Group Blog
 
 
พฤษภาคม 2551
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
19 พฤษภาคม 2551
 
All Blogs
 

หนึ่งในดำเนิน



ภาพตลาดน้ำคลองต้นเข็ม วาดด้วยสีน้ำมัน พ.ศ. 2525


ในวันเด็กราว ปี 2500-2516 น้ำจะท่วมเรือกสวนไร่นาเกือบทั้งหมดปีละครั้ง ช่วงเดือน สิงหาคมถึงตุลาคม นำสารอาหารอันอุดมสมบูรณ์มากับสายน้ำ ทำให้ผืนดินได้ปรับสภาพพร้อมปลูกพืชผักได้อีกครั้ง สมัยนั้นมะม่วงจากดำเนินฯมีชื่อเสียงมาก โดยเฉพาะ มะม่วงทองดำ, อกร่อง, หนังกลางวัน ระหว่างน้ำท่วมชาวสวนจะขาดรายได้ถึง 2-3 เดือน ได้แต่ตกปลา เก็บผักที่ขึ้นในน้ำกินไปตามเรื่อง พี่น้องผมบางคนเป็นโรคขาดอาหาร เมื่อน้ำลด ชาวสวนต้องไปกู้หนี้ยืมสิน หากมีทองก็ไปจำนำกับนายเงินกู้  นายเงินกู้บางคนเป็นคุณยายแก่ๆ พายเรือผุๆ เก็บดอกเบี้ยไปตามบ้านริมคลอง  เรือรั่วไปวิดน้ำไป

คนบางกลุ่มทำอาชีพผู้ใช้แรงงาน รับจ้างเก็บผัก ดายหญ้า โกยดิน แบก หาม การเรียกระดมพล เช่น หน้าลงสวน หรือเตรียมดินปลูกผัก จะต้องติดต่อผู้ประสานงานอีกทีเรียกว่า "เถ้า" การจ้างแรงงาน และความขยันขันแข็งจะขึ้นอยู่กับเจ้าของสวน หากเจ้าของสวนไม่นำการทำงาน ก็อู้งานกันไป ผู้ใช้แรงงาน เราเรียกว่า "แขก" คนที่ออกแขก หรือรับจ้างจะรู้ว่าบ้านไหนเค็ม บ้านไหนใจดี ลูกชาวสวนบางคนขยันขันแข็ง ไปรับจ้างทำงานในสวนอื่นก็มี ส่วนมากก็ญาติๆกันทั้งนั้น
        

อาชีพทำสวนค่อนข้างลำบากยากแค้น ยังใช้วิธีการโบราณ เหมือนพวกเขาเพิ่งจะอพยพมาจากเมืองจีนเมื่อวาน มีการทดลองใช้ยาฆ่าแมลง ปุ๋ย แบบลองผิดลองถูก หากพบว่ายาชนิดใดสามารถปราบศัตรูพืชนั้นๆได้ชะงัด ก็จะปกปิดเป็นความลับ เรียกว่าตัวใครตัวมัน ใครดีใครได้ หากใครปลูกพืชผักได้ราคาดี ปีถัดไปจะมีเพื่อนบ้านแห่กับปลูกเต็มไปหมด ราคาพืชผลตกจนแทบจะปล่อยให้ตายคาร่อง มีแต่พ่อค้าขายปุ๋ย ยาฆ่าแมลงร่ำรวย

เคยมีญาติผมปลูกมันแกว เมื่อถึงคราวจะขุดไปขายได้ ก็ไม่คุ้มทุน ราคาแค่กิโลละ 5 สตางค์ ต้องปล่อยให้เน่าตายไป ธรรมชาติของชาวสวนจึงรวมตัวกันทำกิจกรรมทางสังคมได้ยาก ยิ่งลูกหลานทิ้งถิ่นกำเนิดแล้ว โดยเฉพาะลูกหลานชาวบ้านริมน้ำที่คลองดำเนินและคลองลัดพลี  การประสานงานเพื่อประโยชน์ในทางสังคมของคนที่นี่จึงอ่อนล้า มีแต่คนแก่ที่รอวันจากไปและคนต่างถิ่นที่เข้ามาแสวงประโยชน์ ทำอย่างไรได้ หากลูกหลานไม่ทิ้งถิ่น ตลาดร้อยปีไปที่ไหนๆ ก็สู้ดำเนินสะดวกไม่ได้

อาชีพของชาวบ้านริมคลอง
เชื่อหรือไม่ว่า ชาวบ้านริมน้ำคลองดำเนินสะดวก รวมทั้งคลองลัดพลี ที่ปลูกบ้านเรียงชิดติดกันยาวเป็นกิโลเมตรนั้น ส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินของตนเอง  ทั้งๆที่หลังบ้านของทุกหลังเป็นสวนผัก ผลไม้! เขาจะเช่าบ้าน หรือเช่นที่ดินปลูกบ้าน นับถึงปัจจุบัน การเช่าที่ปลูกบ้านอาจเป็นลูกหลานรุ่นที่ 3-4 แล้ว โขคดีที่ผมเกิดในบ้านริมน้ำที่มีที่ดินและสวนของตนเอง ปัจจุบันยังมีการให้เช่าที่ดินปลูกบ้านจำนวนมากเหมือนเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว แต่ขอโทษค่าเช่าคิดแบบพี่ๆน้องๆ ไม่กล้าขึ้นราคา ปัจจุบันคิดเพียงปีละ พันกว่าถึงสองพันบาทต่อหลัง

ชาวดำเนินฯเขามีอาชีพทำอะไรกันบ้าง

ร้านขายของชำ
ร้ายของชำแบบแห้งๆก็จะเป็นพวกของที่บรรจุกระดาษสีสวยๆ เรียบร้อย สมัยนี้ดูได้ที่ตลาดร้อยปีทั้งหลาย สมัยนั้นของกินห่อกระดาษสีสวย ไม่มีการหมดอายุ หรือขนมใส่ถุงพลาสติค พวกขนมเปี๊ย ขนมปัง ผู้บริโภคจะดมกลิ่นเอาเอง และต้องคาดคะเนอยู่ในใจว่าปลอดภัยหรือไม่ มิน่าละ ตอนเด็กๆผมมักจะเป็นโรคปวดหัว ท้องเสียเป็นประจำ

ของสด เช่น น้ำปลา, เต้าเจี้ยว, เต้าหู้ แถมขายน้ำมันก๊าดด้วย  ของหลอกเด็กที่ขายดี ได้แก่ แผลงจับฉลาก ถึงกับนักเรียนหัวใสบางคนซื้อมาขายเพื่อนๆในโรงเรียน ลงทุน 1 บาทขายหมดได้ 15 บาท คนที่จับฉลากประจำ เลขที่มีรางวัลจะอยู่ตำแหน่งเดิมทุกครั้ง อาจเป็นเพราะเพลทที่ใช้พิมพ์ต้องใช้พิมพ์จำนวนมาก ไม่ค่อนเปลี่ยนบ่อยๆ 

ห้างสรรพสินค้าน้อยๆ
เมื่อปี พ.ศ. 2514 นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีการเรียนวิชาธุรกิจเบื้องต้น เครื่องคิดเลขยังไม่มีใช้ จึงเน้นการดีดลูกคิดจีนเป็นหลัก ในบทที่ว่าด้วยการจัดวางสินค้า คุณครูผู้สอนพานักเรียนไปดูร้านค้าจริงๆ ร้านหนึ่งซี่งอยู่ริมคลองดำเนินสะดวก ผมทึ่งร้านที่คุณครูพาไปศึกษาการจัดร้านมาก เพราะผมเดินผ่านร้านนี้ทุกวัน ยังไม่ทราบว่าใครเป็นเจ้าของร้าน ชื่อร้านก็จำไม่ได้แล้ว คงเป็นร้านที่จัดอย่างกรุงเทพ

เวลาเดินเข้าไปกลัวว่าจะทำของแตก ทำนองนั้น เข้าใจว่าเป็นร้านขายเครื่องใช้ทั่วไป เช่น เสื้อผ้า กระติกน้ำ ไฟฉาย ร้านนี้ในชีวิตจริงผมไม่เคยเข้าไป หรือพ่อแม่พี่น้องผมก็ไม่เคยเข้าไปใช้บริการ เข้าใจว่าเป็นร้านค่อนข้างหรู จัดเป็นระเบียบเรียบร้อย อยากให้อยู่ถึงสมัยนี้จัง แปลกไหมละครับที่ร้านค้านี้ตั้งอยู่ท่ามกลาง ชาวบ้านชาวสวนที่ไม่เคยคิดจะเข้าไปใช้บริการ ร้านค้าแห่งความฝัน!




รับเหมาของสวนไปขาย หรือตกเขียว
อาชีพนี้สร้างความร่ำรวยให้บางครอบครัว เป็นเศรษฐีในปัจจุบันก็หลายราย พืชที่สร้างความร่ำรวยให้ชาวดำเนินสมัยนั้นคือ มะม่วง หอมแดง องุ่นเขียว มะละกอ ฝรั่งเวียตนาม กล้วยไข่ กล้วยหอม การรับเหมาบางครั้งไม่ต้องใช้เงินสักแดงเดียว เพียงแต่ให้ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง แก่ชาวสวนไปใช้ก่อน หรือไม่ก็ค่าน้ำมันเครื่องรดน้ำ เมื่อออกดอกออกผล เจ้าของสวนก็จะจ้างแรงงานมาเก็บผลผลิตรวบรวมส่งเจ้าของทุน แค่นี้ก็เสร็จแล้ว หลังจากนั้นก็หักลบกลบหนี้กันไป จะเหลือกี่มากน้อยก็ต้องยอมรับ                                                                             

บรรทุกของสวนไปส่งท่ารถบรรทุกผัก
วันหยุดเสาร์อาทิตย์ ผมมักจะไปกับแม่ ผมขับเรือเปล่าไปสวนที่ปลูกพริกหยวกของชาวสวนรายหนึ่ง ซึ่งห่างจากบ้านออกไป 5 กม. เรือบรรทุกผักนี้เรียกว่าเรืออีป้าบ เป็นเรื่อแปะขนาดใหญ่  ติดเครื่อง ROTEX ท้ายเรือ เป็นเครื่องเรือหางยาวติดใบพัด ขับเรือไปแต่เช้า ถึงสวนประมาณ 09.00 น. แม่จะนั่งเลือกพริกหยวก  ช่างน้ำหนัก แล้วตีราคา แม่จะรู้ราคาดี เพราะมีของส่งไปปากคลองตลาดประจำ ตอนเย็นประมาณ 18.00 น. ผมจะขับเรือบรรทุกพริกหยวกที่บรรจุลงเข่ง ประมาณ 7-8 เข่ง  ปิดฝาเข่ง แล้วไปส่งที่ท่ารถดำเนิน มี 2 ท่า อีกท่าอยู่ที่คลองฮกเกี่ยน ส่วนท่าพจวรรณเกิดทีหลัง

การนำของขึ้นรถบรรทุก
จะมีปั้นจั่นที่ใช้เครื่องบังคับ  เกี่ยวของขึ้นไปที่ละ 2-4 เข่งจากเรือไปลงที่ท้ายรถบรรทุก บรรทุกกันจนล้นตัวรถ จนเด็กๆอย่างเราคิดไม่ถึงว่ามันจะไปถึงกรุงเทพได้อย่างไร ขณะยกของขึ้นเสียงเครื่องยนต์จะคำรามเสียงดังมาก จนลำคาญไปตามๆกัน

หลังจากส่งของหมดแล้ว คุณแม่จะไปคุยกับหลงจู้  หลงจู้จะเป็นคนรุ่นอายุ 30 กว่าๆ คล่องแคล่ว คงจะเป็นลูกจ้างของเจ้าของท่าอีกที หลงจู้จะเป็นตัวแทนของแม่ค้าปากคลองตลาดอีกที เก็บเงินจากแม่ค้าปากคลองตลาดมาจ่ายให้ผู้ส่งสินค้าทางนี้ เป็นเงินค่าพืชผักผลไม้เที่ยวที่แล้ว เขาจะตีราคามาเสร็จจากปากคลองตลาด เราชาวสวนไม่มีโอกาสต่อรอง เขาตีราคามาเท่าไร เราก็ไปตีราคาบวกกับชาวสวนอีกที

ช่วงหน้ามะม่วง ราวเดือน มีนาคมถึงพฤษภาคม มะม่วงจะเริ่มให้ผลิตผล ต้นมะม่วงจะปลูกที่คันดินรอบขนัดสวน บางสวนก็ปลูกมะม่วงเต็มพื้นที่ หนึ่งขนัดสวนมีเนื้อที่ราว 8-13 ไร่ นอกจากมะม่างของเราเองแล้ว  แม่ของผมยังรับเหมาจากน้องๆของท่าน หากน้องๆคนใดขายมะม่วงไม่ทัน ทำท่าจะเน่า เขาจะบรรทุกมะม่วงที่เหลือมาส่งที่บ้านเรากันแน่นใต้ถุนบ้าน

ขั้นตอนการจัดการมะม่วงของเราก็คือทำอย่างไรจึงจะบรรจุมะม่วงลงลังให้หมดในแต่ละวัน ต้องแบ่งหน้าที่กัน หน้าที่แรกคือเตรียมห่อถ่านแก๊สด้วยกระดาษ เข้าใจว่าเป็นถ่านหินที่มีระเหิดได้ จากหินแข็งๆ อุ่นๆ เป็นเถ้าถ่านภายใน 2-3 วัน หากถ่านหินนั้นเป็นก้อนใหญ่จะต้องใช้ค้อนทุบจนแตกเป็นก้อนเล็กๆ  การทุบถ่านหินไม่มีการใช้แว่นตาป้องกัน โชคดีที่ปลอดภัยกันทุกคน หน้าที่ต่อมาคือปูกระดาษรอบในของลังไม้ และรองลังไม้ด้วยกระดาษฝอย กระดาษฝอยนี่ป้องกันมะม่วงช้ำเวลาขนส่งไปปากคลองตลาด

หน้าที่ต่อไปคือบรรจุมะม่วงลงลัง ต้องเรียงให้สวยงาม เรียงไปได้ครึ่งหนึ่งอาจต้องใส่กระดาษฝอยแทรกลงไป ส่วนใหญ่แล้วจะรองกระดาษฝอยข้างใต้ลัง และคำนวณดูว่าซ้อนกันเท่าไรจึงไม่ช้ำ ที่ลืมไม่ได้คือคัดมะม่วงสวยๆ แต่งหน้าลัง หรืออยู่ด้านบนสุด การคิดราคาจะคิดเป็นต่อลูก แบ่งเป็นขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก กะขนาดกันเอาเอง ไม่มีมาตรฐานแต่อย่างไร  หน้าที่ต่อไปคือตอกปิดฝาลัง หน้าที่นี้หนักหนาสาหัสเอาการ มักจะให้ญาติๆที่เป็นผู้ชายที่กำลังข้อดีๆหน่อย แม่ค้าปากคลองตลาดออกค่าลังไม้                                                                                             

มะม่วงที่ขึ้นชื่อของสวนดำเนิน ได้แก่ อกร่อง ทองดำ หนังกลางวัน ส่วนมะม่วงน้ำดอกไม้มาปลูกกันมากระยะหลัง เนื่องจากเมื่อก่อนนั้นการปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้จากเมล็ดมักจะกลายพันธุ์  ซึ่งชาวสวนกว่าจะรู้ว่ากลายพันธุ์เวลาก็ผ่านไปถึง 4-5 ปี แล้ว บางต้นกลายเป็นมะม่วงเปรี้ยวไป เวลาขายเรียกว่ามะม่วงเบ็ดเตล็ด ราคาถูกมาก สำหรับมะม่าวทองดำ จะขึ้นชื่อมาก คนกรุงเทพรู้จักดี เมื่อสุกจะมีสีออกทางเหลืองเข้ม คล้ายจีวรพระ  คงจะมีปลูกเฉพาะที่ดำเนิน ส่วนอกร่องมีรสชาติหวานนุ่ม อร่อยมาก สำหรับหนังกลางวัน ผลจะยาวใหญ่ บางผลหนักเกิน 1 กิโลกรัม มีอยู่ต้นหนึ่งที่สวนของเราต้องใช้เวลาเก็บผลมะม่วงถึงครึ่งวัน ได้ถึงสองพันกว่าผล

หน้ามะม่วงจึงนำรายได้มาให้ครอบครัวเราพอสมควร หลังจากเอาน้ำลูบท้องมาช่วงหน้าน้ำ 2-3 เดือน ถึงกระนั้นก็ดี ครอบครัวเราก็มีภาระที่ต้องจ่ายในเรื่องปุ๋ย ยา ให้กับเถ้าแก่ร้านขายปุ๋ย น้ำยา ซึ่งเป็นคนที่ร่ำรวยมากในสมัยนั้น รวมทั้งต้องพยุงราคามะม่วงให้กับคุณอา คุณน้าที่มาพึ่งเรา คุณแม่จะไม่ค่อยเอากำไรจากญาติๆเลย

ร้านเครื่องเขียน
ทั้งอำเภอมี 2 ร้าน ร้านใหญ่อยู่ใกล้ที่ว่าการอำเภอ  มีเครื่องเขียนสารพัด มีคุณภาพสมกับราคา ส่วนร้านเล็กอยู่ใกล้โรงหนัง ร้านเล็กๆนี้ เราเรียกกันว่าร้านครูมนู น่าจะเป็นคุณครูที่เกษียรมาแล้ว เป็นร้านห้องแถวเล็กๆน่ารักมาก อยู่ตลาดห้องแถวใกล้ปากคลองทองหลาง  นักเรียน สมัยนั้นไม่ได้มีเงินมีทองอุดหนุนจากพ่อแม่มากนัก โอกาสที่จะเข้าร้านเครื่องเขียนเพื่อซื้อปากกา ดินสอตามที่ตัวเองต้องการนั้น ต้องเรียกว่านานๆที หรือบางทีก็ไปเดินดูและหมายตาไว้ ไม่ได้เป็นเจ้าของสักที

กระเป๋านักเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมจะเป็นรูปสี่เหลี่ยม ใส่สมุดหนังสือได้พอดีเล่ม ที่มีสัญญาลักษณ์ PANAM ได้รับความนิยมมาก ใช้กันทั้งอำเภอ ส่วนชั้นประถมจะนิยมกระเป๋าหูรูด คล้ายเป้ข้างหลัง แต่ไม่เคยสะพายหลังกันเลย  ราคาถูกมาก ใส่หนังสือปกช้ำทุกเล่นนั่นแหละ

โรงภาพยนตร์
ทั้งอำเภอมี 2 โรง ที่ท่ารถแห่งหนึ่ง อีกแห่งอยู่ใกล้คลองทองหลาง นั่นคือโรงหนังดำเนินเธียเตอร์  ชั้นล่างเป็นเก้าอี้ไม้ ชั้นบนเป็นเบาะหนานุ่ม การฉายหนังไทยบางเรื่อง คนมาดูกันมาก โรงหนังแทบแตก ราคาตั๋วหนัง ชั้นล่างคนละ 5 บาท ชั้นบนคนละ 7 บาท  


ขับเรือรับจ้าง
ในเมืองกรุงมีรถแท็กซี่ให้บริการ ที่ดำเนินมีเรือสองตอนให้บริการ เรือนี้ขณะที่ไม่เร่งเครื่อง  เมื่อนั่งลงแล้วน้ำจะปริ่มๆกาบเรือที่เดียว หากเร่งเครื่องสุดกำลังแล้วละก็ เรือจะลอยพ้นผิวน้ำ มีแต่หางเสือเท่านั้นที่จุ่มอยู่น้ำ ณ ขณะนั้น ผู้ใช้บริการ เสียวยิ่งกว่าเครื่องเล่นในสวนสนุกหลายเท่า

ส่วนเรือหางยาว จะมีเฉพาะคลองดำเนินสะดวก คิดค่าโดยสารเหมือนกับรถเมล์ปรับอากาศ คือคิดตามระยะทาง



การร่อนหาของมีค่าในลำคลอง
คนร่อนของมักมาจากถิ่นอื่น พวกเขาจะมากันหลายคน มีเครื่องมือร่อนมาพร้อม รูปร่างคล้ายกรวยขนาดใหญ่ ทำด้วยสังกะสี และตีขอบด้วยไม้ที่ปากกรวย แต่เสียใจ ใครจะมาร่อนใต้บันใดของบ้านไหน ควรมองดูให้ดี บางบ้านจะไม่ยอมให้เข้ามาใกล้บริเวณบ้านของตนเอง โดยเฉพาะบ้านคนมีสตางค์

ผมเป็นคนที่ชอบร่อนของมาก ใช้ปุ้งกี๋ โกยดินใส่แล้วกวนน้ำให้เหลือแต่สิ่งที่ตกตะกอน ได้เงินเหรียญเป็นประจำ บางครั้งไม่ต้องใช้เครื่องมืออะไร ใช้ 2 มือกอบดินแล้วกวนน้ำให้ดินละลายหายไป เมื่อแบเมือออก บางครั้งได้เงินไปกินโรงเรียนหลายบาท ผมเคยคิดว่าอนาคตอาจเอาดีทางร่อนของ


ขายของชำเรือเร่
แม่ค้ากระจาด จะพายเรือไปตลาดน้ำซื้อของช่วงเช้า หรือแวะไปตามสวนต่างๆ ซื้อผักผลไม่ลงเรือ อย่างละนิดอย่างละหน่อย ตกเย็นก็พายเรือออกเร่ขายไปตามคลอง ซึ่งมีเจ้าประจำกันอยู่ เจ๊ข้างบ้านผมทำอาชีพนี้อยู่ถึง 20 กว่าปี มีเงินเก็บเป็นถัง พ่อค้าเรือเร่บางคนมาจากต่างถิ่น ใช้เรือลำใหญ่มาซื้อผักตามสวน แล้วนำไปขายแถวอัมพวา แม่กลอง   


การจับปลา
ช่วงหน้าแล้ง มักจะเห็นคนหาปลามากันเป็นกลุ่มๆ เป็นคุณป้าซะส่วนใหญ่ ทั้งหมดใส่ชุดดำ ใช้สวิงหาปลาตามเขื่อนคลองหรือข้างตลอง เลาะไปเรื่อยๆ ทั้ง 2 ฝั่ง ที่ตะลิ่งน้ำท่วมแค่น่อง มัดตะข้องติดที่บั้นเอว เราเรียกพวกเขาว่า ลาวโซ่ง พวกเขาหาปลากันอย่างเอาจริงเอาจัง ไม่พูดจา ดูเหมือนจะไม่ค่อยได้คุยกับเจ้าของบ้านริมน้ำ เขาขยันและรวดเร็วมาก ไม่กลัวถูกหอยบาดเท้าเลย

สำหรับการทอดแห จะต้องหาชัยภูมิที่ดี บางคนนำรำข้าวปั้นเป็นลูกกลม แล้วเหวี่ยงลงไปในคลอง หรือสวนที่หมายตาไว้ พอได้เวลาสัก 2-3 ชั่วโมง ก็จะไปเหวี่ยงแหที่จุดนั้น นอกจากการทอดแหแล้วยังมีการวิดน้ำออกจากสวนเพื่อจับปลา, การยกยอในหน้าน้ำหลาก, การดักปลาด้วยตระคัด, การตกปลาด้วยเหยื่อชนิดต่างๆ เบ็ดราว ปลาที่มีมากคือ ปลากลาย ปลาช่อน ปลาตะเพียนขาว-แดง ปลาหมอ ปลาเนื้ออ่อน ปลาซิว ปลาสร้อย ปลาฉลาด ปลาดุ


อาชีพรับจ้าง
โกนดินร่องสวน หรือคันกันน้ำรอบขนัดสวน จำเป็นต้องพอกดินปีละ 1-2 ครั้งเพื่อเติมเนื้อดินที่หายไป ช่วงน้ำท่วม นักโกยดินที่เก่งๆ จะควักดินจากท้องร่องใต้น้ำ เป็นรูปสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ เหมือนลิงอุ้มแตงขนาดใหญ่ เข้าใจว่าหนักไม่ต่ำกว่า 20-30 กิโลกรัม  ก่อนที่จะยกขึ้นจากน้ำไปวางบนคันดิน แล้วลูปไปมาจนเลี่ยม

การโกยดินลักษณะนี้ เพื่อทดแทนดินที่ละลายหายไปมาก หรือดินของร่องสวนพังลงมา มีการโกนดินอีกลักษณะที่ไม่ต้องควักดินจากใต้น้ำก้อนใหญ่มากนัก ก้อนขนาดย่อมลงมา แล้วนำไปโบกริมร่องสวน ใช้ มีอลูปไล้ หรือตีแปะๆเป็นรอยมือไปทั่ว เมื่อเวลารดน้ำแล้วน้ำจะขังในคันดิน การควักดิน จะต้องกางมือระหว่างหัวนิ้วโป้งกับนิ้วทั้งสี่ ทั้งซ้ายขวา แล้วกดลงไปในดินเหลว ทำอย่างนี้ทั้งสี่ด้าน แล้วตัดด้านใต้สุด เหมือนกับเราตัดเค้ก ก็จะได้ดินเหลวอยู่ในอ้อมอก

นักโกยดินอาชีพ จะไม่ยอมทำงานแบก หาม หรืออื่นๆเลย หากดูที่มือและเท้าของพวกเขาจะมีรอบบาดแผลทั่วไปหมด ทั้งแผลเก่าแผลใหม่ ขูดขีดเต็มไปหมดอย่างกับลายแทง เพราะดินเลนใต้ลำคลองจะมีเปลือกหอยคมๆที่ตายแล้วอยู่ทั่วไป

ขุดดิน จะเริ่มใช้แรงงานขุดดินเพื่อการเตรียมปลูกผัก หรือพลิกดิน จะใช้จอบเจาะลงไปในดินและแงะขึ้นมาเป็นก้อน มักจะยืนเรียงกันเป็นหน้ากระดานขวางร่องผัก พร้อมกับด้ามจอบในกำมือ เมื่อทุกอย่างพร้อม ทุกคนจะใช้จอบขุดลงไปในดินพร้อมๆกัน แลดูสวยงามมาก การขุดดินหรือพลิกดินขึ้นมานั้นเพื่อตากแดกสักระยะ เมื่อพร้อมที่จะปลูกผัก ก็จะรดน้ำและใช้คราดพรวนดินอีกที

เก็บผัก ขอยกตัวอย่างการเก็บมะเขือ ผู้เก็บจะต้องปิดปากปิดจมูกอย่างหนาแน่น เพราะลำต้นของมะเขือจะมีฝุ่นละอองปลิวฟุ้งขณะบุกตะลุยไปในดงมะเขือ ใช้มีดเล็กๆตัดทีละลูก ลงเข่งขนาดเล็ก เมื่อเต็มเข่งก็ส่งให้คนที่ทำหน้าที่พายเรือรับเข่งจากคนตัด ล่องไปรวมกันที่บ้านเพื่อบรรจุแข่งเตรียมนำไปส่งท่ารถ เพื่อบรรทุกไปส่งให้แม่ค้าที่ปากคลองตลาดอีกที หรือขายพ่อค้าเรือเร่ที่มารับซื้อถึงบ้าน

เก็บผลไม้ การเก็บมะม่วง ใช้ทั้งตระก้อ หรือปีนขึ้นต้นไปเก็บถึงปลายกิ่ง ไม่น่าเชื่อว่าเด็กสมัยก่อน ช่วยพ่อแม่ทำมาหากินเสี่ยงชีวิตขนาดไหน เขาพร้อมที่จะตกจากยอดไม้ได้ตลอดเวลา  


ร้านเครื่องมือทำสวน
มีร้านหนึ่งอยู่ที่คลองลัดพลี ขายทุกอย่างเกี่ยวกับเครื่องมือช่าง เครื่องมือทำสวน ตะเกียง ถ้วยชามลามไห มีสารพัดสุดที่จะพรรณนา รายได้ที่ได้จากลูกค้าจะนำไปซื้อสินค้าเข้าร้าน ข้าวของเพิ่มขึ้นทุกวัน ไม่นิยมฝากธนาคาร เมื่อผมมาเรียนต่อที่กรุงเทพระยะแรกๆนั้น มักจะแวะคุยกับลูกชายเจ้าของร้าน  คนแถวนั้นคงมีความรู้สึกเหมือนกันว่าอีกไม่นาน ความเจริญทางน้ำคงจะสิ้นสุดลง คุณแม่ของเพื่อนผมคงรู้สึกเช่นเดียวกัน จึงหาที่ทางซื้อตึกแถวริมถนนเพื่อหาที่ขายสินค้าแทนที่ร้านริมน้ำ 


ปล่อยเงินกู้
อาชีพนี้คงมีมาแต่โบร่ำโบราณ คนที่ประหยัดมัธยัตถ์ของชุมชน คนก็จะรู้กันทั่วว่ามีสตางค์มาก เขาจะเป็นที่หมายปองของคนเดือดร้อนเงินทอง นั่นหมายถึง เมื่อคนไม่มีสตางค์กับคนมั่งมียินยอมพร้อมใจที่จะเป็นลูกหนี้เจ้าหนี้กันแล้ว จึงตกลงทำสัญญากู้เงินขายฝากที่ดิน และแล้วจะเกิดโศกนาฏกรรมตามมาอีกไม่นาน ดอกทบต้น ต้นทบดอก โอแม่เจ้า ไม่กี่ปีหนี้สินก็จะเบิกบานเป็นหลายเท่าของเงินที่กู้มา เผลอแผล็บเดียวที่ดินที่ขายฝากนั้นก็จะตกอยู่ในมือของผู้ให้กู้

เหตุการณ์นี้เป็นไปตามธรรมชาติอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม โถ! ชาวสวนที่ไหนจะทำรายได้ทันดอกเบี้ยอัตราชาวบ้าน ทั้งๆที่ตั้งสมมุติฐานก่อนแล้วว่าค่าแรงทั้งหมดของคนทำสวนที่ลงไปป็นศูนย์! คือรายได้จากการทำสวนไม่ต้องหักค่าใช้จ่ายกันละ ยังไม่พอใช้หนี้ คนที่ทำสวนรวยจนมีที่ดินมากสมัยเมื่อผมยังเด็ก มีคนนับหน้าถือตามาก มาวันนี้บางคนไม่มีอะไรเหลือ 


  
ให้เช่าเรือบรรทุกของ
สมัยนั้นชาวสวนจำเป็นต้องขนส่งผักหรือผลไม้จากในสวนทีละมากๆ ไปส่งขึ้นรถบรรทุก เพื่อไปส่งแม่ค้าปากคลองตลาด กทม. หรือจังหวัดใกล้เคียง จึงมีบริการให้เช่าเรือบรรทุกของรายวัน เราเรียกพวกเขาว่า เสือนอนกิน เรือให้เช่านี้เรียกว่า เรือมาด แต่ละลำบรรทุกของได้ประมาณ ครึ่งตัน ค่าเช่าเรือคิดวันละ 120 บาทต่อวัน

โรงดองผัก
โรงงานจะอยู่แถวหลักห้า ที่รู้จักดีคือโรงงานดองมะละกอ ผมเคยบรรทุกมะละกอกลม ซึ่งราคาถูก เต็มเรือมาดใหญ่ประมาณ 1,200 กิโลกรัม ไปส่งถึงโรงงาน ได้เงินมาแค่ 600 บาท ทุกวันนี้ยังไม่รูว่ามะละกอดองแล้วรูปร่างหน้าตามันเป็นอย่างไร

การศึกษา



โรงเรียนชั้นประถม
ผมเรียนที่โรงเรียนราษฏร์ ที่หลักแปด มีสอนชั้นอนุบาล 1 (ไม่มีอนุบาล 2-3) ถึง ป. 7 ส่วนหนึ่งของโรงเรียนเป็นโรงเจ  หรือจะเรียกว่าเรียนในโรงเจก็ได้ ชั้นอนุบาล 1 เรียนในห้องโถงที่มีรูปเทพเจ้าของคนจีนเก่าๆอยู่หน้าห้อง  บรือ ถ้าอยู่เย็นจนมืดค่ำจะวังเวงมาก มีการแสดงสดเกี่ยวกับงูเขียวล้วงตับตุ๊แกให้ดูเป็นประจำ ผมจำคุณครูได้คนหนึ่ง ชื่อครูสะอาด มาสอนอนุบาลแทนคุณครูประจำชั้นชั่วประเดี๋ยวเดียว คุณครูท่านนี้มักจะพูดจาไพเพราะกับเด็กๆ ซึ่งเด็กๆอย่างเราไม่ค่อยเจอ ไม่น่าเชื่อว่าตลอดชีวิตของการเป็นนักเรียน ผมสามารถจำคุณครูคนนี้ได้ติดตา มีความสุขที่ได้คิดถึงเสมอ           

เด็กนักเรียนสมัยนั้น ไม่นิยมใส่รองเท้า ส่วนใหญ่เราจะเดินบนทางเดินพื้นไม้มากกว่าพื้นปูน จะใส่รองเท้าเมื่อแต่งชุดลูกเสือ เมื่อลูกชาวสวนจะแต่งชุดลูกเสือจะถือรองเท้าไปใส่ที่โรงเรียน นอกจากการเรียนหนังสือแล้ว เรายังทำหน้าที่ภารโรงด้วย หลังเข้าแถวเคารพธงชาติ อาจเป็นตอนเช้าของวันศุกร์ คุณครูจะให้เราเข้าไปเคลียร์พื้นที่ใต้ถุนห้องเรียนที่พวกเราทิ้งขยะลงมา เดินเรียงหน้ากระดานเก็บทุกอย่างที่เราทิ้งลงมา จะทำโทษกันก็ไม่บอกตรงๆ

การเดินทางไปโรงเรียน จะนั่งเรือหางยาว โดยเอาที่นั่งผู้โดยสารออกหมดทั้งลำ เหลือแต่เรือโล่งๆ เด็กนักเรียนตัวเล็กๆจะนั่งยองๆ หันหัวเข่าชนกัน ประมาณ 45 คน กว่าจะถึงโรงเรียนตระคิวแทบจับ หากฝนตก จะทุเรศมาก เพราะคนขับเรือจะใช้ผ้าใบคุมหัวพวกเรา ตั้งแต่หัวเรือ ถึงท้ายเรือ หากมองเผินๆ เหมือนเรือบรรทุกผัก



โรงเรียนมัธยมประจำอำเภอ
มีแห่งเดียว ชื่อโรงเรียนดำเนินสะดวก"สายธรรมจันทร์" ผมจะขอเล่าบรรยากาศสมัย พ.ศ. 2514 - 2516 โรงเรียนเปิดสอนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 มีการคัดเด็กจากการสอบคัดเลือก เด็กที่ผ่านการคัดเลือกมีมากกว่าห้องเรียนที่รับได้ อย่าง ม.ศ. 1 มีห้อง  ก,ข,ค,ง,จ,ฉ และ ช. เนื่องจากมีห้องเรียนเพียง 6 ห้อง โรงเรียนใช้วิธีให้เด็กห้อง ช. เฉลี่ยไปแต่ละห้อง ห้องละเท่าๆกัน ตอนนั้นผมเรียนอยู่ห้อง ฉ.

คุณครูบางท่านในชั่วโมงสอน จะยกตัวอย่างของคนท้องถิ่นผู้ร่ำรวยและมีชื่อเสียงของอำเภอให้พวกเราฟังเสมอ เช่น เจ้าของโรงพยาบาลเอกชน คุณครูในโรงเรียนแทบไม่มีความรู้ในเรื่องของพวกเราที่เป็นชาวสวนเลย การสอนห่างไกลจากชีวิตจริงเหมือนหนังคนละม้วน ทั้งๆที่การทำสวนเป็นอาชีพหลักที่นำรายได้เข้ามาสู่ท้องถิ่นเราเป็นอันดับหนึ่ง รวมทั้งตำนานสถานที่ท่องเที่ยวที่ลื่อชื่อ



ผมมักจะค่อนข้างน้อยเนื้อต่ำใจ ถึงขนาดไม่อยากเขียนอาชีพของพ่อลงในสมุดพก เข้าใจผิดๆว่าคนค้าขายในตลาด หรือข้าราชการ มีฐานะทางสังคมดีกว่าพวกเรา ทั้งๆที่ชาวสวนที่ใส่กางเกงขาก๊วย มือไม้ขี้เล็บดำนั้น หลายครอบครัวออกจะร่ำรวย แต่ไม่มีเกียรติ การแสวงหาเกียรติของพวกเราในยุคนั้น คือ พยายามส่งลูกหลานสอบให้ได้เป็นนักเรียนนายร้อย จะได้เป็นเจ้าคนนายคน การหล่อหลอมทัศนคติของโรงเรียน จึงเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันให้ผม หรือเพื่อนๆ หายไปจากดำเนินฯ (หรือเป็นเพราะไม่มีอาชีพรองรับ) มีน้อยคนนักที่จบ ม.ศ. 3 แล้วบอกว่ากูจะไปทำสวน ซึ่งพ่อมันมอบหมายให้ดูแลต่อนั่นเอง เดาว่าหมอนั่นต้องเป็นลูกชายคนเล็กของครอบครัวด้วย

ในชั่วโมงศิลปะ จะแยกหญิงชาย คนละห้อง  มีอยู่ครั้งหนึ่งคุณครูสั่งให้ทำอะไรก็ได้มาส่ง ปรากฏว่าเด็กทำจึ๊กซอด้วยไม่ฉำฉามาส่งเกือบทั้งห้อง ทำตามๆกัน ความคิดสร้างสรรค์ที่ครูต้องการเห็น จึงเป็นหมันไป พวกเราที่เป็นนักเรียนชาย จบออกมาแล้วมีความสามารถทางหัตถกรรมแค่เลื่อยลายฉลุจากไม้ฉำฉาเป็นอย่างเดียว ความรู้ที่ได้จากอาชีพของพ่อแม่มีมากมาย แต่มิได้นำพา

เด็กที่มีแววอัจฉริยะในอำเภอของเรา โรงเรียนจะจัดรวมไว้ที่ห้อง ก. ขยันเรียนมาก เอาจริงเอาจัง ผิดกับเด็กห้องอื่น ชอบสนุกเฮฮา หรือดูค่อนข้างซื่อบื้ออะไรทำนอนนั้น

เมื่อเลื่อนขึ้นไปเรียนชั้น ม.ศ. 2  ผมอยู่ห้อง จ. จัดเป็นเด็กที่เรียนไม่ค่อยเอาไหนในสายตาของครูอีกนั่นแหละ คุณครูบางท่าน ทั้งชั่วโมงเอาแต่ชมนักเรียนห้อง ก. เสร็จแล้วก็จะบ่นว่าพวกเรา เหมือนกับพวกเรามาจากดาวอังคาร และถามพวกเราในปัญหาที่คิดว่าไม่น่าจะมีใครตอบได้ โอโฮ เพื่อนๆทั้งชั้นของเราอึดอัดตลอดชั่วโมง โชคดีที่เพื่อนผมคนหนึ่งรับอาสาตอบคำถามทุกครั้ง มันตอบแบบอ้อมๆ แอ้มๆ พออาตัวรอดแทนพวกเราไปได้ ผมยังนึกถึงบุญคุณของมันจนทุกวันนี้ หมดชั่วโมงวิชานั้น ทุกคนถอนหายใจกันเป็นแถว

ผมเลื่อนขึ้นขั้น ม.ศ. 3 จากผลการเรียนที่ดีขึ้น ของห้อง จ. ทำให้ผมถูกคัดเลือกเข้ามาเรียนในห้อง ก. ได้สัมผัสใกล้ชิดกับพวกเด็กเรียนเก่งของอำเภอ ในห้องนี้มีลูกชาวสวนน้อยมากประมาณ 3-4 คน จาก 40 คน ส่วนใหญ่ป็นลูกพ่อค้า ข้าราชการ ชาวตลาดร้านค้า เพื่อนที่นั่งติดผมเป็นลูกชาวสวนเต็มตัว ผมอายแทนมันที่ชอบทำตัวเปิ่นๆ เสียชื่อลูกชาวสวนหมด

หลังจากจบ ม.ศ. 3 โรงเรียนนี้ก็ย้ายสถานที่ตั้งไปที่แห่งใหม่ ตรงข้ามกับวัดอมรญาติสมาคม ผมมีส่วนในการช่วยขนย้ายข้าวของของโรงเรียน พวกโต๊ะ เก้าอี้... มีเรื่องน่าตื่นเต้นก่อนเรียนจบ

ผมได้ร่วมทำประโยชน์ให้กับโรงเรียนเป็นครั้งสุดท้าย ผมช่วยขนย้ายโต๊ะ เก้าอี้ จากโรงเรียนเดิมริมน้ำ ล่องเรือมาขึ้นรถบรรทุก จากท่ารถถึงโรงเรียนหลังใหม่ประมาณ 5 ก.ม. เที่ยวที่สองผมวิ่งขึ้นรถไม่ทัน เลยต้องรอพรรคพวกอยู่ที่โรงเรียนใหม่ รถจะวิ่งจากโรงเรียนใหม่มาที่ท่ารถเพื่อขนโต๊ะเก้าอี้ รออยู่นาน เพื่อนๆก็ไม่มาสักที จึงติดตาม ได้ข่าวว่ารถคว่ำระหว่างทาง เพื่อนๆเจ็บหลายคน แต่ไม่เสียชีวิต  สิ่งที่ผมอยากรู้มาตลอดจนวันนี้คือ พวกเขายังสบายกันดีอยู่หรือไม่...


ตลาดน้ำดำเนินสะดวก สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม
ยุครุ่งเรืองของตลาดน้ำ 2490-2505 ตั้งแต่คลองต้นเข็ม ถึง หน้าวัดโชติทายการาม ผมขอคัดลอกบทความจากหนังสือที่ระลึกฉลองศาลาวิชัยศีลคุณานุสรณ์ วัดหลักหกรัตนาราม เมื่อ 16 ธันวาคม 2524 เรื่องประวัติพระปลัดวรรณะ วณโณ เจ้าอาวาสวัดหลักหกรัตนาราม ดังนี้ 
"สมันก่อน (พ.ศ. 2496) เรียกตลาดน้ำดำเนินสะดวกว่า ศาลาแดง มีเรือค้าขายมากยาวเหยียดนับเป็นกิโลเลย มีเรือสำปั้นเป็นส่วนใหญ่ มีพ่อค้าแม่ค้ามากตั้งแต่ท่าจันทสุวรรโณ (ทุ่งเศรษฐี) ถึงหน้าวัดโชติทายการาม โดยเฉพาะที่หน้าวัดโชติทายการามมีปลากราย ชุมมาก เวลาพายเรือเล็ก เช่น เรือบด ปลาผุดขึ้นมาใกล้ๆ อาจเรือล่มได้ พืชผักในสมันนั้นที่เก็บไปขายก็มี พริก หอม กระเทียม  มะเขือ แตงร้าน ถั่วฝักยาว บวบ กะหล่ำปี ผักบุ้ง ผักกระเฉด สายบัว หัวปลี มะม่วง ชมภู่ ฝรั่ง กล้วย อ้อย ข้าวโพด เผือก มันเทศ มันสำปะหลัง ซึ่งเป็นของเก็บได้ที่สวน

การขายของสมันนั้น เรือเครื่องต่างๆ มีไม่มากเหมือนสมัยนี้ นานๆจะมีมาสัก 1 ลำ ประมาณ 1 ชั่วโมง จะเป็นเรือใหญ่ เรียกกันว่าเรือแดง เป็นเรือของบริษัทสุพรรณขนส่ง (พ.ศ.2496) เรือลำหนึ่งจุผู้โดยสารประมาณ 60 คน ถ้าเป็นเรือ 2 ชั้น ประมาณ 80 คน ชื่อเรือส่วนมากมักจะเป็นชื่อเรื่องในวรรณคดีเรื่องขุนช้านขุนแผน เช่น สร้อยฟ้า ศรีมาลา หลายแก้ว นางวันทอง เณรจิ๋ว เก็บค่าโดยสารหลักละ 50 สตางค์ คลองดำเนินสะดวก จากประตูน้ำบางยาง จ.สมุทรสาคร ถึงประตูน้ำบางนกแขวก จ.สมุทรสงคราม มี 8 หลัก 4 ก.ม. เป็น 1 หลัก หากนั่งเรือตลอดสายเก็บค่าโดยสาร 3.50 บาท ลดให้ 50 สตางค์ บางทีก็มีเรือใบแล่นไปตาใคลองหญ่ เพราะว่ามีเรือน้อย                                       


พ.ศ. 2498 เริ่มมีเรือแท๊กซี่ เป็นเรือที่วิ่งรับผู้โดยสารแล่นตัดหน้าเรือแดง เพราะเรือแดงมาเป็นเวลา เรือแท๊กซี่แล่นตัดหน้ามาก่อน เรือแทกซี่ลำหนึ่งจุผู้โดยสารประมาณ 30-40 คน เป็นเรือรับจ้างโยงเรือผักต่างๆเหมือนอย่างในปัจจุบัน

พ.ศ. 2502 มีเรือหางยาว 7 ที่นั่ง นั่งได้เต็มลำ 14 คน ไม่มีหลังคาผู้โดยสารต้องกางร่มเอง เป็นร่มกระดาษก็มี เมื่อมีเรือหางยาว เป็นเรือที่เล็กกว่า ค่าโดยสารก็ไล่เลี่ยกัน คนก็มานิยมลงเรือหางยาวกันมากขึ้น เห็นเรือแดงมามีคนน้อยมาก

พ.ศ.2506 เริ่มมีเรืออีซูซุมี 11 ที่นั่ง นั่งเต็มได้ 22 คน เบียดกันหน่อยประมาณ 30 คน มีหลังคาเรียบร้อยดี คนนิยมกันมากขึ้น เรือแดงมีคนลดลงมาก และเรือ 7 ที่นั่งคนก็ไม่นิยม เพราะลงเรือแล้ว เมื่อเรือวิ่งสวนกันจะเปียก คนจึงนิยมนั่งเรืออีซูซุ ในที่สุดเรือแท๊กซี่ก็ค่อยหายไป และก็ไปรับจ้างบรรทุกผ้ก โยงเรือบ้าง ว่ากันไปตามเรื่อง

พ.ศ. 2510 เริ่มมีเรือวางท้อง จุผู้โดยสารได้ประมาณ 80 คน เป็นเรือใหญ่กว่าเรืออีซุซุ ความว่องไวสู้เรืออีซูซุไม่ได้ มีคนนิยมลงประมาณปีเศษ ก็คลายความนิยม หันมานั่งเรืออีซูซุ ตามเดิม

พ.ศ.2514 เมื่อมีเรือโดยสารอื่นๆมามาก เรือเก่า เช่น เรือแดง ของบริษัทสุพรรณขนส่งก็เลิกกิจการไป มีเรือใหญ่ เรือเร็วมาวิ่งคลองดำเนินสะดวก คือเรือทรัพย์มณี เป็นเรือเร็ว มาจอดที่ใกล้วัดหลักหกรัตนารามนี้ วิ่งไปอัมพวาทุกวัน คนโดยสารนิยมอยู่พักหนึ่ง ประมาณปีเศษ ก็เลยต้องล้มกิจการไป เพราะคนนิยมน้อยลงนั่นเอง ประกอบกับรถเริ่มวิ่งได้แล้ว จากท่ารถดำเนินฯไปแม่กลอง และอัพวา

พ.ศ. 2518 เรืออีซูซุ ก็คลองตลาดเรื่อยมา มีเรืออื่นมาวิ่ง แต่คนไม่นิยม นอกจากเรือเร็ว คือเรือ 2 ตอน ใครต้องการไปไหนเร็ว หรือเข้าคลองซอยก็สะดวก ค่าโดยสากก็แพงหน่อยตามแต่ตกลงกัน เป็นเรื่องที่สะดวกและรวดเร็วทันใจผู้โดยสารดี

พ.ศ.2524 ปัจจุบันนี้ค่าโดยสารก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย จากราคา 1 บาท เมื่อ พ.ศ. 2516 ค่าเรือโดยสารจากวัดหลักหกรัตนารามไปท่ารถดำเนินสะดวก ระยะทาง 3 ก.ม. ค่าโดยสาร 1 บาท  พ.ศ. 2517 ค่าโดยสาร 2 บาท  พ.ศ. 2519 ค่าโดยสาร 3 บาท พ.ศ. 2522 ค่าโดยสาร 4 บาท พงศ. 2524 ค่าโดยสา 5 บาท

การเก็บค่าโดยสารสำหรับเรืออีซูซุดังนี้

จากประตูน้ำบางนกแขวก ถึงปากคลองกอไผ่ 3 บาท วัดโชติ 4 บาท ท่าพจวรรณ 5 บาท ท่ารถดำเนินสะดวก 6 บาท หมดเขตต้องต่อเรือใหม่ จากท่ารถดำเนินฯ ถึงศรีสุราษฎร์ 2 บาท ศาลเจ้าแม่ธรณี 3 บาท วัดอุบลวรรณาราม 4 บาท วัดหลักหกรัตนาราม 5 บาท ลี้นำฮวด 6 บาท ปากคลองกำนัน 7 บาท บ้านหมอจำลอง 8 บาท บ้านหมอยิยดี 9 บาท วัดปราสาทสิทธิ์ถึงเทพอึปถัมภ์ 2 บาท วัดปทุมทองรัตนาราม 3 บาท วัดหลักสี่ราษฏร์ราษฏร์สโมสร 5 บาท วัดธรรมจริยาภิรมย์ หรือท่ารถบ้านแพร้วไปวัดหลักสอง 5 บาท ไปถึงวัดสวนส้ม 12 บาท จากราคาเดิมเมือ พ.ศ. 2510 ราคา 3.50 บาท ปัจจุบัน พ.ศ. 2524 ราคา 38 บาท"


2505-2527 ปากคลองลัดพลี ถึงวัดสุน
ปาดคลองลัดพลี จะมีตลาดที่สร้างมาเก่าแก่ เราเรียกกันว่า"ตลาดลงยา" (สถานที่สูบฝิ่นของชาวจีนสมัยก่อน) เป็นที่ที่ฝรั่งมาเดินชมตลาด หากเดินเลยตลาดลงยาไปแล้ว ทางเดินจะแคบลง เพราะสมัยนั้นไม่ได้คำนึงถึงเรื่องการท่องเที่ยว (โปรดดูรูปท้ายบทความ)

สมัยนั้นตลาดน้ำคลองลัดพลีที่มีชีวิตชีวาอย่างสุดๆ  คนค้าขายในลำคลองไมค่อยเกี่ยวข้องกับคนบนบกนัก  เพราะพวกเขานำสินค้ามาขายแลกเปลี่ยนกันระหว่างแม่ค้าดัวยกัน หรือซื้อสินค้าจากตลาดน้ำไปเร่ขายตามลำคลองต่างๆ อาจมีชาวบ้านแถวนั้นซื้อข้าวของจากบันใดบ้านแถวนั้นบ้าง  "ตลาดลงยา"กลายเป็นพื้นที่ทองคำทันที จากร้านค้าขายของคนท้องถิ่น กลายเป็นร้านขายของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยว

เด็กแถวนั้นพูดฝรั่งกันปร๋อ คนที่ค้าขายในลำคลองจึงเป็นฉากสำคัญที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกไปโดยปริยาย โดยที่พวกเขาก็ยังงงๆ ว่าฝรั่งมาดูอะไร มีคนของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เคยมาโยนหนังสือ อ.ส.ท. ฉบับตลาดน้ำดำเนินให้กับพี่น้องที่ค้าขายกันอยู่นั้น หรืออาจมีของที่ระลึกอื่นๆให้ด้วย

ที่ทราบเพราะพี่สาวผมเป็นแม่ค้าในตลาดน้ำนั่นเอง เขาคงคิดว่าองค์ประกอบของการท่องเที่ยวที่สำคัญ คือ เรือพายแม่ค้าใส่เสื้อสีน้ำเงินตลอดคลอง ซึ่งผู้ที่พายเรือเหล่านั้นไม่ได้รับผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวสักกระผีกเดียว กลายเป็นลาภของคนบนฝั่งและบริษัททัวร์ไปเสียฉิบ ช่วงนั้นผมเป็นเด็กนักเรียนต้องเดินแอบข้างทาง ให้พวกขายของนักท่องเที่ยวยึดครองทางเดิน เหมือนกับเราไม่มีตัวตน "ตลาดลงยา" ถึงกับต่อเป็นสองชั้นเพื่อเพิ่มพื้นที่ให้นักท่องเที่ยว หลังจากนั้นไม่นานตลาดน้ำก็ร้างราไป

ช่วงเวลานั้นมีนายทุนกลุ่มหนึ่งขุดคลองเทียมขึ้นมาระหว่างคลองลัดพลีและคลองดำเนินสะดวก หวังว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ตั้งแต่ตลาดน้ำตามธรรามชาติที่ปากคลองลัดพลีหายไป(20 กว่าปีมาแล้ว) ผู้เขียนคิดว่าน่าจะเป็นการอวสานของตลาดน้ำดำเนินสะดวกซะแล้ว แต่ไม่ใช่ แม่ค้าที่ยังเหลืออยู่ล้วนสูงอายุยังคงรวมตัวกันที่คลองต้นเข็ม ตลาดน้ำคลองต้นเข็มในปัจจุบันจึงเป็นเรื่องของการสตาฟวัฒนธรรมที่กำลังหายไปให้คงอยู่เพื่อการท่องเที่ยว เที่ยวนี้คนพายเรือพอได้อานิสงค์จากนักท่องเที่ยวบ้าง


ประมาณ 2528- ปัจจุบัน คลองต้นเข็ม หรือท่ารถพจวรรณ
ตลาดน้ำดำเนินสะดวกที่ผู้คนไปเที่ยวในปัจุบันนี้ เดิมเป็นแค่ท่ารถบรรทุก ที่ชาวสวนส่งสินค้าเกษตรขึ้นรถไปขายใน กทม.หรือรับสินค้าเกษตรจากที่อื่นมาขายชาวบ้านริมคลอง ผู้เขียนเคยขับเรือไปส่งผัก, ผลไม้เป็นประจำ ต่อมามีถนนมากขึ้น ถนนเข้าถึงสวน ประกอบกับตลาดน้ำในปัจจุบันสามารถลงรถแล้วชมได้เลย ผู้เขียนยังงงอยู่ทุกวันนี้ว่า คลอง(ต้นเข็ม)เล็กๆนี่มันเป็นตลาดน้ำไปได้อย่างไร

อย่างไรก็ตาม ตลาดน้ำดำเนินฯก็ยังมีรากเหง้ายาวนานนับร้อยปี มีมนต์ขลัง เป็นตลาดน้ำที่ยังมีของจริงอยู่มาก มีเรือจากแม่ค้าที่นำผลไม้จากสวนมาขายจริงๆ หรือบางครั้งอาจรับผลไม้มาจากรถบรรทุกที่นำมาจากถิ่นอื่น เป็นอารยธรรมสุดท้ายที่ยังน่าไปชม ยังดีกว่าตลาดน้ำเกิดใหม่ที่มาจากการจ้างเรือพายเป็นรายวัน จนติดตลาดกลายเป็นที่ท่องเที่ยวโด่งดังในขณะนี้ 

อาจจะจริงที่ว่าดำเนินสะดวกอาจไม่สะดวกสมชื่อ หากเราเปรียบเทียบกับยุคปัจจุบันที่เดินทางโดยรถยนต์ คนในรุ่นพ่อแม่ เขาก็สะดวกด้วยการใช้เรือพาย เมื่อถนนยังไม่มากมายเท่านี้ ดำเนินสะดวกมีคลองซอยนับไม่ถ้วน อย่างกับตาข่าย พายเรือถึงกันหมด คนที่นี้ส่วนใหญ่เป็นคนจีน หรือลูกครึ่งไทยจีนซะส่วนมาก อาจเป็นเพราะการขุดคลองดำเนิสะดวกเชื่อมแม่น้ำแม่กลองกับท่าจีนยาว 32 กม. ใช้กรรมกรจีนจำนวนมาก ซึ่งพวกเขาอาจตั้งรกรากที่นี่เลย คนที่นี่มักรับคนต่างถิ่นง่ายๆ ถึงขนาดยอมรับเป็นผู้นำ ที่นี่จึงเป็นตำนานของเจ้าบุญทุ่มที่มาจากกรุงเทพในการเลือกตั้ง สส. สมัยนั้น

คนดำเนิน(แท้ๆ) จะไม่กินเนื้อวัว หากมีคนพายเรือขายเนื้อวัวจะประหลาดมาก ถ้าคนดำเนินจะซื้อเนื้อวัว นั่นหมายถึงซื้อไปให้สุนัขกิน เช่นเดียวกัน ช่วงกินเจแทบจะหาของกินที่ไม่ใช่เจได้เลย

ท่านผู้อ่านคงสงสัยว่าสภาพบ้านริมคลองดำเนินสะดวกและคลองลัดพลีเหมาะจะเป็นที่พักชั่วคราว หรือเดินชม มากกว่าที่นักท่องเที่ยวจะไปอุดอู้ที่ตลาดน้ำ ผู้เขียนว่าบ้านริมน้ำดังกล่าวน่าเที่ยวกว่าหลายแห่งที่ประชาสัมพันธ์เกินจริง อาจเป็นเพราะว่าคนดำเนินไม่คุ้นกับคนแปลกหน้าที่จะบุกถึงก้นครัว! แต่เรื่องอัธยาศรัยที่จริงใจนั้น สามารถสัมผัสได้

ผมอยากแนะนำคนที่ไปเที่ยวตลาดน้ำ ให้เดินข้ามคลองดำเนินสะดวกมาอีกฝั่ง แล้วเดินเลีบยคลองลัดพลี ทางเดินสะอาด ผู้คนเป็นมิตร สงบเงียบ ไม่เอิกเกริก ท่านจะพบร่องรอยตลาดน้ำที่แท้จริง ถึงจะร้างเรือแล้วก็ตาม แต่สภาพบ้านเรือนยังคงเดิม คลองลัดพลียังทิ้งรองรอยตลาดน้ำที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกในอดีด ผมเข้าใจว่าภาพถ่ายตลาดน้ำคลองลัดพลีนี้อยู่ในโปสเตอร์ หรือนักท่องเที่ยวสมัยนั้น หรืออาจดูได้จาก หนังสือนิตยสาร อสท. เล่มเก่าๆ (ภาพท้ายบทความ)

ต้องยอมรับความจริงว่า ตลาดน้ำเป็นวัฒนธรรมที่แทบไม่มีอยู่จริงในปัจจุบัน ส่วนใหญ่กลายเป็นการจัดฉากเพื่อรับนักท่องเที่ยว ตลาดน้ำใหม่ๆ ที่โด่งดังในปัจจุบันก็ใช้วิธีจ้างคนพายเรือมาก่อน เมื่อสมัยเด็กๆ ผมเคยนั่งที่หัวเรือสำปั้นของแม่ไปขายพักผลไม้ที่ตลาดคลองลัดพลี เมื่อขายหมดลำก็จะซื้อขนม หรือผลไม้อื่นๆ กลับมาบ้าน  ส่วนมากการไปขายผักหรือผลไม้ที่ตลาดน้ำจะเป็นของเล็กน้อยๆ จากสวน เช่น กล้วยน้ำว้า หัวปลี ใบโหระพา มะพร้าว หากเป็นของที่มีจำนวนมาก เช่น มะม่วงสุก จะบรรจุลังฝากรถบรรทุกไปปากคลองตลาด หรือพ่อค้าบางคนก็ใช้เรือเอี้ยมจุ้นบรรทุกล่องตามคลองดำเนินสะดวกมาขายที่บางแค สำหรับมะม่วงผมเคยมาขายกับคุณแม่ที่วัดกัลยาณมิตร ฝั่งธนบุรี ช่วงเช้าๆ ตี 3-5 มีบรรยากาศที่สนุกมาก ได้เห็นแม่ค้าหาบเร่ตัวจริงของ กทม.

เมื่อผมเข้ามาเรียนต่อใน กทม.ราวปี 2517 ตลาดน้ำดำเนินที่คลองลัดพลีก็ค่อยๆ หายไป เหลือเพียงที่คลองต้นเข็นในปัจจุบัน ผมมักอึดอัดทุกครั้งที่ใครต่อใครเข้ามาหาผลประโยชน์จากวัฒนธรรมที่กำลังสลายไปของบรรพบุรุษของคนที่นี่และของผมด้วย แม้แต่สะพานข้ามคลองก็หั่นเหลือครึ่งเดียว ต้องขอโทษแทนคนดำเนินฯ บางท่านมาแล้วไม่ประทับใจในบางเรื่อง เหมือกับแหล่งท่องเที่ยวทั่วไปที่มีทั้งข้อดีและข้อเลีย

  เป็นที่น่าเสียดายที่คนรุ่นผม หรือคนหนุ่มสาวไปแสวงหาความเจริญก้าวหน้าในต่างถิ่น ชาวสวนก็ไปทำสวนในจังหวัดอื่นกันมาก สภาพบ้านเรือนริมน้ำ ในปัจจุบันจะเหลือคนแก่รุ่นอายุเกิน 60 ปี บ้านละ 2-3 คน ซึ่งผิดกับสมัยก่อนแต่ละบ้านมีลูกมาก อยู่กันหลังละเป็นสิบๆคน เฮฮาปาร์ตี้กันสนุกมาก หากท่านผู้อ่านฟังเพลงสุรพลเกี่ยวกับดำเนิน เช่น ดำเนินจ๋า โอ้ดำเนิน จะนึกเห็นภาพในสมัยนั้นได้อย่างดี
           ผมหวังว่าวันหนึ่งพวกเราที่ห่างหายไปจากดำเนินฯ จะกลับบ้าน...






 

Create Date : 19 พฤษภาคม 2551
47 comments
Last Update : 7 พฤศจิกายน 2552 20:49:58 น.
Counter : 4782 Pageviews.

 

เข้ามาอ่านค่ะ แต่ยังอ่านไม่จบ อ่านได้แค่ครึ่งเดียวค่ะ

เดวว่างจะกลับมาอ่านต่อค่ะ

ขอบคุณค่ะ

 

โดย: โอน่าจอมซ่าส์ 19 พฤษภาคม 2551 22:32:56 น.  

 

ขอบคุณที่มีคนรักดำเนินสะดวกมากๆ อีกคน ดีใจที่มีคนรักบ้านเกิดค่ะ เราเป้นคนหนึ่งที่พยามบอกเล่าแก่ผู้คนที่สนใจ ให้รับรู้ถึงดำเนินสะดวก เราเกิดที่นี่ เรียนที่นี่ และกลับมาทำงานที่นี่ เรียนโรงเรียนสายธรรมจันทร์ด้วยค่ะ เย้ ดำเนินไม่มีวันตาย............

 

โดย: คนดำเนินเหมือนกัน IP: 61.7.155.122 22 พฤษภาคม 2551 22:48:57 น.  

 

ปัจจุบันถนนตัดผ่านชาวบ้านเลิกใช้เรือขายเรือคลองดำเนินเงียบสนิทใช้รถยนต์และมอเตอร์ไซค์

 

โดย: หน่ม IP: 222.123.93.131 31 พฤษภาคม 2551 22:26:28 น.  

 

ชาวสวนดำเนินปัจจุบันมีฐานะความเป็นอยู่ดีแล้วมักนิยมส่งลูกสาวให้เรียนสูงๆจะได้ทำงานสบายไม่ต้องลำบากทำสวนให้ลูกชายทำสวน

 

โดย: หนุ่ม IP: 222.123.93.131 31 พฤษภาคม 2551 22:33:14 น.  

 

ขอบคุณครับที่เข้ามาอ่าน และแสดงความคิดเห็น หากมีประสบการณ์อื่นๆ หรือผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ฟังเกี่ยวกับดำเนินฯ แลกเปลี่ยนกันได้ ผมจะยินดีมากครับ

 

โดย: Insignia_Museum 1 มิถุนายน 2551 12:58:02 น.  

 

อ่านแล้วประทับใจมากครับ
ผมก็เกิดที่ดำเนินฯเรียนสายธรรมจันทร์ไม่จข55
สมัยนั้นยังไม่ได้มาปลูกที่หน้าวัดอมรญาติสมาคม

แต่ไปเรียนต่อภาคค่ำที่
โรงเรียนศึกษษผู้ใหญ่วัดโชติกายการาม
เลยตัวอำเภอไปนิดหนึ่ง

คิดถึงความหลังเหมือนกัน พายเรือสำปั้นจากบ้าน
ไปจอดที่วัดอุบลฯเดินไป4กิโลตามลำคลองดำเนินฯถึงวัดโชติ
เดินกลับอีก4กิโลเมตร สรุปผมเดินวันละ8กิโลเมตร
เรียนภาคค่ำอยู่เกือบ2ปี ตั้งแต่4โมงเย็นถึง3ทุ่ม
ชีวิตวัยรุ่นยุคนั้น

 

โดย: P_ปรัชญา 28 มิถุนายน 2551 18:44:33 น.  

 

ยินดีครับที่มีคนดำเนินเข้ามาเยี่ยม และเข้ามาอ่านเรื่องเก่าๆ

 

โดย: Insignia_Museum 28 มิถุนายน 2551 20:06:36 น.  

 

ยินดีมากๆคับ ที่ยังมีพี่น้องรักบ้านเกิดตัวเอง ผมเกิดที่ ตำบลศรีสุราษฏร์ เดียวนี้ดำเนินสะดวกเจริญแล้วคับ พี่น้อง

 

โดย: เทพ IP: 124.120.34.82 9 สิงหาคม 2551 15:33:50 น.  

 

ผมได้มีโอกาสเข้ามาพบกับบทความนี้เข้าโดยบังเอิญ ต้องขอชื่นชมท่านเจ้าของ BLOG ที่เรียบเรียงเรื่องราวได้ดีมากทีเดียวครับ
ปัจจุบันผมอยู่จ.นครปฐม ต้องการความช่วยเหลือจากท่านทั้งหลายชาวดำเนินสะดวก คือผมกำลังหาซื้อเรืออีแปะจากชาวสวนที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว ขนาด 4-5 วาก็พอครับ เพื่อนำมาทำการเกษตรที่บ้านนครปฐม ไม่ทราบท่านใดพอให้คำแนะนำกับผมได้บ้างครับ

 

โดย: somsan892 IP: 117.47.62.70 13 สิงหาคม 2551 16:20:26 น.  

 

ผมเป็นเด็กดำเนินเหมือนกัน แต่จบดรุณานุเคราะห์ปี๒๕๑๖
เข้าเตรียมทหาร นายเรืออากาศ ปัจจุบันเป็น ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารอากาศไทยประจำกรุงลอนดอน คิดถึงบ้านเลยค้นหารูปภาพเกี่ยวกับดำเนินสะดวก ขอชมท่านเจ้าของบล็อกที่อุตส่าห์รวบรวมเรื่องราวและรูปภาพที่หายาก เป็นประโยชน์ต่อเด็กดำเนินในหลายช่วงหลายวัยด้วยกัน ขอบคุณครับ

 

โดย: อินทรี IP: 86.166.34.41 6 กันยายน 2551 17:21:52 น.  

 

ได้อ่านเรื่องราวในอดีตของดำเนินสะดวกด้วยความอนุเคราะห์ของคุณอินทรีที่ได้ส่งลิงค์ไปให้ ขอชมเชยผู้เขียนว่า เขียนได้ดีมาก บรรยายให้เห็นภาพอดีตชัดเจนเลย เราน่าจะเป็นรุ่นราวคราวเดียวกัน ผมเองออกจากดำเนินไปเรียนต่อกรุงเทพตั้งแต่ปี ๑๗ และย้ายไปอยู่เมืองหลวงยุโรปได้เกือบ ๒๒ ปีแล้ว คิดถึงบ้านเกิดตลอด กลับไปเมืองไทยคราใดก็ต้องไปนอนบ้านที่คลองกำนัน หลักห้า อยากกลับไปอยู่บ้าน เป็นชาวสวนที่มีความสุขเหมือนสมัยพ่อแม่
น่าจะตั้งสมาคมคนดำเนินกันนะครับ จะได้สร้างสายใยเชื่อมต่อความสัมพันธ์ เพื่อสร้างสรรค์ รื้อฟื้นดำเนินให้สดใส ชื่นบานเหมือนตอนนั่งเรือหางยาวแล้วมีละอองน้ำพัดโดนตัว คุณอินทรีช่วยเป็นหัวหอกก็จะดีนะครับ

 

โดย: ก่อบุญ IP: 217.136.26.220 7 กันยายน 2551 16:44:52 น.  

 

ผมรู้สึกยินดีมากครับ ที่คุณอินทรี และคุณก่อบุญเข้ามาอ่าน ใช่ครับเราน่าจะเป็นคนรุ่นเดียวกัน ทำให้ทราบว่าชาวดำเนินฯที่ไปอยู่ต่างถิ่น มีความเจริญกว้าหน้าในชีวิตและหน้าที่การงาน ยังคิดถึงดำเนินอยู่ ผมเองก็คิดจะกลับไปนอนฟังเสียงกบ จิ่งหรีดร้องช่วงหัวค่ำ ตอนนี้คงทำได้แค่ระลึกถึงความหลังครับ ผมอยากฟังเรื่องของคนดำเนินที่ร่วมสมัยกัน หากเป็นไปได้ช่วยเล่าให้ฟังบ้านนะครับ
ไม่แน่นะครับ หากคนดำเนินฯกลับบ้านไปช่วยกันพัฒนาท้องถิ่น อาจทำให้ความน่าอยู่กลับคืนมาก็ได้นะครับ
เดี๋ยวนี้ การพัฒนาดำเนินฯ เน้นแต่ในการหาเงินจากการท่องเที่ยว โดยไม่เข้าใจรากฐานของคนที่นี่

 

โดย: Insignia_Museum 10 กันยายน 2551 0:07:23 น.  

 

ยินดีมากๆคับ ที่ยังมีพี่น้องรักบ้านเกิดตัวเอง ผมเกิดที่ ตำบลศรีสุราษฏร์ เดียวนี้ดำเนินสะดวกเจริญแล้วครับ
ผมเป้นคนหนึ่งที่พยามบอกเล่าแก่ผู้คนที่สนใจ ให้รับรู้ถึงดำเนินสะดวก คิดถึงเพื่อนๆ สมัยเรียนมาก เชิญชวนชาวดำเนินให้สำนึกรักบ้านเกิดครับ...

 

โดย: คนรักดำเนิน IP: 203.113.0.206 22 กันยายน 2551 17:35:30 น.  

 

คนดำเนินฯ เห็นด้วยเรื่องคนนอกมากอบโกยผลประโยชน์ ท่องเที่ยว คนท้องถิ่นเป็นตัวละครโดยธรรมชาติที่น่ารัก จนเหมือนเดิม

 

โดย: ง งู IP: 58.8.174.45 30 กันยายน 2551 21:59:21 น.  

 

อาจเป็นเพราะชาวดำเนิน มีนิสัยเหมือนที่อดีตนายอำเภอท่านหนึ่งพูดว่า "เขาไม่เคยได้อะไรจากชาวดำเนินเลย" เป็นไปได้ที่ว่าเราอยู่กันอย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ยอมพึ่งใคร ยืนด้วยลำแข้งของตนเอง และไม่เคยได้รับการช่วยเหลือจากใครมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่

ดำเนินเดี๋ยวนี้เน้นการตัดถนนเข้าบ้านเป็นหลัก ห้องแถวเก่าถูกรื้อถอนไปมาก สะพานไม้ถูกรื้อกลายเป็นสะพานปูนที่เดินด้วยเท้าเปล่าไม่ได้แล้ว คลองถูกปิด หรือเหลือช่องนิดเดียวโดยถนนหลายแห่งจนจำสภาพเดิมไม่ได้

 

โดย: Insignia_Museum 3 ตุลาคม 2551 23:30:33 น.  

 

ดีใจจังที่เจอเว็บนี้ ที่มีคนมาเล่าเรื่องในอดีตของอำเภอดำเนินสะดวกให้รู้ เกิดทีหลัง จะถามคนแก่ ๆ ก็ไม่ค่อยมีเวลาไป ทำงานอยู่หน้า com.ขอบคุณผู้เขียนมาก ๆ

 

โดย: คนคลองต้นหว้า IP: 125.27.174.148 2 ธันวาคม 2551 1:06:20 น.  

 

กำลังจะไปปลูกบ้านสวนที่ดำเนินตรงข้ามวัดหลวงพ่อสดติดคลองสายใหญ่ตาคต - ดำเนิน เนื้อที่ 5 ไร่ ชอบวิถีชีวิตชาวสวนดำเนินมาก จะทำไร่นาสวนผสมตามความฝันและใช้ชีวิตพอเพียงตอนนี้รับราชการอยู่ ขอขอบคุณท่านมากที่บรรยายภาพของอำเภอดำเนินอย่างแจ่มชัด

 

โดย: สุเทพ IP: 117.47.35.155 9 ธันวาคม 2551 21:39:33 น.  

 

ยินดีกับคุณสุเทพครับที่จะไปอยู่ดำเนิน สังคมที่นั่นสงบและเรียบร้อย ปลอดภัยจากโจรผู้ร้าย ผู้คนส่วนใหญ่มีจิตใจดีครับ

 

โดย: Insignia_Museum 10 ธันวาคม 2551 7:29:19 น.  

 

หนูเป็นเด็กคลองลัดพลีค่ะ อยู่ปากคลองเลยค่ะบ้านข้าวข้าวต้มข้าวแห้งค่ะ ตอนนี้เรียนอยู่ที่ ม.พระจอมเกล้าฯ คนดำเนินแท้ๆ เลย ดีใจมากที่ยังมีคนคิดถึงดำเนินฯอยู่ค่ะ
Hareyuya@gmail.com

 

โดย: Hareyuye IP: 118.174.54.123 14 กุมภาพันธ์ 2552 21:38:14 น.  

 

ยินดีครับที่เข้ามาลงชื่อ ถ้าเป็นปากคลองลัดพลีทางบ้านลุงพกนั้นเป็นญาติกันครับ หากเป็นตลาดโรงยา ผมก็มีเพื่อนๆแถวนั้นหลายคน อย่างร้านขายยาปากคลองลัดพลีก็เพื่อนร่วมรุ่นกัน

 

โดย: Insignia_Museum 24 กุมภาพันธ์ 2552 21:58:45 น.  

 

อ่านแล้วคิดถึง ก๋งกับยาย จังเลย. คิดถึงบ้าน - เพื่อน ๆ
ที่อยู่ ว.ผ.ศ. - ส.ธ.จ.

ขอบคุณผู้เขียนที่บรรยายถึงความหลังตอนเด็ก ๆ
จำได้เสมอกับห้องส้วมที่ รร.วิชิตฯ และตลาดลงยา
แต่คุณอาจจะลืมเล่าตอนหน้าน้ำ...เขาจะมีการยกยอ...
(จับปลา) สมัยนี้ไม่ค่อยมีให้เห็นแล้ว.........
อาหารการกินของดำเนินก้อ อร่อย ๆ เช่น ข้าวแห้ง ข้าวต้ม
คนที่อื่นอาจจะไม่รู้จัก...อร่อยมาก ๆ ขอบอก อิ อิ (พูดแล้วหิว..)

 

โดย: เด็กปากคลองมอญ IP: 125.25.43.59 11 มีนาคม 2552 20:03:22 น.  

 

เรื่องยกยอนี่ที่บ้านก็เคยทำเหมือนกัน ยอมีขนาดต่างๆกันแล้วแต่ฐานะ เด็กๆต้องตื่นเช้าเพื่อมาเล่นสนุกกับการยกยอ ได้ปลามากจนต้องทำน้ำปลากินเอง เพราะเหตุที่ไม่เคยลิ้มรสน้ำปลาแท้ จึงเห็นว่าเหม็นคาว พาลจะไม่กินกัน หันไปกินน้ำปลาปลอมเหมือนเดิม สงสัยต้องเขียนเป็นซีรี่ยาวซะแล้ว

เห็นด้วยครับเรื่องข้าวแห้ง ข้าวต้ม ไม่มีที่ไหนอร่อยเท่าที่ดำเนิน น่าค้นหาประวัตินะครับ

ขอบคุณครับที่เข้ามาเยี่ยม

 

โดย: Insignia_Museum 12 มีนาคม 2552 22:59:19 น.  

 

ใครที่มีเวลาว่างกลับไปเที่ยวปากคลองลัดพลีกันบ้างนะค่ะ เดี๋ยวนี้เค้าทำตลาดใหม่ค่ะ หนูเป็นหลานก๋งหลีที่ขายข้าวต้ม ข้าวแห้ง เป็นหลานสะใภ้ก๋งหมุยลิ้มค่ะไม่รู้มีใครรู้จักบ้างมั้ยค่ะ

 

โดย: Hareyuya IP: 61.90.40.126 27 กรกฎาคม 2552 18:01:44 น.  

 

สวัสดีค่ะ อ่านดูแล้ว คุณเป็นรุ่นน้องที่ส.ธ.จ.หลายปี น่าจะรุ่นเดียวกับน้องชายเพราะเป็นรุ่นขนย้ายเหมือนกัน ดีใจที่มีคนรักบ้านเกิด ร้านค้าใกล้อำเภอชื่อร้านศิริภัณฑ์ เดี๋ยวนี้ย้ายไปอยู่ที่ตลาดท่ารถแล้ว ส่วนครูมนูก็เสียไปหลายปีแล้ว พี่อยู่บ้านใกล้ๆโรงหนังดำเนินเธียเตอร์ค่ะ ดีใจค่ะ

 

โดย: เด็กวิกเก่าดำเนินฯ IP: 125.27.178.176 28 กรกฎาคม 2552 12:12:24 น.  

 

เคยกินข้าวต้ม ข้าวแห้งเฮียหลี เวลาไปดูงิ้วที่ศาลเจ้าใกล้ปากคลองลัดพลี ขอบอก อร่อยมากๆ

 

โดย: เด็กวิกเก่าดำเนินฯ IP: 125.27.178.176 28 กรกฎาคม 2552 12:18:15 น.  

 

ดีใจครับที่มีชาวดำเนินฯมาเยี่ยม

ข้าวต้ม ข้าวแห้งเฮียหลี นี่ขอเวลานึกก่อนครับ สงสัยผมจะเด็กไป

เมื่อนึกถึงเฮียหลี ผมจะนึกถึงร้านตัดกางเกงตลาดลงยา

สำหรับวิกเก่า ผมอยากให้ภาพนั้นกลับมาอีกครั้ง
คงกลับมาได้เพียงจินตนาการ เคยไปดูหนังชั้นบน
เวลาเจอใครในโรงหนังที่รู้จัก จะทำเป็นไม่รู้จัก ไม่รู้มีเหตุผลอะไร

เมื่อไม่นานมานี้ เห็นสภาพตลาดข้างโรงหนังถึงปากคลองทองหลางทรุดโทรมไปมาก
อยากให้มีทางเดินสะดวกสบายเหมือนสมัยก่อน

มีร้านหรู ขายข้าวของเครื่องใช้ น่าจะใกล้ ธ. นครหลวง (ที่ถูกไฟไหม้) เป็นร้านที่ครูพาไปชมในชั่วโมงธุรกิจศิลป์ ใครจำชื่อร้านได้ หรือบรรยายสภาพร้านได้ ขอความช่วยเหลือด้วยครับ


 

โดย: Insignia_Museum 28 กรกฎาคม 2552 21:20:10 น.  

 

//www.oknation.net/blog/semtele/2009/01/05/entry-1 เข้าไปดูชมตลาดกันได้ค่ะ แต่มันก้เปลี่ยนไปบ้างแล้วนะค่ะ

 

โดย: Hareyuya IP: 58.8.76.148 29 กรกฎาคม 2552 14:21:48 น.  

 

ตอนนี้ลูกหลานคนดำเนินได้ร่วมกันฟื้นฟูตลาดนำดำเนินสะดวกปากคลองลัดพลีดั่งเดิมในสมัยตอนที่เราเป็นเด็กในช่วงปีพ.ศ 2500-2520 ในสโลแกน เสน่ห์แห่งสายนำเมื่อวันวาน จึงอยากได้ไอเดียของคนแต่ละรุ่น เพื่อการมีส่วนรวมในการฟื้นฟูและพัฒนาชุมชน มีข่าวแจ้งให้ทราบว่าในขณะนี้ได้มีการทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ทางเรือทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 8.00 น ของทุกอาทิตย์ บริเวณปากคลองลัดพลี ขอเรียนเชิญนะครับ



 

โดย: ลูกหลานคนดำเนิน IP: 117.47.17.213 9 สิงหาคม 2552 6:36:31 น.  

 

ร้านค้าใกล้ธนาคารนครหลวงที่ถูกไฟไหม้ ชื่อร้านสกุลพาณิชย์ ส่วนร้านที่ขายเสื้อผ้า-รับตัดเสื้อ จำชื่อไม่ได้แต่ก็จะหาข้อมูลให้นะคะ..... ฝั่งตรงข้าม ที่บริเวณปากคลองทองหลาง ในอดีตมีเรือขายก๋วยเตี๋ยวของตาเพ็กลิ้ม อร่อยมากจน มิตร ชัยบัญชา มาแวะกินบ่อยๆ ครั้งละหลายชาม จำได้ว่ามีชามตั้งเป็นเถาเลย ตอนนั้นเด็กๆจะไปดูดารากินก๋วยเตี๋ยว เป็นก๋วยเตี๋ยวที่อร่อยมากมีเนื้อปูนึ่งกับไข่ทอดหั่นเป็นเส้นๆโปะหน้ามาด้วย นอกจากนี้ยังมีก๋วยเตี๋ยวผัดไทยเจ๊จันที่อร่อยมากๆ คนเก่าๆคงจำกันได้

 

โดย: เด็กวิกเก่าดำเนินฯ IP: 125.27.178.30 13 สิงหาคม 2552 12:12:10 น.  

 

ภาพของร้านสกุลพาณิชย์ยังอยู่ในความทรงจำ มีชั้นวางสินค้าอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นตัวอย่างของร้านค้าที่จัดร้านอย่างสวยงามครับ เสียดายที่สมัยนั้นไม่มีใครถ่ายภาพไว้...

ขอบคุณ "เด็กวิกเก่าดำเนินฯ" ครับที่ช่วยถ่ายทอดความทรงจำอันทรงคุณค่านี้ไว้

 

โดย: Insignia_Museum 13 สิงหาคม 2552 22:20:38 น.  

 

วันที่ 19 กันยายนนี้ จะมีการเปิดตลาดปากคลองลัดพลี ยังไงถ้าว่าง ๆ กันก็ไปช่วยอุดหนุนให้กำลังใจกันด้วยนะค่ะ หนูขายข้าวแห้งค่ะ

 

โดย: hareyuya IP: 58.8.76.188 8 กันยายน 2552 10:22:08 น.  

 

ขอบคุณดำเนิน
ภาพเก่าตลาดน้ำ original น่าจะมีอยุ่ที่คนคลองไทย ตรงข้าม รร ดรุณา
เพราะเคยเห็นว่าเป็นคนผลิต post card
ร้าน เเสงเสน่,ดำเนินอาร์ต ก๊น่าจะมี
ผู้ถ่ายภาพบางท่านอาจเสียชีวิตเเล้ว
ไปดำเนิน อย่าลืม หาไฉร้วนกิน (หอยทอด)damnern stly
เกี้ยมอี่ ด้วยนะ จะบอกให้
///รักดำเนิน

 

โดย: ไผ่ IP: 202.149.25.225 8 กันยายน 2552 23:48:43 น.  

 

ผมดีใจเป็นอย่างมากที่เห็นคุณลงสิ่งดีๆ ให้แก่ดำเนินสะดวก โดยเฉพาะตลาดน้ำดำเนินสะดวก เป็นข้อความ"ผมหวังว่าวันหนึ่งพวกเราที่ห่างหายไปจากดำเนินฯ จะกลับบ้าน..." เป็นข้อความที่กินใจมาก ผมและกลุ่มเพื่อนๆ เป็นคนดำเนินสะดวกรักดำเนินฯ เช่นกัน พวกเราได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนฟื้นฟูตลาดน้ำดำเนินสะดวก ปากคลองลัดพี อยากให้คุณมาเป็นส่วนร่วมอีกคนหนึ่ง .....

 

โดย: โดย: บ้านชัยทัศน์ IP: 58.9.86.45 7 พฤศจิกายน 2552 0:11:26 น.  

 

อ่านเพลิน
ได้ความรู้มาก
วิถีชีวิตดั้งเดิม
และชีวิตแบบใหม่

 

โดย: สาระดี IP: 183.89.124.208 24 กรกฎาคม 2553 3:17:02 น.  

 

บ้านเราอยู่ตรงท่ารถดำเนินในสมัยนั้นอยู่ตรงหัวมุมถนน
ชื่อร้านไพบูลย์พานิชขายปุ๋ย แก๊ส เรามาอยุ่กทมนานแล้ว
ตั้งแต่จบสธจ ปี2529 คิดถึงในสมัยนั้นมาก

 

โดย: กบ IP: 58.11.150.16 1 เมษายน 2555 10:30:49 น.  

 

สวัสดีคุ่ะ
พี่ทำงานอยู่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี งานข้อมูลเป็นงานหนึ่งที่สำนักงานวัฒนธรรมต้องดำเนินการเข้ามาอ่านblogของคุณ รู้สึกว่าได้สาระดี ๆ มากมาย จึงอยากรู้จักส่วนตัวเพื่อจะได้เป็นเครือข่ายทางวัฒนธรรม อย่างน้อยมีอะไรเกี่ยวกับข้อมูลจะได้ขอแบ่งปันเพื่อพัฒนางานข้อมูลทางวัฒนธรรมของจังหวัดค่ะ

E-mail address: san19_tikky@yahoo.co.th

 

โดย: ศันสนีย์ IP: 125.27.167.247 11 สิงหาคม 2555 11:13:32 น.  

 

ยินดีครับ สำหรับข้อมูลในบล็อกนี้คุณสามารถเอาไปเผยแพร่ต่อได้ครับ

 

โดย: Insignia_Museum 11 สิงหาคม 2555 11:19:53 น.  

 

ขอบคุณมากค่ะ คุณเป็นคนดำเนินฯ อยู่แถวไหนค่ะ พี่จะสามารถสัมภาษณ์คุณได้รึเปล่า

 

โดย: ศันสนีย์ IP: 125.27.161.155 21 สิงหาคม 2555 16:07:58 น.  

 

ผมไม่ได้อยู่ดำเนินฯแล้วครับ ที่ดำเนินฯคงเหลือเพียงบ้านดั่งเดิมที่น้องสาวอยู่อาศัย ต้องขออภัยครับที่คงไม่สะดวกในการให้สัมภาษณ์

 

โดย: Insignia_Museum 21 สิงหาคม 2555 19:44:09 น.  

 

สวัสดีค่ะ เป็นคนดำเนินฯ เหมือนกันค่ะ เกิด โต เรียนที่ดำเนินค่ะ เริ่มจาก รร.อภิบาลกุลบุตร วัดอมรญาติสมาคม รร.สายธรรมจันทร ตอน ม.ศ. 1 เรียนที่วัดโชติการาม
ม.ศ. 2 -ม.ศ.3 ถึงจะมาเรียนที่ ปัจจุบันนี้ จบเท่านี้ ก็มาต่อที่กรุงเทพฯ ปัจจุบันทำงานในเครือ สยามกลการ มีครอบครัวที่กรุงเทพฯ กลับดำเนินฯ ทุกเดือน บางเดือนก็มาเกือบทุกเสาร์-อาทิตย์เลย มีแก่ยังอยู่ดำเนินฯ ต้องมาดูแลอยู่
ชีวิตการเป็นอยู่เรียบง่าย ไม่วุ่นวาย บรรยากาศดีมาก อยู่แล้วมีความสุข ไม่ได้กลับมาอยู่แค่นึกถึงยังมีความสุขเลย รักดำเนินฯมาก ๆ เลยค่ะ ชอบเล่าเรื่องดำเนิน ฯ และพาเพื่อนร่วมงานไปเที่ยวด้วยค่ะ ล่าสุดก็พาเพื่อนไปเที่ยวตลาดน้ำ เป็นคณะเลย 20คนเลย

 

โดย: bnumj IP: 58.137.83.101 14 กันยายน 2555 14:40:46 น.  

 

สวัสดีครับคุณ bnumj ถ้าเทียบกับช่วงเวลาที่ขนย้ายโต็ะ เก้าอี้จากโรงเรียนหน้าวัดโชติไปที่แห่งใหม่ และผมเป็นส่วนหนึ่งในการขนย้ายนั้น เราน่าจะห่างกันแค่ 2 ปี

เขาว่ากันว่าตลาดน้ำดำเนินฯไม่คึกคักแล้ว จริงหรือครับ

 

โดย: Insignia_Museum 14 กันยายน 2555 23:19:51 น.  

 

มีญาติอยู่ดำเนิน เตี่ยเคยพาไปตอนเล็กๆ สี่สิบกว่าปีแล้ว จำไม่ได้ว่าอยู่ตรงไหน รู้แต่วาอาเหล่าเจ็กมีสวนมะม่วงใหญ่มาก เคยไปเด็ดกิน

 

โดย: แซ่เฮ้ง IP: 124.120.219.55 10 ตุลาคม 2555 16:36:12 น.  

 

 

โดย: Insignia_Museum 20 มกราคม 2556 22:32:29 น.  

 

สวัสดีค่ะ คุณInsignia_Museum ช่วงที่ขนย้ายโต๊ะ เก้าอี้ พี่ว่าพีไม่คุ้นเลย หรือว่าพี่จบ ม.ศ.3 และมาเรียนต่อที่ กทม. แล้ว

 

โดย: bnumj IP: 58.137.83.101 1 พฤศจิกายน 2556 11:19:50 น.  

 

ผมเป็นคนดำเนินฯ เหมือนกันครับ ม.ศ.๓ เป็นลูกชาวสวน ปีการศึกษา 2516 จบ มีนาคม ปี 2517 ท่าน Insignia บรรยายได้เยี่ยมมาก อ่านแล้วคิดถึงบรรยากาศบ้านสวนเมื่อสมัยเด็กๆ บรรยายได้เห็นภาพเลย ท่านกับผมคงรุ่นใกล้เคียงกัน หรือรุ่นเดียวกันก็ได้ ตอนนี้พวกเราก็คงใกล้เกษียณกันแล้วนะครับ 1-2 กลับบ้านครั้ง

 

โดย: waipot m. IP: 125.25.69.144 7 พฤศจิกายน 2558 22:00:58 น.  

 

ยินดีครับ

 

โดย: Insignia_Museum 8 พฤศจิกายน 2558 9:38:12 น.  

 

สวัสดีครับ ท่าน Insignia_Museum
ผมเดานะครับว่าท่านน่าจะเป็น ส.ธ.จ. รุ่นเดียวกับผมหรืออาจจะเรียนอยู่ห้องเดียวกันก็ได้ เห็นว่าเข้า กทม. ปี 2517 ผมก็เข้ามาเป็นนักเรียนทหารด้วยความหวังความก้าวหน้าว่าจะได้เป็นเจ้าคนนายคนตามคำสอนของคนรุ่่นเก่าครับ ที่จะมีเงินเดือนช่วยพ่อ-แม่ มีทุนทำสวนและมีฐานะที่ดีขึ้น
อยากให้ท่านเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่อง ดำเนินบ้านเรา ให้อีก เกี่ยวกับวิถีชีวิต เช่่น ช่วงเข้าพรรษาจะมีน้ำเหนือหลากมาท่วมดำเนิน พวกเราดำเนินชิวิตอยู่กันอย่างไร
ขอขอบคุณล่วงหน้าครับ

 

โดย: waipot m. IP: 125.25.69.144 8 พฤศจิกายน 2558 14:59:09 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Insignia_Museum
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 66 คน [?]




ความตั้งใจในการทำบล็อกเปลี่ยนไปตามกาลเวลา เริ่มต้นด้วยการเขียนถึงถิ่นที่อยู่ในวัยเด็ก ต่อมาเป็นเรื่องเครื่องหมายต่างๆ เรื่องศิลปะ ภาพถ่ายในยุคก่อนๆ อาหารการกิน และอะไรต่อมิอะไรที่ประสบพบเห็น สนใจอะไรขึ้นมาก็อยากรู้ให้มากขึ้น กลุ่มเนื้อหาจึงแตกแขนงไปเรื่อยๆ
New Comments
Friends' blogs
[Add Insignia_Museum's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.