Thailand
Group Blog
 
<<
กันยายน 2550
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
10 กันยายน 2550
 
All Blogs
 

“รัฐบาลขิงแก่” กลัว “สื่อ-NGO” ไม่กล้าตัดสินใจโปรเจ็กต์สำคัญ

“รัฐบาลขิงแก่” กลัว “สื่อ-NGO” ไม่กล้าตัดสินใจโปรเจ็กต์สำคัญ



ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล “คุณปลื้ม” บุตรชายหัวแก้วหัวแหวน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล วิพากษ์เศรษฐกิจ 1 ปี คมช. ถดถอยทุกภาค แม้ปัจจัยมีทั้งบวกและลบ ชี้ “ปฏิวัติ” 19 กันยายน 2549 คณะก่อการฯ ไม่เห็นความสำคัญของเศรษฐกิจชาติอยู่แล้ว ระบุหลังเลือกตั้ง ธาริษาโดนเด้งแน่! ชี้หลายพรรค ผุด! นโยบายเศรษฐกิจ เอาใจเกษตรกร ประกาศประกันราคาสินค้าเกษตร พร้อมรถไฟฟ้า 9 สาย ใน กทม. เปิดตัวอยากเล่นการเมือง แต่ยังชั่งใจ เข้าขั้วไหนดี พปช. ปชป. หรือ ชท. เชื่อ “ม็อบ” ทำรัฐบาลหน้าพังอีก




** วิเคราะห์ 1 ปี คมช. ด้านเศรษฐกิจมองอย่างไรบ้าง


การที่มีการสรุปว่าปฏิวัติได้นี่นะ แสดงว่าคุณไม่เห็นความสำคัญของเศรษฐกิจประเทศชาติอยู่แล้ว ต้องเข้าใจการตั้งสมมติฐานตั้งแต่แรกก่อนนะครับ ฉะนั้นผิดตั้งแต่แรก ข้อที่ 2 ก็คือ เป็นเรื่องที่แบ่งเป็น 2 ส่วน ถ้าพูดถึงปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน มีส่วนที่เป็นปัญหาเพราะว่ามีสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของนโยบาย กับสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะนโยบายมันไม่ดี สิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุม หมายความว่า บังเอิญในช่วงปีที่ผ่านมาประเทศต้องเจอกับหลายสิ่งหลายอย่าง



1.ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น เพราะว่ากองทุนต่างชาติตัดสินใจที่จะขายเงินดอลลาร์สหรัฐแล้วนำเงินมาลงทุนในเอเชียเยอะขึ้น บังเอิญทุกครั้งประเทศไทยจะเป็นเวทีของการทดลองของกองทุนใหญ่ๆ กองทุนใหญ่ๆ ชอบทดลองกับประเทศไทย เหมือนกับเขารู้ว่ามันแปลก เหมือนตอนปี 40 บาทเราก็โดนโจมตีหนักกว่าชาวบ้าน ทั้งๆ ที่พื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านก็ไม่ดีกว่าเราเท่าไร แต่เราจะโดนมากกว่าชาวบ้าน ไม่รู้ทำไมนะ ครั้งนี้ก็เหมือนกัน มีความพยายามที่จะโจมตีค่าเงินของเรา แต่ไปอีกมุมหนึ่งคือ โจมตีให้มันแข็งไปมากกว่านี้ ซึ่งอันนี้เราโดนมากกว่าประเทศอื่น ไม่รู้ทำไม อันนี้เป็นความซวยของประเทศไทย ทุกครั้ง จะตกเป็นการโจมตีค่าเงิน ครั้งนี้โจมตีให้แข็ง คราวที่แล้วโจมตีให้อ่อน บางทีพวกนี้มันดูท่าทีของธนาคารกลางเรา มันดูว่า เฮ้ย จะลองทดสอบดูซิว่ามันสู้ได้หรือเปล่า


ครั้งที่แล้วในที่สุดเราก็แพ้ สู้ไม่ได้ ครั้งนี้เราก็กึ่งๆ สู้ได้ แต่ว่าทางโน้นมันก็หยุดอะไรอย่างนี้ คือสู้ได้ ก็คือครั้งที่แล้วสู้ไม่ได้ ในที่สุดก็ต้องให้มันลอยตัว ให้มันอ่อนตามที่แรงกดดันมา ครั้งนี้ก็เกือบไปพอสมควร แต่ในที่สุดก็อยู่ภายใต้การควบคุม เพราะฉะนั้นนี่เป็นข้อที่ 1 ซึ่งมันเกิดขึ้นนอกเหนือจากอะไรที่รัฐบาล หรือ คมช. ไม่ว่าจะรัฐบาล ไม่ว่าจะมีปฏิวัติหรือเปล่า ไม่ว่าเป็นรัฐบาลไหนก็ต้องเจอปัญหาเรื่องค่าเงิน



ข้อที่ 2 ก็คือ ปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพในสหรัฐ ซับไพร์ม ซึ่งก็เกิดขึ้นนอกเหนือเหมือนกับเรา เป็นการปล่อยสินเชื่อ อย่างที่ปล่อยสินเชื่อเรียกเก็บดอกเบี้ยสูงๆ กับคนที่จริงๆ แล้วคุณไม่ควรปล่อยสินเชื่อให้คนฐานะไม่ค่อยดี ไม่มีเครดิต แล้วไปปล่อยสินเชื่อให้เขา พอภาระของการคืนหนี้ของเขามันเกินความสามารถของเขา ความที่เขาฐานะไม่ดีพอ มันก็เลยทำให้สถาบันการเงินในสหรัฐฯ ที่ปล่อยสินเชื่อประเภทนี้ต้องมาสูญเสียรายได้ไป การสูญเสียรายได้ของสถาบันการเงินเหล่านี้ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเราเลย แต่บังเอิญกองทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นในเอเชียรวมทั้งไทยกองทุนใหญ่ๆ ซึ่งกองทุนพวกนี้จะช่วยพยุงให้ตลาดหุ้นไทยยืนอยู่ได้ทุกวัน เพราะว่าตลาดหุ้นไทยไม่ได้ยืนอยู่ได้เพราะเงินคนไทย มันยืนอยู่ได้เพราะเงินฝรั่ง กองทุนพวกนี้มันลงทุนกับสถาบันที่ปล่อยสินเชื่อด้อยคุณภาพในสหรัฐฯ ไปขาดทุนที่ไปลงทุนกับพวกโน้น เลยต้องถอนทุนตรงนี้ หุ้นเราเลยตก คือตกทั้งโลก เป็นเรื่องที่ 2 ไม่ได้เกี่ยวกับเราเลยนะ


เรื่องที่ 3 ซึ่งผมไม่รู้ว่ามันเกี่ยวหรือเปล่า ผมรู้สึกว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกรัฐบาล ซึ่งแก้ไม่ได้ อาจจะแก้ไม่ได้เพราะว่าเราไปนึกว่ามันควรจะแก้ คือจริงๆ มันอาจไม่ควรจะแก้ก็ได้ คือราคาสินค้าเกษตร ผลไม้ ทุกอย่างราคาต่ำเกินไป ไม่ได้ต่ำเฉพาะรัฐบาลนี้ ต่ำมาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้วด้วยล่ะ อันนี้ผมว่าจังหวะที่เขาเข้ามาซวยเรื่องนี้ ทั้ง 3 อย่างเป็นสิ่งที่นอกเหนือการควบคุม ถ้าดูจากมุมนี้ โอเค...ดวงไม่ดี แต่บางอย่างก็ดูดีนะ ราคาน้ำมันไม่แพง การส่งออกก็ปกติ มีแค่บางเดือนที่ไม่ดี ต้นปีดีมาก การส่งออก 18% คือ มีสิ่งที่ดี แต่สิ่งที่ไม่ดีก็ 3 อย่างที่เจอ



ที่ผมบอกว่า เวลาที่คุณตัดสินใจสรุปปฏิวัติได้ แสดงว่าคุณไม่สนใจเรื่องประเทศชาติและเศรษฐกิจ เพราะว่าเมื่อปฏิวัติ สิ่งที่เกิดขึ้นชัดเจนนอกเหนือจากการเป็นการถอยหลังทางประชาธิปไตยที่ชัดเจนอยู่แล้ว คือ เป็นการถอยหลังในสายตาประชาคมโลก มันไม่มีความชอบธรรมในสายตาของคนต่างชาติอยู่แล้ว แม้กระทั่งความชอบธรรมในคนไทยด้วยซ้ำไปว่า การปฏิวัติเหมาะสมก็เหตุผลทางด้านคอร์รัปชั่น เหตุผลทางด้านหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เหตุผลทางด้านความแตกแยกทางสังคม แล้วเหตุผลที่ 4 แทรกแซงองค์กรอิสระ


ประเด็นคือว่า ทั่วโลกส่วนใหญ่แล้ว มีการแทรกแซงองค์กรอิสระ แล้วก็ไม่ได้สร้างความชอบธรรม มีคอร์รัปชั่นแทบทุกประเทศ แล้วก็ไม่ได้สร้างความเป็นธรรมทางปฏิวัติ มีการแตกแยกทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอันนี้ไม่ได้มีความชอบธรรมทางปฏิวัติเลย เพราะทุกสังคมมีความแตกแยกอยู่แล้ว ที่เราเห็นนี่จิ๊บจ๊อยครับ มันไม่ใช่แตกแยก เพียงแค่มีมุมมองทางการเมืองที่ต่างกัน แตกแยกจริงๆ คือต้องรบกันอย่างในแอฟริกาครับ อันที่ 4 หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ไม่ได้มีความสำคัญในการปฏิวัติ ต้องดำเนินคดีกับผู้ทำผิดกฎหมาย ซึ่งก็เกิดขึ้นได้ภายใต้รัฐธรรมนูญเดิม ไม่ได้เกี่ยวกันเลยกับการปฏิวัติ ไม่ควรจะเกี่ยว แล้วก็เป็นความผิดพลาดของประเทศทุกครั้ง 18 ครั้งที่ผ่านมา อ้างเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในการปฏิวัติ ซึ่งแย่



ประเด็นคือว่า ผลสรุป 4 ข้อนี้ โดยคุณเชื่อว่าจะเกิดความชอบธรรมที่เพียงพอ ในสายตาของคนไทย คนไทยไม่ได้เห็นด้วยกับการปฏิวัติ เพราะว่าไม่เคยมีการทำประชามติว่าการปฏิวัติถูกต้องหรือผิด ต่างชาติไม่ต้องพูดถึง Majority ของโลกไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติอยู่แล้ว ถ้าคุณเป็นกองทุนหรืออะไรก็ตาม ตามกฎของธนาคารใหญ่ๆ เขาไม่อนุญาตให้คุณลงทุนในประเทศที่ทำรัฐประหาร เพราะมันผิดตั้งแต่แรกแล้ว ตามกฎของแบงก์ใหญ่ๆ หรือแม้กระทั่งกฎประเทศ เขาไม่สามารถทำธุรกรรมกับประเทศที่บริหารแบบมีรัฐบาลทหาร หลังจากการทำรัฐประหาร ตรงนั้นดึงความเชื่อมั่นหายไปแล้ว ความเชื่อมั่นอาจจะมีส่วนตัวกับบุคคล อย่างตอนนั้น ยกตัวอย่าง ตอนนั้นรัฐประหารเสร็จเขาพยายามตั้งรัฐบาลให้ดูดี เอาหม่อมอุ๋ย ( ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล) มา เอาคุณเกริกไกร (เกริกไกร จิระแพทย์) มา เอาคนโน้นคนนี้ซึ่งเก่งมา แม้กระทั่ง พล.อ.สุรยุทธ์ (พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์) เก่ง ทุกคนมีความสามารถ พยายามจะเอาชื่อบุคคลนี้มาเป็น Selling Point (จุดขาย) ให้กับต่างชาติ ว่า เฮ้ย ถึงแม้ว่าจะมีการทำรัฐประหาร บุคคลต่างๆ เหล่านี้เป็นบุคคลมีความสามารถ เขาน่าจะประคองประเทศให้อยู่ต่อไปได้ในเรื่องเศรษฐกิจหรืออะไร


แต่ว่าในที่สุดแล้ว เวลาคุณเป็นนักธุรกิจต่างประเทศ ความที่ชื่อเสียงของแต่ละคนนี้ขายได้แป๊บเดียว เพราะว่าเมื่อเวลาผ่านไป คือ...มันต่างกัน นักการเมืองเวลาเข้ามาบริหารแต่ละกระทรวง มีวิธี PR (โฆษณา) ให้ตัวเอง แล้วทำให้ Selling Point ของนโยบาย แล้ว PR นโยบาย รัฐบาลเข้ามาแต่ละคนมีชื่อเสียงอยู่แล้วทุกคน แต่ไม่มีการทำ Marketing (การตลาด) ไม่มีการ PR (ประชาสัมพันธ์) การ Selling Point ซึ่งมันต้องทำ มันอาจจะดูเหมือนไม่ควรทำ แต่ต้องทำ เพื่อให้คนเชื่อมั่นว่าคนนี้บริหารได้ จริงๆ แล้วรัฐมนตรีแต่ละกระทรวงเก่งทุกกระทรวง แต่ไม่มีใครทำประชาสัมพันธ์



รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงเขาอายุมากเกินไป แล้วเขาก็ยุ่งมากเกินไปที่จะทำประชาสัมพันธ์ แต่ขณะที่นักการเมืองทำประชาสัมพันธ์เก่งมาก ซึ่งในยุคสมัยนี้จำเป็น เพราะการทำประชาสัมพันธ์มันทำให้สื่อ สื่อสารต่อในสิ่งที่ทำ เสร็จแล้วต่างชาติดูจากสื่อนี่แหละ ต่างชาติมีความเชื่อมั่นกับรัฐมนตรีทุกคนตอนแรกๆ แต่ว่าเดือนสองเดือนผ่านไปมันหมด เพราะว่ารัฐมนตรีทั้งหมดไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการทำ PR (ประชาสัมพันธ์) ซึ่งบังเอิญในการทำประชาสัมพันธ์มันสำคัญในการดึงความเชื่อมั่นกับต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่มีการปฏิวัติ คือพูดง่ายๆ สำหรับผมนะ เข้ามาแต่แรก Mission ยุทธศาสตร์ อันแรกสุดที่แต่ละคนต้องเดินสายในการทำประชาสัมพันธ์ให้รู้ว่าฝีมือผมเก่งกว่ารัฐมนตรีกระทรวงนี้ในรัฐบาลที่แล้ว ทีนี้เขาลืมไป คือชื่อทุกคนดีหมดเลยตอนแรก ชื่อดีหมด เก่งหมดทุกคน แต่เขาลืมไปว่าความเชื่อมั่นไม่ได้มากับความเก่งของเขา ความเชื่อมั่นมันมาจากความเชื่อว่าพวกเขาเก่ง ทีนี้บริหารผ่านไป คนดันไปนึกว่าเขาไม่เก่ง ทั้งๆ ที่จริงๆ เขาก็ทำงานกันเหนื่อยทุกคน รัฐมนตรีแต่ละท่านน่าสงสาร เป็นเรื่องของความเชื่อมั่นมันหายไป แล้วไม่สามารถดึงกลับมาได้หลังการเลือกตั้ง


สิ่งที่ 2 นโยบาย เราอยู่ในยุคที่รัฐบาลไม่กล้าทำอะไร เพราะว่า 1.กลัวโดนด่า 2.กลัวโดนฟ้อง ซึ่งอันนี้เป็นความ...สำหรับผม ผมค่อนข้างปลงกับประเทศไทยนะ ผมว่าเรามาทิศทางที่ผิดหมดเลย เรามากังวลกับเรื่องคอร์รัปชั่นมากเกินไป จนโครงการใหญ่ๆ ไม่สามารถเดินได้ เรามากังวลเรื่องคอร์รัปชั่น จนคนที่อยู่ในตำแหน่งบริหารเป็นคณะรัฐมนตรีไม่กล้าที่จะเซ็นอนุมัติโครงการอะไรที่ใหญ่ๆ เลย ดูอย่างรถไฟฟ้าสิ ไม่มี ทั้งๆ ที่ควรจะมี 5 สายแล้ว คือไม่กล้าเซ็นเพราะว่าอะไร เพราะว่า 3 อย่าง ที่เราเข้าใจว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่กล้าทำอะไร เราไม่รู้จะโทษใคร นั่นคือ 1.สื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อหนังสือพิมพ์ จะ Over Active (กระตือรือร้นมาก) ในการพยายามนำข้อมูลของแต่ละคดี แต่ละกรณี ไม่ว่าจะเป็นโครงการโน้นโครงการนี้ ในกระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง นำข้อมูลออกมาเผยแพร่



สื่อนำข้อมูลออกมาเผยแพร่มาก จนเมื่อเผยแพร่มาแล้ว มีทั้งที่ผิดๆ และถูกๆ คือ เผยแพร่ออกมาถูกคือทำหน้าที่เปิดโปงคอร์รัปชั่น แต่มีสื่อที่เผยแพร่ข้อมูลออกมาเสร็จแล้วไม่ได้มีอะไรผิดตามกฎหมาย แต่เพิ่มสีเข้าไป เพื่อที่จะโจมตีรัฐมนตรีคนนั้น อันนี้เป็นสิ่งที่สื่อมวลชนเคยทำโดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ ประมาณร้อยละ 20 คือ 1 ใน 5 ของหนังสือพิมพ์ทั้งหมดในประเทศตอนนี้ มีพฤติกรรมแบบนี้ คือ เอาข้อมูลมาเผยแพร่ แล้วถ้ามีอะไรที่พยายามเข้าใจได้ว่ามีการทุจริตก็เขียนออกมาให้คนเข้าใจแบบนั้น อันนี้คือสิ่งที่หนังสือพิมพ์บางฉบับเลือกทำ บางฉบับไม่ทำ ในที่สุดผลที่ตามมาคือ ไปกดดันผู้บริหารกระทรวงจนไม่กล้าที่จะขยับ แล้วขึ้นไปทำ ตอนนี้คนไม่เชื่อนะครับว่ารัฐมนตรีแต่ละคนไม่กล้าขยับเพราะกลัวสื่อมวลชน คนไม่เชื่อ แต่นี่คือความจริง


2.NGO ไทยมีอำนาจค่อนข้างสูงในการเคลื่อนไหวบุคคล เคลื่อนไหวกลุ่มคน ผมยกตัวอย่าง กระทรวงเกษตรฯ เขาจะเปลี่ยนมติ ครม. ให้ทดลองพืช GMO (พืชตัดต่อพันธุกรรม) แต่เปลี่ยนไม่ได้ เพราะกรีนพีซออกมา แล้วที่เขาไม่เปลี่ยนเพราะอะไร เขาไม่เปลี่ยนเพราะกรีนพีซ มันไม่มีเหตุผลอื่นนะที่เขาจะไม่ทำ เวลาเรื่องเข้า ครม. แล้วจะเปลี่ยนมติ ครม. เดิม เพื่อที่จะให้ทดลองพืช GMO ในระดับไร่นาได้ เหตุผลที่เขาไม่ทำเพราะกรีนพีซออกมา แสดงว่า NGO มีอำนาจมากในการเคลื่อนไหวกลุ่มคนที่จะกดดันรัฐบาล ขนาดรัฐบาลที่แล้วเสียงมากขนาดนั้น ซึ่งเขาไม่กลัวมวลชนยังขยับยาก รัฐบาลนี้กลัวมวลชน กลัวมากๆ เกิน 5,000 ไม่กล้าทำอะไรแล้ว พูดง่ายๆ NGO สื่อกดดันรัฐบาลแล้วมีผลอย่างมากในประเทศนี้



** หมายถึงรัฐบาลนี้กลัว NGO ในการขับเคลื่อนรัฐบาล


โอ๊ย...เหลือเชื่อ คนไม่เชื่อ ผมเห็นแล้วผมนั่งงง ผมว่าไม่ใช่ไม่ดีนะ ถ้าเกิด NGO กับสื่อเล่นถูกเกมแล้ว ไม่ได้เอาผลประโยชน์แอบแฝง แต่ผมยกตัวอย่างในปัจจุบัน อย่าง สนธิ ลิ้มทองกุล กดดันให้สพรั่ง (พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ผู้ช่วย ผบ.ทบ.) เป็น ผบ.ทบ. ถามว่าตรงนี้สมควรหรือเปล่า ไม่สมควร 1.ผิดจรรยาบรรณ 2.เขาไม่ได้เป็นตัวแทนประชาชน ในขณะนี้เรามี NGO และสื่อมวลชนที่เป็นตัวแทนประชาชนจริงๆ หรือแอบอ้างว่าเป็นประชาชน อันนี้ไม่ถูกต้อง



3.สำคัญมาก ผมมองเห็นว่าประเทศไปในทิศทางอีกอย่างหนึ่งนะ เราจะไม่ใช่ประเทศที่พัฒนาเร็ว คือเมืองไทยมันค่อยๆ พัฒนาไป อย่างบทบาทของศาลปกครอง มีหลายประเทศไม่มีศาลปกครอง เพราะว่าศาลปกครองเมื่อ Active มาก จะมีบทบาทที่ในที่สุดก็จะขัดแย้งกับฝ่ายบริหาร


คือ ฝ่ายที่เป็นนายกรัฐมนตรีกับรัฐมนตรี เรื่องนี้คนมองจะมองได้ 2 แบบ พวกที่เขาสนับสนุนให้ทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป๊ะๆๆๆๆ ซึ่งผมไม่ใช่คนอย่างนั้น ผมถือว่ากฎหมายเป็นเรื่องที่ไม่ใช่บิดเบือนได้ มันเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ Perfect (สมบูรณ์) มันเป็นเรื่องที่แล้วแต่จะตีความ บทบาทของศาลปกครองในที่สุดแล้วถ้า Active ที่จะขัดแย้งกับฝ่ายบริหาร ยกตัวอย่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิต กฟผ. จะแปรรูป ทุกอย่างเดินหมดแล้ว ศาลปกครองคำสั่งท้ายสุด เพื่อไม่ให้แปรรูป ถ้าจะถามว่าใครถูกใครผิด ตามกฎหมายถ้าตีความกฎหมาย เอาที่ศาลปกครองตีความ ศาลปกครองก็ถูก แต่ว่าถามว่า ในฐานะที่คุณมีอำนาจในการปกครอง ผู้บริหารสูงสุดคุณมีอำนาจในการตัดสินหรือเปล่าว่าจะแปรรูป มันก็มี



แต่มันผิด On Technicality (เชิงเทคนิค) ใช่ไหม ประเด็นก็คือว่า ทั้งหมดนี้สองสถาบันนี้ไม่คุยกัน แล้วก็ไม่มีใครไปบังคับให้ปรึกษากัน แต่ถึงเวลาตอนท้ายก็ต้องมาชนกัน ผลที่ได้ก็คือ สมมติชนกันเสร็จ ถ้าฝ่ายหนึ่งชนะก็คือฝ่ายศาลชนะ ก็ตัดสินว่านี่ผิดๆ ถูกๆ ทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่มันกระทบต่อความรวดเร็ว ต่อการดำเนินนโยบาย ในการพัฒนา มันประยุกต์ใช้ได้ทุกกรณีเลย ผมจะสร้างอะไรอย่างหนึ่ง ถ้ามีคนร้องเรียนศาลปกครอง เดินไปแล้วพังตอนท้ายทุกเรื่อง เพราะฉะนั้นพูดสำหรับผม ที่จะบอกว่ามีความจำเป็นต้องมีศาลปกครองในประเทศ ประเทศหนึ่งซึ่งมีได้ แต่เมื่อที่ผมเคยพูดว่า เมื่อมีศาลปกครองที่ Active มาก และ Active จริงๆ เขารับทุกวันที่มีคนไปฟ้องจะมีปัญหาอย่างใหญ่หลวงในตอนท้าย ในการบริหารประเทศ






** ในส่วนที่บอกว่า การปฏิวัติในครั้งนี้ไม่คำนึงถึงเศรษฐกิจ ตรงนี้เป็นลักษณะไหน


คือปฏิวัติเนี่ย อ้างความชอบธรรมอยู่ 4 เหตุผล แล้วก็บอกว่าถ้าเขาเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ แล้วเปลี่ยนผู้นำได้จะแก้ปัญหา 4 อย่างนั้นออกไป ที่ผมว่าไม่คำนึงถึงเศรษฐกิจเพราะว่า เราอยู่ในโลกที่ถ้าคุณมีการทำรัฐประหาร จะไม่ได้รับความยอมรับ จริงๆ แล้วไม่ใช่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ ไม่ได้รับการยอมรับจากคนในประเทศ แต่คนในประเทศไม่มีสิทธิมีเสียงในการแก้...ในการแก้การปฏิวัติ เพราะว่าอำนาจอยู่ที่ทหาร คือ ในสายตาของ... สมมติผมเป็นบริษัทที่ทำเรตติ้งประเทศไทย ถ้าผมนั่งอยู่ในฐานะอย่างพวก S&P เมื่อมีรัฐประหารเสร็จ ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เกิดขึ้น คุณไม่รู้ว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อใด คุณไม่รู้ว่าใครจะเข้ามาบริหาร คุณ Down (ลด) เกรด Rating (การประเมิน) ของประเทศไทยลงได้เลย



สหรัฐฯ ที่เจรจา FTA กับประเทศไทยต้องหยุดตามกฎหมายของเขา เจรจากับไทยไม่ได้เพราะเปลี่ยนรัฐบาลเป็นรัฐบาลทหาร กองทุนที่เขาห้ามซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่เป็นรัฐบาลทหารก็มี ต้องหยุดซื้อ บางกองทุนที่ตั้งขึ้นมาแล้วเขาลงทุนในตลาดหุ้นไทยก็ต้องหยุดลงทุนไปเลย เพราะว่ากฎเกณฑ์ที่เขามีอยู่โดยหลักการว่าจะไม่เข้ากับประเทศที่บริหารโดยเผด็จการ เพราะฉะนั้นมันไม่ช่วยสถานการณ์


ประเทศไทยที่ในสายตาของต่างประเทศที่เราเป็น Constitution Monarchy เรามีพระมหากษัตริย์ เรามีการเลือกตั้ง เรามีประชาธิปไตย เนี่ยเป็นสิ่งที่ต่างชาติเขายอมรับ แต่เมื่อถ้าเกิดเรามีระบอบพระมหากษัตริย์เหมือนตามปกติที่เรามีอยู่ อยู่ดีๆ การเลือกตั้งหายไป แล้วกลายมาเป็นรัฐบาลทหาร ไปซ้ำเติมความกลัวของต่างประเทศอยู่แล้ว แปลว่าเราไม่ได้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง






** ทีนี้ คิดว่าทหารเขารู้ไหม



ทหารเขารู้ แต่ประเด็นคือว่า มันเป็นการแย่งชิงอำนาจระหว่างฝ่ายที่เติบโตขึ้นมา แล้วก็ใหญ่โตคลุมประเทศไทยได้จากการเลือกตั้งก็คือ อย่างทักษิณ แล้วทหารที่ต้องดึงเกมออกไปอยู่ที่สถาบันทหาร ไปอยู่ที่พรรคการเมืองอื่นๆ ซึ่งไม่ได้มีแผนการณ์ที่จะก้าวขึ้นมาแล้วก็เป็นใหญ่ที่สุดในประเทศ แล้วแต่จะคิด ประเทศนี้จะบริหารด้วยพรรคการเมือง หรือคุณจะบริหารด้วยทหารและศักดินา แล้วแต่คนชอบ ผมคิดว่าคนไทยเยอะที่ชอบแบบเดิม


สำหรับผม ผมชอบให้พรรคการเมืองเป็นตัวแทนประชาชนจริงๆ มีพรรคการเมืองใหญ่ๆ สัก 3 พรรค แล้วบริหารแบบที่ไม่ต้องไปเกรงใจใคร เอาอย่างนี้ดีกว่า ผมชอบแบบมีสไตล์อย่างทักษิณเนี่ย มีสัก 2-3 คน แล้วให้แข่งกัน มันมีได้ แต่ว่าเราประเภทใจร้อน เราเจอ Version (รูปแบบ) น่ากลัวแบบที่ทักษิณขึ้นมาแบบที่ไม่มีใครสู้ เราไปตัดหัวออกก่อนเลย






** มีคนบอกว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นตัวแทนของ “ทุนใหม่” อันนี้จริงไหม



จริงๆ ทุนใหม่ อันนี้เกมนี้คือทุนเก่าดึงเกมกลับ ทุนเก่าไม่รวยเท่าทุนใหม่หรอก ทุนเก่าสนิทกับทหาร แต่ทุนเก่าคือทุนศักดินา จริงๆ สิ่งตลกที่สุด สนธิ ลิ้มทองกุล เคยเขียน เคยวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ แล้วโจมตีทุนเก่าตลอด ทุนเก่าพวกตระกูลเก่าๆ แล้วหม่อมราชวงศ์อะไรต่างๆ ตระกูลที่ธุรกิจเติบโตขึ้นมาสมัยก่อน จะเป็นธุรกิจเหล้า ธุรกิจเบียร์ แบงก์สมัยเก่าๆ ไปดู ดร.วีรพงษ์ (ดร.วีรพงษ์ รามางกูร) พล.อ.เปรม (พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์) ทหารเก่าๆ


ทุนใหม่เติบโตมาจากธุรกิจโทรคมนาคม สนธิ ลิ้มทองกุล วิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ดีมากเลย แต่ปรากฏว่าตอนหลังไปเข้ากับอีกข้างหนึ่ง ทั้งๆ ที่อยู่ทุนใหม่ก็ดีแล้ว อยู่ดีๆ ไปอะไรไม่รู้ แต่เขาก็ไม่ไปอยู่กับทุนเก่า






** ประเทศจะดึงทุนเก่าทุนใหม่ไปอีกนานไหม แล้วจะมีผลกระทบอย่างไร



สำหรับผมทุนใหม่เป็นสิ่งเดียวที่มีอำนาจสลายขั้วของทุนเก่าศักดินา ซึ่งมีความจำเป็น ในแนวคิดของผม ทักษิณมีบทบาทสำคัญ คือเข้ามา Re–Balance กับขั้วอำนาจเก่าในประเทศ ขั้วอำนาจในประเทศเดิมคือ พล.อ.เปรม คือตระกูลต่างๆ ที่ผมพูดถึง ซึ่งบริหารประเทศมาเจริญเติบโตมาดีนะ ดีมาก แล้วส่วนใหญ่เป็นคนดี แต่ว่าในทุกสังคมมันต้องมีการเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้ ที่จะดึงอำนาจไปสู่ประชาชนจริงๆ ต้องมีคนที่มีบทบาทอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ เข้ามา พ.ต.ท.ทักษิณ ในมุมมองผมน่าจะเป็นนายกฯ สัก 8-10 ปี เพื่อสลายขั้วอำนาจเก่า อำนาจเก่าจริง และหลังจากนั้นก็ให้ทักษิณหายไป






** ทำไมถึงคิดแบบนั้น


คือในมุมมองผม ไทยรักไทยจะอยู่ตอนแรก อยู่ไปเรื่อย คือผมมี Vision ของประเทศอยู่ แต่ตอนนี้ Vision ผมมันถูกพังทลายไป คือ ผมมองไทยรักไทยอยู่ไปได้เรื่อยๆ แล้วเป็นตัวแทนของทุนใหม่ ไปดูแต่ละคน สุริยะ (สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ) อะไรต่างๆ ว่าไป แต่ในที่สุดเมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ มีอำนาจมากเกินไป เมื่อบริหารไปแล้ว 8 ปี 10 ปี เขาจะถูกกำจัดไปโดยวิธีการอะไรว่าไป แต่ไม่ใช่ฉีกรัฐธรรมนูญ วิธีการในต่างประเทศเขาจะไม่มานั่งบ้าบอปฏิวัติ ฉีกรัฐธรรมนูญ ทำโน่นทำนี่อย่างที่ต่างประเทศไม่ยอมรับ เพื่อที่จะกำจัดคนๆ เดียว เขาไม่ทำกัน



ยกตัวอย่าง อีกทางเลือกหนึ่งคือ การสังหาร การสังหารผู้นำในประวัติศาสตร์ของโลกมีผลที่ดีกว่าการปฏิวัติ การปฏิวัติโดยหลักการแล้ว การไปฉีกรัฐธรรมนูญเพื่อคนๆ เดียว คุณทำอย่างนั้นทำไม ส่งทหารไปยิงก็จบ ถ้าทหารจะทำ คือ ถ้าทหารจะปฏิวัติ กับสังหารคนๆ เดียวเนี่ย มันเลือกไม่ยากนะ ดูผลที่ตามมา ไม่เป็นไรผมไม่ได้แนะนำว่าคุณจะสังหารหรือปฏิวัติ แต่ถ้าคุณจะทำนะ แต่จะให้เลือกระหว่างสังหารกับปฏิวัติ ฉีกรัฐธรรมนูญเพื่อคนๆ เดียว ไม่น่าจะเลือกยากนะ แต่ว่าไม่เป็นไร ใน Vision ผมคือว่า เมื่อทักษิณบริหารไปในที่สุดแล้ว ถ้าเขาบริหารไม่ดีแล้วคอร์รัปชั่นเนี่ย อะไรต่างๆ คนหมดศรัทธา เกมการเมืองในพรรค ซึ่งตอนนั้นพรรคไทยรักไทยจะแตกอยู่แล้ว แตกแล้วทะเลาะกันจะตายข้างใน แล้วเกมการเมืองนอกพรรค บนท้องถนนอะไรต่างๆ จะผลักดันให้ พ.ต.ท.ทักษิณ มีบทบาทน้อยลง แล้วในที่สุดจะหายไป แต่ตัวไทยรักไทยสามารถเป็นสถาบันต่อไปได้ ถ้าไม่ใช่ของคนๆ เดียว ของทุนใหม่ก็ได้ แต่ไม่ใช่ของคนๆ เดียว


**หมายถึงไม่ใช่ของ พ.ต.ท.ทักษิณ



พ.ต.ท.ทักษิณ มีบทบาทน้อยลงไป ซึ่งต้องใช้เวลา ในขณะที่ไทยรักไทยไปกระตุ้นให้ประชาธิปัตย์พยายามทำตัวเองให้ใหญ่กว่าเดิม ประชาธิปัตย์ควรเป็นพรรคที่จะใหญ่แค่ 100 เสียง แล้วผมเชื่อว่าประชาธิปัตย์ทำได้ มีคนมีสตางค์เยอะแยะจะตายไป เข้าประชาธิปัตย์ให้เป็นสถาบันอีกอันหนึ่ง เป็นสถาบันอยู่แล้ว แต่ให้เป็นสถาบันที่ใหญ่ขึ้นมา ให้เป็นพรรคใหญ่กว่าพรรคไทยรักไทย อย่างน้อยเมื่อทักษิณบริหารไป 8 ปี คนหมดศรัทธา หรือทักษิณลาออก ไทยรักไทยก็ชูคุณสมคิด (สมคิด จาตุศรีพิทักษ์) หรืออะไรก็ได้เป็นหัวหน้าพรรค ประชาธิปัตย์ก็จะมีคนกลุ่มหนึ่งเกลียดพรรคไทยรักไทยเข้าไปร่วมกัน จะมี 2 สถาบันขึ้นมา ประชาธิปัตย์จะใหญ่ขึ้นด้วยเพราะถูกกระตุ้นให้สร้างตัวเองมากขึ้น ไทยรักไทยในมุมมองของตอนแรกคือเมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ เบรกหายไปก็จะเป็นสถาบันได้ อันนี้อาจจะเป็นความไร้เดียงสาของผมก็ได้นะ ผมเชื่อว่ามันทำได้ แต่ว่าตอนนี้เราตัดตอน






**ทุนใหม่ทำไมถึงครองใจเกษตรกร รากหญ้า อย่างผลประชามติที่ออกมา


คือคนที่โตขึ้นมาแบบไม่ได้มีฐานดีเท่าไรจะมองประเทศไทยว่าผูกขาด จะมองว่าอำนาจของประเทศไทยถูกผูกขาดไว้กับทหาร แล้วธุรกิจของคนจีนซึ่งอพยพมาอยู่เมืองไทยนานแล้วได้สัมปทานโน้นนี้ตั้งแต่สมัยดั้งเดิม เป็นคนที่เติบโตมาในฐานะที่ไม่ดีเท่าไร สมัยตอนที่เห็นเมืองไทยแรกๆ มีคนจีนตระกูลไม่กี่ตระกูล โสภณพนิช ล่ำซำ อะไรว่ากันไป แล้วตระกูลทหาร แล้วราชสกุลอะไรต่างๆ แล้วมีผู้ใหญ่ในประเทศ ถ้าผมเติบโตขึ้นมาผมมองแล้วเราล่ะจะมาเป็นใหญ่ในประเทศได้อย่างไร วิธีเดียวที่จะมาเป็นใหญ่ในประเทศนี้ต้องมีสตางค์ เพราะฉะนั้นพวกนี้โตขึ้นมามีสตางค์โดยการทำธุรกิจ ต้องวิ่งเข้าหาแหล่งอำนาจอะไรต่างๆ ต้องประจบไปก่อน แต่เมื่อต้องการมีอำนาจทางการเมือง วิธีที่จะเอาชนะพวกนี้คือเอาชนะในยุคที่เป็นประชาธิปไตย โดยการได้คะแนนเสียงจากคนที่ไม่ได้อยู่กับพวกนี้ คือประชาชนที่อยู่ที่อื่น ระดับรากหญ้า อีสานอะไรต่างๆ เพราะฉะนั้นต้องใช้เงินที่มีอยู่สร้างภาพขึ้นมา ไม่ใช่ภาพอะไรที่ไม่ดีที่ต้องสร้างขึ้นจริงๆ แล้วไปดึงเสียงมาให้ได้จากประชาชน ที่ไม่ได้ไปจงรักภักดีกับอำนาจเก่าทุนเก่า ไปดึงกระแสสนับสนุนจากตรงนั้นมา



ทฤษฎีเดียวกัน สมมติว่ามีคนคนหนึ่งทำรายการข่าวอันหนึ่งอยู่ก็มีคนดูเยอะแยะคนก็ชม ผมก็นั่งมองว่าถ้าสมมติผมทำได้ดีกว่านั้น ผมก็ต้องไป Capture (เข้าครอบครอง) อีก Market (ตลาด) หนึ่งที่อาจจะกว้างกว่านั้น


ทฤษฎีเดียวกันแหละต้องเข้าครอบครองด้วยเงินหรือโฆษณาด้วยอะไรที่แปลกใหม่ เพราะว่าฝ่ายอำนาจเดิมๆ ของประเทศส่วนใหญ่ไม่ตื่นตัว แล้วก็อยู่เฉยๆ จนกว่าจะมีใครมาท้าทาย มันต้องมีนั่นแหละ






** เกษตรกรหรือคนรากหญ้ามีความเดือดร้อนในเรื่องของราคาพืชผลเกษตรตกต่ำอะไรต่างๆ ในรัฐบาลนี้



ผมรู้สึกว่าเป็นแบบนั้น... จริงๆ ผมแทบไม่เคยไป ผมแทบไม่เคยไปต่างจังหวัด ไปน้อยมาก คือผมอยากจะรู้เหมือนกันว่าเขาเป็นอย่างไร ตามความเข้าใจของผม ผมไม่รู้ว่าเป็นความผิดของใคร เป็นความผิดของกระทรวงเกษตรหรือเปล่าที่ราคาผลไม้ต่ำ ลองกองในภาคใต้เป็นเรื่องที่ผมเข้าใจว่าคนไม่กล้าไปซื้อที่ไร่ เรื่องข้าวเป็นเพราะว่ารัฐบาลที่แล้วจำนำในราคาสูงมาก อย่างอื่นผมไม่รู้แล้ว ผมรู้สึกเป็นอย่างนั้น ผมไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะช่วยอะไรได้บ้าง ยกเว้นที่ไปซื้อมาแล้วก็รณรงค์ให้คนกิน






** กลไกของรัฐบาลช่วยเหลือเกษตรกรเหมาะสมหรือยัง


ผมว่าช่วยได้ไม่มาก คือช่วยในสิ่งที่ควรช่วย ลำไยต้องหาวิธีให้เขาเลิกปลูก ลำไยเป็นผลไม้ที่ไม่อร่อย อย่างน้อยไม่อร่อยเท่าที่คนปลูก เพราะถ้าอร่อยจริงๆ คนกินมากกว่านี้ แต่บทบาทของรัฐบาลต้องไปหาทางเลือกใหม่สำหรับคนที่ปลูกลำไยคุณจะปลูกอะไรอย่างอื่นได้ไหมที่จะใช้ได้มากกว่านี้ อาจจะใช้ทำไบโอดีเซลอะไรก็ได้ เสร็จแล้วที่เหลือให้ลดน้อยลง ถ้าขายไม่ได้จริงๆ ค่อยช่วย ต้องแก้ทั้ง 2 อย่าง ถ้าผมเล่นการเมืองอย่างนี้นะ เรื่องนโยบายอย่างนี้ต้องปล่อยให้คนอื่น






**เห็นไปพบคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หมายถึงว่าสมัยหน้าจะร่วมมือทางการเมืองกับพรรคประชาธิปัตย์



คืออย่างนี้ครับ เรื่องการเมืองกับผม สรุปประมาณนี้ คือผมคิดว่าตอนนี้ผมจะลงสมัคร ส.ส. ขั้นต่อไป นั่นคือแผนการผมนะ แต่ว่าความไม่แน่นอนก็มีอยู่บ้าง ประเด็นก็มีอยู่ว่าทางเลือกมันมีไม่มาก ผมแค่พูดให้ฟังนะ คือไม่ใช่ทางเลือกมีไม่มาก ทางเลือกมีมากเกินไปด้วย แต่ว่ากรอบที่ผมต้องอยู่ กรอบแห่งความเป็นหม่อมหลวง กรอบตั้งแต่ความเป็น "เทวกุล" กรอบกำหนดทิศทางให้ผมไปได้ ถ้าไปพลังประชาชน ถ้าผมอยู่ ครอบครัวผมจะกล่าวหาว่าผมไปอยู่กับพวกทักษิณ ทักษิณถูกมองจากราชนิกุลต่างๆ ว่าเป็นคนที่ไม่จงรักภักดี ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ยังไม่เคยพิสูจน์ในศาล แต่ว่าความที่ผมเป็นเทวกุล ผมอยู่พลังประชาชนคือไทยรักไทย ญาติผมจะมาว่าผมหรือเปล่า ผมไม่ได้บอกว่าไม่ควรไปอยู่นะ ผมแค่พูดให้ฟังว่าถ้าไปอยู่เดี๋ยวญาติก็จะ โทร. มาหาแล้ว ทำไมไปอยู่กับพวกทักษิณ


ไปประชาธิปัตย์ ผมขึ้นรถแท็กซี่ แท็กซี่ก็บอกว่าจะไปอยู่ประชาธิปัตย์ทำไม ก็เชียร์ทักษิณ ร่ายยาวเลย ต่อว่าประชาธิปัตย์ชอบออกมาเหมือนประกาศปราบปรามการคอร์รัปชั่น เหน็บแนมพรรคอื่นๆ ไปยอมสยบหัวให้กับทหาร ก็จะโดน มีกระแสที่ไม่พอใจกับผมเยอะ หลังจากที่ผมไปเจอคุณอภิสิทธิ์ ผมไปเชิญออกรายการทีวี ผมไม่ได้คุยถึง 5 ชั่วโมงนะ ถ้าคุย 5 ชั่วโมงต้องใหญ่มาก ผมคุยแป๊บเดียว



กระแสในสังคมที่ Anti ประชาธิปัตย์เยอะ ที่ยังรัก พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่เยอะ แค่ผมเจอคุณอภิสิทธิ์ อีกวัน โอ้โห...เพื่อนๆ ที่สนับสนุนไทยรักไทย หรือชาวบ้านที่ยังรัก พ.ต.ท.ทักษิณ อีเมล์มา อู้ย... เจอๆๆ ผมไปกินเบอเกอร์คิงส์ เจอคุณลุงคนหนึ่งเดินเข้ามาแล้วบอกว่า ทำอะไรก็ได้แต่อย่า...อย่า...อย่าไปประชาธิปัตย์


ทีนี้มาทางอื่น ชาติไทยเป็นพรรคที่มีความอบอุ่น แต่อบอุ่นลักษณะเหมือนครอบครัว วันนั้นผมไปงาน ไปเป็นเอ็มซี (พิธีกร) คู่กับคุณแบม (จณิสตา ลิ่วเฉลิมวงศ์) อบอุ่นมาก อบอุ่นมากจริงๆ เวลาเราอยู่ตรงนั้นเหมือนเป็นลูกคุณบรรหาร (บรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย) ที่นั่งอยู่ตรงนั้นอบอุ่นเหลือเกิน อบอุ่นมากเกินไปหรือเปล่า เหมือนอยู่ในครอบครัวก็อีกแบบ ตรงข้ามกับไทยรักไทยเลย ถ้าเข้าไปเหมือนบริษัท ก็คำถามคืออบอุ่นเกินไปหรือเปล่า ค่อนข้างอบอุ่นมากเลยนะ เหมือนอยู่ในครอบครัว บางคนบอกว่าอาจจะดีอยู่ในครอบครัว บางคนก็อาจจะอยากอยู่ในบรรยากาศที่มีความเป็นครอบครัวน้อยลง



ผมพยายามที่จะทำความเข้าใจกับ Perception (ความเข้าใจ) ของสังคม แต่นี่ไม่ใช่ความเข้าใจของผมนะว่าพรรคแต่ละพรรคเป็นอย่างไร แต่เหมือนกับว่าต้องมาพะวงกับญาติพี่น้อง หรือสังคมมองรับเงินหรือเปล่า ทั้งๆ ที่เป็นความจริงหรือเปล่าอีกเรื่องหนึ่ง ขณะที่อย่างประชาธิปัตย์ก็มีกระแสว่ายอมทหารเหน็บแนมชาวบ้าน ชาติไทยอบอุ่นเหลือเกิน ชาติไทยเป็นพรรคเล็กหรือเปล่าตอนนี้ มันมีโอกาสเป็นพรรคเล็ก มีอยู่บางคนบอกว่าจะได้ 50 หรือ 20 ก็ได้ คือไม่มีใครรู้ ทุกอย่างอยู่ที่คุณบรรหาร พรรคอื่นที่มีขึ้นมาใหม่ มีประเด็นอย่าง รักชาติ คงอยู่ไม่นาน อยู่ในยุคที่บิ๊กบัง (พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. และประธาน คมช.) จะเล่นหรือไม่ ถ้าไม่เล่นอีกหน่อยก็หายไป


ทีนี้ไปถึงกลุ่มรวมใจไทย มัชฌิมา สมานฉันท์ รวมใจไทย เป็นแค่อ๊อปชั่นแบบชั่วคราว ไปสมานฉันท์เนี่ย ตามความเข้าใจของผมเขาไม่ลงกรุงเทพฯ ถ้าผมลงสมัคร ส.ส. ผมจะลงกรุงเทพฯ ลงต่างจังหวัดก็ได้ น่าสนุกนะ แต่ขอลงกรุงเทพมหานคร คือสมานฉันท์ไม่ส่งลงกรุงเทพฯ ประเด็นของรวมใจไทยคือเขาจะเอากลุ่มกรุงเทพฯ 50 มาแข่งกับประชาธิปัตย์ในกรงเทพฯ ต่อกับกลุ่มของสุรนันท์ (สุรนันท์ เวชชาชีวะ) ก็น่าสนใจ แต่ว่ารวมใจไทยแข็งจริงหรือเปล่าอันนี้ไม่แน่ เพราะว่าตอนนี้คนที่อยู่ในรวมใจไทยปากบอกว่ามีแต่คนเก่งๆ มีเก่ง ฉลาดหมดเลย เป็นที่ปรึกษาหมดเลย เป็นสไตล์สมคิด (สมคิด จาตุศรีพิทักษ์) เอนก (เอนก เหล่าธรรมทัศน์) อะไรต่างๆ คือแบบว่าไม่มีเป็นฮาร์ดคอร์ นักการเมืองน้อย ประเด็นคือว่าแข็งจริงหรือเปล่าหรือรวมเฉพาะภารกิจ คือพรรคพวกนี้ปัญหาคืออันตราย คือเราเข้าไปอยู่ไม่รู้อยู่รัฐบาลเดียวแล้วหายหรือเปล่า คือเราไม่รู้ว่าเขาจะสลายตัวในรัฐบาลหน้าหรือเปล่า



อย่างรักชาติ หลังรัฐบาลหน้าหายไปแล้ว รวมใจไทยอาจจะอยู่สัก 2 รัฐบาลแล้วก็หาย แต่ขั้วพลังประชาชนไม่รู้อยู่ได้นานแค่ไหน แต่ว่าอย่างน้อยกลุ่มนั้นค่อนข้างแน่นอยู่ด้วยกัน ประชาธิปัตย์น่าจะอยู่ รวมใจไทยอาจจะอยู่ 2 รัฐบาลแล้วก็สลาย มัชฌิมาคล้ายๆ กับกลุ่มของสุวัจน์ (สุวัจน์ ลิปตพัลลภ) อาจจะใหญ่กว่า ก็ไม่รู้ว่าเขาจะไปในทิศทางไหน อย่างกรุงเทพฯ 50 จะส่งลงครบหรือเปล่า หรือเขาจะไม่ส่งลงกรุงเทพฯ ไปเฉพาะเหนือกับอีสานอะไรอย่างนี้ คือถ้าเป็นพรรคต่างจังหวัดอย่างเดียวก็ไม่รู้มีบทบาทเป็น ส.ส. กรุงเทพฯ ได้หรือเปล่า หรือจะเป็นลักษณะที่ผมเข้าไปแล้วลงเฉพาะกรุงเทพฯ แล้วก็ส่งกรุงเทพฯ แค่ 1-2 คน อะไรอย่างนี้ก็แปลก


ประเด็นกลับมารอยเดิมก็คือว่าผมไม่อยากมี ผมต้องการทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ จะเดินอย่างไรต่ออันนี้อีกเรื่องหนึ่ง แล้วเรื่องเงินผมมีเงินที่ดูแลได้เฉพาะผมคนเดียว เพราะฉะนั้นผมมีบทบาทที่ค่อนข้างจะมีขีดจำกัด แต่ว่าผมสามารถสร้างกระแสของผมได้ เพราะว่าผมมีคนที่ชื่นชมผม ผมคิดว่าผมสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ในสังคม ผมอาจจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในบทบาทในตำแหน่งไม่ได้มาก ผมคิดว่าผมสร้างความเปลี่ยนแปลงในฐานะที่ผมเป็นปลื้มได้ แล้วมีคนที่ติดผมเพราะตำแหน่งที่ผมจะเข้าไปอาจจะไม่ได้ใหญ่โตอะไร






**สนใจไปทำงานอะไรทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม



แล้วแต่ เรียนรู้ได้หลายแบบ คือถ้าเข้าไปจริง แล้วแต่หัวหน้าพรรค มันมีเยอะแยะ






**รัฐบาลหน้าคิดว่าจะเข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ


ก็คิดว่าน่าจะได้ รัฐบาลหน้านะเอาแค่ 2-3 อย่างเนี่ย ผมกำลังคิดอยู่ว่ารัฐบาลหน้าจะเปลี่ยนแบงก์ชาติหรือเปล่า คือผมชอบคุณธาริษา (ธาริษา วัฒนเกส) ผมคิดว่ารัฐบาลหน้าคงกล้าที่จะเปลี่ยน และคงเปลี่ยนในมุมมองของผม ถ้าคิดกลับว่านักการเมืองจะทำการตลาดอย่างไรเนี่ย ผมเชื่อว่านายกฯ คนต่อไปคงเปลี่ยน แต่ถ้าเป็นคุณอภิสิทธิ์ คงหาจังหวะที่ดูไม่น่าเกลียดแล้วเปลี่ยน แต่สำหรับผม ผมชื่นชมคุณธาริษา แต่ผมเข้าใจว่านักการเมืองหาทางเปลี่ยนแน่ อาจจะได้คนที่ห่วยกว่า อาจจะได้สร้างภาพ ส่วนจะเก่งกว่าหรือไม่ นั่นคือสิ่งแรกที่จะหาเรื่องเปลี่ยน เสร็จแล้วประกาศนโยบายทางการเงินอะไรใหม่ นโยบายอะไรต่างๆ ช่วยผู้ส่งออก ไม่มีหุ้นตกอีกแล้ว ไม่มีมาตรการ 30% จะช่วยผู้ส่งออก จากนั้นเรื่องที่ 2.โครงการรถไฟฟ้า 3 สาย ม่วง น้ำเงิน แดง ให้เสร็จ ต่อเลย เขียว กทม. ทำอยู่แล้ว



เพิ่มอีก 4 สายทันทีเลย ทำทั้งหมด 9 สายเลยทีเดียว ซึ่งประชาธิปัตย์ ไทยรักไทย หรือพลังประชาชน เขามีแผนทั้งคู่แล้วว่าจะโฆษณาเรื่องนี้แน่ๆ อยู่แล้ว


อันที่ 3 เดี๋ยวเขาจะแพลนเคลมแน่เลย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหน คือยกระดับราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะผักผลไม้ ผมว่าเดี๋ยวประกาศออกมาเลย ถ้าผมเป็นพีอาร์นักการเมืองนะ ผมประกาศเลย ลองกอง เงาะ ทุเรียน อย่างน้อยกิโลกรัมละกี่บาท ผมเชื่อเลยพรรคพลังประชาชนประกาศแน่ แต่ประชาธิปัตย์กล้าประกาศหรือเปล่า ถ้าเป็นผมนะ 3 อันผมประกาศเลย หาเสียงสไตล์ พ.ต.ท.ทักษิณ แล้วชนะใจประชาชน ซึ่งประชาธิปัตย์น่าจะทำได้ไม่ยากนะ



แล้วอันที่ 4 ผมจะเขียนโฆษณาตั้งแต่หาเสียงเลย ล้างหนี้ ถ้าผิดกฎหมายเลือกตั้ง อันนี้มันทุเรศ อันนี้ผมขี้เกียจคิด เพราะว่ามานั่งคิดแคมเปญแล้ว กกต. จะมาบอกผิดกฎหมาย มันทุเรศ ถ้าอย่างนั้นจะแคมเปญได้ยังไง คุณจะหาเสียงได้ยังไง ล้างหนี้ของเกษตรกรกลุ่มที่มาประท้วงทุกปี เกษตรกรที่อยู่ในกองทุนฟื้นฟูเพื่อพัฒนาเกษตรกร ถ้าเป็นผมนะผมประกาศล้างหนี้หมดเลย เคลียร์อันเก่าหมด แต่หนี้ใหม่คุณจะก่อก็ช่าง แต่หนี้ใหม่จะไม่มีการคุย แต่ประกาศใช้ว่าชุดเก่าเคลียร์หมดเลย อันที่ 5 สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ถ้าเป็นผม ผมถึงไม่อยากหาเสียงเป็น ส.ส.


ประเด็นคือ ปัญหาของผมคือ ใจหนึ่งผมอยากเป็น ส.ส. อีกใจหนึ่งคือว่านโยบายที่ผมคิดไม่เกี่ยวกับระดับ ส.ส. เป็นนโยบายที่จะคิดให้ทัน คือผมคิดว่าผมชอบการหาเสียง แต่บทบาทในพรรคผมอาจจะไม่ Enjoy (สนุก) ก็ได้ แต่ว่าถ้าเป็นผม 5 อย่างขึ้นบอร์ดแล้ว แต่ถ้าผมเป็น ส.ส. ผมพูดถึงนโยบายพวกนี้แล้วมันไม่ตรงกับพรรคทำได้หรือเปล่า ถ้ายอมโดนหัวหน้าพรรคด่า ถ้าเกิดทำแล้วใครจะทำอะไรเรา ผมชนะแล้ว ผมเป็นสมาชิกสภาแล้ว



ผมคิดว่าถ้าผมเป็น ส.ส. ผมอาจจะฟัดกับคนในพรรคก็ได้ แต่ผมพยายามไม่เป็นอย่างนั้น แต่สิ่งที่ผมกลัวที่สุดคือผมเป็นคนไม่ชอบขึ้นกับใคร แม้กระทั่งช่อง ผมไม่ยอมอยู่กับช่องใดช่องหนึ่ง ผมไม่ชอบให้คนมานั่งดูว่าผมเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรไหน ผมไม่ใช่ส่วนหนึ่งขององค์กรไหน ผมเป็นผมเอง แล้วผมไม่เห็นด้วยกับทุกอย่างที่องค์กรไหนทำ แต่ผมไม่ชอบที่สุดที่คนบอกปลื้มมาอยู่ช่อง 3 แล้ว ปลื้มมาอยู่ช่อง 9 แล้ว ผมไม่อยู่ช่องไหนทั้งสิ้น ผมทำงานของผมให้คนดู เหมือนกันเรื่องพรรคการเมือง ปัญหามันมีทุกพรรค มีนโยบายที่ผมเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย นี่จะเป็นสิ่งที่ผมไม่รู้จะทำอย่างไร แต่คงต้องเข้าใจว่าเราอยู่แล้วมันเป็นมติพรรค แล้วนั่นไม่ใช่จุดยืนของเรา






**ต้องการทำงานการเมืองแบบอิสระ ไม่สังกัดพรรค


ก็ได้ ผู้ว่าฯ กทม. หรือ ส.ส. อิสระก็ได้ หรือไม่ถามอีกอันหนึ่งเป็นอย่าง สนธิ ลิ้มทองกุล เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ เป็นเจ้าของรายการ ลั่นนโยบายของตัวเอง แล้วใช้เวทีนั้นกดดันรัฐบาลก็เวิร์ก แต่เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีสำหรับองค์กร






**คิดว่ารัฐบาลหน้าเข้ามา ความเชื่อมั่นของนักลงทุนจะเกิดไหม



ผมว่า ok เลย รัฐบาลหน้านะ ถ้าไม่ฟัดกันต่อนะ รัฐบาลหน้าเข้าไปในสภาจะทะเลาะกันในสภาทุกวันคือมันจะเละเลย ผมว่าจะยุบสภาภายในปีเดียว ผมจะลงคราวหน้าจะเก็บเงินไว้ แต่ผมเชื่อเลยถึงเวลานั้นผมอาจจะทำใจไม่ได้ในเรื่องความที่ผมไม่ชอบ ความที่ผมชอบเป็นอะไรล่ะ ผมไม่ชอบให้คนเข้าใจผิดว่าผมเห็นด้วยกับเรื่องนี้ ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ สิ่งนี้จะเป็นสิ่งกีดกันผมไม่ให้เป็นนักการเมือง


แต่ว่าเมื่อบอกว่าความเชื่อมั่นจะกลับมาหรือเปล่า กลับมาแน่ ถ้าปล่อยให้รัฐบาลหน้าบริหารไป เหมือนความเชื่อมั่นตอนนั้นก็มีเยอะแยะกับทักษิณ ถ้าไม่มีการประท้วงหรือไม่มีอะไร ทุกอย่างเดินไปเรื่อยๆ ของมัน เหมือนกันกับรัฐบาลหน้า เหมือนกัน ความเชื่อมั่นก็มี ถ้าไม่มีการฟัดกันมากแล้วยุบสภา






**แต่หลายฝ่ายยังมองว่าทหารยังคุมอยู่เบื้องหลังพรรคใหญ่



ผมว่าไม่เป็นไร ถ้า ผบ.ทบ.คนต่อไปไม่ใช่ พล.อ.สพรั่ง ถ้า ผบ.ทบ.คนต่อไปเป็น พล.อ.สพรั่งเนี่ย ฝ่ายที่เป็นพวก นปก. อะไรพวกนี้เนี่ยไม่หยุดเคลื่อนไหวหรอก เพราะพวกเขาเกลียดพล.อ.สพรั่ง ก็จะออกมาแดกดันจนมีเรื่องกัน แล้วสนธิ (นายสนธิ ลิ้มทองกุล) จะคอยเชียร์สพรั่ง(พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร) ตลอด ในที่สุดแล้วรัฐบาลหน้าจะสปีชประเด็นทางด้านนโยบายรัฐบาลก็ไปอยู่ที่ สนธิ ลิ้ม กับ สพรั่ง ชนกับพวก นปช. นปก. แล้วบวกกับพวกสมัคร บวกกับพลังประชาชน เป็นฝ่ายค้านคอยด่า ด่าไปด่ามา


แต่ถ้าเกิด ผบ.ทบ. ไม่ได้เป็นสพรั่ง เป็นอนุพงษ์ (พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา) เป็นมนตรี (พล.อ.มนตรี สังขทรัพย์) หรือเป็นวินัย (พล.อ.วินัย ภัททิยกุล) แล้วคุมกองทัพแล้วไม่ออกมาพูดนั่นพูดนี่ ไม่มีความพยายามที่จะมีบทบาททางการเมืองอย่างสพรั่งเนี่ยนะ แล้วอยู่เฉยๆ คุมกองทัพเงียบๆ นะ แล้วคุมทางด้านความมั่นคงจริงๆ คือไม่มีความเคลื่อนไหวอะไร ไม่ว่าฝ่ายไหน ไม่ว่าฝ่ายสนธิหรือฝ่ายพลังประชาชน คุมให้มันสงบ ซึ่งจะมีอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ บริหารไปมันก็เวิร์ก อย่าง ครม. อภิสิทธิ์จะเวิร์กมาก



แล้วกลับมาเรื่องเดิมอีกแล้ว ทุนเก่า พวกผู้ใหญ่ต่างๆ จะไม่เชื่อว่าอภิสิทธิ์บริหารได้ แต่ผมเชื่อว่าอภิสิทธิ์บริหารได้ นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ผมชอบประชาธิปัตย์ แต่ผมไม่ชอบประชาธิปัตย์ตรงประเด็นพูดเหน็บแนมพรรคอื่น ซึ่งอันนี้เขาทำเยอะ แต่ว่าบางทีมันไม่ใช่เรื่องของพรรค บางทีคนในพรรคเขาตัดสินใจที่จะทำอย่างนั้นเอง คนส่วนใหญ่อย่างคุณอลงกรณ์แถลง มีอิสระในการแถลง อย่างคุณอภิมงคลไม่ค่อยแถลงอะไร เพราะว่าเขามีอิสระในแต่ละคน อย่างคุณอภิสิทธิ์ เขาพิสูจน์ให้คนเห็นเลยว่าไม่ต้องเป็นอดีตพลเอก ไม่ต้องเป็นอดีตเทคโนแคร็ต ไม่ต้องมาจากธนาคารไหน ไม่ต้องเป็นดอกเตอร์มาจากที่ไหน เขาเป็นมืออาชีพ นักการเมืองโตขึ้นมาแล้วก็เป็นนายกฯ ได้ แล้วอายุไม่ต้อง 50-60 อายุ 40 ก็เป็นได้ เขาเป็นได้ดีกว่าคนอายุ 60-70 คือเราไปอยู่ในโหมดที่คิดว่าคนแก่เก่ง ไม่ใช่ไง อย่างรัฐบาลนี้ไง อายุมากบริหารออกมาคนไม่เห็นชอบ อภิสิทธิ์ ทำได้ รัฐบาลอภิสิทธิ์ หรือ มรว.จตุมงคล (มรว.จตุมงคล โสณกุล) ก็เวิร์ก เก่งทำได้ อย่างสุเทพ (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) ผมได้ยินมาว่าจะอยู่ไอซีที หรือไม่กระทรวงคมนาคม อาจจะดีกว่าสุริยะ (นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ) คือมันได้ ครม. ออกมาอาจจะดี เหมือนจะมีธูปเก่าอยู่คือ ครม. เป็น ครม. มีคุณภาพ ถ้าปล่อยให้เขาทำน่าจะเวิร์กเหมือนกับ ครม. ไทยรักไทย ส่วนใหญ่มีคุณภาพ สิ่งที่จะทำให้ทุกอย่างพังคือสิ่งที่ทำให้ทุกอย่างพังในสมัยนั้น คือ การเมืองในท้องถนนที่ไม่ยอมฟังชาวบ้าน


เพราะฉะนั้นปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจหลังเลือกตั้งจะเป็นปัจจัยเสี่ยงเหมือนเดิมที่เคยมีในสมัยทักษิณก็คือสพรั่ง ก็คือ สนธิ ลิ้ม แล้วก็คือการชนกันระหว่างสนธิกับกลุ่มฮาร์ดคอร์ นปก. นปช. อะไรต่างๆ คนอย่างประสงค์ สุ่นสิริ คนที่เล่นนอกเกม คนที่อยู่ในเกมไม่เคยสร้างปัญหาหรอก หรือปัญหาคนที่อยู่ในเกมสร้าง มันจะจบลงในเกม แต่ไม่มีอะไรที่ทำให้ต่างประเทศมานั่งเกลียดประเทศไทย สำหรับผมเหตุการณ์นี้ทำให้ต่างประเทศเกลียดประเทศไทยตั้งแต่แรกเลย






**ทหารจะเข้ามามีบทบาทในรัฐบาลหน้าจะน่ารังเกียจหรือเปล่า



มันเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับว่าเกิดขึ้นได้อยู่แล้ว อย่าง พล.อ.สนธิ มาเป็นรองนายกฯ อันนี้เป็นสิ่งธรรมดา หลังจากที่มีการปฏิวัติ ในมุมมองของผมคือทำอะไรไม่ได้ น่ารังเกียจหรือเปล่าไม่น่ารังเกียจเท่าปฏิวัติ มันเป็นผลที่ทำมาหลังจากทำรัฐประหารแล้วก็พยายามให้กลับมาเป็นเลือกตั้งเหมือนเดิม หลังจากนั้นบทบาททหารจะใหญ่กว่าก่อนทำปฏิวัติ เพราะฉะนั้นน่ารังเกียจหรือเปล่าไม่น่ารังเกียจเท่าการทำรัฐประหาร






**ประเมินว่านักลงทุนชาวต่างประเทศจะกลับมาเชื่อมั่นประเทศไทยอีกอย่างนั้นเลยหรือ


ต่างประเทศตอนนี้เขาแค่บอกว่าให้กลับมาเป็นคล้ายๆ เดิมก็ ok แล้ว แค่นั้นเขาก็พอใจแล้ว ถ้าคนอื่นเป็นรองนายกฯ รัฐมนตรีกลาโหมก็ ok






** ทุนที่เขาบอกมันเคลื่อนไปสู่โฮจิมินห์ ไปสู่เวียดนาม เป็นทุนต่างประเทศ อันนี้เขาจะกลับมาไหม



ผมคิดว่าน่าจะมา แต่ว่าเวียดนามดีหลายอย่างมากเลย เวียดนามมีความมั่นคงทางการเมือง มีการเปิดเสรีทางด้านการลงทุน 100% คือต่างชาติไม่ต้องทำจอยต์เวนเจอร์ สามารถลงทุนได้แทบจะทุก Sector เลย ไม่ต้องไปร่วมทุนกับเวียดนาม อันนี้เป็นอะไรที่ทำให้เขาเหนือประเทศไทยเยอะ ในมุมมองของผม เรามีขีดจำกัดดีแล้วต้องมี 50% ไม่งั้นฝรั่งเป็นเจ้าของทุกอย่าง คืออเมริกาเป็นอิทธิพลในเวียดนามอยู่แล้วไง เราไม่ต้องเป็นแบบนั้น แต่เขาได้เปรียบเรา ใช่ และเหตุผลทางศักยภาพทางการเมือง และเหตุผลค่าแรงต่ำกว่า เวียดนามชนะเรา 3 ประเด็นนี้ไง คือลงทุนได้ 100% เลย ไม่ต้องทำ Joint-Venture การร่วมลงทุน ของเราต้องทำ เสถียรภาพทางการเมือง แล้วก็ค่าแรงต่ำกว่า เราไม่เหมือนเขา






**แล้วนักลงทุนเหล่านั้นเขาจะกลับมาไหม


ผมคิดว่าถ้าไปเวียดนามแล้วไม่จำเป็นต้องกลับมาเมืองไทย ไม่มีเหตุผลที่ดีกว่าที่จะลงทุนในไทย ยกเว้นบางอย่างเราทำเก่งกว่าเวียดนาม อาจจะเป็นความสามารถของคนไทยที่ดีกว่า






***แล้วเราจะเอาเงินลงทุนภาคเอกชนมาจากไหนในรัฐบาลหน้า



ไม่รู้เหมือนกัน ในที่สุด พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าว จะตาย ไม่ผ่าน แล้วเขาดองแล้ว จะแก้จน บ้ามากไง ในที่สุดดองแล้ว พ.ร.บ.ต่างด้าว เงียบแล้วไม่ออกแล้ว


****************


//www.prachatouch.co.th/Story.php?sortid=1249




 

Create Date : 10 กันยายน 2550
0 comments
Last Update : 10 กันยายน 2550 19:00:18 น.
Counter : 488 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


จอบศักดิ์
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Thailand
Friends' blogs
[Add จอบศักดิ์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.