ธารธรรมใสเย็นยิ่ง สุขได้
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2552
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
25 ตุลาคม 2552
 
All Blogs
 
จริต กับ กรรมฐาน ของสมถะ และ วิปัสสนา

ถาม สมถะมีอานิสงส์อย่างไร ?

ตอบ สมถะมีอานิสงส์ดังนี้ คือ –

ก) อานิสงส์ของสมถะในปัจจุบัน ทำให้เข้าสมาบัติได้ และทำให้จิตเป็นสุขเยือกเย็น เพราะเวลานั้นจิตปราศจากอภิชฌาและโทมนัส ย่อมทำให้ได้อภิญญาทั้ง ๕ คือ หูทิพย์ ตาทิพย์ ระลึกชาติได้รู้วาระน้ำใจของสัตว์ทั้งหลาย แสดงฤทธิ์ได้ต่างๆมีเหาะได้ ทำให้น้ำแข็งจนเดินได้ ชำแรกแผ่นดินหรือดำดินได้ ทำให้เกิดลมเกิดไฟ และเนรมิตสิ่งต่างๆได้เหล่านี้เป็นอานิสงส์ของสมถะในปัจจุบัน

*** แต่การที่จะทำสมถะจนกว่าจะได้อานิสงส์ถึงเพียงนี้ ผู้นั้นจะต้องทำความเพียรให้ถึงจตุกนัยหรือปัญจกนัย คือหมายความว่า ผู้นั้นจะต้องทำสมาธิหรือสมถะให้ถึงฌานที่ ๔ หรือ ๕ จึงจะได้อานิสงส์อย่างนี้เพราะจะต้องอบรมบำเพ็ญกลิ่นวิญญาณธาตุของตนเองให้มีกำลังเหนืออำนาจของธาตุทั้ง ๔ เสียก่อน แล้วจึงจะกระทำอภิญญาให้เกิดขึ้นได้ มิฉะนั้น ก็ไม่สามารถจะบังคับให้ธาตุทั้ง ๔ เป็นไปตามใจของตนได้ เพราะฉะนั้นในฌานที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ไม่มีกำลังพอที่จะกระทำฤทธิ์ได้

ข) อานิสงส์ของสมถะในอนาคต ได้ปฐมฌานถึงปัญจมฌาน ทำให้ไปเกิดในสุคติพรหมโลก

๗. ถาม สมถะมีบุคคลชนิดไหน ที่จะทำได้ ?

ตอบ สมถะบุคคลที่จะทำสมถะจนถึงได้ผลนั้นดังนี้คือ

ก) ต้องเป็นบุคคลที่ปฏิสนธิด้วยไตรเหตุ คือหมายความว่า บุคคลที่มีปฏิสนธิจิต ภวังคจิตประกอบด้วยโสภณเหตุ ๓ คืออโลภะ อโทสะ อโมหะ

ข) บุคคลผู้นี้ไม่เคยได้กระทำอนันตริยกรรม คือฆ่าบิดา ฆ่ามารดา ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้าให้โลหิตออกด้วยเจตนาอันเป็นอกุศลและไม่ยุยงให้สงฆ์แตกแยกกันออกเป็นหมู่เป็นคณะ

ค) ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด ชนิดที่จะไปโลกันต์ โดยมีความเห็นว่ากรรมคือกุศล อกุศลที่จำแนกให้สัตว์ไปสู่ความสุขนั้น ความทุกข์นั้นไม่มีผลคือวิบากที่ได้รับมาจากกรรมดี กรรมชั่ว ไม่มี และไม่มีศรัทธาเลื่อมในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และเป็นอุภโตพยัญชนก คือเป็นกระเทย และพวกบัณเฑาะก์ (ดังกล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคฏีกา)

*** ถ้าเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติเหล่านี้แล้ว ก็สามารถที่จะทำได้แต่ยังไม่แน่ทีเดียวนัก เพราะเมื่อพ้นอุปสรรคตามที่กล่าวมาแล้วนั้น ยังต้องมีธรรมที่เป็นกุศลมาช่วยอุดหนุนอีก คือต้องมีศรัทธาความเชื่อ มีฉันทะความพอใจ เป็นผู้มีสุตะ คือการฟังมาก มีความเพียรมากและต้องได้อาจารย์ที่สามารถ ถ้าสมบูรณ์ตามที่กล่าวมานี้แล้ว ย่อมมีหวังในอานิสงส์ของสมถะนั้นได้ คำว่าทำได้ หมายถึงการเข้าถึงอัปปนา.
๘. ถาม สมถะนั้นจะต้องเลือกจริตเท่าใด ?

ตอบ สมถะนั้นจะต้องเลือกใช้จริต ๖ คือ ราคะจริต โทสจริต โมหะจริต ศรัทธาจริต วิตกจริต พุทธิจริต

*** ในจริต ๖ นี้ คนหนึ่งๆ อาจมีอยู่หลายจริตก็ได้แต่ว่าจริตไหนออกหน้าก็ให้ถือจริตนั้น

*** มีคำถามกล่าวขึ้นมาว่า ในจริตทั้ง ๖ นั้น มีอะไรเป็นแดนเกิด เรื่องนี้ในมหาฏีกาท่านกล่าวว่า มีกรรมเป็นแดนเกิด เพราะบรรดาสัตว์ทั้งหลายที่เกิดมานั้นต้องมีเหตุ คือราคะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ทั้ง ๖ เหตุเหล่านี้ ย่อมมีปะปนคลุกเคล้ากันมาทั้งสิ้น แต่มีไม่เสมอกัน มีอย่างนั้นมากบ้าง มีอย่างมีน้อยบ้าง ตามที่ประกอบมาในตนของตน

*** ฉะนั้นท่านจึงว่ามีกรรมเป็นแดนเกิดของจริตทั้ง ๖ นั้น และท่านกล่าวว่า ผู้เคลื่อนมาจากสวรรค์โดยมาเป็นผู้มีราคะจริต ผู้ที่มากไปด้วยการฆ่า การทำลาย การจองจำมาในชาติก่อนนั้น หรือมาจากนรกเป็นคนโทสะจริต ถ้าชาติก่อนเป็นคนที่มากไปด้วยการดื่มน้ำเมาและไม่เคยมีการศึกษา ไม่เคยสดับครับฟังและไต่ถาม หรือมาจากดิรัจฉาน โดยมากมักเป็นคนโมหะจริต

*** และอีกนัยหนึ่งว่า โมหะจริตนั้น ธาตุทั้ง ๒ มีกำลังมาก คือปถวีธาตุและอาโปธาตุถ้าโทสะจริต เตโชธาตุ และวาโยธาตุ มีกำลังมากถ้าราคะจริต ธาตุทั้ง ๔ มีส่วนเสมอกัน
จะทราบได้อย่างไรว่า ผู้ใดเป็นผู้มีจริตอย่างไรนั้นข้อนี้ให้ถึงสังเกตได้ดังนี้ ***

ก) คนที่มีราคะจริตนั้น มีอัชฌาศัยมักเป็นคนมักได้ รักสวยรักงาม เดินช้าและค่อย เท้ากระโหย่ง มีอาการเรียบร้อย ชอบสะอาด ไม่ขี้โกรธ ชอบกินอาหารรสแปลกๆเจ้าเล่ห์ มักอวด ถือตัว ปรารถนาลามก โลภจัด ไม่ชอบสันโดษ แง่งอน ตลกคะนอง มีโสมนัสมาก หัวเราะเสมอ

ข) คนมีโทสะจริตนั้น โกรธง่าย โกรธแรง เสียงดัง ไม่โลภมาก ไม่มักมาก พูดเร็ว เข้าใจความง่าย เดินดัง เร็ว และจิกปลายเท้า เวลานอนกลิ้งกายการงานไม่ค่อยเรียบร้อย ชอบอาหารรสเผ็ด เปรี้ยวไม่ชอบทดลอง ทำอะไรทำจริง ไม่พะวักพะวง ให้แล้วๆไป นิสัยดุ ผูกโกรธ ตีเสมอ ริษยา ตระหนี่

ค) คนโมหะจริตนั้น เดินจิกปลายเท้าและส้นเท้า เมื่อยกเท้าและหย่อนเท้าลง มีอาการสับส่ายหลักไม่มั่นคง มีอาการสั่นๆ การงานไม่ค่อยหมดจดทำอะไรไม่ค่อยจะสำเร็จ และใจลอย มักหลงลืม เวลานอนชอบนอนคว่ำ ซบเซา งัวเงีย มักง่วง ชอบนอนมาก การแต่งกายไม่ค่อยเรียบร้อย เสื้อผ้ามักจะรุ่มร่ามไม่เลือกอาหาร กินง่าย กินได้มาก เปิบข้าวคำเล็กๆข้าวมักกระจายในชาม และกินด้วยกิริยามูมมาม สำหรับจิตใจเป็นคนมีจิตใจฟุ้งซ่าน งุ่นง่าน รำคาญเก่ง แต่เวลาประสบอารมณ์อะไร ลำพังตนเองไม่ค่อยมีอาการตื่นเต้น เฉยๆ ซึมๆ แล้วแต่ผู้อื่นจะตัดสินมีความยึดมั่น ช่างสนเท่ห์ เข้าใจยาก และปลดเปลื้องยาก

ง) คนที่มีศรัทธาจริตนั้น ท่านกล่าวว่า เมื่อปฏิสนธิมีศรัทธาแรงกล้าประกอบเป็นบริวาร จึงเป็นคนมีศรัทธาจริต ผู้ที่มีจริตเช่นนี้ เป็นคนมีนิสัยไม่มักได้ไม่โกรธง่ายมีความเลื่อมใสเป็นปกติ ซึ่งมีลักษณะสภาพคล้ายๆ กับคนราคะจริต แต่ศรัทธามาก เป็นหัวหน้าไม่ตระหนี่ ไม่ขี้อวด ไม่มีมารยา เลื่อมใสในสิ่งที่ควรเลื่อมใส

จ) คนที่เป็นพุทธิจริตนั้น ท่านกล่าวว่า เมื่อเวลาปฏิสนธิ อโมหะมีกำลังแรง เป็นคนมีปัญญามีอัชฌาศัยหนักไปในทางธรรมะ เลือกคบเพื่อนที่ดีและพยายามหลีกเพื่อนชั่ว มีสติสัมปชัญญะ ไม่ดื้อว่าง่าย รู้ประมาณกาลอันควร รู้ประมาณในอาหารขอบประกอบความเพียร เมื่อมีอารมณ์มาประสบไม่ตื่นเต้นมาก มีความสลดในที่ๆควรสลด ปลาบปลื้มในสิ่งที่ควรปลาบปลื้ม และมีความแยบคายดีในเวลาประกอบความเพียร

ฉ) คนที่เป็นวิตกจริตนั้น ท่านกล่าวว่า เมื่อปฏิสนธิประกอบด้วยกามวิตกเป็นบริวาร ไม่ค่อยยินดีในการประกอบกุศล มีจิตใจไม่มั่นคง จับจด ชอบอะไรไม่แน่นอน ประเดี๋ยวเกลียด ประเดี๋ยวรัก พูดเก่ง วิตกมากเกินกว่าเหตุ

ในจริตทั้ง ๖ อย่างนี้ ท่านสงเคราะห์ด้วยความเสมอภาคกันได้ ๓ ส่วน คือ
ราคะจริตกับศรัทธาจริตมีความเป็นไปเสมอภาคกัน

*** เพราะในการที่กุศลเกิดแก่ผู้ราคะจริตนั้น ศรัทธาย่อมีกำลังกล้า เพราะศรัทธานั้นมีกำลังใกล้ชิดต่อราคะจริต

*** ราคะย่อมเป็นหัวหน้าฝ่ายอกุศล ศรัทธาย่อมเป็นหัวหน้าฝ่ายกุศล
ราคะย่อมแสวงหากามในกามคุณ ศรัทธาย่อมแสวงหากุศลธรรมมีศีล เป็นต้น

*** ราคะย่อมไม่สละสิ่งที่ไร้ประโยชน์ฉันใด ศรัทธาย่อไม่สละสิ่งที่เป็นประโยชน์ฉันนั้น เหตุนั้น ศรัทธาจริตกับราคะจริต จึงเสมอภาคกัน

*** โทสจริตกับปัญญาจริตนั้น เสมอภาคกันเพราะปัญญาเป็นคุณใกล้ชิดต่อโทสะ

*** ในฝ่ายอกุศลนั้น โทสะเป็นโทษ เป็นเหตุให้หมดเยื่อใย ไม่ติดอยู่ในอารมณ์ เบื่อหน่ายโดยต้องการให้พ้นไปเหมือนกัน แต่โทสะต้องการให้พ้นไปด้วยโทษคือพ้นจากกุศล

*** ส่วนปัญญานั้น ต้องการให้พ้นไปด้วยคุณ คือพ้นจากอกุศล

*** รวมความว่า ข้างหนึ่งพ้นจากอกุศลแล้วไปสวรรค์หรือนิพพาน แต่อีกข้างหนึ่งพ้นจากกุศล แล้วไปนรก

*** ฉะนั้น ท่านจึงว่า ปัญญาจริตกับโทสจริตนั้นมีความเป็นไปเสมอภาคกันด้วยอารมณ์

*** ส่วนวิตกจริตกับโมหะจริตนั้น เสมอกันเพราะโมหะจริตย่อมประกอบด้วยความฟุ้งซ่าน วิตกจริตก็ประกอบด้วยความฟุ้งซ่านเช่นกัน ยากที่จะยังความสงบให้เกิดขึ้นได้

*** ฉะนั้นผู้ทำความเพียรให้กุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้นคือสมถะและวิปัสสนานั้น ยังสงบจิตใจลงไม่ได้ ก็เพราะมีวิตกเกิดขึ้นรบกวน โดยอาการที่คิดนึกไปถึงอารมณ์ต่างๆเพราะไม่ทราบความจริงจึงตกลง

*** เมื่อมีความวิกตกวุ่นวายเกิดมาก จึงทำให้เป็นปัจจัยแก่โมหะ เมื่อโมหะมีเป็นภาคพื้นอยู่ จึงทำให้ไม่สามารถจะทราบถึงสภาพของความจริงได้ ดังนี้โดยเหตุนี้ โมหะจริตกับวิตกจริต จึงมีคุณเสมอกัน มีอรรถาธิบายดังพรรณนามาแล้ว

*** ฉะนั้นผู้ทำสมถะ คือสมาธินั้น ผู้ทำจะต้องเลือกกรรมฐานให้ถูกแก่จริตของตนเสียก่อน จึงจะเป็นที่สบาย ได้ผลเร็ว และง่าย

*** การที่จะทราบว่า กรรมฐานบทใด เป็นที่สบายแก่ผู้มีจริตเช่นใดนั้น ตามนัยแห่งคัมภีร์วิสุทธิมรรคท่านกล่าวไว้ว่า ดังนี้

ผู้มีราคะจริต จะประกอบความเพียรกรรมฐานต้องมีเสนาสนะที่อาศัย เตียงตั่งที่นั่งที่นอนรุงรังเต็มไปด้วยฝุ่นละออง ไม่เป็นที่สบาย ไม่น่าดู ไม่สวยงาม เครื่องนุ่งห่มควรใช้ของเก่า ขาดสีสัน ไม่เจริญ อาหารต้องให้อาหารที่ไม่เป็นที่นิยม รสชาติกลิ่น และสีไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยินดี แทบว่าจะกลืนไปลงลำคอ ต้องขืนใจกินพอหนักท้องเท่านั้น อันนี้เป็นประโยชน์ทำให้เกิดผลแก่คนราคะจริต

*** มีคำถามกล่าวขึ้นมาว่า เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ขอตอบว่า ธรรมดาราคะนั้นย่อมชอบสวยงาม เมื่อใดได้ประสบอารมณ์ที่สวยงาม อันเป็นที่ตั้งแห่งความยินดีในทวารทั้ง ๖ แล้ว ราคะย่อมไหลไปสู่อารมณ์นั้นตามทวารนั้นๆอยู่เสมอ

*** ฉะนั้นเมื่อจะห้ามกันอกุศล คือโลภะกิเลสมิให้เกิดขึ้นได้ในทวารทั้งหลายเหล่านี้ จึงต้องใช้อารมณ์ที่เป็นข้าศึกแก่กัน มิฉะนั้นโลภะก็จะเกิดขึ้นทำลายกุศลอันตนบำเพ็ญเพียรอยู่ กุศลที่ต้องการก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะต้านทานต่ออกุศล คือโลภะไม่ไหว นอกจากนี้ยังต้องใช้อสุภกรรมฐาน ๑๐ และกายตาสติอีก ๑ เป็นอารมณ์กรรมฐาน สำหรับใช้ประหารราคะจริต

ผู้มีโทสะจริต ต้องใช้เสนาสนะสะอาดงดงามประดับประดาด้วยดอกไม้ของหอม ทุกสิ่งทุกอย่างต้องล้วนแต่น่าดู น่าชม น่าฟัง น่าสูดดม น่ารับประทานน่าสัมผัสทั้งสิ้น การที่ให้ใช้อารมณ์ตรงกันข้าม ก็เพื่อจะห้ามกันกิเลสที่เคยไหลไปสู่อารมณ์ตามทวารทั้ง ๖ นั้น เพราะต้องอาศัยอารมณ์เป็นปัจจัย ฉะนั้นต้องใช้อารมณ์อันตรงกันข้าม เพื่อมิให้อารมณ์นั้นเป็นปัจจัยแก่กิเลสที่เคยที่สร้างสมอยู่เป็นนิสัยปัจจัยเดิมของตน

*** กรรมฐานสำหรับประหารโทสจริตนั้น ต้องใช้วัณณกสิน ๔ คือสี ๔ อย่าง มีสีเขียว สีเหลือง สีแดง สีขาว รวม ๔ สี พร้อมทั้งพรหมวิหารอีก ๔ จึงรวมเป็น ๘ ด้วยกัน นี้เป็นอารมณ์กรรมฐานของผู้มีโทสะจริต

ผู้มีโมหะจริต ต้องเป็นที่ที่ไม่คับแคบ ไม่อึดอัดสถานที่กว้างขวาง มีอากาศโปร่ง เพราะถ้าอากาศไม่โปร่งและคับแคบ จิตย่อมจะเกิดความงวยงง อันเป็นเหตุให้เกิดความงมงาย ซบเซา และปัญญาทรามมากขึ้น จะเป็นโอกาสให้เกิดโมหะได้อย่างเต็มที่ สำหรับอิริยาบถทั้ง ๔ นั้น อิริยาบถเดินเหมาะแก่โมหะจริต
*** อารมณ์กรรมฐานสำหรับโมหะจริต ต้องใช้อานาปานสติเท่านั้น ที่เหมาะแก่ผู้มีจริตเช่นนี้

ส่วนผู้ที่เป็นพุทธิจริตนั้น มิได้เป็นที่ติดใจในเสนาสนะใดๆเลยทั้งสิ้น นอกจากผ่าและโคนไม้

*** สำหรับอารมณ์กรรมฐานของผู้เป็นพุทธิจริต มี ๔ คือ มรณานุสสติ ๑ อุปสมานุสสติ ๑ จตุธาตุววัตถาน ๑ อาหารเรปฎิกูลสัญญา ๑ รวม ๔ กรรมฐานนี้ เป็นอารมณ์ของผู้มีพุทธิจริต

*** สำหรับผู้มีวิตกจริตนั้น ต้องใช้เสนาสนะที่ไม่ใหญ่โตนัก และไม่มีสิ่งที่ชวนชม ชวนพิศมากนักมิฉะนั้นจะเป็นปัจจัยให้วิตกวิ่งพล่าน และจะเกิดมากขึ้นกว่าเดิม ฉะนั้นจึงต้องมีสถานที่อันเป็นป่าปกคลุม เช่น หลืบเขา ที่ซึ่งเป็นซอก มิให้กว้างยาวมากนัก จึงจะควรวิตกจริต

*** อารมณ์กรรมฐานสำหรับจริตนี้ ให้ใช้อานาปานสติ เช่นเดียวกับโมหะจริต

*** สวนกรรมฐานที่ยังเหลืออีก ๘ คือ ธาตุกสิณ ๔ และอรูปกรรมฐาน ๔ รวม ๘ อย่างนี้ ใช้ได้ทุกจริต

*** พึงทราบเรื่องของจริต ตามนัยที่ได้อธิบายมานี้เพื่อสะดวกแก่กุศลภาวนา และการละนิวรณ์


๙. ถาม สมถะมีอะไรเป็นปลิโพธ และมีเท่าใด ?

ตอบ สมถะมีปลิโพธ ๑๐ อย่าง คือ

๑) ญาติปลิโพธ ความกังวลในเรื่องบิดา มารดา พี่หญิง น้องหญิง พี่ชาย น้องชาย บุตรหลานป่วยไข้ ต้องใส่ใจช่วยเหลือพยาบาล หรือต้องช่วยประกอบธุรกิจการต่างๆเป็นต้น

๒) อาวาสปลิโพธ ความเป็นกังวลในเรื่องที่อยู่ จะต้องทำความสะอาด มีปัดกวาด เช็ดถูก แต่งเติมสร้างหรือซ่อมแซม ห้องเดียว หรือมากห้องก็ตามย่อมเป็นปลิโพธทั้งสิ้น

๓) สกุลปลิโพธ ในคำว่าสกุลนี้ สำหรับภิกษุหมายถึงอุปัฏฐาก หรือญาติฆราวาส อาจหมายถึงมิตรสหายก็ได้ รวมความว่าผู้ที่เคยมาเยี่ยมเยียน หรือนำจตุปัจจัยมาถวายอยู่เสมอ จึงมีความกังวลว่า ถ้าเราไปทำกิจเจริญภาวนาเสีย การติดต่อทางนี้ก็จะห่างเหินไป

๔) ลาภปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับลาภคือจตุปัจจัยที่เขานำมาถวายภิกษุในการที่ท่านแสดงธรรมและการรับนิมนต์ไปในที่ต่างๆ เช่นนี้ เป็นไปตลอดเวลาหาความว่างจากภารกิจเหล่านี้ได้ยาก นี้สำหรับภิกษุ

*** ส่วนฆราวาสก็เช่นเดียวกัน คือต้องห่วงในการงานทั้งหลาย มีการประกอบอาชีพ เป็นต้น การที่จะละปลิโพธเหล่านี้ เพื่อประกอบความเพียรต้องกระทำดังนี้คือถ้าเป็นภิกษุต้องสละออกเสียจากหมู่ ถือสันโดษจาริกไปในที่ที่ไม่รู้ ไม่คุ้นเคย ส่วนฆราวาสก็เช่นกันเมื่อใคร่จะประกอบความเพียร จำต้องละภารกิจ แม้จะเป็นรายได้ก็ตาม ต้องเสียสละชั่วคราวจึงจะละการกังวลอันนี้ได้

๕) คณะปลิโพธ เกี่ยวกับการติดต่ออยู่ในหมู่คณะหรือสมาคม เช่น เกี่ยวกับห่วงในการสอนวิชามีพระสูตร พระวินัย พระอภิธรรม หรือการกระทำส่วนอื่นๆ อันเกี่ยวกับหมู่คณะซึ่งยังคั่งค้างอยู่ มากบ้างน้อยบ้าง ไม่สามารถจะปลีกตนไปได้ ให้พึงหาผู้อื่นแทน แล้วจงหลีกไปเสียให้พ้นจากสถานที่นั้น

๖) กัมมปลิโพธ หมายถึงกิจการต่างๆ เช่น การวิ่งเต้นช่วยเหลือในการงานทั้งปวง หรือมีหน้าที่ประจำตน เช่น เป็นนายช่างรับการงานไว้ เป็นต้น อันเป็นกังวล ก็ให้พึงรีบทำเสียให้เสร็จโดยเร็ว หรือควรจะสละให้ผู้อื่นประกอบต่อไป ก็พึงควรทำ แล้วจงหลีกไปเสียจากที่นั้น

๗) อัทธานะปลิโพธ หมายถึงการเดินทาง เช่น เป็นอุปัชฌายะไปทำการบรรพชาอุปสมบทจะต้องเดินทางไปให้ทันวันกำหนด หรือการที่ต้องไปในกิจนิมนต์ เป็นต้น เช่นนี้ก็เป็นเครื่องกังวล ที่จะต้องไปจัดทำกิจการนั้นให้เสร็จไป แล้วจึงขวนขวายในการประกอบความเพียรตามประสงค์ได้สะดวก

๘) อาพาธปลิโพธ ได้แก่ โรคาพาธต่างๆ ที่เกิดขึ้นเบียดเบียนอยู่ ย่อมชื่อว่าเป็นกังวล ต้องทำการรักษาให้เป็นปกติเสียก่อน ถ้าไม่ทุเลาหรือสงบจริงๆ พึงกระทำในใจว่า ฉันมิใช่ทาสของท่าน เพราะบำรุงท่านไว้ ฉันจึงต้องประสบทุกข์ในสังสารวัฏ ต่อแต่นี้ไปฉันจักไม่ตามใจท่านละ เมื่อกำหนดจิตใจได้เช่นนี้แล้วพึงเจริญสมถธรรมไปตามประสงค์

๙) คันถปลิโพธ คือการกังวลด้วยการศึกษาพระปริยัติธรรม ข้อนี้ก็เป็นกังวบแก่ผู้ขวนขวายเป็นนิจ เพราะความต้องการรู้เห็นสิ่งที่กำลังศึกษาอยู่ฉะนั้นผู้มุ่งการปฏิบัติจึงต้องละเสียชั่วคราว

๑๐) อิทธิปลิโพธ ได้แก่ ความกังวลอยู่ด้วยการแสดงฤทธิ์ ต้องระวังรักษา เกรงว่าฤทธิ์นั้นจะเสื่อมแต่อิทธิปลิโพธนี้เป็นกังวลแก่วิปัสสนาเท่านั้น หาเป็นปลิโพธของสมถะไม่ เพราะการแสดงฤทธิ์นี้ได้ก็ต้องอาศัยสมถะ นอกนั้นใช้ได้ในภาวนาทั้งสอง



Create Date : 25 ตุลาคม 2552
Last Update : 25 ตุลาคม 2552 20:56:47 น. 5 comments
Counter : 2495 Pageviews.

 



จากท่าน อ.แนบ แนบ มหานีรานนท์ พ.ศ. ๒๕๐๖
หนังสือ ปัญญาวารสารธรรม ฉบับที่ ๙๕
------------------------------------------------------

หลังจากที่ผมได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ก็ได้พบกับจริต
อันแน่ชัดของตนเอง จึงเริ่มเลือกกรรมฐานตามที่พุทธองค์ทรงตรัสทรงแสดงไว้ ตรงตามที่ท่าน อ.แนบ มหานีรานนท์
นำมาแสดง

หลังจากที่ปฏิบัติกรรมฐานที่ตรงกับจริตของตนได้สักสอง
ถึงสามวัน ก็ได้ผลที่ดีขึ้นกับจิตใจอย่างเด่นชัด
จึงขอนำมาคัดลอก เพื่อหวังให้ท่านทั้งหลาย
จักอาจได้ประโยชน์ตามสมควรแก่ตนๆ
และหากอ่านจบทั้งหมด ก็จะเป็นประโยชน์ที่จะรู้จักจิตใจผู้อื่นมากขึ้น และรู้วิธีในการแสดงออกให้เป็นที่รัก ที่พอใจ
คนที่ท่านใกล้ชิดสนิท อันมีบิดา-มารดา เป็นต้น.


โดย: ใจพรานธรรม วันที่: 25 ตุลาคม 2552 เวลา:20:42:15 น.  

 
สำหรับท่านที่ต้องการเจริญวิปัสสนากรรมฐานครับ
......................................................................

จริตของบุคคล ๔ พวก
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส สติปัฏฐาน ๔ เพื่อความเหมาะสมแก่บุคคล ผู้มีจริต ๔ ดังนี้ คือ
๑. บุคคล ผู้มีตัณหาจริตอย่างหยาบ
๒. บุคคล ผู้มีตัณหาจริตอย่างละเอียด
๓. บุคคล ผู้มีทิฏฐิจริตอย่างหยาบ
๔. บุคคล ผู้มีทิฏฐิจริตอย่างละเอียด

๑. บุคคล ผู้มีตัณหาจริตอย่างหยาบ มักติดอยู่ในกาย พอใจรักสวย รักงาม เป็นผู้มีปัญญาอ่อน ควรเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานเพื่อละสุภวิปัลลาส
๒. บุคคล ผู้มีตัณหาจริตอย่างละเอียด มักติดเวทนา คือ ในสุขเวทนา มุ่งต่อเวทนาเป็นใหญ่ เป็นผู้มีปัญญากล้า ควรเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพื่อละสุขวิปัลลาส
๓. บุคคล ผู้มีทิฏฐิจริตอย่างหยาบ มักติดอยู่ในจิต เห็นจิตเป็นของสำคัญ เป็นของเที่ยงแท้ มุ่งจิตเป็นใหญ่ ควรเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพื่อละนิจจวิปัลลาส
๔. บุคคล ผู้มีทิฏฐิจริตอย่างละเอียด มักติดอยู่ในธรรมเห็นธรรมที่เกิดกับจิตเป็นของสำคัญ มุ่งธรรมเป็นใหญ่ เห็นธรรมเป็นอัตตา ควรเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานเพื่อละอัตตวิปัลลาส

อนึ่ง ในมหาสติปัฏฐานสุตตวรรณนา กล่าวว่า
" จริงอยู่บรรดาสัตว์ทั้งหลายผู้มีตัณหาจริต และทิฏฐิจริต หรือ ผู้สมถยานิก และ วิปัสสนายานิก เป็นไป ๒ อย่าง ด้วยสามารถมันทบุคคล(บุคคลผู้ที่จะบรรลุธรรมได้แต่มีปัญญาอ่อน) และ ติกขบุคคล (ปัญญาแก่กล้า) กายานุปัสสนามีอารมณ์อันโอฬาร(หยาบ) เป็นทางแห่งความหมดจดของมันทบุคคลผู้มีตัณหาจริต เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานมีอารมณ์อันสุขุม เป็นทางแห่งความหมดจดของติกขบุคคลผู้มีตัณหาจริต จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานมีอารมณ์ อันแยกออกไม่มากนัก เป็นทางแห่งความหมดจดของมันทบุคคลผู้มีทิฏฐิจริต ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานซึ่งมีอารมณ์อันแยกออกมาก เป็นทางแห่งความหมดจดของติกขบุคคลผู้มีทิฏฐิจริต

อนึ่ง สติปัฏฐานที่หนึ่ง มีนิมิตอันบุคคลพึงบรรลุได้โดยไม่ลำบากเป็นทางแห่งความหมดจดของบุคคลผู้สมถยานิก ผู้มีปัญญาอ่อน
สติปัฏฐานที่สอง เป็นทางแห่งความหมดจดของบุคคลผู้สมถยานิก ผู้มีปัญญาแก่กล้า เพราะไม่เกิดในอารมณ์หยาบ
สติปัฏฐานที่สาม มีอารมณ์อันแยกออกไม่มากนัก เป็นทางแห่งความหมดจดของบุคคลผู้วิปัสสนายานิก ผู้มีปัญญาอ่อน
สติปัฏฐานที่สี่ มีอารมณ์อันแยกออกมากยิ่ง เป็นทางแห่งความหมดจดของบุคคลผู้วิปัสสนายานิก ผู้มีปัญญาแก่กล้า
เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสสติปัฏฐานไว้ ๔ โดยไม่หย่อน ไม่ยิ่ง ด้วยประการฉะนี้


จากคุณ : เฉลิมศักดิ์ //larndham.net/cgi-bin/kratoo.pl/010778.htm

ขออนุโมทนาสาธุครับ


โดย: ใจพรานธรรม วันที่: 25 ตุลาคม 2552 เวลา:20:54:48 น.  

 
จริต ๔

สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ



บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

สติปัฏฐาน ๔ ก็คือตั้งสติกำหนดพิจารณากายเวทนาจิตและธรรม ที่มี ๔ ข้อ พระอาจารย์ได้แสดงอธิบายว่า เพราะจริตอันหมายถึงความประพฤติที่เป็นพื้นของจิตใจ ดังที่เรียกชื่ออื่นว่า อัธยาศัย นิสสัย ย่อมมี ๔ อย่าง คือ ๑ บุคคลที่เป็นตัณหาจริตอย่างหยาบ ๒ บุคคลที่เป็นตัณหาจริตอย่างละเอียด หรืออย่างแรง ๓ บุคคลที่เป็นทิฏฐิจริตอย่างหยาบ ๔ บุคคลที่เป็นทิฏฐิจริตอย่างละเอียด หรืออย่างแรง เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานจึงมี ๔ ข้อ เพื่อผู้มีจริตทั้ง ๔ นั้น จักได้ยกขึ้นปฏิบัติ กำหนดพิจารณาให้เหมาะแก่จริตของตน
...

จากคุณ : JitZungkabuai - [ 11 ม.ค. 52 14:34:57 ]



ความคิดเห็นที่ 6

(ต่อ)

ตัณหาจริต ๒

บุคคลจำพวกที่เรียกว่าตัณหาจริตอย่างหยาบนั้น ก็คือมีตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากของจิตใจ เพื่อที่จะได้สิ่งที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ เพื่อที่จะเป็นนั่นเป็นนี่ เพื่อที่จะให้สิ่งและภาวะที่ไม่ชอบใจไม่พอใจหมดสิ้นไป ดั่งที่เรียกว่าที่จะไม่เป็นนั่นไม่เป็นนี่ คือไม่เป็นในภาวะที่ไม่พอใจไม่ชอบใจ

บุคคลที่เป็นตัณหาจริตดั่งที่กล่าวมานี้อย่างหยาบ ดังที่ติดอยู่ในกาย ดิ้นรนทะยานอยากอยู่ในกาย ก็ตรัสสอนให้ปฏิบัติในสติปัฏฐานข้อพิจารณากาย ส่วนบุคคลที่เป็นตัณหาจริตคือมีความดิ้นรนทะยานอยากดังกล่าวนั้นอย่างละเอียด ก็ติดในเวทนา เช่นต้องการสุขเวทนาเป็นสำคัญ ก็ตรัสสอนให้ปฏิบัติในสติปัฏฐานข้อพิจารณาเวทนา


ทิฏฐิจริต ๒

ส่วนบุคคลที่เป็นทิฏฐิจริตนั้น ทิฏฐิก็คือความเห็น อันหมายถึงความเห็นยึดถือที่ไม่ถูกต้อง ดั่งที่ยึดถือว่าตัวเราของเรา อย่างหยาบ ก็ตรัสสอนให้พิจารณาจิต ส่วนที่มีทิฏฐิคือความเห็นอย่างละเอียด ยึดถืออย่างละเอียด แต่ว่าเป็นความยึดถือมั่นในธรรมะที่ผิด เช่นยึดถือในขันธ์ ๕ หรือนามรูป ว่าตัวเราของเราเป็นต้น ก็ตรัสสอนให้พิจารณาในสติปัฏฐานหมวดธรรมะ


พระอาจารย์ได้แสดงว่า เพราะบุคคลในโลกมีจริตต่างๆ กันเป็น ๔ อย่างดังกล่าวมานี้ พระพุทธองค์จึงได้ทรงแสดงสติปัฏฐานไว้ ๔ ข้อ สำหรับให้เหมาะแก่ผู้ที่มีจริตทั้ง ๔ นี้ ได้เลือกปฏิบัติให้เหมาะแก่จริตของตน อีกอย่างหนึ่งก็อาจกล่าวได้โดยทั่วๆ ไปว่า ทุกๆ คนย่อมมีจริตทั้ง ๔ นี้อยู่ด้วยกัน เพราะต่างก็มีตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก ต่างก็มีความเห็นเป็นเหตุยึดถือต่างๆ จึงอาจที่จะจับปฏิบัติได้ทั้ง ๔ ข้อ เริ่มตั้งแต่ข้อแรกคือข้อกาย ต่อมาข้อเวทนา ต่อมาข้อจิต ต่อมาข้อธรรม

อีกอย่างหนึ่งได้มีพระพุทธภาษิตแสดงถึงการปฏิบัติในสติปัฏฐานทั้ง ๔ ข้อนี้เนื่องกัน เช่น ตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก การปฏิบัติกำหนดลมหายใจเข้าออกเมื่อกำหนดได้ ภูมิปฏิบัติก็จะเลื่อนกันขึ้นไปเองสู่ขั้นเวทนา ก็จับกำหนดเวทนา ต่อไปก็เลื่อนขึ้นไปสู่ขั้นจิต ก็จับกำหนดจิต ต่อไปก็เลื่อนเข้าไปสู่ขั้นธรรม ก็จับพิจารณาธรรม คือละเอียดขึ้นไปโดยลำดับ แม้จะตั้งต้นด้วยข้อใดข้อหนึ่ง เช่นกำหนดลมหายใจเข้าออกดังกล่าว ภูมิปฏิบัติก็จะเลื่อนกันขึ้นไปเองตามลำดับ


ทางไปอันเอก

เพราะฉะนั้น ทุกคนจึงอาจที่จะปฏิบัติ จับปฏิบัติตั้งแต่ขั้นต้นตามที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ และสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ ได้มีแสดงไว้ในต้นพระสูตรว่าเป็นทางไปอันเอก หรือทางไปอันเดียว ที่แม้จะกำหนดข้อใดข้อหนึ่ง ก็ย่อมเป็นทางอันเอก หรือทางไปอันเดียว เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงความโศกความปริเทวะร่ำไรรำพันหรือระทมใจ เพื่อดับทุกข์โทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม หรือธรรมะที่พึงบรรลุ เพื่อทำให้แจ้งพระนิพพาน ดั่งนี้ นี้เป็นอานิสงส์ของการปฏิบัติในสติปัฏฐานทั้ง ๔

ต่อจากนั้นก็ได้ทรงจำแนกสติปัฏฐานว่ามี ๔ ข้อ คือตั้งจิตพิจารณากาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะความรู้ตัว มีสติความระลึกได้ กำจัดอภิชฌาคือความโลภอยากได้ หรือความดีใจติดใจ โทมนัสความเสียใจในโลกได้ แล้วก็ตรัสข้อที่ ๒ คือตั้งจิตกำหนดพิจารณาเวทนา ข้อที่ ๓ ตั้งจิตกำหนดพิจารณาจิต ข้อที่ ๔ ตั้งจิตกำหนดพิจารณาธรรม โดยตรัสธรรมะอันเป็นอุปการะในการปฏิบัติไว้เช่นเดียวกัน คือมีความเพียร มีสัมปชัญญะความรู้ตัว มีสติความระลึกได้ กำจัดอภิชฌาความอยากได้ความยินดี โทมนัสความเสียใจในโลกได้ ดั่งนี้


ข้อปฏิบัติที่ทรงสั่งสอนไว้เป็นข้อแรก

และต่อจากนั้นก็ได้ตรัสข้อแรก โดยยกภิกษุขึ้นเป็นที่ตั้ง ว่าภิกษุในธรรมวินัยนี้ และพระอาจารย์ได้อธิบายคำว่าภิกษุไว้ว่า ภิกษุในที่นี้หมายถึงผู้ที่ฟังคำสั่งสอน ของพระพุทธเจ้า เช่นฟังคำสั่งสอนในสติปัฏฐานสูตร และรับมาปฏิบัติ ชื่อว่าภิกษุ ทั้งบรรพชิต ทั้งคฤหัสถ์ ทั้งชายทั้งหญิง ก็คือหมายถึงผู้ที่รับคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เช่นคำสั่งสอนในสติปัฏฐานสูตรนี้มาปฏิบัตินั้นเอง

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ หรือผู้ปฏิบัติในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่า ไปสู่เรือนว่าง ไปสู่โคนไม้ ไปสู่เรือนว่าง นั่งขัดบัลลังก์ดังที่เรียกกันในภาษาไทยว่านั่งขัดสะหมาด หรือแม้นั่งตามผาสุกของตน ตั้งกายตรง ดำรงสติจำเพาะหน้า หายใจเข้าก็ให้มีสติรู้ หายใจออกก็ให้มีสติรู้ หายใจเข้ายาวก็ให้รู้ว่าเราหายใจเข้ายาว หายใจออกยาวก็รู้ว่าเราหายใจออกยาว หายใจเข้าสั้นก็รู้ว่าเราหายใจเข้าสั้น หายใจออกสั้นก็ให้รู้ว่าเราหายใจออกสั้น ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดไว้ว่าเราจักรู้กายทั้งหมดหายใจเข้า ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่าเราจักรู้กายทั้งหมดหายใจออก ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่าเราจักสงบรำงับกายสังขารเครื่องปรุงกาย อันหมายถึงลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่าเราจักรำงับ สงบรำงับกายสังขาร คือลมหายใจเข้าออก หายใจออก ดั่งนี้

นี้เป็นข้อปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้เป็นข้อแรก ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือตั้งสติกำหนดพิจารณากาย เพราะฉะนั้นจึงสมควรที่จะหัดปฏิบัติตามที่ตรัสสอนไว้ด้วยพระองค์เอง อันนับว่าเป็นหลักปฏิบัติตามพระบาลีที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้เองโดยตรง

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

-จบบริบูรณ์-

สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร


โดย: ใจพรานธรรม วันที่: 30 ตุลาคม 2552 เวลา:8:58:59 น.  

 
หลักของวิปัสสนาโดยสังเขป

วิปัสสนา เป็นหลัก สำคัญในพระพุทธศาสนาประการหนึ่ง ผู้ประสงค์จะปฏิบัติวิปัสสนากรรม ฐานนั้น ควรทำความเข้าใจในเรื่องวิปัสสนาให้ถูกต้องเสียก่อน หลักของวิปัสสนาที่ควรเข้าใจ มีดังนี้ คือ :-

• วิปัสสนา คืออะไร ?
วิปัสสนาเป็นชื่อของ ปัญญา ที่เห็นนามรูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ที่เรียกว่า ไตรลักษณ์ ไม่ใช่เห็นพระพุทธเจ้า, พระอินทร์, พระพรหม, เห็นนรก, เห็นสวรรค์ หรือเห็นอะไรอื่น ๆ

• อารมณ์ของวิปัสสนา ได้แก่อะไร ?
เมื่อวิปัสสนา คือ ปัญญา ที่เห็นนามรูปไม่เที่ยง, เป็นทุกข์, เป็นอนัตตาแล้ว อารมณ์ของวิปัสสนาก็ได้แก่ นามรูป นั่นเอง
การเจริญวิปัสสนา จะต้องกำหนด นามรูป ที่เป็น ปัจจุบัน จึงเห็นนามรูปที่เป็นไตรลักษณ์ได้ ถ้ากำหนดดูอย่างอื่นแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลเลยที่จะเห็นสภาวะของนามรูปเป็นไตรลักษณ์ได้

• ประโยชน์ของวิปัสสนา มีอย่างไร ?
ประโยชน์เบื้องต้น ย่อมทำลายวิปลาสธรรม คือ ความเห็นรูปนามผิดไปจากความจริง ๔ ประการ คือ
สุภวิปลาส ได้แก่ เห็นรูปนามว่า เป็นของดีงาม
สุขวิปลาส ได้แก่ เห็นรูปนามว่า เป็นสุข
นิจวิปลาส ได้แก่ เห็นรูปนามว่า เป็นของเที่ยง
อัตตวิปลาส ได้แก่ เห็นรูปนามว่า เป็นตัวเป็นตน
ประโยชน์สูงสุด ทำให้ถึงสันติสุข คือ แจ้งพระนิพพาน

• ธรรมที่เป็นอุปสรรคแก่วิปัสสนาได้แก่อะไร ?
อุปสรรค ของวิปัสสนา คือธรรมที่เป็นเครื่องปิดบังไตรลักษณ์ไม่ให้เห็นความจริงของนามรูป โดยเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั้น โดยสังเขปมีดังนี้

๑) สันตติ ปิดบังอนิจจัง สันตติ หมายถึง การเกิดขึ้นติดต่อสืบเนื่องกันของนามและรูปอย่างรวดเร็ว ทำให้เห็นเหมือนกับว่า นามและรูปนั้น ยังมีอยู่เรื่อย ๆ ไป จึงเป็นเครื่องปิดบังไม่ให้เห็น อนิจจัง คือความไม่เที่ยงของนามและรูป เมื่อเห็นความจริงของนามและรูปไม่ได้ ก็ต้องเกิดความสำคัญผิดเรียกว่า นิจจวิปลาส คือความเห็นผิดว่า นามรูปเป็นของ “ เที่ยง ”

๒) อิริยาบถ ปิดบังทุกข์ หมาย ถึงการที่ไม่ได้พิจารณาอิริยาบถ จึงไม่เห็นว่านามและรูปนี้ มีทุกข์เบียดเบียนบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา เมื่อไม่เห็นว่าเป็นทุกข์ก็เข้าใจว่าเป็นสุข เรียกว่า “ สุขวิปลาส ” สำคัญ ว่า นามรูปเป็นสุข เป็นของดี อำนาจของทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดจึงเกิดขึ้นและเป็นปัจจัยแก่ตัณหา ทำให้ปรารถนาดิ้นรนไปตามอำนาจของตัณหาที่อาศัยนามรูปเกิดขึ้น เพราะเหตุที่ไม่ได้พิจารณาอิริยาบถ จึงทำให้ไม่เห็นทุกข์ และทำให้ “ สุขวิปลาส ” เกิดขึ้น

๓) ฆนสัญญา ปิดบังอนัตตา ฆนสัญญา คือ ความสำคัญผิดของสภาวธรรม ที่รวมกันอยู่เป็นกลุ่มเป็นก้อน คือรูปนามขันธ์ ๕ นั้นว่า เป็นตัวเป็นตน เป็นคน เป็นสัตว์ และสำคัญว่า มีสาระแก่นสารจึงทำให้ไม่สามารถมีความเห็นแยกกันของนามรูปแต่ละรูป แต่ละนาม เป็นคนละอย่างได้

เมื่อไม่สามารถกระจายความเป็นกลุ่มเป็นก้อน คือฆนสัญญา ให้แยกออกจากกันได้แล้ว เราก็ไม่มีโอกาสที่จะเห็นอนัตตา คือ ความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนได้ เมื่อไม่เห็นอนัตตา วิปลาสที่เรียกว่า “ อัตตวิปลาส ” คือความสำคัญผิด คิดว่าเป็นตัวเป็นตน หรือเป็นเราก็ต้องเกิดขึ้น และจะเป็นปัจจัยแก่ตัณหา ทำให้มีความปรารถนา เห็นว่าเป็นของดี มีสาระเกิดขึ้น

การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน จึงจำเป็นต้องทำลายอุปสรรคสิ่งที่ปิดบังไตรลักษณ์ทั้ง ๓ นี้ให้หมดไป เมื่อสิ่งที่ปิดบังนี้ถูกทำลายไปแล้ว วิปลาส ซึ่งเป็นผล ก็ต้องถูกทำลายไปด้วย

• ธรรมที่เป็นอุปการะแก่วิปัสสนา มีอะไรบ้าง ?
การ เจริญวิปัสสนา ต้องปฏิบัติตามสติปัฏฐาน ๔ ฉะนั้น สติปัฏฐาน จึงเป็นเหตุให้เกิดวิปัสสนาโดยตรงและมีธรรมที่เข้าร่วมประกอบกับวิปัสสนาอีก เช่น วิปัสสนาภูมิ ๖, ญาณ ๑๖ หรือวิปัสสนาญาณ ๙ และวิสุทธิ ๗ เป็นต้น
สติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน คือฐานที่ตั้งของสติหรือฐานที่รองรับการกำหนดของสติอย่างประเสริฐ สามารถนำจิตให้ดำเนินไปถึงพระนิพพานได้มี ๔ หมวด คือ
หมวดที่ ๑ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน มี ๑๔ ปัพพะ ได้แก่
๑) อานาปานปัพพะ ๒) อิริยาบถปัพพะ๓) สัมปชัญญปัพพะ ๔) ปฏิกูลปัพพะ๕) จตุธาตุปัพพะ ๖) อสุภะ ๙ ปัพพะ

หมวดที่ ๒ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน มี ๙ ปัพพะ ได้แก่
๑) สุขเวทนา ๒) ทุกขเวทนา๓) อุเบกขาเวทนา เป็นต้น
เมื่อมีเวทนาอันใดอันหนึ่งปรากฏขึ้น ก็รู้ นามเวทนา นั้นฯ

หมวดที่ ๓ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน มี ๑๖ ปัพพะ ได้แก่
๑) จิตมีราคะ ๒) จิตไม่มีราคะ๓) จิตมีโทสะ ๔) จิตไม่มีโทสะ๕) จิตมีโมหะ ๖) จิตไม่มีโมหะ๗) จิตฟุ้งซ่าน ๘) จิตไม่หดหู่ เป็นต้น เมื่อจิตใดปรากฏขึ้น ก็รู้ นามจิต นั้นฯ

หมวดที่ ๔ ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน มี ๕ ปัพพะ ได้แก่

๑) นิวรณปัพพะ ๒) ขันธปัพพะ๓) อายตนปัพพะ ๔) โพชฌงค์ปัพพะ๕) อริยสัจปัพพะ เมื่อธรรมใดปรากฏขึ้น ก็รู้ นามรูป นั้นฯ

สติปัฏฐาน ๔ นี้ มีทั้งสมถะ และวิปัสสนา
กายะนุปัสสนาสติปัฏฐาน อิริยาบถ, สัมปชัญญะ และจตุธาตุมนสิการ เป็นวิปัสสนา ส่วนอานาปานปัพพะ, ปฏิกูลปัพพะ และอสุภ ๙ ปัพพะ ต้องเจริญสมถะก่อน แล้วจึงยกขึ้นสู่วิปัสสนาภายหลัง
สำหรับ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน, จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน และธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นวิปัสสนาล้วน ๆ

สงเคราะห์สติปัฏฐาน ๔ ลงในขันธ์ ๕ หรือรูปนาม ได้ดังนี้
กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ได้แก่ รูปขันธ์ เป็น รูปธรรม
เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ได้แก่ เวทนาขันธ์ เป็น นามธรรม
จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ได้แก่ วิญญาณขันธ์ เป็น นามธรรม
ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ได้แก่ ขันธ์ ๕ เป็น รูปกับนาม
สรุปอารมณ์ของสติปัฏฐานโดยย่อ ก็ได้แก่ รูปธรรม กับ นามธรรม

ความหมายของสติปัฏฐาน
สติปัฏฐานมีอย่างเดียว ด้วยอำนาจแห่งการระลึก
สติปัฏฐานมี ๔ อย่าง ด้วยอำนาจแห่งอารมณ์

ฉะนั้น สติปัฏฐาน จึงเป็นได้ทั้ง ผู้เพ่งอารมณ์ กับ อารมณ์ที่ถูกเพ่ง ส่วนตัวเห็นเป็น วิปัสสนา คือปัญญาที่เห็นรูปนามไม่เที่ยง, เป็นทุกข์, เป็นอนัตตา นั่นเอง
องค์ธรรมของสติปัฏฐาน โดยฐานะผู้เพ่งอารมณ์ที่จะทำลายอภิชฌาและโทมนัสให้พินาศนั้นประกอบด้วย อาตาปิ สัมปชาโน สติมา
อาตาปี ได้แก่ วิริยะ คือ ความเพียรในสัปปธาน ๔
สัมปชาโน ได้แก่ ปัญญา คือ ปัญญาในสัมปชัญญะ ๔
สติมา ได้แก่ สติ ที่ระลึกรู้รูปนาม ในสติปัฏฐาน ๔

อารมณ์ของวิปัสสนา ได้แก่ วิปัสสนาภูมิ ๖ คือ ขันธ์ ๕, อายตนะ ๑๒, ธาตุ ๑๘, อินทรีย์ ๒๒, อริยสัจ ๔ และปฏิจจสมุปบาทองค์ ๑๒ ซึ่งเมื่อย่อวิปัสสนาภูมิ ๖ ลงแล้วก็ได้แก่ รูป กับ นามรูปกับนาม เป็นตัวกรรมฐาน ที่จะทำไปใช้ในการปฏิบัติหรือเป็นครูที่จะสอนให้เกิดปัญญาที่เรียกว่า “ วิปัสสนา ” ได้
ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติจะต้องศึกษารูปนามให้เข้าใจ จนคล่องแคล้วเสียก่อน แล้วจึงลงมือปฏิบัติ

รูปนามตามทวารทั้ง ๖
เวลาเห็น สีต่าง ๆ กับจักขุปสาท เป็นรูป
ผู้เห็น คือ จักขุวิญญาณจิต เป็นนาม
เวลาได้ยิน เสียงต่าง ๆ กับโสตปสาท เป็นรูป
ผู้ที่ได้ยิน คือ โสตวิญญาณจิต เป็นนาม
เวลาได้กลิ่น กลิ่นต่าง ๆ กับฆานปสาท เป็นรูป
ผู้ที่รู้กลิ่น คือฆานวิญญาณจิต เป็นนาม
เวลารู้รส รสต่าง ๆ กับชิวหาปสาท เป็นรูป
ผู้ที่รู้รส คือ ชิวหาวิญญาณจิต เป็นนาม
เวลาถูกต้อง ดิน, ไฟ, ลม กับกายปสาท เป็นรูป
ผู้รู้สึกถูกต้องคือกายวิญญาณจิต เป็นนาม
เวลาคิดนึก อาการนั่ง, นอน, ยืน, เดิน เป็นรูป
ผู้รู้อาการนั่ง, นอน, ยืน, เดิน เป็นนาม
หรือ อาการที่ง่วง, ฟุ้ง, สงบ เป็นนาม
ผู้รู้อาการง่วง, ฟุ้ง,สงบ เป็นนาม

เมื่อเข้าใจนามรูปตามทวารทั้ง ๖ ดีแล้ว และจะเจริญสติปัฏฐาน ต้องกำหนดที่นาม หรือรูป ตรงที่ทิฏฐิกิเลสอาศัยในอารมณ์นั้นเพื่อไถ่ถอนสักกายทิฏฐิ หรือทำลายวิปลาสธรรม คือ :-
เวลาเห็น ให้กำหนด นามเห็น เพราะทิฏฐิกิเลสยึดนามเห็นว่า เป็น เรา เห็น
เวลาได้ยิน ให้กำหนด นามได้ยิน เพราะสำคัญผิดที่นามได้ยินว่า เรา ได้ยิน
เวลารู้กลิ่น ให้กำหนด รูปกลิ่น เพราะสำคัญผิดที่รูปกลิ่นเป็น เราว่า เราเหม็นหรือเราหอม
เวลารู้รส ให้กำหนด รูปรส เพราะสำคัญผิดที่รูปรสเป็น เราว่า เราอร่อยหรือเราไม่อร่อย
เวลาถูกต้อง ให้กำหนด รูปแข็ง-อ่อน, เย็น-ร้อน, เคร่งตึง-เคลื่อนไหว เพราะสำคัญผิดที่รูปว่า เป็นเรา เป็นต้นว่า เราร้อน หรือเราหนาว|
เวลาคิดนึก กำหนด ได้ทั้งรูป หรือนาม แล้วแต่ทิฏฐิกิเลสอาศัยอยู่ในอารมณ์ใด ก็กำหนดรู้ตามความจริงของอารมณ์นั้น เช่น เวลานั่ง, นอน, ยืน, เดิน ให้กำหนด รูปนั่ง, รูปนอน, รูปยืน หรือ รูปเดิน ขณะที่รูปกายตั้งอยู่ในอาการ นั้นเวลานึกคิด, ง่วง, ฟุ้ง, สงบ ให้กำหนด นามคิดนึก, นามง่วง, นามฟุ้ง, นามสงบ เป็นต้น

อารมณ์ปัจจุบัน มีความสำคัญในการเจริญวิปัสสนามาก เพราะเป็นอารมณ์ของ สติสัมปชัญญะที่จะทำลายอภิชฌาและโทมนัส คำว่า “ ปัจจุบัน ” ในที่นี้มี ๒ อย่างคือ ปัจจุบันธรรม กับ ปัจจุบันอารมณ์

ปัจจุบันธรรม ได้แก่ รูปนาม ที่กำลังปรากฏอยู่ตามธรรมดาของสภาวธรรมนั้น ๆ
ปัจจุบันอารมณ์ ได้แก่ ผู้ปฏิบัติจับปัจจุบันธรรมที่กำลังปรากฏเฉพาะหน้านั้นมาเป็นอารมณ์ได้ อารมณ์นั้น จึงชื่อว่า ปัจจุบันอารมณ์

การกำหนดอิริยาบถ
การ เจริญวิปัสสนานั้น เพื่อสะดวกแก่ผู้ที่ยังใหม่ต่อการปฏิบัติ หรือผู้ที่มีกิเลสหนาปัญญาน้อยควรกำหนดอิริยาบถตามในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะเป็นอารมณ์ที่ปรากฏชัด และมีอยู่เป็นประจำจึงพิจารณาได้ง่าย และการพิจารณาอิริยาบถ ก็เพื่อทำลายสิ่งที่ปิดบังทุกข์ สิ่งที่ปิดบังถูกทำลายลงเมื่อใด ก็จะเห็นทุกข์ของความจริงได้เมื่อนั้น

ฉะนั้น เมื่อผู้ปฏิบัติ มีความเข้าใจนามรูปจากการศึกษาดีแล้ว ก็พึงกำหนดนามรูปใน อิริยาบถ ปัพพะ ดังนี้
ในเวลาที่นั่งอยู่ ก็ให้มีความรู้สึกตัวว่า ดู รูปนั่ง
เวลานอน ก็ให้มีความรู้สึกตัวว่า ดู รูปนอน
เวลายืน ก็ให้มีความรู้สึกตัวว่า ดู รูปยืน
เวลาเดิน ก็ให้มีความรู้สึกตัวว่า ดู รูปเดิน

ความรู้สึกตัว คือ สติสัมปชัญญะของผู้ปฏิบัติขณะที่กำหนดรูปอิริยาบถอยู่ ซึ่งขณะนั้น ผู้ปฏิบัติรู้สึกตัวว่า กำลังดูรูปอะไรอยู่

มีหลักอยู่ว่า ขณะปฏิบัตินั้น มีตัวกรรมฐานกับผู้เจริญกรรมฐาน ตัวกรรมฐาน ได้แก่รูปอิริยาบถเป็นตัวถูกเพ่ง

ส่วน ผู้เจริญกรรมฐาน ได้แก่สติสัมปชัญญะเป็นตัวเพ่ง ความรู้สึกตัว คือรู้สึกว่า ตัวผู้เพ่ง กำลังดู ตัวที่ถูกเพ่ง อยู่ ความรู้สึกตัวนี้ มีความสำคัญยิ่งในการเจริญวิปัสสนา

ถ้าความรู้สึกตัวมีมากเท่าไร ก็ได้อารมณ์ปัจจุบันมากเท่านั้น
การให้มีความรู้สึกตัวดูรูปนั่ง, รูปนอน, รูปยืน, รูปเดิน ในเวลาที่นั่ง, นอน, ยืน, เดิน อยู่ก็เพื่อแยกรูปนั่ง, รูปนอน, รูปยืน, รูปเดิน ออกไปเป็นคนละส่วนเพื่อทำลายฆนสัญญาที่ปิดบังอนัตตาและการกำหนดที่จะต้องให้ ได้อารมณ์ปัจจุบัน คือเวลาที่กำลังนั่ง, กำลังนอน, กำลังยืน, กำลังเดินอยู่ ต้องทำความรู้สึกตัวให้อยู่กับอารมณ์ปัจจุบันนั้น ๆ เสมอ
รูปนั่ง, รูปนอน, รูปยืน, รูปเดิน อยู่ที่อาการหรือท่าทาง ที่นั่ง, ที่นอน, ที่ยืน, ที่เดิน นั้น ๆ ในสติปัฏฐาน แสดงว่า
“ เมื่อกายตั้งไว้ในอาการอย่างไรก็ให้รู้ชัดในอาการของกายที่ตั้งไว้แล้วในอาการอย่างนั้นๆ ” คือ
รู้รูปนั่ง ตรงอาการ หรือท่าทางที่นั่ง
รู้รูปนอน ตรงอาการหรือท่าทางที่นอน เป็นต้น
ผู้ปฏิบัติมีหน้าที่ดูรูปนั่ง, รูปนอน, รูปยืน, รูปเดิน ขณะกำลังปรากฏเป็นอารมณ์ปัจจุบันอยู่เท่านั้น
รูปอิริยาบถนี้แหละ จะทำหน้าที่เป็นครูสอนให้รู้ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ หรือเป็นอนัตตา

ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติ จึงมีหน้าที่เข้าไปพบครู รูปนาม ก่อนเท่านั้น และการเข้าพบครู รูปนาม ได้อย่างนั้นโปรดพิจารณาได้จาก “ หลักปฏิบัติ ๑๕ ข้อ ” สำหรับผู้เริ่มเข้ากรรมฐานต่อไป

สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจาติ ฯ
สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขาติ ฯ
สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตาติ
ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา.

เมื่อ ใดเห็นด้วยปัญญาว่าสังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง, เป็นทุกข์ เห็นธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตาเมื่อนั้น ย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์ นี่เป็นทางให้ถึงธรรมที่หมดจดวิเศษ.

โดย อาจารย์แนบ มหานีรานนท์

จากคุณ : Inquirer
เขียนเมื่อ : 20 ธ.ค. 52 11:39:15



โดย: ใจพรานธรรม วันที่: 20 ธันวาคม 2552 เวลา:12:39:02 น.  

 


สาธุครับ คุณใจพรานธรรม


โดย: เฉลิมศักดิ์ IP: 110.49.193.187 วันที่: 16 ตุลาคม 2553 เวลา:5:42:05 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ใจพรานธรรม
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




มีหลายเรื่องที่ควรสงสัย แต่เราไม่สงสัยในสิ่งต่างๆนั้นแล้ว
เราศรัทธาแต่ในพระรัตนตรัย

..แม้เทวดา มารหรือพรหม จะมีหรือไม่มีอยู่จริง
เราก็มีธรรม มีปัญญารู้ในสิ่งต่างๆนั้นด้วยตนเองแล้ว
ทั้งปัญญา ทั้งศรัทธา เป็นสิ่งที่ท่านต้องสร้างให้เกิดขึ้นเอง
ใครสร้างท่านไม่ได้

พระพุทธเจ้า พระองค์ดุจผู้บอกทางให้เท่านั้น
จะเดินหรือไม่ เรามิได้กล่าวโทษตำหนิท่านแต่อย่างใดเลย
ท่านเชื่อ ท่านก็เดิน ท่านไม่เชื่อก็ควรแล้ว ที่ท่านจะสงสัยควรแล้วที่ท่านจะปฏิบัติ เพื่อคลายความสงสัยนั้น
S! Radio
Express 4
เพลง ทานตะวัน ---ฟอร์ด
ศิลปิน รวมศิลปิน : Express
อัลบั้ม Express 4
ดูเนื้อเพลงคัดลอกโค้ดเพลงนี้
ขอบคุณ code และ ภาพ จากคุณ aggie_nan ตามลิงค์ที่อยู่ ด้านล่างครับ
Friends' blogs
[Add ใจพรานธรรม's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.