วิถียอง ที่บ้านหนองเงือก
สถานที่ท่องเที่ยว : บ้านหนองเงือก, ลำพูน Thailand
พิกัด GPS
: 18° 34' 20.10" N 99° 0' 58.65" E




ทุกครั้งที่จะทำ Work Shop เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้แก่ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมนั้น ในฐานะผู้ถ่ายทอด เราจำเป็นต้องเรียนรู้ให้ รอบและรู้ให้ลึกซึ้งจริงจังเท่าที่จะเป็นไปได้ การเดินทางเพื่อศึกษาหาความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นอีกหนึ่งแหล่งความรู้ที่มีความสำคัญ ไม่น้อยไปกว่าทฤษฎี ที่เราได้เคยอ่านจากตำรับตำรา เพราะในแต่ละพื้นถิ่น จะมีกลเม็ดเคล็ดลับ ที่แยบยลของคนรุ่นเก่าที่ถ่ายทอดไว้ให้ได้เรียนรู้ และสืบสาน กันอย่างไม่รู้จบ
และบนเส้นทางของการเดินทางแสวงหาความรู้ เราก็จะมีโอกาสได้พักกายพักใจไปกับความสงบงามของวิถีชุมชน อันเป็นกำไร หรือของแถมที่เราได้รับมาอย่างคาดไม่ถึงเสมอ




คราวนี้ก็เช่นกัน ฉันได้พาดิว อรุณพงศ์ ศิลปิน จิตอาสา ผู้ที่เสียสละเวลามาทำหน้าที่วิทยากรในกิจกรรม Work Shop ให้กับเรา มาเรียนรู้ภูมิปัญญาแห่งดอกฝ้าย ณ บ้านหนองเงือก จังหวัดลำพูน ที่นี่ถือว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาเกี่ยวกับผ้าทอมือและวัฒนธรรมของชาวยอง

เราเหินฟ้าจากกรุงเทพฯ ในยามเช้าตรู่ ไปถึงสนามบินเชียงใหม่ ได้เวลาเคารพธงชาติพอดี ดร.ชมตวัน สุรศักดิ์เสนีย์ รับหน้าที่ผู้ประสานงาน มารับเราเดินทางสู่บ้านหนองเงือก เมื่อไปถึงก็ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี จากแม่หลวงมาลี














ก่อนที่จะเริ่มกิจกรรมอื่นใด พวกเราก็พากันไปทำบุญ ถวายสังฆทาน ที่วัดหนองเงือก ซึ่งฉันสัมผัสได้ถึงความพิถีพิถันและตั้งใจในการสร้างบุญสร้างกุศลชองชาวยอง เริ่มตั้งแต่การทำ “กรวยสวยดอก” แม่หลวงให้เราไปหาเก็บดอกไม้จากสวนข้างบ้าน มาใส่กรวยกระดาษแข็งสีขาว พร้อมธูปเทียน แล้วก็เตรียมตะกร้าใส่ขวดและแก้วน้ำ ในทีนี้ชาวยอง เรียกกันว่า “น้ำหยาด” เพื่อเอาไว้กรวดน้ำอุทิศบุญแก่ผู้ล่วงลับ






เมื่อตระเตรียมข้าวของเสร็จเราก็ได้พบ พี่ ๆ สาวชาวยอง บ้านหนองเงือก อีก 3 -4 ท่าน ทุกท่านแต่งกายคล้ายกันคือสวมเสื้อสีขาว  แต่ผ้าซิ่นที่นุ่งมานั้นเป็นลายและสีเดียวกัน ตัวซิ่นเป็นลายทางสี แดง ชายซิ่นจะเป็น สีเขียว พอฉันชมว่างามมาก แม่หลวงมาลี ก็ยิ้มสวยแล้วบอก ฉันว่า “สีเขียวที่แสนงามนี้เปรียบเสมือน สีของนกยูงอันเป็น สัญลักษณ์ ของชาวยองแห่งบ้านหนองเงือก”




พวกเราโชคดีมากที่วันนี้ได้มากราบถวายสังฆทานกับหลวงพ่อ หรือตุ๊เจ้า อาจารย์ไกรลาศ รัตนวรรณโณ  เจ้าอาวาสวัดหนองเงือก ท่านเป็นหนึ่งในพระเกจิอาจารย์ดังของจังหวัดลำพูน เลยทีเดียว




แม่หลวงพาพวกเราไปกราบสังขารของหลวงพ่อเจ้าอาวาสองค์เดิม ที่ท่านละสังขารไปหากแต่สังขารของท่านไม่เปื่อยไม่เน่า นอนอยู่ในโลงแก้ว เป็นทีน่าอัศจรรย์








วัดหนองเงือกแห่งนี้มี คะตึกหอธรรมเป็นหนึ่งในสถานที่ ที่น่าเยี่ยมชม สิ่งที่ดึงดูดตาและใจฉันมากที่สุดอยู่ที่ฝาผนังของหอธรรม ซึ่งวาดเป็นเรื่องราวพุทธประวัติ  การใช้สี และลายเส้นนั้นถึงจะไม่อ่อนช้อย หากแต่มีเอกลักษณ์ ในการให้สีสัน ที่น่าประทับใจอย่างมากจริงๆ      ในคะตึกหอธรรมนี้เราได้พบตู้พระธรรมโบราณแกะสลักลวดลายเป็นรูปทวารบาล อยู่ ที่ บานประตูตู้ โครงสร้างตู้พระธรรมนั้น ดูแข็งแรงบึกบึนท้าทายกาลเวลาที่ผ่านมานับร้อยปี
















แม่หลวงและป้าชุมก็พาเราเดินไปที่โฮมสเตย์ ที่นี่เป็นบ้านติดแอร์ทั้งหลัง เหมาะกับการมาพักผ่อนของคนเมืองที่อยากมาสัมผัสวิถีชีวิตอันแสนสงบของชาวหนองเงือก  แต่ยังมีความสะดวกสบายทันสมัยที่คุ้นเคยในชีวิตประจำวันอยู่อย่างครบครัน ที่นี่เราได้เด็ดลำไยจากต้นกินกันอย่างเอร็ดอร่อย จนพี่สาวคนนึงมาเย้าเราว่า “เก็บลำไยกินอิ่มละ 50บาทเน้อ”




ความประทับใจของฉันกับโฮมสเตย์แห่งนี้คือเมื่อขึ้นไปชั้นบน ได้เห็นมุมหนึ่ง ที่เต็มไปด้วย "รูปที่มีทุกบ้าน"





ดิว ดู จะได้รับความเอื้อเอ็นดูจากป้า ๆ บ้านหนองเงือกมากเป็นพิเศษ ถึงกับเรียกขานกันว่า “ลูกเมริง” ซึ่งเป็นภาษายอง แปลว่า “ลูกชายสุดที่รัก” พวกเราก็เลยฉลองศรัทธาร่วมเรียกน้องว่า “เมริง” กับเค้าด้วย  อย่างว่าล่ะนะ เรามันคนกรุงไปออกเสียง เมริง ขึ้นนาสิกแบบชาวยองเค้าไม่ค่อยถนัด เสียงที่เปล่งออกมาจึงคล้าย “มึง” มากกว่า “เมริง” อย่าถือกันนะดิว ภาษามันเพี้ยนกันได้





จากนั้นเราก็ไปชมหนองน้ำออกรู ซึ่งเมื่อก่อนเป็นแหล่งชลประทานสำคัญของชาวหนองเงือก ที่นี่แหละเค้าว่ากันว่า เป็นที่ปรากฏตัวของพญานาค และเป็นที่มาของชื่อบ้านหนองเงือกด้วย ใครอยากรู้เรื่องราวลึกลับหรือจะชวนคุณริวมาพิสูจน์เชิญไปหาอ่านเอานะคะ เรื่องนี้เราจะไม่ยุ่ง













ก่อนจะคิดทำการอันใดกันต่อแม่หลวงมาลี พาพวกเราไปรับประทานอาหารกลางวัน ที่ร้านลาบไก่โพธิ์ทอง อย่าให้พูดเรื่องอาหารเลยขอบอกว่าอาหารยอง อร่อยไม่แพ้ชาติใดในโลกเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นน้ำพริกอ่อง ที่เอาแคบหมูจิ้มเพลินจนหมด แทบไม่รู้ตัว แกงฮังเล ลาบไก่ ปลานึ่ง กินกับข้าวเหนียวช่างอร่อยล้ำ ลำขนาดจริง ๆ




ตามที่เขาว่ากันไว้ว่า “กินคาวไม่กินหวานสันดานไพร่” แม่หลวงคงกลัวพวกเราเป็นไพร่ จึงจัดแคนตาลูปหวานหอมจากสวนของแม่หลวงเอง หั่นมาให้พวกเราล้างปากกันอย่างชุ่มชื่นใจ





















เอาละนะ มาเริ่มเรียนรู้เรื่องฝ้ายกันเสียทีเถิด ดิวเองก็มีความสนใจใครรู้เรื่องนี้เป็นอย่างมากเช่นกัน เพราะนอกจากจะนำความรู้ที่ได้มาต่อยอดในการทำ Work Shop แล้วยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในกิจการผ้ามัดย้อม What the Crafts ของน้องเองอีก ด้วย

ขั้น ตอนการทอผ้าฝ้ายนั้นมีด้วยกันทั้งหมด สิบสองขั้นตอนที่เราได้ มอบหมายให้ดิวทำแทนจน ครบ ทุกขั้น ตอน เว้นขั้นตอนแรก คือการ เก็บดอกฝ้าย เพราะ ฤดูนี้ไม่มีดอกฝ้ายจะให้เก็บ น้องดิวเริ่มลงมืออีดฝ้ายเพื่อเอา เมล็ดฝ้ายออก ปดดอกฝ้ายให้เป็นปุยฟู จากนั้นก็เอาฝ้ายมากิ๊ก ให้เป็นม้วน ๆเหมือนเราพันสำลีกับไม้ให้เป็นท่อนยาว แล้วก็นำฝ้ายมาปั่นให้เป็นเส้น นำฝ้ายมากวัก และขินหูก อันเป็นการเดินโยงเส้นใยไปมาน่าสนุกเป็นยิ่งนัก เมื่อขินหูกเสร็จ ก็มาผัดหลอด 

 และดิวก็ได้เริ่มทอผ้าอย่างเป็นจริงเป็นจังเสียที ไม่ต้องคาดเดากันว่าจะทอได้มากน้อยเท่าไหร่แค่ฟังเสียงกี่กระตุกก็นับว่าใช้ได้แล้ว




กี่ทอผ้าของบ้านแม่หลวงมาลีนี้เป็นกี่พิเศษ ต้องใช้คนทอสองคน ผ้าที่ออกมาก็จะได้หน้ากว้างเท่าผ้าปูที่นอนเลยทีเดียว ว่ากันว่าสามีภรรยาชาว ยองนั้นถ้าสามัคคีกันทอผ้าก็จะได้ผ้าออกมาเรียบสวยสม่ำเสมอ หากวันใดไม่สามัคคีกันขึ้นมาผ้าก็จะออกมาไม่สวยหรือไม่มีอารมณ์ทอทิ้งผ้าร้างค้างคากี่ไว้จนกว่าความสัมพันธ์จะดีดังเดิม
ผ้าฝ้ายของบ้านหนองเงือกนี้ นอกจากจะทอด้วยฝ้ายแท้ ๆ อันเป็นเส้นใยธรรมชาติแล้ว ยังมีการนำเทคโนโลยีนาโน มาช่วยเพิ่มคุณภาพของ ผ้าให้เป็นพิเศษเข้าไปอีก ด้วยกลิ่น ของผ้าที่หอม ไม่สกปรกง่าย กันน้ำได้ประ มาณนึง และผ้าสีจะไม่ตกซีด คงความงามอันเป็นเอกลักษณ์ไว้ได้ยาวนานกว่าผ้าอื่น

















ก่อนจะกลับเราได้ไปเยี่ยมเยือนเรือนโบราณอันจัดไว้เป็น โฮมสเตย์อีกที่หนึ่ง เรือนนี้ทำให้เราได้ ซาบซึ้งถึง วิถีแห่งยอง อย่าง แท้จริง ฉันประทับใจครัวยองเป็นพิเศษ ครัวกว้างมาก มีอาณาบริเวณที่เชื่อมต่อกันระหว่างยุ้งข้าวและตัวบ้าน เตาจะเป็นก้อนหินสามก่อน ที่เค้าเรียกกันว่าก้อนเส้า อันนี้ก็มีสามเส้า แต่มิใช่รัก สามเศร้าของเราสามคนนะจ๊ะ และอีกจุดที่ประทับใจคือขั้นบันได ที่กว้างและ ยาว แต่ขั้นถี่จัง เรือนชาวยองแห่งนี้ดูแข็งแรงบึกบึนมาก วันหน้าฉันหวังว่าจะได้มานั่งโขลกน้ำพริกปิ้งปลาทำอาหารที่ครัวแห่งนี้




นาฬิกาของเราที่บ้านหนองเงือกเดินทางมาถึงชั่วโมงแห่งการลาจาก...

เราร่ำลาแม่หลวงและ พี่สาวชาวหนองเงือก มาด้วยความตราตรึงในไมตรีจิตมิตรภาพ

แม้ได้พบกันเพียงไม่กี่ชั่วโมงในวันนั้น ฉันและดิว ก็เชื่อว่าเราคงต้องกลับมาที่นี่อีกอย่างแน่นอน

***ขอบคุณ แม่หลวงมาลี และพี่สาว ทุกท่านแห่งบ้านหนองเงือก
***ขอบคุณ ดร.ชมตวัน สุรศักดิ์เสนีย์ ที่เอื้อเฟื้อประสานงานและอำนวยความสะดวกทุกสิ่ง




Create Date : 10 กรกฎาคม 2559
Last Update : 11 กรกฎาคม 2559 11:02:21 น.
Counter : 4115 Pageviews.

3 comments
  
สวัสดีค่ะ...

เป็นโฮมสเตย์ที่น่าพักมากๆนะคะ..

โดย: อ้อมแอ้ม (คนผ่านทางมาเจอ ) วันที่: 11 กรกฎาคม 2559 เวลา:0:11:19 น.
  
thx u crab
โดย: Kavanich96 วันที่: 12 กรกฎาคม 2559 เวลา:3:58:40 น.
  
โดย: พี่จ๊ะจ๋า วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา:17:39:43 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

กั้งกระดาน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 20 คน [?]



กรกฏาคม 2559

 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31