++ เก็บความรู้เอามาเล่า เก็บความรักเอามาฝาก ++

กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีการเผยแพร่

Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2553
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
19 กรกฏาคม 2553
 
All Blogs
 

วิถีชาวนาไทย การอยู่รอดในยุคการเปลี่ยนแปลง

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (16 ก.ค.) ที่ห้องประชุมกรมส่งเสริมการเกษตรชั้น 5 ได้มีการเสวนา เรื่อง วิถีชาวนาไทย การปรับตัว การอยู่รอด และศักดิ์ศรีในยุคการเปลี่ยนแปลง

โดยมีวิทยากรผู้เข้าร่วมเสวนา 3 ท่าน คือ

คุณชัยพร พรหมพันธุ์ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ปี 2538



คุณเชาว์วัช หนูทอง วิศวกรผู้พลิกผันตัวเองไปเป็นชาวนา ต้นแบบการทำนาโยน



คุณอดุลย์ โคนพันธุ์ เกษตรกรรุ่นใหม่ที่หันกลับไปสนใจนา และวิถีธรรมชาติแบบไร้สารพิษ



ดำเนินรายการเสวนาโดย รศ. บำเพ็ญ เขียวหวาน จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช



วิทยากรทั้งสามท่าน ได้เล่าถึงประสบการณ์ในการทำนาของแต่ละท่าน
ซึ่งผ่านความยากลำบากมาจนกระทั่งประสบความสำเร็จ

ปัจจัยที่ทำให้ทั้งสามท่าน ผ่านพ้นวิกฤติมาได้สรุปโดยรวม ดังนี้ คือ

1. ช่างสังเกต
ต้องเอาใจใส่ สังเกตในสิ่งที่ทำ อย่างเช่น คุณชัยพร พบว่า ยาฆ่าเพลี้ยที่ได้รับการส่งเสริมให้ฉีดในนาข้าวนั้น ทำให้ตัวห้ำตัวเบียนอย่างแมงมุม ที่อยู่ในนา ตกลงไปตายในน้ำหมด ซึ่งจะทำให้เพลี้ยยิ่งระบาดมากยิ่งขึ้น คุณชัยพร จึงดัดแปลงและทดลองใช้สารจากสมุนไพรธรรมชาติ ได้แก่ สะเดา ข่า ตะไคร้ ผสมกัน แล้วฉีดพ่นในนาข้าวแทนการใช้ยาฆ่าเพลี้ยซึ่งก็ได้ผลดีในระดับหนึ่ง

หรือจากการสังเกตนาของเพื่อนบ้าน ที่ถูกเพลี้ยระบาดจนเพื่อนบ้านถอดใจ ละทิ้งนาไป แต่เมื่อมีน้ำขังในนา ข้าวก็กลับงอกขึ้นมาได้ใหม่ แม้จะต้นเตี้ยลงกว่าเดิม แต่ก็ได้ผลผลิตเป็นที่นาพอใจ โดยไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลงและปุ๋ย
เป็นการลดต้นทุนได้มาก คุณชัยพรจึงนำมาทดลองใช้กับนาข้าวของตนเอง และได้ผลที่ดี

คุณเชาว์วัช เอง ก็สังเกตจากการทำนาของที่บ้าน ก่อนจะดำนา ชาวนามักจะเอาต้นกล้า มาฟาดเอาดินออกก่อน ซึ่งทำให้ข้าวช้ำ กระทั่งวันหนึ่ง คุณเชาว์วัชได้ดูข่าวของสมเด็จพระเทพฯ เสด็จไปโรงเรียนนายร้อยฯ เพื่อทำนา และเห็นว่าท่านโยนข้าวลงปลูกในนา คุณเชาว์วัชจึงได้ค้นคว้าข้อมูลจนพบว่ามีการปลูกข้าวโดยวิธีโยนข้าว และพัฒนาปรับปรุงนำมาใช้จนได้ผลดีมากในปัจจุบัน

คุณอดุลย์ สังเกตเห็นว่า ชาวบ้านทำข้าวอินทรีย์ ราคาดีกว่า แต่ก็ยังไม่พ้นหนี้ ทั้งนี้เพราะผลผลิตยังไม่ได้คุณภาพ และชาวบ้านติดอบายมุข ทั้งเหล้า และหวย จึงหาทางแก้ไขโดยการรวมกลุ่มเกษตรกร เพื่อช่วยเหลือกันในเรื่องการผลิต และพากันออกจากอบายมุขด้วย

2. พึ่งพาตนเอง

ทั้งสามท่าน ได้ให้ความเห็นตรงกันว่า การจะทำนาให้ได้ผลผลิตแล้วมีกำไรนั้น ต้องพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด เป็นเจ้านายตนเอง และเป็นลูกจ้างตนเองในเวลาเดียวกัน เพราะการพึ่งพาตนเองนั้น จะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้อย่างมหาศาล ทั้งค่าปุ๋ย ค่ายาฆ่าแมลง และยังช่วยให้ได้ผลผลิตมากกว่าการจ้างแรงงานมาช่วยไถหว่าน เพราะเจ้าของนาย่อมมีความประณีตในการทำมากกว่า

ทั้งนี้รวมถึงเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ที่ทั้งสามท่าน ดัดแปลงใช้เอง เพื่อทุ่นแรงในการทำนา และประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อเครื่องจักรขนาดใหญ่

3. มีการจัดการที่ดี

การทำนาจะได้ผลดี ต้องมีการวางแผนการผลิต ทั้งเรื่องการเลือกพันธุ์ข้าวที่จะปลูกที่มีราคาดี กำหนดตลาดที่ชัดเจน เช่น จะทำข้าวพันธุ์ราคาสูง เพื่อขายตลาดบน หรือจะทำข้าวพันธุ์เฉพาะ เช่น ข้าวหอมนิล ข้าวสังข์หยด เพื่อกำหนดราคาขายได้เอง

หรือการกำหนดเวลาปลูก จะปล่อยน้ำเข้าเพื่อคุมหญ้าตอนไหน จะปล่อยน้ำออกเพื่อคุมเพลี้ยตอนไหน

ที่สำคัญคือต้องทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อจะได้ทราบว่า เงินทองรั่วไหลไปทางไหนบ้าง หรือมีค่าใช้จ่ายในส่วนไหนที่จะปรับลดลงได้ ต้นทุนที่แท้จริงของการผลิตอยู่ที่เท่าไหร่

ท้ายที่สุด คุณเชาว์วัช ได้อธิบายวิธีการทำนาโยน ซึ่งยังใหม่สำหรับเมืองไทย แต่ใช้กันมานานในประเทศญี่ปุ่น และจีน

นาโยนนี้ จะช่วยให้เกษตรกรประหยัดเวลาในการปลูกข้าว และผ่อนแรงในการทำนาลงไปได้บางส่วน ทั้งต้นกล้ายังไม่ช้ำ จึงไม่ต้องเสียเวลาฟื้นตัว

เริ่มจากการเลือกพันธุ์ข้าว ซึ่งคุณเชาว์วัชเอง เลือกปลูกข้าวหอมนิล ซึ่งได้ราคาถึงกิโลกรัมละ 60 บาท

จากนั้นก็ล้างทำความสะอาดเมล็ดข้าว เลือกเอาเมล็ดที่ ลีบ ลอย ออก
แช่ข้าวในเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า เพื่อควบคุมเชื้อรา แล้วบ่มทิ้งไว้ 1 คืน จนเกิดเป็นตุ่มตางอก

ทำการเพาะกล้า โดยการใช้ถาดเพาะซึ่งเป็นหลุมเล็กๆ หยอดดินลงไปก้นหลุมแล้วหยอดเมล็ดข้าวลงไปหลุมละ 4-5 เมล็ด โรยดินทับ
ซึ่งขั้นตอนนี้ คุณเชาว์วัชได้ออกแบบดัดแปลงเครื่องมือช่วยในการหยอดเมล็ดขึ้นเพื่อลดเวลาในการหยอดเมล็ดด้วย



จากนั้นเก็บถาดเพาะกล้าไว้ในโรงเพาะข้างบ้าน ปิดทับด้วยกระสอบข้าวหรือสแลนพลาสติก รดน้ำเช้าเย็น เป็นเวลา 15 วัน

พอข้าวโตสูงประมาณคืบหนึ่ง ก็ถอนกล้า (ควรทำเวลากลางคืน)
เช้าวันรุ่งขึ้น ก็นำต้นกล้าไปโยนในนาซึ่งไถเตรียมและมีน้ำขังไว้แล้ว

การโยนกล้านี้ จะทำได้รวดเร็วกว่าการดำนา และทำได้ง่ายกว่า
อีกทั้งการเพาะกล้าในโรงเรือนก่อน ก็ช่วยให้ย่นระยะเวลาในการทำนาในแปลงนาได้ ทำให้คุณเชาว์วัชสามารถทำนาได้ปีละสี่ครั้งเลยทีเดียว

ทั้งนี้ หากเกษตรกรท่านใด สนใจการปลูกข้าวด้วยวิธีการโยนข้าว สามารถปรึกษาคุณเชาว์วัช ได้ที่ศูนย์เรียนรู้เครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษละโว้ธานี จ.ลพบุรี หมายเลขโทรศัพท์ 081-431-2991

หากชาวนาไทยรู้จักคิด และหาทางปรับตัว ทางออกของชาวนาไทย คงไม่มืดมนจนเกินไปนัก




 

Create Date : 19 กรกฎาคม 2553
0 comments
Last Update : 19 กรกฎาคม 2553 11:00:15 น.
Counter : 1275 Pageviews.


เก็บมาบอก
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add เก็บมาบอก's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.