หนี้สินกับวิกฤติเศรษฐกิจโลก
โดย : ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ 24 พ.ค.2553

ครั้งที่แล้วผมตั้งข้อสังเกต 3 ข้อ
1. ในช่วงหลังนี้วิกฤติเศรษฐกิจเกิดบ่อยครั้งขึ้น เช่น วิกฤติเม็กซิโก 1994-1995 วิกฤติเอเชีย 1997-1998 วิกฤติ LTCM 1998 และการแตกของฟองสบู่อินเทอร์เน็ต 2000-2001 และล่าสุดวิกฤติซับไพร์ม 2008-2009 ซึ่งจะกล่าวต่อไป

2. รากเหง้าของปัญหาคือการสร้างหนี้สินมากเกินกว่าจะบริหารได้ ซึ่งน่าจะเป็นผลจากการที่เงินเฟ้ออยู่ที่ระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง ทำให้ดอกเบี้ยสามารถทรงตัวที่ระดับต่ำเช่นกัน ผลคือผู้กู้จะค่อยๆ คุ้นเคยมากขึ้นกับการกู้ยืมเงินเพิ่มขึ้น แม้จะพยายามระมัดระวังความเสี่ยง

3. ที่สำคัญคือดอกเบี้ยที่อยู่ระดับต่ำนานๆ มักจะทำให้ราคาสินทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งกลายเป็น “ฟองสบู่” กล่าวคือราคาปรับเพิ่มขึ้นจนสูงกว่าปัจจัยพื้นฐานซึ่งเสี่ยงต่อการแตกสลายของฟองสบู่ (การปรับลดลงอย่างรุนแรงของราคาสินทรัพย์) ส่งผลให้เกิดปัญหาหนี้เสียและความเสียหายแก่ธนาคารพาณิชย์ ที่สำคัญคือการที่มูลค่าสินทรัพย์ตกต่ำลงมากจะทำให้ประชาชนรู้สึกยากจนลง ทำให้การบริโภคและการลงทุนฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า

วิกฤติซับไพร์มที่มีสหรัฐเป็นศูนย์กลางการสร้างฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ นำไปสู่การสร้างหนี้จำนวนมหาศาล ซึ่งแตกต่างจากในอดีตทั้งในเชิงของขนาดของปัญหาและการแพร่ขยายลุกลามของปัญหาไปทั่วโลก ขนาดของปัญหานั้นนับได้ว่าใหญ่มากเพราะได้มีการอาศัยวิศวกรรมทางการเงินสร้างอนุพันธ์มูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ (ที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ซีดีโอ ซีดีเอสและซินเตติก ซีดีโอ ฯลฯ) โดยอาศัยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่ต่ำกว่าเกณฑ์ (สินเชื่อซับไพร์ม) เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันจนกระทั่งเกิดความเสียหายไปทั่วโลก โดยไอเอ็มเอฟประเมินว่าเสียหายกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์จนกระทบต่อทุนของธนาคาร ทำให้ความสามารถในการปล่อยสินเชื่อถูกกระทบกระเทือนอย่างมีนัยสำคัญ ความเสียหายต่อสถาบันการเงิน ความมั่งคั่งของประชาชนโดยรวม (ราคาสินทรัพย์ลดลงทำให้ประชาชนยากจนลง) ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงจนทำให้เศรษฐกิจโลกหดตัวลงในปี 2009

ที่สำคัญคือ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกน่าจะมากกว่าที่เกิดขึ้นในปี 2009 กล่าวคือ ควรติดลบมากกว่านี้และความตกต่ำน่าจะยืดเยื้อนาน 2-3 ปี แต่เหตุที่เศรษฐกิจมิได้ถดถอยรุนแรงและยืดเยื้อ ก็เป็นเพราะความเสียหายของภาคเอกชนถูก “อุ้ม” โดยภาครัฐทั้งในส่วนของการใช้จ่ายของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การลดภาษีและการที่ธนาคารกลางพิมพ์เงินเข้าไปซื้อสินทรัพย์เพื่ออุ้มมิให้ราคาสินทรัพย์ปรับลดลง ในขณะเดียวกันก็กดดอกเบี้ยให้อยู่ที่ระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง หากจำกันได้เมื่อต้นปีที่แล้ว “กระแส” ที่ถูกชักนำโดยประธานาธิบดีสหรัฐคือ การที่รัฐบาลทุกประเทศจะต้องเร่งกู้ยืมเงินเป็นจำนวนมากเพื่อนำมากระตุ้นเศรษฐกิจให้ทันท่วงที ซึ่งได้ผลดีเกินคาดเพราะทุกรัฐบาลรีบกู้ยืมเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจ กลายเป็นว่าการขาดดุลงบประมาณ 10% ของจีดีพีเป็นสิ่งที่เหมาะสมควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง

แต่การกระทำดังกล่าว เป็นการย้ายปัญหาซึ่งเดิมเป็นปัญหาของภาคเอกชนมาเป็นปัญหาของภาครัฐ (กล่าวคือปัญหาเดิมคือเอกชนมีหนี้สินมากจึงแก้โดยการให้รัฐกู้เงินและสร้างหนี้เป็นจำนวนมากแทน) ผลที่ตามมาคือ รัฐบาลที่เดิมมีสถานะทางการคลังอ่อนแออยู่แล้วและรัฐบาลของประเทศเล็กเริ่มมีปัญหาทางการคลัง เช่น ดูไบและกรีซ จนส่งผลให้ตลาดการเงินเกิดความตระหนกเพราะกังวลเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งหากพิจารณามาตรการแก้ไขที่ได้ถูกนำมาใช้ก็คือ การให้ประเทศที่มีปัญหากู้เงินจากไอเอ็มเอฟและประเทศขนาดใหญ่ เช่นในกรณีของกรีซ ได้รับเงินกู้จากไอเอ็มเอฟและกลุ่มประเทศยูโร เช่นเยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน ฯลฯ ในส่วนของการกู้เงินจากไอเอ็มเอฟก็คือการกู้เงินจากสหรัฐ ญี่ปุ่นและยุโรปเป็นหลักนั่นเอง ดังนั้นแนวทางแก้ปัญหาที่ตามมาในขณะนี้คือการย้ายหนี้จากรัฐบาลขนาดเล็กที่อ่อนแอไปเป็นหนี้สินของประเทศขนาดใหญ่นั่นเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ก็น่าจะสรุปได้ว่ายังไม่ได้มีการแก้ปัญหาที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก แต่เป็นการย้ายปัญหาเพื่อซื้อเวลาให้หลีกเลี่ยงวิกฤติในวันนี้ไปก่อน

การซื้อเวลาที่ว่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ผิดในหลักการหากใช้เวลาที่ซื้อมาให้เป็นประโยชน์ เช่นในกรณีของกรีซจะได้รับเงินกู้ตามโปรแกรม ทำให้รัฐบาลไม่ต้องพักชำระหนี้ไปได้อีกถึง 3 ปีและในช่วงเวลาดังกล่าวประเทศกรีซก็จะได้มีเวลาสร้างวินัยทางการคลัง (ลดหนี้ภาครัฐ) และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจมิให้ใช้จ่ายเกินตัวเช่นในอดีต ซึ่งก็คือการรัดเข็มขัดอีกนั่นเอง ประเทศไทยได้เคยผ่านวิกฤติเช่นว่ามาแล้วในปี 1997-8 โดยไทยได้ปรับลดหนี้ต่างประเทศลงจากประมาณ 80,000 ล้านดอลลาร์เหลือ 60,000 ล้านดอลลาร์ แต่ที่สำคัญคือทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยเพิ่มมาเป็น 120,000 ล้านดอลลาร์ แปลว่าประเทศไทยเปลี่ยนจากการเป็นลูกหนี้มาเป็นเจ้าหนี้และเปลี่ยนสถานะจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 8% ของจีดีพีมาเกินดุลบัญชีเดินสะพัดตั้งแต่ปี 1998 เกือบทุกปีจนถึงทุกวันนี้ แปลว่าเปลี่ยนจากประเทศที่ใช้จ่ายเกินตัวเป็นประเทศที่มีการออมสุทธิทุกปี

คำถามคือในกรณีของกรีซที่ค่าเงินยูโรไม่สามารถปรับลดค่าตามปัจจัยพื้นฐานของประเทศนั้นจะสามารถปรับโครงสร้างหนี้และการใช้จ่ายเกินตัวได้ภายในเวลา 3 ปีหรือไม่ เพราะแม้จะมีมาตรการรัดเข็มขัดอย่างเต็มที่ (จนกระทั่งเกินการเผชิญหน้าและปะทะกับผู้ชุมนุมที่คัดค้านมาตรการของรัฐ) แต่หากพิจารณาในรายละเอียดก็ยังพบว่าอาจจะไม่พอ เพราะคาดว่าหนี้สาธารณะของกรีซจะเพิ่มขึ้นจนมาอยู่ที่ระดับ 150% ของจีดีพีใน 3 ปีข้างหน้า ซึ่งการบริหารจัดการหนี้สาธารณะที่ 150% ของจีดีพีนั้นเป็นเรื่องที่ยาก นอกจากนี้จะต้องลดหนี้ให้อยู่ภายใต้เกณฑ์ของประเทศอียูที่ระดับไม่ให้เกิน 60% ของจีดีพี กล่าวคือกรีซจะต้องรัดเข็มขัดไปอีกกี่สิบปีจึงจะเข้าสู่การมีวินัยทางการคลังหรืออีกนัยหนึ่งคือประชาชนกรีซจะอดทนกับความตกต่ำทางเศรษฐกิจเพียงพอที่จะแก้ปัญหาได้หรือไม่ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ ยกตัวอย่างเช่นมาตรการรัดเข็มขัดของไอเอ็มเอฟนั้นคงต้องตั้งสมมติฐานเอาไว้ว่าเป็นมาตรการซึ่งเป็นที่ยอมรับของประชาชน แต่หากประชาชนไม่ยอมรับและรวมตัวกันประท้วงนัดหยุดงานทั่วประเทศดังที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ก็น่าจะเชื่อได้ว่าการคาดการณ์ของไอเอ็มเอฟน่าจะพลาดเป้าได้ เพราะเมื่อประชาชนส่วนหนึ่งหยุดงาน ผลผลิตของประเทศก็จะต้องลดลง รายได้ของรัฐก็จะต้องลดลงทำให้จีดีพีลดลงและภาษีที่เก็บได้ลดลง ซึ่งทั้งสองย่อมจะต้องทำให้การขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นและสัดส่วนของหนี้สาธารณะต่อจีดีพีย่อมจะต้องเพิ่มขึ้นเกินกว่าเป้าที่ตั้งเอาไว้ ดังนั้นจึงจะต้องติดตามการดำเนินนโยบายให้เป็นไปตามแผนและตามเป้าหมายอย่างใกล้ชิด กล่าวคือเมื่อใดที่มีแนวโน้มว่ากรีซจะมีปัญหาในการดำเนินตามมาตรการรัดเข็มขัด ตลาดเงินตลาดทุนก็อาจเกิดการผันผวนได้อีก

ข้อสรุปคือการสร้างหนี้มักจะเป็นรากเหง้าของวิกฤติเศรษฐกิจและเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยาก การย้ายหนี้จากภาคเอกชนไปสู่ภาครัฐนั้น อาจจะยิ่งทำให้ปัญหามีความท้าทายมากยิ่งขึ้นและผมสงสัยว่าในช่วง 3-4 ปีข้างหน้าปัญหาเศรษฐกิจที่โลกจะต้องเผชิญน่าจะเป็นปัญหาที่สืบเนื่องมาจากหนี้สาธารณะที่ก่อตัวเพิ่มมากขึ้นจนทำให้บริหารจัดการได้ยาก ซึ่งประเด็นนี้ผมจะขอขยายความต่อไปในบทความหน้าครับ



Create Date : 24 พฤษภาคม 2553
Last Update : 24 พฤษภาคม 2553 10:05:07 น.
Counter : 886 Pageviews.

2 comments
  
หากเวลามันซื้อได้ก็น่าซื้อนะคะ
โดย: นาฬิกาสีชมพู วันที่: 24 พฤษภาคม 2553 เวลา:10:20:13 น.
  
ข้อความมีประโยชน์มาก ขอบคุณครับ
โดย: คนไท IP: 182.53.243.166 วันที่: 16 สิงหาคม 2554 เวลา:14:05:13 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Depulis
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]



พฤษภาคม 2553

 
 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
17
18
19
20
22
23
25
26
27
28
29
30
31
 
 
All Blog