katchan...in a nutshell... A blog that marks my journey of growth...
Group Blog
 
<<
เมษายน 2552
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
28 เมษายน 2552
 
All Blogs
 
1) Kun Iam Temple @ Macau

ไปฮ่องกงรอบนี้ตั้งใจจะแวะไป Macau เพื่อไหว้เจ้าแม่กวนอิมที่วัด Kun Iam เพราะครั้งก่อนที่มาเที่ยวมาเก๊ายังไม่ได้มีโอกาสแวะมาเลย
การเดินทางข้ามไป Macau สามารถใช้บริการเรือสองสายคือ

First Ferry บริการเรือคาตามารัน เปิดให้บริการเดินเรือระหว่างท่าเรือ (HK) Ferry Terminal ที่จิมซาจุ่ย และท่าเรือมาเก๊า ใช้เวลา~ 70 นาที เริ่มให้บริการตั้งแต่ 7.00 น. – 24.00 น. (www.nwff.com.hk)
TurboJET ให้บริการเดินเรือระหว่างท่าเรือ Hong Kong Ferry Terminal และท่าเรือ Macau Ferry Terminal รวดเร็วกว่า ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 45 นาทีและ เปิดทำการตลอด 24 ช.ม. สามารถเช็คตารางเดินเรือ และโปรโมชั่นต่างๆ ได้ที่ www.turbojet.com.hk เราเลือกสาย Turbo JET นี้เพราะต้องการประหยัดเวลาในการเดินทาง

การเดินทางไปท่าเรือ: จาก MTR สายน้ำเงิน ลงสถานี Sheung Wan เดินไปที่ ตึก Shun Tak (มีทางเชื่อม Shueng Wan – Shun Tak อยู่ใต้ดิน) ซื้อตั๋ว Turbo Jet ได้ที่นั่น ราคาตั๋วไปกลับต่อคน คนละ HKD246 (ขาไป 119 @9.00 am ขากลับ 127 @ 6.00 pm)

ผ่านกระบวนการตรวจ passport และ immigration ก็ขึ้นเรือได้
ที่นั่งสบาย มีอาหารและเครื่องดื่มไว้บริการตามสั่ง แต่เราไม่ได้ใช้บริการเพราะพกข้าวปั้นไปทานกันบนเรือเป็นข้าวปั้นสามเหลื่ยมไส้แซลมอน และ ทูน่า พร้อมกาแฟสตาร์บัคส์ ตบท้ายด้วย โมจิญี่ปุ่น และขนมญี่ปุ่นห่อใบซากุระ (คนขายบอกปีนึงมีขายเพียงครั้งเดียวในฤดูซากุระบาน) ทั้งหมดซื้อจาก Citi Super ที่ Harbour City คืนก่อนหน้านี้ในราคารวม HKD80


อิ่มพอดีก็ถึงที่หมายที่ท่าเรือ Macau Ferry Terminal เตรียมมุ่งหน้าสู่ Kun Iam Temple

วัดพระโพธิสัตว์กวนอิม Kun Iam Temple (普济禅院)
ที่ตั้ง: Avenida do Coronel Mesquita , Northern Macau Peninsula, Mong Ha Village
เวลาทำการ:10.00-18.00 ทุกวัน
phone: + 853 2831 5566
การเดินทาง: Bus 6, 12, 17, 18, 19, 22, 23, 28C
สามารถขี้นสาย 12 และ 28C จากป้ายรถเมล์ใกล้ Macau Ferry Terminal ใช้เวลาไม่ถึง 10 นาที ก็จะมาถึงวัด ด้านหน้าทางเข้าวัด กำแพงสีเขียวสวยงาม ถ้าเรียก taxi ไปก็ประมาณไม่ถึง 20 MOP ค่ะ

วัดนี้เป็นวัดใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในมาเก๊า มีอายุกว่า 600 ปี สร้างตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 นอกจากนั้นแล้วยังเป็นสถานสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมือง มีโต๊ะหินที่ใช้เป็นสถานที่ลงนามในสนธิสัญญาทางมิตรภาพระหว่างสหรัฐอเมริกา และจีนเมื่อปีค.ศ.1844
ตำหนักหน้าตรงประตูทางเข้า ที่รูปองค์ พระศรีอาริยเมตตรัยโพธิสัตว์ หรือ องค์พระสังกัจจายน์ ภาพ 3 มิติ ด้านหลังของพระรูปเคารพของพระศรีอาริยเมตตรัย จะเป็น เทวรูปของพระเวทโพธิสัตว์ (บางแห่งเรียก พระสกันทโพธิสัตว์) ซึ่งเป็นเทวรูปทรงเครื่องอย่างนักรบ ชุดขุนพลจีนโบราณ หน้าตางดงาม ยืนเอาด้านหลังพิงด้านหลังของพระศรีอาริยเมตตรัย

รูปปั้นด้านข้างทั้งสองฝั่งประตูคือ สี่ท้าวจตุโลกบาลที่คอยปกปักรักษาวัด ข้างละ 2 ตน เพื่อผู้ที่มากราบไหว้แสดงการคารวะจะได้รับสิ่งที่เป็นมงคลกลับไป โดยให้เริ่มไหว้จากองค์ที่ประทับยืนทางด้านซ้ายมือของพระศรีอาริยเมตตรัย แล้วต่อมาทางด้านขวา เวียนเป็นวงกลมทวนเข็มนาฬิกา
•ท้าวธตรัฐมหาราช เป็นเทพแห่งความร่าเริงเพราะมีพิณประจำกาย คนไทยถือว่าเป็น “จอมภูต” ผู้คุ้มครองรักษาประจำทิศตะวันออก (东: dōng)
•ท้าวเวสสุวัณมหาราช หรือ ท้าวกุเวร เป็น “จอมยักษ์” ประจำทิศเหนือ (北: běi) ถือเจดีย์อยู่ในมือ
•ท้าววิรูปักข์มหาราช เป็น “จอมนาค” ประจำทิศตะวันตก มีนาคพันอยู่รอบมือ(西: xī)
•ท้าววิรุฬหกมหาราช ถือดาบประจำกายเป็นเทพแห่งความสุขมั่งคั่ง ถือเป็น “จอมเทวดา” รักษาประจำทิศใต้ (南: nán)


ถัดจากประตูนี้เข้าไปข้างในจะสะดุดตากับกระถางธูปอันใหญ่โดดเด่น ด้านในวัดแห่งนี้มีโถงหลักอยู่ 3 แห่ง

  • โถงแรกสุด
คือหอหลักที่ประดิษฐานของ “องค์พระประธาน 3 พระองค์”

• พระศรีศากยมุนี พระสมณโคดม พระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ทรงเป็นพระประธานใหญ่องค์กลาง

• พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ (普賢菩薩: Pŭxián púsà) ประทับทางด้านขวามือสุดของพระศรีศากยมุนี (หรือทางซ้ายมือของเราหากมองเข้าไป)

• พระมัญชูศรีโพธิสัตว์ (文殊師利菩薩 ;Wénshūshili Púsà) ประทับอยู่ทางด้านซ้ายมือสุดของพระศรีศากยมุนี (หรือทางขวามือของเราหากมองเข้า

  • โถงถัดไปแห่งที่สอง
คือ หออายุวัฒนะ ประดิษฐาน “องค์พระศรีอาริยเมตไตรย” (Sri Aria Metrai, Maitreya) ซึ่งทางพระพุทธศาสนาฝ่ายหินยาน เชื่อว่าเป็นพระโพธิสัตว์สถิตอยู่สวรรค์ชั้นดุสิตบำเพ็ญบารมีเพื่อที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ใหม่ต่อจากองค์สมณโคดมในอนาคตกาล อย่าลืมสักการะ ตั้งจิต อธิษฐานให้บุญกุศลที่เราทำ ให้เราได้มีโอกาสเกิดเป็นมนุษย์และพบพระศรีอริยเมตไตรยในอนาคต

“เมตตานะ ศรีอริยะเมตโต พุทธานะมะ สันติเกโล อะนาคามิ สาธุ สาธุ สาธุ” ผู้ที่บูชาท่านอยู่เสมอ จะเป็นผู้มีอายุขัยยาวนานดังชื่อที่มาของโถงแห่งนี้

ในทางพุทธศาสนาฝ่ายมหายานนั้น เชื่อว่า “องค์พระสังกัจจายน์” เป็นองค์เดียวกันกับพระศรีอาริย์ ในโถงแห่งนี้จึงเป็นที่ประดิษฐานขององค์พระสังกัจจายน์โพธิสัตว์ด้วย เป็นองค์นั่งและถือก้อนทองไว้ ซึ่งปางที่ถือก้อนทองนี้ตามคติความเชื่อกันว่า เป็นพระโพธิสัตว์ที่เชื่อกันว่าจะประทานความรำรวยให้

การสักการะองค์พระสังกัจจายน์ สามารถสวดบทบูชาท่าน หลังจากนั้นให้อธิษฐานขอพรโชคลาภความร่ำรวยจากท่าน โดยให้กางมือทั้งสองของเราออกให้สุดแล้วลูบองค์ท่านลงมา แล้วเอามือเก็บเข้ากระเป๋าเรา ทำ 3 ครั้ง
  • โถงในสุดคือหอพระโพธิสัตว์กวนอิม
ชื่อวัดนี้อีกเรียกในภาษาท้องถิ่นว่า Kun Iam Tong 观音堂 ซึ่งในภาษาจีนหมายความว่าในโถงนี้ให้เราสักการะพระโพธิสัตว์กวนอิมก่อนเป็นอันดับแรก

องค์พระโพธิสัตว์กวนอิมในชุดเจ้าสาวของจีนที่ตัดเย็บด้วยผ้าไหมอันงดงาม

พระแม่กวนอิมองค์นี้ มีนามว่า หนั่นไฮ้ผู่โถวซ่าน (ตามที่เจ้าหน้าที่ทางวัดบอกมา) ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ผู้เป็นธรรมาจารย์แห่งทะเลใต้ หรือ ดินแดนของมังกรที่หากินด้วยน้ำและไฟ ซึ่งพระแม่กวนอิมโพธิสัตว์ ได้โปรดมังกร ตั้งแต่ยังอยู่ในวิปัสสนากรรมฐาน

การสักการะบูชาพระแม่กวนอิม สามารถสวด

- บทพระมหาการุณาธารณีสูตร "ไต่ปุยทอลอจิ่ว" หรือ ชื่อสั้นว่า "ไต่ปุยจิ่ว" (จีนกลางเรียกว่า " ต้าเป่ยโจว้") ที่ขี้นต้นด้วย "หนัน มอ โฮ ล้า ตัน นอ ตอ ลา เย แย " หรือ

- บทสรรเสริญพระคุณพระแม่กวนอิมมหาโพธิสัตว์ (พระคาถาพระแม่กวนอิมโพธิสัตว์) ที่ขึ้นต้นด้วยนำโม ไต๋ชื้อ ไต๋ปุย กิวโค่ว กิวหลั่ง กวงไต๋เล่งก้ำ กวงสี่อิม ผู่สัก ... ซึ่งเราเลือกสวดบทนี้เพราะจำได้ขึ้นใจและสั้นกว่าบทแรกค่ะ

ก่อนสักการะ อย่าลืมล้างมือให้สะอาดนะคะ ทางวัดเค้าจัดเตรียมอ่างน้ำใส่ใบไม้ไว้ให้เรานำมาพรมล้างมือให้สะอาดก่อนด้วย อธิษฐานจิต และบอกชื่อนามสกุลของเรา และเอ่ยนามขององค์ท่าน “พระแม่กวนอิมมหาโพธิสัตว์” ด้วย สวดมนต์เสร็จแล้วเราก็ถวายผลไม้ และสร้อยมุก ซึ่งต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ให้เค้าช่วยเปิดประตูเล็กให้เรานำสร้อยเข้าไปถวายใกล้ ๆ องค์ท่าน หากต้องการซื้อกระดาษไหว้เจ้าก็มีจัดให้เป็นชุด ๆ ซึ่งที่วัดนี้มีที่เผากระดาษให้ด้วย ส่วนขดธูปยักษ์ที่เห็นห้อยอยู่นี้ เราสามารถซื้อจุดถวาย ราคา 100 MOP จุดอยู่ได้สิบวัน ราคา 200 MOP ยี่สิบวัน

ด้านข้างซ้ายมีองค์พระโพธิสัตว์กวนอิมอีกหลายองค์ ประทับอยู่พร้อมกับองค์หนาจ่าซาไทจื้อ รวมทั้งองค์เหมือนพระแม่กวนอิมปรางค์ทองที่ ถ. Dr. Sun Yat Sen ที่โปรตุเกสสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ให้กับมาเก๊า

ถัดออกมามีรูปหล่อขนาดเล็กสีทอง 18 อรหันต์ แยกประดิษฐานอยู่ฝั่งละ 9 องค์

เมื่อออกมาที่โถงแรกด้านนอกสุด จะมีองค์พระโพธิสัตว์กวนอิมในตู้กระจกสำหรับผู้ที่ต้องการเช่าบูชาค่ะ และยังมีองค์พระสังกัจจายน์ปางที่มีเด็ก ๆ ปีนป่ายรายล้อม เชื่อว่าเป็นองค์พระสังกัจจายน์ที่ช่วยประทานบุตร


หลังจากสักการะองค์พระโพธิสัตว์กวนอิมแล้ว ก็เริ่มไหว้เทพเจ้าองค์ต่าง ๆ โดยกลับไปที่ด้านนอกอีกครั้งโถงแรกสุดหากเราหันหน้าเข้าหาวัด ทางซ้ายมือ คือ หอเจ้าแม่ทับทิม ซึ่งวัดส่วนใหญ่ทั้งที่ Macau และ Hong Kong จะสร้างเพื่อสักการะขอพรท่านก่อนออกเดินทางทะเลทุกครั้ง เพราะเชื่อว่าท่านเปรียบดังเทพของชาวเรือ

ส่วนด้านขวามือไม่แน่ใจว่าเป็นเทพองค์ใด แต่ดูจากลักษณะแล้วคล้าย องค์เทพ Kwan Tai หรือเทพแห่งขุนพล ที่จะคุ้มครองเรื่องความเป็นอยู่ ผู้ที่มีเรื่องเดือดร้อนในเรื่องที่ต้องแข่งขันต่อสู้ หากไหว้เทพแห่งขุนพลจะเกิดผลดี



หลังจากสักการะครบทุก ๆ องค์แล้วก่อนกลับอย่าลืม Highlight ตรงหน้าประตูทางออกวัดนะค่ะ

พอออกมาด้านหน้าตรงบันได สังเกตุให้ดีจะมีรูปปั้นสิงโตสองตัวอยู่ซ้ายขวา



มีความเชื่อกันว่า ถ้าอยากได้อะไรให้มาอธิษฐานขอที่สิงห์โตคู่นี้ ซึ่งเค้าจะมีวิธีขอดังนี้นะค่ะ

วิธีอธิษฐาน ให้ลูบที่ตัวสิงโต แล้วหมุนลูกแก้ว (หรือลูกหินนั่นเอง) ในปากสิงโตพร้อมกับตั้งจิตอธิษฐานสิ่งที่อยากได้ โดยหมุนไปทางขวา ตามเข็มนาฬิกาทั้งหมด 3 ครั้ง แล้วก็ลูบทึตัวสิงโตอีกครั้งหนึ่งค่ะ บอกให้ช่วยให้คำอธิษฐานที่เราขอสมหวังโดยเร็ววัน

ถ้าเป็นผู้หญิงให้ลูบที่สิงโตตัวผู้ ส่วนผู้ชายให้ลูบที่สิงโตตัวเมียนะค่ะ

วิธีการสังเกตุว่าสิงโตเป็นตัวผู้หรือตัวเมีย (เอาไปใช้ได้ทุกวัดนะค่ะ)

ให้ยืนหันหน้าออกมองไปนอกวัด ด้านซ้ายมือคือสิงห์ตัวผู้ ส่วนด้านขวาคือสิงห์ตัวเมีย (ในกรณีที่รูปปั้นสิงโตเหมือนกันทั้งสองตัวให้ใช้วีธีนี้)

ส่วนบางแห่งสามารถสังเกตุได้ว่าสิงห์ตัวผู้จะเล่นลูกบอล ส่วนสิงห์ตัวเมียจะเอาขาก่ายลูกสิงห์อยู่

(คนจึนเรียกว่า ซ้ายมังกรเขียว ขวาเสือขาว เปรียบเทียบชายเป็นมังกร หญิงเป็นเสือค่ะ)

จะเห็นได้ว่าตรงข้างใต้ตัวสิงโตจะมีป้ายบอกว่า ห้ามแตะ แต่จริง ๆ ก็มีคนไปอธิษฐานกันอยู่เรื่อย ๆ นะค่ะ ไม่ต้องห่วงว่าเจ้าหน้าที่เค้าจะมาว่าคะ เพียงแต่ช่วยกันลูบเบา ๆ จะได้รักษารูปปั้นไว้ไม่ให้ชำรุดทรุดโทรมไปเสียก่อนนะค่ะ อีกอย่างวัดนี้ก็เก่าแก่มากว่า 600 ปีแล้ว คงจะมีคนมาลูบน้องสิงห์อยู่นับไม่ถ้วนแล้ว

อ้อ ถ้าจะไปวัดนี้ พยายามเลือกวันที่ไม่ตรงวัดหยุดนะค่ะ เพราะคนจะล้นหลามมากจนอาจจะไม่มีสมาธิในการอธิษฐานนะค่ะ

ไหว้พระ อิ่มบุญกันแล้ว เราก็เตรียมเดินทางสู่วัด A-Ma เป็นจุดหมายต่อไปค่ะ



Create Date : 28 เมษายน 2552
Last Update : 14 สิงหาคม 2552 14:30:31 น. 1 comments
Counter : 1832 Pageviews.

 
อริยสัจ ๔ (ความจริงอันประเสริฐ)
๑. ทุกข์ ...ทุกข์ คือความไม่สบายกาย ไม่สบายใจต่าง ๆ เพราะเป็นของทนได้ยาก
๒. ทุกขสมุทัย ...สมุทัย คือ เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ได้แก่ตัณหาความทะยานอยาก
๓. ทุกขนิโรธ ..นิโรธ คือ ความดับทุกข์ ได้แก่ ดับตัณหาได้หมดสิ้น
๔. ทุกขนิโรธคามินีปฎิปทา ... มรรค คือ ข้อปฎิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้แก่มรรค์มีองค์ ๘

ความทะยานอยาก หมกมุ่นในกามคุณ ๑
การปฏิบัติเพื่อทรมาณหรือเบียดเบียนตัวเอง และผู้อื่นให้เดือนร้อน ๑
...การกระทำทั้งสองอย่างนี้ ...มิใช่หนทางแห่งการพ้นทุกข์

“บุคคลผู้มีสติ ยังไม่พ้นเวร การควบคุมสติเพื่อให้เกิดปัญญารู้ชัดตามสภาวะ
ธรรมที่แท้จริง จึงได้ชื่อว่า ผู้พ้นบ่วงแห่งมาร”

“ม้าพันธุ์ดี..โดนแส้เพียงแค่ครั้งเดียว ย่อมวิ่งแล่นไปถึงเส้นชัย
บุคคลผู้รู้การเกิดนี่เป็นทุกข์เพียงแค่ครั้งเดียว ย่อมเข้าถึง..นิพพาน”

โลกุตระธรรม ทั้ง ๙
นิพพาน นั้นคืออะไร
ผู้ใดกล่าวว่านิพพานนั้นมีอยู่ ผู้นั้นย่อมไปได้ไม่ถึงนิพพาน
แต่หากผู้ใดกล่าวว่านิพพานนั้นไม่มีอยู่ ก็จะหาหนทางเข้าสู่นิพพานไม่ได้
นิพพานนั้นไม่มี เราสมมุติชื่อมันว่า นิพพาน

นิพพาน นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร
ธรรมทาน อามิสทาน อภัยทาน
ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ
พรหมโลก เทวโลก มนุษย์ อบายภูมิ
ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ คือ ร่างกายเรา
อากาศธาตุ คือ อากาศรอบตัวเรา
วิญญาณธาตุ คือ ธาตุรู้
ธรรมทาน นั้นมีอานิสงส์สูงสุด เวลาตัวเราแสดงธรรม (ตัวเรา หมายถึง ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ)
ธาตุที่ออกจากกายเรานั้นคือ ธาตุลม เมื่อธาตุลม ออกมาจากร่าง ก็สลายตัวออกไปกับอากาศธาตุ ธรรมนั้นก็กลายเป็นอนัตตา นั้นหมายความว่า สภาวะโลกกับสภาวธรรมนั้นย่อมไปในทางเดียวกัน ท้าวเวชสุวรรณมีสมุดบันทึกบัญชีอยู่เล่มหนึ่ง ด้านหนึ่งบันทึกความดี อีกด้านหนึ่งบันทึกความชั่วของคนๆ หนึ่งไว้ เมื่อธรรมกลายเป็นอนัตตา หรือสลายตัวไปในบรรยากาศโลก วิญญาณที่เป็นตัวรู้ก็ไม่สามารถส่งสัญญาณไปยังสมุดบันทึกบัญชีของท้าวเวชสุวรรณได้ เมื่อตัวเราตายไป ก็สลายตัวกลับสู่สภาวะโลก (คือการสลายตัว ของธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ) เมื่อวิญญาณไม่มีธาตุตัวรู้ที่จะไปเกิดยังภพภูมิต่างๆ วิญญาณนั้นก็ดับลง เมื่อวิญญาณดับลง จิตก็ดับตาม นี่คือวิธีการที่พระพุทธเจ้าใช้ในการเข้าสู่นิพพาน คือ การใช้จิตที่บริสุทธิ์และวิธีการสั่งสอนคนเพื่อให้เป็นคนดีนั่นเอง เป็นการส่งต่อระหว่างขันธ์ต่อขันธ์ เพราะสุดท้ายทุกคนย่อมตายเหมือนกัน
นี่คือวิธีการที่ลบรูปลบนาม ดับสนิทไม่มีส่วนเหลืออย่างแท้จริง
สุดท้ายก็กลายเป็นการหลับสนิท ไม่ตื่นขึ้นมาพบกับความทุกข์อีก


เปรียบเหมือนเวลาที่เราอยู่เฉยๆ โดยไม่ได้ทำอะไร เมื่อเราไม่ทำความดี ภูมิที่ดีก็ไม่มีให้เราไปเกิด (หมายถึง ภูมิของชั้นเทวดาและชั้นพรหม) หากเราไม่ทำความชั่ว ก็ไม่ตกไปยังอบายภูมิ แต่จะทำอย่างไรเมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ พระพุทธเจ้าก็เลยให้เราอยู่โดยการเดินทางตามมรรคมีองค์ ๘ ก็คือทางแห่งการพ้นทุกข์
๑. ความเห็นถูกต้องที่จะเดินตามอริยสัจ ๔ (มรรคมีองค์ ๘)
๒. ความดำริชอบ
* ในการออกจากกาม
* ในการไม่มุ่งร้าย
* ในการไม่เบียดเบียน
๓.การพูดจาชอบ
* ไม่พูดเท็จ
* ไม่พูดคำหยาบ
* ไม่พูดส่อเสียด
* ไม่พูดเพ้อเจ้อ
๔. การทำการงานชอบ
* เว้นจากการฆ่าสัตว์
* เว้นจากการลักทรัพย์
* เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
๕. การเลี้ยงชีวิตชอบ
* ความซื่อสัตย์สุจริต
๖. ความพากเพียรชอบ
* ความเพียรที่จะเผากิเลส
๗. ความระลึกชอบ
* ความรู้ที่มีสิ่งกระทบ แล้วถอนความพอใจและไม่พอใจออกเสีย
๘. ความตั้งใจมั่นชอบ
* นั่นคือ สมาธิ

ในอริยมรรค ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ นั้นทำความเข้าใจง่าย (ก็คือศีลมาตรฐาน หรือ ศีล ๕ และสติปัฎฐาน ๔ ) ส่วน อริยมรรค ๖ ๗ และ ๘ ที่จะอธิบายต่อไปนี้ ก็คือ มหาสติปัฏฐานสูตร นั่นเอง

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจ ระหว่างสติปัฏฐาน ๔ กับมหาสติปัฏฐานสูตรก่อน ว่ามันต่างกันอย่างไร
สติปัฏฐาน ๔ คือ การรู้ว่าตัวเรารู้สึกอย่างไร
มหาสติปัฏฐานสูตร คือ สิ่งใดที่เข้ามากระทบกับตัวเราแล้วทำให้เรารู้สึกสุขหรือทุกข์


สติปัฏฐาน ๔
กาย สุข หรือ ทุกข์ อุเบกขา
เวทนา สุข หรือ ทุกข์ อุเบกขา
จิต กุศลหรืออกุศล อุเบกขา
ธรรม กุศลหรืออกุศล อุเบกขา

มหาสติปัฎฐานสูตร
กายในกาย
เวทนาในเวทนา
จิตในจิต
ธรรมในธรรม
เป็นการจับคู่ของอายตนะภายนอกซึ่งส่งต่อมายังอายตนะภายใน (อาการ 12) ซึ่งทำให้เราเห็นจิตที่เป็นกุศลและอกุศลอย่างชัดเจน
อายตนะ ๑๒ คือ
ตา สิ่งที่มากระทบคือ รูป
หู สิ่งที่มากระทบคือ เสียง
จมูก สิ่งที่มากระทบคือ กลิ่น
ลิ้น สิ่งที่มากระทบคือ รส
กาย สิ่งที่มากระทบคือ สัมผัส
ใจ สิ่งที่มากระทบคือ อารมณ์
มหาสติปัฏฐาน ๔ จะเปรียบเทียบถึงอาหารจานหนึ่งให้ฟัง

รูปไม่สวยแต่อาหารอร่อย รูปสวยแต่อาหารไม่อร่อย
รูปไม่สวยอาหารก็ไม่อร่อย รูปสวยอาหารก็อร่อย

จะเปรียบเทียบ ในสูตรของรูปไม่สวยแต่อาหารอร่อยให้พิจารณา
เมื่อเราเข้าไปร้านอาหารร้านหนึ่ง เมื่ออาหารมาอยู่ตรงหน้า กับมองเห็นรูปที่ไม่สวย (หมายถึงทำไม่น่ากิน) เกิดสัมผัสแรกคือทางตา ทำให้จิตเราคิดไปว่า ทำไม่น่ากินคงจะไม่อร่อย แต่เมื่อเราลองกินเข้าไปแล้ว อาหารกับอร่อย ซึ่งไม่เหมือนกับความรู้สึกแรก นั่นคือการที่เราไปปรุงแต่งรูป ทำให้เกิดทุกข์ แต่เมื่อเรากินข้าวไปแล้ว ลิ้นเมื่อลองรสแล้วรู้สึกอร่อย ก็เปลี่ยนเป็นความรู้สึกทางด้านความสุข เพราะฉะนั้นเราจะเห็นการพิจารณากายในกาย ก็คือ ตาทำหน้าที่ปรุงแต่งด้านทุกข์ ส่วนลิ้นทำหน้าที่รับความสุข สุขและทุกข์นั้นแหละ คือเวทนาในเวทนา จิตสองตัวก็จะทำหน้าที่สลับกัน คือสุข ก็คือกุศล และทุกข์ ก็คืออกุศล จิตที่เป็นกุศลและอกุศลนั้นแหละก็คือ ธรรมในธรรมและนี่คือ มรรค ๗ (ความระลึกชอบ) ก็คือ ฝ่ายหนึ่งคือความพอใจ อีกฝ่ายหนึ่ง คือความไม่พอใจ เราจึงถอนความพอใจ และความไม่พอใจออกพร้อมกันในคราวเดียว ชี้ให้เห็นว่าการที่เราเอาจิตไปสัมผัสอะไรสักอย่าง มันจะต้องมีทั้งสุขและทุกข์ คือเราจะรู้สึกทุกข์และเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ (ซึ่งเราเป็นผู้ปรุงแต่งมันทั้งสิ้น)
* แต่เมื่อเรา เจอทั้งรูปสวยและอาหารอร่อย ก็คือ เป็นกุศลทั้งสองฝั่ง เราควรพอกพูนอาการนั้นไว้ เพราะสิ่งเหล่านี้ เกิดขึ้นยากในโลกใบนี้
* แต่เมื่อเรา เจอรูปไม่สวยแต่อาหารอร่อย ก็คือ ฝึกให้เราไม่ปรุงแต่งทางตา เพราะเอตักตา หรือตัวรู้นั้นมีให้รู้ว่า เนื้อแท้ของสิ่งๆ นั้นคืออะไร คือคุณค่าที่แท้จริงของอาหาร คือ ความอร่อยและประโยชน์ที่ได้รับ
* แต่เมื่อเรา เจอรูปสวยแต่อาหารไม่อร่อย (โดยจิตปกติของมนุษย์จะคิดว่า เมื่อรูปสวยอาหารต้องอร่อยแน่ นั่นแหล่ะ ! ที่เราเรียกว่าการยึดมั่นถือมั่นในรูป) แต่เพียงแค่เราเข้าไปลองชิมครั้งเดียว เราก็ไม่อยากเข้าอีก (แต่ก็ยังคงมีคนหลงในรูปเข้าไปกิน แต่ไม่นานร้านนี้ก็จะถูกปิด)
* แต่เมื่อเรา เจอทั้งรูปไม่สวยและอาหารไม่อร่อย ร้านนั้นจะถูกปิดในไม่ช้า นั้นหมายถึง เป็นอกุศลทั้งรูปและนามและนี่คือ มรรค ๖ (ความเพียรชอบ) ที่จะละอกุศลธรรมที่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น และประคองกุศลธรรมที่เกิดขึ้น
เพราะฉะนั้นหลักพุทธศาสนาที่ถูกก็คือ ให้เราอยู่กับสิ่งดี แล้วหลีกเลี่ยงในสิ่งที่ไม่ดี ดั่งปรากฏในมงคล ๓๘ ว่า
การไม่คบคนพาล ๑ การคบบัณฑิต ๑ บูชาคนที่ควรบูชา ๑
อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ๑ ทำความดีไว้ให้พร้อม ๑ ตั้งตนไว้ในที่ชอบ ๑
เล่าเรียนศึกษามาก ๑ มีความชำนาญในวิชาชีพของตน ๑ มีระเบียบวินัย ๑ รู้จักใช้วาจาให้ได้ผลดี ๑
บำรุงบิดามารดา ๑ สงเคราะห์บุตร ๑ สงเคราะห์ภรรยา ๑ ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ๑
บริจาคสงเคราะห์และบำเพ็ญประโยชน์ ๑ ดำรงอยู่ในศีลธรรม ๑ สงเคราะห์ญาติ ๑ อาชีพสุจริต
กิจกรรมที่มีประโยชน์ ๑
เว้นจากความชั่ว ๑ เว้นจากสิ่งเสพติด ๑ ไม่ประมาทในธรรม ๑ รู้จักคุณค่าบุคคลและสิ่งของ ๑ ความสุภาพอ่อนน้อมถ่อมตน ๑ ความสันโดษพึงพอใจในผลสำเร็จและปัจจัยที่หามาได้ด้วยความพยายามของตนเองโดยชอบธรรม ๑ มีความกตัญญู ๑ หาโอกาสฟังธรรมแสวงหาหลักความจริง ๑
มีความอดทน ๑ เป็นผู้ว่านอนสอนง่ายฟังเหตุผล ๑ พบเห็นสมณะเข้าเยี่ยมเยียน ๑ สนทนาธรรมตามกาลเวลา ๑
รู้จักควบคุมตนเอง ๑ ประพฤติพรหมจรรย์ ๑ รู้แจ้งอริยสัจสี่ ๑ ทำพระนิพพานให้แจ้ง ๑
ถูกโลกธรรมจิตไม่หวั่นไหว ๑ จิตไร้เศร้า ๑ จิตปราศจากธุลี ๑ จิตเกษม ๑
นี่เป็นมงคลอันอุดม เทวมนุษย์ทั้งหลายกระทำมงคลเช่นนี้แล้วย่อมเป็นผู้ไม่ปราชัยในทุกสถาน ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทั้งปวง นี้คืออุดมมงคลของเทวมนุษย์เหล่านั้น
เหมือนกับการที่ท่านให้เราเพ่งน้ำ เพื่อให้เกิดสมาธิ แต่หลายคนเพ่งก็อยากมีอิทธิฤทธิ์ แต่แท้จริงแล้วพระพุทธเจ้าให้เราฝึกสมาธิ ซึ่งเป็นสมถกรรมฐาน ซึ่งจะยกตัวเองขึ้นสู่วิปัสสนากรรมฐานต่อไป คือเมื่อเรามองดูน้ำแล้ว ก็ให้เรารู้ว่าประโยชน์ของน้ำนั้นใช้ดื่มกิน พระพุทธองค์ไม่ให้เราเอาเศษขยะและถ่ายอุจจาระปัสสาวะลงในแม่น้ำลำคลอง เพราะจะทำให้น้ำสกปรก พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้เราใช้เครื่องกรองน้ำ เพื่อกรองเอาสิ่งสกปรกออกจากน้ำให้เราดื่มกิน นั่นหมายถึงท่านให้เรานำสิ่งที่ดีเข้าตัว แล้วกรองนำสิ่งที่ชั่วออกไป พระพุทธองค์ไม่เอาสิ่งที่เป็นกุศลและอกุศลให้ปนเปื้อนกัน และการแยกแยะเหล่านี้แหล่ะคือที่มาของศีล
เพราะแท้จริงแล้ว การรักษาศีลหรือพรหมจรรย์ คือความปกติที่ดีของชีวิต โดยมีหิริโอตตัปปะ (ความละอายและเกรงกลัวต่อบาป) เป็นตัวสติ (ความระลึกรู้) เพื่อไม่ให้เราละเมิดศีล ซึ่งเปรียบเหมือนรั้วกั้นไม่ให้เราไม่ตกไปในที่ชั่ว (อบายภูมิ)

“ศีล เป็นเยี่ยมที่สุดในโลก”
อย่าได้เชื่อถือ ตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา ๑
อย่าได้เชื่อถือ ตามถ้อยคำสืบ ๆ กันมา ๑
อย่าได้เชื่อถือ โดยตื่นข่าวว่าได้ยินอย่างนี้ ๑
อย่าได้เชื่อถือ โดยอ้างตำรา ๑
อย่าได้เชื่อถือ โดยเดาเอาเอง ๑
อย่าได้เชื่อถือ โดยคาดคะเน ๑
อย่าได้เชื่อถือ โดยความตรึกตามอาการ ๑
อย่าได้เชื่อถือ โดยชอบใจว่าต้องกับทิฐิของตัว ๑
อย่าได้เชื่อถือ โดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรจะเชื่อได้ ๑
อย่าได้เชื่อถือ โดยความนับถือว่าสมณะนี้คือครูของเรา ๑
เมื่อใด พึงรู้ด้วยตนเองว่าธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล เป็นกุศล มีโทษ ไม่มีโทษเป็นต้นแล้วจึงควรละหรือเข้าถึงธรรมนั้น

ต่อไปเราจะใช้อริยมรรค ๖ และ ๗ ทำให้เกิดอริยมรรค ๘ นั่นคือฌานทั้ง ๔ และวิปัสสนาญาณทั้ง ๑๖ กรรมฐาน
ฌาน ๑ ปฐมฌาน วิตก วิจารณ์ ปิติ สุข
ฌาน ๒ ทุติยฌาน ปิติ สุข
ฌาน ๓ ตติยฌาน วางเฉย สติ ปกติ แสวงสุขด้วย นามกาย (ความสุขใจ)
ฌาน ๔ จตุตถฌาน เพราะละสุข ละทุกข์เสียได้
เพราะรู้ว่าธรรมชาติเป็นอย่างนั้น
ประโยชน์ของมันคือสิ่งๆ นั้น
กุศลธรรมในตัวมันคือสิ่งนั้น

๑.รู้จำแนกรูปและนาม
๒. รู้เหตุปัจจัยของรูปนาม
๓. พิจารณารูปนามโดยความเป็นไตรลักษณ์
๔. ตามเห็นความเกิดดับของสังขาร
๕. ตามเห็นความดับหลายของสังขาร
๖. เห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว
๗. เห็นสังขารทั้งปวงว่าเป็นทุกข์
๘. เกิดความเบื่อหน่ายคลายความกำหนัด
๙. ปรารถนาจะพ้นไปเสียจากสังขาร เหล่านั้น ๑๐. พิจารณามองหาอุบายออกจากทุกข์
(การมองโลกในแง่ดี) ๑๑. พิจารณาความวางเฉยโดยความเป็นกลาง ๑๒. หยั่งรู้ความวางเฉยความเป็นไตรลักษณ์
๑๓.ข้ามพ้นจากภาวะปุถุชนเข้าสู่อริยะบุคคล
๑๔.ความหยั่งรู้ความสำเร็จของบุคคลในแต่ละขั้น ๑๕. ความหยั่งรู่ที่เป็นผลสำเร็จของพระอริยะบุคคลในขั้นนั้น ๑๖. พิจารณาทบทวนกิเลสที่ละได้และกิเลส ที่เหลือ
ย้อนกลับไปในเรื่องการพิจารณาในเรื่องของอาหาร เราจะเห็นสิ่งต่างๆ อย่างชัดเจน ทั้งการปรุงแต่งทั้งรูปและนาม นั่นก็คือการจำแนกรูปและนามอย่างชัดเจน หรือฌาน ๑ ก็คือ วิตก วิจารณ์ การปรุงแต่งทางตา และการปรุงแต่งทางลิ้น การบรรลุธรรมนั้น ไวยิ่งกว่าแมลงกระพือปลีก เมื่อเราใช้การนำเอากุศลมาซ้อนทับอกุศลไม่ให้เกิด ก็คือให้พิจารณา ถึงแม้รูปจะไม่สวย แต่อาหารก็อร่อย นั้นคือตัวรู้ของประโยชน์ในสิ่งนั้นอย่างแท้จริง จะไม่สนใจในรูปเพราะเราเข้าใจธรรมชาติของมัน แล้วก็ละตัวรู้นั้น (เหมือนเมื่อเรากินอาหารเข้าไปแล้ว ในคำแรก รู้ว่ารสชาติมันอร่อย คำต่อไปก็ไม่ต้องพิจารณาอีก) ดั่งที่กล่าวมาข้างต้น ฌาน ๑ ถึง ๔ จะทำงานโดยอัตโนมัติ พร้อมกับวิปัสสนาฌานตั้งแต่ ๑ ถึง ๑๖ ก็จะทำงานโดยอัตโนมัติ เช่นกันกล่าวง่ายๆ ก็คือว่า การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ
ก็คือการมองโลกในแง่ดี อริยะอยู่ที่ใจ (มิใช่ที่ผ้า มันเป็นสักว่าธาตุตามธรรมชาติเท่านั้น)
การไม่ทำบาปทั้งปวง ก็คือ การเป็นคนดี
การทำกุศลให้ถึงพร้อม ก็คือ เป็นตัวอย่างที่ดี และสอนคนเป็นคนดี
การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ ก็คือ การมองโลกในแง่ดี
ธรรม ๓ อย่างนี้ คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ขันติคือความอดกลั้น, เป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง,
ผู้รู้ทั้งหลาย, กล่าวพระนิพพานว่าเป็นธรรมอย่างยิ่ง,
ผู้กำจัดสัตว์อื่นอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิตเลย,
ผู้ทำสัตว์อื่นให้ลำบากอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย,
การไม่พูดร้าย, การไม่ทำร้าย,
การสำรวมในปาติโมกข์,
ความเป็นผู้รู้ประมาณ ในการบริโภค,
การนอน การนั่ง ในที่อันสงัด,
ความหมั่นประกอบ ในการทำจิตให้ยิ่ง,
ธรรม ๖ อย่างนี้, เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย,
นั่นคือโลกุตรธรรม ๘
ส่วนโลกุตรธรรม ๙ ก็คือ การที่เราเจอสิ่งที่ดีเป็นเรื่องปกติ และไม่ทำชั่วเป็นเรื่องปกติ ให้สิ่งที่ดีเป็นสิ่งปกติในชีวิตประจำวัน จนกลายเป็นสิ่งหนึ่งในชีวิตของเรา จนเกิดความเบื่อหน่าย เพราะรู้แจ้งแล้วว่ามีทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดีซ่อนอยู่ในตัวมัน ก็จะเกิดความเบื่อหน่าย คลายความกำหนัด จงทำความดีแต่พอดี ก็จะไม่ยึดติดผลของความดี อย่าทำจนกลายเป็นแข่งดี เสร็จแล้ว ก็มาทะเลาะกันว่าเราดีกว่า กลายเป็นพูดส่อเสียด ทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันอีก การที่ทำคนดีให้แตกแยกกันนั้น ถือว่าเป็นกรรมหนัก ตามหลักพุทธศาสนา ห้ามสวรรค์และนิพพาน จะเห็นได้ว่า แม้ความดีที่มนุษย์พากเพียรทำ ก็ยังเป็นกิเลสตัวสำคัญของมนุษย์
คิดดี พูดดี ทำดี มองโลกในแง่ดี ที่สำคัญทำแต่พอดี นั่นแหล่ะที่เราเรียกกันว่า ทางสายกลาง
โสดาบัน นั้นหมายถึง คนทำผิดและยอมรับผิด (ย่อมปิดอบายภูมิ)
สกิทาคามี นั่นหมายถึง เริ่มเลิกทำผิด แต่ยังพลาดไปบ้างเพราะยังขาดสมาธิในการควบคุมสติ
อนาคามี นั่นหมายถึง คนที่ดีแล้วแต่สอนคนอื่นไม่ได้ เทียบกับสมาธิค่อนข้างดี แต่ยังขาดปัญญา ในการนำพาผู้อื่น
อรหันต์ นั่นหมายถึง คนดีที่สอนคนอื่นได้ เทียบกับสมาธิที่ดีเยี่ยม ประกอบกับปัญญา นำพาคนหลุดพ้นข้ามอวิชชาไปได้

เมื่อคนที่ทำผิดแล้วยอมรับผิด ไม่นานเขาก็มีความละอายและความสำนึก สิ่งๆ นี้ เขาจึงต้องรู้จักควบคุมตัวเองและมีสมาธิที่ดีขึ้น และสุดท้ายเขาก็จะกลายเป็นอรหันต์ได้ในไม่ช้า

บุคคลละธรรม ๑๐ อย่างได้ควรเป็นอรหันต์
ความกำหนัดยินดี ๑ ความคิดประทุษร้าย ๑
ความหลง ๑ ความโกรธ ๑
ความผูกโกรธ ๑ ความลบหลู่บุญคุณท่าน ๑
ความตีเสมอ ๑ ความริษยา ๑
ความตระหนี่ ๑ ความถือตัว ๑


“ผมหงอก พรรษามาก ไม่ได้ทำให้เป็นพระเถระเพราะเพียงอายุมากอาจเรียกได้ว่า คนแก่เปล่า ผู้ใดมีสัจจะ มีคุณธรรม อันมลทินครอบงำมิได้ จึงเป็น พระเถระ”



“ความดีเป็นเรื่องง่ายของ บัณฑิต แต่เป็นเรื่องยากของ คนพาล
คนพาลรู้ตัวว่าเป็นคนพาล ย่อมกลายเป็นบัณฑิตได้ เพราะเหตุนั้น
แต่ คนพาลที่คิดว่าตัวเองเป็นบัณฑิต เป็นคนโง่ โดยแท้ เพราะเหตุนั้น”


บรรดาทางทั้งหลาย...
มรรคมีองค์แปด ประเสริฐที่สุด
บรรดาบททั้งหลาย...
บทที่สี่ คืออริยสัจ ประเสริฐที่สุด
บรรดาธรรมทั้งหลาย…..
วิราคะ คือ การปราศจากความกำหนัดยินดี ประเสริฐที่สุด
บรรดาสัตว์สองเท้า…..
พระตถาคตเจ้าผู้มีจักษุ ประเสริฐที่สุด
มรรคมีองค์แปดนี่แลเป็นไปเพื่อทรรศนะอันบริสุทธิ์หาใช่ทางอื่นไม่
เธอทั้งหลายจงเดินไปตามมรรคมีองค์แปดนี้
อันเป็นทางที่ทำมารให้หลง ติดตามมิได้
เธอทั้งหลายจงตั้งใจปฎิบัติ เพื่อทำทุกข์ให้สิ้นไป


“การให้ทานนั้นถือเป็นสิ่งที่ประเสริฐ แม้..บัณฑิต เทวดา พรหม พึงสรรเสริญบุคคลผู้ให้ทาน แต่มีสิ่งที่ประเสริฐกว่า นั้นคือ พระนิพพาน เพราะเป็นบรมธรรมอันสูงสุด การแสดงธรรมมาทั้งหมดนี้ ก็เพื่อให้บรรลุไปถึงจุดหมาย คือ นิพพาน ซึ่งเป็นไปเพื่อหลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง”

“ ทำความดีอย่ายึดติด ผลของความดี ภูมิที่ดีก็ไม่มีให้ไปเกิด หมายถึง (ชั้นเทวดาและชั้นพรหม) ไม่ทำความชั่วก็ไม่ตกลงสู่อบายภูมิ หนทางนี้แล....ดับขันธ์นิพพาน”

ศรีอารย์......


โดย: ศรีอารย์ IP: 202.28.52.221 วันที่: 17 มีนาคม 2553 เวลา:23:01:58 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

katchan
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




Color Codes ป้ามด
Friends' blogs
[Add katchan's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.