บ้านของฉัน...ถนนต้นยาง


หลายๆ คนที่มาเที่ยวเชียงใหม่คงจะเคยผ่านเส้นทางที่ร่มรื่นเส้นนี้บ้างไม่มากก็น้อยถนนต้นยาง ใครๆ เค้าเรียกกันอย่างนั้น จริงๆ แล้วมันชื่อถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน ถนนเส้นนี้ยาวจากเชิงสะพานนวรัฐ อำเภอเมืองเชียงใหม่ ไปจนถึงอำเภอเมืองลำพูน แต่เฉพาะเขตเชียงใหม่เท่านั้นที่ปลูกต้นยางต้นใหญ่ๆ อย่างนี้ไว้ ส่วนเขตของลำพูนก็จะปลูกต้นขี้เหล็กไว้เป็นสัญลักษณ์ เป็นการแบ่งเขตแดนแบบชาญฉลาดของบรรพบุรุษเรา แม่เราบอกว่าเกิดมาแม่ก็เห็นต้นยางพวกนี้แล้ว คนสมัยก่อนใช้เส้นทางนี้เดินทางไปในตัวเมืองเชียงใหม่ รวมทั้งยายเราด้วย
ถ้าคุณอยู่บนจุดชมวิวบนวัดพระธาตุดอยสุเทพ ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นแนวต้นไม้เล็กๆ เป็นแถวยาวสีเขียวครึ้มๆ นั่นแหละค่ะถนนต้นยาง



ต้นยางสูงตระหง่านดูน่าเกรงขาม มีอายุเป็นร้อยๆ ปี เวลาที่เราขับรถผ่านถนนเส้นนี้เราชอบมองขึ้นไปบนลำต้นที่ใหญ่โตน่าเกรงขามและสูงเสียดฟ้า ดูครึ้มร่มรื่น สบายใจอย่างบอกไม่ถูก ขนาดเราเกิดและโตที่นี่ สัมผัสกับถนนสายนี้มานาน แต่เราก็ยังหลงเสน่ห์ของต้นยางบนถนนสายนี้ทุกครั้งที่ผ่าน


แต่บนความสวยงามย่อมแฝงไปด้วยอันตราย ในฤดูฝนที่มีพายุลมแรง จะมีประกาศติดไว้ให้เลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่น เพราะถนนเส้นนี้จะไม่มีความสวยงามหลงเหลืออยู่เลย จะมีแต่ความน่าสะพรึงกลัว เพราะไม่รู้ว่าจะโดนกิ่งยางตกใส่หัวหรือเปล่า ทั้งๆ ที่ทางราชการจะมีการตัดแต่งกิ่งยางทุกปี มันก็ยังอันตรายสำหรับคนบนท้องถนนอยู่ดี






ถ้าใครมีธุระรีบด่วน ที่จะต้องเดินทางขึ้นเชียงใหม่ หรือล่องไปลำพูน บอกไว้เลยว่าโปรดใช้เส้นทางอื่น ยิ่งในช่วงเวลาทำงานและหลังเลิกงาน เพราะแม้แต่รถมอเตอร์ไซด์ยังแทบจะแซงกันไม่ได้ เนื่องจากถนนเส้นนี้แคบมาก ขยายถนนไม่ได้ ไม่ใช่ว่าไม่มีงบประมาณ แต่ลองคิดดูว่าแล้วจะตัดต้นยางฝั่งไหนเพื่อขยายถนน คงจะต้องมีใครหลายๆ คน (รวมทั้งเราด้วย) ลุกขึ้นมาประท้วงแน่นอน






ประวัติโดยย่อของถนนต้นยาง


มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2442 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐ์ศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) เป็นผู้ริเริ่มนำพันธุ์ต้นยางมาปลูกสองข้างทาง จากขัว(สะพาน) ย่านอำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่ จนจรดเขตอำเภอเมืองลำพูน ท่านกำชับว่า ถ้าต้นยางตรงกับหน้าบ้านผู้ใดก็ให้เจ้าของบ้านผู้นั้นเอาใจใส่ทำรั้วล้อมรอบ เพื่อกันวัวควายเข้ามาเหยียบย่ำ และให้หมั่นรดน้ำพรวนดินดายหญ้าใส่ปุ๋ย โดยนำพันธุ์ต้นยางมาปลูกเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2425




ในปี พ.ศ. 2449 ( ร.ศ. 124) เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐ์ศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) ได้ปรับปรุงเส้นทางสายนี้อีกครั้งโดยให้ มิสเตอร์ โรเบิร์ต ข้าหลวงโยธาเป็นผู้ให้คำแนะนำ ทำให้เส้นทางสายนี้สภาพดีขึ้น มีความกว้างกว่า 3 วา เท่ากันตลอดทั้งเส้น (หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, ร.ศ. 124) เป็นที่มาของถนนสายเชียงใหม่-ลำพูนสืบมาจนถึงปัจจุบันนี้ ถนนสายนี้เริ่มต้นที่เชิงสะพานนวรัฐ ตรงไปตำบลหนองหอย และเริ่มเลียบแนวปิงห่างที่วัดกู่ขาวไปจนถึงลำพูน โดยถนนบางช่วงอยู่บนผนังดินดินธรรมชาติของปิงห่าง มีความยาวทั้งหมด27.25 กิโลเมตร ความกว้างผิวทางเฉลี่ย 5.98 เมตร
ลำต้นมหึมาของต้นยางนี้จะหาไม่พบอีกแล้วแม้แต่ในป่าภาคเหนือ พอเลยเขตเชียงใหม่เข้าเขตลำพูนก็ปลูกต้นขี้เหล็กให้รู้ว่าเป็นเขตแบ่งของสองจังหวัด ซึ่งต้นไม้ตลอดเส้นทางของถนนสายนี้มีร่วมสองพันต้น มีการปลูกเป็นแถวอย่างมีระเบียบ มีระยะห่างกันระหว่างต้นประมาณ 10 ถึง 20 วา ตลอดเส้นทาง
(//www.fm100cmu.com/blog/Lanna/content.php?id=289)




Create Date : 25 เมษายน 2554
Last Update : 25 เมษายน 2554 19:09:57 น.
Counter : 1378 Pageviews.

2 comments
  
ร่มรื่นจังเลยค่ะ
โดย: สัญญาลมปาก วันที่: 25 เมษายน 2554 เวลา:20:09:30 น.
  
ได้ยินชื่อ"ถนนต้นยาง" ก็เลยแวะมาเร็วพลัน
เพราะแน่ใจว่าต้องหมายความถึงถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน เป็นแม่นมั่น..แล้วก็จริงดังคาด

เมื่อยี่สิบปีก่อน พอดิบพอดี..โชคดีได้ทุนมาเรียนที่วิทยาลัยครูเชียงใหม่ (สมัยนั้น)
ต้องจากบ้านมาอยู่เชียงใหม่ถึงสี่ปี (ไม่ค่อยได้กลับเพราะอยู่ไกลถึงจันทบุรี)
ก็เลยผูกพันและหลงรักเชียงใหม่อย่างถอนตัวไม่ขึ้น
สำหรับถนนต้นยางสายนี้..ผ่านไป ผ่านมา หลายครั้งหลายหน
เวลานั่งรถเมล์ไปลำพูน ก็ชอบมองต้นยางไปเรื่อยๆ ..
ช่วงที่ไปฝึกสอนที่ป่าซาง ลำพูน..ก็ได้อาศัยถนนเส้นนี้อยู่บ่อยๆ ..มันเป็นถนนของความทรงจำเลยก็ว่าได้

ทุกวันนี้..ก็ยังคงคิดถึง คะนึงหา
และไม่ว่าจะอีกนานเท่าใด..
เชียงใหม่..และลำพูน ก็จะยังอยู่ในใจตลอดกาล




โดย: หกพันไมล์ วันที่: 25 เมษายน 2554 เวลา:21:45:34 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

kanoon&aobaoon
Location :
เชียงใหม่  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]



เมษายน 2554

 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
21
22
23
24
26
27
28
29
30
 
  •  Bloggang.com