สาระน่ารู้เกี่ยวกับ แอร์บ้าน และระบบไฟฟ้าในบ้าน
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2558
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
13 มีนาคม 2558
 
All Blogs
 
การเดินท่อแอร์โดยใช้ท่อสั้นกว่าที่ให้มา





ในกรณีที่เราซื้อแอร์ใหม่ ชุดแอร์ที่ซื้อมาใหม่นั้น มักจะมีการแถมท่อทองแดงหุ้มฉนวนมาให้จำนวนสองเส้น โดยท่อแต่ละเส้นก็มีความยาวที่ประมาณ 4 เมตร ท่อที่ให้มาด้วยพร้อมกับแอร์ก็เพื่อนำมาใช้เป็นท่อทางเดินสารทำความเย็น(ท่อน้ำยา) เชื่อมต่อระหว่าง ชุดคอยล์เย็น (
Fan coil Unit) และ ชุดคอยล์ร้อน (Condensing Unit) แต่ในการติดตั้งจริง บางครั้งท่อที่ต้องใช้จริงก็ไม่ถึง 4 เมตร เพราะระยะทางห่างกันไม่มาก 



ในกรณีที่ชุดคอยล์เย็น (Fan coil Unit) และชุดคอยล์ร้อน (Condensing Unit) ถูกติดตั้งในระยะที่ใกล้กันมากๆ หรือแบบประมาณว่า ท่อที่ออกจากคอยล์เย็น พอทะลุกำแพงออกมากก็เจอชุดคอยล์ร้อนเลย ซึ่งกรณีลักษณะนี้ท่อทองแดงยาวประมาณ 4 เมตร ที่มาพร้อมเครื่องจะต้องเหลืออยู่มากกว่าครึ่งแน่นอน

ช่างที่ติดตั้งแอร์โดยทั่วไปหากเจอกรณีดังกล่าวก็จะมีวิธีจัดการอยู่สองวิธีด้วยกัน คือ ตัดท่อส่วนที่เกินออกไป หรือไม่ก็ขดม้วนท่อส่วนที่เกินมาเก็บหลบเอาไว้ด้านข้างหรือด้านหลังคอยล์ร้อน ซึ่งจะใช้วิธีไหน ก็ขึ้นกับประสบการและดุลยพินิจของช่างแต่ละราย


แต่ส่วนใหญ่ถ้าเป็นกรณีที่เดินท่อสั้นมากๆ มีท่อส่วนเกินเยอะช่างทั่วไปก็มักจะใช้การตัดส่วนเกินออกเสียมากกว่า เพราะท่อส่วนเกินที่ตัดออกมานั้น ช่างสามารถเก็บกลับไปใช้ประโยชน์ในงานอื่นๆได้อีก หรือไม่ก็เอาไปรวมๆกันขายเป็นทองแดงก็ได้ราคาดีไม่น้อย และอีกเหตุผลหนึ่งที่เจ้าของแอร์ฟังแล้วรู้สึกโอเคกว่า ก็คือเหตุผลเรื่องความสวยงามนั่นเอง เพราะมุมมองเจ้าของบ้านส่วนใหญ่ก็มักจะเห็นว่า การติดตั้งแบบที่ท่อเดินเข้าเครื่องพอดี ย่อมดูดีกว่าการขดม้วนท่อที่เหลือไว้

แต่หากท่านใดที่ว่าจ้างช่างมาติดแอร์ให้ แล้วหลังจากที่ติดตั้งเสร็จกลับพบว่าช่างเดินท่อแอร์โดยขดม้วนท่อที่เหลือเอาไว้ใกล้ๆกับคอยล์ร้อน ก็อาจจะตกใจหรือรู้สึกรับไม่ได้ จนอยากจะโวยวายว่าช่างรายนี้ขี้เกียจหรือทำงานชุ่ย 

ซึ่งถ้าเจอเช่นนี้ อย่าเพิ่งตกใจหรือโวยวายใส่ช่าง และไม่ต้องกังวลจนต้องเรียกช่างมาแก้งานทันที เพราะการติดตั้งโดยขดม้วนท่อที่เหลือเอาไว้ ทั้งๆที่ถ้าหากช่างจะตัดท่อส่วนเกินออกไปเก็บไว้ใช้เองก็สามารถทำได้ แต่ก็กลับเลือกขดท่อเก็บไว้ให้แทน ก็แสดงว่าช่างได้พิจารณาแล้วว่าระยะมันสั้นเกินหากจะตัดท่อออกเลย และอีกเหตุผลหนึ่งที่ช่างที่ม้วนท่อไว้ ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าช่างที่มาติดตั้งให้นั้น เป็นผู้ที่เคยผ่านการอบรมจากผู้ผลิตแอร์มาแล้วก็เป็นได้ เพราะการอบรมทางด้านเทคนิคที่ผู้ผลิตแอร์แต่ละรายได้จัดขึ้น ก็พบว่าบ่อยครั้งที่วิทยากรผู้บรรยายมักจะแนะนำให้ใช้วิธีการม้วนท่อส่วนเกินเอาไว้แทนการตัดทิ้ง

ผู้ผลิตแอร์บางยี่ห้อ ก็ได้แนะนำให้ใช้วิธีการม้วนท่อเป็นขด แทนการตัดท่อส่วนที่เหลือออกไป เพราะการม้วนท่อขดเก็บไว้จะทำให้ระยะทางที่น้ำยาแอร์ไหลผ่าน มีอยู่พอดีตรงตามที่ผู้ผลิตได้กำหนดและออกแบบมา ทั้งนี้ผู้ผลิตแอร์บางรายก็อาจจะไม่ได้แนะนำในส่วนนี้เอาไว้ ซึ่งจะทำแบบไหนก็ขึ้นกับความเห็นสมควรของช่างผู้มีประสบการณ์


หากจะพูดกันตามตรง ในเรื่องประสิทธิภาพการทำงานของแอร์ ตามหลักการแล้วการที่แอร์แต่ละเครื่องจะถูกผลิตออกมาเพื่อวางจำหน่ายและใช้งานจริง ผู้ผลิตแอร์แต่ละรายได้ออกแบบและคำนวณรายละเอียดส่วนต่างๆไว้หมดแล้วไม่เว้นแม้แต่เรื่องการใช้ท่อ ซึ่งท่อที่ผู้ผลิตได้ให้มาพร้อมกับตัวเครื่องนั้นย่อมมีขนาดและความยาวที่เหมาะสม ตรงตามการออกแบบที่สุดแล้ว

โดยความยาวท่อประมาณ 4 เมตร ที่ผู้ผลิตแอร์แต่ละยี่ห้อได้ให้มาพร้อมกับตัวเครื่อง ก็เป็นระยะความยาวท่อโดยประมาณ ที่ผู้ผลิตคิดคำนวณออกมาแล้วเห็นว่าว่าเหมาะสมที่สุด และในกรณีที่ซื้อแอร์มาใหม่ส่วนใหญ่ทุกยี่ห้อจะบรรจุสารทำความเย็น(น้ำยาแอร์) มาให้พร้อมที่ในชุดคอยล์ร้อนเพียงพอต่อการนำไปติดตั้งใช้งานได้ทันที

ปริมาณน้ำยาแอร์ที่ใส่มาให้ในแอร์แต่ละเครื่องจะเป็นปริมาณที่เพียงพอสำหรับการใช้งาน อิงตามความยาวท่อที่ประมาณ 4 - 5 เมตร และส่วนใหญ่ก็มักจะเผื่อสำหรับการติดตั้งที่ต้องต่อท่อเพิ่มได้อีกประมาณไม่เกิน 10 - 15 เมตร ซึ่งหากเพิ่มท่อมากกว่าที่ระบุมาในคู่มือ ก็จะต้องเพิ่มน้ำยาตามสัดส่วนที่กำหนดในคู่มือ เพราะระยะความยาวของท่อที่ใช้นั้นมีผลโดยตรงกับปริมาณน้ำยาและประสิทธิภาพที่ได้


แต่ถ้าเป็นกรณีที่ระยะการเดินท่อที่สั้นมากๆระยะของท่อที่ใช้มีไม่ถึง 1 เมตร การตัดท่อส่วนเกินออก จะทำให้ระยะของท่อสั้นเกินไปเยอะ อาจจะมีผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของแอร์ เพราะต้องไม่ลืมว่าปริมาณน้ำยาที่ใส่มาให้จากโรงงานนั้นอ้างอิงตามความยาวท่อที่ประมาณ 4 - 5 เมตร แต่เมื่อท่อที่ใช้จริงถูกตัดออกไปมากเกินกว่าครึ่ง ในขณะที่ปริมาณน้ำยายังคงเท่าเดิมตามที่ผู้ผลิตให้มา ย่อมมีผลต่อกระบวนการเปลี่ยนสถานะของน้ำยาแอร์อย่างแน่นอน

เนื่องจากในกระบวนการทำความเย็นของแอร์ คือน้ำยาในระบบที่ถูกฉีดลดแรงดันแล้วจะมีการระเหยเปลี่ยนสถานะจากของเหลวระเหยเป็นไอ กระบวนการระเหยเปลี่ยนสถานะของน้ำยาจะดึงเอาความร้อนที่อยู่รอบๆเข้ามาทำให้บริเวณนั้นเกิดอุณหภูมิต่ำลง แล้วจากนั้นไอของน้ำยาที่ระเหยแล้วก็จะถูกดูดกลับเข้าสู่คอมเพรสเซอร์ เพื่อเริ่มกระบวนการอัดออกไปและเริ่มวัฏจักรใหม่อีกครั้ง

และการที่ท่อแอร์ถูกตัดออกไปเกินกว่าครึ่ง แต่ปริมาณน้ำยายังคงเท่าเดิม เมื่อน้ำยาแอร์มีระยะทางให้ไหลไปสั้นลงกว่าเดิมมากๆ ก็จะมีผลทำให้น้ำยาบางส่วนระเหยไม่ทันหมด ก็ต้องเข้าสู่คอมเพรสเซอร์แล้ว  แต่เนื่องจากลิ้นของคอมเพรสเซอร์แอร์ ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ดูดน้ำยาในสถานะแก๊สหรือไอเข้ามาเท่านั้น การที่น้ำยาระเหยไม่ทันหมด ทำให้มีน้ำยาบางส่วนที่มีสถานะเป็นของเหลวอยู่ ถูกดูดเข้าไปในคอมเพรสเซอร์ด้วย และนี่จะส่งผลเสียทำให้คอมเพรสเซอร์แอร์มีอายุการใช้งานที่สั้นลง อีกทั้งค่าแรงดันที่วัดได้จากท่อทางดูดจะมีค่าสูงกว่าค่ามาตรฐานไปเยอะ และกระแสไฟฟ้าที่แอร์ใช้งานก็ย่อมมีค่าสูงตามไปด้วย

ในกรณีของแอร์รุ่นที่เราใช้งานกันอยู่ในปัจจุุบัน ส่วนใหญ่คอมเพรสเซอร์จะเป็นแบบโรตารี่ ซึ่งที่ด้านข้างของคอมเพรสเซอร์แบบโรตารี่จะมีส่วนที่เป็นเหมือนถังแคปซูลขนาดเล็กติดอยู่ ซึ่งนั่นก็คือส่วนของถังพักน้ำยา (Accumulator) โดยถังพักน้ำยาจะเป็นเหมือนปราการด่านสุดท้ายที่ป้องกันสารทำความเย็นเหลวที่ระเหยไม่หมดกลับเข้าสู่คอมเพรสเซอร์
แต่ต้องเข้าใจด้วยว่าถังพักน้ำยาก็มีระดับขีดความสามารถในการจัดการน้ำยาเหลวที่ไหลปนเข้ามา ซึ่งการออกแบบถังพักน้ำยาหลักๆจะเน้นไว้สำหรับรองรับน้ำยาเหลวที่เป็นสถานะไม่ทันเพราะแผงคอยล์มีประสิทธิภาพลดลงจากความสกปรกที่เกิดขึ้น ยิ้งแผงคอยล์แอร์สกปรกมากๆ น้ำยาก็มีอุปสรรค์ในการแลดเปลี่ยนความร้อน ส่งผลโดยตรงต่อการกลายสถานะไม่หมด และยิ่งมาเจอระยะท่อทางกลับที่สั้นมากๆ หากน้ำยาเหลวมีกลับเข้ามามากเกินไปก็คงไม่เป็นผลดีในระยะยาวแน่


ภาพตัดแสดงชิ้นส่วนภายในคอมเพรสเซอร์แบบโรตารี่ โดยหมายเลข 3 คือ
ถังพักน้ำยา (Accumulator)



หากมีความจำเป็นที่จะต้องเดินท่อน้ำยาในระยะที่สั้นมากๆ อย่างเช่นใช้ท่อไม่ถึง 1 เมตร (ที่เหลือตัดออก) ก็ควรพิจารณาดูค่าแรงดันน้ำยาที่วัดได้ควบคู่กับค่ากระแส ซึ่งในขณะที่เดินเครื่องถ้าค่าแรงดันที่วัดได้มาอยู่ที่ระดับเกินกว่า 85 PSIG ก็ควรปล่อยน้ำยาส่วนเกินออกจากระบบบ้าง เพราะน้ำยาที่มีมากเกินความต้องการ มันก็ย่อมเป็นโหลดหรือเป็นภาระให้คอมเพรสเซอร์มายิ่งขึ้น ส่งผลให้คอมเพรสเซอร์ต้องทำงานหนัก กินไฟมากขึ้น และในระยะยาวก็มีอายุการใช้งานที่สั้นลงกว่าเดิมด้วย

แต่หากเป็นไปได้ถ้าไม่ติดขัดเน้นความสวยงามมากเป็นพิเศษในบริเวณที่วางชุดคอยล์ร้อน การติดแอร์ที่มีระยะของท่อสั้นมาก ท่อส่วนที่เหลือนั้นจะใช้วิธีการขดม้วนเก็บไว้ในบริเวณใกล้ๆชุดคอยล์ร้อน ก็เป็นอีกทางเลือกที่ดีกว่าในด้านประสิทธิภาพ เพราะเราได้ใช้ความยาวท่อที่เหมาะสมที่สุดตามที่ผู้ผลิตกำหนดมา ไม่ต้องมีการปล่อยน้ำยาทิ้งแต่ประการใด ส่วนจะขดท่อได้สวยไม่สวยขึ้นอยู่กับฝีมือช่าง ซึ่งช่างบางรายก็ทำงานออกมาได้เนี๊ยบเก็บงานได้มิดชิด และนอกจากนี้การม้วนท่อส่วนที่เกินไว้ ก็มีข้อดีอีกอย่างคือ ถ้าหากแอร์เครื่องนี้มีการย้ายไปติดที่อื่นในอนาคต การขดท่อม้วนเก็บไว้ก็ช่วยให้ท่อของเดิมสามารถนำไปใช้ร่วมกันได้อีก 





Create Date : 13 มีนาคม 2558
Last Update : 13 มิถุนายน 2559 14:02:41 น. 6 comments
Counter : 60853 Pageviews.

 
ม้วนท่อแล้วน้ำมันจะค้างอยู่จุดต่ำสุดของท่อที่ม้วน รอจนกว่าจะเต็มถึงเกินการดูดน้ำมัน ตามรูปม้วนอยู่ 2 ขด รัศมีใหญ่ นำมันค้างคงค้างเยอะ น้ำส่วนที่เหลือในคอมจะพอไหมครับ เรื่องน้ำยาส่วนคอมโรตารี่จะมี Acumulator อยู่ น่าจะช่วยป้องกันน้ำยาเหลวได้รึเปล่า


โดย: ช่าง IP: 110.170.246.14 วันที่: 8 มิถุนายน 2558 เวลา:10:38:45 น.  

 
ตอบคุณช่าง ความคิดเห็นที่1

เรื่องน้ำมันตกค้างในบริเวณที่ต่ำสุดของม้วนท่อ ถ้ากรณีที่แอร์มีปริมาณน้ำมันอยู่ในระดับที่เพียงพอ ตามที่ผู้ผลิตกำหนด ขณะที่เครื่องทำงานอยู่ การไหลเวียนของน้ำมันหล่อลื่นในระบบ ส่วนหนึ่งมันก็วนได้ตามแรงอัดและแรงดันน้ำยาอยู่แล้ว
แต่ในขณะที่เครื่องหยุดทำงาน ก็อาจจะมีน้ำมันไหลลงมารวมในจุดนี้บ้างเป็นธรรมดา

จะว่าไป การที่น้ำมันมาตกค้าง ก็ลักษณะคล้ายๆกรณีการทำแท็ปดักน้ำมัน (Oil Trap) สำหรับเคสที่ที่วางคอยล์ร้อนสูงกว่านั่นเองครับ
การดักน้ำมันให้รวมในจุดที่ต่ำสุด มักจะทำไว้เพื่อหวังผลในตอนที่เครื่องหยุดเดินครับ เพราะว่าเวลาที่เครื่องหยุดเดิน น้ำมันที่มาค้างอยู่ไม่มีแรงดันช่วยส่ง ก็จะค่อยๆไหลมารวมและถูกดูดกลับเข้าไปได้อย่างรวดเร็วเมื่อเครื่องทำงานอีกครั้งครับ
แต่ไม่มีผลในขณะเครื่องทำงาน เพราะน้ำมันไหลไปตามแรงดันที่ถูกอัดออกมา

อันที่จริงการม้วนท่อก็แทบไม่ส่งผลเสียกับการไหลของน้ำมันในขณะใช้งาน ไม่ได้มีผลเสียโดยตรงต่อระบบแอร์ครับ แอร์ยังคงทำงานได้ตามปกติ

ผมมีกรณีที่ช่วยยืนยันอยู่บ้าง ยกตัวอย่างเคสหนึ่งที่เป็นแอร์ของบ้านผู้ใหญ่ที่ผมสนิทและเคารพนับถือ ซึ่งติดตั้งแอร์ Mitsubishi Electric แบบ wall type เมื่อประมาณช่วง พศ.2534-35 แอร์ตัวนั้นเป็นรุ่นเก่า การต่อท่อแหวกแนวไปจากรุ่นปัจจุบัน เพราะที่ไม่มีเซอร์วิสวาล์ว แต่เป็นวาล์วต่อแบบเช็ควาล์วหรือวล์วแบบคูปเปอร์ ติดอยู่ช่วงกลางท่อ แอร์ที่ซื้อมาจะมีท่อมาพร้อม ความยาวราวๆ 3-4 เมตร ซึ่งท่อครึ่งหนึ่งติดกับคอยล์เย็น และท่ออีกครึ่งติดกับคอยล์ร้อนที่อัดน้ำยามาพร้อม การติดก็แค่ขันวาล์วตรงกลาวต่อกัน เมื่อขันเข้าไปมันก็จะกดแผ่นไดอะเฟรมเปิดวาล์วให้ระบบต่อถึงกันได้ครับ แอร์เครื่องนั้นที่ติดในยุคนั้น ท่อใช้ไม่หมด ตัดทิ้งไม่ได้ เพราะเหมือนจะบังคับมาแล้วด้วยว่าท่อที่เหลือให้ม้วนขดเอาไว้ ซึ่งการติดแบบม้วนท่อไว้ แอร์เครื่องนั้นทุกวันนี้ก็ยังคงใช้งานได้ครับ ปกติดี(ถ้าจะเอามาใช้ก็ยังได้) ซึ่งอยู่มานับยี่สิบปี เกินอายุการใช้งานเฉลี่ยมาเยอะถือว่าเกินคุ้มแล้ว เลยบอกได้ว่าการติดแบบม้วนท่อ ไม่ได้มีผลเสียต่ออายุการใช้งานเลย

และแอร์เครื่องนั้นผมก็ได้ไปถอดลงมาเมื่อสองปีที่แล้ว ตอนนี้เอามาเก็บรักษาในโกดัง ซึ่งที่ไปถอดไม่ใช้มันพัง แต่เพราะเจ้าของท่านย้ายไปอยู่บ้านใหม่ที่ติดแอร์ใหม่พร้อมแล้ว ตอนแรกกะจะขอซื้อ แต่พอเจ้าของทราบว่าผมจะเอามาเก็บอนุรักษ์ไว้เป็นของเก่า เจ้าของเลยให้มาฟรีๆ ซึ่งสภาพยังดี


การติดแบบม้วนท่อ เท่าที่ผมเก็บรายละเอียดมาพิจารณาดู ผมว่ามันช่วยทำให้จำนวนน้ำยาที่ให้มา มีระยะทางเดินที่เหมาะสมกว่าครับ
เพราะแอร์บางเครื่องที่มีระยะทางของท่อน้อยมากๆ อย่างเช่นกรณีที่เคยเจอ มีระยะน้อยมาก ไม่ถึง 1.2 เมตร หลังติดตั้งเสร็จแรงดันทาง Low ของน้ำยาสูงอยู่ถึงราวๆ 90 psig และคอมก็กินกระแสค่อนข้างเยอะ ต้องปล่อยบางส่วนทิ้ง
ส่วนเรื่องสถานะของน้ำยาที่ถูกดูดกลับ จริงตามที่คุณว่ามาครับ ว่าตัวหม้พักหรือ Accumulator มันมีหน้าที่ช่วยจัดการในส่วนนี้โดยตรงอยู่แล้ว
แต่จากที่ผมเคยถามไถ่มาบ้าง จากคนรู้จักที่เป็นวิศวะเครื่องกลและทำงานเกี่ยวข้องในด้านปั๊มและคอมเพรสเซอร์ ก็พอมีข้อมูลส่วนหนึ่ง
และเรื่องสถานะน้ำยาแอร์ที่ถูกดูดกลับผมเคยลองมาทดสอบดูด้วยตนเองกับตัวทดลองที่ทำเอาไว้ ตอนที่ลองคือใช้คอยล์เย็นแบบที่แตกต่างกัน ซึ่งระยะทางที่น้ำยาไหลก็แตกต่างไปด้วย ซึ่งที่เคยลอง ก็พบว่าระยะทางในการไหล หลังจากที่น้ำยาถูกลดแรงดันด้วยท่อรูเข็ม ถ้ามีระยะทางน้อยเกิน ซึ่งรวมถึงมีโหลดความร้อนที่นำมาและเปลี่ยนให้น้ำยาจะดึงเอามาใช้เป็นพลังงานในการเปลี่ยนสถานะมีอยู่ลดลง น้ำยาจะเดือดไม่หมด และส่วนที่เป็นของเหลวที่ไหลกลับเข้าคอมจะต้องถูก Accumulator ทำการระเหยให้เดือดก่อน แต่ความสามารถ Accumulator ที่อยู่ข้างคอมเพรสเซอร์ มีอยู่จำกัดครับ และยิ่งในการใช้งานจริง หากแอร์สกปรกการแลกเปลี่ยนความร้อนก็ยิ่งลดลงอีก โอกาสที่น้ำยาจะเดือดไม่หมดก็ยิ่งเยอะขึ้นตาม ถ้า Accumulator จัดการไม่ทัน ผมคาดว่าในระยะยาว มันอาจจะมีปัญหาก็ได้

มีแนวคิดอย่างไร ลองแลกเปลี่ยนได้ครับ เพราะตอนนี้ ส่วนตัวผมเอง จากที่ได้สอบถามฝ่ายเทคนิคของแต่ละยี่ห้อเวลาไปอบรมสัมนา รวมถึงในความเห็นของผมเองที่นำข้อมูลหลายๆที่มาพิจารณาร่วมกัน ส่วนหนึ่งผมก็ยังเห็นว่าการใช้ท่อเต็มความยาวที่ให้มานั้นเป็นเรื่องที่เหมาะสุด ซึ่งท่อส่วนที่เหลือการม้วนก็เป็นทางแก้ที่ทำกันอยู่ในตอนนี้ หากไม่ให้ม้วนและไม่ตัด ผมยังมองไม่ออกว่าจะจัดการอย่างไรให้ดูไม่ยุ่งยากเกิน มีทางออกลองเอามาแลกเปลี่ยนได้ครับ ยินดีรับฟัง


โดย: KanichiKoong วันที่: 15 มิถุนายน 2558 เวลา:0:02:08 น.  

 
ถามครับ
ในเรื่องการใช้ท่อที่สั้นมีผมในระยะยาว มันประมาณกี่ปีครับ
คือตอนนี้แอร์ของผมมีอายุ 4 ปีแล้ว ระยะท่อสั้นมาก ไม่ถึง 1 เมตร
ตั้งแต่ติดตั้งครั้งแรกเลย คือออกจากผนัง ก็ถึงคอยร้อนเลยประมาณ 70-80 เซน.ได้ หากจะเปลี่ยนย้ายคอยร้อนลงมาให้ต่ำกว่าคอยเย็นเดินท่อให้ยาวขึ้นเป็น 2 เมตร ประสิทธิภาพจะยังพอทำได้ไหมครับ
เพราะตอนนี้แอร์ไม่เย็นเลยครับ ให้ช่างมาดูหลายเจ้าแล้ว แอร์ไม่ตัน ท่อไม่ตัน น้ำยาไม่รั่ว น้ำแข็งไม่เกาะตรงเซอร์วิสวาวล์ มีเกล็ดน้ำออกตรงเซอร์วิสวาวล์ปกติ มีลมอุ่นออกปกติเมื่อคอมทำงาน มีน้ำหยดปกติหยดติ๋งๆตลอด บางเจ้าฟันผมบอกน้ำยาแอร์ขาด
ผมเลยหาข้อมูลศึกษาดูเลยเจอปัญหานี้ ปัญหาท่อน้ำยาสั้นเกินไป
ระดับคอยร้อนและคอยเย็นอยู่เท่ากัน
แอร์ของผม มิตซู มิสเตอสลิม 18000 BTU ขนาดห้อง 24 ตรม. ความสูงพื้นถึงฝ้า 2.80 เมตร ด้านบนฝ้ามีฉนวนกันความร้อน
ด้านหน้าเป็นกระจก 4 คูณ 2.5 เมตร มีผ้าม่านกั้นซ้ายขวา ตรงกลางเป็นประตู ผนังด้านขวาไม่โดนแดดเพราะติดกับอีกห้องนึง
ผนังด้านซ้ายโดนแดดตอนบ่ายถึงเย็น เป็นร้านตัดผมมีลูกค้าเข้าออกไม่ถึงกับเยอะจนล้นร้าน ช่วงบ่ายจะค่อนข้างว่าง ลูกค้ามีเยอะอีกทีช่วงเย็น ช่วงนี้เป็นอากาศร้อนนะครับ พอฝนตกอากาศเย็นหน่อย ไฟแอร์ก็ตัดที่ 28 องศา แต่อากาศร้อน เปิด 30 องศาไฟแอร์ถึงตัดครับ
ตกกลางคืนเปิดแอร์นอนทำความเย็นได้ 28 องศา จาก 2 ทุ่ม-ตี 1 ตกตี 2 - เช้าทำได้แค่ 27 อางศา เปิด 25 ไฟแอร์ไม่ตัด เสียงคอมทำงานปกติ แต่ไม่ค่อยตัด นานๆถึงตัดแต่ความเย็นในห้องก็ยังไม่ถึง 27 องศา
ข้อมูลนี้ผมศึกษาจากข้างห้องด้วยนะครับ ข้างห้องเป็นร้านเสริมสวยขนาดแอร์เท่ากัน ขนาดห้องเท่ากัน ระยะพื้นถึงฝ้าเท่ากัน ด้านหน้าเป็นกระจกไม่มีม่านกั้น ด้านบนฝ้าไม่มีฉนวนกันความร้อน ด้านซ้ายและขวาไม่โดนแดด แอร์เขายี่ห้อ LG ติดผนัง 18000 BTU แต่ของพี่เขาเปิดตอนกลางวัน 24 องศาก็ตัดครับ ไฟตัด คอมตัด เว้นแต่ว่า ระยะท่อของเขายาว 4 เมตร และคอยร้อนวางไว้ที่พื้นครับ ผมเลยคิดว่า น่าจะแก้ตรงจุดติดตั้งคอยร้อนและระยะท่อตรงนี้ครับ
ผมแก้ตรงนี้ก่อนคิดว่าน่าถูกจุดไหมครับ มันเป็นปัญหามานานถึง 4 ปี ปีที่1 ก็เย็นปกติดีครับ พอต่อมาเริ่มเย็นน้อยลง ผมเพิ่งลองได้ศึกษาหามูลอย่างจริงจังก็ครั้งนี้แหละครับ ปล่อยปัญหามาเนิ่นนานเพราะไม่รู้ เรียกช่างมาแก้อย่างเดียว ช่างก็ไม่ค่อยแนะนำอะไร บอกแค่จะล้าง จะเช็คระบบ หรือไม่ก็ให้ติดเพิ่มอีกตัว แต่เมื่อผมศึกษาเปรียบเทียบข้อมูลกับข้างร้าน และข้อมูลเรื่องระยะท่อของพี่นี้ ผมพอจะสรุปได้ว่าน่าจะลองย้ายก่อนครับ รบกวนแนะนำด้วยครับ ขอบคุณครับ


โดย: วีระ IP: 27.145.137.173 วันที่: 6 มิถุนายน 2559 เวลา:15:56:01 น.  

 
ขอบคุณคับ


โดย: เด็กน้อย IP: 49.237.146.76 วันที่: 23 มีนาคม 2560 เวลา:11:05:17 น.  

 
สอบถามครับ ถ้าเราเดินท่อน้ำยาเพิ่ม 15เมตร มีวิธีคำนวนว่าต้องเติมน้ำยาเพิ่มเท่าไหร่หรือกี่กิโลครับ r22


โดย: Art IP: 27.145.42.18 วันที่: 13 กันยายน 2560 เวลา:15:24:08 น.  

 
ใช้เครื่องมือวัดกระแส ควบคู่กับแรงดัน ซิ


โดย: BIRD IP: 124.122.7.175 วันที่: 9 ตุลาคม 2560 เวลา:22:33:23 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

KanichiKoong
Location :
สงขลา Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 275 คน [?]




ช่องทางการติดต่อผู้จัดทำ

- หลังไมค์
- E-mail : aum_tawatchai@hotmail.com
-------------------------------------
เนื้อหาที่ปรากฏ อนุญาติให้นำไปใช้เพื่อการศึกษา/หาความรู้ ซึ่งไม่เป็นการนำไปใช้ในเชิงธุรกิจ
-------------------------------------
New Comments
Friends' blogs
[Add KanichiKoong's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.