Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2554
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
12 ธันวาคม 2554
 
All Blogs
 
จากโออิชิ ถึง หนังสือสตีฟ จอบส์ ในปรากฏการณ์เฟี้ยว! "เข้าคิวลิซึ่ม"

ปีกระต่ายว่ายน้ำ(ท่วม)ป๋อมแป๋มใกล้จะผ่านไปอีกปีแล้ว เป็นปีที่สังคมไทยพบเจออะไรเยอะมาก

กระแสหนึ่งที่ดูเหมือนว่าจะมาแรงตลอดปีนี้ และดูเหมือนว่าจะส่งต่อไปยังปีงูใหญ่ปีหน้าด้วย

นั่นคือ การที่ผู้คนพากันแห่ไป "เข้าคิว" ตามกระแส ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ จนกลายเป็นอาการหลงไหลของสังคมในระดับ "เข้าคิวลิซึ่ม"

ล่าสุด อีเว้นต์ของการเข้าคิว อีเว้นต์ท้ายๆของปีนี้ ก็ปรากฏขึ้นในวันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม 2554 ผู้คนเกือบหลักหมื่นคนมายืนเข้าคิวลงทะเบียนที่ห้างสรรพสินค้าสยาม ดิสคัฟเวอรี เพื่อที่จะเป็นส่วนหนึ่งในแคมเปญที่มีชื่อว่า "ให้" อันเป็นโครงการของโออิชิที่ต้องการคืนความสุขให้กับคนไทย



หนึ่งในแคมเปญนี้ คือ การมอบความสุขในรูปแบบที่เรียกว่า "วันให้" ที่เปิดโอกาสให้ผู้สนใจมารับประทานอาหารฟรี และร่วมบริจาคตามกำลัง เพื่อร่วมสมทบทุนให้กับ ศูนย์ช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วม มูลนิธิชัยพัฒนา ได้ที่ ร้านโออิชิ บุฟเฟต์และโออิชิ เอ็กซ์เพรส 12 สาขา ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตลอดวัน จำนวน 5 รอบ รอบละ 1 ชั่วโมง คือ 11.00 น. 13.00 น. 15.00 น.17.00 น. และ 19.00 น. ในวันอาทิตย์ที่ 11 ธันวาคมนี้

แต่ก่อนที่จะเขาไปลิ้มรสซาชิมิแซลมอน และอาหารญี่ปุ่นที่น่าอร่อยในเมนูจากโออิชิ บุฟเฟต์และโออิชิ เอ็กซ์เพรส(ราคาจะตกอยู่ประมาณหัวละ 4-5 ร้อยบาท ต่อการทาน 1 ครั้ง) จะต้องออกกำลังกายสักเล็กน้อย ด้วยการเดินทางไปลงทะเบียนกันที่สกาย ไดน์นิ่ง ชั้น 6 สยามดิสคัพเวอรี่เซ็นเตอร์ ในวันเสาร์ที่ 10 ธันวาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 11.00-15.00 น.

ลองคำนวณดูแล้ว โออิชิตั้งใจว่า จะจัดให้ผู้คนเข้ามารับประทานอาหารทั้งวัน สาขาละประมาณ 600 คน จำนวน 12 สาขา บวกลบคุณหารจำนวนในข้างต้น แล้วจะเห็นภาพว่า หากผู้คนมาลงทะเบียนครบหรือเกินโควต้า จะมีคนอยู่ที่สยาม ดิสคัฟเวอรี ในวันรัฐธรรมนูญปีนี้ มากกว่า 7,200 คน!

และเป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะคิวต่อแถวเพื่อรอที่จะมีส่วนร่วมใน "วันให้" มีคนเริ่มมาดักรอที่ห้างตั้งแต่เวลา 8 โมงเช้า พอจุดลงทะเบียนเปิดทำการ ผู้ร่วมโครงการเข้าแถวยาวเฟื้อยจากลานจอดรถชั้น 1 เลื้อยขึ้นมาถึงจุดลงทะเบียนในชั้น

คุณสุจิตต์ ทองพูน พนักงานประจำบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง หนึ่งในผู้เข้าแถวเพื่อร่วมโครงการนี้ ได้เล่าให้ฟังว่า ตัวเขาเองได้ทราบข้อมูลนี้มาจากการอ่านข่าวในมติชนออนไลน์ เลยสนใจที่จะมาเข้าร่วม โดยวันนี้ เขามารอตั้งแต่เวลา 9 โมงเช้า โดยตั้งใจว่า พรุ่งนี้จะเลือกทานร้านโออิชิที่สาขาเมเจอร์ปิ่นเกล้า แต่เห็นจากแถวที่ต่อกันยาวเหยียด ก็หวั่นใจอยู่เหมือนกันว่าจะไม่ได้สาขาที่ตนต้องการ

สุจิตต์ เล่าต่อว่า ขณะที่เข้าแถว ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ร่วมโครงการ ซึ่งเป็นคนแรกที่ได้รับบัตรทานอาหารฟรีจากโออิชิ จึงทราบว่าเธอมารอที่นี่ตั้งแต่ 8 โมงเช้า เพราะคอนโดของเธออยู่แถวนี้

ในมุมมองของผู้บริหาร นายไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้พูดถึงโครงการนี้ว่า ในช่วงที่คนไทยต้องเผชิญกับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ โออิชิ กรุ๊ป ได้จัดให้มีโครงการ “ให้” โออิชิรวมน้ำใจ ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม” ลงพื้นที่เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแบบเร่งด่วนให้กับผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่างๆ

เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีประกอบกับการเข้าสู่เทศกาลแห่งการให้และการเฉลิมฉลองในเดือนธันวาคมนี้เราจึงต้องการคืนความสุขให้กับคนไทยด้วยแคมเปญนี้

อีเว้นต์ที่มีผู้คนมาต่อคิวจำนวนมากมักจะมีปัญหาไม่มากก็น้อยไพศาลเล่าว่าทางโออิชิจัดการโดย

"เรามีเวลาในการเตรียมการนี้เพียง 1 สัปดาห์ งานนี้เราใช้บริษัทเอ๊าท์ซอร์สของทางซุปเปอร์จิ๋วมาช่วยงาน ซึ่งเขาทำอีเว้นต์มาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะอีเว้นต์เอ๊าท์ดอร์ เขาทำมาเยอะ และอีกกลุ่มหนึ่งจากจิตอาสาเอง มาอาสาช่วยเหลือเราในงานวันนี้ มาร่วมให้ความบันเทิง อย่างร้องเพลง เต้นโชว์ ให้คนที่รอคิวเพื่อให้เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว"

โครงการนี้ โออิชิมองว่า ไม่ใช่ทำเพื่อการตลาดของแบรนด์...

"ต้องเรียนว่าไม่ใช่วิธีการตลาด เรามองว่าเป็นซีเอสอาร์(CSR-Corporate Social Responsibility คือ กิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร) อย่างหนึ่งในการมุ่งมั่น ตั้งใจที่จะส่งมอบความสุขให้กับคนไทยจริงๆ โดยเฉพาะช่วงที่คนไทยทุกข์ อยากให้เขามีความสุข พอผู้คนตอบรับดี ต้องบอกว่าเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับแบรนด์ของเรา ทำให้คนเชื่อมั่นในแบรนด์เรา"

โรงงานของโออิชิที่นวนครถูกน้ำท่วมตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคมเป็นต้นมา จนมาถึงวันนี้ กำลังอยู่ในช่วงฟื้นฟูโรงงาน น่าสนใจว่า ในวันทานจริง ระบบการจัดการเพื่อให้ผู้คนเข้าถึงอาหารอร่อยใน ร้านโออิชิ จะไม่ติดขัดใช่ไหม? ไพศาลตอบว่า

"เนื่องจากว่า พอโรงงานน้ำท่วม เราก็ปิดไป แต่ว่ามีแผนสำรองในการจัดการ เราให้สาขาแต่ละสาขา ดำเนินการผลิตเองที่ร้าน คือ แบ็ก ทู เบสิก(Back to Basic) จากเดิมตอนที่ยังไม่มีครัวกลาง ทางร้านผลิตเองทุกอย่าง พอเรามีครัวกลาง เราส่งมอบให้ครัวกลางทำ แล้วกระจายไปให้กับสาขาอื่น น้ำท่วมที่นวนคร เราเลยกลับมาผลิตกันที่ร้าน ก็ดำเนินต่อเนื่องไปได้วยดี

"ที่ผ่านมา ร้านโออิชิของเราไม่จำเป็นต้องปิด แต่ว่าห้างปิด เพราะน้ำมันท่วม ร้านเราเองไม่มีปิดด้วยตัวของเราเอง เราอยู่ในธุรกิจนี้มานาน เลยมีการจัดการและคู่ค้าที่ดี ส่วนผู้ร่วมโครงการ 7 พันกว่าคนที่จะมาทานอาหารที่ร้านของเรา เราเอาอยู่ ที่เราเปิดบริการทั่วประเทศ เรารองรับคนได้ 3 หมื่นคนต่อวัน 7 พันคนนี่เฉพาะบุฟเฟ่ต์ แต่จริงๆ ถึงไม่มีแคมเปญก็รับลูกค้าเยอะกว่านั้น ระบบโลจิสติกส์ของเราไม่มีปัญหาแน่นอน"

นี่เป็นส่วนหนึ่งของความคิดของทาง "โออิชิ" ซึ่งมีผลทำให้เกิดปรากฏการณ์ "เข้าคิว" ลูกล่าสุด

ย้อนรอยปรากฏการณ์ "เข้าคิวลิซึ่ม" ประจำปีกระต่าย

ในปีนี้มีปรากฏการณ์ที่ผู้คนพากันแห่ง "เข้าคิว" มากมายเกิดขึ้นในสังคมไทย

มีทั้งเข้าคิวแบบที่เห็นได้อย่างชัดเจน นั่นคือ การยืนเข้าคิวต่อกันเป็นแถวยาวเหยียด และการเข้าคิวผ่านโลกออนไลน์ที่ผู้คนพากันแย่งซื้อบัตรผ่านอินเตอร์เน็ตจนเน็ตล่ม ไปจนถึงระบบโทรศัพท์ที่ผู้คนพากันโทรจนสายแทบไหม้

นับมาตั้งแต่ต้นปี ก็คงจะหนี้ไม่พ้น กระแสการเข้าคิวเพื่อเป็นเจ้าของโดนัทเจ้าดังในห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน นามว่า "คริสปี้ ครีม" ซึ่งมีสาขาอย่างเป็นทางการในเมืองไทยในช่วงปลายปี 2553 แต่อิทธิฤทธิ์ความแรงก็ยังไม่ตกเมื่อส่งผ่านไปสู่ปี 2554 จนมีนักค้าขายหัวใสเข้ามาต่อคิวเพื่อนำไปขายเอากำไรภายนอก

กระแสเข้าแถวในร้านคริสปี้ ครีม เริ่มเบาบางลง ทุกวันนี้ เจ้าโดนัทหวานเจี๊ยบสามารถหาซื้อได้ง่ายขึ้นหลังจากที่เปิดสาขาใหม่ใน ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซ่า ลาดพร้าว เมื่อเดือนสิงหาคม 2554 ที่ผ่านมา

หมดจากคริสปี้ ครีม แต่ปรากฎการณ์ต่อคิวก็ยังมีให้เห็นอย่างสม่ำเสมออย่างเช่น ปรากฏการณ์การขายบัตรคอนเสิร์ต "แฟต ไลฟ์ อาร์มแชร์", "แร็พเตอร์ 2011" และ "เอ็กซ์ เจแปน เวิรลด์ ทัวร์" ที่เปิดขายบัตรเพียงไม่นานก็ถูกขายจนหมดเกลี้ยง

หรืออย่าง การแสดง "เดี่ยวไมโครโฟน ครั้งที่ 9" หรือ "เดี่ยว 9" ของ โน้ส-อุดม แต้พานิช ชื่อของชายหนุ่มผู้เต็มไปด้วยอารมณ์ขันก็ยังขายได้เสมอ เพราะเพียงบัตรขายบัตรวันเดียว บัตรก็เกลี้ยงเค้านเต้อร์แล้ว

โรงหนังเปิดใหม่อย่าง โรงภาพยนตร์ AIS 4DX ที่สยามพารากอน ที่จัดฉายภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ในระบบสามมิติผสมผสานกับเอฟเฟ็กต์ต่าง ๆ ในช่วงเดือนมิถุนายน ที่โรงหนังเพิ่งเปิดตัว ในวันเสาร์-อาทิตย์ หากไม่ได้จองล่วงหน้า เตรียมใจไว้ได้เลยว่าอดดูแน่นอน นับไปนับมา ในช่วงที่ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์อย่าง Transformer ภาค 3 ที่ฉายในโรงนี้เพียง 3-4 สัปดาห์ โรงนี้มีเพียง 140 ที่นั่ง เปิดฉายวันละ 5 รอบ แต่กวาดที่นั่งไปถึง 8,000 ที่นั่งในโรงเดียว !

ละครเวที "ทวิภพ เดอะ มิวสิคัล" ที่โรงละครเมื่องไทย รัชดาลัยก็เกิดกระแสนี้กับเขาด้วย ผู้คนพากันแห่ไปดูศิลปินหล่อขั้นเทพ โดม-ปกรณ์ ลัม รับบทเป็นขุนหลวงในยุคร.5 จนรอบการแสดงต้องเพิ่มจาก 21 รอบ เป็น 42 รอบ ซึ่งอันที่จริง หากคุณหลวงโดม สามารถที่จะเทคิวให้ได้อีก ว่ากันว่า ขยายรอบเพิ่มอีกก็ยังไหว

แม้แต่แบรนด์แฟชั่น ก็ยังหนีไม่พ้นเทรนด์ "เข้าคิว" การเดินทางจากโตเกียวมาสู่เมืองไทยของแบรนด์เสื้อผ้าญี่ปุ่นอย่าง "ยูนิโคล่" ในช่วงต้นเดือนกันยายน วันแรกที่ร้านเปิด ก็เล่นเอาห้างเซ็นทรัลเวิร์ลเต็มไปด้วยขาช้อปปิ้งที่เข้าคิวยาวถึง 2,500 คน

ส่วนแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่สั่งตรงจากสวีเดน อย่าง "อิเกีย" แม้ว่าจะผิดแผนสักเล็กน้อย ที่เปิดตัวในช่วงเดือนพฤศจิกายน อันเป็นช่วงที่ "น้องน้ำ" ครอบคลุมทั่วทั้งภาคกลางของเมืองไทย จนทำให้บรรยากาศการจับจ่ายซบเซ
แต่ว่าไปแล้ว แม้ว่าจะไม่มีคิว แต่ อิเกียมาได้ถูกเวลามาก เพราะช่วงน้ำท่วม หลายบ้านที่ถูกน้ำท่วม จำเป็นต้องมองหาเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหม่

อิเกีย จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ จนไม่ต้องแปลกใจ หากวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ถนนทุกสาย(ที่น้ำเริ่มลดแล้ว) จะมุ่งสู่บางนา เพื่อไปซื้อเฟอร์นิเจอร์เจ้าดังจากสวีเดน

ใช่ว่าปรากฏการณ์นี้จะมีแต่ในประเทศไทยหรือหากเรียกแบบสำนวนโน้ส อุดม แต้พานิช ก็คงจะเรียกว่า ไทยแลนด์ โอนลี(Thailand Only)

แต่ปรากฎการณ์ "เข้าคิว" กลายเป็นวัฒนธรรมป๊อบไปทั่วโลกเรียบร้อยแล้ว อะไรที่ฮิปๆ ต่างมีผู้คนสนใจจนถึงกับกางเต็นท์รอกันเป็นวันเป็นขึ้นก็ยังต้องยอม

อย่างเช่น ที่อเมริกา ผู้คนพากันแห่แหนกันไปจองตั๋วเพื่อที่จะเข้าชมหนังรอบพรีเมียร์เรื่องดัง อย่าง ทไวไลต์หรือแฮร์รี พอตเตอร์, ปรากฏการณ์เปิดตัวของสมาร์ทโฟนที่เปลี่ยนโลกอย่างไอโฟน หรือแม้แต่นิทรรศการดังอย่าง นิทรรศการที่นำเอางานของอเล็กซานเดอร์ แม็คควีน ดีไซเนอร์คนโปรดของเลดี้ กาก้า ผู้ล่วงลับไปแล้ว มาจัดแสดงที่ หอศิลป์พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน ที่นิวยอร์ค คิวก็แน่นไม่แพ้กัน

พอพูดถึงไอโฟน ก็ชวนให้นึกถึง สตีฟ จอบส์ เจ้าพ่อแบรนด์ "แอปเปิ้ล" ผู้ลวงลับไปแล้ว

แต่เรื่องราวของสตีฟ จอบส์ ยังถูกเล่าขานต่อมา ที่เป็นกระแสที่น่าสนใจก็คือ ชีวิตของเขาถูกบอกเล่าผ่านหนังสือชีวประวัติในชื่อ "Steve Jobs" ที่เขียนโดยมือเขียนหนังสือชีวประวัติผู้มีชื่อเสียงระดับโลก นามว่า วอลเตอร์ ไอแซ็กสัน

หนังสือเล่มนี้ จำหน่ายครั้งแรก ในวันที่ 24 ตุลาคม 2554 ก็ทำให้เกิดปรากฏการณ์ต่อคิวยาวไม่เพียงแต่ในอเมริกา ที่ประเทศอื่นๆ อย่างเช่น จีน ผู้คนก็รอเข้าคิวอุดหนุน

จนถึงวันนี้ ก็ยังเป็นหนังสือชายดีในนิวยอร์ค ไทมส์ เบสเซเลอร์ ประเภทนัน ฟิกชั่น หลายสัปดาห์ติดต่อกัน

ใกล้เข้ามาบ้านเราอีกนิด ที่เป็นปรากฏการณ์สดๆร้อนๆ ก็อย่าง มหกรรมการแห่ เข้าไปช้อปฯ เสื้อผ้าในแบรนด์ "เอช แอนด์ เอ็ม"(H&M) เสื้อผ้าแนวสตรีตแวร์จากสวีเดนที่เพิ่งเปิดสาขาในสิงคโปร์สดๆร้อนๆ

ปรากฏการณ์เข้าคิวในข้างต้นไม่ว่าจะเกิดจากเหตุผลทางการตลาดในการสร้างความรู้สึกของผู้ชมที่อยากมีประสบการณ์ที่น่าสนใจในแบรนด์นั้นๆหรือจะเพื่อการเข้าถึงอภิสิทธิ์พิเศษต่างๆก็ตาม

สิ่งหนึ่งที่มองเห็นก็คือ หากแบรนด์ใด สร้างคอนเซปต์ได้น่าสนใจ...

โอกาสที่จะมีผู้บริโภคมาเข้าคิวมากมาย

เกิดขึ้นได้เสมอ


Create Date : 12 ธันวาคม 2554
Last Update : 12 ธันวาคม 2554 12:16:21 น. 0 comments
Counter : 799 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

JitJai
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




Friends' blogs
[Add JitJai's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.