สาระน่ารู้เกี่ยวกับ แอร์บ้าน และระบบไฟฟ้าในบ้าน
Group Blog
 
 
พฤษภาคม 2556
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
29 พฤษภาคม 2556
 
All Blogs
 
รีวิว...เครื่องปรับอากาศ SAMSUNG Smart WiFi Inverter ตอนที่ 2

คำแนะนำ...สำหรับใครที่เพิ่งเปิดมาเจอหน้านี้ ซึ่งเป็นรีวิวตอนที่ 2 (ถ้าหากท่านยังไม่ได้อ่านตอนที่ 1) แนะนำว่าให้กลับไปอ่านที่รีวิวตอนที่ 1 ตามลิงค์ข้างล่าง

Link : รีวิวตอนที่ 1


สำหรับรีวิวตอนที่ 2 จะเป็นรีวิวในส่วนของ รายละเอียดในแต่ละส่วนของเครื่องปรับอากาศ

หลังจากเลือกเครื่องปรับอากาศได้แล้วผมก็รอจนถึงช่วงที่ว่างเว้นจากภารกิจแล้วเดินทางมายังบ้านสวนของคุณพ่อที่อยู่อีกจังหวัดหนึ่งพร้อมด้วยเครื่องปรับอากาศตัวใหม่ และเครื่องไม่เครื่องมือบางส่วนเท่าที่จำเป็น


ชุดเครื่องปรับอากาศที่จะนำมาติดตั้ง ประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆแบ่งบรรจุมาในกล่องกระดาษ 3 ใบ



กล่องใบแรกซึ่งใหญ่และหนักสุดจะบรรจุชุดคอยล์ร้อน Condensing Unit หรือส่วนที่ติดตั้งอยู่ภายนอกอาคาร



กล่องอีกใบที่มีขนาดและน้ำหนักลองลงมาจากใบแรกจะเป็นกล่องที่บรรจุชุดคอยล์เย็น Fan coil Unit หรือส่วนที่อยู่ภายในห้องภายในกล่องใบนี้ยังมีคู่มีการใช้งานกับรีโมทคอนโทรล และถ่านอัลคาไลน์ ขนาด AAAใส่มาให้จำนวน 2 ก้อน



กล่องอีกใบที่เล็กและเบาสุดบรรจุชุดท่อนำสารทำความเย็นแบบสำเร็จรูป เป็นท่อทองแดงแบบหนาจำนวนสองท่อหุ้มมาด้วยฉนวนโฟมสีขาว มีความยาวท่อละ 4 เมตรถูกอุดปลายท่อทั้งสองด้านไว้ด้วยจุดพลาสติกเพื่อป้องกันสิ่งสกปรกเข้าไปในท่อโดยที่ท่อทั้งสองจะถูกม้วนไว้เป็นขดบรรจุมาในกล่อง ประกอบด้วย
-    ท่อทองแดงขนาด ½ นิ้วซึ่งเป็นท่อทางดูด (Suction Line) สำหรับสารทำความเย็นสถานะแก๊ส
-    ท่อทองแดงขนาด ¼ นิ่วซึ่งเป็นท่อทางอัด (Discharge Line) สำหรับสารทำความเย็นสถานะของเหลว



เริ่มเปิดกล่อง ลำดับแรก คือชุดคอยล์ร้อน Condensing Unit



เมื่อตัดสายพลาสติกที่รัดกล่องออก แล้วยกส่วนของกล่องที่ครอบฐานโฟม ออกไป เราก็จะพบคอยล์ร้อนที่ถูกห่อด้วยแผ่นพลาสติกมาจากผู้ผลิต





เมื่อนำพลาสติกที่หุ้มตัวคอยล์ร้อนออกไปก็จะพบกับโฉมหน้าของคอยล์ร้อน ที่มีตัวถังเป็นเหล็กเคลือบด้วยสีขาวออกไปทางโทนเทาอ่อนๆ
ชุดคอยล์ร้อนชุดนี้ มีน้ำหนักประมาณ 32 – 33 กิโลกรัมซึ่งเป็นน้ำหนักของชุดคอยล์ร้อนพร้อมกับสารทำความเย็น R-410a เต็มระบบ (จำนวน 850 กรัม)ซึ่งได้ถูกบรรจุมาให้จากโรงงานผู้ผลิต

สารทำความเย็น R-410a จำนวน 850 กรัม ที่ถูกบรรจุมาให้จากโรงงานผู้ผลิตเป็นจำนวนที่เพียงพอต่อการนำไปติดตั้งใช้งานแบบปกติ ที่มีความยาวท่อไม่เกิน 4เมตร(ตามที่ให้มา) หากในการติดตั้งมีความจำเป็นต้องเดินท่อยาวมากกว่า4 เมตร จะต้องมีการเติมสารทำความเย็นเพิ่มตามความยาวของท่อส่วนที่เพิ่มขึ้นซึ่งรายละเอียดในส่วนนี้มีระบุไว้ในคู่มือการติดตั้งที่ให้มา






บนตัวถังคอยล์ร้อนในส่วนด้านหน้า ก็จะมีสติ๊กเกอร์ตราสัญลักษณ์ของแบรนด์ SAMSUNG และฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ติดเอาไว้




มาดูในส่วนรายละเอียดของข้อมูลด้านการใช้พลังงานที่แสดงไว้ในฉลากประหยัดไฟ เบอร์
ค่า EER (Energy Efficiency Ratio) หรืออัตราส่วนประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเครื่องปรับอากาศ
ซึ่งเครื่องปรับอากาศเครื่องนี้ มีค่า EER อยู่ที่12.19 
ข้อมูลด้านการใช้พลังงานที่ผู้ผลิตให้มาสำหรับเครื่องปรับอากาศเครื่องนี้ มีอัตราการประหยัดไฟเพิ่มขึ้นจากเดิม 30– 60 % เมื่อเทียบกับเครื่องปรับอากาศแบบธรรมดา






ตรงมุมขวาของฐานโฟมที่วางคอยล์ร้อนมีห่อพลาสติกซุกไว้อยู่ ซึ่งภายในห่อนั้นจะบรรจุแผ่นยางรองกันสะเทือนมีให้เพื่อใช้สวมเข้ากับฐานวางคอยล์ร้อนทั้งสี่ด้านแผ่นยางนี้เหมาะสำหรับกรณีที่ติดตั้งคอยล์ร้อนบนขาแขวน หรือติดตั้งแบบวางลงบนพื้นราบโดยไม่ใช้ขายางรอง





ด้านข้างของคอยล์ร้อน(ซ้าย – ขวา)ซึ่งด้านขวาจะเป็นฝั่งที่มีจุดเชื่อมต่อท่อนำสารทำความเย็น และจุดต่อสายไฟโดยที่จุดทั้งสองจะอยู่ภายในฝาครอบ และในด้านนี้ก็ยังมีฉลากแสดงรายละเอียด (NamePlate) และคำเตือนต่างๆแสดงไว้อย่างชัดเจน





ฉลากเนมเพลต (Name Plate) ที่ใช้แสดงข้อมูลทางเทคนิคของเครื่องปรับอากาศรวมถึงข้อมูลรายละเอียดผลิตภัณฑ์ และข้อมูลของผู้ผลิต






ฉลากอีกส่วนหนึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยโดยฉลากส่วนนี้มีการระบุข้อควรระวังและคำเตือนเอาไว้

และข้อควรระวังที่ผมอยากจะฝากเพิ่มเติมคือเรื่องการดำเนินการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ระบบ Inverter หรือเครื่องปรับอากาศที่ใช้สารทำความเย็น R-410a การดำเนินการติดตั้งและซ่อมบำรุงทุกครั้งควรจะเลือกใช้ช่างที่ได้ผ่านการอบรมมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งโดยทั่วไปแล้วช่างจะต้องผ่านหลักสูตรการฝึกอบรมโดยบริษัทผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศก่อนที่จะออกให้บริการในงานจริงทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยในระหว่างการติดตั้งและการใช้งาน

เนื่องจากเครื่องปรับอากาศระบบ Inverter มีระบบการควบคุมและการทำงานที่ซับซ้อนต่างจากเครื่องปรับอากาศแบบทั่วไปซึ่งระบบ Inverter จะมีภาคควบคุมและประมวลผลที่ซับซ้อนกว่ามากที่สำคัญคือเรื่องสารทำความเย็นที่ใช้ในเครื่องที่เป็นระบบ Inverter คือสารทำความเย็นตัวใหม่ที่มีชื่อว่า R-410a ซึ่งจะต่างจากเครื่องปรับอากาศแบบธรรมดาทั่วไปที่ใช้สารทำความเย็นR-22 

ที่ผมให้ความสำคัญในส่วนนี้เป็นพิเศษ ก็เพราะว่าสารทำความเย็นตัวใหม่ ที่มีชื่อว่า R-410a มีลักษณะทางกายภาพและคุณสมบัติต่างกับ R-22 หากมีการดำเนินการอย่างไม่ถูกวิธีโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาจก่อให้เกิดอันตรายได้






มาดูกันต่อในส่วนด้านหลัง ของชุดคอยล์ร้อน



หลายคนอาจจะสังเกตเห็นบริเวณด้านหลังชุดคอยล์ร้อนมีท่อใสหุ้มสายสีดำ โผล่ออกมาจากในตัวเครื่อง ดูใกล้ๆมีหน้าตาเหมือนตัวรับสัญญาณอะไรสักอย่างหรือคล้ายกับเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิในชุดควบคุมของเครื่องปรับอากาศ

ซึ่งตัวผมเองก็ได้พยายามหาข้อมูลทั้งในคู่มือ แผ่นพับและเว็บไซด์ของผู้ผลิต แต่ก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าส่วนนี้มีหน้าที่หลักๆเพื่ออะไรแต่หลังจากลองพิจารณาไล่สายเข้าไปในบอร์ดควบคุมภายใน ดูจากรูปแบบวงจรแล้วคาดว่าน่าจะเป็นเซ็นเซอร์สำหรับตรวจวัดอุณหภูมิ




ส่วนของแผงระบายความร้อน หรือแผงควบแน่น (Condenser) ที่ใช้ในคอยล์ร้อน (Condensing Unit) เครื่องปรับอากาศรุ่นนี้ใช้แผงระบายความร้อนที่เป็นแบบอลูมิเนียมทั้งท่อและครีบโดยจะเป็นท่อแบบแบนวางเรียงกันซึ่งมีอลูมิเนียมแผ่นบางๆขดไปมาเรียงซ้อนกันอยู่ในช่องว่างระหว่างท่อลักษณะคล้ายกับแผงระบายความร้อนในเครื่องปรับอากาศของรถยนต์ และแผงหม้อน้ำรถยนต์



ครีบแบบนี้เป็นแบบเดียวกับที่ผมเจอในเครื่องปรับอากาศ InverterSamsung เครื่องที่ได้มาติด และทำรีวิวไปในชุดก่อนคาดว่าคงจะเป็นมาตรฐานเดียวกันในเครื่องปรับอากาศของ Samsung


แผงครีบระบายความร้อนในเครื่องปรับอากาศชุดนี้ต่างจากครีบระบายความร้อนของเครื่องปรับอากาศแบบดั้งเดิมที่เป็นแบบท่อทองแดงกับครีบอลูมิเนียมซึ่งใช้ท่อทองแดงสอดผ่านอลูมิเนียมแผ่นที่เรียงซ้อนกัน โดยท่อจะวิ่งแบบขดไปขดมา
เรียกว่า แผงระบายความร้อน หรือแผงควบแน่น แบบท่อและครีบ



แผงควบแน่น แบบท่อและครีบ ที่ใช้ในเครื่องปรับอากาศเป็นรูปแบบที่ถูกใช้กันมาตั้งแต่ยุคแรกๆ
นับตั้งแต่เครื่องปรับอากาศ เข้ามาในประเทศไทยยุคแรกๆจนถึงทุกวันนี้ที่เราผลิตเครื่องปรับอากาศได้เองในประเทศแผงควบแนบรูปแบบดั้งเดิม(แบบโบราญ)ก็ยังคงมีใช้อยู่แพร่หลาย

ถ้าเทียบเรื่องต้นทุนของแผงควบแน่นหรือครีบระบายความร้อนทั้งสองแบบหากเทียบโดยใช้ข้อมูลด้านราคาของวัตถุดิบยังไงทองแดงก็ย่อมมีราคาสูงกว่าอลูมิเนียม
ซึ่งก็ไม่แปลกที่หลายๆคนอาจคิดว่าแผงระบายความร้อนที่เป็นอลูมิเนียมทั้งหมดจะมีราคาที่ถูกกว่าแผงระบายความร้อนแบบดั้งเดิมที่เป็นท่อทองแดงกับครีบอลูมิเนียม

แต่จากการที่ผมลองหาข้อมูลเพิ่มเติม พบว่าต้นทุนของค่าใช้จ่ายในการผลิตแผงระบายความร้อนแบบที่เป็นอลูมิเนียมทั้งชุดนั้นสูงกว่าต้นทุนค่าใช้จ่ายในการผลิตแผงระบายความร้อนแบบดั้งเดิม
ต้นทุนที่สูงขึ้นไม่ได้มาจากราคาวัตถุดิบแต่เป็นต้นทุนที่เกิดจากกระบวนการผลิตเพราะในกระบวนการผลิตแผงแบบอลูมิเนียมทั้งท่อและครีบจะทำได้ยากกว่าต้องใช้เครื่องจักรที่ออกแบบมาพิเศษส่งผลให้ทางผู้ผลิตต้องลงทุนในเครื่องจักรแบบใหม่ ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง



เรื่องประสิทธิภาพในการนำมาใช้กับระบบทำความเย็นประเภทเครื่องปรับอากาศ
สำหรับการนำมาใช้งานกับเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนชนิดระบายความร้อนด้วยอากาศพบว่าแผงระบายความร้อนอลูมิเนียมทั้งชุดจะมีประสิทธิภาพการดึงความร้อนออกจากสารทำความเย็นได้ดีกว่าเพราะการไหลเวียนของสารทำความเย็นนั้นสามารถทำได้ง่ายกว่าและมีพื้นที่สัมผัสที่มากกว่า (ตามหลักการ Coefficient Heat transfer)

สำหรับแผงควบแน่น หรือแผงคอยล์ร้อน ในชุด Condensing Unit ที่ใช้กับเครื่องปรับอากาศเครื่องนี้ ทางผู้ผลิตมีการรับประกันในส่วนของแผงควบแน่น เป็นเวลา 3 ปี


มาเปิดฝาดูภายในคอยล์ร้อนกันต่อ 
ในภาพ...คือภาพรวมภายในชุดคอยล์ร้อน Condensing Unit





ใบพัดของพัดลมระบายความร้อน ทำจากพลาสติกแข็ง



มอเตอร์ที่ขับเคลื่อนพัดลมระบายความร้อนเป็นมอเตอร์ชนิดปิดสนิท เพื่อป้องกันน้ำ และสิ้งแปลกปลอมอื่นๆอย่างเช่น ฝุ่น หรือแมลง


มาดูในส่วนสำคัญ ที่เป็นหัวใจหลักในระบบเครื่องทำความเย็นนั่นก็คือคอมเพรสเซอร์ ซึ่งมีหน้าที่เป็นตัวดูดและอัดสารทำความเย็นให้ไหลเวียนในระบบทำความเย็น




คอมเพรสเซอร์ของเครื่องปรับอากาศเครื่องนี้ถูกห่อหุ้มด้วยวัสดุที่เป็นฉนวนและช่วยดูดซับเสียงในแวดวงช่างแอร์มักเรียกว่า “ผ้าห่มคอมเพรสเซอร์” ซึ่งมีหน้าที่หลักๆในการป้องกันเสียงรบกวนที่เกิดขณะคอมเพรสเซอร์ทำงาน


ฉนวนหรือผ้าห่มคอมเพรสเซอร์ที่ใส่มาหลายชั้นทำให้เวลาขณะที่เครื่องทำงาน สิ่งที่ผมได้ยินรู้สึกว่าเสียงรบกวนที่ออกมาภายนอกตัวเครื่องมีน้อย เครื่องเดินได้เงียบเลยทีเดียว



หน้าตาของตัวคอมเพรสเซอร์ มีกำลังทำความเย็นขนาด 17,881.95 BTU ถือว่ามีขนาดกะทัดรัด และเล็กลงเมื่อเทียบกับคอมเพรสเซอร์แบบธรรมดาที่ใช้กันในอดีต

คอมเพรสเซอร์ที่ใช้ในเครื่องปรับอากาศเครื่องนี้นี้ตัวมอเตอร์ต้นกำลังที่อยู่ภายในคอมเพรสเซอร์ เป็นมอเตอร์ที่ใช้กับระบบไฟ 3 เฟส 380V ซึ่งจะถูกนำมาใช้ร่วมกับชุดควบคุมความถี่ในระบบอินเวอร์เตอร์

เมื่อเปิดออกมา ผมพยายามหาว่าตัวนี้เป็นคอมเพรสเซอร์ที่ทางSAMSUNG ผลิตเองหรือไปนำเอาคอมเพรสเซอร์ยี่ห้ออื่นมาใช้ ล้วงมือเข้าไปลูบๆดูข้างหลังคอมเพรสเซอร์ก็สัมผัสเจอสติ๊กเกอร์อยู่ข้างในผมเลยไปหาเอากระจกเงาอันเล็กๆมาส่องดูสติ๊กเกอร์ที่อยู่ด้านในปรากฏว่าประทับตราของ SAMSUNG








Create Date : 29 พฤษภาคม 2556
Last Update : 9 มิถุนายน 2556 3:16:53 น. 0 comments
Counter : 14048 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

KanichiKoong
Location :
สงขลา Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 275 คน [?]




ช่องทางการติดต่อผู้จัดทำ

- หลังไมค์
- E-mail : aum_tawatchai@hotmail.com
-------------------------------------
เนื้อหาที่ปรากฏ อนุญาติให้นำไปใช้เพื่อการศึกษา/หาความรู้ ซึ่งไม่เป็นการนำไปใช้ในเชิงธุรกิจ
-------------------------------------
New Comments
Friends' blogs
[Add KanichiKoong's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.