Group Blog
 
<<
เมษายน 2552
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
11 เมษายน 2552
 
All Blogs
 
โรงรับจำนำที่รัก



โรงรับจำนำที่รัก

หากย้อนเวลาได้ ถ้ามีคนที่เกิดในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 เดินเข้าไปในโรงรับจำนำ ยังไม่ทันเดินออกมา สมมุติว่าวันเวลาผ่านไปอีก 100 ปีต่อ เขาจะรู้สึกว่าภายในโรงรับจำนำยังเหมือนเดิมๆ มีไฟสลัวๆ มองอะไรไม่ค่อยชัด หลงจู๊แก่ๆยังนั่งที่เดิม แต่พอเขาเดินออกจากประตูเล็กๆ แคบนั้น จะพบว่านั่นไม่ใช่โลกเดิมที่เขาคุ้นเคย ตึกรามบ้านช่องเปลี่ยนไปจนจำไม่ได้ รถรามากมาย โลกเก่ากับโลกใหม่อยู่ใกล้กันแค่เอื้อม

ผมสงสัยมานานแล้วว่า ทำไมผู้คนต้องเขินอายเวลาเดินเข้าโรงรับจำนำ ใครจะรู้บ้างว่า คนที่เข้าไปติดต่อโรงรับจำนำ จริงๆมี 2 พวก คือ พวกแรกเป็นลูกค้า เอาของมีค่ามาจำนำ ส่วนอีกพวกตั้งใจมาดูของหลุดจำนำ ซื้อของถูกกลับบ้าน เคยมีเพื่อนคนหนึ่งชอบซื้อพระเหลี่ยมทอง เขาบอกว่าโรงจำนำไม่ได้คิดค่าพระ คิดเฉพาะแต่ค่าทองคำ ปะเหมาะเคราะห์ดีอาจได้พระเก่าหายาก มีมูลค่ามากกว่าทองหลายร้อนหลายพันเท่า นั่นก็เป็นคำคุยที่หวังว่าจะพบสักวัน

เดี๋ยวนี้มีพวกที่ 3 ครับ นั่นคือ พวกไม่มีธุระอะไรกับโรงรับจำนำ แต่หลงเสน่ห์โรงรับจำนำ อยากแส่เข้าไปดู ไปชมบรรยากาศมืดๆ ทึมๆ สะลึมสะลือ คนหน้าเคาเตอร์จะทำหน้าสงสัยไว้ก่อน ถ้าแขกผู้มาเยือนไม่คุ้นหน้า วันหนึ่งผมไปด้อมๆมองๆ โรงรับจำนำเก่าแก่แห่งหนึ่ง ไปดูสภาพ รำลึกถึงความเป็นมาของธุรกิจชนิดนี้ ว่ามันถูกสตาฟมาถึงศตวรรษกว่าๆได้อย่างไร ผมไปยืนถ่ายหน้าร้านที่ว่านั้น ทำตัวอย่างกับนักท่องเที่ยว ไม่ได้เดินเข้าไปในร้าน เห็นว่าป้ายหน้าร้านนี้เก่ามาก พอถ่ายได้รูป สองรูป กำลังจะเดินจากไป ก็เห็นผู้หญิงคนหนึ่งวิ่งออกมาจากโรงรับจำนำแห่งนั้น เข้าใจว่าเป็นเจ้าของร้าน ไล่กวดผมมาติดๆ เข้ามาซักไซ้ไล่เลียง ถามว่าผมเป็นใคร มาจากไหน เขาบอกว่าไม่สบายใจมากที่ ใครไม่รู้มาถ่ายรูปร้าน กังวลไปต่างๆนาๆว่ารูปหน้าร้านซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิวริมถนนสายนั้น จะถูกนำไปใช้ในทางมิดีมิชอบ ผมจึงบอกว่าเพื่อความสบายใจของท่าน จะลบรูปในกล้องให้ จึงเลิกรากันไป ด้วยเหตุนี้ทำให้ภาพประกอบในบล็อกไม่มีครับ

ถึงแม้ว่าโรงรับจำนำจะไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง อนุรักษ์รูปแบบอาคาร ช่องรับ-จ่ายเดิมๆ ยังปั๊มลายมือเหมือนอย่างสมัยที่คนยังอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้
แต่ลูกค้าในศตวรรษนี้น่าจะเปลี่ยนไป

ผมเคยได้ยินผู้จัดการโรงรับจำนำแห่งหนึ่งว่า "หมดสมัยแล้ว ที่จะแบกครกหินไปจำนำ เดี๋ยวนี้ลูกค้าโรงจำนำส่วนใหญ่ มีแต่คนชั้นกลางจนถึงเศรษฐี ถ้าไม่มีทอง ก็เอาของมีค่าอื่นไปจำนำ แก้ความขัดสนเฉพาะหน้า ภาพลักษณ์ของผู้ใช้บริการโรงจำนำยุคนี้จึงต่าง จากแต่ก่อน"

ประวัติโรงรับจำนำในประเทศไทย

การรับจำนำในประเทศไทยมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ปรากฏตามหลักฐานในรัชสมัยพระบรมโกษฐ์ กรุงศรีอยุธยา ตามพระราชกำหนดที่ออกในปี พ.ศ. 2284 เรื่องการควบคุมการรับจำนำ กำหนดให้การรับจำนำกระทำในเวลากลางวัน การให้จำนำกันให้แต่คนที่รู้จักกันดี

ผมเคยได้ข้อมูลมาว่า การจำนำกับคนรู้จักกันในสมัยที่ยังไม่มีโรงรับจำนำ คิดตอกเบี้ย 25 สตางค์ ต่อเงินต้น 1 ตำลึง หรือ 6.25 % (ต่อเดือน) ลองเทียบกับเงินกู้นอกระบบสมัยนี้แล้ว นายทุนเงินกู้สมัยก่อนน่าจะโหดน้อยกว่า

ด้วยจุดอ่อนของการให้กู้เงินที่ต้องปล่อยกู้เฉพาะคนคุ้นเคย และคิดดอกเบี้ยแพง จึงเกิดธุรกิจที่จะทำอย่างไรให้คนที่มีเงินปล่อยกู้กับใครก็ได้ที่มีข้าวของมาเป็นหลักประกัน แถมยังคิดดอกเบี้ยถูกกว่า จึงเป็นที่มาของการตั้งโรงจำนำ

ผู้ตั้งโรงรับจำนำแห่งแรกของไทยเป็นชาวจีน ชื่อ ฮง แซ่เบ๊ ในปี พ.ศ. 2409 ตั้งอยู่ที่ ย่านประตูผี ถนนบำรุงเมือง ชื่อร้านโรงรับจำนำย่องเซี้ยง (หัวมุมตัดกับถนนมหาไชย) ข้างวัดเทพธิดาราม ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อมาเป็น “โรงรับจำนำสำราญราษฎร์”

เริ่มแรกคิดดอกเบี้ยเพียง 1 เฟื้อง (12 .5 สตางค์) จากเงินต้น 1 ตำลึง (4 บาท) นี่ถูกกว่าการกู้กับคนกันเอง คิดดอกเบี้ยเพียงครึ่งหนึ่งของท้องตลาด หรือประมาณ 3.12% ต่อเดือน

เมื่อชาวบ้านร้านถิ่นได้ข่าวว่าโรงรับจำนำของจีนฮง ดอกเบี้ยถูกกว่า จึงแห่มาใช้บริการของจีนฮงกันมาก ใครจะเอาอะไรมาก็จำนำได้ ไม่จำเป็นต้องรู้จักกันมาก่อน มีการออกตั๋วให้เป็นหลักฐาน

ในปี พ.ศ. 2411 มีการตราพระราชบัญญัติ กำหนดไม่ให้เรียกดอกเบี้ยเกินกว่าชั่งละ 1 บาท หรือ 1.25% ต่อเดือน

เมื่อโรงรับจำนำของจีนฮงได้รับความนิยมมาก จึงมีผู้เปิดโรงรับจำนำตามจีนฮงอีกหลายสิบโรง ธุรกิจโรงรับจำนำจึงบูมมากๆ ในปี พ.ศ. 2433 มีโรงรับจำนำในกรุงเทพ ฯ ถึง 200 โรง การตั้งโรงรับจำนำสมัยนั้น ตั้งได้ง่ายๆ ไม่ต้องขออนุญาต ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมให้กับรัฐบาล

พ.ศ. 2438 (ร.ศ.114) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติโรงรับจำนำรัตนโกสินทร์ศก 114 ขึ้นและโปรดเกล้า ฯ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2438 เป็นต้นไป
กำหนดให้ผู้ที่จะตั้งโรงรับจำนำต้องขออนุญาต มีการกำหนดค่าธรรมเนียม และระยะเวลาการใช้ใบอนุญาตกำหนดเวลาจำนำและไถ่ถอนกำหนดให้จัดทำตั๋วจำนำ และบัญชีไว้เป็นหลักฐาน และกำหนดอัตราดอกเบี้ยจำนำ
เงินต้นไม่เกิน 1 บาท ให้คิดดอกเบี้ย 3 อัฐ ต่อ 1 เดือน
ถ้าเงินต้นเกิน 50 บาทแต่ไม่เกิน 400 บาท ให้คิดดอกเบี้ยได้บาทละ 2 อัฐต่อ 1 เดือน การไถ่ของกำหนดไว้ภายใน 3 เดือน หากเทียบอัตรา 64 อัฐเป็น 1 บาท ดังนั้น 3 อัฐ เท่ากับ 1.56 %

โรงรับจำนำแห่งแรกของประเทศไทยที่ตั้งขึ้นถูกต้องตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ ร.ศ.114 ชื่อ “ฮั้วเส็ง“ ก่อตั้งโดยนายเล็ก โทณวนิก

ทางการได้ยกเลิกพระราชบัญญัติ ร.ศ. 114 และตราพระราชบัญญัติใหม่ ให้บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2481 เป็นต้นมา
โดยพระราชบัญญัติใหม่นี้ มีหลักการสำคัญ คือ ใช้วิธีประมูลการตั้งโรงรับจำนำทุกๆ ระยะ 5 ปี เพราะไม่ต้องการให้มีมากจนเกินไป ลดการแข่งขันกันเอง ต่อมาสภาพทางเศรษฐกิจ และสังคมของเราได้เปลี่ยนไปมาก

รัฐบาลจึงได้ตราพระราชบัญญัติ โรงรับจำนำฉบับใหม่ในปีพ.ศ. 2505 เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจาก พระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พุทธศักราช 2481 ได้ออกใช้เป็นเวลานานมาแล้ว การกำหนดจำนวนเงินกู้ อัตราดอกเบี้ย การอนุญาต คุณสมบัติของผู้รับอนุญาต และบทกำหนดโทษยังไม่เหมาะสมแก่กาลสมัยในขณะนี้ จึงสมควรปรับปรุงแก้ไข ให้เป็นการเหมาะสม

ต่อมาในพ.ศ. 2517 รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติ โรงรับจำนำใหม่ โดยแก้ไขเพิ่มเติม จากพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2505 เพื่อมีบทบัญญัติที่รัดกุม เน้นที่การลงหลักฐานของผู้จำนำ ป้องกันการจำนำทรัพย์ที่ได้มาโดยทุจริต

ใน พ.ศ. 2526 มีการออกพระราชบัญญัติโรงรับจำนำอีกครั้ง โดยมุ่งหวังจะช่วยเหลือประชาชนที่นำทรัพย์มาจำนำ แล้วหลุดจำนำโดยเจ้าของไม่ตั้งใจ อาจเป็นเพราะหาเงินมาไถ่ไม่ทัน หรือขาดการส่งดอกเบี้ย จึงขยายเวลา หรือหลักเกณฑ์ให้อะลุ้มอล่วยกับผู้อยากไร้มากขึ้น ซึ่งใช้บังคับมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

ปัจจุบันนี้ โรงรับจำนำแบ่งออกเป็น 3 ประเภท

1. โรงรับจำนำ ซึ่งดำเนินการโดยเอกชน ได้ก่อตั้งขึ้นโดยทั่วไป ในรูปธุรกิจแบบห้างหุ้นส่วนจำกัด
ตั้งแต่ พ.ศ.2520 เป็นต้นมา รัฐบาลไม่อนุญาตให้เอกชนจัดตั้งโรงรับจำนำได้อีก แต่โรงรับจำนำที่จัดตั้งขึ้นก่อนหน้านี้ให้ดำเนินการต่อไป จนกระทั่งปี 2532 ประชากรในเขตกรุงเทพมหานครเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลจึงเปิดประมูลขออนุญาตประกอบกิจการโรงรับจำนำเพิ่มอีก 16 แห่ง

2. โรงรับจำนำ ที่ดำเนินกิจการโดยกรมประชาสงเคราะห์ เรียกว่า “สถานธนานุเคราะห์” ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ. 2498 (เริ่มแรกใช้ชื่อว่า "โรงรับจำนำของรัฐ” เปลี่ยนชื่อมาเป็น “สถานธนานุเคราะห์” เมื่อ พ.ศ. 2500)

3. โรงรับจำนำที่ดำเนินกิจการโดยเทศบาล เรียกว่า “สถานธนานุบาล” เริ่มที่เทศบาลนครเชียงใหม่ได้เปิดกิจการขึ้นเป็นแห่งแรก เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2503 ต่อมาในปี พ.ศ. 2504 ก็ได้เปิดกิจการขึ้นอีก 3 แห่ง รวมเป็น 4 แห่ง คือเทศบาลเมืองนครสวรรค์ เทศบาลเมืองหาดใหญ่ และเทศบาลเมืองอุดรธานี

ปัจจุบัน สถานธนานุเคราะห์และสถานธนานุบาล คิดอัตราดอกเบี้ยที่ เงินต้นไม่เกิน 5,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 0.75 บาท ต่อเดือน เงินต้นเกิน 5,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 1 บาทต่อเดือน

ถูกกว่าดอกเบี้ยโรงรับจำนำเอกชน ซึ่งกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ เงินต้นไม่เกิน 2,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อเดือน เงินต้นส่วนที่เกิน 2,000 บาท คิดร้อยละ 1.25 ต่อเดือน โดยมีข้อแม้ว่าต้องส่งดอกห่างกันไม่เกิน 4 เดือน 30 วัน

แต่กระนั้น การตีราคาทรัพย์สินที่นำมาจำนำของโรงรับจำนำราชการยังต่ำกว่าของเอกชนมาก ประชาชนทั่วไปจึงยังนิยมใช้บริการของโรงรับจำนำเอกชนอยู่เช่นเดิม

จากการเฝ้าสังเกตอาชีพของผู้ใช้บริการและข้าวของที่มาจำนำ เราพบว่า
ผู้จำนำแบ่งเป็นอาชีพ 5 อันดับแรก คือ 1. รับจ้าง 2. พ่อบ้าน แม่บ้าน 3. ค้าขาย 4. ข้าราชการ และ 5. นิสิต นักศึกษา
ส่วนประเภททรัพย์สินที่มีการนำมาจำนำมากที่สุด คือ 1. ทอง นาก เพชร 2. กล้องถ่ายรูป 3. นาฬิกาข้อมือ 4. โทรทัศน์

ผมได้ข่าวว่าเดี๋ยวนี้นักศึกษาจบใหม่ชอบเอาใบปริญญาบัตรมาจำนำ ไม่ใช่ในไทยหรอกครับ ที่ประเทศเวียตนามโน่น


Create Date : 11 เมษายน 2552
Last Update : 30 พฤศจิกายน 2557 14:45:51 น. 48 comments
Counter : 12114 Pageviews.

 
อะหา...วันนี้คุณ IM มาชวนไปเยี่ยมแหล่งเก่าเคยเนา...

อ่านแล้วให้คิดถึงอดีตอีกแล้วสิ...

เชื่อหรือไม่? ผมเข้าโรงจำนำตั้งแต่อายุยังไม่เต็ม 15 ปี !

เชื่อเหอะ ไม่รู้จะมาหลอกกันหาพระแสงอะไร

เรื่องของเรื่องคือ เงินที่จะใช้เที่ยวขาดแคลน จะหาหยิบยืมเอาจากเพื่อนฝูงวัยเดียวกันก็กระไรอยู่ เพราะเพื่อนในกลุ่มในก๊วนก็ล้วนแต่ต้องใช้เงินในการเที่ยวเหมือนเราเสียทุกคน

ก็เลยมีคำแนะนะจากเพื่อนฝูงในวัยนั้นว่า ถ้ามีข้าวของก็เอาไปฝากอาโกที่โรงจำนำไว้ก่อน จะได้เงินมาเที่ยวตามวัตถุประสงค์

วัตถุพยานที่นำไปจำนำเป็นครั้งแรกในชีวิต คือ กางเกงขายาวขาบานตัวใหม่ ที่ต้ดได้ไม่นาน ตอนตัดทั้งค่าผ้า ค่าแรง หมดไปร่วมสองร้อยบาท แต่เผอิญตัดออกมาแล้วไม่ถูกสเป็คไม่พอดีตัว จะโยนทิ้งก็เสียดาย จะให้ใครก็ไม่มีใครรับ พอมีดำริว่าต้องหาเงินมาใช้ จึงหยิบเจ้ากางเกงตัวนี้เป็นเหยื่อชิ้นแรกของชีวิตการจำนำ

สมัยนั้น คงไม่เข้มงวดกวดขันกับอายุของผู้มาใช้บริการเท่าใดนัก หนุ่มน้อยตัวกระเปี๊ยกนุ่งกางเกงขาสั้น ก็เลยสามารถเดินเข้าโรงจำนำได้อย่างสบายไร้กังวล

พอยื่นกางเกงตัวเก่งให้อาโกที่อยู่หลังเคาน์เตอร์ เขาก็คลี่ออก มองผาด ๆ แล้วพูดขึ้นลอย ๆ ว่า

"30 บาท"

"จำนำขาดเลยได้เท่าไหร่" ลูกค้าหนุ่มต่อรองตามคำแนะนำของเพื่อนผู้ชำนาญการ

"40"

"ขอ 50 แล้วกัน กางเกงใหม่เอี่ยมเลย ใส่ไม่เกิน 2 ครั้ง"

อาโกเหลือบตามองหน้าไอ้หนุ่มกางเกงขาสั้นแป๊บนึ่ง ก่อนจะเขียนตั๋วจำนำขยุกขยิกเป็นภาษาจีน เขียนเสร็จ ให้คนลูกค้าแปะโป้ง หยิบเงินในเก๊ะส่งให้ 50 บาท แล้วฉีกตั๋วจำนำใบนั้นทิ้งต่อหน้า เป็นนัยสำคัญของการ "จำนำขาด" หรือมีค่าเท่ากับการขาย ไม่มีการไถ่คืน

จากประสบการณ์ครั้งนั้น ทำให้การเข้าโรงจำนำในลำดับถัด ๆ มาเป็นไปอย่างลื่นไหลมากขึ้น สิ่งของที่นำเข้าจำนำก็มักจะเป็นเสื้อผ้าแฟชั่นทันสมัยเสียมาก นาน ๆ ทีจึงจะสลับด้วยสร้อยทองสร้อยนาคบ้าง

เป็นที่น่าสังเกตว่า ถ้าเป็นการจำนำตามปกติ คือ ไม่ใช่จำนำขาด หรือขายขาดดังที่เล่ามาเบื้องต้น ในตั๋วจำนำจะเขียนชื่อผู้จำนำว่า "นายสมชาย" โดยที่อาโกไม่เคยถามถึงชื่อแซ่สักคำ และในช่องอายุ จะระบุว่า 20 ปี ทุกทีไป

การกรอกชื่อและอายุเช่นนี้ คงเป็นเพราะต่างฝ่ายต่างไม่สู้เห็นความสำคัญของข้อมูลทั้งสองส่วนนี้ เพราะมีลายพิมพ์หัวแม่มือแปะไว้เป็นสำคัญแล้วกระมัง

ชื่อ "สมชาย" จึงเป็นนามปากกา หรือนามแฝง ยอดฮิตสำหรับคนที่ใช้บริการโรงจำนำ จนแม้แต่อาโกก็พลอยเห็นดีเห็นงาม นำไปกรอกลงในตั๋วจำนำเสียเลย โดยไม่ต้องซักถามให้มากความ

จึงเป็นคำพูดที่เป็นอันรู้กันในหมู่มิตรสหายก๊วนเดียวกันว่า หากวันไหนไปหาสมชาย ก็หมายถึงไปเข้าโรงจำนำ...

พอห่างหายจากวงการเที่ยวดื่มกิน แบบวัยรุ่นในยุคนั้น ความขาดแคลนในด้านทุนทรัพย์ จนต้องหันไปพึ่งคุณสมชาย ก็หมดลง จึงไม่เคยแวะเข้าสถานที่พรรค์นั้นอีกเลย นับรวมเวลาเกือบกึ่งศตวรรษแล้ว...

ก็เลยไม่ได้รับรู้ว่า มีวิวัฒนาการ และการเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศแบบครึ้มมืดคลาสสิคแบบโรงรับจำนำในยุคหลัง ๆ นี้หรือไม่อย่างไร

แต่เมื่อมาอ่านในบล็อกนี้ และพบว่ายังคงบรรยากาศแบบเดิม ๆ ก็ให้รู้สึกสบายใจ

หากมีอันต้องหันเหเข้าใช้บริการอีกครั้ง คงมั่นใจได้ว่า คงจะไม่ไปยืนเก้ ๆ กัง ๆ ขัด ๆ เขิน ๆ อีกเป็นแน่แท้

และแม้อาโกจะไม่ถาม ก็ตั้งใจจะบอกอาโกแบบเสียงดังฟังชัดว่า

"ชื่ออะไรก็ได้ ที่ไม่ใช่สมชาย"

สร้างสรรค์หน่อยสิอาโก...


โดย: ลุงแว่น วันที่: 11 เมษายน 2552 เวลา:11:19:52 น.  

 


สวัสดีปีใหม่ไทย...นะคะขอให้มีความสุข...มากๆค่ะ

สุขสันต์วันสงกรานต์ค่ะ


โดย: คนชุมแสง วันที่: 11 เมษายน 2552 เวลา:12:54:50 น.  

 
เพิ่งรู้นะคะเนี่ย


โดย: โยเกิตมะนาว วันที่: 11 เมษายน 2552 เวลา:14:16:36 น.  

 
อ่านบล็อก และ comment ลุงแว่นแล้ว อมยิ้ม
ถ้าเป็นผู้หญิง อาโก เขียนชื่อว่าอะไรคะ


โดย: HoneyLemonSoda วันที่: 11 เมษายน 2552 เวลา:17:55:14 น.  

 
เคยแต่ผ่านไม่เคยเข้าเลย ข้างในหน้าตาเป็นไง ขั้นตอนยังไงก็ไม่เค้ยไม่เคย

แต่อีตาลุงแว่นเก่งตั้งแต่เด็ก นับถือแกจริงๆค่ะ 555

ดีค่ะเพราะไม่เคยเข้าไป ได้รู้รายละเอียดจากคุณ IM เป็นความรู้ใหม่ค่ะ

ขอให้มีความสุขในวันสงกรานต์ค่ะ


โดย: ซองขาวเบอร์ 9 วันที่: 11 เมษายน 2552 เวลา:18:01:48 น.  

 
อ้าว เจอคุณซองฯ แอบเหน็บเอาซะแล้ว

อีโธ่ เข้าโรงจำนำนะครับ ไม่ใช่เข้าโรงฝิ่นโรงยาที่ไหน...

ของที่เอาไปจำนำนั่นก็ของเราเองทั้งนั้น ไม่ได้ไปลักไปขโมยใครเขามาที่ไหน โปรดเข้าใจด้วยครับ

หัวอกคนจน ๆ เนี่ย ใครหนอจะเข้าใจ

เห็นแวบ ๆ ออกจากโรงจำนำหน่อย ก็โดนค่อนขอด...

เอาละ ไม่ว่ากัน

เพียงแต่จะแวะมาบอกว่า วันนี้ขยัน รีบอัพบล็อกฉลองสงกรานต์ครับ

วันนี้เสนอตอน... คนกินขี้...


โดย: ลุงแว่น วันที่: 11 เมษายน 2552 เวลา:18:54:05 น.  

 
รายละเอียดยาวเหยียดเลย
อ่านครึ่งนึงก่อนน้า...
เคยไปหาของหลุดเหมือนกัน
พวกแหวนของบริษัทยักาใหญ่
ที่ทำแจกพนักงาน แต่เราเข้าไป
ทีหลังเค้าเลิกทำแจกแล้ว
ก็ไปหาซื้อมาค่ะ


โดย: Fullgold วันที่: 11 เมษายน 2552 เวลา:23:00:10 น.  

 
ใช่แล้วค่ะ ถ่ายรูปต้องระวังค่ะ
ถ้าไม่ดีลบทิ้งไปเถอะเน่อะดีกว่าโดนฟ้องค่ะ


โดย: Fullgold วันที่: 11 เมษายน 2552 เวลา:23:04:40 น.  

 


เอาถังน้ำมาเผื่อจ้า


โดย: Em-emiley วันที่: 12 เมษายน 2552 เวลา:6:51:38 น.  

 
ยังไม่เคยมีโอกาสได้เข้าไปเที่ยวในโรงรับจำนำ ไม่ใช่อะไรหรอกค่ะ ไม่มีของมีค่า มีราคาพอจะไปตึ๊งได้เลย อิอิ

เคยถ่ายรูปโรงรับจำนำที่ฮ่องกงเก็บไว้เหมือนกัน คือมันดูเก๋า ๆ ดีอ่ะค่ะ ไม่รู้เก็บไว้ที่ไหนแล้ว ไม่งั้นเอามาเนียน ๆ โพสท์ในบล็อกนี้ได้นะเนี่ย

ตอนนี้ป้าเดซี่ยังอยู่กรุงเทพฯอยู่เลยค่ะ พรุ่งนี้เช้าถึงจะได้บินกลับฮ่องกง เพื่อนเป็นห่วงเหมือนกันนะเนี่ย ว่าจะได้กลับรึป่าว ปิดกันจัง พี่เสื้อแดง


โดย: Oops! a daisy วันที่: 12 เมษายน 2552 เวลา:17:54:33 น.  

 
มาส่งความสุขให้ในวันสงกรานต์ค่ะ


โดย: ซองขาวเบอร์ 9 วันที่: 12 เมษายน 2552 เวลา:18:40:32 น.  

 
ขอ add เป็นเพื่อนบ้านอีกคนนะคะ


โดย: ซองขาวเบอร์ 9 วันที่: 12 เมษายน 2552 เวลา:18:42:58 น.  

 
จำได้ในชีวิตเคยเข้าโรงจำนำอยู่ 2-3 ครั้ง

คือไปจำนำ และไปถ่ายของที่จำนำ


คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...


โดย: ยายเก๋า (ชมพร ) วันที่: 12 เมษายน 2552 เวลา:22:11:58 น.  

 
อ่านเรื่องโรงจำนำแล้วเกิดอารมณ์ขัน เท็จจริงไม่ทราบ เขาเล่าต่อๆกันมา วิทยุ โทรทัศน์ เสื้อสูท (เสื้อนอก) มีด ไม้ ขวาน เอาไปจำนำหมด แม้แต่ไม้ตีพริกก็นำเข้าไปจำนำด้วย เอ้อ.....ชีวิตคนยุคก่อน

แล้วปัจจุบันล่ะที่เคยเห็น นำทองไปจำนำกัน โอ๊ะ โอ๋...อย่าทำเช่นนั้นเลย ขายตามร้านทองน่าจะได้ราคากว่า ช่วงนี้บาทละตั้งหมื่นห้าหมื่นหกเห็นจะได้ ทองจะขึ้นไปถึงไหนก็ยังไม่รู้ คุณInsignia_Museum เขียนประวัติและเรื่องราวของทองหน่อยซีคะ....รออ่านค่ะ


โดย: nathanon วันที่: 13 เมษายน 2552 เวลา:1:13:05 น.  

 
เห็นหัวข้อบล๊อคแล้วอมยิ้ม ยังกะเขียนจม.ถึงแฟนเลย

ยังไม่เคยเข้าโรงรับจำนำสักที มาได้รู้รายละเอียดของธนาคารคนจนก็หนนี้แหละค่ะ

อ่านเม้นท์ของลุงแว่นแล้วแอบฮา เข้าโรงรับจำนำแล้วยังเป็นวัยสะรุ่นได้ตาหลอด 555

คุณ HoneyLemonSoda คะ เดาว่าถ้าเป็นผู้หญิงน่าจะใช้ชื่อว่าสมหญิงฮ่ะ


โดย: haiku วันที่: 13 เมษายน 2552 เวลา:18:29:34 น.  

 
สวัสดีปีใหม่ไทยครับ

ขอให้มีความสุข หัวใจสดชื่อในวันปีใหม่ไทยนะครับ...


โดย: ลุงแว่น วันที่: 14 เมษายน 2552 เวลา:6:46:51 น.  

 

สวัสดีปีใหม่จ้าาาา


โดย: Jolisa วันที่: 14 เมษายน 2552 เวลา:9:43:01 น.  

 
เข้าโรงจำนำครั้งแรก

เหมือนออกเดทครั้งแรกนะคุณ

มันกล้า ๆ กลัว ๆ อาย ๆ พิกล 555


โดย: some dance to remember วันที่: 14 เมษายน 2552 เวลา:23:50:10 น.  

 
มาเข้าโรงจำนำค่ะ

ไม่เคยเข้าไปดูข้างในเลยสักครั้ง ต้องดีใจใช่มั้ยคะ

มีอยู่ครั้งนึงสมัยเป็นนักข่าว เคยไปทำสกู๊ปเรื่องนี้ แล้วได้ไปโรงจำนำแห่งแรกของไทย

คือ โรงรับจำนำย่องเซียง มีของแปลกๆเยอะเลยค่ะ

อ่านดูที่จขบ.บอกมา จึงรู้ว่าเดี๋ยวนี้เปลี่ยนเป็น“โรงรับจำนำสำราญราษฎร์” แล้ว



โดย: ทากชมพู (ทาสบอย ) วันที่: 15 เมษายน 2552 เวลา:8:35:25 น.  

 
สุขสันต์วันสงกรานต์นะครับ

โรงจำนำกับผมคุ้นเคยกันดี เกือบๆเป็นบ้านหลังที่สอง 555


โดย: ซาตานสีส้ม IP: 125.24.86.203 วันที่: 15 เมษายน 2552 เวลา:9:59:32 น.  

 
วันหยุดสงกรานต์ไปเที่ยวไหนมาบ้างเอ่ย ??

อย่าบอกนะว่า แวะเวียนไปแถวโรงรับจำนำอีก อิอิ



โดย: Oops! a daisy วันที่: 15 เมษายน 2552 เวลา:11:48:50 น.  

 
วันหยุดสงกรานต์ปีนี้ได้แต่เฝ้าจอทีวี ว่าจะทำอะไรหลายๆอย่าง สุดท้ายไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เหตุการณ์บ้านเมืองดึงเอาเวลาไปหมดครับ

สมาชิกของบ้านทั้งหมดไปเยี่ยมญาติที่ต่างจังหวัดหลายวัน...ไม่อยากไปด้วย มีข้ออ้างว่าต้องดูแลเจ้าสี่ขาครับ


โดย: Insignia_Museum วันที่: 15 เมษายน 2552 เวลา:12:04:06 น.  

 
ถ้าไม่ได้กิจการพวกนี้ไว้ช่วยคนยากคนจน
คงมีโจรขึ้นบ้านไม่เว้นสักวัน นะคะ


โดย: จันทร์ไพลิน วันที่: 15 เมษายน 2552 เวลา:13:24:57 น.  

 
ป้าเดซี่เลือกร้านนั้นเองค่ะคุณ IM ถ้าเป็นเด็กสมัยนี้ เค้าก็เรียกว่า ร้านแนว ๆ แต่สำหรับป้าเดซี่ ร้านนี้แนวเหมือนกัน แต่เป็นแนวรถไฟฟ้านะคะ 55555


เมื่อวานยังแชทกับน้องที่ไม่ได้ไปมีตติ้งด้วยกัน เม้าท์ร้านนี้ว่า หะแรกนึกว่าของตกแต่งร้านจะเจ๋งกว่านี้นะ เอาเข้าจริง ธรรมดาอ่ะค่ะ เค้าคงเลือกข้าวของที่ทนมือทนเท้าสักหน่อย หรือไม่ก็ราคาไม่สูงนัก เผื่อโดนจิ๊ก


ยังคุยกับน้องเค้าเลยว่า อยากเอารูปของที่บ้านมาโชว์ ถ้าว่าง ๆ หารูป-ย่อรูปโพสท์กันเมื่อไหร่ จะมาเชิญคุณ IM ไปชมนะคะ



โดย: Oops! a daisy วันที่: 15 เมษายน 2552 เวลา:14:09:41 น.  

 
อยู่เฝ้ากรุงเทพฯเหมือนกันค่ะ
ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เหมือนกัน
ยกเว้นเก็บกวาดบ้าน เล็กๆน้อยๆ
กับดูหนัง ฟังเพลง อ่านนิยาย นอนตื่นสาย ค่ะ


โดย: HoneyLemonSoda วันที่: 15 เมษายน 2552 เวลา:14:21:48 น.  

 
เดี๊ยนร้องเพลงต้นตระกูลไทยตั้งแต่เด็กๆ เดี๋ยวนี้ก็ยังพอร้องได้คือจำเนื้อร้องได้ไม่หมด น่าจะเอามาร้องกันใหม่นะคะ

คิดถึงตอนเด็กๆ บ้านเมืองไม่เจริญมากมายเหมือนเดี๋ยวนี้แต่คนอยู่กันแบบพี่น้องไม่ว่าชาติใดศาสนาใด เดี๋ยวนี้ความเจริญเข้ามาทุกอย่างที่เคยเป็นแบบอดีต มันหายกันไปหมด น่าห่วงนะคะ


โดย: ซองขาวเบอร์ 9 วันที่: 15 เมษายน 2552 เวลา:20:25:51 น.  

 


โดย: Jolisa วันที่: 16 เมษายน 2552 เวลา:16:12:49 น.  

 
สวัสดีตอนเย็นค่ะ คุณ IM

อั๊พบล๊อกแล้วเข้าไปดูหน่อยนะคะ


โดย: ซองขาวเบอร์ 9 วันที่: 16 เมษายน 2552 เวลา:18:42:03 น.  

 
มาอ่านจนจบแล้วค่ะ
กางเกงจำนำได้ด้วยเหรอค่ะ

มีดอกไม้มาให้ชมที่บ้านค่ะ


โดย: Fullgold วันที่: 16 เมษายน 2552 เวลา:19:20:10 น.  

 
สวัสดีครับ

วันนี้อัพบล็อกแล้วครับ ถ้าว่างเชิญนะครับ...

อากาศช่วงนี้ร้อนกว่าช่วงสงกรานต์เยอะเลย


โดย: ลุงแว่น วันที่: 16 เมษายน 2552 เวลา:21:39:54 น.  

 
โรงจำนำเป็นดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจแห่งชาติได้เช่นกัน ผมค่อนข้างจะเห็นใจคนที่เวียนเข้าเวียนออกโรงจำนำ โดยเฉพาะช่วงนี้ใกล้เปิดเทอม คุณพ่อคุณแม่หลายคนถึงเวลาต้องแวะเวียนเข้าโรงจำนำ นักข่าว-ช่างภาพ นสพ.มักจะแวะมาด้อมๆ มองๆ เพื่อนำไปเป็นประเด็นข่าวได้เหมือนกัน


โดย: sarntee วันที่: 16 เมษายน 2552 เวลา:22:38:06 น.  

 
เคยเห็นคนเอาครกหิน ไปจำนำด้วยนะคะเราอ่ะ แต่เอ ในการ์ตูนขายหัวเราะนี่นา คิกคิก

น่าสนใจจังเลยค่ะ แนวเนื้อหาบล็อกคุณ เข้าใจนำมาอัพบล็อกค่ะ
อยากให้ทำอีกหลายๆแบบนะคะ ประวัติของอะไรอีกดีนะ

อ่านแล้วทำให้อยากไปวนเวียนใกล้ๆโรงจำนำจัง เอ๊ะ รู้สึกร้านทองจะดอกแพงกว่านะ อิอิ



โดย: ยิปซีสีน้ำเงิน วันที่: 17 เมษายน 2552 เวลา:8:52:39 น.  

 
ไม่เคยใช้บริการโรงจำนำเลย
ไม่ใช่คนมั่งมีอะไรหรอก
แค่ไม่มีให้ไปจำนำต่างหาก


โดย: (@-@) (ตาพรานบุญ ) วันที่: 17 เมษายน 2552 เวลา:11:35:34 น.  

 
มาเยี่ยมค่ะ

ถึงวันหยุดหลังวันหยุดอีกแล้ว...จะไปไหนบ้างมั้ยคะ


โดย: ทากชมพู (ทาสบอย ) วันที่: 17 เมษายน 2552 เวลา:14:59:34 น.  

 
คำพูดของคุณ IM ที่ว่า

"...ในวัยเด็ก เราเห็นว่าใหญ่โต จุคนตัวเล็กๆได้จำนวนมาก พอมาดูตอนนี้ ทำไมเล็กนิดเดียว.."

ทำให้ผมคิดถึงเพลง First of May ของ Bee Gees ที่ว่า...

"When I was small, and christmas trees were tall,..."

และที่ว่า...

"Now we are tall, and christmas trees are small.."


ทำให้คิดต่อไปได้ว่า ความใหญ่ หรือ เล็ก นั้น

แท้จริงก็หาได้มีอยู่จริงไม่ ล้วนแล้วแต่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม ทั้งในแง่ของบุคคล และเวลา คือ กาละ และเทศะ แล้วยังสัมพันธ์กับสถานะของบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วย

ของบางอย่าง ถ้าตกอยู่ในมือของคน ๆหนึ่งในสถานภาพหนึ่ง เช่น งบประมาณ 100 ล้าน ถ้าตกอยู่ในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด ก็นับว่ามากมายมหาศาล นับเป็นเงินก้อนใหญ่ได้เหมือนกัน

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ถ้าตกอยู่ในมือของนายกรัฐมนตรี ก็อาจรู้สึกเป็นเพียงงบประมาณเพียงนิดเดียว แทบไม่มีความหมายทางเศรษฐกิจเชิงมหภาพ ทั้งนี้ ก็เพราะนายกรัฐมนตรี สามารถบัญชาให้กู้เงินต่างประเทศได้ครั้งละเป็นหมื่นล้านแสนล้าน (แม้ว่ากู้แล้วยังคิดหาทางใช้หนี้ไม่เจอก็ตาม)

ดังนั้น ขนาด และปริมาณ จึงเป็นสิ่งสัมพัทธ์ ที่มีความเกี่ยวพันหลายแง่มุม หลายมิติเหลือเกิน....

น่านำไปคิดต่อได้อีกมากมาย...

หวังว่าจะได้อ่านบล็อกที่เกี่ยวกับความยิ่งใหญ่ในวัยเด็กของคุณ IM มากครับ..

รอติดตาม...


โดย: ลุงแว่น วันที่: 17 เมษายน 2552 เวลา:21:47:02 น.  

 
ได้อ่านคอมเม้นท์ของคุณลุงแว่นแล้วใจพองโตเลยครับ

ขอบคุณครับ

สมัยก่อนบ้านหลังหนึ่งอยู่กันหลายคน ทั้งลูก ทั้งหลานที่มาอาศัย ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียม ผมมักต่อต้านความไม่เป็นธรรมในระหว่างพี่น้อง ด้วยเพราะผมเกิดในลำดับท้ายๆ บางครั้งก็เกือบเอาตัวไม่รอดครับ



โดย: Insignia_Museum วันที่: 17 เมษายน 2552 เวลา:22:16:45 น.  

 
คุณ Insignia_Musium ขออนุญาตตอบคุณ haiku ในนี้นะคะ

เพราะยังสงสัยอยู่ว่า ชื่อไหนจะมาวิน
ระหว่างสมหญิง กับ สมศรี


โดย: HoneyLemonSoda วันที่: 17 เมษายน 2552 เวลา:22:18:00 น.  

 
แวะมาทักทายยามดึกค่ะ



โดย: Fullgold วันที่: 17 เมษายน 2552 เวลา:22:26:44 น.  

 
ขอบคุณนะคะ สำหรับเพื่อนที่สนับสนุนเพื่อน

มีน้องคนนึงมาบอกให้ดีใจว่า อุ่นรักป่าฝน ที่ร้านนายอินทร์แถวเดอะมอลล์ราม วางเป็นสิบ เหลืออยู่เล่มสองเล่มเอง

ก็ดีใจกะสำนักพิมพ์ด้วย

เราคนเขียนก็ดีใจค่ะที่เค้าขายได้
แต่เราเองได้ค่าเรื่องไม่กี่ตังค์ เทียบกับค่าแรง ค่าเวลาที่เสียไป รวมทั้งค่าไปนวดเพราะปวดหลังแล้ว...ขาดทุนค่ะ

แต่เราทำเพราะสนุกกับมันมากกว่า...ขอบคุณนะคะ
มีกำลังใจที่จะเขียนเรื่องใหม่ค่ะ


โดย: ทากชมพู IP: 115.67.120.9 วันที่: 18 เมษายน 2552 เวลา:7:20:09 น.  

 
สวัสดีค่ะคุณชาวคลอง ...
ไม่ได้เข้ามาซะนาน เลยปีใหม่ไทยไปนิดหน่อย
ขอให้คุณชาวคลอง มีความสุขนะคะ
สุขสันต์วันปีใหม่ไทยค่ะ ^^

เขียนได้้น่าอ่านเช่นเคย โรงรับจำนำ ไม่เคยเข้าเลย เดี๋ยวนี้ก็ไม่ค่อยเห็น เมื่อก่อนยังผ่าน ๆ บ้าง


โดย: พิม...วันวาน IP: 119.31.48.117 วันที่: 18 เมษายน 2552 เวลา:8:01:21 น.  

 
ผมไปทำบัตรประชาชนครั้งแรก ซึ่งสมัยนั้นจะได้ใบเหลืองมาถือก่อน .. ก็ฉลองด้วยการใช้ครั้งแรก.. ในโรงรับจำนำนี่แหละ
ถ้าจำไม่ผิด...น่าจะเป็นนาฬิกาของเพื่อน
ตอนนั้นผมยังเด็กและจนเกินกว่าจะมีทรัพย์สินอะไรที่ใช้จำนำได้

ที่ถูกแล้วโรงรับจำนำ ไม่ใช่ที่พึ่งของคนจนเท่าไหร่นัก..
ต้องบอกว่าเป็นที่พึ่งของคนพอมีเครื่องไฟฟ้า หรือของประดับ
จำได้ว่าของในบ้าน(ของผม) ที่ถูกเลือกให้ไปจำนำอันดับต้นๆ
มักจะเป็นเตารีดไฟฟ้า ถ้าต้องการเงินมากหน่อยก็เป็นหัวจักรซิงเกอร์ ..
ที่พึ่งยามยากจริงๆของชาวบ้านในชุมชนในสมัยของผมนั้น
น่าจะเป็นแขกเงินกู้ ที่เดินมาเก็บทุกวัน วันละ 5 บาท 10 บาท

วันนี้ได้เช็คช่วยชาติมา 2,000 บาท ..
คิดอยู่ว่าเอาไปไถ่นาฬิกามิโด้เรือนเก่า
หรือจะเอาไปซื้อไซโก้เรือนใหม่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามนโยบายของรัฐบาลดี


โดย: ซาตานสีส้ม วันที่: 18 เมษายน 2552 เวลา:12:13:02 น.  

 
สวัสดีปีใหม่ครับพี่


โดย: พยัคฆ์ร้ายแห่งคลองบางหลวง วันที่: 19 เมษายน 2552 เวลา:1:07:23 น.  

 
ไม่เคยเข้าเหมือนกันค่ะ

คงเพราะไม่มีของจะไปจำนำด้วยมั๊งคะ



โดย: หยุ่ยยุ้ย วันที่: 19 เมษายน 2552 เวลา:10:55:24 น.  

 
มาเชิญไปงานขึ้นบ้านใหม่ค่ะ

รบกวนหน่อยนะคะ จนกว่าทุกอย่างจะลงตัว


โดย: อัยย์ (นักล่าน้ำตก ) วันที่: 19 เมษายน 2552 เวลา:11:48:41 น.  

 
ถ้าจำนำพวกสร้อยคอทองคำหรือแหวน มักต่อท้ายว่ามีชำรุดเสมอ ฮ่า ฮ่า


โดย: หมูอ้วน (วันที่ท้องฟ้าแจ่มใส ) วันที่: 24 กันยายน 2552 เวลา:22:41:57 น.  

 
ขอถามที่มาข้อมูล ครับ
การรับจำนำในประเทศไทยมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ปรากฏตามหลักฐานในรัชสมัยพระบรมโกษฐ์ กรุงศรีอยุธยา ตามพระราชกำหนดที่ออกในปี พ.ศ. 2234 เรื่องการควบคุมการรับจำนำ กำหนดให้การรับจำนำกระทำในเวลากลางวัน การให้จำนำกันให้แต่คนที่รู้จักกันดี


โดย: SK IP: 202.90.6.36 วันที่: 20 พฤศจิกายน 2557 เวลา:11:37:11 น.  

 
ปรากฏตามหลักฐานในรัชสมัยพระบรมโกษฐ์ กรุงศรีอยุธยา ตามพระราชกำหนดที่ออกในปี พ.ศ. 2234 แก้เป็น พ.ศ. 2284 ที่มา อรสรวง บุตรนาค. (2542). โรงรับจำนำ. กรุงเทพ. เลิฟแอนด์ลิพเพรส.


โดย: SK IP: 202.90.6.36 วันที่: 21 พฤศจิกายน 2557 เวลา:13:55:41 น.  

 
ขอบคุณครับคุณ SK ผมได้แก้ไขปี พ.ศ. แล้วครับ


โดย: Insignia_Museum วันที่: 30 พฤศจิกายน 2557 เวลา:14:47:32 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Insignia_Museum
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 66 คน [?]




ความตั้งใจในการทำบล็อกเปลี่ยนไปตามกาลเวลา เริ่มต้นด้วยการเขียนถึงถิ่นที่อยู่ในวัยเด็ก ต่อมาเป็นเรื่องเครื่องหมายต่างๆ เรื่องศิลปะ ภาพถ่ายในยุคก่อนๆ อาหารการกิน และอะไรต่อมิอะไรที่ประสบพบเห็น สนใจอะไรขึ้นมาก็อยากรู้ให้มากขึ้น กลุ่มเนื้อหาจึงแตกแขนงไปเรื่อยๆ
New Comments
Friends' blogs
[Add Insignia_Museum's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.