::KOPPOETS SOCIETY::
Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2551
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
24 ธันวาคม 2551
 
All Blogs
 

★IKIGAMI :: หนังที่ดีคือหนังสนุก





......




สำหรับฉัน หนังที่ดี ต้องมีความสนุกนำมาก่อน ส่วนประเด็นข้างในนั้นเป็นเรื่องรองลงมาแต่ต้องมีทั้งสองอันนะ ขาดอันใดอันหนึ่งไปไม่ได้

ที่เชื่ออย่างนั้น ก็เพราะว่า ต่อให้หนังอยากจะพูดในประเด็นที่ดีเลิศขนาดไหน แต่ถ้าไม่สนุก มันก็ไม่จูงใจให้คนอยากดูต่อ บทสนทนาที่แสนคมคายจะไม่มีประโยชน์อะไรเลยถ้าผู้ฟังกำลังนั่งหลับ

ดังนั้น การสร้างเรื่องราวให้น่าสนใจ เพื่อฉาบเคลือบประเด็นหนักหน่วงไว้ให้ได้ จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างยิ่ง


จึงถือเป็นโชคดี ที่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ฉันมีโอกาสได้ดูหนังที่ “สนุก” ทั้งสองเรื่อง หนึ่งคือAustralia และ Ikigami แต่ถ้าจะให้ฉัน ตัดสิน ฟันธง หรือคอนเฟิร์ม ว่าเรื่องไหน “ดี” กว่ากัน ฉันขอยกให้เรื่องหลังมากกว่า






ไม่ได้เอาความนิยมหนังญี่ปุ่นเป็นทุนเดิมเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ Ikigami นั้นมันครบองค์ประกอบทั้งสองที่ฉันว่ามาข้างต้น จริงๆ Australia ก็เป็นหนังที่สนุก และมีประเด็น แต่มันแย่ตรงที่ประเด็นมันเยอะเกินไป เจ็ดปีที่ไม่ได้ทำหนัง คงทำให้พี่ บาซ เลอห์มันน์แกอัดอั้น มีเรื่องอยากจะพูดเยอะแยะไปหมด พอสบโอกาสแกก็เลยยัดเอาเรื่องในหัวแกยำลงไปในหนังซะเลยประเด็นมันเยอะท่วมท้นเป็นกองโต บดบังรัศมีการแสดงของสองดารานำ (นิโคล คิดแมน และ ฮิวจ์ แจ็คแมน) แถมยังมี แบรนดอน วอลเตอร์สเจ้าเด็กอะบอริจินที่เล่นดีชิบหาย มาขโมยซีนรุ่นใหญ่ทั้งสองอีก ก็เลยทำให้ Australia เหมือนโดนแผ่นดินไหว ตึกรามบ้านช่องเลยกระเด็นกระจัดกระจาย ไม่รู้จะไปตรงไหนก่อนดี

แต่ยังยืนยันนะคะ ว่าดูสนุกจริงๆ


ผิดกับ Ikigami หนังที่สร้างมาจากการ์ตูน (ที่ฉันยังไม่มีโอกาสได้อ่าน) ของ โมโตโระ มาเสะ เล่าเรื่องของประเทศอะไรก็ไม่รู้ ที่ทะลึ่งมีนโยบายให้คนรู้คุณค่าของการใช้ชีวิตมากขึ้นโดยการจับพลเมืองฉีดนาโนแคปซูลเข้าไปตั้งแต่วัยประถมเพื่อรอเวลาให้เมื่อพวกเขาเหล่านั้นอายุได้ 18-24 ปี แคปซูลที่ถูกฝังในร่างกายคนไหนเกิดทำงานขึ้นมามันก็จะไปหยุดการเต้นของหัวใจ และตายไปในที่สุดซึ่งนโยบายนี้ยังมีความปรานีอยู่บ้าง ด้วยการจัดส่ง “อิคิงามิ” หรือสาส์นที่จะไปแจ้งว่า “เออ มึงถูกเลือกให้ตายนะ”โดยจะนำส่งล่วงหน้าการตายหนึ่งวัน ทั้งนี้ก็เพื่อให้เหยื่อกิตติมศักดิ์ทั้งหลายนั้น ได้ใช้ชีวิตให้คุ้มค่ากับยี่สิบสี่ชั่วโมงสุดท้ายของชีวิต






เรื่องคร่าวๆ ของมันก็มีดังนั้น และเมื่อดูจบ ฉันก็พบว่ามันเป็นหนังที่สนุก และ มี"อะไร" ภายใต้เรื่องราวที่ดูซับซ้อน แถมยังมีตัวละครหลายสิบแต่มันกลับร้อยรวมเข้าด้วยกัน และนำไปสู่ประเด็นหลักๆ เพียงประเด็นเดียวแต่ในขณะเดียวกัน ไอ้ประเด็นเดียวที่ว่าก็ทำให้เราครุ่นคิดต่อยอดออกไปจากมันได้อีกหลายร้อย หลายพันเรื่องซึ่งนี่คือสิ่งที่ทำให้ สำหรับฉัน Ikigami ชนะหนังฟอร์มยักษ์เรื่องนั้นอย่างขาดลอย

ฉันค่อนข้างชอบ “อิคิงามิ” มากกว่าเครื่องมือฆ่าชนิดอื่นๆ เช่น Death Note หรือ Battle Royal น่าจะเป็นเพราะมันมีความ “จริง” อยู่มาก มันคือ“ความตาย” ที่เป็นกฎธรรมดาของมนุษย์ “อิคิงามิ”ไม่ได้เจาะจงเลือกว่าใครควรจะตาย ไม่ได้มาจากอคติหรือความแค้นส่วนตัวแต่มันเป็นการสุ่มเลือก เป็นการเสี่ยงดวงมันไม่สนหรอกว่าคุณจะเป็นคนดีหรือเลวมาจากไหน เมื่อคุณคือคนที่ถูกสุ่มโดนคุณก็ต้องยอมรับมันไปโดยไม่มีเงื่อนไข ว่ากันง่ายๆ “อิคิงามิ”ก็คือภาพที่ชัดขึ้นของกฎที่ว่าด้วยความตายของมนุษย์นั่นเอง

ภาพแรกของหนังเป็นมุมมองจากกล้องวงจรปิด ฉายให้เห็นผู้คนที่เดินอยู่บนถนนใหญ่ ฉันว่าผู้สร้างฉลาด ที่เลือกใช้มุมกล้องที่แสดงให้เห็นถึงการถูกคุกคามเช่นนี้ เสียงบรรยายโทนต่ำ หลอนๆ พูดแทรกขึ้นมาเพื่ออธิบายว่าไอ้ประเทศห่า นี่มันกำลังฆ่าประชาชนของตัวเองอย่างเลือดเย็น สิ่งผิดปรกติเกิดขึ้นในจอภาพ ให้ผู้ชมเราๆ ท่านๆรู้ได้ทันทีว่าไอ้หนุ่มเนิร์ดๆ คนนี้แม่งกำลังจะตายแต่นอนแต่มันจะไปตายยังไง นี่แหละคือสิ่งที่เราอยากดูต่อ…


เมื่อพ้นช่วงพรีลูด เราได้ทำความรู้จักกับฟูจิโมโต พระเอกของเราในเรื่องนี้(รับบทโดย มัตสึดะ โชตะ) ฉันไม่ได้ชอบคุณโชตะแบบบ้าคลั่ง แต่ชอบหน้าตาแข็งๆ นิ่งๆ ของแก ขนาดตอนที่เล่นซีรีส์ขำๆ เรื่อง Top Caster แกยังหน้านิ่งเลย เราจะไม่ได้เห็นการแสดงออกทางสีหน้าของคุณโชตะเท่าไหร่ จะหัวเราะหรือร้องไห้ แม่งก็หน้าอย่างนี้แหละ (ฮา) ซึ่งฉันว่ามันเหมาะกับตัวละครนี้พอดีนะ กับไอ้อาการไม่แสดงออกทางสีหน้าเท่าที่ควร คนดูก็รู้แหละว่าเขาคิดอะไร รู้สึกอย่างไร แต่ในขณะเดียวกันเราก็จะอึดอัดและไม่แน่ใจเพราะสีหน้าและการแสดงออกของเขานั้นไม่ชัดเจนและมันก็เหมาะสมกับตัวละครตัวนที่เขาอยู่ในสภาวะ “คิดได้แต่พูดไม่ได้”อันมาจากหน้าที่การงานของเขานั่นเอง




ต้องชื่นชมการออกแบบศิลป์เท่ๆที่ช่วยให้บรรยากาศการทำงานของนายฟูจิโมโตนั้นโคตรจะน่าอึดอัด แสงไฟสลัวๆกับห้องทำงานมืดครึ้ม โต๊ะทำงานที่เรียงแถวเฉียงๆ อย่างเป็นระเบียบ พร้อมด้วยเหล่าเพื่อนร่วมงานเสมือนไร้ชีวิต ช่วยชี้ชัดความเป็น “ตัวร้าย” ของรัฐบาล และ"หน่วยงานพิทักษ์ความรุ่งโรจน์ของประเทศ”





“อิคิงามิ” ทั้งสามใบของฟูจิโมโต จะต้องถูกส่งให้กับคนสามคน คนแรกเป็นนักดนตรีหนุ่ม ผู้ที่กำลังจะเดบิวท์ด้วยการแสดงดนตรีสดในรายการทีวียอดฮิต(ที่ดูยังไงก็คล้าย Music Station สุดๆ) คนที่สองเป็นลูกชายบุคลิกลึกลับของนักการเมืองดังผู้ที่ชื่นชมนโยบาย“อิคิงามิ” อย่างออกหน้าออกตา และใบสุดท้ายให้กับพี่ชายที่กำลังจะเริ่มต้นชีวิตใหม่กับน้องสาวตาบอด











สิ่งที่ฉันชื่นชมในหนังเรื่องนี้ “มาก” ก็คือการจัดระเบียบความคิด ที่ถูกสะท้อนออกมาผ่านบทภาพยนตร์ที่มีวินัยสูง คนสามคนกับเรื่องราวสามเรื่องที่ไม่ได้มีความเกี่ยวพันกันเลยซักนิด ถูกเชื่อมเข้าหากันด้วย “อิคิงามิ” โดยมีฟูจิโมโตผู้ส่งสาส์นแห่งความตายนี้เป็นตัวเดินเรื่อง และหนังยังสามารถกระจายความสำคัญให้กับทุกตัวละครที่ปรากฏ ทุกคนมีที่มาที่ไป และมีมิติ แม้จะเป็นเพียงชั่วเวลาเล็กๆ แต่หนังก็ไม่ละเลยที่จะใส่ความสำคัญให้กับตัวละครเหล่านี้




หนังถูกแบ่งออกเป็นสามช่วง (อย่างเป็นระเบียบ) ช่วงแรกคือการให้คนดูทำความรู้จักกับ “อิคิงามิ”ผ่านชีวิตวัยเด็กของพระเอก และเหยื่อคนแรกของ “อิคิงามิ” ซึ่งก็คือนักดนตรีหนุ่ม ช่วงที่สอง (ซึ่งฉันขอเรียกว่าช่วงเข้มข้น) จะเป็น“อิคิงามิ” สองใบถัดมา ที่มีครบถ้วนทุกอารมณ์ ทั้งเศร้า ซึ้ง สงสัย บู๊บ้าคลั่ง ฯลฯ ตามที่หนังเรื่องหนึ่งจะมอบอานิสงส์ให้แกผู้ชมได้และช่วงสุดท้าย เป็นช่วงคลี่คลาย เป็นเรื่องหลังการตายของคนทั้งสามคนที่ยังอยู่เขาอยู่กันอย่างไร เงื่อนปมใดๆ ที่เคยปรากฏในหนังสองช่วงแรกจะถูกคลายออกหมดในหนังช่วงนี้ซึ่งไอ้การวางโครงสร้างของหนังเอาไว้อย่างเป็นระบบระเบียบในแบบที่เดินตามตำราว่าด้วยการเขียนบทภาพยนตร์เป๊ะๆอย่างนี้นี่เองที่ทำให้หนังเรื่องนี้ดูง่ายและมันสนุกมากขึ้นตรงเงื่อนงำความลับของตัวละครแต่ละตัวที่กระตุ้นต่อมใคร่รู้ของคนเราได้ดีนัก



นอกจากตัวละครผู้ตกเป็นเหยื่อทั้งสาม รวมทั้งผู้แวดล้อมอีกมากมายและตัวละครที่เด่น และเสมือนว่ามีชีวิตก็คือ “อิคิงามิ” เองนี่แหละตลอดห้วงเวลาหนึ่งของหนัง ผู้ชมกำลังวางฐานะของมันอยู่ในฝั่ง “ตัวร้าย”เป็นสิ่งที่ไร้มนุษยธรรม ป่าเถื่อนสิ้นดีแต่เพียงแค่เราได้ยินเงื่อนไขจากคุณหมอ ที่บอกกับซาโตชิว่าการที่เขาเป็นผู้ได้รับ “อิคิงามิ” นั้นทำให้สามารถเจาะจงบริจาคกระจกตาให้กับน้องสาวของเขาเองได้(ซึ่งโดยปกติแล้วทำไม่สามารถทำได้) แค่บทสนทนาธรรมดาๆ เล็กๆ ที่ดูเหมือนว่าไม่มีอะไรแค่นี้เองที่ทำให้ระบบจริยธรรมในความคิดของคนเราตีกันยุ่งเหยิงไปหมด เพราะไอ้สิ่งที่ดูร้ายมาตลอด ทำลายอนาคตของคนไปไม่รู้เท่าไหร่แต่กับคนอีกคนหนึ่ง มันกลับมีประโยชน์มีคุณค่า สามารถทำให้คนอีกคนหนึ่งมีชีวิตใหม่ขึ้นมาได้เฮ้ย! แล้วอะไรมันคือสิ่งที่ถูกวะ?

สุดท้าย ฉันก็เหมือนจะได้คำตอบให้กับตัวเอง ว่า นี่แหนะ!แม่งไม่ใช่เรื่องของความตายหรอก เพราะไม่ว่าเมื่อไหร่เราก็ต้องตายอยู่แล้ว แต่ที่หนังมันต้องการจะบอก คือการเรียนรู้ที่จะอยู่กับความตายมากกว่าจริงๆ คนที่ได้ “อิคิงามิ” ออกจะโชคดีด้วยซ้ำที่ได้มีโอกาสรู้ก่อนล่วงหน้าว่าเรากำลังจะตาย แม้จะเพียงแค่หนึ่งวัน แต่มันก็ช่วยให้เราได้ทบทวนบางอย่างที่สำคัญในชีวิตขึ้นมาได้แต่สิ่งที่แย่กว่าความตาย มันคือการ “อยู่โดยไม่ได้เป็นตัวของตัวเอง” มากกว่า ครั้งหนึ่ง เธอคือแม่ผู้คัดค้านและทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้ลูกตัวเองต้องโดนจับฉีดยาและเข้าระบบ แต่ในตอนนี้ เธอกลับเป็นนักการเมืองที่บูชาสรรเสริญ “อิคิงามิ”เราไม่รู้ว่าความการเปลี่ยนแปลงนี้มันมาจากการถูกจับไป “ทำอะไร” จากรัฐบาลหรือว่ามันเกิดจากตัวเธอเอง ซึ่งมันก็ไม่ใช่สิ่งที่จะต้องไปสนใจนะ(ฉันว่า) เพราะไอ้การใช้ชีวิตแบบนี้ มันก็เหมือนเราไม่มีวิญญาณแล้วล่ะ ถ้าการมีอิสระที่จะคิดและเป็นตัวของตัวเองนั้นเรียกว่าความสุขชีวิตในแบบที่ว่ามันก็คือนรกดีๆ นี่เอง



เรื่องราวที่ซับซ้อนพวกนี้ถูกเล่า โดยที่หนังไม่ได้เฉลย หรือเปิดเผยมันทั้งหมดในคราวเดียวและบางประเด็นหนังก็ไม่มีคำตอบให้ แต่มันถูกหยอดเข้ามาทีละนิดๆต่างช่วงเวลากันไปแล้วปล่อยให้กระบวนการทางสมองของมนุษย์ทำหน้าที่ต่อจิ๊กซอว์พวกนี้ซึ่งสุดท้ายก็จะนำไปสู่ความเข้าใจที่มาที่ไปของเนื้อเรื่องได้อย่างน่าประหลาด





ที่น่าสนใจอีกอย่าง คือการให้รายละเอียดที่เป็นความเดิมในชีวิตของตัวละครแต่ละตัวนั้น ภาพแฟลชแบ็คไม่ได้เป็นสีขาวดำเหมือนหนังทั่วๆไป แต่กลับเป็นภาพสีจัดคอนทราสสูง และเกรนแตกหยาบ ฉันเชื่อว่ามันเป็นการจงใจสื่อให้เห็นว่า ความทรงจำเหล่านี้ไม่ได้ค่อยๆ จืดจางไปจากชีวิต แต่มันกลับยังมีสีสันและมีชีวิต เป็นสิ่งที่กระจ่างชัดขึ้นมา และจะยิ่งฉูดฉาดขึ้นเมื่อเรารู้ตัวว่ากำลังจะตายเพราะสิ่งที่ไม่อาจย้อนคืนเหล่านี้เองที่จะเป็นแรงขับให้เราเลือกกระทำสิ่งสุดท้าย ก่อนที่จะไม่ได้อยู่บนโลกนี้อีกแล้ว 

แต่การกระทำสุดท้ายก่อนตาย แม้จะดูก้าวร้าว อบอุ่น จริงใจ หรือแข้มแข็งเพียงใด แต่ในฉากที่เราได้เห็นซาโตชิ ทรุดตัวลงกับพื้นแล้วพูดว่า “ผมยังไม่อยากตาย” มันก็น่าเพียงพอที่จะบอกกว่า สุดท้ายแล้วสิ่งที่คนเราต้องการมากที่สุด มันก็แค่ ลมหายใจ…




(ตรงนี้ย่อยให้)



+ หนังสรุปทุกอย่างอยู่ในเพลง Michishirube (ป้ายบอกทาง) ของวง PhilHarmoUniQue ซึ่งแม่งเพราะมาก และควรค่าแก่การหามาฟังกันค่ะ



+ ถ้าชีวิตไม่ได้ยุ่งยากมากจนไม่มีเวลา ก็ไปนั่งดูหนังทั้งสองเรื่องที่เราว่ามาเถอะค่ะ สุขใจและไม่อ้วน ^^

 

 


+++++++

ด้วยรักและป้ายบอกทาง


 นิดนก*









 

Create Date : 24 ธันวาคม 2551
3 comments
Last Update : 25 ธันวาคม 2551 17:28:37 น.
Counter : 1417 Pageviews.

 

อืมมม

ได้ยินมานานแล้ว ว่าจะหาไว้ดู....

ปล.ข้าน้อยกดเข้ามาเพราะชื่อท่าน.....โดนใจ! กร๊ากกก

 

โดย: ชนวนกลาง 25 ธันวาคม 2551 13:33:37 น.  

 

ถ้าอ่าน การ์ตูนจะพบว่า เเม่งเเปลงมาเป็นหนังได้ดีมากๆ
เอาข้อได้เปรียบของการเป็นหนังมาใช้ดี
ชอบตอนนักดนตรีบอกว่า "ไม่เห็นจะอร่อยเท่ามาม่ากระป๋องเเต่ก่อนเลย"

อยากดูภาคต่อเเล้ว ในการ์ตูนยังมีตอนดีๆ อีกมากมาย

 

โดย: นายเบ๊น IP: 58.9.77.51 25 ธันวาคม 2551 22:07:29 น.  

 

เป็นบทวิจารณ์ชิ้นเยี่ยมจริงๆ ครับ

ว่าแล้วก็ขอโฆษณาหนังสือการ์ตูนจาก TKO Comics เล็กน้อยครับ

รายละเอียด อิคิงามิ สาส์นสั่งตาย ในเว็บ TKO Comics ครับ
สามารถดูตัวอย่างได้

เล่ม 4 คาดว่าจะออกได้ในเดือนมกราคม 2552 ครับ

--
Oakyman's Blog

 

โดย: Oakyman 27 ธันวาคม 2551 15:25:26 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ยิ่งยง นั่งยองยอง
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add ยิ่งยง นั่งยองยอง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.