ธารธรรมใสเย็นยิ่ง สุขได้
Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2552
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
3 สิงหาคม 2552
 
All Blogs
 
การ ”ทดแทน” และการ ”ตอบแทน” พระคุณพ่อแม่

ได้ยินและพูดกันอยู่เสมอๆ ทั้งคำว่าตอบแทน และคำว่า ทดแทน
และบางท่านเข้าใจว่ามีความหมายดุจเดียวกันในคำทั้งสอง คือ การมอบสิ่งหนึ่งสิ่งใดอันดีงามให้แก่ผู้มีพระคุณแก่ตนก่อน

การทดแทนคุณกับการตอบแทนคุณ นั้นโดยพยัญชนะมีความหมายเดียวกัน
แต่โดยอรรถ คือเนื้อความ มุ่งหมายเอาการหมดจดของบุญคุณของผู้มีอุปการะมากแก่ตนนั้นสิ้นไปเท่าไหร่

การทดแทนนั้น คำว่าทด คือไปช่วยเหลือ ไปแบ่งเบาภาระ ของบิดามารดา
คำว่าแทน คือ โดยการกระทำอันดีนั้นของบุตรเสมือนหนึ่งว่าบิดา มารดาเป็นผู้กระทำในกิจนั้นๆ

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ได้ทรงตรัสทรงแสดงโดยนัยแห่งการ”ทดแทน” คุณของบิดามารดา ที่บุตรพึงกระทำ ดังนี้
มงคลที่ ๑๑ "การบำรุงบิดามารดาให้เป็นสุข"
พระบาลีว่า มาตาปิตุ อุปฏฺฐานํ เอตมฺมํคลมุตฺตมํ การบำรุงบิดามารดาให้เป็นสุข
ชื่อว่าเป็นอุดมมงคล
๑. ท่านเลี้ยงเรามาแล้ว เราควรเลี้ยงท่านตอบ
๒. ช่วยทำกิจของท่าน
๓. ดำรงวงศ์สกุล
๔. ประพฤติตนให้เหมาะสมกับความเป็นทายาท
๕. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้วทำบุญอุทิศให้ท่าน

ส่วนการตอบแทนนั้น ถ้าจะให้แยกออกมาเปรียบเทียบ คือคำว่า”ตอบ” ก็เหมือนเป็นคำถามของบิดามารดา ที่สงสัยอยู่ใน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สงสัยอยู่ในคุณงามความดี สงสัยในศรัทธา สงสัยอยู่ในศีล ตลอดจนถึงธรรมต่างๆ โดยที่บิดาและมารดาไม่อาจหาคำตอบให้คลายสงสัยนั้นได้

เมื่อบุตรได้อาศัยความมีเมตาและกรุณาจากบิดามารดานั้นแล้ว จนมีปัญญาตลอดจนศรัทธาอยู่ในพระรัตนตรัยก็ควรจะต้อง”ตอบ”แทน ความสงสัยนั้นแก่บิดามารดานั้นจึงได้ชื่อว่าตอบแทน
การตอบแทนคุณของบิดามารดาของบุตรนั้นคืออะไร

ความโดยนัยนี้สมเด็จพระผู้มีภาคเจ้า พระองค์ก็ได้ทรงตรัสทรงแสดงไว้
ในพระสูตรอังคุตตรนิกาย ทุกนิบาตพระบรมศาสดาทรงตรัสไว้ว่า...

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวการกระทำตอบแทนไม่ได้ง่ายแก่ท่านทั้งสอง
ทั้งสองท่านคือใคร คือมารดา และบิดา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
บุตรพึงประคับประคองมารดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง พึงประคับประคองบิดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง
ถึงเขามีอายุ มีชีวิตอยู่ตลอด 100 ปี และเขาพึงปฎิบัติท่านทั้งสองนั้นด้วยการอบกลิ่น การนวด
การให้อาบน้ำและการดัด และท่านทั้งสองนั้นจะพึงถ่ายอุจจาระปัสสาวะบนบ่าทั้งสองของเขานั้นแหละ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนั้นยังไม่ชื่อว่าอันบุตรทำแล้วหรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนึ่งบุตรพึงสถาปนาบิดามารดาในราชสมบัติ
อันเป็นอิสราธิปัตย์ในแผ่นดินใหญ่อันมีรัตนะ 7 ประการมากหลายนี้
การทำกิจอย่างนั้นยังไม่ชื่อว่าอันบุตรทำแล้วหรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะมารดาบิดามีอุปการะมาก เป็นผู้บำรุงเลี้ยง แสดงโลกนี้ แก่บุตรทั้งหลาย”

“ส่วนบุตรคนใดยังมารดาบิดาผู้ไม่มีศรัทธา ให้สมาทานตั้งมั่นในสัททาสัมปทา
ยังมารดาบิดาผู้ทุศีล ให้สมาทานตั้งมั่นในสีลสัมปทา ยังมารดาบิดาผู้มีความตระหนี่
ให้สมาทานตั่งมั่นในจาคสัมปทา (ถึงพร้อมด้วยการบริจาค) ยังมารดาบิดาผู้ทรามปัญญา
ให้สมาทานตั้งมั่นในปัญญาสัมปทา

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล การกระทำอย่างนั้นย่อมชื่อว่าอันบุตรนั้นทำแล้วและทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดา”

คำวิสัชชนา “ตอบแทน” และ “ทดแทน” ก็มีสมด้วยประการนี้แล.

ขอบคุณครับ

ใจพรานธรรม



Create Date : 03 สิงหาคม 2552
Last Update : 3 สิงหาคม 2552 23:06:38 น. 13 comments
Counter : 2372 Pageviews.

 
ดีใจที่อย่างน้อยก่อนแม่ป่วย ได้พาทั้งพ่อและแม่ไปถวายสังฆทานที่วัด ตอนนี้พ่อก็เริ่มหันมาฟังเทศน์ทางวิทยุตามเราแล้ว

ขอบคุณนะคะ สำหรับข้อคิดดีๆ


โดย: good thinking วันที่: 4 สิงหาคม 2552 เวลา:11:19:13 น.  

 
ถาม. เลี้ยงดูมารดาบิดา บางครั้งทำผิดศีลธรรม เป็นบาปหรือไม่
ถาม ในฐานะที่เราเป็นคนจน แต่ต้องเลี้ยงดูมารดาบิดา บางครั้งก็ประพฤติผิดศีลธรรม เพื่อให้ได้เงินมาเลี้ยงดูท่าน เพราะอยากให้ท่านสุขสบาย อย่างนี้จะถือว่าเป็นบาปหรือไม่ ในเมื่อเราทำด้วยความกตัญญูกตเวที

ตอบ ความจริงเรื่องของความกตัญญูกตเวทีเป็นเรื่องดี สมควรอย่างยิ่งที่จะทำให้เกิดมีขึ้นในจิตใจ โดยเฉพาะการที่เรากตัญญูกตเวทีต่อมารดาบิดานั้นควรแก่การสรรเสริญ แต่การที่เราประพฤติผิดศีลธรรมเพื่อให้ได้เงินมาเลี้ยงดูมารดาบิดานั้นเป็นบาป ถึงจะอ้างว่าเพื่อตอบแทนคุณมารดาบิดาก็ยังเป็นบาปอยู่ดี แม้จะอ้างว่าเพื่อมารดาบิดาก็ฟังไม่ขึ้น บาปก็ยังคงเป็นบาปอยู่นั่นเอง ไม่มีทางแก้ไขให้เป็นอย่างอื่นได้เพื่อความกระจ่างในเรื่องนี้ ขอยกเรื่องราวในพระสูตรที่ชื่อว่า ธนัญชานิสูตร ใน ม.มัชฌิมปัณณาสก์ ข้อ ๖๗๒ มาเล่าให้ฟังดังต่อไปนี้
ในสมัยเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่พระวิหารเวฬุวัน ใกล้กรุงราชคฤห์ ท่านพระสารีบุตรได้เที่ยวจาริกไปในทักขิณาคีรีชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่
ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งจำพรรษาอยู่ที่กรุงราชคฤห์ได้ออกไปหาท่านพระสารีบุตร ที่ทักขิณาคีรีชนบท ท่านพระสารีบุตรจึงได้ถามถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุสงฆ์ ทราบว่าเป็นสุขสบายดี จึงได้ถามถึงธนัญชานีพราหมณ์ที่อยู่ใกล้ประตูตัณฑุลปาละ ในกรุงราชคฤห์ พระอาคันตุกะรูปนั้นก็บอกว่า ธนัญชานีพราหมณ์สบายดี แต่ภรรยาของเขาซึ่งเป็นหญิงมีศรัทธาตายเสียแล้ว เขาได้ภรรยาใหม่เป็นหญิงไม่มีศรัทธา เขาอาศัยพระราชาเที่ยวปล้นพวกพราหมณ์และคหบดี อาศัยพวกพราหมณ์และคหบดีปล้นพระราชา
นั่นก็คือ เมื่อพระราชารับสั่งให้เขาไปเอาข้าวกล้าบางส่วนมาจากคนทั้งหลาย โดยไม่ให้เบียดเบียนคนเหล่านั้นให้เดือดร้อน แต่ธนัญชานีพราหมณ์กลับไปรีดนาทาเร้นเอาข้าวกล้ามาเสียทั้งหมด แม้คนเหล่านั้นจะอ้อนวอนขอร้องว่า ถ้าเอาข้าวกล้าไปหมด พวกเขาย่อมเดือดร้อนเพราะไม่มีข้าวกล้าจะทำนา แต่พราหมณ์ก็ไม่ฟัง อ้างว่าเป็นคำสั่งของพระราชา เพราะเหตุนั้น ภิกษุนั้นจึงกล่าวว่าธนัญชานีพราหมณ์อาศัยพระราชาปล้นพราหมณ์และคหบดี
ครั้นพราหมณ์ได้ข้าวกล้ามาทั้งหมดแล้ว แทนที่จะนำไปถวายพระราชาทั้งหมด กลับยักยอกเก็บไว้ที่บ้านของตนเป็นจำนวนมาก นำไปถวายพระราชาแต่น้อย
พระราชาตรัสถามว่า “ท่านไปเบียดเบียนพวกพราหมณ์หรือคหบดีหรือเปล่า”
พราหมณ์ก็ทูลว่า “ข้าพระองค์มิได้เบียดเบียนคนเหล่านั้น แต่ในขณะนี้ข้าวกล้ามีน้อย ข้าพระองค์จึงเอามาแต่น้อย”
เพราะเหตุที่พราหมณ์อ้างดังนี้ ภิกษุรูปนั้นจึงกล่าวว่า “ธนัญชานีอาศัยพราหมณ์และคหบดีปล้นพระราชา คือโกงพระราชา” ท่านพระสารีบุตรฟังคำเล่าเช่นนั้นแล้วก็กล่าวว่า “ธนัญชานีพราหมณ์เป็นผู้ประมาทเสียแล้ว เราควรจะไปหา คือไปเตือนธนัญชานีพราหมณ์” ด้วยเหตุนี้ เมื่อท่านพระสารีบุตรอยู่ที่ทักขิณาคีรีชนบทพอสมควรแล้วก็ได้กลับไปพักที่พระวิหารเวฬุวัน กรุงราชคฤห์
ครั้นเวลาเช้า ท่านพระสารีบุตรเข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์แล้ว กลับจากบิณฑบาตภายหลังภัตแล้วได้ไปหาธนัญชานีพราหมณ์ถึงที่อยู่ ในขณะที่เขากำลังให้คนรีดนมโคอยู่ เขาเห็นท่านพระสารีบุตรเดินมาแต่ไกล ก็ร้องนิมนต์ให้ดื่มน้ำนมสด แต่ท่านพระสารีบุตรปฏิเสธว่า ฉันฉันเรียบร้อยมาแล้ว ฉันจะไปพักที่โคนต้นไม้โน้น ท่านพึงไปที่นั่น
ธนัญชานีพราหมณ์จึงเข้าไปหาท่านพระสารีบุตร นั่ง ณ ที่ควร
เมื่อท่านพระสารีบุตรถามว่า “ท่านยังเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่หรือ”
ธนัญชานีตอบว่า “ที่ไหนได้ท่านพระสารีบุตร ข้าพเจ้าเป็นผู้ประมาท เพราะต้องเลี้ยงดูมารดาบิดา บุตรภรรยา ข้าทาสบริวาร ต้องทำกิจการงานสำหรับมิตรอำมาตย์ญาติสาโลหิต ตลอดจนแขกผู้จรมา ทำบุญอุทิศให้บุพเปตชน บวงสรวงเทวดา ทำราชการให้หลวง แม้กายนี้ก็ต้องให้อิ่มหนำ ต้องให้เจริญ”
ท่านพระสารีบุตรฟังแล้วกล่าวว่า “ท่านเข้าใจว่าอย่างไร บุคคลบางคนในโลกนี้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งมารดาบิดา นายนิรยบาลจะพึงฉุดคร่าเขาไปยังนรก เพราะกรรมนั้น เขาจะขอร้องอ้อนวอนว่า เราประพฤติไม่ชอบธรรม เพราะเหตุแห่งมารดาบิดา นายนิรยบาลอย่าฉุดคร่าเราไปลงนรกเลย หรือมารดาบิดาจะขอร้องนายนิรยบาลว่า บุตรของเราประพฤติไม่ชอบธรรม เพราะเหตุแห่งเราทั้งสอง ขอนายนิรยบาลอย่าพึงฉุดคร่าเขาไปลงนรกเลย นายนิรยบาลจะฟังคำขอร้องของเขาหรือไม่”
ธนัญชานีพราหมณ์กล่าวว่า “แม้ผู้นั้นจะคร่ำครวญมากมายประการใด นายนิรยบาลก็ต้องโยนเขาลงนรกจนได้”
จากนั้น ท่านพระสารีบุตรก็ถามต่อไปทีละอย่างๆ ว่า “ถ้าหากว่า บุคคลนั้นประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งบุตรภรรยา ข้าทาสกรรมกรคนรับใช้ เพราะเหตุแห่งมิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิต เพราะเหตุแห่งแขกผู้จรมา เพราะเหตุแห่งบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว เพราะเหตุแห่งเทวดา เพราะเหตุแห่งราชการของพระราชา เพราะเหตุแห่งการบำรุงร่างกายของตนให้อิ่มหนำให้เจริญ บุคคลนั้นจะพึงขอร้องนายนิรยบาลไม่ให้ฉุดเขาลงนรกได้หรือไม่”
พราหมณ์ตอบว่า “ไม่ได้ แม้เขาจำคร่ำครวญอย่างไร นายนิรยบาลก็ต้องฉุดคร่าเขาลงนรกจนได้”
ท่านพระสารีบุตรฟังดังนั้นแล้ว จึงถามว่า “บุคคลผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรมเพราะเหตุแห่งมารดาบิดา กับประพฤติชอบธรรม ประพฤติถูกธรรมอย่างไหนจะดีกว่ากัน ประเสริฐกว่ากัน”
ธนัญชานีพราหมณ์ก็ตอบว่า “ผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรมเพราะเหตุแห่งมารดาบิดา ไม่ประเสริฐเลย ส่วนผู้ประพฤติชอบธรรม ประพฤติถูกธรรมเพราะเหตุแห่งมารดาบิดา ประเสริฐกว่า”
ท่านพระสารีบุตรจึงกล่าวว่า “การงานอย่างอื่นที่ชอบธรรม ซึ่งคนทั้งหลายอาจเลี้ยงดูมารดาบิดาได้ ไม่ต้องทำกรรมลามกเป็นบุญเป็นกุศลมีอยู่”
กรรมที่ชอบธรรมเป็นบุญเป็นกุศลนั้นก็คือ กรรมที่สุจริตทางกาย ๓ ทางวาจา ๔ ทางใจ ๓ รวมเป็น ๑๐ ซึ่งก็คือประพฤติแต่กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนั่นเอง คือไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของของผู้อื่นมาเป็นของตน ไม่คิดพยาบาทปองร้ายผู้อื่น ไม่มีความเห็นผิดเป็นมิจฉาทิฏฐิ
ส่วนการเลี้ยงชีพที่ผิดศีลธรรมก็ได้แก่เลี้ยงชีพด้วยอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการอันตรงกันข้ามกับกุศลกรรมบถ ๑๐ ที่กล่าวแล้วมีการฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ เป็นต้น จนถึงมิจฉาทิฏฐิ การเลี้ยงชีพในทางที่ผิดนั้นเป็นเหตุให้ตกนรก
ก็กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้แหละที่ท่านพระสารีบุตรบอกพราหมณ์ว่า “เป็นกรรมที่ชอบธรรมควรประพฤติ คือควรกระทำเพื่อเลี้ยงดูมารดาบิดาเป็นต้น”
ธนัญชานีพราหมณ์ฟังแล้วก็ชื่นชมอนุโมทนา กราบลาท่านพระสารีบุตรแล้วกลับไป
ต่อมา ธนัญชานีพราหมณ์ป่วยเป็นไข้หนัก ได้สั่งบุรุษคนหนึ่งไปถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแทน แล้วสั่งให้ไปนิมนต์ท่านพระสารีบุตรมาที่บ้านด้วยว่าเขาป่วยหนัก ไม่สามารถจะไปหาท่านพระสารีบุตรเองได้
ท่านพระสารีบุตรก็ได้มาตามคำนิมนต์นั้น เมื่อมาถึงถามพราหมณ์ว่า “ยังพออดทนต่อทุกขเวทนาได้หรือไม่”
พราหมณ์ตอบว่า “ข้าแต่พระสารีบุตร ข้าพเจ้าทนไม่ไหว ทุกขเวทนากล้านัก ไม่ทุเลาลงเลย ชีวิตของข้าพเจ้าเห็นจะเป็นไปไม่ได้ ลมเสียดแทงศีรษะกล้านัก ดุจบุรุษมีกำลังเอาเหล็กแหลมคมกดศีรษะ เวทนาในศีรษะของข้าพเจ้าทุกข์เหลือทน เหมือนนายโคฆาตเอามีดสำหรับเชือดเนื้อโคมาเชือดท้องข้าพเจ้าฉะนั้น ในกายของข้าพเจ้าร้อนเหลือเกิน ดุจบุรุษมีกำลังมากสองคนช่วยกันจับบุรุษมีกำลังน้อยกว่าคนละแขน รมย่างไว้บนถ่านเพลิงฉะนั้น ข้าพเจ้าทนไม่ไหว ทุกขเวทนากล้านัก ทวีขึ้นไม่ลดลงเลย”
ท่านพระสารีบุตรถามว่า “นรกกับกำเนิดสัตว์เดรัจฉานไหนจะดีกว่ากัน”
พราหมณ์ตอบว่า “กำเนิดสัตว์เดรัจฉานดีกว่า”
ท่านพระสารีบุตรก็ถามต่อไปว่า “กำเนิดสัตว์เดรัจฉานกับปิตติวิสัยไหนจะดีกว่ากัน” พราหมณ์ตอบว่า “ปิตติวิสัยดีกว่า”
ท่านพระสารีบุตรถามต่อไปว่า “ปิตติวิสัยกับมนุษย์ไหนจะดีกว่ากัน” พราหมณ์ตอบว่า “มนุษย์ดีกว่า”
ท่านพระสารีบุตรถามอีกว่า “มนุษย์กับเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกาไหนจะดีกว่ากัน” พราหมณ์ตอบว่า “เทวดาชั้นจาตุมหาราชิกาดีกว่า”
ท่านพระสารีบุตรก็ถามว่า “เทวดาชั้นสูงขึ้นไปตามลำดับจนถึงปรนิมมิตวสวดีว่า เทวดาชั้นปรนิมมิตรสวดีกับพรหมโลกไหนจะดีกว่ากัน”
พราหมณ์ย้อนถามว่า “ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่าพรหมโลกหรือ”
ท่านพระสารีบุตรได้ฟังพราหมณ์ถามเช่นนั้น ก็คิดว่าพราหมณ์นี้น้อมใจไปในพรหมโลก เพราะฉะนั้นเราจะแสดงทางไปพรหมโลกแก่เขา เมื่อท่านคิดดังนี้จึงบอกให้พราหมณ์ตั้งใจฟัง เราจะแสดงทางเพื่อความเป็นสหายของพรหม ด้วยการแสดงการเจริญพรหมวิหารสี่คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา
โดยแสดงว่า ภิกษุในธรรมวินัยมีใจประกอบด้วยเมตตาแผ่ไปทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่สอง ทิศที่สาม ทิศที่สี่ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวา และตลอดโลกทั่วสัตว์ทุกหมู่เหล่าเพื่อประโยชน์แก่สัตว์ทั่วหน้า ในที่ทุกสถานด้วยใจอันประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์เป็นมหัคคตะ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ ข้อนี้เป็นทางเพื่อความเป็นสหายของพรหม แล้วก็แสดงการเจริญกรุณา มุทิตา และอุเบกขา โดยทำนองเดียวกันว่า ล้วนเป็นทางเพื่อความเป็นสหายของพรหม
เมื่อท่านพระสารีบุตรแสดงทางไปพรหมโลกแก่ธนัญชานีพราหมณ์อย่างนี้แล้ว ธนัญชานีพราหมณ์ได้กล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้น ขอท่านจงถวายบังคมพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรเกล้าตามคำของข้าพเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธนัญชานีพราหมณ์ป่วย ได้รับทุกข์เป็นไข้หนัก ขอถวายบังคมพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรเกล้า”
ท่านพระสารีบุตรก็นำความนั้นมากราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าตามคำของพราหมณ์ และเมื่อธนัญชานีพราหมณ์ทำกาละแล้ว ก็ได้ไปเกิดในพรหมโลกชั้นต่ำ
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสบอกภิกษุทั้งหลายว่าสารีบุตรได้ประดิษฐานพราหมณ์ไว้ในพรหมโลกชั้นต่ำ ในเมื่อกิจที่ควรทำให้ยิ่งไปกว่านี้ยังมีอยู่ นั่นคือการแสดงอริยสัจสี่ อันจะทำให้พราหมณ์ได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคล ไม่ต้องกลับมาเกิดอีก แต่การไปสู่พรหมโลกทั้งที่ยังเป็นปุถุชนนั้น ยังจะต้องกลับมาเกิดอีก ไม่อาจล่วงทุกข์ทั้งปวงได้
ท่านพระสารีบุตรก็ทูลให้ทราบว่าที่ท่านมิได้แสดงอริยสัจสี่นั้น เป็นเพราะท่านเห็นว่าพวกพราหมณ์มักน้อมใจไปพรหมโลก จึงได้แสดงทางเพื่อไปพรหมโลก
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ธนัญชานีพราหมณ์ทำกาละไปเกิดในพรหมโลกแล้ว”
ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นไป เมื่อท่านพระสารีบุตรจะแสดงธรรม แม้แต่คาถาเดียว ท่านก็มิได้แสดงธรรมที่นอกไปจากอริยสัจสี่ ทั้งนี้เพราะท่านมีปัญญามาก ฟังพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเช่นนั้น ท่านก็เข้าใจและทำตาม
สรุปว่า การประพฤติชั่ว การประพฤติไม่ชอบธรรมเพื่อมารดาบิดาหรือบุตรภรรยาเป็นต้น เป็นเหตุนำไปนรก จึงไม่ควรกระทำ เพราะสัตว์ย่อมเป็นไปตามกรรม ใครทำกรรมชั่วก็ต้องรับผลชั่วโดยไม่มีข้ออ้างใดๆ เพราะถึงจะอ้าง นายนิรยบาลก็ไม่ยอม



โดย: ใจพรานธรรม วันที่: 4 สิงหาคม 2552 เวลา:12:31:51 น.  

 
พระคุณพ่อแม่

1) เล่มที่ 20 ข้อ 278
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวการกระทำตอบแทนไม่ได้ง่ายแก่ท่านทั้ง ๒
ท่านทั้ง ๒ คือใคร คือ มารดา ๑ บิดา ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุตรพึงประคับประคองมารดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง
พึงประคับประคองบิดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง
เขามีอายุ มีชีวิตอยู่ตลอดร้อยปี และเขาพึงปฏิบัติท่านทั้ง ๒ นั้น
ด้วยการอบกลิ่น การนวด การให้อาบน้ำ และการดัด
และท่านทั้ง ๒ นั้น พึงถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะบนบ่าทั้งสองของเขานั่นแหละ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนั้น ยังไม่ชื่อว่าอันบุตรทำแล้ว หรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง บุตรพึงสถาปนามารดาบิดาในราชสมบัติ
อันเป็นอิสราธิปัตย์ ในแผ่นดินใหญ่อันมีรตนะ ๗ ประการมากหลายนี้ การกระทำกิจอย่างนั้น ยังไม่ชื่อว่าอันบุตรทำแล้ว หรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะมารดาบิดามีอุปการะมาก บำรุงเลี้ยง แสดงโลกนี้แก่บุตรทั้งหลาย
ส่วนบุตรคนใดยังมารดาบิดาผู้ไม่มีศรัทธา ให้สมาทานตั้งมั่นในศรัทธาสัมปทา
ยังมารดา บิดาผู้ทุศีล ให้สมาทานตั้งมั่นในศีลสัมปทา
ยังมารดาบิดาผู้มีความตระหนี่ ให้สมาทานตั้งมั่นในจาคสัมปทา
ยังมารดาบิดาทรามปัญญา ให้สมาทานตั้งมั่นในปัญญาสัมปทา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล
การกระทำอย่างนั้น ย่อมชื่อว่าอันบุตรนั้นทำแล้ว และทำตอบแทนแล้ว แก่มารดาบิดา ฯ



--------------------------------------------------------------------------------


2) พรหมสูตร
เล่มที่ ๒๐
[๔๗๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สกุลใดบุตรบูชามารดาบิดาในเรือนตน
สกุลนั้นมีพรหม
สกุลใดบุตรบูชามารดาบิดาในเรือนตน
สกุลนั้นมีบุรพาจารย์
สกุลใดบุตรบูชามารดาบิดาในเรือนตน
สกุลนั้นมีอาหุไนยบุคคล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำว่าพรหมนี้ เป็นชื่อของมารดาและบิดา คำว่าบุรพาจารย์นี้ เป็นชื่อของมารดาและบิดา
คำว่าอาหุไนยบุคคลนี้ เป็นชื่อของมารดาและบิดา
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะมารดาบิดามีอุปการะมาก บำรุงเลี้ยง แสดงโลกนี้แก่บุตร ฯ
มารดาบิดาผู้อนุเคราะห์บุตร
ท่านเรียกว่าพรหม ว่าบุรพาจารย์ และว่าอาหุไนยบุคคล
เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงนมัสการและสักการะมารดาบิดา
ด้วยข้าว น้ำ ผ้า ที่นอน การอบกลิ่น การให้อาบน้ำ และการล้างเท้าทั้งสอง เพราะการปรนนิบัติในมารดาบิดานั้นแล
บัณฑิตย่อมสรรเสริญเขาในโลกนี้เอง
เขาละไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์ ฯ



--------------------------------------------------------------------------------


3) ปุตตสูตร
เล่มที่ ๒๒
[๓๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย มารดา บิดา เล็งเห็นฐานะ ๕ ประการนี้
จึงปรารถนาบุตรเกิดในสกุล
ฐานะ ๕ ประการเป็นไฉน คือ
บุตรที่เราเลี้ยงมาแล้ว จักเลี้ยงตอบแทน ๑
จักทำกิจแทนเรา ๑
วงศ์สกุลจักดำรงอยู่ได้นาน ๑
บุตรจักปกครองทรัพย์มรดก ๑
เมื่อเราตายไปแล้ว บุตรจักบำเพ็ญทักษิณาทานให้ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย มารดา บิดา เล็งเห็นฐานะ ๕ ประการนี้แล
จึงปรารถนาบุตรเกิดในสกุล ฯ
มารดาบิดาผู้ฉลาด เล็งเห็นฐานะ ๕ ประการจึงปรารถนาบุตร
ด้วยหวังว่า บุตรที่เราเลี้ยงมาแล้ว จักเลี้ยงตอบเรา จักทำกิจแทนเรา วงศ์สกุลจักดำรงอยู่ได้นาน บุตรจักปกครองทรัพย์มรดก และเมื่อเราตายไปแล้ว บุตรจักบำเพ็ญทักษิณาทานให้ มารดาบิดาผู้ฉลาดเล็งเห็นฐานะเหล่านี้ จึงปรารถนาบุตร ฉะนั้นบุตรผู้เป็นสัปบุรุษ ผู้สงบ มีกตัญญูกตเวที เมื่อระลึกถึงบุรพคุณของท่าน จึงเลี้ยงมารดาบิดา ทำกิจแทนท่าน เชื่อฟังโอวาท เลี้ยงสนองพระคุณท่าน สมดังที่ท่านเป็นบุรพการี ดำรงวงศ์สกุล บุตรผู้มีศรัทธา สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมเป็นที่สรรเสริญทั่วไป ฯ
จบสูตรที่ ๙



--------------------------------------------------------------------------------


4) ปุตตสูตร
เล่มที่ ๒๕
[๒๕๒] จริงอยู่ พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว
พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสแล้ว
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุตร ๓ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก
๓ จำพวกเป็นไฉน คือ อติชาตบุตร ๑ อนุชาตบุตร ๑ อวชาตบุตร ๑ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อติชาตบุตร เป็นอย่างไร
ดูกรภิกษุทั้งหลาย มารดาบิดาของบุตรในโลกนี้ไม่ถึง พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ไม่งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ การดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันลามก
ส่วนบุตรของมารดาและบิดาเหล่านั้นเป็นผู้ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ การดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท มีศีล มีธรรมอันงาม
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อติชาตบุตรเป็นอย่างนี้แล ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อนุชาตบุตรเป็นอย่างไร
ดูกรภิกษุทั้งหลาย มารดา บิดาของบุตรในโลกนี้ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ การดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท มีศีล มีธรรมอันงาม
ส่วนบุตรของมารดาบิดาเหล่านั้น ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ การดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เป็นผู้มีศีล มีธรรมอันงาม
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนุชาตบุตรเป็นอย่างนี้แล ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อวชาตบุตรเป็นอย่างไร
ดูกรภิกษุทั้งหลาย มารดา บิดาของบุตรในโลกนี้ ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ การดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เป็นผู้มีศีล มีธรรมอันงาม ส่วนบุตรของมารดาบิดาเหล่านั้น ไม่ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ไม่งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ การดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันลามก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อวชาตบุตรเป็นอย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุตร ๓ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้แล้วในพระสูตรนั้น
พระผู้มีพระภาคตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บัณฑิตทั้งหลายย่อมปรารถนาอติชาตบุตร และอนุชาตบุตร
ไม่ปรารถนาอวชาตบุตร ซึ่งเป็นผู้ทำลายตระกูล
ส่วนบุตรเหล่าใดเป็นอุบาสก บุตรเหล่านั้นแลชื่อว่าเป็นบุตรในโลก
บุตรเหล่านั้นมีศรัทธา ถึงพร้อมด้วยศีล ผู้ (โอบอ้อมอารี) รู้ความประสงค์ ปราศจากความตระหนี่ ย่อมรุ่งเรืองในบริษัททั้งหลาย เปรียบเหมือนพระจันทร์พ้นแล้วจากเมฆ ฉะนั้น ฯ
เนื้อความแม้นี้พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้ว ฉะนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๕



--------------------------------------------------------------------------------


โดย: ใจพรานธรรม วันที่: 4 สิงหาคม 2552 เวลา:12:32:30 น.  

 
อานิสงส์ของการบำรุงบิดามารดา มี ๑๓ ประการ คือ
๑. ทำให้มีความอดทน
๒. ทำให้เป็นคนมีสติรอบคอบ
๓. ทำให้เป็นคนมีเหตุผล
๔. ทำให้พ้นทุกข์ได้
๕. ทำให้พ้นภัยได้
๖. ทำให้ได้ลาภโดยง่าย
๗. ทำให้แคล้วคลาดภัยในยามคับขัน
๘. ทำให้เทวดาลงมาพิทักษ์รักษาผู้ที่ทำ
๙. ทำให้ได้รับการยกย่องสรรเสริญ
๑๐. ทำให้มีความเจริญก้าวหน้า
๑๑. ถ้ามีลูกก็จะได้ลูกที่ดี
๑๒. ทำให้มีความสุข
๑๓. ทำให้เป็นตัวอย่างอันดีแก่อนุชนรุ่นหลัง


โดย: ใจพรานธรรม วันที่: 4 สิงหาคม 2552 เวลา:12:48:28 น.  

 
อนุโมทนาสาธุ เลยคะ


โดย: บุปผาลีลาวดี วันที่: 4 สิงหาคม 2552 เวลา:16:50:12 น.  

 
พระคุณแม่ยิ่งใหญ่หาใดเทียบ
มิอาจเปรียบแม้ภูผาชลาสินธุ์
น้ำนมที่กลั่นให้ลูกได้ดื่มกิน
ลูกถวิลถึงคุณค่าว่าอนันต์
แม่เหน็ดเหนื่อยเริ่มแต่แม่ตั้งท้อง
เฝ้าประคองทั้งดวงใจไม่เหหัน
ทำทุกอย่างเพื่อลูกยาสารพัน
แม้คืนวันผันผ่านนานนับปี
ตั้งแต่เล็กจนเติบใหญ่ได้เรียนรู้
แม่เฝ้าดูอยู่ข้างกายไม่หน่ายหนี
อยากเห็นลูกสุขสบายในชีวี
เป็นคนดีที่สังคมนั้นชมเชย
เหงื่อท่วมกายไม่เคยท้อแม้อ่อนล้า
หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินแม่เมินเฉย
ลูกซาบซึ้งในบุญคุณมิลืมเลย
ขอชดเชยแทนทดจนหมดใจ.....


โดย: บุปผาลีลาวดี วันที่: 5 สิงหาคม 2552 เวลา:16:09:24 น.  

 
แวะมาเยี่ยมคะ


โดย: บุปผาลีลาวดี วันที่: 7 สิงหาคม 2552 เวลา:11:29:35 น.  

 
ขอบคุณที่แวะมาทักทายคะ
ไฉนไม่มีเพือนในบล็อคเลยล่ะคะ


โดย: บุปผาลีลาวดี วันที่: 9 สิงหาคม 2552 เวลา:20:32:10 น.  

 



สวัสดีวันแม่นะคะ
ขอคุณที่เข้าไปทักทายจ๊ะ

เมื่อวานพอดีไม่ค่อย
ที่จะสบายใจนักก็เลย
ไม่ได้ทักทายใคร

ตอนนี้เริ่มรู้สึกดีขึ้นมาบ้าง
วันนี้ตอนเช้าโทรไป
Happy mother day ให้
กับแม่เรียบร้อยแล้วคะ

มีความสุขๆมากๆนะคะ


โดย: บุปผาลีลาวดี วันที่: 12 สิงหาคม 2552 เวลา:9:00:09 น.  

 
ในเช้าวันจันทร์แวะมาทักทายคะ

น้อยคนนักที่สนใจธรรมะ

แล้วสามารถนำมาปฏิบัติใช้ในชีวิตจริง

พระที่บวชก็เช่นกัน หากบวชแล้ว

ไม่ใส่ใจสนใจการปฏิบัติ มันก็เหมือนกับการบวชนั้น

ไม่ครบไตรสิขา ใช่ไหมคะ ไม่ได้อะไร.....

ขอบคุณที่แวะไปเยี่ยมนะคะ

เจริญในธรรมคะ


โดย: บุปผาลีลาวดี วันที่: 13 สิงหาคม 2552 เวลา:14:26:33 น.  

 
อ่านเข้าใจตอนสรุปค่ะ

สรุปว่า การประพฤติชั่ว การประพฤติไม่ชอบธรรมเพื่อมารดาบิดาหรือบุตรภรรยาเป็นต้น เป็นเหตุนำไปนรก จึงไม่ควรกระทำ เพราะสัตว์ย่อมเป็นไปตามกรรม ใครทำกรรมชั่วก็ต้องรับผลชั่วโดยไม่มีข้ออ้างใดๆ เพราะถึงจะอ้าง นายนิรยบาลก็ไม่ยอม


ขอบคุณค่ะ



โดย: ก้าวไปตามใจฝัน วันที่: 14 สิงหาคม 2552 เวลา:15:51:23 น.  

 
รู้สึกเหนื่อยนะคะเมื่อเราทำดีที่สุดแล้วอยากให้พ่อแม่สุขสะบาย แต่ท่านยังไม่เข้าใจ ไม่อยากให้ทำอะไรแต่ไปทำแล้วบ่นว่าเ หนื่อย แล้วไปพูดประนามลูก แบบนี้ก็รู้สึกท้อนะคะ แต่ก่อนเราทำตามใจพ่อแม่ทุกอย่าง ชีวิตถึงเป็นแบบนี้ เลือกทางเดินด้วยตัวเองไม่ได้ ผิดพลาดบ่อย ๆ เพราะใครเหรอค่ะ


โดย: ประดุจดาว IP: 125.26.205.185 วันที่: 25 มีนาคม 2554 เวลา:10:39:51 น.  

 
สู้ต่อไปนะครับ ปิดหู หลับตา
เปิดใจแข้มแข็งไว้ คนอื่นไม่รู้
แต่เทวดาเบื้องบนท่านแลเล็งเห็น มองดูอยู่

ลองมองภาพพ่อแม่ที่ด่าตบตีเรา
กับพ่อแม่ที่ทุกข์ทรมานป่วยไข้

ถ้าเลือกได้ลูกที่ดีอย่างคุณ จะเลือกแบบใหนดีครับ


โดย: ใจพรานธรรม วันที่: 28 มีนาคม 2554 เวลา:23:16:57 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ใจพรานธรรม
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




มีหลายเรื่องที่ควรสงสัย แต่เราไม่สงสัยในสิ่งต่างๆนั้นแล้ว
เราศรัทธาแต่ในพระรัตนตรัย

..แม้เทวดา มารหรือพรหม จะมีหรือไม่มีอยู่จริง
เราก็มีธรรม มีปัญญารู้ในสิ่งต่างๆนั้นด้วยตนเองแล้ว
ทั้งปัญญา ทั้งศรัทธา เป็นสิ่งที่ท่านต้องสร้างให้เกิดขึ้นเอง
ใครสร้างท่านไม่ได้

พระพุทธเจ้า พระองค์ดุจผู้บอกทางให้เท่านั้น
จะเดินหรือไม่ เรามิได้กล่าวโทษตำหนิท่านแต่อย่างใดเลย
ท่านเชื่อ ท่านก็เดิน ท่านไม่เชื่อก็ควรแล้ว ที่ท่านจะสงสัยควรแล้วที่ท่านจะปฏิบัติ เพื่อคลายความสงสัยนั้น
S! Radio
Express 4
เพลง ทานตะวัน ---ฟอร์ด
ศิลปิน รวมศิลปิน : Express
อัลบั้ม Express 4
ดูเนื้อเพลงคัดลอกโค้ดเพลงนี้
ขอบคุณ code และ ภาพ จากคุณ aggie_nan ตามลิงค์ที่อยู่ ด้านล่างครับ
Friends' blogs
[Add ใจพรานธรรม's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.