ต้นทุนชีวิตคือการสะสมความเคยชินที่ดี

โดดเดี่ยว..ไม่เดียวดาย



วันนี้ มีคนมาเยี่ยมเด็ก ๆ ที่สถานสงเคราะห์บ้านเด็กเช่นเคย เด็ก ๆ วัยต่ำสิบขวบหลายคนยืนอมยิ้มเมียงมอง บางคนใจกล้า สบตาทักทาย “ไอ้ตัวเล็ก” เดินยิ้มแป้นออกมารับแขกเหมือนเด็กรู้งาน กลุ่มคุณน้าคุณป้าใจดีทั้งหลายกล่าวสวัสดีกับเจ้าหน้าที่ แล้วหันมาหาไอ้ตัวเล็กที่เป็นเด็กตัวเล็กสมฉายา

“ไงตัวเล็ก สบายดีไหม ไม่เจอกันนาน โตขึ้นเยอะเลยนะ”

หนึ่งในกลุ่มผู้มาเยี่ยมกล่าวคำทักทายพร้อมถุงขนม ไอ้ตัวเล็กยิ้มแป้น เพราะนอกจากดีใจที่มีคนมาเยี่ยมแล้ว ยังได้ขนมเป็นของฝากอีก และมากกว่าของฝากคือรอยยิ้มและมือไม้ที่ลูบหัวโอบไหล่ คุณป้าคนหนึ่งตัวกลมป้อม ท่าทางใจดี ยื่นมือมาจับเนื้อจับตัวพูดคุยด้วย ไอ้หนูเลย “ตีซี้” เกาะแขนจูงมือชวนไปเที่ยวถิ่นของตัวเอง

“ไปสนามเด็กเล่นกัน” บอกเสียงแจ๋วก่อนจูงมือป้าคนที่เพิ่งเคยเห็นหน้าเดินนำไปยังม้ากระดกตัวโปรด พอไปถึงก็ลงไปนั่งที่ฟากหนึ่งของตัวม้า เชิญชวนให้ญาติคนใหม่ลงไปนั่งด้วย คุณป้ามองดูเด็กตัวเล็ก ๆตรงหน้าแล้วคงจะนึกถึงน้ำหนักตัวเองจึงได้แต่ยิ้มขำ บอกว่าไม่ต้องนั่งหรอก แค่เอามือกดเบา ๆ ม้าที่หนูนั่งคงกระดกลอย

“หนูหนักเท่าไหร่ครับ”
“ยี่สิบโล”
“แล้วอายุเท่าไหร่ครับ”
“ไม่รู้ รู้แต่หนักยี่สิบ”
“อ้าว รู้น้ำหนัก ทำไมไม่รู้อายุ”
“ก็ตอนชั่งเห็นเลข ตอนเกิดไม่เห็น”

เสียงตอบเจื้อยแจ้วแจ่มแจ๋ว ไม่มีเค้าแววของเด็กป่วย ซีดและซึมก่อนหน้านี้

“ตัวเล็กชอบที่นี่ไหม”
“ไม่ชอบ”
“ทำไมล่ะ”
“เพื่อน ๆ ชอบแกล้ง แกล้งกันทุกคน”
“เขาแกล้งอะไรบ้างล่ะ”
“เขาว่า”
“แล้วอะไรอีก”
“แค่นี้”
“แล้วตัวเล็กทำอะไรเขามั่ง”
“ก็แกล้งตอบ ก็ว่าเขามั่ง”

เสียงเจ้าหนูตอบเรื่อยเปื่อย ไม่จริงจังเท่ากับคำพูดต่อมา

“ไปกันเถอะ”
“ไปไหนล่ะ”
“กลับบ้าน”
“บ้านหนูอยู่ไหนละครับ”
“ไม่รู้…”

ตอนนี้ คนตอบเสียงเบาลง มีอาการลังเลเล็กน้อย แล้วก็เปลี่ยนน้ำเสียงเป็นมั่นใจกระตือรือร้นขึ้นมาอีกหน่อย

“ไปเที่ยวก็ได้ ไปซื้อของเล่น ไปซื้อว่าว”
“ชอบเล่นว่าวเหรอ”
“ชอบ ที่นี่พี่ ๆ เขาเล่นกัน”
“แล้วทำไมไม่เล่นกับพี่ ๆ เขาล่ะ”
“เขาไม่ให้ เขาบอกของเขา เขาทำเอง”
“หนูทำไม่เป็นใช่ไหมล่ะ”

ไอ้ตัวเล็กทำท่าคิดนิดหนึ่ง แล้วตอบด้วยท่าทางมั่นใจ

“ทำเป็น แต่ไม่มีไม้”
“งั้นเดี๋ยวหาไม้ให้”
“หาว่าวให้เลยดีกว่า”

ความช่างเจรจาของเด็กน้อย บวกกับการกอดเคล้าเคลีย ทำให้คนอยู่ใกล้อดเอ็นดูไม่ได้ คุณป้าเอามือลูบหัวไอ้ตัวเล็กแล้วดึงร่างเล็กจิ๋วที่โอบอยู่ใกล้ ๆ มานั่งด้วยบนตัก



“ไหน กอดหน่อย”

ไอ้ตัวเล็กดูเล็กกระจ้อยเมื่อนั่งอยู่บนตักของผู้มาเยี่ยม เมื่อแรกเข้าบ้านเด็กฯ นี้ เดาว่าอายุตอนนั้นน่าจะหกหรือเจ็ดขวบ ผ่านมาเกือบสี่ปีแล้ว เจ้าหนูก็น่าจะอายุสิบหรือสิบเอ็ดปี แต่ตัวยังเล็กบางกระจิ๋วเหมือนเด็กหกเจ็ดขวบทั่วไป

“แม่ไม่เคยกอด”

เสียงไอ้ตัวเล็กรายงาน เอ..ใครหนอ บอกว่าไอ้ตัวเล็กเป็นเด็กกำพร้า พ่อแม่เสียชีวิตแล้ว หรือว่า ข้อมูลเบื้องต้นของเด็กไม่สมบูรณ์? แต่เมื่อเด็กเป็นฝ่ายเริ่ม อีกฝ่ายก็คุยตาม

“แม่มาเยี่ยมบ่อยไหม”
“ไม่บ่อย นาน ๆ มาที มากับพ่อ แม่แท้นะ แต่พ่อไม่แท้”

เจ้าหนูทำเสียงหนักแน่นบอกตามมาว่าพ่อตายแล้ว

“แม่มาทำอย่างไรบ้างครับ”
“ก็บอกสวัสดี ถามว่าสบายดีไหม แล้วก็พาออกไปเที่ยว ไปซื้อของ”
“แล้วตัวเล็กชอบไหม”
“ชอบ อยากให้แม่มาบ่อย ๆ ให้พ่อไม่แท้มาด้วย ป้าพาออกไปเหมือนพ่อกับแม่สิ”

คุยไปคุยมา ไอ้ตัวเล็กก็วกเข้าเรื่องเดิม คนมาเยี่ยมไม่ใจอ่อน ชวนคุยต่อไปเรื่อย ๆ เจ้าหนูเลยนั่งเขี่ยสะเก็ดแผลที่แห้งเกรอะกรังจนขาดูลายพร้อย บางแห่งมีเลือดหยดซึมออกมา พอเจ้าตัวเห็นก็เอามือเขี่ยเช็ดให้แห้ง พร้อมอธิบายอย่างผู้ชำนาญการ

“เลือดมันหยุดง่าย”
“เอานี่ดีกว่ามั้ง”

คนเป็นผู้ใหญ่กว่าหยิบกระดาษเช็ดหน้าสีขาวส่งให้ เจ้าหนูรับไปซับแผล แล้วลุกขึ้นเดินเอากระดาษที่ใช้แล้วไปทิ้งถังขยะที่อยู่ใกล้ ๆ ก่อนกลับมานั่งคุยต่อบนตักผู้มาเยี่ยม

“ปกติใครทำแผลให้ครับ”
“ป้าเพ็ญ”
“แล้วยาล่ะ กินยาทุกวันหรือเปล่า ใครเอาให้กิน”
“ทุกวัน ป้าเพ็ญเอาให้กิน”
“ป้าเพ็ญเป็นอย่างไรบ้าง”
“ดุ”

เจ้าหนูตอบแล้วเปลี่ยนเรื่องคุย

“อยากไปเที่ยวทะเล อยากไปดูปลา”
“ไม่อยากไปโรงเรียนเหรอ”
“ไม่อยากไป ครูดุ”
“ดุเรื่องอะไร”
“ไม่รู้”

ไอ้ตัวเล็กคุยไป มือก็แกะเกาแผลที่ขาไป สะเก็ดหนังแห้ง ๆ หลุดออกมา พร้อมกับเลือดที่ซึมออกมาตามแผลอีก คราวนี้ เจ้าหนูรับกระดาษเช็ดหน้าซับลงไปที่แผล ก่อนลุกเดินไปทิ้งถังขยะอีกครั้งอย่างเรียบร้อย การไม่ทิ้งเศษขยะลงพื้น บอกเบื้องต้นถึงวินัยและการปลูกฝังนิสัยบางอย่างที่เด็กได้รับจากบ้านเด็กแห่งนี้

แต่เหนืออื่นใด น่าจะมีสิ่งที่มีค่ากว่าวินัยและการอบรมที่ไอ้ตัวเล็กได้รับ สิ่งมีค่าที่ทำให้สีหน้าและร่างกายของไอ้ตัวเล็ก มี “ชีวิตและชีวา” กว่าอดีตที่ผ่านมา



“เจอเขาตอนแรก เขาตัวเล็กนิดเดียว ผอมมาก และป่วยมากด้วยค่ะ เขาพุงโร ทั้งตัวทั้งหัวเป็นแผลพุพองเต็มไปหมด เขาอยู่คนเดียวที่กระต๊อบหลังบ้าน”

นี่คือเรื่องเล่าเกี่ยวกับเด็กน้อย

“พ่อเขาเอามาฝากพี่สาวไว้ก่อนเสียชีวิตไม่เท่าไหร่ค่ะ”

พี่สาวของพ่อไอ้ตัวเล็กมีครอบครัวและร้านขายของชำซึ่งขายก๋วยเตี๋ยวด้วย หลานที่เพิ่งรู้จักจึงกลายเป็นภาระที่ “เสียไม่ได้” โดยเฉพาะเมื่อทั้งป้าและชาวบ้านรู้ว่าไอ้ตัวเล็กติดเชื้อเช่นเดียวกับพ่อที่เสียชีวิต

“ป้าเขาไม่รู้จะทำอย่างไร ก็คอยช่วยดูเท่าที่จะทำได้ ตอนแรกก็ให้ไปอยู่กับย่าที่กระต๊อบหลังบ้าน”

“ตอนหลังย่าไม่อยู่แล้ว ไอ้ตัวเล็กก็ต้องอยู่คนเดียว”

“ป้าเขาหุงข้าวทำกับข้าวไว้ หิวเมื่อไหร่ก็ให้มาตักแล้วแยกไปกินที่กระต๊อบ”

แต่ชาวบ้านบางคนบอกว่า เคยเห็นไอ้ตัวเล็กกินข้าวสารดิบ ๆ ที่ยังไม่ได้หุง อาจเป็นเพราะไอ้ตัวเล็กกลายเป็นคนแยกตัว และคงไม่อยากออกมาที่บ้านป้า

“ชาวบ้านมาบอกให้เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครเยี่ยมบ้านช่วยไปดูไอ้ตัวเล็กหน่อย เขาสงสาร…”

“สิ่งที่เห็นคือ เขาอยู่ที่กระต๊อบคนเดียว เด็กตัวเล็กนิดเดียว ผอมแห้ง พุงโร และป่วยมาก พอเห็นแล้วทางเราคิดว่าปล่อยไว้อย่างนี้เขาคงไม่รอดแน่ เลยพาเขาออกมาวันนั้นเลย”

“พามานอนอยู่ที่มูลนิธิฯนี่แหละค่ะ ประมาณสองอาทิตย์ ต้องดูแลเขาตลอด เพราะตอนนั้นเขาป่วยมากจริง ๆ”

“เรารู้ว่า ถึงเขาหาย แต่ถ้าเขากลับไปอยู่กับป้าแล้วต้องอยู่คนเดียวเหมือนเดิม เขาก็จะกลับมาเป็นแบบเดิมอีก เขาติดเชื้อและป่วย เขาต้องการคนดูแลค่ะ”

“ตอนเราจัดค่ายเด็ก เจ้าตัวเล็กไปกับเราด้วย ครั้งแรกเขาซึมอยู่นะคะ แต่ผ่านกิจกรรมร่วมกันแค่วันเดียว เขาเปลี่ยนไปแทบจะสิ้นเชิง ตาเขาเป็นประกายขึ้น เนื้อตัวเขารู้สึกมีชีวิตชีวา เราคิดว่า อาจเป็นเพราะที่ผ่านมาเขาถูกทอดทิ้งให้อยู่คนเดียว”

“เราพยายามช่วยเพื่อให้เขามีคนดูแลอยู่กับเขาด้วย ก็ติดต่อญาติคนอื่น ๆ ของเขา แต่ทุกคนปฏิเสธหมด เราอยากให้รัฐเข้ามาช่วยดูแล แต่ก็มีปัญหาเพราะไอ้ตัวเล็กไม่มีเลขประจำตัวสิบสามหลัก”

“ช่วยกันอย่างมากเลยค่ะ เราเป็นแกนหลัก แล้วก็มีเครือข่ายอาสาสมัคร กับแพทย์พยาบาลที่ร่วมกันดูแล…สุดท้ายเราก็ติดต่อที่บ้านเด็ก”

“ไม่ง่ายหรอกค่ะ เพราะบ้านเด็กเขาก็ต้องมีหลักการและระเบียบปฏิบัติในการรับเลี้ยงเด็กเหมือนกัน แต่ทางบ้านเด็กเขาก็เข้าใจ ให้ความร่วมมือช่วยเราวิ่งเต้น และโชคดีที่ทางนายอำเภอและคุณนายนายอำเภอท่านใจดีและเข้าใจปัญหาของเด็กด้วย การดำเนินเรื่องจึงไม่มีปัญหามากเหมือนที่อื่น แต่กว่าจะเรียบร้อยก็ใช้เวลาหลายเดือนค่ะ”

ความเป็นมาของไอ้ตัวเล็กผ่านการบอกเล่าของเจ้าหน้าที่มูลนิธิรักษ์ไทยบอกให้รู้ว่า ชีวิตของไอ้ตัวเล็ก ไม่ได้เล็กจ้อยเหมือนร่างกาย เรื่องราวการต่อสู้เพื่อการมีชีวิตรอดและชีวิตที่ดีกว่านั้น มีหลายมือของ “พ่อแม่ไม่แท้” หลายคน ที่ร่วมกันหยิบยื่นโอกาสและสิทธิพื้นฐานเท่าที่เด็กน้อย ๆ คนหนึ่งพึงได้รับ

“ป๊ามาแล้ว”

ไอ้ตัวเล็กบอกเมื่อรถของผู้อำนวยการสถานสงเคราะห์บ้านเด็กแล่นเบา ๆ มาจอดที่หน้าสำนักงาน คนมาเยี่ยมมองตาม เห็นชายหนุ่มท่าทางสุภาพ ทะมัดทะแมงกระฉับกระเฉง เปิดประตูเดินเข้าไปในสำนักงาน แต่ปากก็ยังชวนเด็กคุยต่อเรื่อย ๆ

“ป๊าดุไหม”
“บางทีก็ดุ บางทีก็ใจดี”
“ชอบป๊าไหม”
“ชอบ”



เสียงตอบสั้น ๆ แล้วเงียบไป คนถามโอบเด็กตัวเล็กบางบนตัก โยกตัวเบา ๆ เหมือนไกวเปลกล่อมลูกน้อยนอน ต่างฝ่ายต่างไม่รู้ว่าอีกฝ่ายกำลังคิดถึงอะไร เพราะวันเวลาที่ผ่านมา ไม่ง่ายและสดใสสมวัยอย่างที่ควรจะเป็นเลย

“ก่อนนอนตัวเล็กสวดมนต์หรือเปล่า”
“ไม่สวด”
“แล้วทำอะไรบ้างล่ะ”
“ไม่ทำ”
“จริงเหรอ น่าจะมีอะไรทำก่อนนอนบ้างนะ ไหนตัวเล็กลองคิดซิ ว่าทำอะไรก่อนนอน”

ไอ้ตัวเล็กคิดแว้บนึงแล้วตอบเสียงใสแจ๋วเหมือนเดิม

“ก่อนนอนก็ปิดไฟ”

คนได้ฟังนึกขำ พยายามถามต่อให้ครบถ้วนกระบวนความ

“ก่อนปิดไฟล่ะ”
“ก็ต้องขึ้นเตียง”

คนตอบเชื่อมั่นในคำตอบของตัวเองมาก เจ้าตัวอาจสงสัยก็ได้ว่า เรื่องแค่นี้ ทำไมต้องถาม ฝ่ายคนถามก็ไม่อยากยอมแพ้ เลยหยอดต่อว่า

“ป้าหมายถึงก่อนขึ้นไปอยู่บนเตียงน่ะครับ”
“ก็เดินไปที่เตียงสิ!”

เจอคำตอบนี้ เป็นอันว่า ไม่ว่าจะอย่างไร ผู้ใหญ่ก็ต้องเป็นฝ่ายแพ้อยู่ดี เลยต้องเปลี่ยนเรื่องชวนไอ้ตัวเล็กเข้าไปในสำนักงาน

“เข้าไปหาป๊ากันไหม”

ไอ้ตัวเล็กขยับตัวออกจากตัก เดินคลอผู้ใหญ่เข้าไปหา “ป๊า” แม้จนป๊าคุยกับป้าและน้า ๆ ที่นั่งอยู่ก่อนหน้าแล้ว เจ้าหนูน้อยก็ยังเคล้าเคลียอยู่ใกล้ ๆ

“เขาตัวเล็กมากเลยตอนมาอยู่ที่นี่ครั้งแรก”



“ป๊า” มองลูกชายตัวจ้อยด้วยแววตายิ้ม ๆ ขณะรำลึกความหลังก่อนบอกว่า พวกเราเรียกเขาว่า “ไอ้ตัวเล็ก”

นี่คือที่มาอีกครั้งหนึ่งของไอ้ตัวเล็ก ผู้ผ่านชีวิตโดดเดี่ยวและเจ็บป่วยในกระต๊อบหลังบ้าน มาอยู่ในครอบครัวใหญ่ที่ “ป๊ากับม้า” ของบ้านเด็กมีลูก ๆ อยู่รวมกันในปัจจุบันถึง 56 คน

“เขาป่วยมาก เราต้องประคบประหงมเขาเป็นพิเศษ ก็ ประมาณสองปีแรกครับ หลัง ๆ มานี้เขาสุขภาพดีขึ้น ร่าเริงขึ้นด้วย”

เด็กน้อยในวัยเดียวกับไอ้ตัวเล็กเข้ามาเมียงมองวงสนทนาอีกรอบ จนไอ้ตัวเล็กต้องเดินตามเพื่อนออกไป ปล่อยให้ผู้ใหญ่คุยกันตามสบาย เจ้าหนูอาจจะคิดได้ว่า ตอนนี้บ่ายแก่จนเกือบเย็นแล้ว ยังไงวันนี้ก็คงไม่ได้ออกไปเที่ยวอีกแน่นอน

“เห็นเขาบอกว่ามีแม่กับพ่อไม่แท้มาเยี่ยมด้วย”
“อ๋อ, พ่อแม่อุปถัมภ์ทั้งคู่ครับ แต่เขาไม่ใช่แฟนกัน อาจจะเป็นพี่น้อง เราเพิ่งเริ่มโครงการพ่อแม่อุปถัมภ์ ยังมีไม่กี่รายหรอกครับ”
“ก่อนนอนที่นี่มีกิจกรรมอะไรร่วมกันไหมคะ”

“เรามีกิจกรรมที่เรียกว่า นมัสการพระเจ้า เป็นการร้องเพลงคล้ายสวดมนต์นั่นแหละครับ แล้วก็มีการพูดคุยกันถึงปัญหาของแต่ละคน ว่าใครมีปัญหาอะไร และคนอื่น ๆ จะช่วยอะไรได้บ้าง”

“สิ่งสำคัญที่เราสอนเด็ก ๆ คือเรื่องของความรักครับ เราสอนให้เขารู้จักรักคนอื่น รู้จักให้คนอื่นบ้าง ทุกปี เราจะต้องให้พวกเขาช่วยกันทำกับข้าว แล้วพาเขาไปเลี้ยงอาหารคนชราที่บ้านคนชราครับ”

“เด็ก ๆ ที่นี่มีพื้นปัญหาเหมือนกัน มักมีปัญหาเรื่องก้าวร้าว เห็นแก่ตัว มีแกล้งกันบ้าง แต่ไม่ถึงกับทำร้ายร่างกาย และส่วนใหญ่จะมีพัฒนาการค่อนข้างช้า ก็ตามสภาพเขานะครับ”

“เกือบครึ่งของเด็กที่นี่ติดเชื้อ ที่เหลือส่วนใหญ่เป็นเด็กที่พ่อแม่จากไปเพราะเอดส์..”

“ผมเคยเป็นเด็กกำพร้า ชีวิตผมมีวันนี้ได้ เพราะมีคนหยิบยื่นโอกาสให้ผม ผมเลยตั้งใจว่า เมื่อผมทำได้ ผมจะเป็นฝ่ายหยิบยื่นโอกาสให้คนอื่น ๆ ที่เขาต้องการบ้าง”

ระหว่างผู้ใหญ่ล้อมวงสนทนา ไอ้ตัวเล็กกับเพื่อน ๆ ยังมาเมียงมองเป็นระยะ หน้าใส ๆ ของเจ้าหนูค่อย ๆ สลดลงจนเปลี่ยนเป็นเรียบเฉย เมื่อคุณป้าคุณน้าผู้มาเยี่ยมทั้งหลายขยับตัว แล้วกวักมือเรียกให้เข้ามาหาเพื่อล่ำลา คุณน้าผู้นำไอ้ตัวเล็กมาจากกระต๊อบแห่งความโดดเดี่ยว บอกเสียงเรียบ ๆ เหมือนเก็บความรู้สึกบางอย่างที่ตกผลึกในใจจากการทำงานกับเด็ก ๆ เหล่านี้นานปี

“เขามักเป็นอย่างนี้แหละค่ะ ตอนแรกก็ร่าเริง แต่พอรู้ว่าจะต้องจากกัน เขาจะทำหน้าเฉย เหมือนไม่สนใจ เหมือนไม่เป็นไร”

ไม่มีความเห็นใด ๆ ระหว่างผู้มาเยี่ยม เพราะทุกคนต่างรู้ว่า เหมือน “ไม่เป็นไร” นั้น “เป็นอย่างไร”

ในความรู้สึกของเด็กเล็ก ๆ ที่ยังโหยหาใครสักคน แม้มีโอกาสอยู่ท่ามกลางครอบครัวใหญ่ในบ้านหลังใหม่ที่ดูอบอุ่นกว่าเดิม
แต่เด็กเล็ก ๆ คนนี้ ก็ยังโหยหา แม่ที่แท้ และ บ้าน… ที่เจ้าตัวเองก็ไม่รู้ว่าอยู่ที่ใด


หมายเหตุ: จากหนังสือ"แก้วตาขวัญใจของใครหนอ"
รวมเรื่องสั้นจากชีวิตจริงของเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเอชไอวี/เอดส์
จัดพิมพ์โดยมูลนิธิรักษ์ไทย
โทร. 02 265 6888




 

Create Date : 14 มิถุนายน 2552
3 comments
Last Update : 25 มิถุนายน 2552 8:12:23 น.
Counter : 946 Pageviews.

 

ผมก็โตมากับญาติ ถึงจะดูแลได้ดีกว่าพ่อแม่แท้ๆ แต่ก็โหยหาพ่อแม่แท้ๆเสมอครับ

 

โดย: endless man 14 มิถุนายน 2552 14:55:42 น.  

 

แสงดาวคือใคร?

ทำไมแสงดาวต้องปฏิวัติ?

แสงดาวจะปฏิวัติได้สำเร็จหรือไม่?

เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่ต้องค้นหาคำตอบ...

ใน เรื่องฮาป่าแตก ตอน แสงดาวปฏิวัติ...

เรียนเชิญทุกท่านครับ.

 

โดย: ลุงแว่น 15 มิถุนายน 2552 6:59:55 น.  

 

โดดเดี่ยวไม่เดียวดาย
....

 

โดย: mutcha_nu 15 มิถุนายน 2552 22:00:51 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


kangsadal
Location :
เวียงจัน Laos

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]






พระจันทร์เต็มดวงคนมองเห็นได้บางวัน
เช่นกันกับวันที่เห็นพระจันทร์เสี้ยว
แต่ทุกวัน....
พระจันทร์เต็มดวง
online
Group Blog
 
 
มิถุนายน 2552
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
14 มิถุนายน 2552
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add kangsadal's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.