ยินดีต้อนรับสู่ Blog ที่คนรักศิลปะ ภาษาและวัฒนธรรม อยากแบ่งปันประสบการณ์ดี ๆ

ไหนจะสู้ชงโคบานลานอักษร

เมื่อเช้านี้ ได้รับบทความบทหนึ่งจากฮับ วาสนาอีกครั้ง ฮับมักจะส่งบทความดี ๆ มาให้เสมอ และฉันก็อดไม่ได้สักทีที่จะขอเอาบทความดี ๆ นั้นมาใส่บล็อกต่อ เพื่อแบ่งปันเพื่อน ๆ ได้อ่านด้วย ฮับบอกให้อ่านและส่งต่อความคิดความรู้สึกกลับ(ให้ฮับ) ก็จะบอกว่า ชงโคบานเสมอในใจฉัน ตามชื่อ group blog ใหม่ที่สร้างขึ้น ขอบคุณฮับมากนะ



เรื่องเล่าจากอดีต "ไหนจะสู้ชงโคบานลานอักษร"

รองศาสตราจารย์ ดร.คุณหญิง วินิตา ดีถียนต์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ๒๕๔๗

๒๕ ปีหลังจากออกไปพร้อมกับความเป็นอักษรศาสตรบัณฑิตไปอยู่ที่อื่นตามหน้าที่การงาน ยังไม่เคยลืมภาพดอกชงโคสีม่วงชมพู สวยสะพรั่งเหมือนดอกกล้วยไม้บานใกล้บันไดตึกอักษรศาสตร์ในวันแรกที่เดินเข้ามาในฐานะน้องใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ จนทุกวันนี้

คณะอักษรศาสตร์ในตอนนั้นมีอยู่ตึกเดียวโดดเด่นเป็นสง่ามองเห็นได้จากนอกรั้วมหาวิทยาลัยทั้งทางถนนอังรีดูนังต์ และถนนพญาไท มีเรื่องโจ๊กเล่ากันให้ครื้นเครงว่า...คุณลุงเชยจากบ้านนอกที่เข้ากรุงเทพฯ
เป็นครั้งแรก ผ่านจุฬาฯ เห็นตึกอักษรฯเข้าเลยยกมือไหว้ นึกว่าวัด เรื่องจริงหรือเล่าขานกันเพื่อความขลังของตึกก็ตาม พวกน้องใหม่ที่เดินเรียงแถวกันเข้ามาในวันเปิดภาคเรียนต่างก็ปลาบปลื้มกันทั่วหน้ากับชื่อ เทวาลัยที่รุ่นพี่บอกว่าหมายถึงตึกของคณะอักษรศาสตร์ เพราะอยากเป็นเทพบุตรนางฟ้าอาศัยอยู่ในที่อยู่เทวดาด้วยกันทุกคน

จริงๆแล้ว มาได้ยินหลังจากเรียนจบไปแล้วว่า เทวาลัย คือส่วนที่อยู่ตรงทางเข้าห้องโถงของตึกอักษรศาสตร์ ส่วนที่มีระเบียงเชื่อมกับหอสมุดนั่นเอง

ถึงไม่ได้เป็นชาวสวรรค์ แค่เป็นผู้ประกอบพิธีบวงสรวงในเทวาลัย ก็ยินดีที่สุดแล้ว หากเป็นอินเดียก็เท่ากับอยู่ในวรรณะพราหมณ์ ได้เล่าเรียนสรรพวิชาการชั้นสูง โก้น้อยไปเสียเมื่อไหร่

การเรียนของพวกเราทั้งสี่ปีเวียนว่ายกันอยู่ในห้วงมหรรณพใหญ่ของเทวาลัย จะมีการไปเรียนที่หอสมุดบ้างก็ตอนแบ่งกลุ่มหรือแบ่งวิชาเรียนในปีที่สาม ห้องเรียนหลักของเราล้วนเป็นห้องใหญ่โปร่ง มีประตูหลายบานเปิดไปสู่ระเบียงรอบ ลมพัดผ่านได้ไม่อบอ้าว กว่าจะถึงภาคเรียนสุดท้ายของปีสี่ บรรยากาศอันขรึมขลังและเก่าแก่ของตึกแห่งนี้ก็จับเข้าไปในเลือดเนื้อจนถึงกระดูก เป็นการผสมผสานกันอย่างลึกซึ้งของวัตถุ และจิตใจ ยากที่จะอธิบายออกมาได้

จำได้แต่ว่าเมื่อนั่งเรียนวิชาวรรณคดีไทยอยู่ในห้องใหญ่ มองออกไปเห็นพญานาคที่ปั้นเป็นคันทวยค้ำยันชายคาตึก แลเรื่อเหลืองอยู่ในเงาแดดยามบ่าย ใต้ฟ้าโปร่งที่ไม่มีอาคารอื่นใดแถวนั้นมาบดบังพญานาคนั้นก็ดูเหมือนจะหยัดกายขึ้นมาได้ด้วยชีวิต เคลื่อนออกมาจากกาพย์เห่เรื่องกากีของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร

กางกรอุ้มโอบแก้ว กากี
ปีกกระพือพาศรี สู่งิ้ว
ฉวยฉาบคาบนาคี เป็นเหยื่อ
หางกระหวัดรัดหิ้ว สู่ไม้รังเรียง

ความรู้สึกเช่นนี้อาจจะไม่มี ถ้าหากว่าเรียนอยู่ในห้องทันสมัยติดเครื่องปรับอากาศเย็นสบาย มีคอมพิวเตอร์อยู่ใกล้ๆ ให้ใช้งานได้สะดวก จะกดปุ่มเรียกอะไรออกมาดู ก็ได้ทันใจเหมือนเนรมิต...เว้นแต่แรงบันดาลใจเช่นนี้เท่านั้นเองที่คอมพิวเตอร์จนปัญญา

สี่ปีที่เรียนอยู่ในคณะอักษรศาสตร์ ตรงกับยุคปลายของทศวรรษ ๑๙๖๐ ของฝรั่งเป็นยุคของกระโปรงเริ่มหดสั้นขึ้นมาเหนือเข่า ทรงผมเกลี่ยภายนอกให้เรียบพอง หุ้มรังนก อันเกิดจากผมยีฟูอยู่ข้างในอีกทีหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม พวกนางฟ้าที่เทวาลัยนั้นไม่สู้จะแต่งเนื้อแต่งตัวโลดโผน คงเป็นเพราะเทพบิดรในสมัยนั้น คือศาสตราจารย์รอง ศยามานนท์ท่านเป็นห่วงบรรดาลูกสาวมากเรื่องการแต่งกาย ในวันที่ให้โอวาทเป็นครั้งแรกแก่นิสิตใหม่ หลังจากให้โอวาทเรื่องเรียนและอะไรต่อมิอะไรที่ฟังดูเป็นทางการเสร็จแล้ว ท่านก็เปลี่ยนเสียงเป็นพูดอย่างที่บิดาพึงพูดกับบุตรสาวว่า ... พวกเราจำต้องเดินผ่านระเบียงยาวที่เชื่อมระหว่างตึกอักษรศาสตร์กับห้องสมุด ไปกินอาหารในโรงอาหารเล็กๆ เก่าๆ อีกฝั่งหนึ่งของถนนหลังหอสมุด ริมลูกกรงระเบียงทั้งสองฟากเป็นที่สิงสถิตของนิสิตชายคณะวิศวกรรมศาสตร์พอถึงเวลาหยุดพักกินข้าวเที่ยง เป็นต้องมายืนเรียงแถวกันเหมือนนัด (ก็คงนัดกันมาจริงๆ) จ้องมองสาวๆ ผู้จำต้องเดินขาสั่นผ่านไปตามเส้นทางนี้อย่างไม่มีทางเลี่ยงระเบียงนั้นลมโกรกแรงมาก ราวกับอยู่กลางแจ้ง เพราะฉะนั้นอย่าสวมกระโปรงพลีต (ซึ่งสมัยนั้นเป็นแพรอัดจีบเนื้อเบา) เจอลมพัดแรงเข้า กระโปรงพลีตจะปลิวขึ้นครอบหัวเลย นับเป็นคำเตือนที่มีเหตุผลแจ่มแจ้งชัดเจนมาก และต้องขอใช้ภาษาอังกฤษว่า practical ที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่เคยได้ยินมา และได้ผลที่สุดเลย คือไม่เคยซื้อกระโปรงพลีตมานุ่งเลย ตลอดสี่ปีที่ต้องเดินผ่านระเบียงนั้นไปมา

เมื่อเอ่ยถึง เทพบิดร แล้วก็ไม่อาจเว้นการเอ่ยถึงบรรดาเทวัญอีกสิบหกชั้นฟ้าในที่นี้ได้ แต่ไหนแต่ไรมา คณะอักษรศาสตร์เป็นที่ชุมนุมของนักวิชาการระดับยอดของประเทศ เทียบได้กับมณีนพรัตน์บนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ใน พ.ศ. ๒๕๐๙ อาจารย์เจ้าคุณอนุมานราชธน นักปราชญ์ใหญ่ระดับโลกยังมาสอนอยู่ทุกอาทิตย์ เหมือนอย่างที่ท่านเคยสอนแม่ของผู้เขียนบทความนี้มาตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๗๕ ท่านแต่งสูทสีเข้มเรียบร้อยเดินเข้าห้องโถงมาสอนอยู่ในห้องชั้นล่างทางด้านหลัง พูดจาสุภาพ เนิบๆ เรียกตัวเองว่า ข้าพเจ้า ผิดกับอาจารย์มหาเกษมบุญศรี ผู้เชี่ยวชาญทางภาษาบาลี ท่านนี้กระฉับกระเฉงคุยเก่ง วันไหนรถประจำทางมาถึงช้า พวกเราที่อยู่ชั้นบนของตึกจะเห็นท่านเดินแกมวิ่งกระหืดกระหอบเข้าประตูทางถนนอังรีดูนังต์มา ไม่ยอมให้สาย แล้วถ้าพวกเราที่อยู่ปีสามเกิดเบื่อไม่อยากเรียนภาษาบาลี ไม่ใครก็ใครสักคนเป็นต้องหาเรื่องชวนคุยเรื่องการเมือง เพราะปีนั้นอาจารย์มหาเกษมสมัคร ส.ส. ท่านก็จะเพลิดเพลินตอบปัญหาการเมืองไปพักหนึ่ง ก่อนจะวกกลับเข้าเรื่องการเติมวิภัตติ์ปัจจัยตามเดิม

อาจารย์ที่เป็นคุณหญิงมีถึงสองท่านเป็นดุษฎีบัณฑิตอีกนับไม่ถ้วนว่ากี่ท่าน ที่เรียนเก่งจบจากมหาวิทยาลัยเมืองนอก ในแขนงวิชาที่ฟังแล้ว สยองว่ายากสุดสุด ก็มีอีกหลายท่าน อาจารย์ที่แหวกแนวออกไปกว่าคนอื่น ที่จำได้แม่นยำจนบัดนี้คือ อาจารย์สดใส (วาณิชวัฒนา) พันธุมโกมลเพราะจำได้ว่าอาจารย์เคยเป็นดาราฮอลลีวู้ด เคยเล่นเป็นสาวฮาไวเอี้ยน ในหนังโทรทัศน์เรื่อง Adventures in Paradise ที่ฉายทางโทรทัศน์ช่อง ๔ เคยไปประกวดนางงามจักรวาล จนได้ตำแหน่งนางงามมิตรภาพ เคยออกแผ่นเสียงเพลง "เจ้าทุยอยู่ไหน" เป็นภาษาอังกฤษ ประวัติทั้งหมดนี้ทำให้นึกอยากเรียนหนังสือกับอาจารย์เป็นพิเศษ จึงเลือกเรียนวิชาศิลปการละคร ตั้งแต่ปีที่ ๑ จำได้ว่า เกิดมายังไม่เคยเห็นใครที่มีชื่อเสียงเรียงนามสมตัวเท่าอาจารย์เลยจริงๆ เคยสาวและสดใสอยู่อย่างไรใน พ.ศ. ๒๕๐๙ ก็ยังสดใสและสาวอยู่อย่างนั้น

จนวันที่ท่านเกษียณอายุ และที่สำคัญกว่านั้นก็คือ การสอนบทละครเรื่อง Macbeth ในเชิงวรรณคดี เป็นการสอนที่น่าประทับใจมากที่สุด ทำให้รู้ว่าการอ่านชนิด between the lines นั้นเป็นอย่างไร
และทำให้ชอบวรรณคดีอังกฤษมาจนทุกวันนี้

อาจารย์ที่ย่างเท้าเข้ามาในห้องเรียนนั้น ท่านตั้งใจมอบสรรพวิทยาการที่มากมายเกินกว่ามนุษย์ธรรมดาอย่างพวกเราจะอ้าแขนรับไหว (แต่ก็ต้องรับให้ไหว) จำได้แม่นยำว่าปีแรกพวกเราเรียน ๓๓ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ รอดขึ้นปีสองได้แสดงว่าอยู่ยงคงกะพันพอสมควร จึงได้เรียนอีกเต็มเหยียดวันละ ๗ ชั่วโมง เป็น ๓๕ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ไม่มีชั่วโมงว่างเลย พอถึงปีที่สามมีโอกาสเลือกเรียนสมัยนั้นแบ่งเป็นสายวิชา ๑ และ ๒ เช่น ภาษาไทย ๑ หนักไปทางภาษา ภาษาไทย ๒ หนักไปทางวรรณคดี (อังกฤษ ๑ และ ๒ หรือฝรั่งเศส ๑ และ ๒ ก็เหมือนกัน) ก็เรียนน้อยลงหน่อย แค่ ๒๒-๒๘ ชั่วโมง และพอปีที่สี่ก็น้อยลงอีก เหลือราวๆ ๑๘ ชั่วโมง

ทุกเช้าพวกเราจะเดินขึ้นบันไดระเบียงด้านใดด้านหนึ่งของตึกขึ้นมา แล้วถ้าพ้นปีหนึ่งขึ้นปีสองได้ก็จะได้ขึ้นบันไดในห้องโถงไปสู่ชั้นบน หยุดถวายบังคมพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อนจะแยกขึ้นบันไดซ้ายขวากันไป ตามแต่ว่าใครจะเรียนห้องไหน

สี่ปีในคณะอักษรศาสตร์ผ่านไปเร็ว จนกระทั่งเมื่อย้อนกลับมามองดูแล้ว นึกใจหายอยู่หน่อยๆว่า ศิลปวิทยาการที่อาจารย์ตั้งใจมอบให้นั้น เอาเข้าจริงแล้วก็เหมือนสายน้ำตกไหลลงบนกระดาษซับ แต่ก็ภูมิใจอยู่อย่างหนึ่งว่า อย่างน้อยร่องรอยของน้ำเหล่านั้นก็ไม่เคยเหือดแห้งไปจากกระดาษซับสามารถจะเอาไปใช้ทางไหนต่อก็ได้ทั้งนั้น เพราะเป็นฐานอันมั่นคงอยู่แล้ว ทั้งในด้านวิชาชีพและหลักการดำรงชีวิต

เมื่อลูกสาวถามว่า เรียนอักษรศาสตร์แล้วจะต้องไปเป็นครูอย่างแม่หรือเปล่า แม่อักษรศาสตร์หลายคนตอบได้เต็มปากว่า ...ไม่จำเป็นเลย เรียนอักษรศาสตร์แล้วจะไปต่อทางสาขาอื่นๆ ได้หลายหลากไม่น้อยหน้าใคร สมัยที่แม่เรียน รุ่นพี่ รุ่นเดียวกัน และรุ่นน้อง ต่างแยกย้ายกันไปสร้างชื่อเสียงไว้ในวงธุรกิจ วงการทูต วงวิชาการ วงราชการทุกกระทรวง แม้แต่งานเอกชนอย่างงานประชาสัมพันธ์ งานวิทยุโทรทัศน์ และวงการบันเทิง ก็ฝากฝีมือไว้ไม่น้อยหน้าใคร ถ้าหากว่าจาระไนชื่อออกมาให้ครบก็คงจะต้องแยกเป็นบทความอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก

สิ่งสำคัญยิ่งยวดอีกอย่างหนึ่งที่เชื่อว่าได้มาจากคณะอักษรศาสตร์ นอกเหนือจากการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ คือ การปลูกฝังทางด้านจิตใจของตนเอง นิสิตอักษรศาสตร์จะได้รับการปลูกฝังมาให้รักหนังสือ อ่านหนังสือที่ดีมีคุณค่า มีการใช้สมองใคร่ครวญทบทวนเหตุผล และใช้จินตนาการอันละเอียดอ่อนต่อความงามที่เรียกว่า วรรณศิลป์ เพราะเหตุนี้ หนักๆ เข้าก็ซึมซับ มองเห็นคุณค่าของจิตใจมากกว่าวัตถุ

นึกถึงรุ่นพี่และเพื่อนฝูงตลอดจนรุ่นน้องชาวอักษรศาสตร์ทั้งหลายที่รู้จัก ก็ไม่ปรากฏภาพว่าเป็นคนกร่าง เป็นคนซ่าส์ คุยโวโอ้อวดทำตัวให้เป็นข่าวใหญ่รายวัน ไม่ประชาสัมพันธ์ตัวเอง แต่มักจะชอบทำงานอย่างจริงจังและลึกซึ้ง เพื่อความสุขในการทำงาน มากกว่าหวังเอาหน้าเอาชื่อ มักเป็นคนง่าย ไม่ติดกับความหรูหราฟุ้งเฟ้อ ถ้ารวยก็รวยอย่างไม่ซู่ซ่า สมกับที่ถูกอบรมกล่อมเกลามาในสำนักที่ไม่เน้นวัตถุเป็นใหญ่

เรื่องสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ไม่เห็นนักอักษรศาสตร์ไปตื่นเต้นงมงายกับเรื่องอะไรง่ายๆ โดยไม่มีเหตุผล
ข้อนี้คงเป็นเพราะเคยชินกับการเรียนให้รู้สึกลงไปถึงแก่น ดังนั้น ใครมาบอกเล่าอะไรตื้นๆ ประเภทหลอกหรือเกลี้ยกล่อมล้างสมองให้เชื่อเอาไว้ก่อน จึงไม่ค่อยสำเร็จ เพราะเรียนอักษรศาสตร์แล้วจะถูกอบรมมาให้ รู้สึก และ รู้จริง จนไม่กลัวความเหนื่อยยากในการที่จะเสียเวลาค้นคว้าศึกษา จนกระทั่งกระจ่างในคำตอบนั้นๆ

คุณสมบัติเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญมากในสังคมไทยที่กำลังบ้าคลั่งกับลัทธิวัตถุนิยม จนกลายเป็นสังคมบริโภคนิยม เสพย์สุขทางรูปธรรมกันจนไม่มีขอบเขต และละเลยนามธรรม ลืมไปว่ามนุษย์นั้นดำรงอยู่ได้ด้วยสองส่วน คือ ร่างกาย และจิตใจ จะขาดไปอย่างใดอย่างหนึ่งหาได้ไม่ นักอัษรศาสตร์เป็นคนที่รู้ว่าจะรักษาระดับของทั้งสองอย่างนี้ให้สมดุลได้อย่างไร

เดินออกจากคณะอักษรศาสตร์มา ๒๕ ปีพอดี ชงโคยังคงบานอยู่บนลานอักษร เหมือนอย่างที่เคยบานมาแล้ว และจะบานต่อไปตลอดกาล ในหัวใจของของนักอักษรศาสตร์ทุกคน

จาก หนังสือ ๖๐รุ่น อักษรศาสตรบัณฑิต ,๒๕๓๙


Pang-Pouille/Mar 23, 2012




Create Date : 23 พฤษภาคม 2555
Last Update : 23 พฤษภาคม 2555 10:35:47 น. 1 comments
Counter : 968 Pageviews.

 
อ่านแล้วก็นึกถึงภาพในอตีต ของคนที่เป็นนิสิตในรั้วมหาวิทยาลัย แต่ละยุค แต่ละสมัยก็เปลี่ยนไป ตามยุค ยุคของเราเสื้อตัวหลอม กระโปรงก็ต้องคลุมเข่า แต่ปัจจุบันเสื้อเข้ารูป เอวต้องเล็ก กระโปรงก็ต้องสั้นแล้วสั้นอีก


โดย: นก IP: 10.110.1.103, 58.8.109.91 วันที่: 23 พฤษภาคม 2555 เวลา:14:30:14 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Pang-Pouille
Location :
上海 เซึียงไฮ้ China

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 38 คน [?]






Blog ใหม่วันนี้


ภาพดี ๆ...โลกนี้มีให้ดู

ภาพดอกไม้สวย ๆ จากประเทศจีน


Story เล็ก ๆ กับวัฒนธรรมจีน

ชวนกันกินติ่มซำฮ่องกงที่เซียงไฮ้


ที่บล็อก ภาพดี ๆ โลกนี้มีให้ดู

อย่าลืมแวะชมฤดูใบไม้ผลิที่เซี่ยงไฮ้


Hobbies แสนรัก

ความรู้งานฝีมือจากเมืองจีน

วิธีทำกระเป๋าใส่กุญแจ




สงวนลิขสิทธิ์ตาม พรบ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2539 ห้ามละเมิดไม่ว่าการลอกเลียน นำรูป ข้อความที่เขียนไว้หรือส่วนหนึ่งส่วนใดในบล็อกแห่งนี้ ไปเผยแพร่อ้างอิง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของบล็อก

hits
Group Blog
 
 
พฤษภาคม 2555
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
23 พฤษภาคม 2555
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add Pang-Pouille's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.