เมื่อตะวันยอแสง..เรี่ยวแรงก็เริ่มอ่อนล้า..พักลงตรงนี่ที่เดิมแล้วหลับตา..
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2556
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
8 ตุลาคม 2556
 
All Blogs
 
ใต้เงาฝนต่อหน้าทะเลและผู้คน...ประจวบคีรีขันธ์





ฐากูร โกมารกุล ณ นคร...เรื่อง
สาธิต บัวเทศ...ภาพ

ฤดูมรสุมคลี่คลุมเมืองเล็ก ๆ แห่งทะเลอ่าวไทยไว้ด้วยม่านฝน มันหลอมรวมชีวิตบนฝั่งให้เคลื่อนไหวไปตามข้อจำกัดของฤดูกาล ในวันที่เราไปถึงประจวบคีรีขันธ์ เรือไดหมึก เรือประมงเล็กก่ายเกยเรียงรายแน่นอ่าวประจวบ ใครบางคนว่ามันคือภาพลงตัวทางสายตาและเฟรมถ่ายภาพ ขณะที่พี่น้องประมงริมฝั่งเฝ้ารอห้วงยามลมสงบ

เวลาน้ำขึ้นตามปฏิทินข้างขึ้นข้างแรม ชีวิตกลางทะเลและกลิ่นคาวปลาดูจะงดงามและมีคุณค่ามากกว่า ถัดเหนือขึ้นมาจากทะเล ห้องแถวไม้ที่ประกอบกันขึ้นเป็นย่านเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ไม่ห่างหายผู้คน มันไร้อารมณ์ปรุงแต่งประเภทรำลึกอดีต เพราะตรงหน้าคือปัจจุบัน อันมีจิตวิญญาณ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและเป็นไป

หลายปีที่ผมเทียวไปเทียวมากับเมืองประมงเล็ก ๆ ในอ่าวประจวบคีรีขันธ์ บางคราวผ่านทางมาเพื่อฝากท้องกับอาหารสักมื้อ ขณะที่หลายหนก็เลือกมุมสงบริมทะเลเป็นที่พักพิง สิ่งใดกันแน่ฉุดดึงให้หลายคนเข้ามาเยือนที่นี่ เมืองเล็ก ๆ ที่มีระยะห่างระหว่างเขตเขาตะนาวศรีชายแดนไทย-เมียนมาร์ จรดฝั่งทะเลอ่าวไทยเพียงราว 12 กิโลเมตร หลายสิ่งกลมกลืนและสร้างทิศทางอันเหมาะสมให้ชีวิตที่หายใจ อยู่ในเมืองที่ “แคบ” ที่สุด ไม่เคยตกหล่นเลือนหาย แม้ว่าโฉมหน้าของวันเวลาจะพยายามพลิกเปลี่ยนพวกเขาไปเท่าใดก็ตาม



ยามเช้าที่อ่าวน้อย หมู่บ้านชาวประมงอันเงียบสงบ หาดสีน้ำตาลนวลเจือกลิ่นฝนอ่อน ๆ เชื้อเชิญให้ผู้มาเยือนก้าวเท้าเดินสัมผัส มันไม่ได้ขาวเนียนชวนโรแมนติกเหมือนหาดท่องเที่ยวอื่น ๆ แต่ก็สะอาดที่สุดเท่าที่หาดประมงเล็ก ๆ แห่งหนึ่งจะเป็นได้ ลอบหมึกและอวนปูก่ายกองอยู่ริมหาด ชีวิตหากินยามฤดูฝนของพี่น้องอ่าวน้อยหลงเหลืออยู่กับการซ่อมอวน แห พับม้วนมันเป็นทบ ๆ อย่างชำนิชำนาญ เพื่อให้ไม่ติดเป็นปมยามคลี่กางที่กลางทะเล



“ไม่มีแดดก็มีแต่ปลาสด” ชายกลางคนใบหน้าและสีผิวกร้านแดดทะเลว่าจริง ๆ แล้ว บ้านอ่าวน้อยคือหมู่บ้านที่หล่อเลี้ยงตัวเองด้วยงานประมงอย่างจริงแท้ “หากเป็นช่วงแดดดี แดดจัด ตามลานบนฝั่งนี่มีแต่แผงตากปลา ตากหมึก ทุกบ้านล่ะ”

ผมนึกย้อนไปเกือบสิบปีที่มาเยือนอ่าวน้อย ครั้งนั้นแผงปลาฉิ้งฉ้างเหยียดยาว โดยมีปลายทางหลักอยู่ถึงประเทศศรีลังกา บางบ้านแน่นเต็มไปด้วยแผงหมึก หญิงชราและเด็ก ๆ สาละวนกับการงานตรงหน้าแทนการพร่ำสอนด้วยวาจา ส่วนพวกผู้ชายแสนกำยำ ชีวิตไกลบ้านของพวกเขานั้นอยู่กลางทะเลอ่าวไทย นาทีขึ้นฝั่งคือเรื่องของการพักผ่อนหลังรอนแรม



เหนืออ่าวน้อยจากการเดินขึ้นไปสักการะพระพุทธรูปปางไสยาสน์ภายในถ้ำของวัดอ่าวน้อย (วัดเขาคั่นกระได) คือภาพกระจ่างตาของหมู่บ้านชาวประมงเล็ก ๆ ห้วงยามมรสุมส่งผลให้เรือประมงแนบเกยชายหาด ลอยลำเรียงรายเป็นจุดเล็กจุดน้อยประดับผืนทะเล มันกว้างไกลใหญ่โต มีฉากหลังคือที่ราบอันเป็นไร่สับปะรดและทิวเขาตะนาวศรีห่มหมอกฝน

ลัดเลาะผ่าน เขาตาม่องล่าย ที่เกาะกุมตำนานและความคิดความเชื่อของคนที่อยู่กินกับทะเลในเรื่องของชื่อเกาะ ภูมิประเทศ และสัณฐานทรวดทรงของธรรมชาติอันรายล้อม เราก้าวเข้าไปที่ริมทะเลเพียงเพื่อจะพบว่า ดอกผลของแรงงานนั้นมีคุณค่าหอมหวานเพียงใด



สะพานปลาบ้านอ่าวน้อยแกร่งทนอยู่ในหลืบลับของเขาตาม่องลาย กลิ่นทะเลคละคลุ้งอบอวล ผสมอยู่ด้วยภาพการงานยามปลาเช้า เรือประมงขนาดใหญ่เรียงรายสงบนิ่ง ไร้เสียงเครื่องกระหึ่มก้อง เปลี่ยนความคึกคักมาอยู่ในสุ้มเสียงของลูกเรือประมงที่ปนเปไปกับปริมาณปลาอันมหาศาล และการขนย้ายถ่ายเทจากทะเลสู่ฝั่งแผ่นดิน ลูกเรือแรงงานพม่าและเขมรที่เต็มไปด้วยมัดกล้ามท่ามกลางการงาน คือภาพเคลื่อนไหวหลักของสะพานปลา ในเสียงโหวกเหวกปนเปฟังไม่ได้ศัพท์ ผสมผสานอยู่ด้วยความหวังแห่งการมีชีวิตและห้วงยามผ่อนเพลาพักผ่อนหลังงานหนักกลางทะเล

บ่ายนี้เรือปลาเล็กเข้าเสียเป็นส่วนใหญ่ ปลาทูมาเป็นอันดับหนึ่งตามด้วยหมึกซึ่งถูกคัดแยกตามขนาด ปลายทางของพวกมันไม่พ้นที่มหาชัย และหลายคนก็ว่าเจ้าของเรือก็ล้วนเป็นคนจากที่นั่นเสียเป็นส่วนใหญ่หมึกสายตัวเขื่อง ๆ ถูกดึงออกจากลอบที่ร้อยด้วยหอยสังข์ในเชือกเส้นโต มันน่าทึ่งถึงทักษะและการคิดประดิษฐ์อุปกรณ์ประมงของพวกเขา



“หมึกสายราคาดี แต่ก็หายาก บางคนเขาก็ว่าไม่คุ้มน้ำมัน” ป้าและลุงในเรือลำเล็กเล่าเพลินขณะชูหมึกที่มีหนวดใหญ่โต พวกมันจะถูกส่งขึ้นไปอยู่ในมุมหนึ่งในซูเปอร์มาร์เก็ต หรือไม่ก็ไปปะปนอยู่ในครัวพื้นบ้านในเมนูคั่วกะทิ หอมแดง ข่า ตะไคร้ ตามอาหารจานพื้นบ้านของคนท้องถิ่นภาคใต้

ความคึกคักจางคลายลงเมื่อรถห้องเย็นคันท้าย ๆ จากไปสู่ถนนเพชรเกษมด้านนอก เหลือเพียงบาร์คาราโอเกะในห้องแถวเก่าทึม และเสียงเพลงปนความสนุกสนานของลูกเรือ พวกเขาผลัดเปลี่ยนมาอยู่ในชุดร่วมสมัยแบบวัยรุ่นบนฝั่ง กำเงินที่แลกมาด้วยหยาดเหงื่อและชีวิตหน่วงหนัก ใช้จ่ายมันสู่ความรื่นรมย์เล็ก ๆ น้อย ๆ หรือไม่ก็เพื่อคนที่รออยู่บนฝั่ง เท่าที่ชีวิตของคนธรรมดาคนหนึ่งจะพึงมี

ถนนเล็ก ๆ เลียบหาดพาเราข้ามคลองบางนางรมเลาะสู่อ่าวประจวบ มันคดโค้งรูปจันทร์เสี้ยวและหม่นเทาไปในฤดูฝน ทะเลเปิดกว้าง เกาะหลัก เกาะแรด เกาะไหหลำ และเกาะร่มเรียงรายต่อเนื่อง และที่สูงเด่นอยู่ปลายอ่าวในส่วนของกองบิน 53 คือ เขาล้อมหมวกอันเป็นเอกลักษณ์ของวิวอ่าวประจวบ

ยามเย็นถนนสายเลียบชายหาด คือ ที่ทางอันรื่นรมย์ของคนปั่นจักรยานออกกำลัง ครอบครัวที่มาสังสรรค์กันในร้านอาหารทะเลที่แสนสด แต่ราคาถูก ซึ่งเรียงรายเหนือตลิ่ง หนุ่มสาวหลายคู่เลือกวิวโรแมนติกมองทะเล ขณะที่เฒ่าทะเลบนเรือไดหมึกปรับแต่งตรวจเช็กโคมไฟสีเขียว และพร้อมจะออกสู่หน้าอ่าวในยามค่ำ



เราสวนความชันของบันได 396 ขั้น ขึ้นสู่ยอดเขาช่องกระจก ของวัดธรรมิการาม ลมเย็นรื่นละลายเหงื่อเมื่อขึ้นไปถึง ภาพเต็มตาของทะเลประจวบทั้ง 3 อ่าว ทั้งอ่าวน้อย อ่าวประจวบ และอ่าวมะนาว ล้วนประกอบขึ้นมาเป็นบ้านริมทะเลของคนที่นี่อย่างจริงแท้ สำหรับผู้คนของท้องทะเล มันอาจไร้แง่มุมลงตัวแบบโปสการ์ดสวย ๆ ทว่าเมื่อร้อยเรียงปะติดปะต่อกันขึ้นราวจิ๊กซอว์ ทั้งเกลียวคลื่นฝูงปลา รวมไปถึงเรี่ยวแรงและความหวังในการดำรงชีวิต มันอาจเปี่ยมชัดอยู่ด้วยนิยามของคำว่าบ้านริมทะเลอันแสนคงทน

ถนนสู้ศึกที่ถัดจากทะเลขึ้นมาเพียงนิดยังเงียบเชียบ จะว่าไปมันไม่เคยเนืองแน่นอะไรนัก แม้ที่นี่คือ ย่านที่เคยคึกคักที่สุดในตัวเมืองประจวบคีรีขันธ์ราวสี่สิบห้าสิบปีก่อน

“บ้านที่เห็นหันหน้าติดทะเลน่ะ พวกคนทำประมงเก่าแก่ ส่วนคนแถวสู้ศึกนี่ค้าขายหรือไม่ก็รับราชการ” ผมนั่งอยู่กับ เฉลิมพล อภัยรี ตรงมุมหนึ่งของอาคารไม้แสนสวย เนื้อไม้ทั้งประตูและส่วนอื่น ๆ เก่าแก่ แต่มันเลื่อม สะท้อนว่ามันไม่เคยห่างหายการดูแล ที่นี่เคยเป็นที่หลบภัยของทหารไทย ครั้งเมื่อกองทัพญี่ปุ่นบุกขึ้นยึดฝังประจวบที่อ่าวมะนาวสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

“ตอนนั้นคุณพ่อคุณแม่ให้ทหารที่ลอยคอล่องทะเลมาจากอ่าวมะนาวหลบพัก หาเสื้อผ้า หาข้าวปลาให้กิน ผมฟังเรื่องราวเช่นนี้มาตั้งแต่เด็ก ประจวบมันเมืองราชการ สถานที่ราชการเยอะ ผมว่าอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ที่ดินริมทะเลหน้าหาดเป็นบ้านพักของราชการ ทำให้อะไร ๆ เปลี่ยนแปลงไปช้า” เฉลิมพลว่าหากเป็นที่ดินของเอกชนเหมือนแถบหัวหินหรือปราณบุรี คนรุ่นเขาอาจนึกหน้าตาของคำว่าความสงบเงียบไม่ออก

ห้องแถวไม้ที่กระจายกันเป็นชุด ๆ อยู่บนถนนเก่าแก่ของเมืองประจวบเหล่านี้ คือ ตัวตนของย่านการค้าเล็ก ๆ ในเมืองริมทะเล มันส่งต่อความรุ่งเรืองสู่ลูกหลาน ตกทอดเป็นชุดห้องแถวไม้ทั้งแบบชั้นเดียว หรือที่เป็นหลังใหญ่ตกแต่งฟู่ฟ่า มีหลายฉลุ หน้าจั่ว ซึ่งล้วนบ่งบอกฐานะของแต่ละเจ้าในอดีต





“สมัยเตี่ยรุ่น ๆ ที่นี่คึกคักมาก คนต่างถิ่น คนเรือ หรือแม่ค้าแถบคลองวาฬก็เข้าที่ตลาดใน” ทุกวันนี้ สุดารัตน์ ประจวบศุภกิจ ยังคงอยู่หน้าแก้วกาแฟโบราณและโต๊ะไม้เช็กโกทรงสวย ลูกค้าล้วนคือคนรุ่นก๋ง รุ่นเตี่ย ร้านซวงเฮงของเธอสวยยามแสงสายระบายลอด แต่เติมที่นี่คือโรงแรมอันเป็นที่พักค้างของเซลล์แมนต่างถิ่น หรือคนที่ขึ้นล่องเหนือใต้ด้วยรถไฟ

“แต่เดิมกองบินยังไม่เปิดให้คนเข้าไปเที่ยวอ่าวมะนาว คนก็มาพักผ่อนกันที่หน้าหาด หรือไม่ก็มาเดินซื้อหาของในตลาดนี่ละ โรงหนังประจวบรามานี่คนแน่น หรือโรงแรมอย่างประจวบสุขนี่ใครได้จัดเลี้ยงที่นั่นถือว่าโก้” คุณป้าร้านข้าวหมูแดงฝั่งตรงข้ามเดินเข้ามาทักทายเหมือนทุกวัน

ชุดห้องแถวตรงข้ามร้านซวงเฮงที่เป็นร้านของป้ารวมถึงเพื่อนบ้านใหม่เอี่ยม มันถูกสร้างใหม่หลังไฟไหม้ไปราว 5 ปีก่อน ซึ่งแต่เดิมหนึ่งในนั้นคือ ร้านขายยาแผนโบราณเจ้าใหญ่อย่างเจริญพงศ์พาณิช ย่านการค้าโบราณบนถนนสู้ศึกนั้น คนประจวบคุ้นที่จะเรียกมันว่าตลาดในมากกว่า โดยยืดเอาถนนเลียบชายหาดเป็นหลัก จากปากคลองบางนางรมเชิงเขาช่องกระจกที่เรียกกันว่าปากคลอง ไล่เลยมาจนถึงกลางอ่าวเรียกชายทะเล และยาวไกลไปจนสุดอ่าวทางกองบินก็เรียกหัวบ้าน







ทุกวันเรามักใช้เวลาปะปนไปในตลาดเช้าของย่านตลาดในร่วมกับคนที่นี่ มันคือภาพอันชัดเจนของเมืองที่คั่นกลางระหว่างภูเขาและทะเล ในตลาดเต็มไปด้วยปลาอินทรี ปลาโอตัวแน่น หมึก หอยพันธุ์แปลก ๆ หรือปลาช้างเหยียบหัวแบน ๆ พี่แม่ค้าย่างปลาสุกหอมรอลูกค้าในทุกเช้า ขณะที่แผงใกล้กันสับปะรดประจวบก่ายกองสีเหลืองสด บางมุมคือหน่อไม้และของป่าจากฝั่งตะนาวศรี ที่อยู่ถัดเลยออกไปไม่ไกล จังหวะในตลาดนั้นขยับเขยื้อนไปตามแบบฉบับของเมืองที่มีทะเลขับเคลื่อน ไม่ได้ปรุงแต่งให้มันเนิบช้า ทั้งยังเจาะจงคงอยู่กับนาทีปัจจุบันและความเปลี่ยนแปลง เมื่อตลาดในเริ่มคลี่คลายความคึกคักยามเช้า เหลือเพียงความเงียบสงบและชีวิตจริงตามการค้าในห้องแถวไม้

ยามสายพาเราออกมาที่ย่านตลาดนอก บนถนนก้องเกียรติที่เติบโตและเก่าแก่มาคู่กัน ที่นี่เก็บงำเรื่องราวของคนขึ้นล่องผ่านเมืองประจวบในสมัยที่การโดยสารทางรถไฟ ยังคงทำหน้าที่ของมันเป็นการคมนาคมหลัก

“มันก็โตมาคู่กันล่ะ คนเรือ คนค้าขาย ข้าราชการ ตลาดนอก ตลาดใน มันเติบโตเจริญขึ้นก็จากขุนประจวบสมบูรณ์ ต้นตระกูลประจวบเหมาะที่เดิมท่านมาจากกุยบุรี” พี่ศรีสมร ศรีผุดผ่อง ขยายภาพความเชื่อมโยงในอดีตอยู่ที่โรงแรมยุติชัย โรงแรมไม้เก่าแก่บนถนนก้องเกียรติ กระเบื้องโบราณโชว์ลวดลายเหมือนเมืองแถบภูเก็ตนั้นมันวาว บ่งบอกว่ามันไม่เคยห่างหายการดูแล

“กระเบื้องพวกนี้มาจากปีนัง สมัยเตี่ยเปิดโรงแรมใหม่ ๆ ก็ทางรถไฟนั่นล่ะ” เธอว่าแขกประจำแต่เดิมนั้นคือพวกข้าราชการและพ่อค้า ซึ่งทุกวันนี้ล้วนห่างหายและเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นฝรั่งต่างชาติ ประเภทรักความสงบ เลือกพักอยู่ในมุมส่วนตัวกลางเมืองที่ไม่พลุกพล่านอย่างประจวบ

“ห้องของเรายังเหมือนเดิม เปลี่ยนเฉพาะที่มันผุมันเก่า” พี่ศรีสมรยิ้มให้ลุงชาวนอร์เวย์ที่อยู่มาได้ร่วมสองเดือน ขณะบางนาทีก็เชื้อเชิญให้เราไปลองชิมก๋วยเตี๋ยวเป็ดเจ๊ยิ้นและข้าวแช่เจ้าอร่อยที่ตั้งอยู่ตรงโถงทางเข้าโรงแรม หากไม่นับทะเลกว้างใหญ่ที่สงบนิ่งอยู่ในเงาฝน ดูเหมือนสิ่งที่ตกทอดและฉายชัดความเป็นเมืองเล็ก ๆ อย่างประจวบนั้นจะไหลเวียนอยู่กับสถานที่และกิจกรรมในไม่กี่สิ่งอย่าง การค้าการติดต่อทางราชการบ้านเรือนเก่าแก่ และการเปลี่ยนผ่านของคืนวัน



“ผมว่านอกจากความไม่ปรุงแต่ง เปลี่ยนแปลงน้อย ความมีเสน่ห์ของที่นี่คือความไม่มี ไม่มีห้างร้านใหญ่ ไม่มีผับบาร์ มีความสะดวกเท่าที่คนในเมืองต้องการจริง ๆ เท่านั้น” กุลพงศ์ นาคน้อย หนุ่มใหญ่จากกรุงเทพฯ ที่เลือกห้องแถวไม้แสนสวยบนถนนสู้ศึกเป็นร้านกาแฟและจักรยานในชื่อ Hachi บ้านขนมปัง Coffee & Bike Shop และเลือกประจวบเป็นบ้าน เปรยขึ้นในสายวันหนึ่ง ขณะที่หน้าบ้านคือความเงียบสงบอันเป็นปกติของถนนสู้ศึก

หลายวันที่นี่ผมมักมาหา กุลพงศ์ หรือที่ต่อมาเรามักเรียกเขาว่าพี่หน่อย ใช่เพียงกาแฟกรุ่นหอมหรือจักรยานวินเทจสวย ๆ ที่เขาเลือกมาส่งเสริมให้คนที่นี่หันมาปั่นจักรยานในเมืองที่แสนเหมาะสมกับพาหนะสองล้อ แต่รอยยิ้มและสัมพันธภาพระหว่างคนที่นี่ที่แวะเวียนมาหานั้น น่ามาทำความใส่ใจ



บางเช้าคุณลุงบ้านข้าง ๆ ซึ่งเป็นทหารเสนารักษ์เก่าในกองบิน 5 เปิดบานเฟี้ยมแสนสวยให้เห็นรถยนต์โตโยต้าคันคลาสสิก และตู้ยาแผนโบราณด้านในอันสวยขรึม ไม่ไกลกันบรรยากาศแบบครอบครัวตามเมืองไกลถูกฉายชัดง่าย ๆ ผ่านการไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบ ขณะที่ยามเย็นริมทะเลเมื่อปั่นจักรยานตามใครสักคนไปนั่งมองโลกจริงแท้ที่เป็นเหมือนอู่ข้าว อู่ปลาของคนบนฝั่ง ความรู้สึกประเภทที่ว่า “คิดถึงบ้าน” ล้วนไม่ก่อเกิด

นาทีเช่นนี้เกิดขึ้นทุกวันในเมืองเล็ก ๆ ระหว่างภูเขาและผืนทะเลอย่างประจวบคีรีขันธ์ ทั้งหมดหลอมรวมให้เมืองแห่งหนึ่งไหลเลื่อนเคลื่อนไหวไปอย่างมีอิสระ ค่อยเป็นค่อยไป หันหลังให้คำว่าสีสันอย่างไม่แยแส รวมไปถึงพร้อมจะเลือกทิศทางด้วยความคิดความเชื่ออันมาจากหัวใจของพวกเขาเอง

ขอขอบคุณ

คุณกุลพงศ์ นาคน้อย และร้าน Hachi บ้านขนมปัง Cofee & Bike Shop สำหรับมิตรภาพและเรื่องราวสนุก ๆ ทั้งความเป็นอยู่ กาแฟ และจักรยาน ตลอดช่วงเวลาจัดทำสารคดี

คุณเฉลิมพงศ์ อภัยรี สำหรับความตั้งใจและการพูดคุยในสายวันหนึ่ง

เครื่องจีพีเอส Garmin Nuvi 1480 และ Nostra Digtal Map จากบริษัทอีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย จำกัด โทรศัพท์ 0 2266 9948 เว็บไซต์ gpssociety.com และ nostramap.com

คู่มือนักเดินทาง

เมืองเล็ก ๆ อย่างประจวบคีรีขันธ์มีเสน่ห์สำหรับคนรักความเงียบสงบ ทะเลผืนสวย และความเก่าแก่ของชุนชนโบราณ เหมาะยิ่งสำหรับคนรักการพักผ่อนแบบส่วนตัว ไร้แสงสี รวมไปถึงคนรักการขี่จักรยานเที่ยวย่านโบราณ

การเดินทาง

จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 35 ผ่านสมุทรสาคร จากนั้นแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 4 (เพชรเกษม) ผ่านเพชรบุรี ต่อไปถึงประจวบคีรีขันธ์ รวมระยะทางราว 280 กิโลเมตร

ชวนชิมลิ้มอร่อย

มื้อเช้า บนถนนสละชีพ มีต้มเลือดหมูเจ้าอร่อย หอมกระเทียมเจียว รวมไปถึงแผงขายห่อหมกปลาอินทรีให้เลือกชิม

มื้อเที่ยง แนะนำร้านก๋วยเตี๋ยวเป็ดเจ๊ยิ้น ถนนก้องเกียรติ ภายในพื้นที่ของโรงแรมยุติชัย ก๋วยเตี๋ยวเป็ดสูตรน้ำใส เนื้อเป็ดตุ๋นนุ่มเนียน ยังมีข้าวแช่โบราณและขนมใส่ไส้ให้เลือกกินเป็นของหวานล้างปาก

มื้อเย็น หน้าที่ว่าการอำเภอเมืองฯ เป็นย่านโต้รุ่งที่มีอาหารตามสั่ง ก๋วยเตี๋ยวให้เลือกฝากท้องได้หลายร้าน ริมอ่าวประจวบมีเพิงขายอาหารทะเลรสอร่อย สด ราคาไม่แพงให้เลือกชิม

พักสบาย

ริมอ่าวประจวบมีที่นอนชมวิวอ่าวหลายแห่ง เช่น โรงแรมหาดทอง โทรศัพท์ 0 7260 1050-5 เว็บไซต์ hadthong.com

โรงแรมประจวบบีช โทรศัพท์ 0 3260 1288 เว็บไซต์ prachuapbeach.com

หรือหากเลือกพักในย่านตลาด ใกล้ของกิน แนะนำโรงแรมเปิดใหม่ สะอาด ราคาไม่แพง โรงแรมอุ่นตะวัน โทรศัพท์ 0 3260 4931 เว็บไซต์ื ountawan.wordpress.com

พิกัดจีพีเอส

อ่าวน้อย N11.81532 E099.79834
เขาคั่นกระได N11.51840 E099.49496
เขาตาม่องล่าย N11.50345 E099.59802
อ่าวประจวบ N11.50360 E099.49081
เขาช่องกระจก N11.48927 E099.47906





ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
หนังสืออสท. ปีที่ 54 ฉบับที่ 2 กันยายน 2556
//travel.kapook.com/view72541.html


Create Date : 08 ตุลาคม 2556
Last Update : 8 ตุลาคม 2556 2:08:59 น. 0 comments
Counter : 1218 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สาว17
Location :
ลูกสาวเมืองสิงห์ Germany

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




Color Codes ป้ามด







เพื่อรักษาไว้ซึ่งชีวิตครอบครัว
มีบางครั้งที่เราต้องทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ
มีบ้างบางครั้งที่เราต้องเลิกทำในสิ่งที่ชอบ
เพื่อความก้าวหน้าของชีวิตครอบครัว
มีบ่อยครั้งที่เราต้องรู้จักใช้สติ
ต้องรู้จัก อดทน และให้อภัย
ดูอย่างต้นไม้ซิ
มันไม่เคยที่จะผืนลิขิตของฤดูกาล
มันไม่คิดจะขัดธรรมชาติ
เมื่อถึงคราวต้องทิ้งใบก็ยินยอมแต่โดยดี
อดทนและอดทน
เพื่อผลิใบ และดอกผลเมื่อฝนมา
เพราะเมื่อเวลามาถึงทุกสิ่งจะดำเนินไป
ชีวิตที่เรียบง่ายคือชีวิตที่มีสุข








Free Hit Counter ทีเว็บมาสเตอร์ รวมพลคนทำเว็บ
Google
New Comments
Friends' blogs
[Add สาว17's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.