Group Blog
 
<<
มีนาคม 2555
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
22 มีนาคม 2555
 
All Blogs
 

ละครเพลงปริศนา 2555: ปริศนาในลีลาของอนงค์

นิยายที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ ละครทีวีบ่อยครั้ง แม้จะไม่ถี่เท่าคู่กรรม แต่ถือว่าเป็นนิยายที่นักอ่านรู้จักกันดี ผมทันดูสมัยเป็นหนังที่จารุณีแสดงและฉบับทีวีที่ลลิตาแสดงเป็นปริศนา

ซึ่งนานมากจนแทบจำเรื่องไม่ได้ เมื่อเป็นเวอร์ชั่นละครเพลงโดยดรีมบ็อกซ์ ราวกับตัวเองกับได้ดูของใหม่ทั้งเรื่องก็ว่าได้

ละครเปิดเรื่อง เล่าถึงความเป็นมาของเด็กที่ชื่อปริศนา ทางด้านญาติพ่อไม่รับเด็กเป็นเชื้อไข เพราะรังเกียจที่เด็กอยู่ในท้องตอนพ่อตายหรือจะด้วยแม่สะใภ้มีปมอะไรไม่ทราบได้นอกจากจะตีความว่าไม่ถูกชะตาลูกสะใภ้คนนี้จึงหาเรื่องโวยวายขึ้นมาว่าเด็กที่ออกมาเป็นลูกชู้ ปริศนาถูกส่งไปให้อาที่อยู่อเมริกาชุบเลี้ยง จนย่างสู่วัยรุ่น เธอกลับมาอยู่ที่เมืองไทย

เรื่องราวความรักของปริศนา กับชายหนุ่มผู้สูงศักดิ์ ถูกเล่าผ่านเพลง บทสนทนา โดยการแสดงทั้งหมด รวมพักครึ่ง ยาวเหยียบสี่ชั่วโมงได้

นับว่าเป็นละครที่ยาวมากเรื่องหนึ่ง หลายคนที่ที่เคยชินกับหนังละครสั้นๆ อาจจะมีอาการนั่งไม่ติด

สังเกตได้จากรอบที่ผมดู ปลายๆองก์หนึ่งมีคนเดินเข้าออกไปธุระกันพอสมควร เช่นเดียวกับท้ายองก์สองมีคนเดินออกไปให้เห็น

โดยความเคยชินละครเพลง ละครเวที มักมีการแสดงสององก์ องก์แรกจบที่ หนึ่งชม. หน่อยๆ พักครึ่งแล้วต่อ องก์สอง รวมๆประมาณ สองชั่วโมงครึ่ง เป็นมาตราฐานในการจัดการแสดงเพราะขีดจำกัดการมีสมาธิของผู้ชมโดยเฉลี่ย อาจจะมีบางเรื่องยาว สามชั่วโมง กรณีที่เรื่องยาวซับซ้อน

และบางเรื่องอาจจะต้องแบ่งเป็นสามองก์ พักสองครั้งก็ยังมี


ปริศนาฉบับนี้ ยาวไม่แพ้ละครสามองก์แบบค่อนข้างทำลายสถิติเรื่องหนึ่งทีเดียว

เหตุผลที่ละครยาวมากขนาดนี้เพราะ ผู้สร้างบท เลือกที่จะเก็บรายละเอียดของตัวละครรองๆไว้เกือบครบถ้วน

แฟนๆนิยาย น่าจะชื่นชอบที่ละครเก็บทุกเม็ด และน่าจะเพลิดเพลินกับสิ่งที่เกิดขึ้นบนเวที

แต่คนที่ไม่ใช่แฟนนิยายพันธ์แท้ อาจเกิดอาการล้าในช่วงปลายๆของการแสดงได้ ด้วยความยาวของการแสดงและ ลีลาการดำเนินเรื่องเปลี่ยนฉาก การเข้าออกตัวละคร ค่อนข้างเรื่อยๆ ไม่ฉึบฉับไวเท่าใดนัก

จากที่ดูรอบบ่ายวันอาทิตย์นั้น หากใช้การออกแบบฉาก ประสานกับการกำกับการแสดงโดยให้วิธีการเข้าออกฉากและตัวละครแสดงทั้งเรื่องโดยไม่ต้องดับไฟเพื่อเปลี่ยนฉาก หรือดับไฟลงให้น้อยครั้งที่สุด

ฉากแผ่นที่เลื่อนเข้าออกแทบไม่จำเป็น เพราะฉากเต้นรำบนเรือ มีเพียงห่วงยางไม่กี่เส้นแขวนอยู่ ดูดี และเต็มจินตนาการกว่าการใช้ฉากแผ่นเลื่อนขึ้นลงไปมา การใช้พร็อพประกอบฉากเล็กๆ ใช้เวลาน้อยในการเข้าออก

ละครน่าจะกระชับมากขึ้นกว่านี้


ข้อดีสำหรับบทที่เก็บทุกอย่างตามต้นฉบับนิยายไว้เกือบทั้งหมดนั้นจะมีความละเอียดละออของเรื่อง

ทำให้คนดูสามารถซึมซับอารมณ์ได้ไปเต็มๆตามต้นฉบับ

กรณีคนที่ชอบให้บทมีการย่อยสรุปดัดแปลง หรือมีแง่มุมใหม่ๆที่ต่างจากบทประพันธ์ ปริศนาฉบับนี้อาจจะเกิดความขัดใจบ้างไม่มากก็น้อย

ค่ายนี้เคยทำละครที่เล่าเรื่องเดิมๆแต่ประเด็นความเห็นของศิลปินผู้สร้างงานแฝงในแง่มุมต่างๆใส่ในงานตัวเอง

อย่างที่เคยทำกับคู่กรรมหรือ แม่นาค ทั้งสองเรื่องต่างมีความเห็นของศิลปินผู้สร้างงานแฝงที่ชัดเจนตรงจุดและมีพลัง เช่น ความเห็นเกี่ยวกับของสงครามกับความรักในคู่กรรม

ความเห็นเกี่ยวกับคำโบราณที่ว่าคนร้ายกว่าผี ในแม่นาค

ในละครเพลงปริศนาเน้นเรื่องความรักฉันท์หนุ่มสาว แต่ในเรื่องยังมีความเห็นแฝงหลายประเด็น อาทิความต่างของชนชั้น ความรวยความจน ค่านิยมครอบครัวในยุคสมัยนั้น การวางตัวของหญิงชายรุ่นปู่ย่าของเรา


น่าคิดว่าปริศนาเป็นชนชั้นกลางรุ่นบุกเบิกในยุคนั้นที่กล้าวางตัวแบบเป็นตัวของตัวเองมีความต่างจากคนอื่นๆ อาวุธที่ใช้ต่อสู้คือ การศึกษาจากต่างประเทศและอุดมคติที่ห้าวหาญเช่นแนวคิดเรื่องทุกคนต้องทำงานจึงจะมีคุณค่า

ประเด็นเหล่านี้ใส่ลงมาในละครจริงแต่ก็ไม่ได้ถูกขับเน้นมากเท่าไหร่ เพราะตลอดทั้งสามชั่วโมง ละครทำหน้าที่เล่าเรื่องชีวิต เส้นทางความรักของปริศนากับท่านชายพจน์แล้ว ละครยังแวะไปที่เส้นทางความรักของพี่สาวปริศนาอีกสามคน พร้อมๆกับเรื่องของฝั่งท่านชายและประวิช แถมยังมีอานนท์ เข้ามาอีกในช่วงครึ่งหลัง

รวมถึงตัวละครอย่างรตี และหม่อมแม่ที่เข้ามาสร้างสีสันเฮฮา ประเด็มเฉียบๆที่มีอยู่ในเรื่องเลยโดนกลืนหายไปกับเส้นเรื่องตัวละครที่กล่าวมาทั้งหมด


อีกจุดที่คิดว่าละครสามารถพัฒนาไปได้อีกคือบางช่วงสำคัญทางอารมณ์ ตัวละครควรจะได้ร้องเพลงออกมาเพื่อถ่ายทอดความรู้สึก เช่นตัวละครอย่างอนงค์ เมื่อประวิชขอให้เธอช่วยเป็นแม่สื่อบอกรักกับน้องสาว ท้ายฉากอนงค์ที่เจ็บปวดเพราะรักประวิชข้างเดียวน่าจะได้ร้องเพลงสักท่อนถึงความรู้สึกของเธอในตอนนั้น ซึ่งจังหวะนี้เหมาะกับเพลงที่พีคทางอารมณ์มาก แต่ในละครเราได้เห็นแค่อนงค์ทรุดตัวลงบนเก้าอี้ ร้องไห้เบาๆ ไฟบนเวทีดับตัดอารมณ์ทันที หรือตอนที่ประวิชขอให้ท่านชายพจน์เป็นพ่อสื่อบอกรักปริศนา น่าจะมีเพลงของท่านชายพจน์บอกถึงความรู้สึกตรงนี้ได้(แต่ไม่มี) เป็นหน้าที่ที่โดดเด่นของละครเพลงอีกหนึ่งหน้าที่ ที่ละครเพลงสามารถพาคนดูจะสัมผัสภายในใจตัวละครในสถานการณ์นั้นๆได้


เสียดายอีกฉากที่ไม่มีซึ่งน่าจะมีแสดงบนเวทีมากๆ(แต่ถูกข้ามไปและนำมาบอกเล่าโดยท่านชายภายหลัง) คือตอนที่ปริศนาที่หลับไม่ได้สติ ท่านชายอุ้มปริศนาไปส่งในห้องนอน

ท่านชายพจน์แอบจุมพิศปริศนาขณะหลับ หากมีฉากดังกล่าวเพิ่มมาและมีเพลงให้ท่านชายพจน์ร้องก่อนจุมพิต งานนี้หลายคนคงได้"จิกเบาะ"ในโรงแน่นอน รวมๆแล้วอาการ "คนดูจิกเบาะที่นั่ง" จากฉากรักของคู่นี้ยังน้อยไปนิด


อีกจุด ควรพาคนดูไปสู่อารมณ์จิกเบาะ แต่มันหล่นหายไปแบบน่าเสียดาย

คือฉากปิดองก์แรกที่ปริศนาขับรถไปส่งท่านชาย เป็นครั้งแรกที่ท่านชายพจน์ต้องส่งอารมณ์ด้วยเพลงว่าตนตกหลุมรักปริศนา เพราะความมีน้ำใจของนางเอก

ช่วงท่อนเพลงที่ต้องร้องเนื้อสำคัญ ตัวละครนั่งบนรถที่เคลื่อนที่ไป

การเคลื่อนของรถออกแบบให้เคลื่อนเป็นวงกลมบนเวที จังหวะที่ท่านชายร้องเพลงสำคัญนี้

รถที่นั่งกำลังตีวงหันไปด้านหลังอยู่ คนดูเห็นท่านชายหันหลังร้องเพลงตกหลุมรักปริศนา

ทำำให้พลังโรแมนซ์ในช่วงสำคัญตรงนี้เบาลงไปอย่างน่าเสียดาย


นักแสดงแม้ว่าจะมือใหม่ แต่ฝีมืการร้องผ่านทุกคน ส่วนการแสดงยังอาจจะใหม่อยู่ มีช่วงหลุด หรือจับจังหวะไม่ถูกอยู่บ้างไม่ถึงกับทำให้เสียรสละครเท่าใด การแสดงทุกคนทำได้ดีไม่หลุดจากละครดูแล้วเชื่อตาม นักแสดงบทหลักและบทรองๆลงไป หากฝึกปรือกันต่อไปเรื่อยๆทุกคนจะมีฝีมือและเป็นนักแสดงละครเพลงที่มีคุณภาพในอนาคต ส่วนนักแสดงเก๋าเกมส์อย่างนรินทร์หรือนักแสดงในบทแม่จังหวะไม่มีที่ติ คุมฉากที่ตัวเองแสดงได้อยู่หมัด อีกคนที่โดดเด่นคือ นักแสดงในบท รตี ที่รับส่งกับนักแสดงชั้นครูอย่างนรินทร์ได้ลงตัว

ทุกคนทำหน้าที่ให้ความบันเทิงอย่างเต็มความสามารถ


ถ้ามองถึงความบันเทิงละครเรื่องนี้สร้างความบันเทิงแนวสุขนาฎกรรมได้ครบถ้วน

บทสนทนาทำได้มาตราฐาน ที่โดดเด่นมากคือการใส่มุขตลกลงไปในบทสนทนา โดยที่ความตลกนั้นเป็นเหตุผลรับส่งในเรื่อง ตลกแล้วยังเชื่ออยู่ในละครเรื่องยังเดินอยู่ คนเขียนบททำตรงนี้ออกมาโดดเด่นมาก

เพลงที่แต่งโดดเด่นไม่แพ้มุขตลกที่บรรจงใส่ เพลงเล่าความเป็นไปและมีความไพเราะติดหูทุกเพลง

ดนตรีประพันธ์ได้บรรยากาศของยุคสมัยนั้น

เสียดายที่น่าจะมีเพลงเพิ่มให้ตัวละครบางตัวในช่วงที่เหมาะๆได้อีกอย่างที่แจงไว้ในย่อหน้าบนๆ

น่าจะทำให้ละครเพลงเรื่องนี้มีความสมบูรณ์กว่านี้


เมื่อผู้สร้างเลือกที่จะเก็บทุกเม็ดของหนังสือ ลีลาของปริศนาฉบับละครเพลง จึงออกไปทางผู้หญิงเรียบร้อย เรื่อยๆ

บทประพันธ์ว่าอะไรมาว่าตามกัน ผมเลยนึกถึงตัวละครอย่างอนงค์ในเรื่องขึ้นมา

นับเป็นปริศนาในลีลาของอนงค์ แต่ถ้าเป็นปริศนาในแบบของปริศนา ลีลาของเรื่องน่าจะฉูดฉาด กล้าได้กล้าเสีย มีความเป็นตัวของตัวเองต่างไปจากที่เห็นในเวอร์ชั่นนี้


โดยรวมเรื่องนี้เป็นละครย้อนยุค ให้ความบันเทิง สนุกสนาน เฮฮา ชวนฝัน เทียบกับละครโปรดักชั่นก่อนหน้าของอีกคณะหนึ่ง เรื่องนี้น่าพอใจกว่าทั้งบทตลกทำได้ฉลาดทำ ภาพรวมลงตัวกว่า (ยาวกว่า อุอุ)และราคาบัตร ละครเรื่องก่อนราคาบัตรเฉลี่ยแพงกว่ากลับไม่ใช้ดนตรีสด เรื่องนี้ดนตรีสดเห็นๆ ราคาบัตรถูกกว่า ทั้งๆที่ขนาดโปรดักชั่นพอๆกัน

________________________________________________________________


มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ในพระราชูปถัมภ์ฯ ร่วมกับ ซีพีเอฟ และทรูวิชั่นส์

ภูมิใจเสนอ ละครเพลง รักโรแมนติก “ ปริศนา เดอะมิวสิคัล “

สร้างสรรค์โดย ดรีมบอกซ์


แสดงวันที่ 16-17-18, 23-24-25 มีนาคม 2555 ณ โรงละคร เอ็มเธียเตอร์ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่




 

Create Date : 22 มีนาคม 2555
0 comments
Last Update : 22 มีนาคม 2555 12:27:35 น.
Counter : 2924 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


kinglear
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add kinglear's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.