Group Blog
 
 
มิถุนายน 2548
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
1 มิถุนายน 2548
 
All Blogs
 
เมื่อจอมยุทธฯศึกษากาพย์ฉบัง

กาพย์ฉบังกับเสียงท้ายบท

ปู่ออฯ ถามมาว่า " เคยสังเกตเห็นมาว่า พยางค์ท้ายของทุกวรรคของฉบังจะไม่ใช้คำที่มีรูปวรรณยุกต์อยากถามท่านผู้รู้ว่า เขามีบังคับใช่หรือไม่ ? "

อันนี้จอมยุทธฯ ขอออกตัวก่อนว่า ยังไม่ใช่ผู้รู้ แต่พยายามหาข้อมูลจากหนังสือที่มีอยู่มาตอบคำถามข้อนี้ขอรับ

เดิมๆ จอมยุทธฯ ก้อเคยคิดว่าพยางค์ท้ายของทุกวรรคของฉบัง จะไม่ใช้คำที่มีรูปวรรณยุกต์ รวมถึงคำตาย ด้วยอาจจะติดมาจากบทอาขยานสมัยเด็กๆ ที่ท่องจนจำได้จนบัดนี้ ก้อคือบทนี้แหละขอรับ

๏ เห็นกวางย่างเยื้องชำเลืองเดิน...................เหมือนอย่างนางเชิญ
พระแสงสำอางข้างเคียง
๏ เขาสูงฝูงหงส์ลงเรียง................................เริงร้องซร้องเสียง
สำเนียงน่าฟังวังเวง
๏ กลางไพรไก่ขันบรรเลง.............................ฟังเสียงเพียงเพลง
ซอเจ้งจำเรียงเวียงวัง
๏ ยูงทองร้องกระโต้งโฮ่งดัง.........................เพียงฆ้องกลองระฆัง
แตรสังข์กังสดาลขานเสียง

จาก มูลบทบรรพกิจ : พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)

แต่จากการค้นจากหนังสือที่มีอยู่ ไม่พบว่ามีการบังคับคำท้ายวรรคขอรับ มีแต่คำท้ายบทที่หนังสือตำราฉันทลักษณ์บางเล่มที่ระบุคำสุดท้ายของบทไว้เป็นกฎในการแต่งกาพย์ฉบัง ว่า " คำสุดท้ายของบทห้ามใช้คำตาย หรือคำที่มีรูปวรรณยุกต์และนิยมใช้เสียงวรรณยุกต์สามัญหรือจัตวา "

แต่โบราณจะตั้งเป็นกฎไว้จริงๆหรือไม่ จอมยุทธฯ เองก็ไม่แน่ใจ อาจจะเป็นเพราะโบราณก็อาจจะไม่นิยมเขียนฉบังกันเท่าไหร่ เท่าที่ปรากฎในสมุทรโฆษ หรืออนิรุทธคำฉันท์นั้น ฉบังก็แค่เขียนลงเป็นส่วนประกอบให้ฉันท์เท่านั้น และบรรเลงไปเรื่อยๆ ทำให้ลีลาของฉบังไม่ค่อยโดดเด่น ซึ่งอาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้กวีสมัยก่อนไม่ค่อยพลิกแพลงในการเล่นกาพย์ฉบัง ทำให้คำที่ใช้ท้ายวรรคไม่ลงด้วยคำที่มีรูปวรรณยุกต์หรือคำตายที่อาจทำให้จังหวะและลีลาของฉบังเพี้ยนออกไป

ยังไม่จบนะขอรับ ไหนๆก็มั่วมาจนถึงนี้แล้ว จอมยุทธฯก็จะขอมั่วต่อไปอีก แหะ แหะ

แต่เพราะกาพย์ เป็นฉันทลักษณ์ที่เน้นเรื่องจังหวะลีลา โดยเฉพาะ ฉบัง มีลีลาและจังหวะแบ่งเป็น ๒-๒-๒,๒-๒, ๒-๒-๒ ตลอด ดังนั้นการเล่นกาพย์ฉบังในสมัยปัจจุบัน กวีจึงอาจพลิกแพลงเพื่อให้หลากหลายยิ่งขึ้นซึ่งหลุดจากกรอบเดิมๆ แบบโบราณ อาทิ

๏ งำเมืองงามเมืองเรืองไร.................เรืองรายฉายชัย
ฉายชนฉายชีพเฉพาะพระพักตร์ (เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์)

๏ ไกลไกลเกาะเพกาเห็น......................ลิบเรือเพียงเล็น
เล่นโล้โต้คลื่นคล้อยคล้อย (เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์)

แต่ก็พบเพียงเล็กน้อยเท่านั้นขอรับ จะเห็นว่าเสียงคำท้ายบทของฉบังที่ยกตัวอย่างแปลกๆจากของเก่า ดังนั้นจอมยุทธฯจึงมีความเห็นว่า " คำสุดท้ายของบทห้ามใช้คำตาย หรือคำที่มีรูปวรรณยุกต์และนิยมใช้เสียงวรรณยุกต์สามัญหรือจัตวาเท่านั้น " น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
สำหรับคำสุดท้ายของวรรคแรกและวรรคที่สองไม่มีปัญหาขอรับ

๏ คือใจเยี่ยงใจเด็กจ้อย.....................มืดมากดำน้อย
ไป่ทาบไป่ทามลามลง
๏ ใจกวีคือใจเจาะจง..........................สร้างเจตจำนง
ให้อิสระได้โรจน์เรืองรอง ฯ (พนม นันทพฤกษ์)

สำหรับ ความเข้าใจของพี่ xxx(เฒ่า) ที่ว่า

" จำผิดไปว่า บทอาขยาน "เห็นกวางย่างเยื้องชำเลืองเดิน
................................................................................."
อยู่ใน กาพย์ พระไชยสุริยา ของสุนทรภู่ขอบคุณจอมยุทธ ที่อธิบาย
ขอเต็มๆได้ใหมครับ(เฉพาะที่เป็นอาขยาน) เคยท่องได้ตอนนี้จำไม่ได้
แล้ว"


จริงๆ แล้ว พี่ xxx(เฒ่า) จำไม่ผิดหรอกครับ เป็นจอมยุทธฯ ที่ผิดพลาดเอง ที่ยกมาเฉพาะมูลบทบรรพกิจ จริงๆแล้วก็มาจาก กาพย์พระไชยสุริยาของสุนทรภู่ นั่นแหละขอรับ เรื่องราวเป็นมาอย่างไรจอมยุทธฯ ขอคัดข้อความจาก เวปของสาวน้อยร้อยแปด มาให้อ่านดีกว่าขอรับ
//www.geocities.com/Paris/Library/7749/Nitan/chaisuriya.htm#chai3

" กาพย์พระไชยสุริยา เป็นนิทานสำหรับสอนอ่าน คาดว่าท่านสุนทรภู่แต่งขึ้นเมื่อท่านบวชอยู่ที่วัดเทพธิดาราม ประมาณ พ.ศ.๒๓๘๓ - ๒๓๘๕ โดยมีบทอ่านเรียงลำดับการสะกดคำตั้งแต่แม่ ก กา ต่อด้วยแม่กน แม่กง แม่กก แม่กด แม่กบ แม่กม จนถึงแม่เกย การประพันธ์ใช้ กาพย์แบบต่าง ๆ ได้แก่ กาพย์ยานี ๑๑ กาพย์ฉบัง ๑๖ และกาพย์สุรางคนางค์ ๒๘ เรื่องพระไชยสุริยานี้ นอกจากเป็นประโยชน์ในด้านการ ฝึกอ่านสะกดคำแล้ว ยังให้ประโยชน์ในแง่ศีลธรรมจรรยา
แก่เด็กๆ ไปด้วยในตัว

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อมีการจัดตั้งโรงเรียนหลวงขึ้น ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) จัดทำ แบบเรียนภาษาไทยขึ้นชุดหนึ่ง มี ๖ เล่ม คือ มูลบทบรรพกิจ วาหนิติ์นิกร อักษรประโยค สังโยคพิธาน ไวพจน์พิจารณ์ และพิศาลการันต์ พระยาศรีสุนทรโวหารได้นำกาพย์เรื่อง พระไชยสุริยา มาแทรกไว้ในมูลบทบรรพกิจด้วย "


มาอ่านกาพย์ฉบังชุดนี้กันแบบเต็มๆ ดีกว่าขอรับ

แม่กง

๏ ขึ้นกงจงจำสำคัญ................................ทั้งกนปนกัน
รำพรรณ์มิ่งไม้ในดง
๏ ไกรกร่างยางยูงสูงระหง........................ตลิงปลิงปริงประยง
คันทรงส่งกลิ่นฝิ่นฝาง
๏ มะม่วงพลวงพลองช้องนาง...................หล่นเกลื่อนเถื่อนทาง
กินพลางเดินพลางหว่างเนิน
๏ เห็นกวางย่างเยื้องชำเลืองเดิน..............เหมือนอย่างนางเชิญ
พระแสงสำอางข้างเคียง
๏ เขาสูงฝูงหงษ์ลงเรียง..............................เริงร้องซร้องเสียง
สำเนียงน่าฟังวังเวง
๏ กลางไพรไก่ขันบรรเลง..........................ฟังเสียงเพียงเพลง
ซอเจ้งจำเรียงเวียงวัง
๏ ยูงทองร้องกระโต้งโฮ่งดัง......................เพียงฆ้องกลองระฆัง
แตรสังข์กังสะดาลขานเสียง
๏ กะลิงกะลางนางนวลนอนเรียง..............พระยาลอคลอเคียง
แอ่นเอี้ยงอีโก้งโทงเทง
๏ ค้อนทองเสียงร้องป๋องเป๋ง.....................เพลินฟังวังเวง
อีเก้งเริงร้องลองเชิง
๏ ฝูงละมั่งฝังดินกินเพลิง..........................คางแข็งแรงเริง
ยืนเบิ่งบึ้งหน้าตาโพลง
๏ ป่าสูงยูงยางช้างโขลง...........................อึงคะนึงผึงโผง
โยงกันเล่นน้ำคล่ำไป ๚

ช่วงนี้จอมยุทธฯ ชักเบลอบ่อยๆ แหะ แหะ

กลบทกับกาพย์ฉบัง

เนื่องจากคณะของกาพย์ฉบัง บทหนึ่งมีบาทเดียว แบ่งเป็นสามวรรค วรรคหน้า ๖ คำ วรรคกลาง ๔ คำวรรคหลัง ๖ คำ รวม ๑๖ คำ ดังนั้นจึงมักเรียกว่า กาพย์ฉบัง ๑๖

คมทวน คันธนู กล่าวไว้ว่ากาพย์ฉบัง มีลีลาและจังหวะเป็น ๒-๒-๒, ๒-๒, ๒-๒-๒ ตลอด ดังนั้นการสอดใส่สัมผัสในจะทำให้ไพเราะ หรือถ้าจะให้เหมาะก็ใช้สัมผัสทั้งสระทั้งอักษรซ้อนกัน หรือผลักดันกลบทบางชนิดมาเล่น ดังนั้นในเปลเปล้อตอนนี้ จอมยุทธฯ จะแนะนำกลบทที่นำมาใช้กับกาพย์ฉบัง

สำหรับกลบทต่างๆ ที่จอมยุทธฯ จะนำมาเสนอตรงนี้ จะคัดมาจาก หนังสือ เพื่อนแก้วคำกาพย์ ของศิวกานท์ ปทุมสูติ มาติดตามกันได้เลยขอรับ

ก. กลกระทู้
กลกระทู้ของกาพย์ฉบัง เหมือนกับกลกระทู้ของร้อยกรองอื่นทั่วๆไป คือแยกคำที่เป็นกระทู้วางไว้หน้าวรรคทุกวรรค แล้วแต่งบรรยายขยายกระทู้นั้นให้ได้ความตามต้องการ ดังตัวอย่าง

เพื่อน- รักเพื่อนอุปถัมภ์
แก้ว- คุณธรรม
คำ- สัตย์เลิศสุดยุดถือ
กาพย์- การกวีฝีมือ
ศิว- โลกลือ
กานท์- ลำนำเนื่องเมืองทอง

ข. กลกระทู้นำบท
กลบทนี้กำหนดให้แยกคำที่เป็นกระทู้วางไว้หน้าบททุกบท ดังตัวอย่าง

ปิด- ทองหลังพระใครเห็น................ความดีประเด็น
ไม่เด่นสะดุดตามอง
ทอง- นพคุณประคอง.....................คุณค่าแห่งทอง
เนื้อแท้เท่านั้นมั่นคง
หลัง- พระหน้าพระประจง.................ใจตั้งดำรง
จึงเลิศจึงล้ำดำรู
พระ- ย่อมพยานรับรู้........................ความดีที่ผู้
ประพฤติพิสุทธิ์ศรัทธา

ค. กลสลับอักษร
กลบทนี้กำหนดให้คู่คำในแต่ละวรรคสลับเสียงอักษรชนิดเดียวกันหรืออักษรที่เป็นอักษรเสียงคู่กัน ดังตัวอย่าง

น้ำใสในส่ำน้ำเสียง........................เสน่ห์สำเนียง
ทำนุกทำนองท้องนา
นักเพลงนักพูดนักภา-...................ษาหรรษ์สรรหา
ที่กล้าที่กลั่นทันกล
กสิกกระเสือกกระสน....................หยัดตื่นยืนตน
กรำฝนกรำฟ้ากล้าฝัน
ทุกเคียวที่คมทุกคัน.......................รู้ผ่อนรู้ผัน
บันเทิงบรรเทาเบาทุกข์

ง. กลนาคบริพันธ์
กลบทนี้กำหนดให้คำแรกของทุกวรรคซ้ำกับคำรองสุดท้ายของวรรคที่มาข้างต้น และให้คำที่สองของทุกวรรคมีเสียงพยัญชนะต้นเหมือนกับคำสุดท้ายของวรรคที่มาข้างหน้า หรืออาจใช้ "อักษรคู่" ซึ่งมีเสียงคู่กันแทนได้ ดังตัวอย่าง

แดดบ่ายชายช้าฟ้าขาว....................ฟ้าขาบวับวาว
วับแววตะวันครรไล
ครรลองคลองน้ำฉ่ำใส....................ฉ่ำทรวงดวงใจ
ดวงจินต์ถวิลรักหวัง
รักหวานอุราประดัง.........................ประโดยบุญยัง
บุญยิ่งบุพเพนำพา
นำพบนำพ้องสองรา.......................สองรักเสน่หา
เสน่ห์แห่งรักซึ้งลานไทร

จ. กลนาคบริพันธ์ทรงเครื่อง
กลบทนี้คล้ายๆ กับกลนาคบริพันธ์ ผิดกันเฉพาะคำแรกของทุกวรรคที่กำหนดให้เป็นคำซ้ำกับคำรองสุดท้ายของวรรคที่มาข้างหน้านั้น อาจไม่ต้องเป็นคำที่ซ้ำกันเพียงแต่เป็นคำที่มีเสียงพยัญชนะต้นเหมือนกัน หรือคู่เสียงกันก็ใช้ได้ ดังตัวอย่าง

เดินพลางพักพลางทางไกล...................ทุกก้าวคลาไคล
คลับคล้อยเคหาวังเวง
วิเวกวนาน่าเกรง..................................น่ากริ่งใจเยง
ใจยั่นภยันตราย
ตะลิบลิบมุ่งจุดหมาย............................ใจมั่นผันผาย
ผันผ่านถึงธารรวยริน
รื่นรมย์ร่มพฤกษ์ชลาสินธุ์.......................ชลาศัยไอดิน
อุดมฉมชื่นหัทยา

ยังมีกลอีกแบบ ที่พบในกาพย์พระไชยสุริยา ซึ่งสุนทรภู่แต่งในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เป็นคำเทียบเพื่อฝึกอ่านภาษาไทย โดยใช้กาพย์กลบท เริ่มตั้งแต่กลบทที่ใช้แต่แม่ ก กา อย่างเดียว ใช้แม่ ก กา และ แม่กน ฯลฯ
เพิ่มขึ้นทีละมาตราไปจนจบ ที่พบใช้กับกาพย์ฉบัง อาทิ

ใช้แต่ แม่ ก กา แม่กน และ แม่กง

ไกรกร่างยางยูงสูงระหง........................ตลิงปลิงปริงประยง
คันทรงส่งกลิ่นฝิ่นฝาง
มะม่วงพลวงพลองช้องนาง...................หล่นเกลื่อนเถื่อนทาง
กินพลางเดินพลางหว่างเนิน

มาอ่านความเห็นที่ นิรนาม มาร่วมด้วยช่วยกันเกี่ยวกับเรื่องกลบทในกาพย์ฉบังอีกหน่อย

จอมยุทธฯ มาตามสัญญา . . . . . เหน็บขวดสุรา
พรีเซ้นต์เปลเปล้อเสนอ
อ่านได้หลักดีหลายเด้อ . . . ... . . . .ชวนแหงนชะเง้อ
คอยรอบทต่อต่อไป
ที่ทั่นคมทวนกล่าวไว้ . . . . . .... . . . กลบทพึงใส่
นิรนามเห็นพ้องตามสาร
กลบท "ครอบจักรวาล" . . . . . . . . "อักษรสลับ" "ก้าน-
ต่อดอก" ลอกเลียนลงฉบัง

นิรนามประยุกต์กลบทของโคลงสี่สุภาพมาใส่ไว้ในกาพย์ฉบัง ได้แก่

กลอักษรสลับ - อันนี้จะคล้ายกับกล"สลับอักษร" ของศิวกานต์ ปทุมสูติ ที่จอมยุทธ์นำเสนอ
ต่างกันในจุดที่ว่า นิรนามไม่ได้เน้นสลับเสียงคู่คำแบบคล้ายๆผวนเสียง (เช่น น้ำใส-ในส่ำ)

"โมโน" มีนา' มานี่ (นา) . . . . . . . เมษา' มาสี่
เดือนนี้ดูหนอดำนา

ก้านต่อดอก - ในโคลงสี่กลนี้จะเริ่มต้นบาทด้วยคู่คำเสียงสระเดียวกัน แล้วปิดท้ายในวรรคหลังด้วยคู่คำเสียงสระเดียวกัน (เพราเลาลำขุล่ยพริ้ว พรายฉาย ... ) นิรนามประยุกต์แต่ละบาทของกลโคลงสี่มาใช้กับแต่ละวรรคของกาพย์ฉบัง

ไวไวอย่าอู้ล่าช้า . . . . . . . . . . . . ควายขายบ่าหน้า
ยังรังอาศรมชมรม

ครอบจักรวาล - กลนี้ในแต่ละบาทของโคลงสี่สุภาพ คำต้นบาทและคำท้ายบาทเป็นคำเดียวกัน (คลอเสียงเอียงอกเคล้า อู้คลอ ... )นี่ก็ประยุกต์มาใช้กับแต่ละวรรคของกาพย์ฉบัง

กลม"ปี่ ร้อย"รสกล่อมกลม . . . . . คมดาวกล่าวคม
คืนค่ำสำราญหวนคืน

หลังจากได้ลองสามแบบแล้ว ชอบแบบครอบจักรวาลมากที่สุด เลยแต่งทุกทีที่มีโอกาส

จังงังบอก "ทุเรดจัง . . . . . . . . . . . . ฟังนะพี่ฟัง
ทอไม้ก็คือไม้ทอ"

จากคุณ : นิรนาม ณ ถนนฯ


ความจริงจอมยุทธฯ ว่าจะจบเปลเปล้อ เรื่องกาพย์ฉบังกับกลบทไว้ตั้งแต่ตอนที่แล้ว เพื่อจะทำเปลเปล้อเรื่องอื่นๆบ้าง แต่ถ้าไม่ทำเปลเปล้อตอนนี้มานำเสนอด้วย จอมยุทธฯคงจะนอนไม่หลับเพราะอะไร ลองอ่านกาพย์ฉบังชุดนี้ดูขอรับ

๏ เสด็จทรงรถเพชรเพชรพราย....................พรายแสงแสงฉาย
จำรูญจำรัสรัศมี
๏ อำไพไพโรจน์รูจี....................................สีหราชราชสีห์
ชักราชรถรถทรง
๏ ดุมหันหันเหียนเวียนวง.............................กึกก้องก้องดง
สะเทือนทั้งไพรไพรวัน
๏ ยักษาสารถีโลทัน...................................เหยียบยืนยืนยัน
ก่งศรจะแผลงแผลงผลาญ
๏ เครื่องสูงสูงไสวชัชวาลย์............................ธงริ้วธงฉาน
กรรชิงประชุมชุมสาย
๏ มยุรฉัตรฉัตรแก้วแพรวพราย.......................ปักแซมแซมลาย
สลับเป็นคู่คู่เคียง
๏ ฆ้องกลองกลองชนะสำเนียง.......................กึกก้องก้องเสียง
เสียงสะเทือนในดงดงดาร
๏ คับคั่งคั่งหมู่พลมาร...................................เสียงโห่โห่ขาน
สะเทือนทิศาสากล
๏ พลคชคชสารชาญชน................................องอาจอาจประจญ
ไพรีตะลุยลุยแทง
๏ พลม้าม้าศึกเข้มแข็ง..................................ขี่ควบควบแซง
หางยูงไสวไสวมา
๏ พลรถรถเทียมพยัคฆา...............................พลสิงห์สิงหรา
กิเลนแลโตโตคนอง
๏ พลปืนปืนประทับหมายมอง.........................พลเขนเขนทอง
ทั้งดั้งและดาบดาบกัน

จาก บทพากย์รามเกียรติ์ รัชกาลที่ ๒

เอ้อ พิมพ์ซะเหนื่อย แหะ แหะ กาพย์ฉบังชุดข้างบนนี้ เป็นบทพรรณารถของฝ่ายยักษ์ จากประชุมคำพากย์รามเกียรติ์ เป็นบทที่ดีเด่นบทหนึ่ง จะเห็นว่าทุกๆวรรคมีคำเป็นคู่ๆ ตั้งแต่วรรคแรก "เสด็จทรงรถเพชรเพชรพราย" เป็นต้นไปทีเดียว คำที่เป็นคู่กันนั้น จะถือว่าเป็นคำที่มีความหมายซ้ำไม่ได้เลย แต่ละคำมีความหมายของตนเองทั้งสิ้น เรียกว่า "ซ้ำคำ" แต่ไม่ซ้ำความ

กลบทชุดนี้ จะชื่อว่า รักร้อย หรือ บุษบารักร้อย หรือไม่ จอมยุทธฯ เองก็ไม่แน่ใจ แต่ถ้าจะให้เจาะจงลงไปตรงนี้ จอมยุทธฯ ขอเรียกว่า กาพย์ฉบังกลบทบุษบารักร้อย ก็แล้วกัน ถ้าผิดพลาดอย่างไร จอมยุทธฯขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว ฮ่า ฮ่า ขึงขังซะไม่มี

เมื่อคืนนอนคิดว่าโคลง ๔ สุภาพ กับ ฉบงง ๑๖ น่าจะแต่งไปพร้อมกันได้ เลยลองดู ก็ได้บทนี้มาขอรับ อาจจะยังมั่วอยู่เพราะรีบปั่น แหะ แหะ

โคลง๔ สุภาพ

สมสวรรค์นั้นเสกสร้าง.....................นางสวรรค์
ปั้นแต่งร่างโฉมอัน..........................เด่นหล้า
เอกอนงค์หนึ่งใจพลัน.....................เพ้อลุ่ม- หลงแม่
งามเยี่ยงหงส์จากฟ้า.......................ล่อให้ชายครวญ


ฉบงง ๑๖

สมสวรรค์นั้นเสกสร้างนาง...............สวรรค์ปั้นแต่งร่าง
โฉมอันเด่นหล้าเอกอนงค์
หนึ่งใจพลันเพ้อลุ่มหลง...................แม่งามเยี่ยงหงส์
จากฟ้าล่อให้ชายครวญ


ถึงตอนนี้ก้อคงต้องขอจบเปลเปล้อชุด กาพย์ฉบังกับกลบท ไว้แค่นี้จริงๆ เปลเปล้อตอนหน้า ค่อยมาว่าเรื่องอื่นกันต่อ ขอรับ

จังหวะและลีลาของกาพย์ฉบัง

มาว่าถึงเปลเปล้อเรื่องกาพย์ฉบังกันต่อ
ถ้าจะพูดถึงจังหวะและลีลาของกาพย์ฉบัง จอมยุทธฯ มิบังอาจเอาความเห็นส่วนตัวหรือมั่วไปตามประสา ลีลาและจังหวะกาพย์ฉบังควรเป็นอย่างไร ควรแต่งเช่นไร จอมยุทธฯขอคัดความเห็นของกวีซีไรท์ คมทวน คันธนู จากหนังสือ วรรณวิเคราะห์ตำนานฉันทลักษณ์กับหลักการใหม่ มานำเสนอ เชิญทัศนา ขอรับ

" มีสิ่งที่มิน่ายินดีเท่าไหร่ในการแต่งฉบัง ๑๖ และดูเหมือนจะทำกันเป็นปรกติมาตั้งแต่กวียุคกรุงศรีอยุธยา นั่นก็คือว่า การนิยมใช้คำครึ่งพยางค์เป็นคำหนึ่งพยางค์เพราะจังหวะจะด้อยลงทันทีทั้งนี้จะจำแนกไว้ให้เห็น คือ

๑ ประพันธ์ฉันท์พากย์พรรณา.......................อิลราชอิลา
ก็ลุดังจิตจงเพียร
๒ โดยฉบับบ่อเกิดรามเกียรติ์........................พระราชนิพนธ์เธียร
ธิราช ธ เริ่มรังสรรค์
๓ หลวงสารประเสริฐ (ผัน.......................สาลักษณ์) ทรงธรรม์
ประสาทสกุลบิดร
๔ ข้าบาทบพิตรมหิศร.............................สัตยาสาธร
ภักดีต่อใต้บทมาลย์
๕ ใช่ปราชญ์อาจปรุงปรับสาร..................เฉลิมเกียรติภูบาล
ธิเบศวร์กษัตริย์ฉัตรชัย
๖ พระมงกุฏเกล้าเกศไทย...........................ที่หกรัชสมัย
มหิทธิเดโชพล

(อิลราช คำฉันท์)

- บทที่ ๑ นั้น ถ้าไม่การันต์ตรงฉันท์พากย์ ปล่อยเป็นฉันทพากย์ จะไพเราะกว่า และคำว่าก็ลุ ดูแล้วเป็นรูปคำลหุ ทว่าเป็นรูปลหุเสียงหนัก จึงอนุโลมได้ไม่ตะกุกตะกัก

- จากบทที่ ๒ วรรคแรกใช้คำพยางค์ครึ่งเป็นหนึ่งพยาลค์จังหวะจึงดูดีกว่าการใช้คำครึ่งพยางค์เป็นหนึ่งพยางค์, ส่วนวรรคที่ว่า พระราชนิพนธ์เธียร ใช้คำหนึ่งพยางค์ครึ่งเกินจังหวะทำให้อนุโลมลำบากอ่านเข้าลีลายากเกินพอดี ทางที่เหมาะคือตัดคำว่า พระ ทิ้งเป็นราชนิพนธ์เธียร ก็มิน่าจะแปลกเปลี่ยนความหมายเท่าใด

- ในบทที่ ๓ เราเริ่มจะเห็นคำครึ่งพยางค์ที่เกือบจะเบียดเสียดจังหวะลักลั่นนั่นคือคำว่าสาร(ะ) และคำว่า สกุล (ทั้ง ๒ คำรวมเป็นคำหนึ่งพยางค์ครึ่ง แต่ใช้เท่ากับสองพยางค์) ส่วนคำว่าประเสริฐ ประสาท และบิดร นั้นประเป็นรูปลหุ แต่เสียงหนัก คำว่าบิ อ่านแล้วดังจะเป็นเสียงเบา แต่ถ้าเราอ่านควบแบบฉันทานุมัติกับดร เป็น บิดดอน ย่อมผันผ่อนลงได้พอดี

- จากบทที่ ๔ มีคำพยางค์ครึ่งหลายคำที่ทำเป็นหนึ่งพยางค์ จังหวะจึงค่อนข้างไพเราะและก็คำว่าต่อใต้ ถ้าจะให้ดี น่าจะเปลี่ยนเป็น ต่อเบื้อง

- ต่อเนื่องมาบทที่ ๕ คำว่ากษัตริย์เป็นคำพยางค์ครึ่งที่ดึงทำเป็นสองพยางค์จังหวะเลยไม่ให้ เช่นเดียวกับในบทที่ ๖ คำว่ามหิทธิเด คำว่า ม(ะ) และ ธิ เสียงเบาเกินกว่าจะอนุโลมตามว่ามีความเพราะพริ้ง

มีอีกสิ่งหนึ่งสำหรับกาพย์ฉบัง ว่ามิควรลงท้ายคำสัมผัสของวรรคกลางด้วยเสียงจัตวาน่าจะลงวรรคแรกหรือวรรคสาม อย่างไรก็ตามประเด็นนี้มิใช่สิ่งสำคัญนัก แต่จักขอให้สังเกตกาพย์ฉบังดังตัวอย่างต่อไปนี้

อินทรชิตบิดเบือนกายิน..................เหมือนองค์อมรินทร์
ทรงคชสารเอราวัณ
ช้างนิมิตฤทธิแรงแข็งขัน.....................ผ่องเผือกผิวพรรณ
สีสังข์สะอาดโอฬาร์
สามสิบสามเศียรโสภา..........................เศียรหนึ่งเจ็ดงา
ดังเพชรรัตน์รูจี
งาหนึ่งเจ็ดโบกขรณี..............................สระหนึ่งย่อมมี
เจ็ดกออุบลบันดาล
กอหนึ่งเจ็ดดอกดวงมาลย์..................ดอกหนึ่งเบ่งบาน
มีกลีบได้เจ็ดกลีบผกา
กลีบหนึ่งมีเทพธิดา..............................เจ็ดองค์โสภา
แน่งน้อยลำเพานงพาล
นางหนึ่งย่อมมีบริวาร...........................อีกเจ็ดเยาวมาลย์
ล้วนรูปนิรมิตมายา

(บทพากย์รามเกียรติ์ รัชกาลที่ ๒)

จะเห็นได้ว่าสัมผัสคำลงท้ายแต่ละวรรคเป็นเสียงสามัญเกือบทั้งหมด แถมคำลงท้ายของบทยังหวนใช้ใกล้กันอีก เช่น สระอา หรือ สระอาน ทว่าผลงานชิ้นนี้กลับมีความไพเราะ เพราะลีลาและจังหวะบริบูรณ์ทุกช่วง และเกือบทุกปวงถ้อยคำเก็บความได้หมดอรรถรสจึงบังเกิด "

กาพย์ฉบังกับลีลาและการส่งสัมผัส

แล้วก้อมาว่าถึงเปลเปล้อกันต่อ ตอนนี้จะมาคุยเรื่องสัมผัส ในกาพย์ฉบังพร้อมลีลาแห่งกาพย์ตามคำเรียกร้องขอรับ

ก่อนจะเข้าเนื้อมาว่าถึงน้ำกันก่อนแล้วกัน หรือจะมีแต่น้ำก็ไม่รู้

จากช่วงหนึ่งของ หนังสือศิลปาการแห่งกาพย์กลอน ของ ศรีอินทรายุทธ(นายผี) กล่าวไว้ว่า

" ทำนองของกาพย์กลอนไทยทั้งหลายก็คือ แบบวิธีต่างๆของการเขียนกาพย์กลอนแบบวิธีของกาพย์กลอนไทยทั้งหมดที่มีมากระทั่งทุกวันนี้ประมาณได้ไม่ต่ำกว่าพัน; แต่ถ้าจะแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ก็อาจแบ่งได้ ๕ ประเภท, คือ โคลง, ฉันท์, กาพย์, กลอน, และร่าย

ลักษณะพิเศษของ โคลง ถือจังหวะเสียงสูงต่ำ เป็นใหญ่
ลักษณะพิเศษของ ฉันท์ ถือ น้ำหนักที่หนักเบาของคำ เป็นใหญ่
ลักษณะพิเศษของ กาพย์ ถือ จำนวนคำ เป็นใหญ่
ลักษณะพิเศษของ กลอน ถือ สัมผัส เป็นใหญ่
ลักษณะพิเศษของ ร่าย ถือ ความ เป็นใหญ่

ที่ว่าลักษณะพิเศษของอะไรถืออะไรเป็นใหญ่นั้น หมายความว่าแบบวิธีนั้นๆ ยังมีคุณสมบัติอื่นๆอีกหลายอย่าง แต่สิ่งที่เป็นลักษณะพิเศษนั้นจะขาดเสียมิได้ ถ้าขาดก็ไม่เรียกว่าเป็นคำประพันธ์ประเภทนั้น..."

ถึงตรงนี้ จอมยุทธฯ ขอย้ำว่า ลักษณะพิเศษของกาพย์ ถือ จำนวนคำเป็นใหญ่ แต่กลวิธีการแต่งอย่างไรให้ไพเราะ,พริ้งพราย เป็นเรื่องรองลงมา

ก่อนจะมั่วต่อไป อยากให้เพื่อนๆ ลองย้อนกลับไปดู ฉันทลักษณ์ของกาพย์ฉบัง ๑๖ ถ้าเป็นไปได้จำให้ขึ้นใจเลยนะขอรับ จะเห็นว่ากาพย์ฉบังบังคับสัมผัสนอก ๒ ชนิด คือ
๑. สัมผัสระหว่างวรรค คำท้ายวรรคหน้าสัมผัสกับคำท้ายวรรคกลาง
๒. สัมผัสระหว่างบท คำท้ายวรรคหลังส่งสัมผัสให้คำท้ายวรรคหน้าของบทต่อไป

ก่อนจะว่ากันต่อไป มาดูตัวอย่าง ฉบัง ๑๖ สมัยอยุธยากันหน่อย เลือกตอนที่จอมยุทธฯ ชอบสุดๆแล้วกัน ฮ่า ฮ่า

นาภีแนบนาภีมล............................ทรวงแนบชิดชม
บรรทับและเบียดบัวศรี
นางน้องในใจเปรมปรีดิ์.................กรกรรนฤบดี
และนำบสู้ขัดขาม
พระเชยชมแก้มเกลากาม.................โลมน้องโฉมงาม
ตระการตระกองกันฐา
เชยชิดรสโอษฐสุรา........................มือพานแนวนา-
ภีท้องสรแทบทรวงสมร
นมน้องตราติดอกอร......................เอวองค์พระกร
กระหวัดกระเหม่นกามา
สองเสวยสุขสดสงกา.....................ชมลาภมหา
อันเทพยแสร้งเอาสม

จาก สมุทรโฆษคำฉันท์ : พระมหาราชครู

จะเห็นว่า ฉบัง ในสมัยอยุธยา ยึดอยู่กับ จำนวนคำ และสัมผัสนอกบังคับ แค่นั้นเอง ความเพริศพรายของสัมผัสในทั้งสัมผัสสระและสัมผัสอักษรแทบจะไม่พบ จนมาถึงยุค สุนทรภู่ ที่เพิ่มเติมเชิงชั้น โดยการสอดใส่สัมผัสใน และการส่งสัมผัสนอกของวรรคที่ ๒ คล้องไปยังวรรคที่ ๓ เน้นความไพเราะขึ้น
ดังตัวอย่าง

๏ เขาสูงฝูงหงษ์ลงเรียง...........................เริงร้องซร้องเสียง
สำเนียงน่าฟังวังเวง
๏ กลางไพรไก่ขันบรรเลง......................ฟังเสียงเพียงเพลง
ซอเจ้งจำเรียงเวียงวัง
๏ ยูงทองร้องกระโต้งโห่งดัง...................เพียงฆ้องกลองระฆัง
แตรสังข์กังสดาลขานเสียง

แต่ว่ากันว่ากาพย์ฉบัง ก็ยังดื่นๆ ดาดๆ ไม่อาจแทรกขึ้นมาเป็นฉันทลักษณ์แถวหน้าได้เลย คงเป็นสาเหตุนี้กระมัง ที่แม้การส่งสัมผัสนอกของวรรคที่ ๒ คล้องไปยังวรรคที่ ๓ จะให้ความไพเราะขึ้นอย่างไร ก็ไม่อาจแหวกเข้าไปเป็นสัมผัสบังคับ หรือยึดถือเป็นรูปแบบจริงจัง อย่างกลอนแบบสุนทรภู่ที่หลายคนถือเคร่งเป็นคัมภีร์กลอน ด้วยหานักเลงกาพย์ได้น้อยเต็มทน

คิดแล้วก็น่าสงสารกาพย์ฉบัง ที่โดยมากมักถูกยกนำไปรวมร่วมกับฉันท์เสมอ จนแทบจะเลือนหายไปกับกาลเวลา ทั้งที่ฉันทลักษณ์ง่ายๆชนิดนี้น่าจะเหมาะกับผู้ที่รักการกวีสำหรับฝึกฝนเบื้องต้น เพื่อก่อผลพลอย
ได้ไปยังร้อยกรองชนิดอื่นๆ ต่อไป

จอมยุทธฯ ชักจะเตลิดจนกู่ไม่กลับอีกแล้ว ก่อนจะว่ากันต่อไป ลองมาดูลีลากาพย์ฉบัง พระนิพนธ์ของกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส อีกซักสำนวน

๏ โคเพลาะเลาะกล้ำแกลเกลียง.....................ตฤบตฤณคลอเคียง
คณานิกรแกมกระทิง
กาษรกำเหลาะสองสิงห์...............................เสือสองเสนอชิง
เข้าขวิดเข้าเสี่ยวสู้กัน
กวางทรายหลายเหล่าแจจรร.........................หมีหมูหมู่ฉมัน
ชนดและเม่นเร้นตน
เสือคร่งส่งศัพท์คำรณ...................................ร้องก้องพนสณฑ์
สำนานสนั่นพรรลาย
กุญชร-ชักโขลง-ไคลคลาย..............................คัดไค้-ไหล้หลาย
แลเล็ม-เป็นภักษ์-พอแรง

จาก สรรพสิทธิ์คำฉันท์ : กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส

จะเห็นว่านอกจากสัมผัสในแบบสัมผัสสระ และสัมผัสอักษร ยังมีสัมผัสอักษรแบบที่ขีดเส้นใต้ หรืออาจเรียกว่าสัมผัสโดยจังหวะตกกระทบ จอมยุทธฯคิดว่าทำให้จังหวะของ ฉบังกระชั้นและเร้าใจขึ้น จอมยุทธฯ เป็นคนหนึ่งขอรับ ที่ชอบเล่นสัมผัสแบบนี้ ขอยกตัวอย่างของตัวเองบ้าง เท่ห์ซะไม่มี ฮิ ฮิ

เมื่อแสงแผดกล้าทอใส.....................ละอองน้ำหมดไป
รุ้งงามอย่างวาดจึงวาย
มีเกิดย่อมลับดับสลาย............................เกิดแก่เจ็บตาย
เป็นกฎเป็นเกณฑ์ตามกรรม

แล้วลีลากาพย์ฉบัง ของกวีท่านอื่นๆ เป็นอย่างไรบ้าง ลองมาอ่านกันดูขอรับ

๏ ทัพกษัตร์ศัตรูผู้พาล.........................ประเมินประมาณ
ประมวลก็มากมายมี
ทัพหลวงฝ่ายเราเข้าตี...........................ชิงชัยไพรี
บ่ไดด้ประดุจดั่งใจ
เราผู้อยู่ฝ่ายสายใน...............................เนาเนิ่นเกินไป
มล่อยมล้าอาการ
( จาก สามกรุง : น.ม.ส)

๏ รังกาพย์บมิได้กลัวเกรง.....................เย้ยไยไพเยง
ว่ายักในแยบบรรยาย
บมิเอาเบาราณทำลาย.............................แบบฉบับกลับหาย
ดังโหดอันหาญกานเกลา
ขออำเภออาตมเองเสา-...........................วภาพลำเพา
พิพิธพุทธไพศาล
( จาก จิตรา ละครเก้าฉาก : อินทรายุทธ (นายผี))

๏ ยามเกิดวิกฤตวิการ.............................เพลิงรุทรรำบาญ
ทดสอบศักยภาพผู้นำ
ใช่ยอมสยบต่อเวรกรรม..........................จนจิตจองจำ
ก้มกราบดัสกรบงการ
จอมพลเกริกไกรไพศาล...........................หดหัวเคยหาญ
ญี่ปุ่นศักดามหามิตร
( คนดีศรีอโยธยา : ทวีปวร )

๏ คงค่าคงควรมวลชน.............................ฝนห่าฝ่าหน
ห่อนสิ้นห่อนสุดสืบสาย
สืบศักดิ์สืบศรีปรีด์ปราย...........................ปรายปรีดีหมาย
สืบเจตน์จำนงเสรี
แก้วเก้าเจ้าเกิดมาดี...................................ท่ามกลางดั่งนี้
ตำนานหาญแห่งยุคสมัย
( พรวันเกิด : เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ )

๏ ปักษ์แรม-หมู่ดาววาววาม.........................ตรึงตาแลตาม
จนทอดกระทบดาวธง
จ้าแสงวาววาบ-เป็นวง..............................อยู่เหนือรถทรง
ตามตำรับรู้บูราณ
เพ่งดาว-เพ่งภาพอันพาน...........................เกิดอุปาทาน
ย้อนภาพ-เมื่อครั้งยังเยาว์
พร่าพร่าเลือนเลือน-เหมือนเงา.....................แล้วค่อยแต่งเกลา
จนชัดจนแต้มแจ่มตา
( ทะเล ป่าภู และเพิงพัก : พนม นันทพฤกษ์ )

๏ ก่อเช้าเข้าสายกรายเพล...........................เที่ยงบ่ายบ่ายเบน
เย็นค่ำคืนมุ่ง-รุ่ง-เช้า
เหมือนกรงลงครอบรอบเรา.......................พุธ-ครุ-ศุกร์-เสาร์
อาทิตย์ติดวันจันทร์-ภุม
เหนือกรงลงรอบครอบคลุม.........................หนักแสนแน่นสุม
เลื่อนไหลใต้เดือนเคลื่อนมา
( จตุรงคมาลา : คมทวน คันธนู )

หวังว่าเพื่อนๆคงได้ศึกษาลีลากาพย์ฉบัง ของกวีแต่ละคนดูนะขอรับ

คุยเรื่องสัมผัสแห่งกาพย์ฉบัง แต่จอมยุทธฯ พามั่วมาเรื่องอะไรก็ไม่รู้ งั้นสรุปซะหน่อยดีกว่า

๑. กาพย์ฉบังถือจำนวนคำเป็นใหญ่ เน้นจังหวะแบ่งเป็น ๒-๒-๒,๒-๒, ๒-๒-๒ เท่านั้น ถ้าไม่แบ่งเป็นคู่ละสองตามแบบกลับไปแบ่งเป็นอื่น เช่น แบ่งเป็น ๓-๓ ดังจังหวะหลังของกาย์ยานี ๑๑จะเสียรสกาพย์ฉบังทันที
๒. บังคับสัมผัสระหว่างวรรคที่ท้ายวรรคแรก กับท้ายวรรคสอง และสัมผัสระหว่างบทที่ท้ายวรรคหลังส่งสัมผัสให้คำท้ายวรรคหน้าของบทต่อไป
๓. สัมผัสในเป็นสัมผัสไม่บังคับ แต่ถ้าจะให้ไพเราะอาจเพิ่มสัมผัสในระหว่างจังหวะคำในวรรคเป็นคู่ๆ ด้วยกาพย์ฉบังเป็นคู่ละสองคำทุกวรรค การวางสัมผัสในจึงต้องคำนึงถึงคู่ของคำดังกล่าววิธีสัมผัสในจึงกำหนดวางให้ส่งรับกันเป็นคู่ โดยสัมผัสสระหรืออักษร หรือโดยกลุ่มของคำ
๔. กาพย์ฉบัง ๑๖ ไม่บังคับสัมผัสระหว่างวรรคกลางกับวรรคหลัง จะมีหรือไม่มีก็ได้ ถ้ามีก็อาจทำให้ไพเราะขึ้น

นิรนามรู้สึกว่า กาพย์ฉบัง มีฉันทลักษณ์ที่แปลกดี คือมีจำนวนวรรคเป็นเลขคี่เดี๋ยวก่อน . . .เลขคี่ตรงนี้ต้องเป็นเลขคี่จำนวนน้อยๆด้วย จึงจะเห็นอิทธิพลของเลขคี่ถ้าฉบังมี ๕ หรือ ๗หรือ ๙ วรรค อิทธิพลของจำนวนคี่อาจจะไม่เด่นชัดเท่า

การที่ฉบังมี ๓ วรรค แทนที่จะเป็น ๔ วรรคแบบกลอน ทำให้ฉบังมี จังหวะการเขียน-อ่านแปลกหูเหมือนๆกับไม่สมดุล แต่ก็สมดุลได้โดยใช้สัมผัส การจัดเสียง จังหวะ และเนื้อหาให้เหมาะสมซึ่งเมื่อสมดุลแล้ว ก็จะกลายเป็นร้อยกรองที่มี "ลีลา" การพูดการเล่าการบรรยายที่เฉพาะตัว

นิรนามเองค่อนข้างชอบ ลีลาของฉบัง โดยที่บอกไม่ได้ว่า ชอบเพราะโคลงสร้างของกาพย์ฉบังหรือชอบเพราะติดหูติดใจกับบทอาขยาน "เห็นกวางย่างเยื้องชำเลืองเดิน" ที่ท่องตั้งแต่สมัยเด็กๆกันแน่

แต่ถึงอย่างไรก็เชื่อว่า น่าจะชอบเพราะโครงสร้างฉันทลักษณ์ของกาพย์ฉบังมากกว่าเหมือนกับชอบโคลงที่มีโครงสร้างแปลกๆ คือ ๕-๒, ๕-๒, ๕-๒ และ ๕-๔ อันนี้ตอบง่ายเพราะโคลงที่ท่องจำมีแค่ หากสยามยังอยู่ยั้ง ยืนยง กับ ใครรานใครรุกด้าว แดนไทย ลองนึกดูสิว่าในโคลงน่ะ พูด ๕ คำ แล้วตบท้ายประโยคด้วยคำ ๒ คำ นั้น ... เป็น จังหวะลีลาที่สุดเดชจริงๆ (มีความกวนอยู่นิดๆด้วย แฮ่)

เช่นเดียวกัน กาพย์ฉบัง ก็มีโคลงสร้างของ จังหวะลีลา ที่ไม่ธรรมดาแม้ไม่เทียบเท่าโคลงที่ชัดมากเรื่องจังหวะลีลา (๕-๒) แต่ฉบังก็มีลีลาพอควรนั่นคือ มีสามวรรคแทนที่จะมี ๔ และมีช่วงลดจำนวนคำในวรรคกลางจาก ๖ เหลือ ๔

สรุปตรงนี้ว่า นิรนามชอบกาพย์ฉบังในเบื้องต้นจากจังหวะลีลาของมัน

ประการที่ ๒ มาชอบในภายหลังตรงที่แต่งง่ายดี ซึ่งจอมยุทธ์ได้ชี้แจงว่าฉบังแต่งง่ายเพราะ บังคับสัมผัส น้อยมากใช่เลย . . . บังคับเพียง สามจุดเท่านั้น และไม่มีเอกโทด้วย . . . โอ้ สวรรค์

แม้จะแต่งง่าย แต่จุดหนักใจคือเรื่องโทนเสียงของกาพย์ฉบัง
นิรนามอ่านกาพย์ฉบังแบบอย่างหลายบทที่จอมยุทธฯ ยกมา ล้วนแต่ใช้คำสุภาพที่ปลายวรรคทุกวรรคกาพย์ฉบังแบบอย่างของเก่า นิรนามอ่านแล้วรู้สึกว่าสำเนียงจะออกมาทาง "เนิบสง่า" ส่วนที่แต่งฉบังโดยมีการใช้คำตายหรือคำมีวรรณยุกต์ที่ปลายวรรค เห็นจะเป็นกวีในสมัยหลังๆ

ตรงนี้ทำให้ตัดสินใจยากเหมือนกันว่า ควรเล่นเสียงที่ปลายวรรคมากน้อยแค่ไหน

จากคุณ : นิรนาม ณ ถนนฯ


กาพย์ฉบัง ๑๖ กับการประยุกต์

ก่อนอื่น เนื่องจากมีเพื่อนๆหลายคนตั้งฉายา จอมยุทธฯ ว่าเป็นเซียนคาราโอเกะ ดังนั้นจะร้องเพลงให้ฟังก่อนดีกว่า สหายทิวามาช่วยเกากีต้าร์ หน่อยเร้วว....

เดือนเพ็ญแสงเย็นเห็นอร่าม..........................นภาแจ่มนวลดูงาม
เย็นชื่นหนอยามเมื่อลมพัดมา
แสงจันทร์นวลชวนใจข้า................................คิดถึงถิ่นที่จากมา
คิดถึงท้องนาบ้านเรือนที่เคยเนาว์

เพื่อนๆหลายคน คงรู้จัก เพลงเดือนเพ็ญ เพลงนี้ดี อยากให้สังเกตรูปแบบหรือกลวิธีการประพันธ์เพลงนี้ โดยเฉพาะการส่งสัมผัส ซึ่งก็คือลักษณะการส่งสัมผัสนอกแบบกาพย์ฉบัง นั่นเอง แต่อย่าได้แปลกใจเลย เพราะผู้ประพันธ์เพลงนี้ คือนายผี (อัศนี พลจันทร์) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเซียนกาพย์ท่านหนึ่งของเมืองไทย ถ้าไม่ติดที่จำนวนคำแต่ละวรรคแล้ว เพลงนี้ก็คือกาพย์ฉบัง ๑๖ นั่นเอง

ความจริงมีกวีหลายท่านที่ประยุกต์ กาพย์ฉบัง ๑๖ ให้หลากหลายยิ่งขึ้น ไม่ว่าการเพิ่มจำนวนคำในแต่ละวรรค หรือการประยุกต์กาพย์ฉบังไปใช้ในการประดิษฐ์ฉันท์แบบใหม่ แต่จอมยุทธฯ จะไม่กล่าวถึงในที่นี้ เพราะจะว่าถึงเรื่องกาพย์เท่านั้น (แต่ความจริงขี้เกียจค้น ฮิ ฮิ) ลองอ่านคำประพันธ์ ชุดนี้
ดูขอรับ

ชัยมงคล

๏ สว่างเปลวเทียนประทีปสีทอง.............................รัศมีสวยงามเรืองรอง
วูบไหวกลางทรวงดวงกมล
๏ ปักนิ่งแน่วมั่นบันดาลดล......................................สงบงาม ณ ในหทัยตน
สดับวิเวกวางคลาย
๏ หลับตาพรึบเพลิงพราวพราย...............................ลุกโชนโชติประกาย
สยบจินตภาพมายา
๏ ทิพย์เทียนตรงหน้าพระปฏิมา..............................หนึ่งประทีปหัทยา
เปล่งแสงสงบแสนงาม
๏ วสันตฤดูเพ็งเต็มสาม.............................................หล่อหฤทัยถวายประทีปไต้ตาม
เผาไหม้ชำระกิเลสราคิน
๏ เราสองฝั้นไส้เทียนทองโสภิณ...............................หลอมรวมขี้ผึ้งภุมริน
เปล่งเปลวประทีปมงคลพิธีสยุมพรชัย
(แต่พี่รักเจ้าคนเดียว : ไพฑูรย์ พรหมวิจิตร)

ผู้แต่งให้ชื่อลักษณะการประพันธ์แบบนี้ ว่า กาพย์ฉบำอิสรา อันว่า ฉบำ ก็คือ ฉบัง นั่นเอง แต่เป็นอิสระจากจำนวนคำในแต่ละวรรคที่จะมีกี่คำก็ได้ เพราะเหตุนี้มั้ง จึงให้ชื่อว่า กาพย์ฉบำอิสรา

จากเปลเปล้อชุดก่อนของจอมยุทธฯ เคยสรุปไว้ว่า ลักษณะพิเศษของกาพย์ คือการถือจำนวนคำเป็นใหญ่ถ้าหลุดออกนอกกรอบจำนวนคำและการแบ่งจังหวะการอ่าน จะทำให้เสียรสกาพย์ฉบัง ถึงตรงนี้จอมยุทธฯ ก็ยังยืนยันความเห็นเดิม

การนำเสนอแง่มุมในตรงนี้ เพียงอยากชี้ให้เห็นว่า กวีมีอิสระในการนำเสนอ การหลุดออกนอกกรอบรวมถึงการประยุกต์ใช้ฉันทลักษณ์ แสวงหาลีลาใหม่ๆ ไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่อย่าสุดกู่แล้วกัน แต่จะดีขึ้นหรือไม่ เป็นที่ยอมรับหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ก่อนจบ จอมยุทธฯ ขอยกงานกวีอีกชิ้นหนึ่ง มาให้อ่าน แล้วอยากให้เพื่อนๆ ลองพิจารณางานชิ้นนี้ดูว่าเป็นอย่างไร ?

อปริหานิยธรรม

๏ อปริหานิยธรรมเลอเลิศ..................................หลักแก้วประเสริฐ
เทอดสังคมอิสรชัย
๏ หนึ่งปริศนาปัญหาใด.......................................สติปัญญาใส
สว่างซึ้งลึกปรึกษากัน
๏ สองพร้อมประชุมสมานฉันท์.........................เอกภาพสำคัญ
หมายมั่นร่วมขวัญหนึ่งใจ
๏ สามกฎแก้วจารีตไหน......................................บรรพบุรุษผลึกสมัย
วิจัยวิจารณ์ชัดมหัศจรรย์
๏ สี่ภันเตอาวุโสขวัญ.............................................นอบน้อมฟังกัน
หมั่นคิดวิสุทธิ์ทัศน์สุนทรีย์
๏ ห้าบูชาชนกชนนี.............................................บุตรฯภริยาภาคี
เมตตาปรานีต่อกัน
๏ หกมหาสถูปเจดีย์ขวัญ.....................................เกียรติยศแก้วนั้น
กราบไหว้บูชาอาลัย
๏ เจ็ดอัจฉริยอรหันต์ใด........................................รัฐแว่นแคว้นไหน
ใจใสเชิดชูปูชนีย์
๏ อปริหานิยธรรมเลิศดี........................................มนุษย์สามัคคี
โลกนี้เกษมสันติ์นิรันดร
(กวีศรีอยุธยา : อังคาร กัลยาณพงศ์)

เปลเปล้อของจอมยุทธอันสุดท้ายที่ชวนเชิญให้พิจารณาว่ากาพย์ฉบังของท่านอังคารเป็นฉันใดนิรนามบ่ฮู้เลยถามจอมยุทธ์วันก่อน ได้ความว่า เป็นเรื่องจังหวะแบ่งคำอ่านจอมยุทธว่า บางวรรคจะอ่านเป็น ๓-๓

เมื่อนิรนามลองพิจารณาดู เห็นว่า จังหวะการอ่านฉบังของท่านอังคารอาจไม่ใช่ ๒-๒-๒ เสมอไปดังที่จอมยุทธ์ว่า เช่น

๏ หนึ่งปริศนาปัญหาใด..........
๏ สามกฎแก้วจารีตไหน.........
๏ สี่ภันเตอาวุโสขวัญ............

ซึ่งถ้าแบ่งอ่านเป็น ๒-๒-๒ จะต้องฉีกคำตลอด ทำให้ดูแปลกแปร่ง คือ

หนึ่งปริศ-(ศ)นาปัญ-หาใด
สามกฎ-แก้วจา-รีตไหน
สี่ภัน-เตอา-วุโสขวัญ

ถ้าแบ่งอ่านเป็น ๓-๓ จะดูดีว่าแบบ ๒-๒-๒

หนึ่งปริศนา-ปัญหาใด
สามกฎแก้ว-จารีตไหน
สี่ภันเต-อาวุโสขวัญ

เมื่อนิรนามเพ่งดูอีกที เห็นว่า ยังสามารถแบ่งได้อีกแบบคือ ๑-๒-๓

หนึ่ง-ปริศนา-ปัญหาใด
สาม-กฎแก้ว-จารีตไหน
สี่-ภันเต-อาวุโสขวัญ

ตรงนี้นิรนามมองว่า อาจเป็นเพราะเนื้อหามีข้อจำกัดอยู่ รูปแบบจึงต้องแปรตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เนื้อหาที่เป็นข้อจำกัดอย่างสาหัสในกรณีนี้คือ การใช้เลขนับแจกแจงเป็น ข้อๆ คือ

(ข้อ) หนึ่ง . . .
(ข้อ) สอง . . .
(ข้อ) สาม . . .

ซึ่งตรงนี้ถ้าอ่านเบี่ยงไปอาจจะไปเปลี่ยนความให้ "เลขนับ" กลายเป็น "เลขจำนวน"เช่น เสียง:[หนึ่ง-ปริศนา] ส่อความหมายชัดว่า หมายถึง เรื่องที่หนึ่ง ... ปริศนา ...แต่ถ้าเป็น เสียง:[หนึ่งปริศนา] จะแซมความหมาย"ปริศนาหนึ่งข้อ" เข้ามาด้วยหรืออีกตัวอย่าง เสียง:[สี่ภันเต] จะแซมความหมาย
"ภันเตสี่อัน" เข้ามาด้วย เป็นต้น

ส่วนวรรคสุดท้าย (วรรคสาม) เท่าที่ดูส่วนใหญ่จะแบ่งอ่าน ๒-๒-๒ แต่ก็มีบางวรรคที่ชวนให้คิดว่าแบ่งอ่านอย่างไรดี เช่น

เทอดสังคมอิสรชัย เสียง:[เทอดสัง-คมอิส-(ส)รชัย], [เทอดสังคม-อิสรชัย] สว่างซึ้งลึกปรึกษากัน เสียง:[สว่างซึ้ง-ลึกปรึก-ษากัน], [สว่างซึ้งลึก-ปรึกษากัน]

ตรงนี้ควรสรุปลงความเห็นอย่างไร แห้ . . . สรุปยาก
เอาเป็นว่าเป็นการเปิดข้ออภิปรายสำหรับแลกเปลี่ยนทัศนะกันก็แล้วกัน

จากคุณ : นิรนาม ณ ถนนฯ


คงต้องขอจบ กาพย์ฉบัง ๑๖ กับการประยุกต์ ไว้แค่นี้ ถ้าจอมยุทธฯ จะมั่วสุดๆก็อย่าว่ากันนะขอรับอัตวิสัย ล้วนๆ

ด้วยจิตคารวะ



Create Date : 01 มิถุนายน 2548
Last Update : 20 เมษายน 2549 14:37:44 น. 32 comments
Counter : 4771 Pageviews.

 
แวะมาอ่านครับ แต่ยาวมาก อ่านไม่ไหว ตาลายฮะ...ขอเป็นกำลังให้นะครับ..


โดย: ยำขาหมูทอดกรอบ วันที่: 1 มิถุนายน 2548 เวลา:20:57:03 น.  

 
มาแอบเซฟเอาไปสอนเด็ก อิอิ
ขอบคุณครับ


โดย: ปะหล่อง IP: 61.19.32.226 วันที่: 6 มิถุนายน 2548 เวลา:13:54:33 น.  

 
แวะมาทักทายศิษย์พี่เจ้าค่ะ :)

(ตามมาจาก link ของศาลาฯ)


โดย: ไร้นาม วันที่: 13 มิถุนายน 2548 เวลา:20:08:36 น.  

 
สอนๆๆๆๆ อยากแต่งบ้างอ่ะค่ะ


โดย: รวยระรินกลิ่นชา วันที่: 25 กรกฎาคม 2548 เวลา:18:15:52 น.  

 

แหะ แหะ ขอรับ
แอบมาดูอยู่ไกล ๆ
แล้วค่อยไปเมาใกล้ ๆ แล้วกัน

แหะ แหะ ขอรับ
สวัสดี ขอรับ


โดย: นายทิวา (นายทิวา ) วันที่: 28 กรกฎาคม 2548 เวลา:20:33:03 น.  

 
คุณพี่คะ คุณน้องน้าสือ มาเรียนเชิยไปเที่ยวด้วยกันที่บ๊อกค่ะ


โดย: น้าสือ (โสมรัศมี ) วันที่: 8 สิงหาคม 2548 เวลา:9:04:50 น.  

 
สองมือแม่โอบอุ้ม.................ด้วยรัก
ยามเกิดเฝ้าฟูมฟัก................ลูกน้อย
ลูกเติบใหญ่ประจักษ์..............คุณแม่
นานผ่านวันเคลื่อนคล้อย...........ลูกได้ทดแทน

สุขสันต์วันแม่ค่ะศิษย์พี่จอมยุทธฯ




โดย: รสา รสา วันที่: 12 สิงหาคม 2548 เวลา:19:37:21 น.  

 
ตุลาภรณ์ จันทร์น้อม


โดย: 31 สิงหาคม 2548 IP: วันที่: 19:01:44 เวลา:58.10.39.43 น.  

 
สวัสดีค่ะเพื่อนๆแวะเข้ามาอ่านแล้วรู้สึกอย่างไงบ้างค่ะส่วนดิฉันตาลายมากเลยค่ะ


โดย: ตุลาภรณ์ จันทร์น้อม IP: 58.10.39.43 วันที่: 31 สิงหาคม 2548 เวลา:19:06:02 น.  

 
ดเสีรนีรยนรยร


โดย: 31 สิงหาคม 2548 IP: วันที่: 19:07:03 เวลา:58.10.39.43 น.  

 
ตาลายด้วยครับ


โดย: namit วันที่: 11 กันยายน 2548 เวลา:16:46:24 น.  

 
ไม่ร้เรื่องเลย


โดย: maewmiow IP: 202.28.35.229 วันที่: 21 ธันวาคม 2548 เวลา:13:30:38 น.  

 


โดย: ..................... IP: 203.113.77.73 วันที่: 28 มกราคม 2549 เวลา:12:08:34 น.  

 
ขอบคุณมากเลย หาตั้งนาน หาแทบตายกว่าจะเจอ ซึ้งจริงๆกว่าจะเจอ น้ำตาจะไหล


โดย: ฮินาริ IP: 203.113.61.104 วันที่: 26 กุมภาพันธ์ 2549 เวลา:14:46:54 น.  

 
อ่า... ลิ้งค์พวกนี้มาจากไหนครับ

แวะมาอ่านครับ ผมแต่งแบบ 3-3 เลย
บางท่อนก็ตามใจตัวเอง แบบนี้เรียกไม่มีลีลา ใช่ไหมครับ

ขอบคุณที่เขียนให้อ่าน ขอรับ


โดย: xers วันที่: 16 เมษายน 2549 เวลา:23:18:25 น.  

 
อยากรู้ว่า ไปเอาสรรพสิทธิ์คำฉันท์มาจากหนังสือเล่มไหนเหรอค่ะ พอดีว่าต้องทำรายงานเลยอยากอ่านไปทำสรุปค่ะ


โดย: ลูกสาวยมทูต IP: 203.151.140.117 วันที่: 17 มิถุนายน 2549 เวลา:12:44:59 น.  

 
สนุกมากค่ะ


โดย: ษา IP: 61.19.121.110 วันที่: 18 มิถุนายน 2550 เวลา:9:57:38 น.  

 
ให้ประโยชน์ได้เยอะเลย(ตรงไหนว่ะ)_หลอกเล่งดีมากๆครับ


โดย: คน IP: 124.120.77.65 วันที่: 18 กรกฎาคม 2550 เวลา:19:57:06 น.  

 
ใครคิดว่ะโคดอ่อนเลย555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555สะใจโว๊ยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยหลอกเล่ง55555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555+


โดย: เอาไปทำไร IP: 124.120.77.65 วันที่: 18 กรกฎาคม 2550 เวลา:19:59:13 น.  

 
รอยหยักในสมองเพิ่มขึ้นมาอีกนิดส์นึง


โดย: ลูกปัด IP: 202.133.135.118 วันที่: 27 กรกฎาคม 2550 เวลา:19:06:40 น.  

 


โดย: ยย IP: 125.25.97.88 วันที่: 5 สิงหาคม 2550 เวลา:11:37:12 น.  

 
ได้ความรู้มากเลย ครับ


โดย: อภิภู IP: 58.10.207.251 วันที่: 8 กันยายน 2550 เวลา:11:45:07 น.  

 
เป็นสบาย


โดย: โบ IP: 58.8.90.33 วันที่: 31 กรกฎาคม 2551 เวลา:19:30:23 น.  

 
สบายดีรึเปล่าจ๊ะเพื่อนๆ


โดย: บีม IP: 118.174.103.154 วันที่: 3 สิงหาคม 2551 เวลา:15:29:33 น.  

 
แปลกลอนไม่เป็น


โดย: โย IP: 202.12.73.20 วันที่: 25 สิงหาคม 2551 เวลา:15:28:35 น.  

 
ขอบคุณนะค่ะแอบมาCopyเอาไปส่งครูค่ะอิอิ


โดย: พิม IP: 222.123.56.163 วันที่: 31 สิงหาคม 2551 เวลา:20:13:09 น.  

 
[img]//www.zheza.com/uploads/userimages/20080831/195812_788056.jpg[/img]


โดย: พิม IP: 222.123.56.163 วันที่: 31 สิงหาคม 2551 เวลา:20:13:49 น.  

 
ไม่รู้อะไร


โดย: นนน IP: 117.47.215.145 วันที่: 30 พฤศจิกายน 2551 เวลา:15:21:13 น.  

 
ขอดูความหมายของแต่ละบทไม่ใช่หรอ


โดย: นนนน IP: 117.47.215.145 วันที่: 30 พฤศจิกายน 2551 เวลา:15:22:39 น.  

 
22/1


โดย: dkgjmvkc IP: 118.172.70.221 วันที่: 6 ธันวาคม 2551 เวลา:8:57:01 น.  

 
ใครรู้ช่วยบอกทีทีทีทีทีทีทีทีทีทีทีทีทีที
รักคนรู้รู้รู้


โดย: 169/802 IP: 192.168.182.78, 61.7.138.193 วันที่: 27 ตุลาคม 2552 เวลา:12:12:20 น.  

 
ดีจังเลย


โดย: เหมียว IP: 192.168.10.25, 118.172.97.164 วันที่: 6 พฤศจิกายน 2552 เวลา:12:57:33 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

จอมยุทธเมรัย
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




Friends' blogs
[Add จอมยุทธเมรัย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.