มกราคม 2558

 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
29
30
31
 
All Blog
คนในกระบวนการยุติธรรม หากรักษารักการและหลักกฎหมายไม่ได้ก็ยากที่จะเป็นที่พึ่งของประชาชน
เรียน สื่อมวลชน และเพื่อนๆ ร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย...!!!

"ข้อเท็จจริงในการใช้ตำแหน่งประกันตัวคุณศุภชัย ศรีศุภอักษร"

ตามที่สมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ได้ร้องเรียนท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และกรรมาธิการยุติธรรมฯ สนช. และหรือเดินทางเพื่อมาพบจ้าพเจ้าฯ ที่กระทรวงยุติธรรม เพื่อให้แสดงความรับผิดชอบต่อกรณีการประกันตัวอดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น คุณศุภชัย ศรีศุภอักษร นั้น ข้าพเจ้าฯ รายงานข้อเท็จจริง ดังนี้

1. ความสัมพันธ์ระหว่างข้าพเจ้า กับนายศุภชัย ศรีศุภอักษร
ข้าพเจ้าฯ รู้จักนายศุภชัย ศรีศุภอักษร มาเกือบ 30 ปี ตั้งแต่ก่อนเข้ารับราชการ โดยข้าพเจ้าฯเป็นเจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนในฐานะหัวหน้าโครงการผู้มีรายได้น้อยในเขตเมือง ซึ่งเข้าไปดำเนินโครงการในเคหะชุมชนคลองจั่น โดยคุณศุภชัยฯ เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 เขตบางกะปิ และเป็นประธานคณะกรรมการเคหะชุมชนคลองจั่น อีกทั้งข้าพเจ้าฯ เคยเป็นผู้มีส่วนร่วมในการก่อตั้งสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น รวมถึงเคยเป็นคณะกรรมการสหกรณ์ในระยะแรกๆ แต่หลายสิบปีที่ผ่านมาไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยว จึงรู้จักสหกรณ์และกรรมการสหกรณ์ในอดีตเป็นอย่างดี รวมทั้งได้มีส่วนร่วมกันในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมร่วมกันอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งกองทุนยา ดำเนินกิจกรรมด้านเยาวชนในชุมชน และอื่น ๆ รวมทั้งได้มีการช่วยเหลือเกื้อกูลในฐานะเพื่อนที่เคารพนับถือเสมือนญาติที่ดีตลอดเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงคุณมณฑล คุณยุพิณ กันล้อม คู่กรณีของคุณศุภชัยฯ และกรรมการคนอื่น ๆ ที่ทำงานเพื่อสังคมด้วยกันมา

อย่างไรก็ตามข้าพเจ้าฯ ได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกสหกรณ์ฯ ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุการณ์วิกฤติสหกรณ์ ซึ่งถ้าเข้าใจไม่ผิดน่าจะเป็นสมัยที่คุณมณฑล กันล้อมเป็นประธานฯ เพื่อต้องการนำเงินไปซื้อรถยนต์ส่วนตัวคันที่ใช้ในอยู่ปัจจุบัน
ดังนั้น การที่คุณศุภชัยฯ ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ และถูกยึดทรัพย์โดยสำนักงาน ปปง. นั้น ข้าพเจ้าฯ ไม่เคยไปยุ่งเหยิง แทรกแซง หรือโทรไปเพื่อขอความช่วยเหลือหรืออำนวยความสะดวกใดๆ เพื่อให้คุณศุภชัยฯ ได้พ้นผิดทั้งสิ้นเว้นแต่ในวันไปประกันตัวได้ประสานเวลาในการเดินทางที่เหมาะสมเท่านั้น เพราะสิ่งเหล่านี้ นักวิชาชีพที่มีจริยธรรมในกระทรวงยุติธรรม เราไม่นิยมกระทำกัน จะมีเพียงแต่เคยแสดงความเห็นในการประชุมผู้บริหารกระทรวงฯ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมขณะนั้น เป็นประธาน ในช่วงที่เริ่มจะมีการดำเนินคดีด้วยความเป็นห่วงสมาชิกและสหกรณ์ฯซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษสมัยนั้น มักนิยมจะแถลงข่าวในคดีต่าง ๆ ต่อสื่อมวลชน ซึ่งข้าพเจ้าฯ เห็นว่า ในคดีเกี่ยวกับสถาบันการเงินไม่ว่าเป็นสถาบันการเงินใดๆ หากมีการแถลงข่าวจะทำให้เกิดการตื่นตระหนกของสมาชิกทำให้เกิดความไม่มั่นใจ ไม่ส่งเงินสมาชิกประจำเดือน และรวมไปถึงผู้ที่กู้เงินสหกรณ์ก็จะฉวยโอกาสไม่ส่งเงินกู้ และท้ายที่สุดสหกรณ์ก็จะล้มสลายเท่านั้น ปัจจุบันสถานการณ์ก็เป็นอย่างที่ข้าพเจ้าฯ ได้ตั้งข้อสังเกตและเสนอความเห็นไว้ ส่วนการจะดำเนินคดีกับคนกระทำผิดก็ดำเนินการไปอย่างเต็มที่ไม่ควรละเว้น
ฉะนั้น การที่ข้าพเจ้าฯ ไปประกันตัวคุณศุภชัยฯ ก็ในฐานะเป็นคนที่รักและเคารพนับถือกันมายาวนานเสมือนญาติส่วนกรณีที่คุณศุภชัยฯ ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด คุณศุภชัยฯ ต้องไปต่อสู้คดีพิสูจน์ในชั้นศาลเอาเอง และหากเป็นผู้กระทำความผิดจริง คุณศุภชัยก็ต้องรับโทษตามตัวบทกฎหมายที่ศาลมีคำพิพากษา
การใช้ตำแหน่งประกันตัวเช่นนี้ หากมีเพื่อนของข้าพเจ้าฯ คนใดในอนาคตเดือดร้อน ไม่สามารถช่วยตนเองได้ ข้าพเจ้าฯ ก็ช่วยทุกคน แต่จะไม่มีทางช่วยทำให้คนผิดเป็นถูกอย่างเด็ดขาด แม้แต่บุคคลนั้นจะเป็นพ่อแม่ ญาติพี่น้อง หรือลูกเมีย ซึ่งเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปในหมู่ญาติพี่น้องของข้าพเจ้าฯ

2. การดำเนินการของข้าพเจ้าฯ ในฐานะเป็นนักบริหารงานยุติธรรม ได้คิดไตร่ตรองก่อนที่จะตัดสินใจถึงผลกระทบ และผลดีผลเสียก่อนแล้ว ดังนี้
1.1 ข้าพเจ้าฯ ยึดหลักการสำคัญหลักการในการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติว่า “ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด” หลักการดังกล่าวเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาที่ให้สันนิษฐานว่า ผู้ที่ถูกกล่าวหาหรือดำเนินคดีอาญานั้น ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิด ถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ แม้จะถูกควบคุมหรือคุมขังระหว่างรอการสอบสวนหรือพิจารณา จากหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นชั้นสอบสวนกระบวนการสั่งฟ้องของพนักงานอัยการและระหว่างการพิจารณาหรือพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกาแล้วแต่กรณี จากหลักการดังกล่าวส่งผลให้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา บัญญัติกฎหมายรองรับถึงสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลย ที่อยู่ระหว่างการถูกดำเนินคดี เช่น สิทธิในการได้รับการปล่อยชั่วคราว สิทธิในการพบและปรึกษากับทนายความสองต่อสองและสิทธิได้รับการช่วยเหลือจากรัฐเมื่อถูกดำเนินคดีอาญา และสิทธิอื่น ๆ
ซึ่งกระทรวงยุติธรรม ก็ได้ออกมาตรการและเครื่องมือมารองรับหลักของรัฐธรรมนูญและกฎหมายดังกล่าว ด้วยการจัดตั้งกองทุนยุติธรรม โดยเฉพาะรัฐบาลปัจจุบันก็เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนด้วยการผลักดันยกระดับกองทุนยุติธรรมให้เป็นนิติบุคคล โดยการออกเป็นพระราชบัญญัติฯ รวมทั้งกระทรวงยุติธรรมยังมีนโยบายในการแสวงหาเครื่องมือมาเสริมมาตรการปล่อยตัวชั่วคราว เพื่อป้องกันผู้ต้องหาหรือจำเลยหลบหนีหรือไม่ยุ่งเหยิงกับพยาน และมิให้เป็นภัยอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดจากการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ด้วยการควบคุมผู้ต้องโทษโดยเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic monitoring) มาใช้ในกระบวนการก่อนการพิจาณาคดีของศาล คือ เสริมมาตรการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นต้น โดยมาตรการดังกล่าวนี้มิได้ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นการนำมาใช้เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาในกระบวนการยุติธรรมให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญดังกล่าวข้างต้น และข้าพเจ้าฯ ก็มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว จึงมีความเข้าใจในปรัชญา แนวคิด และเจตนารมณ์ดังกล่าวเป็นอย่างดี ซึ่งการที่ข้าพเจ้าฯไปประกันตัวคุณศุภชัยฯ ก็เป็นไปตามกรอบแนวนโยบายดังกล่าวด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ทั้งหมดก็ออกหลักการรองรับหลักรัฐธรรมนูญและกฎหมายดังกล่าวด้วยเช่นกัน โดยกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ตำแหน่งบุคคลเป็นหลักประกันในการขอประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยแล้วแต่กรณีมิได้กำหนดหรือข้อห้ามว่าข้าราชการของส่วนราชการใดห้ามใช้ตำแหน่งราชการไปขอประกันตัว มีเพียงแต่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดพ.ศ. 2542 ข้อ 12 (5) ว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใด เป็นผู้ประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยโดยใช้หลักทรัพย์หรือสถานะของการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในชั้นพนักงานสอบสวนพนักงานอัยการ หรือศาลในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในข้อหาผลิตนำเข้า ส่งออกจำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง เพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติด หรือในข้อหามีไว้ในครอบครอง ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ ในประเภท 1 หรือประเภท 2 เกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดอันเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ให้ถือว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เว้นแต่การกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น การกระทำกับบุคคลซึ่งเป็นสามีหรือภริยา บุพการีหรือผู้สืบสันดานไม่ว่าชั้นใด ๆ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น
ส่วนคดีฐานความผิดอื่น ๆ ก็มิได้มีข้อห้ามแต่ประการใด
1.2 ข้าพเจ้าฯ มิได้มีหน้าที่ความรับผิดชอบกรมสอบสวนคดีพิเศษ
กรมสอบสวนคดีพิเศษที่ข้าพเจ้าฯ รู้จักก็ในฐานะเป็นฝ่ายเลขานุการฯ ในการปฏิรูปกระทรวงยุติธรรมที่จัดทำโครงสร้างและกฎหมายของทุกส่วนราชการในสังกัดกระทรวงยุติธรรม จึงทำให้ข้าพเจ้าฯ รู้โครงสร้างและกฎหมายของทุกส่วนราชการเป็นอย่างดี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 แต่ข้าพเจ้าฯ ไม่เคยรับราชการ หรือเป็นผู้บริหารกรมสอบสวนคดีพิเศษ และเมื่อได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ข้าพเจ้าฯ ไม่ได้เป็นหัวหน้ากลุ่มภารกิจที่กำกับดูแลกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือเป็นคณะกรรมการคดีพิเศษ หรือคณะอนุกรรมการฯ ใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรมสอบสวนคดีพิเศษทั้งสิ้น และนับตั้งแต่มีการดำเนินคดีนี้ ข้าพเจ้าฯ ไม่เคยไปยุ่งเกี่ยว หรือขอร้องให้มีการช่วยเหลือด้านคดีใดๆ เลย ดังกล่าวข้างต้น
การรับราชการข้าพเจ้าฯ ในเรื่องจริยธรรม ข้าพเจ้าฯ ยึดมั่นและยึดถือในฐานะนักบริหารงานยุติธรรมมาชั่วชีวิต หากพิจารณาเห็นว่าการที่ข้าพเจ้าฯ เป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งแม้มิได้เป็นหัวหน้ากลุ่มภารกิจที่กำกับดูแลกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือเป็นคณะกรรมการคดีพิเศษ ในเชิงจริยธรรมแล้วเห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่ควรที่จะเอาตำแหน่งหน้าที่ไปประกันตัว ก็เท่ากับว่าข้าราชการตำรวจ อัยการ และศาล ซึ่งก็ล้วนเป็นข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการดำเนินคดีต่อผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยทั้งหมดทั้งสิ้น ก็จะไม่สามารถเอาตำแหน่งหน้าที่ราชการไปประกันตัวใครๆ ได้เลยเพราะอาจไม่เหมาะสมในมิติจริยธรรมตามผู้ร้องเห็นว่าไม่เหมาะสมดังกล่าวข้างต้น ซึ่งข้าพเจ้าฯ เห็นว่าข้าพเจ้าฯ ใช้สิทธิดังกล่าวตามที่กฎหมายให้สามารถกระทำได้
1.3 การพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวเป็นดุลพินิจของศาล ข้าพเจ้าฯ ไม่สามารถไปก้าวล่วงได้
ศาลยุติธรรมได้มีการออกหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจก่อนที่จะวินิจฉัยสั่งในคำร้องขอประกันตัวว่าควรจะอนุญาตหรือไม่อนุญาต ดังนี้
(1) ความหนักเบาแห่งข้อหา
(2) พยานหลักฐานที่ปรากฏแล้วมีเพียงใด
(3) พฤติการณ์ต่าง ๆ แห่งคดีเป็นอย่างไร
(4) เชื่อถือผู้ขอประกันหรือหลักประกันได้เพียงใด
(5) ผู้ต้องหาหรือจำเลยน่าจะหลบหนีหรือไม่
(6) ภัยอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดจากการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมีหรือไม่ เพียงใด
(7) คำคัดค้านของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการโจทก์หรือผู้เสียหาย แล้วแต่กรณี
(8) ข้อเท็จจริงหรือรายงานหรือความเห็นของเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวกับการนั้น
ดังนั้น หลักประกันหรือการใช้ตำแหน่งประกันตัวของข้าพเจ้าฯ จึงเป็นส่วนหนึ่งของหลักเกณฑ์ที่ศาลใช้ดุลพินิจในการวินิจฉัยสั่งคำร้องขอประกันตัวเท่านั้น อย่างไรก็ตามจากน้ำหนักจะไปอยู่ในประเด็น ผู้ต้องหาหรือจำเลยน่าจะหลบหนีหรือไม่ และภัยอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดจากการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมีหรือไม่ เพียงใด ซึ่งในประเด็นนี้จึงรวมถึงจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหรือไม่ด้วย
ฉะนั้น การที่ศาลพิจาณาปล่อยตัวชั่วคราวคุณศุภชัยฯ และกำหนดเงือนไขในระหว่างการปล่อยตัวชั่วคราวก็เป็นดุลพินิจของศาลที่ยึดตามหลักรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นซึ่งข้าพเจ้าฯ ไม่สามารถไปก้าวล่วงได้
2.4 การประกันตัว ไม่มีผลต่อการช่วยให้คุณศุภชัยฯ พ้นจากการกระทำความผิด หรือทำให้คดีล่าช้า
การปล่อยตัวชั่วคราวนั้น นอกจากเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสให้คุณศุภชัยฯ ในฐานะผู้ถูกกล่าวหา ได้มีโอกาสรวบรวมหลักฐานในการต่อสู้คดีได้มากกว่าการที่นำตัวไปถูกควบคุมตัวในระหว่างการสอบสวนและพิจารณาคดีเท่านั้น
ดังนั้น การที่คุณศุภชัยฯ ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว จึงมิได้เป็นส่วนที่จะไปช่วยให้คุณศุภชัยฯ พ้นผิดแต่ประการใด รวมถึงมิได้ทำให้ผู้เสียหายหรือสมาชิกได้รับเงินเร็วหรือช้า หรือจะทำให้ไม่ได้รับเงินคืนหรือส่งผลให้กระบวนการยุติธรรมล่าช้าหรือเร็วขึ้นแต่ประการใด เพียงแต่อาจไม่ถูกใจผู้เสียหายหรือสมาชิกที่ต้องการให้คุณศุภชัยฯ ได้รับการควบคุมตัวในเรือนจำเสียตั้งแต่ในชั้นสอบสวนและพิจารณาคดีของศาล ซึ่งก็ไม่เป็นตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ หรือนโยบายของกระทรวงยุติธรรมที่จะดำเนินการดังกล่าวข้างต้นที่กล่าวมาแล้วเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม หากกระทรวงยุติธรรมเห็นว่า การกระทำของข้าพเจ้าฯ แม้กฎหมายให้สามารถกระทำได้ แต่หากกระทรวงยุติธรรมพิจารณาในมิติเชิงจริยธรรมแล้ว อาจทำให้กระทรวงยุติธรรมเกิดความเสียหาย ในส่วนของข้าพเจ้าฯ ในฐานะนักบริหารงานยุติธรรมและนักอาชญาวิทยาก็จำเป็นต้องรักษาหลักการตามรัฐธรรมนูญที่ให้สันนิษฐานว่า “ผู้ที่ถูกกล่าวหาหรือดำเนินคดีอาญานั้น ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิด ให้ถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่” ดังกล่าว และสมควรต้องได้รับสิทธิในการในการปล่อยชั่วคราวตามกฎหมายเพื่อมาต่อสู้คดี เมื่อผนวกกับความเป็นเพื่อนที่เคารพนับถือกันมานานนับสิบๆปี ซึ่งนิสัยข้าพเจ้าฯ และครอบครัวไม่เคยทิ้งเพื่อน แต่จะไม่มีทางช่วยคนกระทำความผิดไม่ต้องรับโทษตามกฎหมาย
ดังนั้น เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้บริหารมีทางเลือกได้อย่างสบายใจ และข้าพเจ้าฯ ไม่มีอะไรที่จะน้อยเนื้อต่ำใจหรือติดค้าง และเคารพในการตัดสินใจของผู้บริหาร โดยข้าพเจ้าฯ ยินดีที่จะเลือกแสดงความรับผิดชอบด้วยการรักษากระทรวงยุติธรรม และหลักการดังกล่าว โดยขอให้พิจารณาย้ายข้าพเจ้าฯ ออกจากการเป็นผู้บริหารกระทรวงฯ ในตำแหน่งรองปลัดกระทรวงยุติธรรมไปอยู่ในตำแหน่งที่เห็นว่าเหมาะสม และไม่อยู่ในสถานะที่จะสร้างความเสียหายแก่กระทรวงยุติธรรม ตามที่เห็นสมควร โดยที่ข้าพเจ้าฯ ก็จะยังยืนยันจะตั้งใจทำงานในฐานะเป็นข้าราชการมืออาชีพ และรักษากติกามารยาทของการเป็นนักบริหารงานยุติธรรมที่ดี ไม่ช่วยให้คนทำผิดต้องลอยนวล หรือไม่ต้องรับโทษตามคำพิพากษา และให้คำมั่นต่อผู้บริหารว่า ข้าพเจ้าฯ ยังจะดำเนินการตามกรอบรัฐธรรมนูญและกฎหมาย หัวเด็ดตีนขาดแม้ฟ้าจะถล่มดินจะทลายอย่างข้าพเจ้าฯ ก็จะไม่ทีทางประพฤติชั่ว หรือแสวงหาประโยชน์จากการเป็นข้าราชการ
จึงเรียนมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน



Create Date : 28 มกราคม 2558
Last Update : 28 มกราคม 2558 5:39:34 น.
Counter : 1186 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

คนทำงานด้านเด็ก
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



รองปลัดกระทรวงยุติธรรม
เกิด 17 ก.พ.2502 จังหวัดชัยนาท เป็นบุตร นายสุเทพ-นางชิ้น ไทยเขียว
จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 โรเรียนวัดโพธิ์ทอง ต.บางขุด อ.สรรคบุรี แล้วมาเรียนมัธยมที่โรงเรียนคุรุประชาสรรค์ อ.สรรคบุรี จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
"ตอนเรียนมัธยม เป็นช่วงปี 2515-2517 ผมต้องขี่จักรยานไปกลับวันละ 18 ก.ม. ลำบากมากโดยเฉพาะในหน้าฝน ผมเป็นคนที่ไม่ตั้งใจเรียน แต่ไม่เกเร พอผมเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 อยากทำนาเหมือนคุณพ่อคุณแม่ แต่ธรรมชาติช่วย จังหวะที่ผมเรียนจบ เกิดน้ำท่วมใหญ่ รวมถึงที่นา ผมต้องลงไปช่วยคุณพ่อ คุณแม่ยกฟ้อนข้าวขึ้นที่สูง เหนื่อยมาก รู้สึกลำบาก ไม่อยากทำนาอีกแล้ว เริ่มอยากเรียนหนังสือต่อ"
ผมจึงตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพฯ พักอยู่กับญาติที่กองรักษาการณ์ทำเนียบรัฐบาล ตัวเลือดตามล่องกระดานกัดติดหลังเป็นแถวเลยอยู่ไม่ได้ น้าชายไปฝากอยู่กับแฟนของเพื่อนตำรวจเป็นหมอนวดแถวถนนเพชรบุรีอยู่อีก 1 สัปดาห์ ต่อมาจึงได้หาที่พักถาวรได้ที่วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ขณะนั้นมีน้าชายชื่อ นายวิชิต เรียนทัพ อดีตนายก อบต.บางขุด พักอาศัยอยู่ก่อน
"ผมสอบเข้าศึกษาต่ออะไรก็ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นจ่าอากาศ ช่างฝีมือทหาร เตรียมทหาร หรือแม้แต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ภาคค่ำ ซึ่งเป็นผลมาจากการไม่ตั้งใจเรียน มาเรียนต่อได้เพราะวิทยาลัยครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ กิ่งเพชร ราชเทวี เปิดรับนักศึกษาภาคค่ำ ในขณะที่สถาบันการศึกษาอื่นๆ ได้เปิดเรียนไปแล้วเกือบหนึ่งเทอมแล้ว จึงมีที่เรียน"
"ช่วงที่อยู่วัดเห็นพระเณรนั่งดูหนังสือ ไม่นอน ผมจึงไม่นอน ผลการเรียนจึงเริ่มดีขึ้น โดยกลางวันทำงาน กลางคืนเรียน ไม่อยากใช้เงินคุณพ่อคุณแม่ เพราะรู้ว่าท่านลำบาก กระทั่งเรียนจบอนุปริญญา หรือปกศ.สูง เอกสังคมศึกษา ในระดับปริญญาไม่มีที่เรียนกลางคืน ต้องเรียนกลางวัน จึงไม่ได้ทำงานจนจบการศึกษาบัณฑิตหรือ กศ.บ. เอกสังคมศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตพลศึกษา"
"ช่วงนั้น ผมขอหลวงพ่อคุมศาลาเผาศพ และรับอาราธนาศีล บริการน้ำ-อาหาร รับจ้างจุดธูปเพื่อหาเงินเรียนจนจบปริญญาตรี สอบเข้าศึกษาต่อปริญญาโทได้ขณะที่เรียนเทอมสุดท้ายของปริญญาตรี จบปริญญาโท สังคมศาสตรมหาบัณฑิต (สค.ม.) อาชญาวิทยาและกระบวนการยุติธรรม มหาวิทยาลัยมหิดล รุ่นที่ 4 ทำงานภาคเอกชนอยู่ 4 ปี จึงเข้ารับราชการเมื่อวันที่ 1 ก.ค.2529 โดยเป็นพนักงานคุมประพฤติ 3 จังหวัดชลบุรี"
ต.ค. 2541 เติบโตมาเป็นเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป 7 จ่าศาลจังหวัดปากพนัง รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานโครงการพัฒนาระบบงานศาล, 16 ก.พ. 2542 เป็นจ่าศาลจังหวัดอำนาจเจริญ, 18 มี.ค. 2542 ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผน กระทรวงยุติธรรม คณะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการพิจารณาจัดระเบียบกระทรวงยุติธรรม, 4 มิย. 2544 ได้รับเลือกตั้งเป็น อกพ. สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม, 8 มิย.2544 รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการศูนย์บริการข้อมูลตุลาการ สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม, 15 ต.ค. 2544 ช่วยทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงาน โครงการส่งเสริมประสิทธิภาพสถานพินิจ สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม, 7 พ.ย. 2544 คณะกรรมการบริหารแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 9 พ.ศ.2545-2549, 12 มีค.2545 กรรมการและเลขานุการการเตรียมความพร้อมในการจัดทำโครงสร้างกระทรวงยุติธรรมตามมติคณะรัฐมนตรี, 3 ต.ค.2545 รักษาราชการแทนรองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน
ขึ้นเป็นผู้บริหารระดับ 9 ในตำแหน่ง รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เมื่อ 25 เมย.2546
ย้ายไปเป็นรองอธิบดีกรมคุมประพฤติ 1 ปี 8 เดือน ก่อนจะได้รับคำสั่งให้กลับมาทำงานในตำแหน่งรองอธิบดีพินิจและคุ้ม ครองเด็กและเยาวชนอีกครั้งและได้ขึ้นเป็นอธิบดีในที่สุด
ผลงานดีเด่นที่เป็นที่ยอมรับ คือ จัดทำมาตรฐานกลางการปฏิบัติงานธุรการศาล และนำวิธีการบริหารงานคุณภาพทั่วทั้งองค์กร (Total Quality Management/ TQM) จนศาลจังหวัดนครราชสีมาได้รับ การประกาศรับรองด้านบริการ ISO 9000
การปฏิรูปกระทรวงยุติธรรม ในฐานะเป็นคณะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการพิจารณาจัดระเบียบกระทรวงยุติธรรม ตามมติคณะรัฐมนตรี จนสามารถรวบรวมหน่วยงานต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรมเข้ามาอยู่ร่วมกันในปัจจุบัน
ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณด้านการบำบัด ฟื้นฟู และพัฒนาผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2550 และได้รับเลือกเป็นข้าราชการพลเรือนดีเด่น พ.ศ.2544 เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสภาลูกเสือแห่งชาติ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 9 สค.2550
"ทุกอย่างที่ทําให้เรามาถึงวันนี้ ได้กรรมเป็นตัวกํากับทั้งหมด และอะไรที่เราเคยเสีย ใจแบบสุดๆ หรือว่าเศร้าใจอย่างสุดๆ ความรู้สึกนั้นมันไม่เคยเสถียรเลย มันลดลงมาหมด
วันนี้ดีใจที่ได้เป็นอธิบดี อาจจะดีใจจน ตัวลอย แต่ว่าไม่เท่าไหร่ก็ลดลง เพราะฉะนั้นถ้าเราเข้าใจเท่าทันโลก เข้าใจเรื่องกฎของไตรลักษณ์ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป มียศเสื่อมยศ มีลาภเสื่อมลาภ เพราะฉะนั้นอย่าไปยึดติด ที่สําคัญที่สุด คือเรามีหน้าที่ หน้าที่นั้นต้องทําให้ดีที่สุดในการที่จะมองไปที่ประชาชนและเด็กๆ
ผมเชื่อว่าผมอาจจะมีกรรมดีที่ได้มีหน้าที่การงานที่ดี แต่ส่วนหนึ่งผมว่า ผมก็อาจจะเคยทํากรรมอะไรไว้บางอย่างกับเด็กๆ ผมถึงต้องชดใช้อะไรมากมายถึงขนาดนี้ รู้สึกว่าต้องเป็นทุกข์เป็นร้อน เห็นอะไรไม่สบายใจต้องเข้าไปจัดการ ฉะนั้นเมื่อเป็นอย่างนี้ เราก็อยากเห็นสังคมมีคุณธรรม มีจริยธรรม เพราะทุกวันนี้เรื่องเหล่านี้มันตกต่ำไปมาก"
สมรสกับเบญจพร ไทยเขียว ซึ่งรับราชการครู มีบุตรชาย 2 คน นายชัชชล ไทยเขียว อายุ 25 ปี จบศึกษาด้านภาษาและวัฒนธรรม และศึกษาดนตรีและทำเครื่องดนิตรีกู่ฉินไปด้วยที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ประกอบอาชีพส่วนตัวสอนคนตรีกู่ฉิน และจำหน่ายเครื่องคนตรีจีนคุณภาพจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน อาจารย์พิเศษ
และนายยิ่งคุณ ไทยเขียว อายุ 23 ปี จบศึกษาคณะวิศวศาสตร์คอมพิวเตอร์ สถาบันเทคโนโลยีไทยญี่ปุ่น ปัจจุบันกำลังศึกษา MBA มหาวิทยาลัยหอการค้า