ และรองเท้า หนังสีดำ
ฝีพาย ทำหน้าที่พายเรือพระที่นั่ง และเรือพระที่นั่งรอง ซึ่งมีจำนวน ลำละ 50 นาย การพายจะเป็นการพายท่านกบิน

ฝีพายจะสวมเสื้อสักหลาดสีแดง ติดลูกไม้ใบข้าว กางเกงผ้าเสิร์จสีดำ คาดผ้ารัดประคดโหมดเทศ ดาบฝักไม้ ด้ามไม้กลึง สายสะพายดาบสักหลาดสีแดงติดแถบลูกไม้ สวม หมวกทรงประพาสสักหลาดแดงติดลูกไม้ใบข้าว สวมถุงเท้ายาวสีขาว รองเท้าหนังสีดำ
คนเห่ขานยาว หรือ พนักงานเห่ จะมีเฉพาะในเรือพระที่นั่งและ เรือพระที่นั่งรอง นอกจากเห่แล้วจะทำหน้าที่ตรวจสอบจังหวะการพาย โดยการใช้เสียงขานในการให้จังหวะ

คนเห่ขานยาวจะสวมเสื้อผ้าโหมดเทศ นุ่งผ้าเกี๊ยวลาย คาดผ้าคาดโหมดเทศ สวมหมวกทรง ประพาสยอดเกี้ยว สวมถุงเท้ายาว สีขาว และรองเท้าหนังสีดำ
นายเรือ ทำหน้าที่ควบคุมดูแลให้เรือไปใน ทิศทางที่ต้องการ โดยทำงานประสานกับคนสัญญาณ

การแต่งกายจะสวมเสื้อผ้าโหมดเทศ นุ่งผ้าม่วงเชิงทอง สวมหมวกทรงประพาสสีทองยอดเกี้ยว คาดเข็มขัดแถบทองรวมทั้งพู่และกระบี่ ขัดดาบ สวมถุงเท้ายาวสีขาว และรองเท้าหนังสีดำ ผู้ควบคุมเรือพระที่นั่ง แต่เดิมไม่มีตำแหน่งนี้ในเรือพระที่นั่ง เริ่มมามีในช่วงกระบวนพยุหยาตราชลมารค ในปี พ.ศ.2539 และ พ.ศ.2542 ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษานายเรือ

การแต่งกายจะสวมเสื้อผ้าโหมดเทศสีแดง นุ่งผ้าเกี้ยวลาย สวมหมวกทรงประพาสสีทองยอดเกี้ยว คาดเข็มขัดแถบทองรวมทั้งพู่และกระบี่ขัดดาบ สวมถุงเท้ายาวสีขาว และรองเท้าหนังสีดำ
นายท้าย ทำหน้าที่คัดหางเสือเรือให้ไปทางซ้ายหรือขวา ตามที่นายเรือสั่ง หรือที่ได้ตกลงกันไว้เวลาผ่านตามจุดต่างๆ

การแต่งกายจะสวมเสื้อผ้าโหมดเทศสีเขียว นุ่งผ้าเกี้ยวลาย สวมหมวกทรงประพาส สีทองยอดเกี้ยว คาดผ้าคาดโหมดเทศ สวมถุงเท้ายาวสีขาว และรองเท้าหนังสีดำ
นักสราช หรือ คนเทิดธง หรือ ธงท้าย เจ้าหน้าที่เครื่องสูงคอยดูแลธงประจำเรือ จะนั่งอยู่ท้ายเรือสุดหลังนายท้าย

การแต่งกายสวมเสื้อมัสรู่ไหม นุ่งผ้าเกี้ยวลาย คาดผ้าคาดโหมดเทศ สวมหมวก ทรงประพาส สวมถุงเท้ายาว สีขาว และรองเท้าหนังสีดำ




พระราชพิธี
กระบวนพยุหยาตราชลมารค


การเสด็จพระราชดำเนินของพระมหากษัตริย์ไทยนับตั้งแต่โบราณกาลมา การเสด็จพระราชดำเนินทางบก เรียกว่า “พยุหยาตราสถลมารค” ส่วน
การเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำเรียกว่า “พยุหยาตราชลมารค” ซึ่งหมายถึง ริ้วกระบวนที่จัดขึ้นในการที่พระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปในการต่างๆ ทั้งเป็นการส่วนพระองค์และที่เป็นการพระราชพิธี เช่น พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน พระราชพิธี บรมราชาภิเษก การเสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการรอย พระพุทธบาท การอัญเชิญพระพุทธรูปที่สำคัญจากหัวเมืองเข้ามาประดิษฐานในเมืองหลวง เป็นต้น

นักประวัติศาสตร์ได้สันนิษฐานว่า ประเพณีกระบวน พยุหยาตราชลมารค เห็นจะมีมาแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็น ราชธานีคือ เมื่อประมาณ 700 ปีล่วงมาแล้ว แต่หลักฐานชิ้นแรกที่เรามีหลงเหลืออยู่ในปัจจุบันเกี่ยวกับกระบวนเรือพระราชพิธีในอดีตก็คือ หลักฐานในชั้นต้นสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองเกาะ ชีวิตความเป็นอยู่ริมน้ำของชาวกรุงเก่าจำต้องอาศัยเรือในการสัญจรไปมา รวมทั้งในเวลารบทัพจับศึก ก็จะใช้กระบวนทัพเรือเป็นสำคัญ จึงปรากฏว่ามีการสร้างเรือรบมากมายในสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อประมาณ พ.ศ.1990 สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรากฎมนเฑียรบาลใช้สำหรับเป็นธรรมเนียม ราชตระกูลและราชสำนัก ในบทพระอัยการหลายมาตราได้กล่าวถึงกระบวนเรือพระราชพิธีไว้อย่างชัดเจน เป็นต้นว่า ในเดือน 11 มีพระราชพิธี “อาษยุชพิธี” คือการแข่งเรือเสี่ยงทายระหว่างเรือพระที่นั่งสมรรถไชย อันเป็นเรือพระที่นั่งทรง กับเรือพระที่นั่งไกรสรมุข ของสมเด็จ พระอัครมเหสี มีธรรมเนียมถือสืบกันมาว่า ถ้าเรือพระที่นั่งสมรรถไชยแพ้ ปีนั้นข้าวจะเหลือเกลือจะอิ่ม ปวงประชาจะสุขเกษมกันทั่วหน้า แต่ตรงกันข้าม ถ้าเรือพระที่นั่งสมรรถไชยชนะ ปีนั้นจะเกิดยุคเข็ญ

ครั้งล่วงมาอีกประมาณร้อยปีเศษ ในพระราชพงศาวดารแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้พบบันทึกว่า เมื่อคราวเสด็จไปตีเมืองเมาะตะมะนั้น เสด็จฯ ทางชลมารค โดยโปรดให้พายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์อันเป็นเรือทรงพระพุทธ-ปฏิมากรทองนพคุณ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุถวายพระนามสมญา “พระพิชัย” และอีกครั้งหนึ่งเมื่อคราวทรงยกทัพไปรับทัพพระมหาอุปราชฝ่ายพม่า ทรงกรีธาทัพไปทางชลมารค และโปรดให้เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์อัญเชิญพระชัยนำ กระบวนกันไปเป็นสวัสดิมงคล ความงามสง่าของกระบวนเรือตอนนี้ สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ได้ทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือ ลิลิตตะเลงพ่าย

ในยามที่บ้านเมืองปราศจากศึกสงคราม เมื่อถึงฤดูกาล น้ำหลากอันเป็นเวลาที่ราษฎรว่างเว้นจากการทำนา ทางการก็จะเรียกระดมพลมาฝึกซ้อมกระบวนเรือ เพื่อใช้ในพิธีสำคัญๆ เพื่อให้ไพร่พลได้รื่นเริงในการกุศล เรือเหล่านี้มักจะมีการจำหลักลวดลาย และประดับประดาให้สวยงามวิจิตรพิสดาร

ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น ปรากฏหลักฐานว่า เมื่อพระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปยังหัวเมือง ต่างๆ จะมีการจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารค ซึ่งเรียกว่า “กระบวนเพชรพวง” เป็นริ้วกระบวนที่ยิ่งใหญ่งดงามเป็นสี่สาย พร้อมริ้วเรือพระที่นั่งตรงกลางอีกสายหนึ่ง ใช้เรือไม่น้อยกว่าร้อยลำ มีบันทึกของชาวต่างประเทศ ชื่อ นิโคลาส แชร์ แวส์ บุคคลในคณะทูตฝรั่งเศสผู้หนึ่ง ซึ่งเดินทางเข้ามาในประเทศไทยสมัยนั้น บรรยายไว้ในหนังสือชื่อ “ประวัติศาสตร์แห่งราชอาณาจักรสยาม” ถึงกระบวนพยุหยาตราชลมารคในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชไว้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ ความว่า “จะไม่สามารถเทียบความงามกับขบวนเรือที่มโหฬาร มีเรือดั้ง 200 ลำ โดยมีเรือพระที่นั่งพายเป็นคู่ๆ ไปข้างหน้า เรือพระที่นั่งนั้นใช้ฝีพายของแขนแดง ที่ได้รับการฝึกพายมาจนชำนาญ ทุกคนสวมหมวก เสื้อ ปลอกเข่า ปลอกแขน มีทองคำประกอบ เวลาพายจะพายพร้อมกันเป็นจังหวะจะโคน พายนั้นก็เป็นทองเหมือนกัน เสียงพายกระทบน้ำเป็นเสียงประสานไปกับทำนองเพลงยอพระเกียรติของพระเจ้าแผ่นดิน”

การเคลื่อนกระบวนพยุหยาตราชลมารค จะควบคู่ไปกับการเห่เรือ พร้อมด้วยเครื่องประโคม จนเกิดเป็นวรรณกรรมร้อยกรองที่ไพเราะยิ่ง คือ “กาพย์เห่เรือ” ซึ่งเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร (เจ้าฟ้ากุ้ง) ในสมัยพระเจ้าบรมโกศ ตอนปลายกรุงศรีอยุธยา
ได้ทรงบรรยายถึงความงดงามและลักษณะของเรือในกระบวนพยุหยาตราชลมารคในครั้งนั้น และบทเห่เรือนี้ก็ได้เป็นแม่แบบของการแต่งกาพย์เห่เรือในปัจจุบัน

ต่อมาใน พ.ศ.2310 เมื่อคราวเสีย กรุงศรีอยุธยา ปรากฏว่า กระบวนเรือพระ-ราชพิธีได้ถูกข้าศึกทำลายสูญสลายกลาย เป็นเถ้าถ่านไปในกองเพลิง

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่ปวงชนชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้ เมื่อ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงกอบกู้เอกราชของชาติไทยจนสำเร็จ และในเวลาต่อมา พระองค์ได้ทรงเร่งสร้างเรือพระราชพิธีขึ้น สำหรับใช้ในราชการศึกสงคราม จะเห็นได้จาก ในพระราชพิธีสมโภชรับพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกต ซึ่งอัญเชิญมาจากเวียงจันทร์และแห่มาพักไว้ที่กรุงเก่า คือ พระนครศรีอยุธยา มีข้อความในหมายรับสั่งพรรณนา กระบวนเรือที่แห่มาจากต้นทางว่า รวมเรือแห่ทั้งปวง 115 ลำ และสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จขึ้นไปสมทบที่พระตำหนักบางธรณีกรุงเก่า ความว่า มีเรือแห่มารวมกันเป็นจำนวนรวม 246 ลำ ในครั้งนั้นถือได้ว่า เป็นการเตรียมกำลังรบทางน้ำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของชาติไทย และสะท้อนให้เห็นพระปรีชาสามารถ และการให้ความสำคัญในยุทธวิธีทางน้ำของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้เป็นอย่างดี และกระบวนเรือพระราชพิธีได้รับการบูรณะและฟื้นฟูขึ้นมาอีก ครั้งหนึ่ง กระบวนพยุหยาตราชลมารคในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2325 ซึ่งเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระ พุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระปฐมกษัตริย์แห่งพระ มหาจักรีบรมราชวงศ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้าย พระนครหลวงจากธนบุรีมาอยู่ฝั่งกรุงเทพมหานคร อันเป็น ชัยภูมิสถานสำหรับการรบพุ่งที่ดีกว่าสืบมาจนถึงปัจจุบันนี้ หม่อมราชวงศ์แสงสูรย์ลดาวัลย์ได้ให้อรรถาธิบายไว้ในหนังสือเรือ “กระบวนเรือพยุหยาตรา” ว่า

“กฐินพยุหยาตราชลมารคในสมัยรัชกาลที่ 1 นั้น นอกจากจะมีกระบวนหลวง ซึ่งจัดเป็นกระบวนพยุหยาตรากรีธาทัพอย่างโบราณแล้ว พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลี พระบาท และอาณาประชาราษฎร์ที่มีฐานะ ยังได้ตกแต่งเรือด้วยลักษณะต่างๆ เช่น ทำเป็นจระเข้ เป็นหอย เป็นปลา เป็นสัตว์ต่างๆ มาสมทบเข้ากับขบวน เป็นกระบวนนำและกระบวนหลวง เรือบางลำก็มีวงปี่พาทย์และการละเล่นต่างๆ ไปในเรือด้วย ต่อมารัชกาลที่ 2 ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แต่งเรือ กระบวนเรือพยุหยาตราชลมารคอย่างยิ่งใหญ่เสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐิน มีเรือพระบรมวงศานุวงศ์และข้า ละอองธุลีพระบาทแต่งเป็นรูปต่างๆ เข้ากับกระบวนเช่นในรัชกาลก่อน ในรัชกาลต่อมาก็ได้มีการจัดกระบวนพยุหยาตราอย่างใหญ่บ้างอย่างน้อยบ้าง ไปถวายผ้าพระกฐินสืบต่อกันเรื่อยมา”

ในสมัยรัชกาลที่ 4 บ้านเมืองปราศจากการศึกสงคราม อีกทั้งมีการใช้เรือกลไฟ ซึ่งใช้เครื่องจักรไอน้ำแทนมากขึ้น เรือรบในแม่น้ำหรือเรือพระราชพิธีเมื่อครั้งในอดีตจึงยุติบทบาทลง คงใช้เป็นเรือพระที่นั่งขององค์พระประมุขในการเสด็จฯ ไปในพระราชพิธีที่สำคัญ เช่น พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินหรือพิธีต้อนรับแขกเมือง ซึ่งเป็นการรักษาขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีอันดีงามของชาติไทยมาจวบจนทุกวันนี้







กาพย์
แหล่งที่มาของข้อมูล //www.bangkokpost.net/apec2003/royalbarge/index.html

เพลงประกอบ //www.esnips.com/ViewDocumentAction.ns;jsessionid=5062F779A9E9A29F50705C86C28E7D2A




Various - 01 ลาวสว...



Create Date : 01 พฤศจิกายน 2550
Last Update : 1 พฤศจิกายน 2550 2:43:58 น. 0 comments
Counter : 1878 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สาว17
Location :
ลูกสาวเมืองสิงห์ Germany

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




Color Codes ป้ามด







เพื่อรักษาไว้ซึ่งชีวิตครอบครัว
มีบางครั้งที่เราต้องทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ
มีบ้างบางครั้งที่เราต้องเลิกทำในสิ่งที่ชอบ
เพื่อความก้าวหน้าของชีวิตครอบครัว
มีบ่อยครั้งที่เราต้องรู้จักใช้สติ
ต้องรู้จัก อดทน และให้อภัย
ดูอย่างต้นไม้ซิ
มันไม่เคยที่จะผืนลิขิตของฤดูกาล
มันไม่คิดจะขัดธรรมชาติ
เมื่อถึงคราวต้องทิ้งใบก็ยินยอมแต่โดยดี
อดทนและอดทน
เพื่อผลิใบ และดอกผลเมื่อฝนมา
เพราะเมื่อเวลามาถึงทุกสิ่งจะดำเนินไป
ชีวิตที่เรียบง่ายคือชีวิตที่มีสุข








Free Hit Counter ทีเว็บมาสเตอร์ รวมพลคนทำเว็บ
Google
New Comments
Friends' blogs
[Add สาว17's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.