Enter At Your Own Risk!!
Group Blog
 
 
ธันวาคม 2553
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
27 ธันวาคม 2553
 
All Blogs
 
ยุ่งชะมัด เป็นสัตวแพทย์ - หนึ่งสายในมหาวิทยาลัย H

เรื่อง ยุ่งชะมัด เป็นสัตวแพทย์ (Doubutsu no Oisha-san)
โดย Sasaki Noriko


การ์ตูนตลกอันดับ 1 ในดวงใจตลอดกาล (ถึงขนาดซื้อเก็บ 2 ชุด) ตีพิมพ์ในวารสารญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 1996-2000 รวม 12 เล่มจบ สยามอินเตอร์คอมิกส์ได้ลิขสิทธิ์ในประเทศไทย ได้เป็นละครซีรีส์ 11 ตอนในญี่ปุ่น (2003) ในไทยมีฉายช่องไอทีวี (2546)

ตอบโจทย์เหมันต์ขยันอ่าน ปี 2 ข้อบุฟเฟ่ต์ค่ะ

--- SPOILER ALERT ---


เรื่องราวชีวิตนักศึกษาสัตวแพทย์ในรั้วและนอกรั้วมหาวิทยาลัย H เริ่มเมื่อ นิชิเนะ มาซากิ (ฮามึเทรึ) กับเพื่อนสนิท นิไคโด อาคิโอะ ที่ยังเป็นเด็กเตรียมเอ็นฯ ไม่รู้จะเข้าคณะไหน ขณะกำลังเดินลัดไปสถานีรถไฟใต้ดินผ่านมหาวิทยาลัย H ได้ถูกยัดเยียดลูกสุนัขพันธ์ไซบีเรียนฮัสกี้มาเลี้ยงพร้อมคำทำนายจากหมอดูแม่นๆ ในชุดอินเดียนแดงว่าได้เป็นสัตวแพทย์แน่นอน โดยเอาลูกสุนัขเป็นเดิมพัน หลังจากที่ฮามึเทรึเลี้ยงลูกสุนัขสุดน่ารัก (หนูชื่อโจบิค่ะ) ได้สักพัก ก็เริ่มมีดวงตาเห็นธรรมว่าค่ารักษาโจบินี่แพงใช่เล่น ไม่มีประกันสังคมเหมือนคนด้วย จึงคิดเรียนสัตวแพทย์เพื่อให้สามารถรักษาเองได้ ทำให้นิไคโดติดร่างแหตามมาทั้งๆ ที่กลัวหนูจะเป็นจะตาย

ตัวประกอบอื่นๆ ที่ช่วยกันสร้างความฮามีตั้งแต่สมาชิกครอบครัวของฮามึเทรึ เช่น คุณยายทากะสุดมั่น แมวมิเกะที่เป็นพี่เลี้ยงให้โจบิ ไก่ฮิโยะที่ตีเก่งปราบเซียน 10 ทิศ ไปจนถึงอาจารย์และเพื่อนฝูงในรั้วมหาวิทยาลัย เช่น โปรเฟสเซอร์อุรุชิฮาระสุดเพี้ยนและบ้าแอฟริกา (ผู้ยัดเยียดโจบิให้ฮามึเทรึ) โปรเฟสเซอร์สึงาวาระที่บ้าม้าและคิดค้นวิธีอาบน้ำหมาดุได้อย่างมีประสิทธิภาพ (คือไม่โดนกัด) รุ่นพี่เซโกะผู้มีความดันและอุณหภูมิต่ำเกินมนุษย์ คิโยฮาร่าผู้สลับเลือดส่งตรวจเพื่อสุนัขสุดที่รัก ฯลฯ

อาจจะเป็นเพราะ จขบ. มีประสบการณ์ในรั้วมหาวิทยาลัยยาวมาก เลยซาบซึ้งกับมุกตลกและความบ้าบอต่างๆ อย่างเข้าไปถึงทรวง (ถึงจะไม่ได้เรียนสัตวแพทย์ก็เถอะ) เรื่องที่ไม่ตลกสักนิด เช่นการตอบข้อสอบมั่วซั่วเพราะไม่รู้จะเขียนอะไรดี ก็สามารถทำให้มองอีกด้านกลายเป็นตลกเขียนวิธีทำแกงกะหรี่ไปได้ ทั้งแล็บกริ๊งที่สุดจะเขย่าประสาท การเลือกสาขาวิชาแบบเฮตามกันไปเที่ยวเกาะสวรรค์ แหกค่ายนอกสถานที่หนีไปหาของกินกลางดึก โปรเฟสเซอร์เผด็จการเพี้ยน การเขียนบทความลงวารสาร (ในเรื่องวาดรูปวารสาร Nature เชียวนะ อะไรจะหรูเลิศขนาดนั้น) ฯลฯ ก็ช่างเป็นเงาสะท้อนชีวิตจริงในรั้วมหาวิทยาลัยเสียเหลือเกิน

ตอนที่ จขบ. ตลกที่สุดจนหัวเราะจนกลิ้งไปกลิ้งมาเป็นบ้าเป็นหลังกลับเป็นตอนนอกมหาวิทยาลัยเมื่อนักศึกษาสัตวแพทย์ไปเป็นตัวประกอบโอเปร่าเรื่องทอสก้าที่แม่ของฮามึเทรึแสดงนำไปเสียงั้น ช่างเปลี่ยนจากแนวโศกล้างแค้นเป็นหลุดจนรุ่งริ่งเก้าอี้ขาหักจนได้ใจไปเต็มๆ

แต่ที่ไม่เหมือนใครคือ จขบ. รู้สึก identify ตัวเองกับคุณเซโกะมากกว่าคนอื่น ถึงเธอจะประหลาดสุดขีดก็เถอะ แต่ทำให้รำลึกถึงตอนเรียนบัณฑิตศึกษาได้ดีจัง ติดใจรูปกราฟความบ้าๆ บอๆ ของข้อมูลอันนี้มาก (หน้าแรกตอนที่ 12) แถม จขบ. ยังเคยโดนเข้าห้องผ่าตัดเล็ก หมอถามว่าจะดูผลระหว่างทำไปด้วยหรือจะนอน แน่นอนว่าเลือกนอนแต่ก็อุตส่าห์ตื่นมาตอนสุดท้ายอยู่ดี ได้ยินหมอสั่งให้ลากสายที่สอดในเส้นเลือดใหญ่ออกมาจากตัว (อย่างน้อยก็เข้าไปครึ่งเมตรละ เหอๆ) ทำให้นึกได้ว่าเรายังโชคดีกว่าตอนที่คุณเซโกะผ่าไส้ติ่งแล้วโดนยัดไส้กลับ


นอกเรื่อง (?) ไปเยอะแล้ว เมื่อกลับมาดูจากรูปและข้อมูลในการ์ตูน มหาวิทยาลัย H นี่คือ มหาวิทยาลัยฮอกไกโดแน่นอน เพราะมีแผนที่มหาวิทยาลัยเป็นพื้นหลังในตอนหนึ่ง ทำให้รู้สึกอยากไปเที่ยวสักทีจริงๆ แล้วจู่ๆ ก็ส้มหล่น ได้ไปประชุมวิชาการที่มหาวิทยาลัยฮอกไกโดอย่างไม่ทันตั้งเนื้อตั้งตัว (หนึ่งบ่ายในซัปโปโร)

ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ขอโฆษณาให้หน่อย มหาวิทยาลัยฮอกไกโดเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าที่สุดในเกาะฮอกไกโด ตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1876 ในชื่อ Sapporo Agricultural College ตั้งอยู่ที่หอนาฬิกาซัปโปโร ภายหลังย้ายมาที่แคมปัสปัจจุบัน ถูกยกขึ้นเป็น Hokkaido Imperial University ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อมาเป็นมหาวิทยาลัยฮอกไกโดในปัจจุบัน (Imperial University คือมหาวิทยาลัยชั้นนำที่รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งขึ้นก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปัจจุบัน อดีต Imperial University อีก 8 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยโตเกียว มหาวิทยาลัยเกียวโต มหาวิทยาลัยโตโฮคุ มหาวิทยาลัยนาโงย่า มหาวิทยาลัยโอซาก้า มหาวิทยาลัยคิวชู มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล และ มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน)

แคมปัสที่ได้ไปคือแคมปัสซัปโปโรที่อยู่กลางเมือง มีรูปทรงคล้ายตัวโอชี้ขึ้นเหนือ ขนาดเกือบ 1.5 ตารางกิโลเมตร (กะด้วยตาจากแผนที่) ใกล้กับสถานีรถไฟซัปโปโร มีรถไฟใต้ดินวิ่งนอกเขตทางฝั่งตะวันตกรวม 3 สถานี (สถานีทางใต้สุดซ้อนอยู่ใต้สถานีรถไฟ) แถมด้วยอุโมงค์รถยนต์ลอดใต้แคมปัสทางเหนือ

ตอนสายก่อนเดินทางกลับมีเวลาว่างราวชั่วโมงครึ่งหลังอาหารเช้า (ที่ถูกปากอย่างมาก เลยทำให้เวลาเดินเล่นน้อยไปนิด) เลยไปเดินเล่นในแคมปัสสักหน่อย อุตส่าห์ได้แผนที่มาทั้งที แผนการคือเข้าที่ประตูตะวันตกเฉียงใต้ เดินตามถนนหลักที่ผ่ากลางแคมปัสขึ้นเหนือ เลี้ยวเล็กน้อยถ้ามีที่น่าสนใจ แล้วออกทางประตูตะวันตก

เริ่มต้นที่ประตูใหญ่ทางตะวันตกเฉียงใต้ อ้อ ทางมหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้รถเข้าแคมปัส แม้แต่ Taxi ยังไม่ได้เลย (เพราะฉะนั้นเรื่องหัดขับรถในแคมปัสตอนนี้คงไม่มีโอกาสแล้ว) เจอหิมะเต็ม แถมแม่น้ำขนาดเล็กอีกสาย เดินเข้าไปทางตะวันออกสัก 300 เมตรก็เจอ Furukawa Hall


แล้วอ้อมไปทางใต้เพื่อดูรูปหล่อของ Dr. Clark ชาวอเมริกัน ผู้ก่อตั้ง Sapporo Agricultural College รูปนี่สร้างขึ้นใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ตามของเดิมที่ถูกหลอมไปใช้ระหว่างสงคราม ที่ฐานมี คำขวัญว่า Boys, Be Ambitious (ในถุงช้อปปิ้งของมหาวิทยาลัยหดเหลือ Be Ambitious)


วกขึ้นเหนือไปที่ Visitor Center ที่มี Gift Shop ของมหาวิทยาลัย แล้วเดินตามถนนหลัก บ่ายหน้าขึ้นเหนือสัก 200 เมตร มีพิพิธภัณฑ์ของมหาวิทยาลัยอยู่ทางซ้ายมือ เคยได้เข้าไปชมพิพิธภัณฑ์เมื่อวันก่อน ใหญ่และดีทีเดียว แต่เสียที่คำอธิบายเป็นภาษาญี่ปุ่นล้วน มีประวัติและผลงานวิจัยที่น่าสนใจทั้งเก่าและใหม่ตั้งแต่สมุด lecture สมัยแรก (จดเป็นภาษาอังกฤษ) ถึงถ้วยบะหมี่สำเร็จรูปที่เอาลงไปใต้ทะเลลึกให้ถูกอัดด้วยความดันสูงจนหดเหลือนิดเดียว


ขึ้นเหนืออีกหน่อย เลี้ยวไปทางตะวันออกไกลเหมือนกันเพื่อไปดู Poplar Avenue ที่โกร๋นไร้ใบ แต่อ่านเจอก่อนหน้านี้ว่าไม่ให้ไปเดินเพราะอันตราย ต้นไม้แก่มากอาจหักล้มทับได้ (จขบ. เคยมีประสบการณ์ฝังใจ กิ่งจามจุรีขนาดใหญ่หักเกือบฟาดหัวตอนอยู่ปี 1 เลยไม่อยากลอง) ระหว่างทางเดินนี่เจอรถจักรยานฝังอยู่ในหิมะเป็นระยะๆ


ย้อนกลับมาที่ถนนหลักขึ้นเหนือต่อสัก 300 เมตร เจอคณะวิศวกรรมศาสตร์ทางซ้ายมือ ในเรื่องยุ่งชะมัดฯ ที่มีห้องแล็บไฟฟ้าแรงสูงผู้มีไลฟ์สไตล์ฮาวายพร้อมแว่นกันแดด (แสงเลเซอร์) ในทางทฤษฎีก็น่าจะอยู่แถวหลังตึกนี้ พอเดินไปจนสุดถนนก็เจอโรงนาตัวอย่าง


ในที่สุดก็ถึงที่หมายหลักแล้ว เจอป้ายชี้ไปคณะสัตวแพทย์และโรงพยาบาลสัตว์ เดินแยกออกไปทางตะวันออกเฉียงเหนือผ่านสนามขนาดใหญ่ที่หิมะเต็ม (ทำให้คิดได้ว่าที่คุณเซโกะเดินผ่ากลางสนามในหน้าหนาวนี่ก็คิดสั้น สมควรคิดหล่มหิมะไม่มีใครช่วยจริงๆ) เจอตึกคณะสัตวแพทย์สีน้ำตาลก่อน ส่วนโรงพยาบาลสัตว์อยู่ทางด้านหลัง


ถึงตอนนี้อากาศชักไม่ดีแล้ว หิมะเริ่มตกหนัก เลยต้องรีบเดินกลับลงมาตามถนนหลัก เห็นมีถ่ายอะไรกันไม่รู้ เดินผ่าน Gingko Avenue (ที่โกร๋นเช่นเดียวกัน) ไปประตูตะวันตก ออกนอกแคมปัสแล้วรีบจ้ำกลับโรงแรมเลย


ได้ใช้เวลาในซัปโปโรอย่างเอ็นจอยมาก ผ่านไปไวยังกับติดปีก ต้องขอบคุณทางมหาวิทยาลัยฮอกไกโดอย่างยิ่ง ลองค้นดูใน Bloggang เห็นมีรูปถ่ายฤดูอื่นที่สีสันสดใส แล้วต้องร้องว่าโอ้โฮ หวังว่าจะมีโอกาสได้ไปอีก จริงๆ นะคะ

ที่มา
[1] Sasaki Noriko. ยุ่งชะมัด เป็นสัตวแพทย์. สยามอินเตอร์คอมิกส์, 12 เล่มจบ, 2546-2547.


Create Date : 27 ธันวาคม 2553
Last Update : 6 สิงหาคม 2557 18:38:15 น. 4 comments
Counter : 4978 Pageviews.

 
แวะมาทักทายค่ะ เรื่องนี้ฝนดูตอนอยู่ ม.4 ชอบมากๆพระเอกเก่งแบบซื่อๆดี ชอบถึงขนาดอยากเรียนสัตวแพทย์เลย เคยเอาลูกหมาเป็นของขวัญให้เพื่อนพร้อมตั้งชื่อมันว่าโจบิอีกด้วย ดูทีไรฮาทุกที แต่เพื่อนๆมันบอกว่า ตลกตรงหนาย!! อยากดูอีกมากๆ


โดย: น้ำเคียงดิน วันที่: 27 ธันวาคม 2553 เวลา:19:56:11 น.  

 
เรื่องนี้ฝนก็ชอบอ่านเหมือนกันค่ะ พระเอกซื่อมาก แต่ขอโทษเวลาใครแย๊บมาพ่อตอกกลับไปตลอด

แต่คุณเซโกะนี่ มีเอกลักษณ์เฉพาะดีนะคะ


โดย: miracle_rainyteddy วันที่: 27 ธันวาคม 2553 เวลา:21:15:41 น.  

 
ชอบเหมือนกันค่ะครอบครัวพระเอกทั้งไก่ ทั้งแมว และคน วุ่นวายมาก อีกเรื่องที่เรียกรอยยิ้มได้มากก็คือยามาดะ
ทาโร่ อ่านทีไรก็นั่งขำทุกที


โดย: kaws IP: 10.0.0.154, 124.120.129.218 วันที่: 27 ธันวาคม 2553 เวลา:22:41:02 น.  

 


*~*~*~*..แวะมาทักทายจ๊ะ..ขอให้มีความสุข สดใส..หัวใจเบิกบาน..*~*~*~*

..HappY BrightDaY..


โดย: *~ต้นกล้า...ของหัวใจ~* วันที่: 28 ธันวาคม 2553 เวลา:16:49:03 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

jackfruit_k
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 211 คน [?]




Latest Updates
นิยาย ไทย, จีนแปล, แปล, อังกฤษ; การ์ตูน ญี่ปุ่น, อื่นๆ; หนังสือ ไทย, แปล, อังกฤษ
New Comments
Friends' blogs
[Add jackfruit_k's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.